รีวิว FYNEAUDIO F1-10
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์
เปิดตัวแรงอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วกับ Fyne Audio ผู้ผลิตลำโพงสัญชาติสก๊อตแลนด์ ที่เรียกได้ว่า Made in The UK อย่างเต็มปากเต็มคำหลังจากที่ได้ทดสอบ Fyne Audio F702 ไปเมื่อเดือนที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงพี่ใหญ่อย่าง Fyne Audio F1-10 ซึ่งเป็นลำโพงซีรีส์สูงสุดในปัจจุบัน แต่ก่อนที่จะพูดถึง F1-10 ขอพูดถึง Fyne Audio อีกรอบ เพราะหลายๆ ท่านอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อ Fyne Audio ที่ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นลำโพงยี่ห้อใหม่ เพราะเพิ่งเปิดตัวสินค้าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 ทว่า เมื่อได้ทราบภูมิหลังแล้วต้องบอกว่า Fyne Audio เป็นการเกิดใหม่ของลำโพงระดับตำนานที่เหมือนการฟักตัวออกจากดักแด้มาเป็นผีเสื้อสยายปีกสวยงาม พร้อมทะยานไปยังทุ่งดอกไม้ไกลสุดลูกหูลูกตา จากที่เคยเล่าไปบ้างเล็กน้อยในฉบับที่แล้วว่า Fyne Audio ไม่ใช่ Brand ใหม่ แต่เกิดจากการรวมตัวกันของทีมงานระดับ Executive 5 คนของลำโพง Tannoy เดิม ซึ่งประกอบไปด้วย…
Andrzej Sosna ผู้เริ่มต้นการทำงานสายเครื่องเสียงกับ Tannoy ตั้งแต่ปี 2000 ในตำแหน่ง Sales & Marketing Director และขึ้นเป็น Managing Director ของ Tannoy ในปี 2006 ซึ่งเมื่อก่อตั้ง Fyne Audio ก็ได้มาทำหน้าที่เป็น MD ของ Fyne Audio
Max Maud ผู้เคยเป็น Sales Manager ที่ Tannoy ก็มาเป็น Sales & Marketing Director
Stuart Wilkinson ผู้เคยเป็น Manager of Mechanical Design จาก Tannoy มาดำรงตำแหน่งเป็น Product Director
Gabriel O’Donohue ผู้เป็น Factory Manager สมัยทำงานกับ Tannoy มาเป็น Operations Director
Dr. Paul Mills ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ผู้มาดำรงตำแหน่ง Technical Director ของ Fyne Audio ในปี 2017 ถึงปัจจุบัน ซึ่ง Dr. Mills ผู้นี้ เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ประจำ University of Essex ระหว่างปี 1986 – 1988 หลังจากนั้นก็เข้าร่วมงานกับ Tannoy ตั้งแต่ปี 1988 – 2015 ในตำแหน่ง Engineering Director เรียกได้ว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนด DNA และการออกแบบลำโพง Tannoy ตลอดเวลาเกือบๆ 30 ปีที่ผ่านมา
โดยทั้ง 5 คนได้มาร่วมก่อตั้งบริษัท Fyne Audio โดยหุ้นคนละ 20% เท่าๆ กัน ซึ่งทาง Fyne Audio ได้ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่า ประสบการณ์ด้านเครื่องเสียงของทีมงานรวมกันได้มากว่า 200 ปีทีเดียว จึงน่าจะเป็นเครื่องยืนยันให้ท่านที่ไม่เคยได้ยินชื่อ Fyne Audio มาก่อน ได้รู้ว่า Fyne Audio ไม่ใช่ผู้ผลิตหน้าใหม่แน่นอน
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องจากคราวที่แล้วมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อยว่า Fyne Audio ใช้โรงงานเดิม แต่แท้จริงแล้วเป็นการมาตั้งโรงงานใหม่ที่ Glasgow (มาเป็นเพื่อนบ้านกับ Linn ห่างกันราว 14 ไมล์) ทุกอย่างเริ่มใหม่หมด โดยไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ Tannoy เดิมเลย ตรงจุดนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ก็ทำการพัฒนากันใหม่ทั้งหมด ซึ่งการที่ทีมงานมากประสบการณ์ขนาดนี้ได้มารวมทีมกันแบบ Fresh Start ผมถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ถือว่าหาได้ยากมากที่จะให้นักออกแบบที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องเสียงหลายสิบปีได้เริ่มต้นออกแบบลำโพงที่ถูกตั้งโจทย์ไว้เพียงแค่… ต้องมีคุณภาพทั้งในด้านเสียง, ความสวยงาม, ความประณีตในการผลิต เพื่อให้เป็นลำโพงที่ทรงคุณค่าในระดับราคานั้นๆ เพราะ Fyne Audio เชื่อว่าแต่ละคนก็มีงบประมาณต่างกัน แต่ทุกคนก็ต้องการเสพดนตรีและสัมผัสประสบการณ์ทางเสียงที่มีคุณภาพ ที่มาควบคู่กับความสวยงามเจริญหูเจริญตามากที่สุดเท่าที่จะหาได้จากงบที่จ่ายออกไป และก็คาดหวังว่า ลำโพงนั้นๆ มันจะทำหน้าที่ของมันไปได้นานๆ ด้วย ซึ่งฟังเผินๆ ก็เหมือนคำกล่าวทั่วๆ ไป แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงเสาหลัก
ในการออกแบบของ Fyne Audio คือ… 1. ต้องเสียงดี 2. ต้องดูสวย และ 3. ต้องเชื่อถือได้ ทนทาน ใช้งานได้นาน โดยตัวที่จะวัดคุณภาพทั้ง 3 ข้อนี้ คือ… ความคุ้มค่าในระดับราคาของแต่ละรุ่น นั่นหมายถึงทีมออกแบบมีโจทย์ที่ต้องไปศึกษาคู่แข่งในแต่ละระดับราคามาเป็นอย่างดี แล้วพยายามออกแบบลำโพงที่เสียงดี สวยงาม เชื่อถือได้ โดยทั้ง 3 ส่วนผสมต้องลงตัวกันเพื่อให้มีความคุ้มค่าสูงสุดในแต่ละรุ่นที่วางจำหน่าย
ซึ่งจากที่ได้ทดสอบ Fyne Audio F702 ไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ดูว่าคำกล่าวนี้ดูจะมีเค้าความเป็นจริงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว มาในคราวนี้ ทางบริษัทผู้นำเข้าได้จัดส่ง Fyne Audio F1-10 ซึ่งเป็นลำโพงสองทางตั้งพื้นที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว กรวยผลิตจากกระดาษที่ผสมผสานด้วยเส้นใยหลายชนิดเพื่อให้เสียงกลางมีความเป็นธรรมชาติ ทำงานร่วมกับตัวขับเสียงกลาง/สูง โดมไทเทเนียมขนาด 3 นิ้วที่เป็น Compression Horn ที่มีการออกแบบรูปทรงของฮอร์นในแบบเฉพาะของ Fyne Audio ซึ่งรวมตัวกรวยของเสียงกลางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปากฮอร์นด้วย เรียกรวมกันว่า IsoflareTM โดยตัวขับเสียงทั้งสองถูกออกแบบให้อยู่ร่วมแกนกันบนโครงสร้างเดียวกัน เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่มาจากจุดเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Point Source เป็นการออกแบบที่ตรงตามหลักการสร้างสเตริโออิมเมจมากที่สุด โดยตัวขับเสียงทั้งสองตัดแบ่งความถี่ที่ 750Hz ด้วยอุปกรณ์ที่ผ่านการทำ Cryogenic เพื่อส่งผ่านสัญญาณได้ดีที่สุด ขั้วต่อสายลำโพง WBT Nextgen แบบไบไวร์ และมีปุ่มปรับการทำงานของตัวขับเสียงกลาง/สูง อยู่ 2 ปุ่มด้านหน้าตู้ คือ… Energy ใช้ปรับความดังของชุดตัวขับเสียงกลาง/สูงทั้งย่าน ถ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องพื้นที่จัดวางจริงๆ จนส่งผลให้แหลมจม หรือแหลมจัดมากๆ แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใช้ และอีกปุ่มคือ Pressence ซึ่งใช้ปรุงเสียงย่าน 2.5-5kHz คล้ายๆ ที่เรียกว่า BBC Dip ซึ่งลำโพงจากอังกฤษสมัยก่อนมักมีการออกแบบให้การตอบสนองย่านนี้ต่ำลงกว่าย่านอื่นเล็กน้อย ให้เสียงพูด เสียงร้องชายฟังดูหล่อเกินจริงนิดๆ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปยุ่งกับมันเช่นกัน
พักเรื่องทางเทคนิคสักพัก มาดูเรื่องเบาๆ อย่างในส่วนของสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ลำโพงถูกยกออกจากกล่องคือ ความสวยงามของตัวตู้ลำโพง ซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งที่ทีมงาน Fyne Audio ให้ความสนใจ และผมก็คิดว่าทำออกมาได้ดีมากๆ เมื่อเทียบกับลำโพงทั้งหมดที่พบเห็นได้ในท้องตลาด ณ เวลานี้ ในระดับราคานี้ เริ่มต้นจากรูปทรงตัวตู้เป็นเหมือนท่อทรงรีในแนวตั้ง แล้วส่วนที่ติดตั้งตัวขับเสียงออกแบบคล้ายๆ ท่อกลมฝังเข้าไปด้านข้างของตัวตู้ ซึ่งรูปทรงตู้แบบนี้จะเรียกว่าเป็นการพัฒนาอีกขั้นต่อจาก Lute Shape ที่ด้านหน้าตัดตรง แต่ผนังด้านข้างและผนังหลังโค้งมน ที่พบเห็นได้ใน F702 แต่เมื่อเป็น F1-10 ได้เพิ่มให้มีความโค้งมนรอบตัว นอกเหนือจากให้ผลด้านความสวยงามที่ด้านหน้าตู้ลำโพงไม่ดูกว้างเทอะทะเกินไป
การที่ไม่มีผนังหน้ารอบๆ ตัวขับเสียงยังช่วยให้มุมกระจายเสียงกว้างรอบตัวดีอีกด้วย ในส่วนของตู้ต้องขอยกย่องได้ว่าเป็นงานศิลปะชั้นครูโดยแท้จริง เริ่มต้นจากตู้กลมรอบๆ ตัวขับเสียง ตอนแรกเห็นในรูปก็เป็นสีดำด้านๆ มองผ่านๆ นึกว่าเป็นพวกงานทำสีด้านธรรมดา แต่เมื่อ F1-10 มาถึง พบว่าส่วนนี้ถูกหุ้มด้วยหนังที่มีลวดลายละเอียด เรียบเนียน ดูเป็นหนังคุณภาพดียิ่งกว่าหนังหุ้มเบาะรถยุโรปทั่วไปเสียอีก เรียกได้ว่าเทียบชั้นได้กับงานกระเป๋าถือชั้นดีของสุภาพสตรีเลยทีเดียว ต่อด้วยงานฐานโลหะของลำโพง ซึ่งถูกออกแบบเป็นเพลทอะลูมิเนียมกัดเสี้ยนอะโนไดซ์สีดำสองชั้น กัดขึ้นรูปเป็นทรงโค้งตามตัวตู้ไม้ด้านบน และมีปีกโค้งออกมาทั้งสี่มุมเพื่อติดตั้งขารองสี่จุด การออกแบบขาในลักษณะนี้เป็นส่วนที่ผมเคยประทับใจอย่างมากครั้งที่ได้ทดสอบลำโพง Tannoy XT8F เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในคราวนั้นพบว่า การออกแบบจุดยึดสไปก์ที่อยู่บนปีกที่ขยายออกมาจากตัวลำโพง และมีรูสามารถขันปรับระดับได้จากด้านบน มันคือการออกแบบที่ช่วยให้การปรับระดับลำโพงให้ได้ฉากกับพื้นห้อง ตั้งได้มั่นคงโดยไม่ต้องก้มลงไปขันสไปก์จากด้านล่าง มาในคราวนี้ Fyne Audio F1-10 ก็ยังคงการออกแบบระบบสไปก์อันชาญฉลาดนี้ไว้ แต่เพิ่มความสวยงามขึ้นมาอีกมากมายด้วยขาขนาดใหญ่ที่แข็งแรงมั่นคง พร้อมแหวนล็อกสไปก์ขนาดใหญ่เพื่อให้ขันล็อกด้วยมือเปล่าได้โดยง่าย เรียกได้ว่าขาตั้งแบบนี้ต้องขอให้ 10 คะแนนเต็มไปเลย กลับมาที่ฐานสองชั้นที่พูดถึงเมื่อครู่ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องมีสองชั้น สาเหตุคือตัวฐานนี้เป็นที่อยู่ของระบบจัดการเสียงความถี่ต่ำที่ทาง Fyne Audio เรียกว่า BassTraxTM
ซึ่ง BassTraxTM เป็นการออกแบบให้ช่องเปิดสำหรับระบายเสียงความถี่ต่ำออกจากตู้ ถูกติดตั้งไว้ด้านล่าง เหมือนลำโพงที่มีพอร์ตยิงลงด้านล่างทั่วไป แต่มีความพิเศษตรงที่แทนที่จะยิงเสียงลงพื้นตรงๆ ซึ่งจะเจอปัญหาว่าพื้นห้องแต่ละห้องมีสภาพต่างกัน อาจจะเป็นไม้ พรม ปูน กระเบื้อง หรือหิน ดังนั้นจะคาดหวังผลทางเสียงได้ยาก ทาง Fyne Aduio จึงออกแบบให้เสียงถูกยิงลงมากระทบแผ่นเพลตล่าง แล้วกระจายตัวออกรอบๆ ตู้แทน ซึ่งทำให้ตัดผลกระทบจากชนิดวัสดุปูพื้นออกไป นอกจากนี้ เสียงที่ยิงลงมาก็ไม่ได้กระทบเพลตล่างตรงๆ แล้วหักมุมออกไปดื้อๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องทางการไหลของอากาศ หรือที่เรียกว่า Turbulent Flow ทาง Fyne Audio จึงมีการออกแบบให้มีโคนแหลมติดตั้งอยู่ตรงบริเวณปากทางออกของเสียงเบส เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบของอากาศให้ไหลอย่างเป็นระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวน และไม่เพียงแต่ส่วนที่เห็นได้จากภายนอกเท่านั้น ระบบ BasstTraxTM ของ F1-10 ยังมีการจัดการพลังงานเสียงที่เกิดขึ้นภายในตู้ด้วย Twin Cavity
ซึ่งตามภาพจะเห็นได้ว่ามีการแยกปริมาตรออกมาจากตู้ที่ติดตั้งตัวขับเสียงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตู้ ให้ลองนึกภาพตามนะครับ ปริมาตรที่เพิ่มมานี้ก็เหมือนหม้อพักไอเสียรถยนต์ ซึ่งถ้ารถไม่มีหม้อพัก เสียงเครื่องยนต์จะออกมาทางท่อไอเสียดังมากเหมือนพวกรถแข่ง แต่รถทั่วไปจะมีการใส่หม้อพักเป็นตัวดักเสียงที่ไม่ต้องการให้สลายตัวไป เหลือเพียงเสียงความถี่ที่ต้องการให้ออกมาทางท่อ ซึ่งในกรณีของลำโพงก็คือ การดักสลายเสียงย่านกลางและเบสต้นที่จะออกมากวนกับเสียงจากตัวขับเสียง และปล่อยเฉพาะความถี่ต่ำที่มาเสริมการทำงานของตัวขับเสียงหลักนั่นเอง ทั้งเสียงกลางและเบสจึงมีความสะอาด
และก็มีถึงส่วนที่เป็นไฮไลต์ที่มองเห็นได้จากภายนอก นั่นก็คืองานไม้เคลือบเงาระดับ Piano High Gross ของแท้ที่นับวันจะยิ่งหาได้ยากขึ้นทุกวัน แต่แค่ไม้เคลือบเงา บางท่านอาจจะบอกว่า ลำโพงจีนเดี๋ยวนี้ก็ทำได้ แล้วถ้าเพิ่มเติมว่า ผิวด้านข้างตู้เป็นลายไม้ Walnut ที่มีการวางลายไม้เป็นแนวจากหน้าไปหลัง และมีการเดินเส้นดำตัดเป็นระยะตามความสูงเพื่อให้ไม่ดูเทอะทะเกินไป ซึ่งจริงๆ ยังสามารถเลือกเส้นตัดแนวเป็นสี Gun Metal ได้อีกด้วย ซึ่งงานตัดเส้นสีขนาดนี้ก็ยิ่งหายากเข้าไปอีก จนผมเริ่มนึกไม่ค่อยออกแล้วว่าในระดับราคานี้จะมีลำโพงรุ่นไหนที่ยังให้งานฝีมือระดับนี้อยู่ แต่ยังไม่สุดแค่นั้น จุดที่พีคสุดๆ อยู่ตรงแผงหน้าและแผงด้านบนตู้ ซึ่งขอให้ลืมแผงพลาสติกฉีดติดฟิล์มลายไม้ในรถญี่ปุ่นหรือรถยุโรปไปเลย แม้กระทั่ง Veneer ไม้แท้ ยังคัดลายจากไม้ต้นเดียวกันทั้งต้นเพื่อความต่อเนื่องของลายแบบที่พบได้ใน Maserati หรือ Aston Martin ก็ยังต้องชิดซ้าย เพราะ Fyne Audio F1-10 คู่ที่ส่งมาเป็นงานไม้ที่ใช้เทคนิคการต่อลายไม้ให้เป็นรูปสมมาตรกัน หรือที่เรียกว่า Book-Matched ซึ่งงานฝีมือระดับนี้ ถ้าเป็นรถยนต์ เท่าที่ทราบก็มีเพียง Rolls-Royce กับ Bentley เท่านั้นที่ทำได้ ซึ่งรุ่นถูกสุดๆ ที่ยังไม่ได้สั่งลายไม้ Book-Matched ก็น่าจะทะลุ 20 ล้านไปหมดแล้ว ซึ่งงานไม้ของตู้ลำโพงระดับนี้ ผมยังไม่เคยเห็นในลำโพงตัวไหนมาก่อน เรียกว่าแทบถึงขั้นต้องใส่สูท สวมถุงมือขาว ลุกขึ้นปรบมือในความสวยงามของงานตัวตู้จริงๆ
ทดลองฟัง
ในส่วนของการทดลองฟัง ชุดทดสอบประกอบไปด้วย… เครื่องเล่นแผ่นเสียง Brinkmann Brado ติดตั้งหัวเข็ม Linn Kandikt, ปรีโฟโน Aurorasound VIDA, ปรีแอมป์ Mark Levinson No.32, เพาเวอร์แอมป์หลอด Aurorasound PADA EL34 Push Pull Triode 43w ซึ่งช่วงเบิร์นอินใช้แอมป์ Classe’ CA-M600 ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดี แต่กำลังขับมันเกินความจำเป็นกับลำโพง จึงเลือกใช้ PADA ซึ่งให้เสียงได้น่าฟังกว่า เพื่อขับลำโพง Fyne Audio F1-10
ขอเริ่มต้นด้วยแผ่นเสียง Jennifer Warnes ชุด Another Time Another Place ได้เสียงร้องอิ่มนุ่มนวลน่าฟัง ได้รายละเอียดของน้ำเสียงที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานของป้า JW ที่มีความขุ่นมีสากเสี้ยนตามวัย 72 ปี อย่างเพลง Once I was loved ที่ถ่ายทอดอารมณ์ของความรักที่เคยไม่สมหวัง แต่ยังคงไม่สิ้นหวัง ไม่รู้สึกเศร้าเสียใจไปกับความหลัง มีน้ำเสียงของความผ่อนคลายที่แฝงไว้ด้วยความหวัง หรือกับ I See Your Face Before Me ที่ร้องได้นุ่มนวลชวนฝันดีจริงๆ ต่อจากนั้นลองขยับจังหวะให้กระฉับกระเฉงขึ้นมาหน่อยอย่างแผ่นเสียงซาวด์แทร็ก The Adventures Of Priscilla Queen Of The Desert หนังเก่า ที่ได้ดูตอนเด็กมากจนจำเนื้อเรื่องไม่ได้เลย แค่จำได้ลางๆ ว่า เพลงประกอบเพราะดี ซึ่งเมื่อมีแผ่นเสียงออกมาใหม่ก็ต้องจัดมาฟัง พบว่า แม้เป็นลำโพงสองทางขนาดกลางๆ เล่นกับแอมหลอดเพียง 43 วัตต์ แต่ก็มีมนต์เสน่ห์ที่เข้ากับยุคของเพลงประกอบมากๆ แม้เปิดที่ระดับความดังเพียงพอที่จะมีเบสชวนให้ขยับแข้งขยับขากันตลอดแทบทุกเพลง ก็พบว่ายังไม่เกินข้อจำกัดของลำโพงและแอมป์ ยังคงให้ความเป็นดนตรีได้เป็นอย่างดี ไม่พบอาการเค้น เครียด แต่ประการใด แต่แน่นอนว่าอัลบั้มนี้เป็นการบันทึกเกรดคอมเมอร์เชียลธรรมดา แต่เมื่อถึง Go West หรือยิ่งถ้าเป็น I love the nightlife (Disco ‘Round) หรือ I will survive แล้วถ้าใครนั่งฟังเฉยๆ โดยไม่อยากขยับส่วนไหนในร่างกายเลย คงไม่เกี่ยวกับ F1-10 แล้ว น่าจะแปลว่าคุณเกลียดเพลงแนวนี้มากกว่า
เมื่อลองแผ่นตลาดกันไปแล้ว ถัดมาขอลองแผ่นบันทึกการแสดงสดดีๆ อย่างอัลบั้ม Meeting รับแผ่นเสียง จาก Impression Sound Studios ซึ่งก็มีทั้งข้อดีที่ F1-10 ยังมีความเที่ยงตรงพอที่จะถ่ายทอดออกมาได้ว่า เสียงเปียโนไฟฟ้าที่เล่นในงานมีเสียงที่ติดออกจะขุ่นๆ ไม่ค่อยมีประกายเสียงเหมือนเครื่องดนตรีที่เป็นอะคูสติกส์ชิ้นอื่นๆ แต่ในทางกลับกัน เสียงที่เป็นเครื่องอะคูสติกส์จริงๆ ก็ไม่ได้มีความสดเปิดเหมือนมาเล่นกันสดๆ ในห้องฟัง คือเสียงร้องมีความนวลเนียน อิ่มหวานละมุนในน้ำเสียงมากขึ้นกว่าที่คุ้นชิน เสียงปรบมือของคนดูจะอ่อนน้ำหนักความเป็นเนื้อหนังมนุษย์ลงไปบ้าง แต่ก็ไม่บางขนาดเป็นเสียงฝนตกแปะๆ เสียงเชลโลที่สามารถติดตามโน้ตได้ดี แต่บอดี้ความก้องกังวานของเสียงความถี่ต่ำที่เกิดขึ้นจากตัวเครื่องยังไม่ถึงขั้นสุด คือไม่ถึงขั้นบาง แต่ถ้ามีเนื้ออีกนิดจะเนียนมากๆ เสียงฟลู้ตดูจะหนานุ่มขึ้นมากว่าความเป็นจริงเล็กน้อย คือด้วยความเป็นเครื่องเป่าโลหะ มันก็มักจะมีปลายเสียงเปิดตามลักษณะเสียงของเนื้อวัสดุอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่ F1-10 ที่เล่นแผ่นเสียงผ่านแอมป์หลอด ก็จะมีการเติมบุคลิกความหวานอิ่มลงไปเล็กๆ ทำให้เสียงฟลู้ตลดความเป็นโลหะลงมาใกล้เคียงเสียงคลาริเน็ตที่เป็นไม้มากขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงมันเพี้ยนจากฟลู้ตมาเป็นคลาริเน็ตนะครับ แค่เป็นการเปรียบเทียบให้พอนึกภาพออกว่า เสียงมันนุ่มนวลลงมาเล็กน้อย โดยปัจจัยที่มีผลมากๆ ก็คือ การเล่นด้วยแผ่นเสียง และยังใช้แอมป์หลอดมาขับด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าต้องมีคาแรกเตอร์บางอย่างติดมาแน่นอน แต่ด้วยส่วนผสมที่ค่อนข้างลงตัวกันระหว่างแอมป์กับลำโพง เสียงที่ได้จึงเป็นเพียงการเสริมความนุ่มนวลให้ฟังได้ผ่อนคลายมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เกิดปัญหาไม่เข้าขากัน อย่างเช่น เบสช้า บวม คราง หึ่งขึ้นมากวนความถี่อื่นแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อลองเปลี่ยนมาเล่น SACD อัลบั้ม Chick Corea Rendezvous in New York ก็พบว่าเสียงปรบมือมีความอิ่มหนา มีเนื้อมีหนังอย่างที่มือของคนควรจะเป็น เสียงร้องชายมีความรู้สึกเหมือนมีการจูนเสียง BBC Dip นิดๆ คือ เสียงร้องชายจะติดอาการเสียงหล่อนิดๆ แต่ไม่ได้กดความถี่ย่าน 2-4kHz ลงไปชัดเจนอย่างพวก LS3/5 คือแค่พอสังเกตได้นิดๆ ว่ามีการจงใจปรุงเสียงให้ฟังดูหล่อเกินจริงนิดๆ แต่ไม่เยอะมาก ยังคงความเป็นดนตรีไว้ได้เป็นอย่างดี จริงๆ ตรงจุดนี้ก็สามารถปรับจูนละเอียดได้ด้วยปุ่มหมุนหน้าตู้ลำโพงได้ ซึ่งเท่าที่ได้ลองปรับเล็กน้อยก็ช่วยจูนให้เสียงมีความราบเรียบขึ้นมาได้จริง แต่แนะนำว่า ควรตั้งไว้ที่ตำแหน่งกลางก่อน แล้วทำการเซ็ตลำโพงให้ได้เสียงที่ดีที่สุดก่อน แล้วถ้ายังพบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หลงเหลืออยู่ ค่อยใช้ปุ่มปรับเสียงช่วยชดเชยเล็กๆ น้อยๆ และควรลองปรับทีละนิด ไม่ควรใส่เยอะ เดี๋ยวจะเข้ารกเข้าพงกันไปเปล่าๆ ในกรณีห้องฟังของผม ได้ลองใช้แผ่น B5 Now15 ฟังแล้วลองสังเกตเสียงร้องชายว่ามีอาการขึ้นจมูก เสียงหล่อเกินจริงไปนิดๆ หรือไม่ และอีกจุดก็สังเกตเสียงเปียโนว่ามีความสมดุลกันระหว่างหัวเสียงที่เคาะสายกับบอดี้ของตัวเปียโนหรือไม่ ซึ่งพบว่า เมื่อปรับลด Presense ลงมาแค่ราวๆ 0.4 สเต็ป (จากจุดที่แบ่งเป็น 5 ระดับ) ก็เพียงพอแล้ว ส่วนการปรับ Energy พบว่าตั้งค่ากลางปรกติลงตัวดีอยู่แล้ว ในส่วนของเสียงความถี่ต่ำลึกๆ ที่หลายคนอาจสงสัยว่า ลำโพงสองทางวูฟเฟอร์ 10 นิ้วจะลงได้ถึง 28Hz (-6dB) อย่างที่บอกได้จริงแค่ไหน ผมจึงขอปิดท้ายการทดสอบด้วย The two Organs of Antwerp Cathedral พบว่า Fyne Audio F1-10 สามารถให้ความแตกต่างระหว่างเสียงของออร์แกนทั้งสองหลังออกมาให้พอรู้สึกได้ว่าหลังใหญ่อย่าง Schyven Organ ที่มีความถี่ต่ำมากกว่าก็พอมีให้รู้สึกได้ แต่แน่นอนว่ามันคงไม่สามารถให้รายละเอียดและปริมาณเสียงความถี่ต่ำได้อย่างลำโพงอ้างอิงของผมที่ใช้วูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ข้างละสองตัวแน่นอน แต่ก็นับว่ามีปริมาณสมตัวสำหรับวูฟเฟอร์ 10 นิ้ว แถมยังเป็นเสียงความถี่ต่ำที่มีคุณภาพดีอีกด้วย
สรุป
Fyne Audio F1-10 เป็นลำโพงที่มีงานตู้ระดับอลังการงานสร้างด้วยแรงงานฝีมือทั้งงานหนัง งานโลหะ และเหนือสิ่งอื่นใดกับงานไม้ที่ควรคู่กับการยกย่องเป็นงานศิลปะโดยแท้จริง และในส่วนของเสียงสามารถตอบสนองความเป็น Music Lover ได้อย่างครบถ้วน ถ้าไม่ใช่เพลงที่โหดจริงๆ หรือฟังตัวเกร็งตั้งใจจับผิดแบบการทดสอบเครื่องเสียงก็จะไม่มีประเด็นให้ติได้ง่ายๆ เช่นกัน ด้วยค่าตัวที่เกือบแตะ 7 หลัก อาจจะถูกมองว่าสูง แต่ถ้ามองในแง่การเป็นงานศิลปะที่ขับขานดนตรีออกมาได้น่าฟังขนาดนี้ นับว่า Fyne Audio F1-10 เป็นลำโพงที่มีส่วนผสมของ รูปร่างที่สวยงาม คุณภาพเสียงที่ดี และความทรงคุณค่าในระยะยาว ที่เป็นเสาหลักในการออกแบบของ Fyne Audio เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับระดับราคาที่สินค้าถูกออกแบบมา สวยทั้งรูป จูบก็หอมอย่างแท้จริง. ADP
ราคาพิเศษ 980,000 บาท
จัดจำหน่ายโดย HIGH END GALLERY – THE NINE พระราม 9
โทร. 0-2056-7934, 086-252-2429
HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER
โทร. 090-004-2380
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 271
No Comments