วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

ถ้าพูดถึงแอมป์จากประเทศอังกฤษ เชื่อว่าส่วนมากนักเล่นรุ่นเก่า มักนึกถึงพวกอินทิเกรตแอมป์โซลิด-สเตทตัวเล็กๆ กำลังขับไม่กี่สิบวัตต์ จับคู่กับลำโพงวางขาตั้งเล็กๆ ที่สามารถให้เสียงที่มีความละเอียด เนียน ตราตรึงใจใครหลายๆ คน เรียกได้ว่าเป็นชุดที่ให้เสียงดีในระดับราคาไม่สูงนัก จึงมักถูกเรียกเป็น “ชุดครู” ที่นักเล่นหลายๆ ท่านต้องเคยผ่านกันมาบ้างแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นลำโพงเล็ก แอมป์เล็ก ก็มีข้อจำกัดในหลายๆ ส่วน และเมื่อเวลาผ่านไป ชุดเครื่องเสียงของแต่ละท่านก็มักเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์และกำลังทรัพย์ แต่ก็ยังเห็นนักเล่นหลายๆ ท่านที่ถึงแม้มีเครื่องเสียงชุดใหญ่อยู่แล้ว แต่ยังคงมีความประทับใจในเครื่องเสียงตัวจ้อยระดับตำนานจากประเทศอังกฤษเหล่านั้น จนบางครั้งถึงกับต้องจัดที่จัดทางมาจัดชุดเล็กฟังเป็นครั้งคราวกันเลยทีเดียว 

 ในคราวนี้ แอมป์ที่ได้รับมาทดสอบเป็นแอมป์จากประเทศอังกฤษเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นแอมป์ตัวจิ๋ว กำลังขับกระจ้อยร่อยอย่างที่เราคุ้นเคยกัน หากแต่เป็นแอมป์โมโนบล็อกขนาดใหญ่ ประเภทขับลำโพงที่ออกแบบให้ใช้ในที่พักอาศัยได้ทุกคู่บนโลก ซึ่ง Chord Electronics SPM 6000 Mk II ที่ได้รับมาทดสอบในคราวนี้เป็นแอมป์โมโนบล็อกรุ่นรองท็อปจากผู้ผลิตสัญชาติอังกฤษมากประสบการณ์ ที่อยู่คู่วงการเครื่องสียงไฮเอ็นด์มาอย่างยาวนาน 

เป็นแอมป์ที่มีส่วนผสมของความทรงพลังอย่างที่แอมป์โซลิดสเตทชั้นดีควรมี 
เพื่อการควบคุมเสียงเบสที่ดี

เมื่อพูดถึง Chord Electronics เชื่อว่าหลายท่านน่าจะรู้จักในส่วนของสินค้าหมวด DAC ที่มีเทคโนโลยีด้านการเขียนโปรแกรมสั่งการทำงานของชิพเอง ไม่ได้ใช้ชิพ DAC สำเร็จรูปเหมือนผู้ผลิตทั่วไป ซึ่งผลที่ได้ก็มีความน่าสนใจมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผมยังมี Chord DAC64 ใช้เป็น DAC อ้างอิงประจำการในชุดเล็กอยู่เลย ซึ่งก็ยังคงให้เสียงได้น่าประทับใจอยู่เช่นเคย แต่ถ้าเป็นนักเล่นรุ่นใหญ่มากประสบการณ์กว่านั้น จะจดจำ Chord Electronics ในฐานะผู้ผลิตเครื่องเสียงประเภทภาคขยายเสียง ทั้งปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ ที่มีแนวทางการออกแบบล้ำสมัยมากๆ หลายท่านอาจสงสัยว่าที่ว่า “ล้ำสมัย” มันล้ำขนาดไหน ก็ต้องขอเอาภาพตัวอย่างเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยในยุคนั้นมาให้ดูสักเล็กน้อย 

ในปี 1982 นาย John Franks ผู้ก่อตั้ง Chord Electronics ขณะนั้นยังทำงานในการพัฒนาภาคจ่ายไฟสำหรับเครื่องบินขับไล่ แน่นอนว่าภาคจ่ายไฟที่เสถียรเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเป็นรถธรรมดาที่เราใช้กัน ถ้าขับๆ อยู่ แล้วระบบไฟมีปัญหา อย่างมากก็จอด แล้วเข็นเข้าข้างทาง แต่ถ้าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่วิ่งเร็วเหนือเสียงแล้ว เกิดไปมีปัญหาในแนวรบของข้าศึก คงนึกกันไม่ออกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยประสบการณ์ในการออกแบบภาคจ่ายไฟแบบ Switching Power Supply คุณภาพสูงนี้เองที่เป็นตัวส่งให้แอมป์จาก Chord Electronics ของ John ที่เปิดตัว 48 กิโลกรัมต่อข้าง อาจจะฟังดูไม่น้อย แต่ก็ไม่ถึงกับน่าตกใจ เพราะแอมป์ดีๆ ที่มีกำลังขับสูงขนาดนี้ก็ต้องมีภาคจ่ายไฟขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักตัวราวๆ นี้ทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้มองลอดตะแกรงบนฝาหลังเครื่องลงไปจะพบภาคจ่ายไฟชนิด Switching Power Supply ขนาด 4,000 วัตต์ต่อตัว เรียงกันอยู่ 3 ตัว กินพื้นที่ราว 3 ใน 4 ตัวเครื่องของ Chord SPM 6000 Mk II ซึ่งภาคจ่ายไฟทั้ง 3 ตัวนี้เป็นภาคจ่ายไฟที่ทาง Chord Electronics ได้พัฒนาจากรุ่นแรกในปี 1989 มาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว ดังนั้น เรื่องความเชี่ยวชาญในการออกแบบ Switching Power Supply คงไม่ต้องพูดถึงแล้ว เรียกว่าทำกันมาจากรุ่นปู่ พ่อ ลูก มาถึงหลาน ยันตอนนี้เป็นรุ่นเหลนแล้ว และอย่างที่บอกไป ภาคจ่ายไฟมีขนาด 4,000 วัตต์ 3 ตัว ถูกออกแบบให้ทำงานไปพร้อมกันเพื่อจ่ายกำลังไฟรวมขนาด 12,000 วัตต์ เข้าไปชาร์จตัวเก็บประจุความจุสูงเพื่อสำรองไว้จ่ายในทุกช่วงเวลาที่วงจรแอมป์ต้องการ ลองนึกดูง่ายๆ แล้วกันว่า ถ้าเป็นภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ทั่วไปที่ต้องใช้หม้อแปลงตัวใหญ่ๆ เอาแค่หม้อแปลง 1 kVA ตัวเดียวก็ตัวเกือบเท่าหม้อหุงข้าวแล้ว ถ้าเราต้องยัดหม้อแปลงขนาด 4 kVA 3 ลูกเข้าไปในแอมป์ข้างเดียว แอมป์มันจะตัวใหญ่และหนัก ขนาดไหน!!! ผมว่าตัวคงต้องขนาดน้องๆ รถอีโคคาร์แล้วมั้งครับ 

นอกจากภาคจ่ายไฟที่เรียกได้ว่าอลังการงานสร้างขนาดนี้แล้ว ในส่วนของภาคขยายก็มีการใช้ทรานซิสเตอร์ชนิดมอสเฟตที่ทาง Chord Electronics ออกแบบเอง (กำหนดสเปก แล้วจ้างบริษัทอื่นผลิต) เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการอีกด้วย เรียกว่าใส่ใจในทุกขั้นตอนจริงๆ โดยในส่วนของภาคขยายเป็นวงจรแบบ Class AB ที่เราคุ้นเคยกันดีว่า ถ้าออกแบบดีๆ ก็สามารถให้เสียงได้น่าฟังไม่น้อยกว่าวงจร Class A ดีๆ เช่นกัน แต่ได้เปรียบตรงเรื่องประสิทธิภาพที่สูงกว่า ทำให้มีกำลังขับสูงกว่า โดยที่เกิดความร้อนน้อยกว่า ซึ่งตลอดการใช้งาน ผมก็ไม่พบว่าตัวเครื่องมีความร้อนสูงเกินปกติแต่อย่างใด

ในการใช้งานมีส่วนที่น่าสนใจคือ… ด้านท้ายเครื่องพบว่ามีขั้วต่อสายลำโพง 2 ชุด ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะแอมป์หลายตัวก็ให้ขั้วต่อสายลำโพงมา 2 ชุดสำหรับต่อไบไวร์ แต่ที่แปลกคือ… มีขั้วต่อสัญญาณอินพุต 2 ชุดด้วย คือมี RCA และ XLR อย่างละ 2 ชุด เล่นเอางง นึกว่าทางตัวแทนฯ ส่งเครื่องผิดเป็นรุ่นสเตริโอมา แต่เมื่อดูคู่มือพบว่าเป็นรุ่น SPM 6000 Mk II ถูกต้องแล้ว โดยขั้วอินพุตที่ให้มา 2 ชุดเป็นขั้วต่อสำหรับสัญญาณเฟสปกติหนึ่งชุด และขั้วสัญญาณกลับเฟสอีกหนึ่งชุด เพื่อให้สามารถจับคู่เลือกใช้งานกับปรีแอมป์ได้หลากหลาย โดยไม่เจอปัญหาเรื่องการกลับเฟสสัญญาณ เนื่องจากด้านท้ายเครื่องไม่มีตัวหนังสือบอกไว้ ดังนั้นควรเปิดคู่มือดูก่อนต่อสายสัญญาณ เพื่อให้แอมป์ทำงานได้อย่างถูกต้องตรงเฟส และก่อนจะเริ่มฟังกันจริงๆ จังๆ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจาก Chord SPM 6000 Mk II ใช้ขั้ว IEC แบบ 20A ส่วนสายไฟที่ผมมีใช้อยู่ประจำเป็นแบบ 15A ปกติก็มีตัวแปลงติดบ้านไว้เผื่อเวลาทดสอบแอมป์ที่เป็น 20A แต่เนื่องจากคราวนี้มีโอกาสหยิบยืมหัวแปลงที่มีราคาแพงกว่าที่ใช้อยู่ประจำมาลองด้วย ซึ่งผลที่ได้น่าสนใจตรงที่ หัวที่ยืมมาให้เสียงที่อิ่มหนามากกว่า แต่รายละเอียดต่างๆ ลดลงไปพอควร คือฟังเพลงร้อง เพลงชิลๆ มันก็ดูเหมือนจะเพราะดี แต่ถ้าเป็นเพลงที่ต้องการความสดสมจริงสมจัง เพลงที่ต้องการรายละเอียด หรือเพลงที่มีจังหวะจะโคนคึกคัก จะพบว่าเสียงโดยรวมจะนุ่มๆ น่วมๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด ขาดความฉับพลัน พาลให้ความน่าฟังหายไปไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ใช้กับสายไฟที่เป็นท้าย IEC 20A โดยตรงจะดีกว่า แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้หัวแปลง อย่าลืมลองหลายๆ ตัวด้วยว่า ตัวไหนเข้ากับชุดของเรามากที่สุด เพราะบางทีอาจจะเป็นเส้นผมบังภูเขาที่เรานึกไม่ถึงได้เลยทีเดียว ดังนั้นตลอดการทดสอบ ผมจึงใช้หัวแปลงตัวเดิมที่มีอยู่ ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกับที่ใช้ทดสอบแอมป์บางตัวก่อนหน้านี้ด้วย

อิ่มหนา นวลเนียนน่าฟังในช่วงเสียงกลางแบบที่คนอยากได้จากแอมป์หลอด ถึงไม่หวานหยดย้อยแบบหลอดเทพๆ แต่ก็นับว่าเป็นส่วนผสมที่มีความลงตัว

คุณภาพเสียง

ว่าแล้วก็มาเริ่มกันที่เสียง T-Rex เดิน ซึ่งในคราวนี้อาจจะไม่ได้หนักหน่วงสะใจแบบแอมป์บางตัวก่อนหน้านี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะไม่เคยรู้สึกในแอมป์ตัวอื่น คือ… ในบางย่างก้าวของ T-Rex จะมีความถี่ต่ำที่มีผลทให้รู้สึกเสียวสันหลังวาบขึ้นมา ซึ่งตรงส่วนนี้มีความน่าสนใจ เพราะเคยได้ยินงานวิจัยยืนยันมานานแล้ว เรื่องเสียง Infrasound ที่หูไม่สามารถได้ยิน แต่มีผลต่อสมองมนุษย์ ในด้านการทให้เกิดความรู้สึกกลัว โดยเขาค้นพบเรื่องนี้เมื่อมีการเปิดใช้งานอุโมงลอดช่องแคบอังกฤษใหม่ๆ พบว่าผู้อยู่อาศัยแถวนั้นรู้สึกเครียด กระวนกระวานโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังได้ทราบว่าเป็นเพราะเสียงเรโซแนนซ์ของอุโมงค์ เกิดเป็น Infrasound ที่ตรงกับความถี่ที่ทให้คนเกิดอาการกระวนกระวายกลัว เขาบอกว่า มันเป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวคนมาตั้งแต่สมัยอยู่ในป่าที่ต้องระวังสัตว์นักล่า เช่น เสือ ซึ่งเมื่อเสือสื่อสารกันระหว่างล่าก็มีความถี่นี้ปนออกมาเช่นกัน ผมก็จไม่ได้ว่ากี่ Hz แต่ความรู้สึกที่ได้รับ นับว่าน่าสนใจดี เพราะแทร็กนี้มีการเล่นเอฟเฟกต์ความถี่ต่ำมากๆ ที่ความดังค่อนข้างสูง แล้วเมื่อก่อนจะรับรู้เป็นแค่แรงสั่นสะเทือนตามพื้นมา แต่คราวนี้แถมความรู้สึกเสียวสันหลังมาด้วย แสดงว่าอาจเป็นไปได้ที่ SPM 6000 Mk II อาจจะให้พละกลังที่สามารถควบคุมเสียงความถี่ต่ำระดับนี้ออกมาได้ถูกต้องมาก ดูท่าสเปกที่บอกว่าตอบสนองความถี่ -1dB ช่วง 0.2Hz-46kHz จะเป็นตัวเลขแบบวัดมาจริงจัง ไม่ได้โม้ซะแล้ว เพราะโดยปกติแอมป์หลายตัวที่ชอบบอกว่า ตอบสนองความถี่ระดับ DC ได้ก็ไม่ค่อยได้บอกว่าลดลงไปกี่ dB แต่คราวนี้ SPM 6000 Mk II บอกมาชัดเจนจนถึง -3dB ที่ช่วงจะกว้างขึ้นเป็น 0.1Hz-77kHz แทน ดังนั้น ถ้าจะเล่นกับลโพงประเภทที่ตอบสนองความถี่ค้างคาวไปถึง 100kHz อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากตัว Super Tweeter เท่าไหร่ เพราะแอมป์บอกว่าที่ 77kHz ก็เริ่มโรลออฟมาแล้ว แต่ถ้ากับลโพงทั่วไป แม้กระทั่งพวกโดมเพชร โดมเบริลเลียมก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เอาจริงๆ หูคนเราก็ได้ยินถึงแค่ราวๆ 20kHz เท่านั้น เน้นที่ช่วง 20Hz – 20kHz ให้มันได้อย่างมีคุณภาพก็น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่าเยอะ 

ในส่วนของเพลงร้องอย่าง Love Never Dies ก็พบว่า เสียงร้องมีความนวลเนียนน่าฟังเหมือนเมื่อเล่นด้วยแอมป์หลอด แต่จะเหนือกว่าแอมป์หลอดตรงที่สามารถคุมลโพงได้อยู่หมัด ทให้รู้สึกถึงดนตรีที่ช้าลงกว่าปกติ ซึ่งจริงๆ เวลามันก็เท่าเดิมนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าเราสามารถดื่มด่่ำไปกับบทเพลงได้ละเอียดขึ้น จึงทำให้รู้สึกว่าเวลามันหมุนช้าลง แต่ในส่วนนี้ก็มีความแปลกกว่าปกติอีกจุดหนึ่ง นั่นคือเรื่องของตแหน่งเสียงร้อง ซึ่งปกติจะอยู่หลังระนาบลโพงลึกเข้าไปพอควร แต่ในคราวนี้กลับเลื่อนขึ้นหน้ามาอยู่เกือบถึงระนาบลโพง   ตรงนี้ ถ้าเป็นเครื่องเสียงที่มีแนวเสียงพุ่งสาด จัดจ้าน ก็อาจเกิดอาการนี้ได้ แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ถ้าเป็นเครื่องที่เรียกว่า เสียงพุ่ง เสียงจัด มันต้องไม่มีความน่าฟัง และรูปวงที่เลื่อนหน้ามา ต้องขาดความลึกด้วย คือออกแนวทุกเสียงออกมาเจี๊ยวจ๊าวหน้าลำโพง ซึ่งไม่ใกล้เคียงแนวเสียงของ SPM 6000 Mk II เลยแม้แต่น้อย เสียงของ SPM 6000 Mk II ออกแนว นวลเนียน อิ่มหนา น่าฟัง เรียกได้ว่าฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนไปลองแอมป์หลอดเลย แถมในเรื่องของรูปวงก็มีความลึกในส่วนที่อยู่เลยหลังลำโพงไปตามปกติ แค่เสียงบางส่วนที่เคยอยู่หลังลำโพง มันเลื่อนมาอยู่แถวระนาบลำโพงเฉยๆ แต่ความลึกด้านหลังก็ยังปกติ มีความสมดุลกับรูปวงด้านกว้างโดยรวมเป็นอย่างดี มีความกว้าง ความลึกที่สามารถคาดหวังได้จากแอมป์ระดับนี้อย่างที่ควรจะเป็น ตรงนี้ผมไม่ถือเป็น ข้อดี หรือ ข้อเสีย เพราะถึงแม้ตำแหน่งเสียงเลื่อนขึ้นมาเล็กน้อย แต่รายละเอียดการวางรูปวงโดยรวมก็ปกติดี และโทนเสียงของเสียงต่างๆ ในสนามเสียงก็ยังมีความสมดุลน่าฟังป็นธรรมชาติดี 

กับอีกแผ่นโหดๆ ที่หยิบมาลองเล่นกับ SPM 6000 Mk II ในคราวนี้คือ Pirates of the Caribbiean Dead Man’s Chest ที่มีแทร็กที่มีลีลาดุดันอย่าง the Kraken ที่ต้องบอกว่า ถึงใจมาก เครื่องสายโหมกระหน่ำดุดันอย่างกะฟังเพลงของ Metallica แถมตอนจบยังมีเสียงหัวใจเต้นที่ต่ำระดับโซฟาสั่นกันเลยทีเดียว แม้แต่แทร็ก Davy Jones ที่เริ่มด้วยเสียง Music box เหงาๆ เศร้าๆ ก็ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่พอจบเสียง Music box แล้วมีเสียงออร์แกนขึ้นมาแทน ความเหงาก็มลายหายไป กลายเป็นลีลาที่ดุดันทรงพลังขึ้นมาในทันที โดยที่ SPM 6000 Mk II สามารถถ่ายทอดออกมาได้ทั้งสองลีลาที่ต่างกันสุดขั้ว ถือเป็นคุณสมบัติที่ดีมาก เพราะการที่จะให้ลีลาเหงาๆ เศร้าๆ เบาๆ ของเสียง Music box ออกมาได้ดี ระบบต้องสามารถถ่ายทอดเสียงกลางจนถึงสูงออกมาได้นุ่มนวล มีบรรยากาศ เพื่อให้เสียง Music box ไม่ฟังดูสดจัดจ้าน เกร็งกร้าว เหมือนเอาเหล็กมาเคาะกัน ตรงจุดนี้แอมป์หลอดที่ให้เสียงหวานๆ มักได้เปรียบแอมป์โซลิดสเตทกล้ามโตในเรื่องลีลาแบบนี้ แต่เมื่อถึงลีลาที่ดุดัน แอมป์หลอดเหล่านั้นก็มักจะตกม้าตาย ออกอาการขับไม่ออก ไม่เบสมั่วรวนจนเป็นพรืด ฟังไม่รู้เรื่อง ก็ออกมาแนวเบสบางจนเสียงเจี๊ยวจ๊าว แต่พบว่า SPM 6000 Mk II สามารถแสดงความเหนือชั้นตรงจุดนี้ออกมาได้ด้วยพละกำลังที่อยู่หมัด สามารถสั่งลำโพงตัวสูงท่วมหัวให้ขยับและหยุดตัวได้นิ่งสนิทเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก สังเกตได้ว่ารูปวงไม่ออกอาการเป๋เรรวนเลยแม้แต่น้อย ความกว้าง ความลึก การตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ทุกชิ้นยังเป๊ะอยู่ที่เดิม พลังเบสที่อัดออกมาเป็นลูกๆ แต่ละลูกที่หนักหน่วงทรงพลัง ไม่ส่ออาการยุบเลยแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าอึดจริงๆ 

เปลี่ยนมาที่แผ่นที่เหมือนจะง่ายๆ แต่ก็มีอะไรให้น่าสนใจอยู่บ้าง อย่างเช่นอัลบั้ม “ทุ่งฝันตะวันรอน” ที่มีทั้งแผ่นที่เป็นการบันทึกการแสดงสด และแผ่นที่เป็นการบันทึกในสตูดิโอให้ฟังดูเหมือนการแสดงสด ซึ่งแผ่นหลังนี้จะทำออกมาได้ดี คือมีความรู้สึก “ไม่เนียน” เหมือนการแสดงสด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เหมือนการบันทึกเสียงในสตูดิโอ คือมีแบ็กกราวด์นอยส์ต่ำแบบสตูดิโอ มีการจ่อไมค์ที่เก็บรายละเอียดของเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ มาได้ดี อย่างเช่นเสียงปรบมือที่มีความรู้สึกเป็นเนื้อหนังมือคนจริงๆ แต่จะเหมือนมีคนปรบอยู่ไม่กี่คน ในตำแหน่งที่ชัดเจน ซึ่งตรงจุดนี้ ความน่าสนใจคือ SPM 6000 Mk II ให้รายละเอียดของเสียงต่างๆ ออกมาได้เป็นธรรมชาติน่าฟังดี คือไม่ได้ไปแต่งแต้มอะไรมากมาย เสียงกีตาร์แนวเพื่อชีวิตที่ซาวด์โปร่งๆ บางๆ ไม่เน้นบอดี้เนื้อไม้ บันทึกมายังไงก็ถ่ายทอดออกมาแบบนั้น ไม่ได้ไปเติมความอิ่มหนา เติมความหวานอะไรลงไปให้เกินจริง และในส่วนของเสียงร้องที่มีเสียงไมค์เหมือนการร้องสดในการแสดงสดที่มีเสียงลมจากปากกระแทกไมค์บ้าง ก็ยังคงมีอยู่แบบที่ควรจะเป็น ไม่ได้ถูกเพิ่มให้ใหญ่เกินเลย หรือตัดให้หดหายไป เสียงกลองที่ชอบบูสต์ซาวด์ให้กลองฟังดูชุดใหญ่ๆ เต็มเวที ก็เป็นไปตามนั้น บันทึกมายังไงก็ถ่ายทอดออกมาแบบนั้น 

NEW SPM 6000 MK II ตัวเครื่องประณีต งามสง่า ดุจประติมากรรม

กับอัลบั้มโปรดสมัยก่อนที่ไม่ได้หยิบมาฟังเป็นเวลานานอย่าง X-Japan Jealousy ก็พบว่า SPM 6000 Mk II ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เสียงกีตาร์มีความดุดันอย่างที่ควรเป็น เสียงกระเดื่องกลองที่มีความแตกต่างกันระหว่างเพลงเร็วกับเพลงช้า ซึ่งพบว่าในเพลงเร็วที่เป็น 2 กระเดื่องจะมิกซ์เสียงกระเดื่องมาเบากว่าในเพลงช้าเล็กน้อย ทำให้ในบางครั้งเพลงเร็วจะรู้สึกว่ากระเดื่องเบาไปนิด เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่นในวง แต่เสียงกระเดื่องจะลงตัวกำลังดีกับเครื่องดนตรีอื่น เมื่อเป็นเพลงที่ช้าลงมาเป็นจังหวะปานกลางอย่าง Joker หรือเพลงช้าอย่าง Say Anything ที่ถึงจะเป็นเพลงช้า แต่ก็มีท่อนที่เหยียบสองกระเดื่อง ตรงส่วนนี้เข้าใจว่าเป็นความตั้งใจของซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่อาจจะกลัวว่าเพลงเร็วที่เป็นสองกระเดื่อง ถ้ามิกซ์เสียงกระเดื่องให้ดังเท่าเพลงอื่น เมื่อเล่นกับเครื่องเสียงที่คุมเสียงเบสได้ไม่เด็ดขาดจะเกิดอาการเบสมั่วจนกลบเสียงอื่นๆ ไปหมด จุดนี้จะสังเกตได้จากท่อนที่เป็นสองกระเดื่องในเพลงช้าจะพบอาการเบสมั่วกับชุดที่คุมการทำงานของวูฟเฟอร์ได้ไม่เด็ดขาด แต่กับ SPM 6000 Mk II พบว่าสามารถให้เสียงกระเดื่องที่มีน้ำหนักกำลังดี และมีความชัดเจนเป็นลูกๆ ดี ถึงแม้ว่าไม่มีท่อนที่ทำ Double Stroke เร็วจัดๆ แบบเพลง Dahlia ที่เอามาทดสอบบ่อยๆ และเพื่อไม่ให้เป็นการค้างคาใจ เมื่อลองเอาเพลง Dahlia มาเปิดฟังก็พบว่าสามารถให้รายละเอียดกระเดื่องที่เคลียร์ชัด ไม่มีการรวนให้เห็น ถึงแม้แรงปะทะอาจจะยังไม่ถึงขั้นทรงพลังที่สุด แต่ก็นับว่าเป็นแอมป์ที่อยู่ในระดับที่ทำได้ดีมากตัวหนึ่ง 

ปิดท้ายกับแผ่น Royal New Orleans Jazz Celebration ที่พบว่าโทนเสียงของเครื่องเป่ามีความสว่างสดใสอย่างที่เห็นในภาพปกที่เครื่องเป่าชิ้นต่างๆ ถูกขัดขึ้นเงา ดูใหม่เอี่ยม โทนเสียงใกล้เคียงกับเสียงปกติที่ได้ยินจากแอมป์อ้างอิง ต่างกันที่มีการวางรูปวงเดินหน้าขึ้นมาเล็กน้อยคล้ายในแผ่น Love Never Dies และมีฐานเสียงต่ำของเครื่องเป่าตัวใหญ่ๆ เพิ่มมามากขึ้นเท่านั้น เป็นตัวช่วยเสริมความมั่นใจว่า แผ่นที่ทำมาทีหลังที่มาพร้อม DVD ไม่ได้มีการมิกซ์เสียงให้นุ่มลงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เมื่อฟังกับแอมป์บางตัวจะพบอาการเสียงเครื่องเป่าออกโทนอุ่นหนาหม่นๆ เพิ่มมาบ้าง แต่ในคราวนี้พบว่า โทนเสียงค่อนมาทางสว่างอย่างที่ควรเป็น นับว่า SPM 6000 Mk II ให้เสียงกลางแหลมมีความถูกต้องน่าฟังดีมาก เรียกว่าไม่เน้นโชว์พลังเหมือนักร้องกำลังพ่นไฟตลอดเวลา แล้วก็ไม่ได้เน้นใส่เครื่องปรุงจนเกินจริงให้เสียงร้องฟังดูอิ่มหนาเอาใจแนวหลงเสียงนางตลอดเวลา เรียกได้ว่าแนวเสียงแปรเปลี่ยนไปตามแผ่นต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น 

สิ่งหนึ่งที่พบระหว่างการทดสอบ เนื่องจากได้มีโอกาสเปลี่ยนสายลำโพงหลายเส้นลงไปสลับใช้งาน พบว่าเมื่อแอมป์ที่มีกำลังขับมาก และสามารถจ่ายกระแสได้มาก สายที่ใช้ควรเป็นสายที่รองรับกำลังขับได้มากๆ หน่อย เพราะในสายบางเส้นที่มีข้อจำกัดในการจ่ายกระแสมากๆ ที่ความถี่ต่ำจะพบอาการเบสอั้น ตื้อ ขาดความเป็นอิสระของเสียงให้สังเกตุได้ค่อนข้างชัดกว่าปกติ ซึ่งเมื่อจับคู่กับเส้นสายที่ลงตัวแล้วก็เหลือแต่ความสุขในการฟังเพลงแล้วครับ

สรุป

ถ้าใครกำลังมองหาแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ สำหรับขับลำโพงตัวใหญ่ๆ ที่ขับยากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการเสียงที่มีความอ่อนช้อย มีลีลา ไม่ได้เถรตรงเป็นไม้บรรทัด แต่ก็ไม่ได้ปรุงแต่งมากจนเกินงาม Chord Electronics SPM 6000 Mk II ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และควรต้องหาโอกาสไปลองฟังให้ได้ อาจจะไม่ใช่แอมป์ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่จะหาซื้อได้ในงบประมาณนี้ แต่ Chord Electronics SPM 6000 Mk II ก็จัดเป็นแอมป์ที่มีส่วนผสมของความทรงพลังอย่างที่แอมป์โซลิตสเตทชั้นดีควรมี เพื่อการควบคุมเสียงเบสที่ดี และถึงแม้ว่า Chord Electronics SPM 6000 Mk II อาจไม่ใช้แอมป์ที่เสียงหวานหลงเสียงนางที่สุดในงบประมาณนี้เช่นกัน แต่ Chord Electronics SPM 6000 Mk II ก็ยังมีความอิ่มหนา นวลเนียนน่าฟังในช่วงเสียงกลางแบบที่คนอยากได้จากแอมป์หลอด ถึงไม่หวานหยดย้อยแบบหลอดเทพๆ แต่ก็นับว่าเป็นส่วนผสมที่มีความลงตัวกลมกล่อมน่าฟังมากตัวหนึ่งเท่าที่จะสามารถหาได้ในปัจจุบันครับ. ADP

ราคาพิเศษ ตัวละ 548,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
– HIGH END GALLERY – THE NINE CENTER 
ถ.พระราม 9 โทร. 086-252-2429
– HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER 
1st FL, โทร. 087-070-1685

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับ 256