รีวิว CHORD ELECTRONICS ULTIMA MONO BLOCK POWER AMPLIFIER
วิศัลย์ เอกธรรมกุล
ยินดีต้อนรับสู่คอลัมน์ Wison Judge Wisdom Judge ลำดับที่ 101 ผมชอบตัวเลขนี้นะ ตัวเลขที่ผ่าน 100 บ่งบอกความมุ่งมั่น อดทน และต่อเนื่อง ผมลองยกตัวอย่างเลข 100 ที่น่าภูมิใจดูนะ เช่น Harley Davidson 100th Anniversary หรือแม้แต่หนังสืออดิโอไฟล์ที่วันนี้ก็อายุ 256 เล่มเข้าไปแล้ว ผมก็หวังว่าจะมี Millenium Issue ฉบับที่ 1000 ออกมาให้เราเห็นนะครับ ถ้าวันนั้นเรายังอ่านหนังสือกันอยู่!!!
ฉบับนี้ ขอเล่าเรื่องคลังแสงที่ WJ กำลังทดสอบลองเล่น ถึงแม้ว่าจะพยายาม Downscale ซิสเต็มส่วนตัวแล้วก็ตาม (ยุบหนอ พองหนอ) มีทั้งปรี/เพาเวอร์ของ Vitus Class A อันร้อนระอุ และลำโพงตั้งพื้นในอนุกรมเรือธงคือ Focal Scala Utopia Evo ที่แหม! ดูจะเหมาะเจาะกับห้องทดสอบซะจริงๆ ก็ขอให้ติดตามผมไปอีกซักสองตอนก็น่าจะได้อ่านกันครบ ส่วนเล่มนี้ก็มีบทความการทดสอบเพาเวอร์แอมป์รุ่นเรือธงของไฮเอ็นด์อังกฤษที่ภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่งว่า WJ น่าจะเป็นผู้ทดสอบลำดับแรกของโลก และก็ทำการทดสอบทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เปิดตัวสินค้าตัวนี้สู่สาธารณชนด้วยซ้ำไป มันคือ Chord Electronics: Ultima Mono Block Power Amplifier รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ท่านจะเป็นคนกลุ่มแรกในโลกที่ได้อ่านรีวิวแอมป์ระดับมหากาฬที่ได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเช่นกัน กระซิบไว้ซักหน่อยว่ามีการถ่ายทำเบื้องหลังและคลิปเสียงเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการทดสอบแอมป์และซิสเต็มประกอบที่ทีมงานออดิโอไฟล์กำลังทำการตัดต่ออยู่ คอยติดตามกันได้ทาง Social Media ครับ
ก่อนจะไปถึงบททดสอบ ขอฝากอะไรให้นักเล่นเครื่องเสียงได้คิด เรื่องแนวทางการเล่นเครื่องเสียง และข้อสังเกตครับ อันว่าการฟังเพลงหรือดนตรีจากเครื่องเสียงในขั้นตอนสุดท้าย ก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง แอมป์ ลำโพง และห้องฟัง มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ว่า ค่ายหนึ่ง พยายามพัฒนาออกแบบหรือผลิตระบบลำโพงพาสซีฟที่มีความไวสูงเป็นพิเศษ ในที่นี้ก็เกิน 100dB ขึ้นไปเพื่อลดภาระที่จะต้องใช้แอมป์กำลังขับสูง ซึ่งทำยาก แพง และเสี่ยงต่อความเพี้ยน จะว่าไปแล้วสมัยโบราณหรือวินเทจ มักเล่นแอมป์หลอด เพราะทรานซิสเตอร์ในยุคเริ่มแรกนั้นยังมีความเพี้ยนและจ่ายกำลังไม่ได้สูงมาก ความไวของลำโพงสูงก็จะมาจากการเลือกใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่ แม่เหล็กพลังสูง (สมัยก่อนใช้แม่เหล็กธรรมชาติผ่านกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นและจัดระเบียบการเรียงตัว) และตู้ลำโพงขนาดใหญ่เพื่อใช้หลักการขยายเสียง (เพิ่มความดัง) ทางฟิสิกส์หรือทางกล เช่น การใช้ฮอร์นโหลด เป็นต้น การเล่นแบบนี้อาศัยพื้นที่จัดวางค่อนข้างมาก อีกทั้งแม่เหล็กพลังงานสูงที่ว่าก็มักเป็นแม่เหล็กธรรมชาติด้วย ซึ่งก็หายากขึ้นเป็นธรรมดา สมัยก่อนเขาเล่นกันแบบนั้น
อีกค่ายหนึ่ง ในแนวสมัยใหม่ละกัน ยุคลำโพงประสิทธิภาพต่ำเริ่มจะหมดไปแล้ว การใช้ต้นกำลังแม่เหล็กของไดรเวอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นการสังเคราะห์ขึ้น โดยใช้วัสดุโลหะที่เหนี่ยวนำทำให้เกิดพยาธิสภาพเป็นแม่เหล็กได้มากน้อยตามต้องการ (ซึ่งไม่ทราบว่ามีความเสี่ยงที่ประสิทธิภาพของแม่เหล็กจะมีการเสื่อมลงได้หรือไม่) ถ้าเราถอยหลังกลับไปอีกนิด เราจะเห็นว่าลำโพงมหาเทพมักมีความไวต่ำบริโภคกำลังจากแอมปลิฟายเออร์มาก เรียกว่าผลักภาระไปให้แอมป์ล้วนๆ ถึงจะได้เสียงที่ดี ผมคิดว่าจากสภาพเศรษฐกิจที่งอมกันไปทั้งโลก และยาวนานมาระยะหนึ่งแล้ว รวมไปถึงแนวคิดในการออกแบบที่เปลี่ยนไป ลำโพงสมัยใหม่เริ่มที่จะคำนึงถึงการสวิงของอิมพีแดนซ์ โอเค… ความไวสำหรับค่ายนี้อาจจะไม่เน้นความไวสูง มีค่าอยู่ราวๆ 87 – 94dB อิมพีแดนซ์ก็อาจจะต่ำเช่น 4 โอห์ม ที่ย่อมกินกระแสมากกว่า 8 โอห์ม แต่การสวิงของอิมพีแดนซ์จะอยู่ในช่วงที่แคบกว่าเดิมมาก ดังนั้น ถึงแอมป์ต้องใช้กำลังขับดันเพื่อที่จะได้ความดังเท่าๆ กับลำโพงความไวสูง แต่ภาควงจรขยายกำลังที่ขับดันลำโพงจะมีเสถียรภาพในการจ่ายกระแสมากกว่าที่เคยเป็น ก็เริ่มจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น สอดคล้องกับภาวะโรคร้อน และฟีเวอร์การประหยัดพลังงาน เหล่านี้ย่อมผลักดันให้แอมปลิฟายเออร์ที่เป็นแมสโปรดักต์เริ่มจะมีกำลังขับที่ไม่สูงมาก หรือแอมป์กำลังขับสูงก็เป็นแอมป์คลาส D ยกเว้นพวกมนุษย์พันธุ์สุดโต่งอยู่หยิบมือเดียว ที่เดี๋ยวนี้จะมากระจุกอยู่แถวๆ เอเซียมากกว่าผู้ผลิตชาติตะวันตกด้วยซ้ำไปแล้ว
CHORD ELECTRONICS: ULTIMA MONO BLOCK POWER AMPLIFIER
บริษัทนี้ถือกำเนิดเมื่อปี 1989 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมาจากอุตสาหกรรมการบิน เครื่องเสียงลำดับแรกของค่าย คือ แอมปลิฟายเออร์ที่ทาง BBC, Abbey Road, และสตูดิโอชั้นนำนำไปใช้ในการบันทึกเสียงและออกอากาศ นั่นบ่งบอกถึงปรัชญาความไม่ประนีประนอมทางด้านวิศวกรรม คุณภาพเสียงที่ดี และความเชื่อถือได้ในระดับมืออาชีพอย่างแท้จริง จากที่กล่าวมานั้น ผมเพิ่งจะบอกไปแหม่บๆ ว่า มนุษย์พันธุ์สุดโต่งคงเป็นข้อยกเว้นสำหรับสินค้าประเภท Extreme และแล้ว หลังจากที่แอมป์ Naim Statement ที่ WJ ทดสอบไปไม่นานมานี้ได้ตีตลาดมนุษย์พันธุ์สุดโต่งด้วยชุดปรี/แอมป์โมโนบล็อกขนาด 746 วัตต์ หรือ 1 แรงม้าต่อข้าง (โปรเจกต์นี้กว่าจะสำเร็จได้ ก็เมื่อ Focal เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับ Naim แล้ว) บัดนี้ เกาะอังกฤษที่ปกติไม่นิยมแอมป์ขนาดใหญ่ก็ปั้นยักษ์ขึ้นมาอีกหลายตน ไม่ยอมอ่อนข้อค่ายมะกันอีกต่อไป (ที่แข่งกันใหญ่และแพงระยับ) แทน แท๊น แท่น แท๊น Chord Ultima ถือกำเนิดมาด้วยการถือไพ่ที่เหนือกว่าด้วยกำลังขับ 1,100 วัตต์ต่อเนื่องที่ 8 Ohm กำลังขับต่อเนื่อง และเมื่อวัดที่ความเพี้ยน 0.05% @8Ohm อยู่ที่ 1,000 วัตต์ต่อเนื่อง แน่นอนว่ากำลังขับเมื่ออิมพีแดนซ์ของลำโพงลดลงไปที่ 4 โอห์มก็จะเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวอยู่ที่ 2,200 วัตต์นั่นเอง ก็ดูจะเหมือนมองเทรนด์กันออกนะ เพราะปู่ Dan แกก็ออกแอมป์โมโนบล็อก 1,500 วัตต์ ออกมาใหม่เหมือนกัน สำหรับผม แอมป์ประเภทอเมริกันมัสเซิ้ลมันชักจะชินๆ กับคีย์เวิร์ด Size Does Matter ละ เพราะของมะกันเขาต้องใหญ่ๆ แอมป์กำลังขับสูงจากฝั่งอังกฤษนี่ ผมว่าน่าสนใจมากกว่า เพราะแกคงจะกะไปตีฝั่งมะกันพร้อมๆ กับฝั่งเอเชียด้วย อาศัยความได้เปรียบทางฮวงจุ้ย เพราะตั้งอยู่ระหว่างสองซีกโลกก็ว่าได้
Chord Ultima มีน้ำหนักตัวเปล่าข้างละ 100 กิโลกรัม แชสซีส์ออกแบบให้มีคานรองรับน้ำหนักตัวเครื่องตามความยาวทั้งสองด้าน ซึ่งมีเสาเชื่อมกับคานรับแท่นเครื่องทั้งหมด 12 เสา อลังการงานสร้าง เสาที่ว่าน่าจะมีการติดตั้งวัสดุซับแรงอยู่ภายใน สังเกตจากการที่แต่ละเสามีสกรูที่ปิดอยู่ที่หัวเสาสามจุด ปุ่มเปิดเครื่องบนกลางหน้าปัดอะลูมิเนียมความหนาซัก 30 มิลลิเมตร มีลักษณะกลมใหญ่ เมื่อกดเปิดเครื่องจะมีไฟเรืองแสงสีเขียวอมฟ้า เวลาสแตนด์บายจะเป็นสีส้มอมแดงเหมือนลูกแก้ววิเศษใน LOTR ฝาด้านบนของเครื่องฉลุด้วย CNC เป็นลวดลายโค้งกลมเพื่อลดความกระด้างของพื้นผิวโลหะจากรูปทรงที่เป็นกล่องเหลี่ยมขนาดใหญ่ เมื่อเปิดเครื่องจะมีไฟเรืองแสงที่แผงวงจรด้วย มีที่หรี่ไฟของหน้าปัด สามารถหรี่ไฟให้สว่างมากสุดหรือสว่างน้อยสุดได้ เป็นสุดยอดเทคโนโลยี งานตัวถังนี่เนี้ยบมากครับ เอาไปสิบเต็มทั้งในแง่ดีไซน์และการผลิต ที่น่าสนใจก็คือ แผงเครื่องด้านหลังที่รองรับการเชื่อมต่อสายลำโพงไบไวร์คุณภาพสูง รองรับอินพุตทั้งบาลานซ์และอันบาลานซ์ โดยแยกสัญญาณอินเวิร์ตและนันอินเวิร์ตชัดเจน โดยไม่ใช้ Toggle switch เพื่อประหยัดต้นทุน อันนี้ขอยกย่อง แผงหลังยังมีฮีตซิงก์ติดตั้งไว้ ในระหว่างใช้งานก็ไม่มีความร้อนสูงมากที่ฮีตซิงก์ แต่จะร้อนที่ฝาหลังทั้งฝามากกว่า ส่วนเรื่องของรายละเอียดของวงจร เนื่องจากเครื่องนี้ยังเป็นความลับทางการค้าอยู่ ถ้ามีข้อมูลทางเทคนิคคืบหน้าก็จะขยายความให้ฟังกันต่อไปครับ
SET UP
Chord Ultima มาสถิตอยู่ในห้องของ WJ ราว 15 วัน ผมเบิร์นอินตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับลำโพง Focal Scala Utopia Evo ซึ่งสิ่งที่อยากจะแชร์ให้ฟังคือ แม้เพิ่งจะเปิดเครื่อง มันบ่งบอกลักษณะของแอมป์ที่เสียง ที่ดีมาก กล่าวคือ… มีความใสและสะอาด มีเนื้อหนังที่เต็ม บ่งบอกความเสถียรและแข็งแรงเฮลท์ตี้สุดติ่งของภาค จ่ายไฟและภาคอัดฉีดกระแส ส่วนไฟสีที่เป็นสีเขียวเรือง เท่าลูกเบสบอลตรงหน้าปัดบ่งบอกสถานะการทำงานก็ดู มีมิติ คือคล้ายๆ มันจะมีสีสันที่กลิ้งได้ระหว่างฟ้าเหลือบ เขียว หรือเขียวเหลือบฟ้า ขอแนะนำว่าอย่าไปจ้องจะเผลอถูกสะกดจิตได้ ในระหว่างการเบิร์นอิน ผมใช้ Meridian 818 Reference Audio Core เป็นต้นทาง ผ่านปรี Audiovalve Conductor ต่อเชื่อมสายบาลานซ์ และสายลำโพงของ TQ Silver Diamond สายไฟสำหรับ Chord Ultima เป็นของ Audience AU24SX ใช้ อะแดปเตอร์แปลงหัวปลั๊กมาตรฐาน IEC 220 Volt 20 Amp เพราะปลั๊กไฟบ้านเราไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อเมริกันและยุโรป คือ สรุปว่ามั่ว
งานนี้ผมไม่ต่อผ่าน Vibex DC Filter เนื่องจาก โมโนบล็อกแอมป์บริโภคกระแสไฟสูงกว่าปกติ ไม่อยาก จะเอามาคั่น ก็ลองดูความแข็งแรงของระบบเพาเวอร์ ซัพพลายดูครับ ฟ้าผ่าฟ้าร้องไม่สนใจ เพราะกอง บก. ยืดอกรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว 555
ในการฟังจริงก็สลับ Meridian กับเทิร์นเทเบิ้ล Oracle Delphi Vi + ASR Basis Exclusive ครับ คลิปถ่ายทำก็บันทึกจากแผ่นเสียง มีเสียงป๊อปคอร์น พอได้กลิ่นอายของแผ่นดำประปราย
OVERTURE
ผมคาดหวังอะไรกับแอมป์ที่มีกำลังขับ 1,100 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม หรือ 2200 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม???
ผมจำได้ว่าหลายปีก่อนสมัยที่ชมรมคนรักหลอด thaidiy ให้ผมไปตัดสิน Shootout day ของเครื่องเสียงที่เหล่าสมาชิกประดิษฐ์ขึ้นมา ผมเคยให้เกณฑ์ของคุณสมบัติของเครื่องเสียงที่ดีแปดข้อ ลำดับความได้ ดังนี้…
ข้อแรก Timbre ความสามารถที่จะบ่งบอกเสียง เฉพาะตัวของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ
ข้อสอง Tonal Balance คือ สมดุลของโทนเสียง ตลอดย่าน
ข้อสาม Dynamic ได้แก่ Dynamic Contrast คือพลังในการนำเสนอความละเอียดของการไล่ระดับ ดังค่อยที่ต่อเนื่องไร้ตะเข็บ
ข้อสี่ Dynamic Transient คือความฉับพลันของ การกำเนิดเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด
ข้อห้า Image/Soundstage คือความสามารถใน การบ่ งบอกอาณาเขต มิ ติ กว้างยาวสู งของเสี ยงดนตรี ที่คุณรับรู้ได้
ข้อหก Clarity คือ ความสามารถในการเปิดเผย ถึงรายละเอียดของดนตรี
ข้อเจ็ด Transparency คือ ความใสที่ทำให้ผู้ฟัง รับรู้รายละเอียดต่างๆ ของดนตรีนั้นได้ชัดเจนเพียงไร
ข้อแปด Pace & Time ความแม่นยำในการ นำเสนอจังหวะช้าเร็วของดนตรีที่ถูกต้อง
คำตอบก็คือ กำลังขับสูง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตราบเท่าที่กำลังขับนั้น สามารถถ่ายทอดและหล่อหลอมคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้ง 8 ข้อออกมาได้ดี และเมื่อดีในจุดสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว มันได้กลายสภาพจากเครื่องเสียงมาเป็นการจำลองดนตรีสดให้คุณได้ยิน ความเป็นจริงก็คือ ถ้าแอมป์ของคุณมีกำลังขับ เสถียรภาพ การตอบสนองความถี่ ความเที่ยงตรง และกำลังสำรองที่คุณภาพไม่สูงพอ (ที่ต้องเหมาะกับลำโพงด้วยนะ) ทั้งแปดข้อนี้ก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ออกมาด้วยการฟังนั่นเอง เอาล่ะ งั้นมาดูกันว่าซิสเต็มที่อ้างอิงถึงโดยโฟกัสไปที่ Chord Ultima จะเป็นอย่างไรกันบ้าง ขอเริ่มจากการเล่นกลับด้วย Meridian 818 กันก่อน
They Long to be Close to you ของ คาเรน คาร์เพนเตอร์ เมื่อฟังผ่าน แอมป์ Chord Ultima ทำให้ผมรู้สึกแปลกหูไปเลยจนน่าตกใจ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า คาเรน ร้องเพลงนี้อย่างเต็มปากเต็มคำผสมไปถึงอาการแก้มขยับอย่างเน้นคำร้องอย่างเต็มอารมณ์ที่สุด จนผมเลยเถิดคิดไปถึงว่า เธอกำลังยิ้มอย่างมีความสุขในขณะที่กำลังร้อง เสียงเปียโนและนิ้งหน่องดูเป็นประกาย มีน้ำหนักการเคาะแล้วจึงเกิดการก่อตัวเป็นโน้ต และทอดตัวกระจ่าง มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง จังหวะเนิบๆ ของเพลงที่เบสและกลองตีที่จากที่เคยฟังไหลไปเรื่อยๆ คราวนี้รู้สึกถึงความแม่นของสโตรก เต็ม ให้ความตึงของหน้ากลองแต่ละใบ แบ็กกราวด์ไวโอลินและวู้ดวินด์ที่บางเบากลับล่องลอยตลบอบอวลช่วยเพิ่มบรรยากาศชวนฝันตามประสาสาวที่หลงหนุ่มรวยเสน่ห์ในความหมายของเพลง นี่เป็นประสบการณ์การฟังเหนือระดับ คงไม่ต้องบอกว่า ผมฟังเพลงนี้หลายร้อยรอบแล้วนะ แต่เพิ่งจะรู้สึกได้ชัดมากขนาดนี้ เหมือนกับดูหนังเรื่องเดียวกันผ่าน DVD vs Blu-ray Disc ยังไงยังงั้น
ในแทร็กถัดมา This Masquerade ไมโครโฟนที่เก็บเกี่ยวเอ็คโค่ในห้องอัดที่ติดตามกับเสียงของคาเรน มันเป็นความ “สด” ที่น่าขนลุกเกรียวทีเดียว เมื่อพบว่า แท้จริงแล้ว เธอ “เสมือน” กับมาขับร้องอยู่ในห้องของผมแทบจะสัมผัสได้ในระยะไม่กี่เมตรข้างหน้านี้ และเสียงเอ็คโค่ยังเป็นเสียงสะท้อนในห้องฟังผมด้วย! การแทรกของโซโล่เปียโนให้เมโลดี้ที่มีความชัด มีพลัง เฉียบขาด ให้รู้ถึงสัมผัสของปลายนิ้ว ไม่ว่าจะพรม จรด ไล้ กระแทก หนักเบา ลงบนคีย์บอร์ด ภาพรวมของเพลงที่มีความเรืองรองของบรรยากาศด้วยการห่อหุ้มด้วยเครื่องสาย และเครื่องเป่าที่คลอเคลียด้วยเสียงนักร้องที่แยกแยะออกมาชัดเจน ทั้งการจำแนกรายละเอียด จังหวะการเฟดเข้า/ออก ไม่รู้จะบรรยายด้วยตัวอักษรอย่างไรดี นี่แหละ อมตะดนตรีและบทเพลงของมนุษยชาติโดยแท้ นี่เรากำลังพูดถึงอัลบั้มที่รีมาสเตอร์กันในปี 2000 ในฟอร์แมต XRCD ครับ
ยิ่งเพลง Top of the World นี่ ผมขอใช้คำสั้นๆ ว่า ไพเราะจับใจจริงๆ คาเรนไล่เสียงตั้งแต่ต่ำกลางสูงอย่างร่าเริงและมีความสุขอย่างยิ่ง นี่มันแอมป์อะไรกันเนี่ย เสียงกีตาร์ที่เล่นด้วยนิ้วและเทคนิคการใช้สไลด์กีตาร์ที่คลอเคลียตลอดเพลงก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผมครับ ฟังมาก็หลายรอบไม่เคยได้ฟีลและรายละเอียดแบบนี้
Only Yesterday แทร็กต่อมา เฮ้อ! ผมว่าโลกของคาเรนสวยงามเหลือเกิน การใช้ระฆังและเครื่องเป่าคล้ายกับจะบอกว่า วันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันวาน ด้วยการสื่อความหมายจากการ arrange ดนตรี มิใช่ด้วยคำร้องที่สื่อความตรงๆ ว่า Tomorrow may be even brighter than today การนำเสนอของ Chord Ultima ในแง่นี้จัดว่า ไร้เทียมทาน
ต่อด้วยเพลง Sing ที่เริ่มจากเครื่องเป่าและเปียโน โอ้ว! ไดนามิกส์สุดยอดท่าน มีทั้งพลัง กระจ่างแจ้ง สดใส เสียงร้อง Sing ของคาเรน มีความเข้ม เต็มอิ่ม เปี่ยมพลังแฝง เน้นและเร้าอารมณ์สุดๆ ถึงขั้นทำให้ WJ น้ำตาซึม เพราะความเสียดายเมื่อพาลคิดว่า เธอจากเราไปก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะช่วงที่เด็กๆ คอรัสขึ้นมา มันให้ความรู้สึกการพรรณนาถึงความหวังที่จะทำให้โลกสวยงามขึ้นด้วยการร้องเพลง นี่เป็นอีกครั้งที่ได้ฟังเพลงจากเครื่องเสียงที่ให้คุณภาพในการรับฟังที่ก้าวพ้น “ขีดจำกัด” จากการสัมผัสด้วยหูไปสู่ระดับการสัมผัสลึกซึ้งถึงระดับจิตวิญญาณก็ว่าได้ซาบซึ้งมากครับท่าน
กลับมาที่แผ่นดำใน End credit ของ Indiana Jones & the Last Crusade ในแทร็กนี้เป็นการเน้นเครื่องเป่าตามสไตล์หนังผจญภัยที่เน้นความเกรียงไกร แผดจ้า ในลีลาการนำวงของ ท่านเซอร์ จอห์น วิลเลียม เล่นด้วยวง ลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า 1 ในซาวด์แทร็กมีลีลาอยู่หลายช่วงการนำเสนอที่ควรทราบ คือ ผมเชื่อว่าการ Appreciate ดนตรีนั้นจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราทราบถึงเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของบทประพันธ์ และเครื่องเสียงที่จะต้องถ่ายทอดมันออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมจะบอกว่า นี่คือเส้นแบ่งระหว่างเสียงดีและไพเราะน่าฟัง หรือเส้นแบ่งของเครื่องเสียงทั่วไปกับไฮเอ็นด์ หรือตอนนี้เป็น Ultimate Hi-end แล้ว ซึ่งก็คือ ความซาบซึ้งไปกับดนตรีนั่นเอง ถือเป็นที่สุด ในอัลบั้มนี้ก็เช่นกัน หลังจากที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ตัดต่อภาพยนตร์เสร็จ ก็จะส่งไปให้ เซอร์ จอห์น วิลเลียม เป็นผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ลงไป ที่น่าสังเกตนอกจากจะเป็นการใช้บริการของดูโอคู่ขาคู่บารมีมากกว่า 30 ปีแล้ว ในภาพยนตร์จะมีเสียงดนตรีประกอบคลออยู่ตลอดทั้งเรื่อง ลีลาที่จะพูดถึง ก็จะมีทั้งความลึกลับ (ใช้วู้ดวินด์และเครื่องสายลีลาคดเคี้ยว เสียงกลางแหลม) ความอบอุ่นที่บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก (ใช้เครื่องเป่าและเครื่องสายในโทนอุ่น) ความชั่วร้ายเมื่อนาซีปรากฏ (ใช้กลองและเครื่องเป่าทองเหลืองในโทนกลางต่ำจังหวะเร่งเร้าหนักแน่น) ความศักดิ์สิทธิ์เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าและอัศวินครูเสด (ใช้เครื่องสายและเครื่องเป่าที่ช้า ให้สมดุลเสียงทั้งสว่างและมืด แต่ยิ่งใหญ่) และสุดท้ายกับความตื่นเต้นของการผจญภัยด้วยกลุ่มเครื่องเป่า (ธีมอินเดียน่าโจนส์) เสียงเบสที่เป็น Deep bass ที่ต่ำที่สุด ได้มาจากออร์แกนท่อ รองลงมาคือทูบา Chord Ultima สามารถส่งต่อลักษณะของเบสที่ผมไม่อาจระบุว่าต่ำได้กี่ Hz แต่มันแผ่มาทางพื้น และกระทบผิวหนังคลอไปกับสกอร์ที่ดำเนินไป รายละเอียดที่ไม่เฉพาะที่รับรู้จากการฟังนี้ช่วยสร้างจินตนาการในการเสพดนตรีได้อย่างสุดขั้ว พอจุดติดแล้ว ไม่ว่าจะลีลาไหนก็ประหนึ่ง Chord Ultima ได้กลายเป็นท่านเซอร์จอห์นของผมไปแล้ว แม้ว่าการบันทึกรู้สึกถึงการบีบอัด เนื่องจากซอฟต์แวร์แผ่นเสียงนี้ยังเป็นคอมเมอร์เชียลเกรดอยู่ แต่ในแง่ของ
Music Appreciation ผมให้เต็มสิบ การวางอาณาเขตของวง มันไม่ได้ต้องการที่จะชี้ชัดอะไรอีกแล้ว คือคุณอยู่ห้อมล้อม วงดนตรี คุณ “เห็น” ว่าในลีลาใดที่นักดนตรีกำลังประทับเครื่องเป่า กลุ่มวู้ดวินด์ที่กำลังเน้นเพื่อให้ได้ระดับความดังสู้กับ เครื่องเป่ากลุ่มทองเหลือง สุดๆ ครับท่าน
ในคลิปที่อัดให้ฟัง โดยทีมงานออดิโอไฟล์ระหว่างการทดสอบ Chord Ultima ท่านจะได้ฟัง Lacrimosa ของ Mozart K626 ในเวลาสองสามนาทีจากซาวด์แทร็กภาพยนตร์ Amadeus ผมค่อนข้างเป็นกังวลเรื่องการเก็บเสียงใน ห้องฟังที่เทียบกันไม่ได้จากการฟังจริง พูดยังไงดี น่าจะเก็บเสียงดนตรีได้ แต่เก็บวิญญาณไม่ได้ เออ! เป็นแบบนั้นแหละ เนื่องจากเสียงคอรัสหลายสิบคนและหลายโทนเสียง (Quire) และความถี่ต่ำจากออร์แกนท่อและทูบา ที่ทำให้ความชัดเจน มันแปลกๆ ไป (ถ้าบันทึกเสียงติด) เหตุการณ์จริงในตอนนั้นคือ คลื่นความถี่ที่มันห้อมล้อมในห้องฟังนั้น มันตลบอบอวล ห้อมล้อมตัวเราราวกับเรากำลังอยู่ในฮอลล์นั้น ใช่! เสียงที่ฟังมันหล่อหลอมเรา ทำให้คิดไปถึงการตีความของบทประพันธ์ ที่เหล่าบรรดาฑูตสวรรค์มารับผู้วายชนม์ ความสลับซับซ้อนของกลุ่มนักร้องที่วิวัฒน์ความสูง/ต่ำของตัวโน้ตครั้งแล้ว ครั้งเล่าที่คุณติดตามได้จนแทบลืมหายใจ อา…เมน… นั่นเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ไม่ได้มีการบันทึกเสียงในลีลา REX ที่บรรยายถึงความน่าสพรึงกลัวของไฟอเวจีก่อนหน้านี้
สรุปความ
คงไม่มีอะไรสงสัยว่า Chord Ultima ได้ก้าวพ้นข้อจำกัดของเครื่องเสียงที่ดีทั้งแปดข้อที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เพราะถ้ามีจุดที่เป็นจุดอ่อนเพียงหนึ่งในแปด มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะได้อรรถรสของ Music Appreciation ที่ผมบรรยายไว้ได้เลย นี่ชักจะเกิดข้อกังขาขึ้นมาอีกแล้ว ว่าถ้าจะต้องทำเครื่องเสียงซัก 1000 วัตต์ แล้วถึงจะได้ยินเสียง แบบนี้ ได้ซาบซึ้งขนาดนี้ ได้ความหมายขนาดนี้ จำเป็นจริงๆ เหรอ ผมคงจะต้องตอบว่า ทำออกมาเถอะ ได้โปรด!!!! นาทีนี้ ผมยกให้ Chord Ultima เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ให้เสียงดีและน่าหลงใหลที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่ผมเคยทดสอบมา แนะนำเป็นอย่างยิ่ง
ข้อสังเกต
1. ถ้ามีปรี Chord ตัวท็อปมาร่วมด้วย สงสัยมีรายการขาดสติในระหว่างการทดสอบแน่ เพราะอาจลืมหายใจไป ชั่วขณะ
2. ผมคิดว่าด้วยคุณภาพเสียงและรูปลักษณ์ของ Chord Ultima จะทำให้มันอยู่ยงคงกระพันไปอีกนาน ถ้าคิด เป็นการลงทุนในเรื่องนี้ก็คุ้มค่านะครับ ราคาค่าตัวเท่าที่สืบทราบมาก็น่าจะทำให้แอมป์ราคาระดับเจ็ดแปดหลักใน ท้องตลาดถึงกับอยู่ไม่สุขกันละคราวนี้ ไปลองฟังดูนะครับ ทั้งผู้ที่กำลังจะซื้อและคู่แข่ง!!!
3. ไม่แนะนำให้วางบนชั้นวาง นอกจากน้ำหนักของเครื่องที่หนักมากกว่าปกติแล้ว เสารับน้ำหนักแท่นเครื่องได้รับ การออกแบบมาให้วางกั บพื้นห้ องโดยตรง มันมี ตุ่มยางอยู่ ด้านล่างเสา เรี ยกว่าวางแล้ วติดหนึ บเป็นตุ๊กแก ขอแค่ตำแหน่ งจัดวางเป็นพื้นที่แข็งแรงเพียงพอ ไม่วางอยู่บนพรม และก็วางแล้วก็วางเลยนะครับ เคลื่อนย้ายกันลำบากทีเดียว
4. เข้าคิว WJ Wish List ไปอีกหนึ่งรายการ รอถูกล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 ก่อนนะ ฝากไว้ก่อน. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 257
No Comments