REALITY AUDIO CLUB THE MUSIC PLAYER
ปฤษณ กัญจา
เดือนตุลาคม ปี 2557 ผมได้เขียนถึงอินทิเกรตแอมป์ REALITY AUDIO รุ่น ISLAY RPA-8331 (AUDIOPHILE ฉบับที่ 212) และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักเครื่องเสียงที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของนักออกแบบเครื่องเสียงคนไทย “อาจารย์เรวัตร หวังปรีดาเลิศกุล” ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากอินทิเกรตแอมป์แล้ว อาจารย์เรวัตรยังได้ออกแบบโฟโนสเตจรุ่น MALTY RPP-9543 และ คุณหมอไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ ได้ทดสอบในนิตยสาร AUDIOPHILE ฉบับที่ 213
มาปีนี้ อาจารย์เรวัตรได้ทำเครื่องเสียงขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง คราวนี้ก้าวข้ามไปเล่นทางฝั่งดิจิทัล ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับอาจารย์เรวัตร เพราะอาจารย์เชี่ยวชาญทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากศึกษามาสายนี้ และยังเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงทำงานวิจัยเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์มามากต่อมาก ดังนั้น เมื่ออาจารย์ตั้งจะทำเครื่องเสียงที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล จึงมีภาพที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร และจะต้องทำออกมาในรูปแบบใด
คุณภาพเสียง
อาจารย์เรวัตร บอกว่า “ออกแบบให้ CLUB มีอิมพีแดนซ์ขาออกต่ำทำให้ไม่เลือกแอมป์ นอกจากนั้นยังแยกกราวด์ของแต่ละภาคให้เป็นอิสระจากกัน สัญญาณรบกวนจึงต่ำส่วนตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียมทุกส่วน นอกจากเพื่อความแข็งแรง ลดแรงสั่นสะเทือนที่จะกระทบการทำงานของส่วนต่างๆ แล้ว ยังช่วยป้องกันสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำด้วย” สำหรับภาค DAC ใช้ชิพของ AKM (Asahi Kansei Microdevices Corporation) เบอร์ AK4490 ซึ่งเป็น DAC chip ยอดนิยม และมีคุณภาพสูงรุ่นหนึ่งของวงการ
ในเรื่องของคุณภาพเสียง ผมยืนยันได้ว่า การฟังเพลงด้วยไฟล์เพลง ณ ปัจจุบันนี้มีคุณภาพเสียงที่ดีมากๆๆๆ เหลือเฟือสำหรับการเสพสุนทรีด้านเสียงเพลงอย่างไร้ข้อกังขา โดยเฉพาะเมื่อฟังกับเครื่องเล่นชั้นดีอย่าง REALITY AUDIO: CLUB
ว่ากันที่ภาพรวมของคุณภาพเสียงก่อน REALITY AUDIO: CLUB ถ่ายทอดเสียงที่มีความผ่อนคลายมาก ในระดับที่ไม่คิดว่าจะเป็นเสียงที่มีต้นฉบับมาจากไฟล์เพลง เป็นเสียงที่ไร้สากเสี้ยน ขอบคมใดๆ ประเด็นนี้น่าจะลบภาพจำเกี่ยวกับข้อติของเสียงแบบดิจิทัลเดิมๆ ออกไปได้ เนื่องจากทุกวันนี้ ดิจิทัลพัฒนามากไกลจนเกินกว่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาถกเถียงเพื่อหาสาระที่เป็นประโยชน์ไม่ได้
ทีนี้เมื่อก้าวข้ามผ่านโจทย์แรกไปได้แล้ว ที่เหลือก็ต้องมาดูว่า REALITY AUDIO: CLUB มีบุคลิกเฉพาะตัวเช่นไร? มันก็เหมือนกับเครื่องเสียงทุกตัวที่ออกแบบและสร้างกันมา ถ้าพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนย่อมพบว่า แต่ละเครื่องจะมีลักษณะเฉพาะของเครื่องนั้นๆ แม้เราเล่นกันเป็นระบบที่มีเครื่องอื่นๆ ผสมผสานอยู่ก็ตาม สำหรับ CLUB ในตอนที่ทดลองใช้งานนั้น ผมใช้ลำโพง Duevel รุ่น Palnets และอินทิเกรตแอมป์ TS Audio รุ่น TS240 เป็นตัวหลัก ถ้าตัดลักษณะเสียงเด่นๆ ของหลอด และลำโพงแบบ Omni ที่ยิงเสียงขึ้นด้านบน
REALITY AUDIO: CLUB คือผลงานที่อาจารย์เรวัตรตั้งใจทำขึ้นมา นี่เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่สามารถเล่นได้ง่ายมากอีกรุ่นหนึ่ง เพราะอาจารย์เรวัตรตั้งใจให้ใช้งานเหมือนกับเป็นเครื่องเล่นซีดี คือแทนที่จะเล่นเพลงจากสื่อบันทึกที่เป็นแผ่นซีดีจับต้องได้ ก็เปลี่ยนมาเล่นเพลงจากไฟล์แทน และที่มีข้อดีเหนือกว่าเครื่องเล่นซีดีก็คือ ไฟล์เพลงที่นำมาเล่นนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ 16-bit/44.1kHz ทว่าเหนือไปกว่ามาก นั่นคือ… ถ้าเป็นไฟล์ PCM สามารถรองรับได้ถึง 32-bit/768kHz ส่วนไฟล์ DSD รองรับสูงสุดที่ Native DSD128 และสามารถอัพเฟิร์มแวร์ให้รองรับได้ถึง DSD256 ได้ในอนาคต
ดูจากความตั้งใจทำให้เล่นไฟล์เพลงได้ง่ายๆ และสเปกที่ให้มาเต็มที่แบบนี้ ขอบอกว่า… ถูกใจเป็นอย่างยิ่งครับ
REALITY AUDIO UNIQUE DESIGN
จุดเด่นของเครื่องเสียง REALITY AUDIO ทุกรุ่นคือ ตัวเครื่องที่ตั้งใจผลิตอย่างมาก เป็นชิ้นงานอะลูมิเนียมขัดอย่างประณีต ด้านหน้าเครื่องกัดเซาะเป็นตรายี่ห้อ REALITY AUDIO พร้อมกำกับด้วยชื่อประเภทของเครื่องเล่นว่าเป็น THE MUSIC PLAYER ส่วนชื่อรุ่น CLUB จะอยู่เยื้องมาทางด้านขวา ใต้ปุ่มกดเปิด-ปิดเครื่อง ส่วนตรงกลางเป็นจอดิสเพลย์สำหรับบอกข้อมูลการทำงานของเครื่อง
ด้านหลังเครื่องมีซ็อคเก็ตสายไฟเอซีแบบสามขา ตรงกลางเป็นขั้วต่อสัญญาณแบบ RCA เยื้องมาเป็นช่องต่อสาย LAN และมุมขวาสุดเป็นช่อง USB จำนวน 2 ช่อง เขียนกำกับไว้ว่า 0.6A โดยช่องหนึ่งเสียบไว้ด้วย Wi-Fi Dongle เพื่อส่งสัญญาณ Wi-Fi อีกจุดหนึ่งที่มีช่องต่อเชื่อมสัญญาณก็คือ ด้านข้างเครื่องฝั่งซ้าย (เมื่อหันหน้าเข้าเครื่อง) จะมีช่อง USB หนึ่งช่อง และช่องเสียบ SD Card อีกหนึ่งช่อง
โดยรวมๆ ในความเห็นของผม REALITY AUDIO: CLUB มีหน้าตาเป็นเครื่องเสียงที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์หรืออะไรที่จะสร้างความรู้สึกพรั่นพรึงให้ เมื่อพูดถึงคำว่าเล่นไฟล์เพลงครับ
ในเรื่องของการใช้งาน ในเมื่ออาจารย์เรวัตรตั้งใจออกแบบให้ CLUB ทำหน้าที่เหมือนเครื่องเล่นซีดี เพราะฉะนั้นการใช้งานก็ต้องง่ายเหมือนเล่นซีดี ด้วยเหตุนี้ในการใช้งานจึงให้ Tablet ของ Huawei มาอีกหนึ่งเครื่องเพื่อทำหน้าที่สั่งงานในการเล่นไฟล์เพลง อย่าครับ อย่าเพิ่งล่าถอย การใช้ Tablet สั่งงาน CLUB นั้น ง่ายมาก คือกดที่จอเครื่องไม่กี่หน้าที่ เราก็สามารถเลือกเพลงมาฟังได้อย่างชิลล์ๆ
ยกตัวอย่างกรณีของผม ผมมีฮาร์ดดิสก์เล็กๆ ลูกหนึ่ง น่าจะ 500Gb เองครับ ในนั้นก็มีไฟล์เพลงที่ชอบๆ ตั้งแต่ง 16-bit/44.1 – 24bit/192kHz และมี DSD64 อยู่บ้าง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่นัยสำคัญอะไรประเด็นสำคัญก็คือ CLUB เล่นไฟล์เพลงที่ผมมีอยู่ได้หมด ผมแค่เปิดเครื่อง CLUB จากนั้นก็เปิด Tablet รอให้ Tablet เชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi กับ CLUB ให้เรียบร้อย เมื่อมีสัญลักษณ์ Wi-Fi ปรากฏที่ Tablet แล้ว ผมก็เสียบสาย USB ของ HD เข้าที่ช่อง USB ด้านของเครื่อง รออีกแป๊บให้ CLUB สแกนไฟล์ที่มีอยู่ใน HD ทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาไม่นานแม้ใน HD มีเพลงไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย เฉพาะเพลงคลาสสิกซีรี่ส์ BBC PROMS ที่มีอยู่ก็หลายสิบอัลบั้ม ทั้งหมดนี้ใช้เวลารอสแกนไฟล์ไม่น่าจะเกิน 3 นาทีลิสต์รายการโฟลเดอร์ชื่ออัลบั้มก็มาปรากฏที่หน้าจอ Tablet แล้ว
ต่อจากนั้นก็มึนงงนิดๆ ครับ คือไม่รู้จะเลือกฟังอัลบั้มไหนดี เพราะมันก็น่าฟังทั้งนั้น 555 ท้ายที่สุดก็เลือกจิ้มๆ เอา เสียงเพลงสารพันก็ล้อมรอบตัวผม เพลินกันยาวนานเลยครับ นี่คือข้อดีที่เหนือกว่าซีดี คือไม่ต้องลุกไปเปลี่ยนแผ่น จะฟังติดต่อกันกี่ชั่วโมงก็ได้ ถ้ามีเวลาพอ
โดยใช้กรวยไดรเวอร์แบบคาร์บอนไฟเบอร์ที่ให้เสียงกระชับ รายละเอียดดีแล้ว ก็ยังพอจะวิเคราะห์ถึงตัวตนของ CLUB ได้ว่า… เป็นเครื่องเล่นไฟล์ที่ให้น้ำเสียงสะอาด แบ็กกราวด์น้อยส์ต่ำมาก ส่งผลดีต่อการได้ยินอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดต่างๆ ของเสียง ว่ากันตั้งแต่ความถี่ต่ำจนถึงความสูง
เสียงร้องของนักร้องหญิง Eva Cassidy หรือ Chie Ayado มีความไพเราะแตกต่างกัน เสียงของ Eva แม้ไม่หนาเหมือน Chie Ayado แต่ก็มีความไพเราะในแบบของเธอ แต่สิ่งที่ CLUB ถ่ายทอดออกมาคือ จังหวะที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับเสียงร้อง ฟังแล้วไม่มีสะดุด ลื่นไหลต่อเนื่อง แม้เป็นเพลงจังหวะเร็วๆ ก็ตาม การตามติดจังหวะได้นี้ ส่งผลให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเสียงเพลง คือเพลินมากๆ ครับ อีกอย่างหนึ่ง บางเพลงของ Eva ก็จะมีช่วงที่ร้องลากเสียงยาวๆ ซึ่ง CLUB ก็สามารถถ่ายทอดความยาวนั้นได้ไม่ขาดตอน คือไม่ต้องคอยลุ้นว่าจะเอาอยู่หรือไม่สัมผัสตรงนี้มันเหมือนระบบที่สมองสั่งการอัตโนมัติครับ อธิบายยากเหมือนกัน คือถ้าเครื่องไหนมีแนวโน้มว่าจะเอาไม่อยู่ ความรู้สึกลุ้นจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน
ส่วนเสียงร้องของ Ayado ซึ่งโชว์เพาเวอร์ของเสียงบ่อยๆ CLUB ก็ทำหน้ที่ได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าแม่นางเธอจะปล่อยของยังไง ก็รับมือกับเธอได้สบายๆ เหมือนว่าปล่อยของมาเถอะนะเธอ ฉันพร้อมจะถ่ายทอดออกมาให้ได้ยินโดยไม่ตกหล่นก็แล้วกัน และนั่นจึงเป็นที่มาของความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้ฟังเพลงจาก CLUB ครับ
โดยส่วนตัว ผมชอบฟังเพลงนิ่งๆ สงบๆ อย่างอัลบั้ม Waltz for Debby: Bill Evans Trio ก็เลยไม่รู้ว่าจะไปเข้าทางของ CLUB หรือเปล่าก็ไม่ทราบเพราะเสียงเปียโนที่ล่องลอย พลิ้วๆ นิ่งๆ ที่ได้ยินมันทำให้ใจสงบได้จริง เหมือนกับได้วางทุกๆ อย่างในชีวิตลง แล้วปล่อยให้ขับเคลื่อนไปตามวิถีที่ควรเป็น โดยไม่พะวงว่าจะเป็นอย่างที่เราต้องการหรือไม่ อย่างไร คือมันไม่ใช่เพลงในแนวทำจิตให้ว่างแต่ว่าอารมณ์ ณ เวลาที่ได้ฟังเพลงในอัลบั้มนี้ได้ดึงผมให้เข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้
ในทางกลับกัน เมื่อฟังเพลงที่มีลีลาการประชันกันอย่างสนุก จากอัลบั้ม Soul Station: Hank Mobley, Art Blakey, Wilton Kelly, Paul Chambers ก็พบว่า CLUB ก็ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความสามารถในการเล่นดนตรีขั้นเทพของเหล่าศิลปินชั้นนำของวงการแจ๊สทั้งสี่คนได้ดี คือดนตรีประเภทนี้ ถ้าเครื่องเสียงไม่สามารถถ่ายทอดความพิเศษของงานออกมาได้ บางทีกลับทำให้ดนตรีดีๆ กลายเป็นอะไรที่ฟังไม่รู้เรื่องไปได้เลย แต่สำหรับ CLUB ทำให้ผมอยากหาไฟล์เพลงของอัลบั้มระดับตำนานเหล่านี้มาฟังมากขึ้นครับ
HAPPY CLUB
ก่อนหน้านี้ ผมเคยมองว่าการเล่นไฟล์เพลงเป็นยาขมสำหรับผมเสมอ ไม่ว่าจะเล่นจากคอมพิวเตอร์หรือเล่นจากเครื่อง เพราะต้องเซ็ตอัพนั่นนี่โน่น มาระยะหลังนี่ล่ะครับ มีเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่ใช้งานง่ายออกมาให้เล่นมากขึ้น ผมก็เลยเริ่มสนุกกับการหาไฟล์เพลงมาฟัง เมื่อมีโอกาสได้ใช้งาน REALITY AUDIO: CLUB ก็ยิ่งประทับใจมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกด้าน ไม่ว่าการออกแบบหน้าตาเครื่องที่เป็นเครื่องเสียงจริงๆ, การใช้งานง่ายเหมือนเครื่องเสียงทั่วๆ ไป และที่สำคัญคือ คุณภาพเสียงดีมาก ฟังผ่อนคลาย เพลิดเพลิน ฟังได้กับดนตรีทุกแนว สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงและอยากฟังเพลงจากไฟล์ แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ ผมขอบอกว่า อย่ากลัวเลยครับ เพราะ CLUB ใช้งานง่ายจริง คิดง่ายๆ ว่า นี่คือเครื่องเล่นซีดีเครื่องหนึ่ง แต่ดีกว่าเครื่องเล่นซีดี เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ. ADP
หมายเหตุ: ณ ตอนนี้ อาจารย์เรวัตร ได้ออกแบบให้ CLUB เป็นระบบปิดก่อนในเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำความเข้าใจในการเล่นได้ง่าย แต่สามารถจะขยับขยายให้เป็นระบบเปิดได้ เพราะออกแบบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว รายละเอียดในจุดนี้สามารถสอบถามได้ที่ตัวแทนจำหน่ายครับ
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 245
No Comments