ปฤษณ
ปฤษณ กัญจา 

คนที่เล่นเครื่องเสียงวินเทจจะรู้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่ใช้กับการเล่นเครื่องเสียง ไฮเอ็นด์ยุคใหม่ไม่สามารถเอามาใช้กับการเล่นเครื่องเสียงวินเทจได้ หรือมักพูดให้ได้ยินกัน บ่อยๆ ว่า ยุคใครยุคมัน เพราะฉะนั้น เราจึงได้เห็นกันเสมอว่า เมื่อนักเล่นเครื่องเสียงท่านใดเปลี่ยนแนว การเล่นจากไฮเอ็นด์มาเป็นวินเทจ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การระเบิดซิสเต็มจากไฮเอ็นด์ไปวินเทจ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเล่นเครื่องเสียงอีกหลายท่านที่มีอาการรักพี่ เสียดายน้อง เพราะต่างทราบดีว่า เครื่องเสียงวินเทจ และเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ต่างมีจุดแข็งของตัวเอง ขณะเดียวกันในบางแง่มุม เครื่องเสียงทั้งสองนี้ต่างก็ มีจุดอ่อนเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายท่านที่ตัดสินใจ เลือกเล่นทั้งเครื่องเสียงวินเทจและเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ไป พร้อมๆ กัน และหนึ่งในนั้นก็คือ คุณพัฒพงษ์ ธนวิสุทธิ์ นักเล่นเครื่องเสียงที่มีประสบการณ์มายาวนาน เนื่องจากเริ่มเล่นเครื่องเสียงมาตั้งแต่เด็กๆ ผ่าน เครื่องเสียงมานับไม่ถ้วน จนกระทั่งล่าสุดมาตกลงปลงใจ กับชุดเครื่องเสียงวินเทจในตำนาน โดยเฉพาะลำโพง JBL Hartsfield ที่ถือว่าเป็นลำโพงคลาสสิกที่ขึ้นทำเนียบ เป็นตำนานของวงการออกแบบลำโพงของโลกไปแล้ว และใช่แต่จะชมชอบเครื่องเสียงวินเทจเท่านั้น คุณพัฒพงษ์ก็ยังมีลำโพงระดับตำนานที่อยู่ในฟากฝั่งลำโพงไฮเอ็นด์ยุคใหม่อย่าง Jadis J1 ด้วยเช่นกัน… 

นอกเหนือจากเครื่องเสียง คุณพัฒพงษ์ ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทมอบความรักให้กับความคลาสสิกของ รถสปอร์ตพันธุ์ดุอย่างเจ้าม้าลำพอง Ferrari … “ไม่ต้องขับ เข้าไปนั่งเฉยๆ ก็สนุก มันมีบรรยากาศ มันมีอารมณ์ มันมีสิ่งที่กระตุ้นให้เรามีความสุข”… 

ลำโพง JBL HARTSFIELD ข้างซ้าย ผลิตปี 1954
มีโลโก้ JBL SIGNATURE อยู่ที่มุมขวาด้านล่างของตู

ADP: ที่หันมาสนใจเครื่องเสียงวินเทจ มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ เพราะก่อนหน้านั้น คุณพัฒพงษ์ ก็เล่นเครื่องเสียงทางฝั่งไฮเอ็นด์มาตลอด
คุณพัฒพงษ์: ผมเล่นเครื่องเสียงมาตลอด ไฮเอ็นด์ก็เล่นมานานแล้ว เพราะชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กส่วนเครื่องเสียงวินเทจเริ่มมาประมาณสัก 6 – 7 ปี วงการวินเทจยังเพิ่งเริ่มๆ อยู่ ตอนนั้นผมก็ซื้อของทางอีเบย์ พวกอะไหล่รถยนต์อยู่แล้วใช่ไหมครับ ก็เลยคล่องเรื่องพวกนี้ ช่วงนั้นจำได้ว่าของเยอะมาก ลำโพงเยอะมาก ช็อปกันสนุก ผมซื้อสนุกมาก ก็เล่นกับน้องชาย น้องชายเขามาเล่นสเตริโอทีหลัง เขาเล่นวินเทจก่อน คุยไปคุยมา ผมก็เลยมาวินเทจด้วย เพราะมันให้เสียงกันคนละบรรยากาศ ก็ประมาณน่าจะ 7 ปีนะครับ

ADP: ยุคที่เริ่มต้นเล่นวินเทจ เครื่องที่ได้มาเล่นเป็นพวกไหนครับ
คุณพัฒพงษ์: วินเทจคู่แรกของผมก็เป็น Bozak Grand Concert อยู่ข้างล่าง แล้วก็มี Tannoy Westminster คู่หนึ่ง ตอนนั้นก็ศึกษาว่าอะไรดีที่สุด ก็ศึกษาไปทั้งหมด มันก็จะมารวมกันที่ JBL Hartsfield ทุกคนก็จะพูดหมดเลย ผมก็เลยหา พอหาเข้าจริงๆ ก็ไม่มี แต่แล้วก็ได้มาเจอ โอ้โห! คู่นี้คู่นี้ก็ต้องบิดกันในอีเบย์ สู้สุดฤทธิ์ 

ลำโพง JBL HARTSFIELD ข้างขวา ผลิตปี 1957
มีตัวหนังสือ JIM LANSING อยู่ที่มุมขวาด้านล่างของตู้

ADP: ได้มากี่ปีแล้วครับ 
คุณพัฒพงษ์: ผมว่าประมาณสัก 5 – 6 ปี

ADP: ที่มาของ Hartsfield คู่นี้
คุณพัฒพงษ์: Hartsfield คู่นี้ ผมได้มาจากชิคาโก้ ข้างหนึ่งผลิตปี 1954 อีกข้างหนึ่งปี 1957 เจ้าของเขาค่อนข้างรวยอยู่ที่ชิคาโก้ แล้วเพื่อนเขาเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องเสียง เป็นตัวแทนจำหน่าย JBL ในยุคนั้น เขาก็ซื้อมา แล้วก็เขาก็เสียชีวิตในปี 2000 ก็ขายกลับคืนให้ร้าน แล้วลูกชายก็ฟังอยู่ประมาณ 10 ปี 

ADP: หมายถึงลูกชายของเจ้าของร้าน
คุณพัฒน์พงษ์: ครับ ลูกชายเจ้าของร้านเครื่องเสียง ก็เสียชีวิตทั้งคู่ ทั้งพ่อ ทั้งเพื่อนของพ่อ แล้วลูกชายฟังอยู่ 10 กว่าปี ในที่สุดก็เอามาขาย ตอนที่ซื้อ ผมโชคดีว่า เขาบอกว่าเขาเป็นร้านถูกต้อง ฉะนั้น เขาจะไม่ทำราคาต่ำเพื่อเลี่ยงการออกอินวอยซ์ให้ใคร ผมก็โชคดี นึกในใจ เพราะว่าพวกจีน ญี่ปุ่น พออินวอยซ์สูงปั๊บ เขาจะถอย ผมก็เลยเอาวะ กัดฟันสู้ ยังไงก็ต้องสู้ ก็เลยสู้ ก็ได้มา

ADP: ข้างหนึ่ง
คุณพัฒพงษ์: สองข้างพร้อมกัน ก็คือคนนี้เขาซื้อมาฟังตอน 1954 พออีก3 ปี เขาก็ซื้ออีกข้างที่ผลิตปี 1957 มาคู่กันเพื่อเป็นสเตริโอ เวลาเขาขายเขาก็ขายเป็นคู่เลย แล้วยุคนั้นข้างหนึ่งก็แพงอยู่แล้ว พอซื้อมาอีกข้างหนึ่งยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ ทาง JBL ก็เลยมาทำ Paragon เพื่อให้ราคาย่อมเยาลงคนจะได้ซื้อกันได้

ADP: ตอนที่ได้มาราคาสูงกว่าที่ขายในอดีตหรือเปล่าครับ
คุณพัฒพงษ์: โอ๊ย! สูงกว่าเยอะ เพราะว่าตอนนั้นน่ะ ถึงแม้ว่าคนไทยยังไม่ค่อยเล่นแต่ญี่ปุ่นกับจีนเขาเล่นกันเยอะแล้ว เยอะมากก็สู้กับญี่ปุ่นกับจีนนี่แหละ แล้วบางตัวก็ไม่ได้ อย่างเช่น Thorens Reference เครื่องเล่นแผ่นเสียง อันนั้นขึ้นมาปั๊บ ยังไม่ทันจบบิด เขาก็ปิดเลย คือไปคุยกันคอนเฟิร์มข้างหลัง ก็ถือว่าโชคดีที่ได้มา

ADP: ตัวตู้สีเหมือนกันเลย
คุณพัฒพงษ์: ตู้สีนี้เป็นออปชั่นครับถ้าไม้ธรรมดาจะเป็นสีน้ำตาลแก่ แต่ถ้าเป็นสีบรอนซ์ แบบนี้เขาเรียกสีบรอนซ์ ไม้จะสีทองขึ้นมาหน่อย ก็เป็นออปชั่นที่สูงขึ้นแต่เนื้อไม้ต่างกัน เพราะปีมันต่างกันแต่คุณภาพก็ยังสวยอยู่

ADP: นอกจากมี Bozak มี Hartsfield แล้ว มีตัวอื่นอีกไหมครับ 
คุณพัฒพงษ์: ก็มี Westminster แล้วก็มี Jadis J1 รุ่นพิเศษ ที่เจ้าของ Jadis เดิม ซึ่งเป็นรุ่นพ่อ ก่อนที่เขาจะรีไทร์ เขาทำ 10 คู่ให้กับลูกค้ารายใหญ่ของเขา เป็น Limited แล้วผมก็ได้มาจากซานฟรานซิสโก ก็ได้มาพอๆ กับ Hartsfield ประมาณสัก 6 – 7 ปี

ADP: ทราบว่ากว่าจะได้มา ลำบากพอดู
คุณพัฒพงษ์: ใช่ๆ เขาจ้างบริษัทชิปปิ้งไปรับของ เขาจะไปแพ็กให้ เอาของให้ เขาบอกว่าต้องขอราคาค่าชิปปิ้งเพิ่มอีก 300 เหรียญ เพราะว่าบ้านขึ้นไปสูงเหลือเกิน อยู่บนยอดเขา แล้วก็ทางคดเคี้ยว เขาก็ถ่ายรูปมาให้ดู ผมก็โอเค แล้วเขาก็บอกว่า เขาบินไปเจอกับเจ้าของบ่อย เขาสนิทกัน 

ADP: วิธีการเลือกเครื่องเสียงของคุณพัฒพงษ์มีองค์ประกอบ และมีปัจจัยอะไรบ้างครับ
คุณพัฒพงษ์: สำหรับวินเทจ เราไม่เคยได้ฟัง แล้วไม่มีโอกาสได้ฟังใช่ไหมครับ ของใหม่จะมีดีลเลอร์ที่เราเดินเข้าไปฟังได้ ฉะนั้นของเก่าเนี่ย เราจะฟังจากคำวิจารณ์ แล้วก็คำชื่นชมจากบทความที่เราอ่าน พูดง่ายๆ ว่าเราก็ฟังกระแสชื่อเสียง ทุกคนพูดยังไง นักวิจารณ์พูดยังไง คนที่เก่งๆ พูดยังไง มันก็มารวมที่ JBL Hartsfield หมดเลย ผมก็เลยว่า โห! ตัวนี้ต้องใช่แล้ว ก็เลยหา เพราะว่าผมเอง เล่นอะไรทุกอย่างก็อยากจะได้ของดี The Best เอามาหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไม่ว่าอะไรก็จะหามา ก็ได้ JBL 

ส่วนไฮเอ็นด์ ผมก็ติดใจแตร ผมชอบฮอร์น เพราะว่าพื้นฐานเลย ผมจะฟังเพลงคลาสสิก แล้วผมจะฟังโหมใหญ่เลย จะหนัก ผมฟังเบาๆ ไม่ค่อยเป็น ฟังเบาๆ ฟังในรถ แต่ถ้าฟังที่บ้านเสียเวลา บางทีก็จะหาเวลามานั่งฟังสัก 3 ชั่วโมง เพราะผมไปชมคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ บ่อย แล้วพอมาฟังที่นี่ มันชื่นใจ มันก็ได้คึกคัก ได้สนุก 

Hartsfield ก็บรรยากาศหนึ่ง Jadis ก็อีกบรรยากาศหนึ่ง มันเป็นไฮเอ็นด์ ฟังซีดีแล้วมันเต็มมันพีคสูงสุดกับต่ำสุด มันถึงแต่ Hartsfield เนี่ยถ้าฟังเสียงแผ่นเสียง แล้วเป็นนักร้อง ไม่มีลำโพงไหนกินความนุ่มนวล ความหวานละมุนละไม สู้ Hartsfield ได้ มันฟังแล้วชื่นใจ ทุกคนที่ผมเชิญมา หลายคนแล้ว พูดค?ำเดียวกันหมด โห! ชื่นใจ มีอยู่คนหนึ่งฟังไปแล้ว โอ้วว ชื่นใจมีอยู่คนหนึ่ง ฟังแล้ว แบบว่า โอ้! กลับไปฟังที่บ้านไม่ได้แล้ว เขามีของดีๆ เยอะ ผมก็บอกอยากให้มาฟังกัน จะได้รู้ว่าดีที่สุดมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วมันก็สมกับที่เขาเขียนในหนังสือ ที่ผมอ่านมาทั้งหมด เขาเขียนยังงี้จริงๆ 

Hartsfield ดังมาจาก Frank Sinatraเขาเป็นคนฟัง แล้วก็สมัยนั้นก็จ้าง Frank Sinatra มาโฆษณา มันเลยดังขึ้นมา เป็นยุคฮอลลีวู้ดขึ้นมาพอดี JBL Hartsfield เลยดังขึ้นมา

ADP: Frank Sinatra ได้ฟังตัวนี้ก่อนแล้วชอบ
คุณพัฒพงษ์: ใช่ แล้วเขาก็เป็นพรีเซนเตอร์ให้เสียงร้องดี และผมเป็นคนชอบอยู่แล้ว เสียงร้องพวกสมัย Nat King Cole, Elvis อะไรพวกนี้นะครับ ผมชอบเพลงยุคนั้นอยู่แล้ว

ADP: คู่นี้ได้มา ไม่ต้องทำอะไรเลย สมบูรณ์แล้วใช่ไหมครับ
คุณพัฒพงษ์: ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แล้วตู้ก็สมบูรณ์ อีควิปเมนต์ที่ใช้ร่วมกันก็ง่ายมาก คือผมก็อ่านจากในนั้น เพราะมันเป็นยุคของเขา McIntosh กับ JBL มันเป็นยุคที่เขากำลังพีคที่สุด คือ The Best ที่สุดในยุคนั้น เขาเทสต์กับ McIntosh ใช่ไหมฮะ แล้วมันก็มีรากการเกิดบริษัทมาเหมือนกัน ผมเริ่มต้นจาก McIntosh C22 คือใหม่มาหน่อยหนึ่ง พอเก่าไป C20 เฮ้! เสียงดีกว่า พอกลับไป C8 โอ้โห! เสียงดีกว่า มันยิ่งแมตช์ปีของเขา เสียงมันยิ่งใช่เลย หัวเข็มลองมานานแล้ว ตั้งแต่ไฮเอ็นด์ ตั้งแต่อะไรๆ พอไปปีเขา โอ้โห! มันใช่เลย สายลำโพงสายอะไรทั้งหมด พอมันใช่ โอ้โห! เสียงมันอิ่ม

ADP: ตัวนี้ C8S ใช่ไหมครับ มีความพิเศษจาก C8 ปกติอย่างไรครับ
คุณพัฒพงษ์: มันออกมาสุดท้าย เพราะ S ก็คือ Stereo พอเวลาขาย เขาขายเป็นคู่เพราะฉะนั้น วอลลุ่มเนี่ยจะ หมุนข้างเดียวแล้วดัง 2 ข้าง แต่ถ้าเป็นตัว C8 ธรรมดาต้องปรับวอลลุ่ม 2 ข้าง แต่ตัวนี้ปรับข้างเดียวแล้วดังพร้อมกัน 2 ข้าง เป็นรุ่น C8S เป็นรุ่นสเตริโอ

ADP: MC30 เป็นเพาเวอร์ตัวแรกเลยหรือเปล่าครับ
คุณพัฒพงษ์: MC30 ตั้งแต่แรกเลย ก็คือมี recommended ในที่ผมอ่านมาด้วย ส่วนปรีแอมป์ ตอนแรกยังไม่มี C8 เพราะ C8 หาสภาพสวยยาก มันเก่ามากเลย ก็ค่อยๆ หาพอมาเจอก็ โอ้โห! ใช่เลย

ADP: เล่นวินเทจ การหาของเป็นเรื่องสนุกใช่ไหมครับ
คุณพัฒพงษ์: ยุคนั้นสนุก (หัวเราะ) เพราะยุคนั้นข้อที่หนึ่ง… มีของ ข้อที่สอง… ไม่แพงมาก C8ผมได้มาทั้งคู่ ในยุคนั้นประมาณห้าหมื่นหกหมื่นเท่านั้นเอง ราคามันก็ประมาณนี้ ยุคนั้นเหมือนกับเป็นยุคที่ว่าก่อนจะมาฮิต เพราะเหมือนอยากจะมาโละทิ้ง ไม่อยากจะเชื่อนะ ผมได้ Bozak Grand Concert มาเท่าไหร่ ผมได้มาหกหมื่นบาท เขาเรียกว่า เขาแทบจะไหว้ มายกเอาไปหน่อย (หัวเราะ) เขาขายสองพันเหรียญ ผมบอก ผมไม่ต่อ สองพันเหรียญ แต่ค่าส่งมาบ้านเราก็แพง เสียภาษีเสียอะไรก็เป็นแสน แต่ก็คุ้ม ตอนนี้ราคามันเท่าไหร่แล้ว (หัวเราะ) 

ADP: แผ่นเสียง เริ่มสะสมนานหรือยังครับ 
คุณพัฒพงษ์: แผ่นเสียง เดิมมีอยู่แล้ว เพราะว่าผมฟังแผ่นเสียงมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่ได้ฟังพวก Nat King Cole ยุคนั้นก็จะฟังอีกอย่างหนึ่ง หลังๆ ก็ซื้อแผ่นบ้าง อย่าง Hartsfield เนี่ย ผมว่าแผ่นเสียงอะไรก็ไม่เกี่ยวแล้ว จะเอาแผ่นออริจินัลเพรส หรือว่าอะไรใส่เข้าไป มันก็ปิ๊งหมด ไพเราะหมด ถ้ามันใช่แล้วเนี่ย อะไรก็ใช่ ได้หมด

ADP: เครื่องเล่นแผ่นเสียง
คุณพัฒพงษ์: ของ BE เป็นเทิร์นฯ ใช้ในสตูดิโอ ยุคนั้นเป็นเทิร์นฯ ที่แข็งแรง แล้วพอใส่เข้าไป มันใช่ พอทุกอย่างลงตัว มันใช่ ผมก็ไม่อยากเปลี่ยน (หัวเราะ) จริงๆ น้องชายเขาเป็นคนหาเทิร์นฯ มาให้

ADP: ความแตกต่างระหว่างความเป็นไฮเอ็นด์เทียบกับวินเทจแบบนี้อยู่ตรงไหนครับ
คุณพัฒพงษ์: อยู่ที่ลักษณะของเพลงที่ฟัง ก็คืออย่างที่ว่าเอาเพลงใหม่ไปฟังเครื่องเก่าก็ไม่ดี เครื่องใหม่มาฟังเพลงเก่าก็ไม่ดี มันต้องยุคใครยุคมัน แล้วถ้าตรงยุคเขาแล้วเนี่ย ของใหม่ก็สู่เก่าไม่ได้ เก่าก็สู้ใหม่ไม่ได้ ถ้าเกิดไม่ตรงกับยุคเขา แล้วเพลงที่ผมฟังก็หลากหลาย อย่างเสียงร้อง ผมก็ชอบ Nat King Cole, Elvis อะไรพวกนี้ ก็ฟังกับ Hartsfield แล้วชื่นใจ ชื่นใจมาก ฟัง 3 ชั่วโมง 5 ชั่วโมงได้ง่ายๆ แต่บางอารมณ์เราอยากจะฟังคลาสสิกโหมแรงๆ เพลงที่ชัดๆ เพลงออดิโอไฟล์ ก็จะไปทางไฮเอ็นด์

มันสนุกคนละแบบ เหมือนกับรูปภาพ ภาพวาดกับภาพดิจิทัล ภาพวาดมันไม่เหมือน แต่ละมุนละไม มันดูได้ มันเย็นใจ แต่ความชัดสู้ภาพดิจิทัลไม่ได้มันคม มันชัด รายละเอียดมันออกมา อันนั้นมันก็คือไฮเอ็นด์ มันก็ดีคนละแบบ มันก็เป็นประโยชน์คนละแบบ ทีนี้เราจะมีความเบิกบาน มีความสุขกับตรงไหน ก็แล้วแต่อารมณ์ของเรา เหมือนกับรถยนต์ รถแรงผมก็มี รถเปิดประทุนสบายๆ ก็มี

ADP: อย่างปรี Cello ชอบตรงไหนครับ
คุณพัฒพงษ์: ปรี Cello ผมชอบตรงที่มีอิควอ-ไลเซอร์ มันปรับได้ การปรับ ผมก็ศึกษาดูว่า จริงๆ การปรับอิควอไลเซอร์เนี่ย ก็มีการปรับกันในการอัดเสียงอยู่แล้ว และผมมาสรุปแล้วนะครับ เสียงเนี่ย มันไม่ได้เสียงธรรมชาตินะครับ ยังไงมันก็ไม่ธรรมชาติ แต่เอาเป็นว่า เราฟังแล้วเราสนุก เรามีความสุข เพราะว่าผมก็ไปศูนย์วัฒนธรรมฯ บ่อย มันคนละบรรยากาศกัน แต่ฟังไฮเอ็นด์แล้วมีความสุข มันมีความสนุกตรงไหน เราได้ปรับเสียง เพราะซีดีแต่ละแผ่น แผ่นเสียงแต่ละแผ่นที่อัดมา ก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อิควอไลเซอร์จะมาทดแทนได้

ADP: ปรับอย่างไรบ้างครับ
คุณพัฒพงษ์: โดยมากแล้ว เสียงซีดีบางทีมันก็ทู่ ปลายมันก็จะทู่ เราก็จะเพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็ยกเบสขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ว่าแผ่นเสียงไม่ต้องปรับ แผ่นเสียงกับซีดีจะต่างกัน แผ่นเสียงคุณภาพก็จะแจ่มกว่า แต่ที่นี้ก็คล้ายๆ กับว่า เราเองก็ต้องมีรสนิยมในการฟังของเราเป็นมาตรฐาน เสียงแตรเวลาโหม เมื่อกี้เห็นไหมครับ ผมชอบพลังแตรที่มันออกมา แป๊ด ให้มันเหมือนกับแตร มันแล้วแต่คน แล้วข้อที่สองก็แล้วแต่แผ่นด้วย แผ่นที่อัดมา บางทีเขาอัดมาดีก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไร

ADP: สายสัญญาณ สายลำโพงมีผลกับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์
คุณพัฒพงษ์: มีมากครับ มีมากมันไม่เกี่ยวกับราคาด้วยซ้ำก็พูดง่ายๆ ว่า ของดีโดยมากแล้วจะดี จะแมตช์ แต่ไม่ทุกครั้ง บางครั้งราคาไม่ต้องแพงมากก็แมตช์ดีแล้วอย่างแอมป์ชุดนี้ก็คือ ผมเปลี่ยนมาเยอะแล้วถึงลงตัว บางรุ่นตลกมาก รุ่นแพงนะครับ พอเอามาแมตช์แล้ว รุ่นเล็กดีกว่า ก็มีเหมือนกัน

ADP: ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องของสายระหว่างชุดวินเทจ กับชุดไฮเอ็นด์ แตกต่างกันมากไหมครับ
คุณพัฒพงษ์: เออ สายนี้สามพันบาท ไอ้โน่นสามแสน (หัวเราะ)

ADP: หรือว่าสมัยก่อน สายพวกนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญในเรื่องของคุณภาพเสียง
คุณพัฒพงษ์: ผมว่ามีนะ เพราะว่าเอาสายอื่นสายใหม่ มาใส่ ก็ไม่ได้ ผมเคยเอาสายใหม่มาใช้ เสียงทู่ไปเลย แล้วก็ Hartsfield นี่ชัดมากเลยว่า อะไรที่เข้ามาแปลกเนี่ย เสียงก็จะเพี้ยนไปเลย จากเพราะเป็นไม่เพราะไปเลย

ADP: เราคิดว่าเอาสายดีกว่าเข้าไปใส่น่าจะโอเค
คุณพัฒพงษ์: ถูกครับ พวก Conditioner เนี่ย ห้ามเลย 

ADP: ไม่ได้เลย ใช่ไหมครับ
คุณพัฒพงษ์: ไม่ได้เลย แม้กระทั่งปลั๊กไฟสามตาที่รุ่นดีหน่อยก็ไม่ได้ เสียงก็เพี้ยนแล้ว

ADP: ทุกอย่างต้องธรรมดา
คุณพัฒพงษ์: ต้องเดิมๆ ของเขา สดๆเดิมๆ (หัวเราะ) สายไฟเป็นสายไฟสมัยก่อน สายไฟเตารีดน่ะ

ADP: พ้นจากนี้แล้วยังอยากได้อะไรอีก ในชุดวินเทจที่ยังอยากสะสมครับ
คุณพัฒพงษ์: คืออย่างนี้ครับ ก็อย่างที่บอก ผมปฏิบัติธรรมด้วย เคร่งมาประมาณสัก 6 – 7 ปีแล้ว ก็มีอยู่วันหนึ่งซึ่งผมจะต้องตัดได้ ต้องหาจุดจบ ไม่งั้นมันพล่านไปเรื่อย แล้วก็ผมจะต้องสุขกับสิ่งที่ผมมีอยู่ แผ่นเสียงทุกวันนี้ผมก็ไม่ซื้อเพิ่ม ฟังเพลงเดิมเท่าที่มีอยู่ เพราะเดิมมีอยู่ก็ยังฟังไม่หมดเลย (หัวเราะ) มันมีอะไรหลายอย่าง กล่องนี้ก็ยังไม่ได้แกะ ที่ผมซื้อมาสมัยก่อนเป็นคอลเลกชั่น คลาสสิกก็ยังไม่ได้แกะ แต่ก็จะดูว่าตอนนี้เทคโนโลยีเขาไปถึงไหนแล้ว อย่างไฮเอ็นด์ อย่างวินเทจ ล?ำโพงวินเทจเนี่ย ผมคิดว่าไม่อยากได้แล้ว แค่เพียงตรงนี้ ก็ชื่นใจแล้ว แล้วก็ไปฟังมาเยอะ เพื่อนผมที่เขามีเขาก็มาฟังที่นี่ เขาก็บอก นี่ก็สุดแล้ว (หัวเราะ)

ADP: จากประสบการณ์ที่เล่นเครื่องเสียงมานาน มีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านไหมครับ
คุณพัฒพงษ์: ก็คือมันเป็นฮ็อบบี้ เป็นงานอดิเรกที่ทำให้เรามีความชื่นใจ ผมอยากให้คนเล่นเครื่องเสียงโฟกัสอย่างแรกเลย คือฟังเพลง ต้องมีนิสัยของการรักเพลงก่อน ต้องมีความสุขชื่นใจจากการฟังเพลง เพราะเพลงเนี่ยมันผ่อนใจ ผ่อนกาย ทำให้เราผ่อนคลายได้ มันชื่นใจ อาบน้ำกลับมาแล้วก็มานั่งเปิดเพลงฟังเพลงดีๆ 2 – 3 เพลงมันชื่นใจ ตรงนั้นสำคัญ ไม่งั้นเราจะจมไปกับการเล่นอุปกรณ์ พอเล่นอุปกรณ์ปุ๊บทีนี้ก็ลืม ฟังครึ่งเพลงยกแผ่นอีกละ ฟังครึ่งเพลงยกอีกละ กลายเป็นนักเทสต์เครื่องเสียงไป แล้วก็ลืมบรรยากาศของการฟังเพลง ผมชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนแค่กระเป๋าหิ้วผมก็สนุกแล้วผมฟังได้ทั้งวันสมัยอายุ 14 – 15 ตรงนั้นต้องมาก่อน แล้วก็ค่อยศึกษาเรื่องสเตริโอ เรื่องอิควิปเมนต์ สำหรับผมจะชอบลำโพงเป็นพิเศษ ก็คือว่าจะเอียงมาทางลำโพงเยอะ แล้วอุปกรณ์อื่นก็ลดหลั่นไป แต่ว่าบางคนเขาอาจจะเล่นแบบอื่น อย่างน้องชายของผม เขาเล่นเทิร์นฯ ยังไงก็เอาเทิร์นฯ ไว้ก่อน ลำโพงเห็นเปลี่ยนอยู่นั่นแหละ ผมชอบลำโพง (หัวเราะ)

ADP: เริ่มชอบรถมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
คุณพัฒพงษ์: รถยนต์ก็พอๆ กัน ชอบตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกัน สมัยเด็กๆ ก็เล่นของเล่น พอโตขึ้นมาผมก็เห็นรถจริงๆ เห็นเฟอร์รารี่คันแรกเนี่ย ตอนนั้นอยู่อเมริกา ไปเรียนหนังสือ อายุสัก 13 – 14 ที่เบเวอรี่ฮิลล์ หูว! อัดมาอย่างแรง อู้หู! เสียงอะไรผมวิ่งออกมาหน้าโรงแรม แล้วก็เห็นฟิ้ววว วิ่งผ่าน อู้หู! เฮ้ย… ผมตื่นตา ผมตกใจมากเลย ครั้งแรก ไม่เคยเห็น โอ้โห! ทำไมมันสวยยังงั้น ทำไมมันอึกทึก มันมันมากหลังจากนั้นก็เสาะหาจากหนังสือมั่งพอโตขึ้นก็เริ่มมีตังค์ ก็เริ่มซื้อ เริ่มสะสม

ADP: เฟอร์รารี่รุ่นที่ชอบ
คุณพัฒพงษ์: โห! เฟอร์รารี่สวยทุกคัน แล้วก็ชอบทุกคัน มันแล้วแต่โอกาสว่าเราจะมีโอกาสซื้อได้หรือเปล่า เพราะว่าอย่างลำโพงมันยังง่าย แต่รถเนี่ยมันยากยิ่งรถเฟอร์รารี่เก่าเนี่ย มีตังค์ก็ซื้อไม่ได้ 

ADP: สะสมรถเก่าหรือรถใหม่ครับ 
คุณพัฒพงษ์: ผมชอบรถเก่ามากกว่า จะเอียงมา ทางรถเก่ามากกว่า รถใหม่ก็มี ปี 2005 สำหรับผม ก็ถือว่าใหม่ เพราะว่ามันเป็นเกียร์มือ ซึ่งผมไม่ชอบ ผมว่ารถมันต้องเอ็กเซอร์ไซส์หน่อย เหยียบคลัตช์ เหยียบเบรก เหยียบอะไรพวกนี้ คือรถพวกนี้มันเป็น รถวีคเอ็นด์สนุกๆ เช้าขึ้นมาคึกๆ บางทีวันธรรมดา สัก 4 ทุ่ม ผมออกไปวนเล่น แล้วก็กลับมานอนอะไร อย่างนี้ บางทีก็มีอารมณ์แบบนี้เหมือนกัน ทีนี้ไหนๆ เราจะออกไปแล้ว ก็ขอให้มันเอ็กเซอร์ไซส์คึกคัก หน่อย ไหนๆ ออกมาแล้ว เพราะเกียร์ออโต้ก็ขับ ทุกวันอยู่แล้ว ผมก็เลยชอบรถคลาสสิก และ รถคลาสสิกในสมัยก่อน ตอนที่เขาออกแบบ นักออกแบบเขาจะไม่มีกฎหมายมาตีกรอบเขา มาก คือนักออกแบบจะมีอิสระมาก พอมา ยุคหลังๆ มันจะมีกฎหมายเรื่องเสียงมั่ง เรื่องควัน พิษมั่ง จนรูปร่างของรถยนต์ เห็นไหมครับ มันจะ เหมือนๆ กัน มันจะคล้ายๆ กัน ป้อมๆ เหมือนๆ กัน เพราะว่ากฎหมายมันจะตีกรอบนักออกแบบ ยอดขายก็มาตีกรอบ เฮ้ย! คุณออกแบบบางมาก คนเข้ายาก ขายยาก รถสมัยก่อนมันจะบาง ลาด ใช่ไหมครับ ก็เลยหายาก อย่างเฟอร์รารี่ 308 เมืองไทยยุคนั้น ก็ประมาณ 40 กว่าปี 50 ปีแล้ว ยุคนั้นเศรษฐีบ้านเรายังน้อยมาก เพราะฉะนั้น รถบ้านเราที่มายุคนั้น 308 มีไม่ถึง 10 คัน แล้วถ้า จะเอามาไหมก็ไม่ได้แล้ว กฎหมายไม่ให้เอาเข้ามา ฉะนั้นมีแค่ไหนเอาแค่นั้น ก็ซื้อกันอยู่แค่นี้ มีเงินก็ซื้อ ไม่ได้ ถ้าเขาไม่ขายก็จบ มันยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ 

ADP: ไม่ชอบพวกพอร์ช หรือยี่ห้ออื่นๆ เหรอครับ 
คุณพัฒพงษ์: ก็มีครับ พอร์ชก็มี ลัมโบกินี่ก็มี แต่จะเอียงมาทางเฟอร์รารี่ 

ADP: อารมณ์อย่างพวกพอร์ช จะต่างจาก เฟอร์รารี่ไหม 
คุณพัฒพงษ์: โอ๊ย ต่างกันเยอะ เฟอร์รารี่เนี่ย ถ้าไปขับแล้วเนี่ย ฟิลลิ่งมันจะไปทางเหมือนเป็นรถแข่ง F1 แต่ลัมโบกินี่ อารมณ์จะเหมือนกับอึกทึก อึกทึกหน่อย เหมือนกับถ้าเปรียบเทียบเป็นมอเตอร์ไซค์ เฟอร์รารี่ ก็มอเตอร์ไซค์สปีด แต่ถ้าเป็นลัมโบกินี่ ก็เหมือนเป็นฮาร์เลย์ แบบบึ้มๆ จิ๊กโก๋นิดๆ ยังเงี้ย (หัวเราะ) แต่ก็มันคนละอารมณ์ เหมือนกับวินเท จอะไรพวกนี้ครับ พอร์ชเนี่ยใช้ได้ทุกวัน มันง่าย เป็นแบบ daily use 

ADP: แต่เฟอร์รารี่ ลัมโบกินี่ พวกนี้พิเศษจริงๆ 
คุณพัฒพงษ์: อย่างลัมโบฯ ไปจอดที่ไหน ชาวบ้าน ชาวเมืองเขาก็จะนั่น (หัวเราะ) และจอดก็ลำบาก เพราะรถมันใหญ่ 

ADP: เสน่ห์ของเวลาที่เข้าไปอยู่เฟอร์รารี่ อารมณ์มันเป็นยังไงครับ 
คุณพัฒพงษ์: เฟอร์รารี่เนี่ย ผมบอกตรงๆ ว่า ไม่ต้องขับ เข้าไปนั่งเฉยๆ ก็สนุก มันมีบรรยากาศใช่ไหมครับ มันมีบรรยากาศ มันมีอารมณ์ มันมีสิ่งที่กระตุ้นให้เรามีความสุข จากที่ศึกษาธรรมะนะครับ มันก็ คือสภาวะรอบตัวเรานี่แหละ ถ้าอย่างอยู่ในสภาวะที่มันดี ที่มันเอื้ออำนวย เราก็สุขง่าย ถ้าอยู่กลางแดด สภาวะมันไม่เอื้ออำนวย มันก็จะสุขยาก สภาวะที่เรามาอยู่ในห้องฟัง เพลง อากาศมันเย็น มันมีเพลงที่เราชอบ มันก็มีสุขง่าย ใช่ไหมครับ ก็เหมือนกัน เข้ามาในเฟอร์รารี่ บางทีเราไม่ต้องขับ ไม่ต้องอะไร เข้าไปข้างใน มันก็อิ่มเอิบ แต่จริงๆ ถ้าศึกษาธรรมะไปเรื่อยๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้อง พึ่งพวกนี้ก็ได้ มันสุขได้ของมันเอง. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 237