วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีมาก ที่ผมได้ทดสอบลำโพง Fyne Audio F1-5 ลำโพงรุ่นใหม่ จาก Fyne Audio ซึ่งเพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในโลก เมื่องาน เครื่องเสียงที่มิวนิกที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นลำโพงต้นแบบที่มีอยู่ไม่กี่คู่ เพราะหลังจากงานที่มิวนิก ก็ยังคงเดินสายโชว์ตัวตามประเทศต่างๆ จนเมื่องาน BAV SHOW 2019 ที่ผ่านมา ก็ได้นำมาเปิดตัวที่บ้านเรา เมื่อผมได้เห็น ตัวจริงของลำโพงคู่นี้เป็นครั้งแรก ต้องยอมรับว่า หน้าตาดูดีมากๆ ดูสวยกว่าในรูปที่เคยเห็นก่อนหน้านี้ ที่คิดว่าสวยอยู่แล้วขึ้นไปอีก และเมื่อได้ทราบราคา ค่าตัวก็ต้องบอกว่าไม่แพงเลย ถ้าพิจารณาจากหน้าตาที่สวยขนาดนี้ นอกจากนั้น ผมเคยทดสอบ พี่ใหญ่อย่าง F1-10 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ทำให้พอทราบแนวเสียงอยู่บ้าง ผมจึงมีความคาดหวังว่า Fyne Audio F1-5 น่าจะเป็นลำโพงเล็กที่มีแวว มีความน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ณ วันที่เขียนต้นฉบับ ยังหาข้อมูลได้ยาก เพราะเป็นสินค้าที่ใหม่มากๆ มีแต่ตัวโชว์ ยังไม่มีตัวจริงให้ซื้อหากันเลย โดยในเว็บไซต์ระบุเพียงว่าจะเริ่มจำหน่ายในฤดูหนาวปี 2019 นี้

Fyne Audio F1-5 เป็นลำโพง 2 ทาง วางขาตั้ง ขนาดเล็กที่สุดในอนุกรม F1 โดยมี F1-8 เป็นลำโพงวางขาตั้งอีกรุ่นที่ใหญ่ขึ้น และมี F1-10 และ F1-12 เป็นลำโพงตั้งพื้นรุ่นใหญ่ โดยตัวเลข 5, 8, 10 และ 12 ก็หมายถึงขนาด ตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ โดย F1-5 เป็นลำโพงขนาดเล็ก ติดตั้ง Mid/Woofer กรวยขนาด 5 นิ้ว ผลิตด้วยกระดาษชนิดพิเศษที่มีส่วนผสมของ เส้นใยหลายชนิดผสมกัน เพื่อให้มีคุณสมบัติ ทางกลเป็นไปตามที่ Fyne Audio ออกแบบไว้ และใช้งานร่วมกับขอบเซอร์ราวด์ยางรูปแบบ พิเศษเรียกว่า FYNEFLUTETM  และทำงาน ร่วมกับ Tweeter โดมไทเทเนียมขนาด 19 มม. ในลักษณะร่วมแกนกัน โดยมีการออกแบบให้ ตัวกรวยเสียงกลางทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของ เวฟไกด์ควบคุมทิศทางเสียงแหลมด้วย เรียกว่าระบบ ISOFLARETM  และแน่นอนว่าถึงแม้เป็นลำโพงขนาดเล็ก แต่ก็ยังใส่เทคโนโลยี BASSTRAX™ ที่เป็นการออกแบบให้มีช่องระบายพลังงานเบสลงทางฐานลำโพง และค่อยๆ แผ่กระจายออกรอบตัวลำโพง นอกจากนี้ ด้านหน้าลำโพงยังมีปุ่มปรับ Presence ซึ่งเป็นการปรับแต่งเสียงด้วยการ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ความถี่ในย่าน 2.5kHz – 5 kHz ซึ่งคล้ายๆ การ ออกแบบให้มี BBC Dip ในลำโพงอังกฤษที่มีการจูนให้รู้สึกว่าเสียงผู้ชายมีลักษณะเสียงหล่อนิดๆ ต่างกันตรงที่ Fyne Audio F1-5 สามารถเลือกที่จะเพิ่มหรือลด หรือปรับให้เป็นกลางก็ได้ จึงมีความยืดหยุ่นในการจัดวางมากกว่ามาก ซึ่งถ้าดูจากหน้าตาลำโพง ผมจินตนาการถึงห้องนั่งเล่นที่มีมุมพักผ่อนสวยๆ มีชั้นวางหนังสือเตี้ยๆ หรือตู้ไซด์บอร์ดสวยๆ แล้วมี Fyne Audio F1-5 วางอยู่ด้านบนกับอินทิเกรตแอมป์หลอด และเครื่องเล่นแผ่นเสียงสวยๆ อีกหนึ่งตัว คงจะเป็นมุมที่น่านั่งมาก ไม่ว่าจะจิบกาแฟตอนเช้าหรือจิบชายามบ่าย หรือจะดื่มด่ำกับไวน์ดีๆ ในยามค่ำคืนก็ดูจะเข้ากันมากๆ เพราะงานตู้ที่มีความประณีตบรรจง ทั้งงานไม้คัดลายและจัดวางลายเป็นอย่างดี เคลือบเงาระดับเดียวกั บเปี ยโนชั้นดี ทั้งยังมีงานหุ้มหนังรอบๆ ตัวขับเสียง และจบด้วยฐานอะลูมิเมียมที่ขึ้นรูปมาอย่างดี รวมความ ได้ว่าเป็นงานศิลปะชัดๆ แม้ราคาค่าตัวจะต่ำกว่า F1-10 อยู่มาก แต่ความใส่ใจในการสร้างถือว่าอยู่ระดับเดียวกันเลย จึงเป็นลำโพงที่น่าสนใจ ในการเลือกเข้าประจำการในห้องขนาดเล็ก เช่น ในคอนโดฯ สวยๆ กลางเมือง ก็น่าจะเข้ากันดีมากๆ 

ในส่วนของการทดสอบ เนื่องจากเวลาที่ค่อนข้างจำกัด เพราะผมต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีเวลาพอที่จะทดลองใช้งานแบบจัดชุดเล็กๆ บนไซด์บอร์ดสวยๆ จิบชาเพลินๆ จึงทดสอบในห้องอ้างอิงด้วยการวางบนขาตั้งเหล็กสี่เสาซึ่งลำโพงที่ส่งมาไม่ได้มีขาตั้งมาด้วย แต่เข้าใจว่าน่าจะมีขาตั้งที่ออกแบบมาคู่กันแยก จำหน่าย ในการทดสอบขับด้วยชุดปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 และแอมหลอด Aurorasound PADA ที่เป็นหลอด EL34 กำลัง ขับ 43 วัตต์ ก่อนทำการทดสอบพอดีเห็นภาพ โฆษณาของ Fyne Audio ที่มีภาพเด็กเอากระดาษลังมาแต่งตัวเป็นมนุษย์อวกาศพร้อม ข้อความ Ground Control to Major Tom ก็พอนึกออกว่าหมายถึงเพลงไหน แต่ไม่รู้ของใคร สุดท้าย อากู๋ Google และ Spotify ก็จัดมาให้ ผมลองฟังกับ Fyne F1-5 จนได้ เป็นเพลงชื่อ “Space Oddity” ของ David Bowie มีทั้งแบบ Original ที่เป็นโมโน และแบบรีมาสเตอร์ที่มีการแพนเสียงไปลำโพงซ้ายและขวาด้วย เมื่อได้ ลองฟังหลายๆ เวอร์ชั่น ก็สรุปได้ว่าแบบโมโน เหมาะกับเพลงดีอยู่แล้ว แม้ไม่มีการแพนตำแหน่งหลบไปด้านข้าง แต่ F1-5 ก็สามารถให้ รายละเอียดของทุกเสียงได้อย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่น แสดงถึงความสามารถของตัวลำโพงที่มีรายละเอียดดี ไม่มีความคลุมเครือ จึงไม่จำเป็นต้องแพนตำแหน่งเสียงหลบให้ไม่ซ้อนกัน ก็ยังได้รายละเอียดอยู่ดี แถมยังบอกถึงความ ไม่ต่อเนื่องของสนามเสียงในเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ มาเป็นสเตริโอที่มีเสียงกองกระจุกอยู่ที่ลำโพง สองข้าง และอีกจุดตรงกลางลำโพง แต่สนามเสียงของทั้งสามจุดไม่เป็นผืนเดียวกัน ทำให้ขาดความน่าฟัง ส่วนเวอร์ชั่น 1979 Re-record, 2009 Remaster เสียงกระเดื่อง หนักแน่นดี แต่เสียงร้องดูจะพยายามเยอะไป และกีตาร์ดูเล่นน้อยเกินไป ทำให้ไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ 

และเมื่อมีประเด็นเรื่องการแจกแจงรายละเอียดของตำแหน่ง เสียงต่างๆ ในสนามเสียง ผมจึงทำการลองฟังต่อด้วย Roger Water Amused to Death ที่เริ่มตั้งแต่แทร็กแรกที่มีเสียงสุนัขเห่าไม่ว่าจะเป็นเห่าเบาๆ ที่ด้านขวาของคนนั่งฟัง หรือจะเป็นช่วงถัดมาที่ไป เห่าอยู่ด้านหลังแนวลำโพงที่ผนังด้านหลัง Fyne F1-5 ก็สามารถให้ตำแหน่งที่มีความถูกต้องดีมาก ส่วนเสียงระเบิดตอนจบแทร็กที่ 6 แน่นอนว่าF1-5 ไม่สามารถให้พลังงานความถี่ต่ำแผ่มาตามพื้น หรือแรงลมปะทะตัวได้ ความเหมือนจริงจบลงแค่ตรงเสียงหน้าต่างแตก แต่นอกนั้น ไม่ว่าจะเสียงเอฟเฟ็กต์ หรือเสียงพูดต่างๆ ทั้งเสียง ผ่าฟืน เสียงรถม้าในแทร็กที่ 8 ก็ล้วนทำได้ดีสมขนาดลำโพงดี เสียงร้อง เสียงกีตาร์ไฟฟ้ามีความน่าฟังดีอย่างที่คาดหวังไว้ 

จากหน้าตาของ Fyne Audio F1-5 ที่ดูหรูหราผมจึงอยาก รู้ว่าถ้าเอามาเล่นเพลงคลาสสิกจะเป็นอย่างไร จึงเริ่มต้นด้วย การเล่นแผ่นเสียง โดยเริ่มจาก Sonatas for Violin and Piano จากแผ่น Wilson Audiophile พบว่าF1-5 สามารถถ่ายทอดลีลาการบรรเลงออกมาได้อย่างดี เสียงไวโอลินมีน้ำหนักลีลาการสี ที่น่าฟังชวนให้ติดตาม ในขณะที่เปียโน ตอนแรกก็แอบหวั่นใจเล็กๆ ว่าจะออกมาไม่เต็ม เพราะเพลงแนวนี้ มักใช้เปียโนหลังใหญ่ที่มีความกังวานของบอดี้มีเนื้อเสียงความถี่ต่ำ ซึ่งก็พบว่าF1-5 ถึงแม้เป็นลำโพงเล็กแต่ก็ไม่ได้ ขาดอรรถรสในการฟังเลย ยังคงให้รายละเอียดของเนื้อเสียงบอดี้ตัวเปียโน ได้อย่างครบถ้วน นับว่าให้เสียงได้ใหญ่ เกินความคาดหมายจากหน้าตาขนาด กะทัดรัดไปมากแล้ว แต่ผมคงไม่หวังว่ามันจะต้องถ่ายทอดซิมโฟนีที่ดุดันเต็มวง ได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการโดยไม่ใช้ซับแน่ๆ 

และเมื่อเปลี่ยนมาลองต้นทางดิจิทัล ก็ขอเริ่มด้วย Beethoven Symphony No.9 ที่บรรเลงโดย Munchner Philhamoniker คุมวงโดย Sergiu Celibidache พบว่าเนื้อหาดนตรียัง อยู่ครบ ขาดเพียงความถี่ต่ำลึกๆ ที่แสดง ถึงความโอ่โถงของฮอลล์ที่ทำการแสดงเท่านั้น แม้กระทั่งเสียงกลองทิมปานี ใบใหญ่ F1-5 ก็ยังให้โทนเสียงได้ถูกต้อง ไม่ได้ผิดเพี้ยนไป ที่ดูจะอ่อนไปบ้างก็แค่แรงกระเพื่อมของความถี่ต่ำๆ ที่จางหายเร็วไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปรกติที่ควรจะคาดหวังได้จากลำโพงตัวเล็กแค่นี้แล้ว ถ้าให้มามากกว่านี้ก็คงฝืนกฎฟิสิกส์มากเกินไป แต่ถ้ามีเวลาจัดหาอุปกรณ์ประกอบทั้งชุดจนลงตัวจริงๆ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า F1-5 น่าจะเติมเต็มห้องขนาด ไม่เกิน 20 ตารางเมตรด้วยซิมโฟนีเต็มวงก็เป็นได้ พอดีช่วงนี้ลองทำเครื่องเล่นไฟล์จาก Raspberry Pi เล่นๆ เลยลองเปิดเพลง Never Enough จากภาพยนต์เรื่อง The Greatest Showman เมื่อเทียบระหว่างเปิดจาก Spotify เทียบกับแผ่นเสียงเล่นๆ พบว่าเสียงจากแผ่นเสียงมีความรู้สึกถึงรูปวงที่ใหญ่ และมีความถี่ต่ำให้ความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเพลงได้ ดีกว่าหมายถึงว่าแม้เป็นลำโพงเล็กวางขาตั้ง เอามาเล่นในห้องขนาดค่อนข้างใหญ่เกินลำโพง Fyne Audio F1-5 ก็ยังคงความเที่ยงตรง สามารถแยกความแตกต่างของปริมาณฐานเสียงความถี่ต่ำของ เพลงออกมาให้ได้ยินโดยไม่มีอาการบวมครางมั่ว ซึ่งคงต้องยกความดีให้ระบบ BASSTRAX™ ที่ส่วน ล่างของตู้ลำโพง 

ตามมาด้วยแผ่นเสียงของ Norah Jones Live from Austin TX ที่ได้ บรรยากาศของการบันทึกการแสดงสด ที่อารมณ์แตกต่างจากใน Studio Album ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่ง F1-5 สามารถถ่ายทอดเสียงร้องออกมาได้อย่างน่าฟัง แต่พบว่าเสียงปรบมือฟังดูจะบางๆ ขึ้นขอบ ไม่ค่อยเหมือนมือคนที่เป็นเนื้อ เป็นหนังจริงๆ เท่าไหร่ จึงลองปรับปุ่ม หมุน Presence ด้านหน้าตู้เพื่อจูนเสียง ให้ผ่อนลงมาเล็กน้อย (หมุนจากค่ากลาง ลดลงไปไม่ถึงขีดจากทั้งหมด + – อย่างละ 5 ขีด) ความสดบางที่เกินจริงไปนิดๆ หายไป เสียงปรบมือมีความใกล้เคียงมือ คนจริงๆ มากขึ้น แต่ความคมพุ่งของหัวเสียงเปียโน Yamaha ที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอก็จะซอฟต์ลงมานิดๆ ด้วย ดังนั้น มันมีจุดที่ลงตัวอยู่ในช่วงแคบๆ นั่นเอง ที่ทุกอย่างลงตัวเป็นธรรมชาติ มีความน่าฟัง ใช้ไฟน์จูนช่วยได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรปรับเยอะ เดี๋ยวโทนเสียงจะเสียความสมดุลได้ครับ 

แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นมาเป็น Diana Krall Live in Paris ก็พบว่าการปรับปุ่ม หมุนอยู่ที่ค่ากลางตามเดิมเหมาะสมดีแล้ว แสดงว่าแผ่น Norah Jones บันทึกเสียงปรบมือมาติดบางๆ ขึ้นขอบเกินจริงมาแต่แรกนั่นเอง ซึ่ง F1-5 สามารถถ่ายทอด ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาถือเป็น คุณสมบัติของลำโพงที่ดี กับคอนเสิร์ตแจ๊ส ที่มีเครื่องดนตรีมากชิ้นขึ้นมาแบบนี้ F1-5 ก็ยังรับมือได้ดี 

หลังจากที่ลองฟังในรูปแบบสเตริโอมาบ้างแล้ว ผมก็มีการลองเล่นในแบบ 2.1 ด้วยการเพิ่มซับฯ REL Stadium II เข้าไป ก็พบว่าฟังเพลงได้หลากหลายแนว มากขึ้นอีก อย่างเช่น Lindsey Stirling Shatter Me ที่มี Izzy Hale มาร่วมร้อง หรือเพลงที่ไม่ได้ หยิบมาฟังค่อนข้างนานอย่าง Game of Love ของ Santana ที่ได้ Michell Branch มาร่วมร้อง ซึ่งเพลงเหล่านี้มีความเหมือนกันตรงที่ ค่อนข้างมีจังหวะ และไปได้ดีกับลำโพงที่ให้เสียงกลางได้ดีมีความน่าฟัง หลังจากนั้นไม่ว่าจะ Vanessa Carlton, Melanie C, Liz Phair ก็ถูกเอามาเปิดฟังผ่าน F1-5 หมด ซึ่งต้องบอกว่าไปด้วยกันได้ดีมาก ในส่วนนี้ต้องยกเครดิต ให้กับตัวขับเสียง Mid/Woofer กรวยกระดาษ ผสมเส้นใยหลายชนิด ให้เสียงกลางได้น่าฟังจริงๆ ยิ่งเมื่อทำงานร่วมกับขอบเซอร์ราวด์ที่มี การบากร่องเฉพาะที่เรียกว่า FYNEFLUTE™ ยิ่งช่วยให้กรวยหยุดตัวได้กำลังดี ไม่ช้าจนเสียงขุ่น ไม่เร็วจนเสียงแห้งบาง ซึ่งจริงๆ แล้ว ถึงแม้ไม่เพิ่มซับฯ Fyne Audio F1-5 ก็ยังให้ปริมาณเบสที่น่าพอใจสำหรับเพลงแนวนี้อยู่ เช่นกัน

ปิดท้ายด้วยเพลงแนวถนัดของ Fyne Audio F1-5 ด้วยนักร้องหญิงอย่าง Laura Fygi ที่ร้อง La Vie En Rose คลอไปกับเสียงเปียโน และแซ็กโซโฟน คลอเบาๆ ไปตลอดเพลง มีเบสและกลองเดินจังหวะนุ่มนวลชวนฝันจริงๆ เรียก ได้ว่า Fyne Audio F1-5 เป็นลำโพงที่มีหน้าตาการออกแบบและงานสร้างที่สวยดุจเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี แถมยังให้เสียงที่มีบุคลิกละมุนน่าฟังดีจริงๆ อาจไม่ใช่ลำโพงบู๊ล้างผลาญที่พร้อมให้ โยนเพลงทุกแนวเปิดดังลั่นบ้าน แต่หากต้องการฟังที่ความดังปานกลาง ในห้องขนาดไม่ใหญ่ ไปกว่า 20 ตารางเมตร Fyne Audio F1-5 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกับการเพลิดเพลิน ทั้งเสียงเพลงและความสวยงามของการผลิต น่าเสียดายที่ลูกยังเล็ก มีเด็กซนๆ วิ่งอยู่ในบ้าน ไม่งั้นก็น่าจะมีเครื่องเสียงชุดเล็กๆ กับมุมชิลล์ๆ ไว้ผ่อนคลายยามบ่ายจริงๆ. ADP 

ราคาพิเศษ 148,000 บาท 

จัดจำหน่ายโดย 
HIGH END GALLERY – THE NINE พระราม 9 
โทร. 0-2056-7934, 086-252-2429 
HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER 
โทร. 090-004-2380 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 273