รีวิว MANLEY STINGRAY® II กระเบนธงผู้สง่างาม
ปฤษณ กัญจา
เวลาที่ดูสารคดีเกี่ยวกับปลากระเบนธง ผมรู้สึกถึงความสง่างามและความนุ่มนวล เวลาที่มันขยับครีบอกเคลื่อนตัวล่องลอยไปในน้ำเหมือนกับว่าไม่มีแรงต้านใดๆ จากน้ำมากระทบต่อการเคลื่อนไหวเลย เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับที่ได้ฟังเสียงจากอินทิเกรตแอมป์ Manley Stingray II ที่ให้น้ำเสียงนุ่มนวลลื่นไหล พาให้เพลินไปกับเสียงดนตรีที่ล่องลอยอยู่ในห้องฟัง
ในคู่มือของอินทิเกรตแอมป์หลอด Manley Stingray II ในหน้าเกือบสุดท้ายที่ผมบังเอิญเปิดไปเจอ พบว่ามีสตอรี่เกี่ยวกับอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ จริงๆ จะบอกว่าเป็นที่มาของชื่อรุ่น “Stingray” ก็ว่าได้ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงงาน Hi-Fi Show ปี 1997 ณ บาร์แห่งหนึ่ง J. Gordon Holt (ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Stereophile) ไปนั่งดื่มมาร์ตินี่ ขณะที่ Eve Anna Manley ก็ไปนั่งดื่มกาแฟ เธอก็คุยกับ Holt ว่ากำลังจะออกอินทิเกรตแอมป์หลอดตัวใหม่ แล้วก็วาดภาพร่างของอินทิเกรตแอมป์บนกระดาษเช็ดปาก Holt ก็บอกว่า “มันดูเหมือนปลากระเบนธง (Stingray) นะ” ดังนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติกับ Holt ทาง Manley จึงเรียกอินทิเกรตแอมป์นี้ว่า “Stingray”
แต่อะไรก็ไม่เท่ากับประโยคต่อมาที่บอกว่า… Now, in 2008… and we truly hope the Stingray II brings you as much enjoyment as possible. ถ้านับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเกิดโปรเจกต์ประมาณปี 1997 จนถึง 2008 ก็ราวๆ 11 ปี ถึงจะปรับปรุงเป็น Stingray II และเมื่อนับถึงปีนี้ 2019 ก็จะครบรอบ 11 ปี นับว่าเป็นเครื่องเสียงที่มีอายุยืนนานโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนรุ่นหรือปรับเปลี่ยนอะไรบ่อยๆ คือถ้ามองในแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นว่า อินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ออกแบบมาดีพอแล้ว จึงแทบไม่ต้องไม่แตะต้องอะไรมาก ซึ่งสำหรับคนที่ซื้อ 11 ปีที่แล้ว กับคนที่ซื้อปีนี้ เสียงที่ได้ก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ (ผมคิดว่าอาจจะมีการปรับอะไรเล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่ไม่ใช่จุดใหญ่จนต้องถึงกับเปลี่ยนเป็น Stingray III) ใครที่เป็นเจ้าของก็น่าภูมิใจนะครับ ได้ครอบครองเครื่องเสียงที่มีช่วงชีวิตยืนยาวเช่นนี้
ถ้าถามผมว่า ในบรรดาเครื่องเสียงที่เคยพบเห็นมา ชอบการดีไซน์ของเครื่องไหนบ้าง หนึ่งในคำตอบของผมก็ต้องมี Manley Stingray รวมอยู่ด้วยแน่นอนครับ นี่เป็นการออกแบบเครื่องเสียงที่มีเอกลักษณ์สวยงาม และสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกจริงๆ บางเครื่องออกแบบสวยงาม แต่ไม่เป็นมิตรในการใช้งาน ก็ไม่ค่อยน่าคบเท่าไหร่ แต่ Stingray II ตอบโจทย์ในทุกด้าน ถือว่าหาได้ยากครับ นอกจากนั้น งานผลิตก็เชื่อถือได้ ไม่กระป๋อง วัสดุที่ใช้อยู่ในระดับดีมาก เวลายกต้องระวัง เพราะหนักมาก คือหนักทั้งตัวแท่นเครื่อง และหนักทั้งหม้อแปลง เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องยกย้ายไปไหน ต้องเตรียมท่าทางการยกให้เหมาะสม ไม่งั้นหลังเดี้ยง แล้วจะหาว่าไม่เตือนกันก่อนนะครับ และไม่เฉพาะแต่ตัวเครื่องนะครับ รีโมทคอนโทรลก็ผลิตมาอย่างดี ขนาดเต็มมือ เป็นโลหะ ไม่ใช่พลาสติกดาดๆ ที่เครื่องทั่วๆ ไปชอบใช้กัน เห็นแบบนี้ทำให้รู้สึกไม่เสียดายเงินที่จ่ายไปเลยครับ เพราะสิ่งที่ได้มานั้น เป็นเนื้อเป็นหนังจับต้องได้ครับ
ทีนี้ก็มาดูกันที่เรื่องของหลอดที่ใช้ Stingray II เป็นอินทิเกรตแอมป์หลอดที่มีกำลังขับ 18 วัตต์ x 2 เมื่อเลือกใช้งานใน Triode mode (5 โอห์ม) และ 32 วัตต์ x 2 ในโหมด Ultra Linear (5 โอห์ม) โดยที่ด้านหลังเครื่องจะมีสวิตช์ให้เลือกว่าจะใช้งานในโหมดไหน แยกเป็นข้างซ้ายและข้างขวา สวิตช์จะอยู่เหนือขั้วต่ออินพุตของแต่ละแชนเนลครับ สำหรับหลอดที่ใช้… หลอดเอาต์พุต เบอร์ EL84 ใช้ทั้งหมด 8 หลอด, หลอดไดรฟ์ เบอร์ 6414 จำนวน 2 หลอด และหลอดอินพุต เบอร์ 12AT7EH จำนวน 2 หลอด สกรีนยี่ห้อ Electro-Harmonix หลักๆ เรื่องหลอดก็มีประมาณนี้ครับ ซึ่งอินทิเกรตแอมป์ที่ใช้หลอดที่ยังมีผลิตจำหน่าย หรือยังพอหาหลอด NOS ได้ ก็ไม่ต้องทำให้ปวดหัวเวลาจะหาหลอดมาเปลี่ยน เมื่ออายุการใช้งานลดลง แต่ว่าก็ว่าเถอะครับ กว่าจะฟังกันจนหลอดเสื่อม บางทีก็นานจนลืม แต่ที่เห็นส่วนใหญ่จะหาหลอดที่ว่ากันว่าดีในหมู่นักเล่นเครื่องเสียงหลอดมาเปลี่ยนก่อนที่หลอดติดเครื่องจะหมดอายุกันทุกราย แต่กับ Stingray II ผมว่าเล่นแบบ Standard ดีกว่าครับ เพราะเหตุผลที่เราซื้อมาใช้ ก็เพราะความเป็น Stingray II ไม่ใช่เหรอครับ
ต่อไปก็เป็นเรื่องอื่นๆ อาทิ ผู้ผลิตแถมอุปกรณ์สำหรับปรับไบอัสหลอดมาให้ด้วย รวมถึงมิเตอร์เพื่อวัดค่าไบอัสหลอด, การเปิดเครื่องต้องเปิดสวิตช์เมนด้านหลังเครื่องก่อน จากนั้นก็มากดปุ่มด้าหน้าเครื่อง รอให้เครื่องพร้อมแป๊บเดียวก็เริ่มใช้งานได้, วอลลุ่มจะมีไฟสีฟ้าวิ่งรอบๆ เวลาเร่งเสียงดังขึ้น ไฟสีฟ้าก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดีสวยดีครับ, มีช่องต่อสำหรับใช้งานหูฟัง ซึ่งตอบโจทย์กับการฟังในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะสมัยที่เฮดโฟนกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น, แล้วยังมีช่องอินพุตแบบมินิ สำหรับต่อใช้งานกับอุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพาได้ด้วย อ้อ… แล้วก็ยังมีช่องต่อ Subwoofer out สำหรับใช้งานระบบ 2.1 แชนเนล ได้ด้วย ฯลฯ จริงๆ ยังมีฟังก์ชั่นอีกหลายอย่างครับ แต่ขอกล่าวโดยรวมประมาณนี้ เนื่องจากผมตั้งใจยืมมาฟังจริงๆ เลยไม่ได้สนใจกับฟังก์ชั่นอื่นๆ นัก ก็อย่าว่ากันเลยนะครับ
ในการใช้งาน แนะนำให้อ่านคู่มือก่อน เพราะผู้ผลิตอธิบายไว้ละเอียดดีมาก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง น่าชื่นชมครับ
ช่องต่ออินพุตและขั้วต่อสายลำโพง และสวิตช์ปรับโหมด
Triode กับ Ultra Linear แยกซ้าย-ขวา คนละฝั่ง
คุณภาพเสียง
ก่อนอื่น ผมขอย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ยืมอินทิเกรตแอมป์ Manley Stingray II มาฟัง เรื่องของเรื่องก็คือ วันหนึ่งผมไปร่วมกิจกรรมฟังเพลงจากซาวด์แทร็ก Bohemian Rhapsody ที่ร้าน Prestige Hi-Fi ซึ่งอยู่ที่ CDC พอจบงาน ผมก็แว้บไปที่ร้าน Discovery HiFi ของคุณกิตติคุณ ปริณายก ประจวบเหมาะกับที่ร้านก็ได้เซ็ตอัพ Manray Stingray II ไว้โชว์ ผมก็ขอฟังกับลำโพง Voxativ แล้วก็เกิดติดลม เพราะถูกใจในน้ำเสียงมาก เลยขออนุญาตยืมมาฟังต่อที่ออฟฟิศ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ทั้ง Manley Stingray II กับ Voxativ รุ่น Zeth (ไม่รวมซับวูฟเฟอร์) ก็ส่งมาถึงห้องฟังที่สำนักงานของออดิโอไฟล์
มาถึงก็จัดการต่อฟัง โดยใช้อุปกรณ์ระดับมาตรฐาน ไม่ถึงกับไฮเอ็นด์สุดหรู แต่ก็มั่นใจว่าจะไม่ไปลดทอนคุณภาพเสียงของทั้งอินทิเกรตแอมป์และลำโพงอย่างแน่นอน แล้วก็เปิดฟัง ฟัง ๆ ๆ ๆ ๆ อย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการไม่ได้อธิบายอะไรเกี่ยวกับตัวเครื่องเท่าไหร่นัก เพราะผมอยากฟังมากกว่าอยากเล่าครับ
Manley Stingray II เลือกใช้งานได้ 2 โหมด คือ Triode กับ Ultra Linear อันที่จริงสองโหมดนี้ให้น้ำเสียงใกล้เคียงกัน ต่างกันตรงที่ Triode มีความแช่มช้อยในด้านลีลาการถ่ายทอดมากกว่า ขณะที่ Ultra Linear แน่นอนว่าย่อมให้พลังเสียงที่ดีกว่า ดังนั้นการใช้งานจึงขึ้นอยู่กับแนวเพลงที่เราฟัง แต่จริงๆ ชอบแบบไหนก็ฟังแบบนั้น ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องแบบนั้นแบบนี้ เอาที่ชอบและสบายใจเป็นหลักครับ
ในการฟังนี้ ผมใช้แผ่นซีดีทั้งหมด เพราะเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ในระหว่างโมดิฟายด์ตามความอยากที่ไม่จบสิ้นของผม และผมก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า เมื่อฟังกับแผ่นเสียงก็จะได้เสียงที่มีเสน่ห์ขึ้นไปอีก
ฟังเพลงจากอัลบั้ม “ดอกไม้ใต้หญ้า” ของ น้าหว่อง มงคล อุทก เสียงมีความดิบที่ได้จากการบันทึกเสียง ฟังแล้วเหมือนนั่งฟังอยู่ขณะที่เขาเล่นกันจริงๆ รายละเอียดของเสียงมีให้ได้ยินครบถ้วน บางทีก็นึกโมโหตัวเองนะครับ ฟังเพลงทีไรก็มัวแต่มานั่งสนใจรายละเอียดเสียงโน้นเสียงนี้ มันแก้ไม่หายจริงๆ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย อยากได้ยินก็ฟังไป ทีนี้มันก็ได้ยินเยอะแยะไปหมดสิครับ ถือว่าเป็นเสน่ห์ที่ทำให้การฟังเพลงมีความครบถ้วน ทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี และบรรยากาศของเสียงโดยรวม ความที่เป็นหลอดก็ทำให้พลอยรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น คือดีงามจริงๆ ครับ
กับอัลบั้ม “beyond the Missouri Sky” งานดนตรีร่วมกันของ Charlie Haden กับ Pat Metheny อัลบั้มโปรดของผม ตัวเพลงทั้งหมดดีเยี่ยม บันทึกเสียงไม่ถึงกับดีนัก แต่ฟังแล้วมีความสุขที่สุด เสียงอะคูสติกีตาร์กับเสียงอะคูสติกเบส มีน้ำหนักพองาม เสริมให้เสียงด้านบนๆ มีเนื้อมีหนัง ฟังแล้วอิ่มเอม โดยเฉพาะแทร็กประกอบภาพยนตร์เรื่อง Cinema Paradiso ทั้ง Love Theme และ Main Theme ไพเราะมาก ฟังแล้วฟังอีก คือลืมเรื่องเสียงไปเลย ฟังแต่เพลงครับ
ส่วนอัลบั้มอื่นๆ ก็มีทั้ง “ลูกทุ่งออดิโอไฟล์” หรืออัลบั้ม “Lee Morgan – Vol. 3” แผ่นดังของสายแจ๊สบีบ็อบ และอัลบั้ม “Kind of Blue” ของ Miles Davis ต่างก็ให้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันในเรื่องของความไพเราะ คือพอมาถึงการฟังระดับนี้แล้ว เรื่ององค์ประกอบของเสียง ผมว่าเป็นรองกว่าเรื่องอรรถรสในการถ่ายทอดดนตรีครับ
สรุป
ครั้งแรกที่ผมรู้จักอินทิเกรตแอมป์หลอด Manley Stingray ผมก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องขอฟังอย่างเต็มอิ่มสักครั้งให้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งวันนี้ ผมก็สมใจอยากแล้วครับ ได้สัมผัสกับสิ่งที่เฝ้ารอมานาน ในความเห็นส่วนตัวของผม ใครก็ได้ที่อยากได้อินทิเกรตแอมป์หลอดที่ใช้ไปนานๆ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องตกรุ่น และมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบงานออกแบบที่มีเอกลกัษณ์ Manley Stingray II คือคำตอบนั้นครับ ขอบอกว่า… ผมไม่ได้เชียร์ ไม่ได้อวย เพราะ Stingray II มีคุณงามความดีอยู่ในตัว โดยไม่ต้องไปใส่ไข่อะไรอีก อีกทั้งระยะเวลาที่ยืนอยู่ในตลาดเครื่องเสียงมาอย่างยาวนานก็เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ผมแค่จะมาสำทับว่า… ใครเล็ง Stingray II ซื้อเลยครับ แล้วมันจะอยู่กับคุณไปจนกว่าจะตายจากกันครับ. ADP
ราคา 199,000 บาท
นำเข้าและจัดจหน่ายโดย Discovery HiFi
โทร. 0-2102-2610, 0-2747-6710
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 266
No Comments