รีวิว ROTEL A11 & CD11
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
คู่หูเสียงแบบจ่ายเบาๆ
ยี่ห้อ Rotel ไม่ใช่ชื่อใหม่สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงน้อยใหญ่ โดยเฉพาะอินทิเกรตรุ่นใหม่หน่อยอย่าง 1572 นี่ดูเหมือนจะได้รับความนิยม ขายดิบขายดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติทางเสียง รูปร่างหน้าตาก็ดูเรียบหรูสวยงาม แถมทนทานแข็งแรงไม่พังง่ายๆ ต้นปีนี้ Rotel ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เอาใจนักเล่นเครื่องเสียงมือใหม่ไม่อยากจ่ายแพง หรือมือเก่าแต่อยากได้อะไรที่เล่นง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือใช้เป็นชุดเล็กๆ ในห้องนอน-ห้องทำงานได้ สืบทอด DNA มาจากรุ่น A14, A12, และแล้วก็มาถึง A11 น้องนุชสุดท้องที่ Rotel คลอดออกมา
ส่วนตัวผมเคยฟังอินทิเกรตแอมป์ Rotel มาหลายรุ่นแล้ว แต่กับเครื่องเล่นซีดีนี่ไม่ค่อยจะคุ้นเลยครับ มองจากรูปลักษณ์ภายนอกของ A11 และ CD11 ผมว่ามันสวยงามดี ออกจะคล้ายๆ เครื่องเสียงอังกฤษอีกยี่ห้อหน่อยๆ ที่ใช้แผงหน้าเครื่องเป็นอะลูมิเนียมปัดเสี้ยน จอแสดงผลสีฟ้าอ่อน ตัวถังค่อนข้างบาง ปุ่มกดต่างๆ แทบจะไม่ต้องอ่านคู่มือการใช้งานเลย ก็สามารถจะเข้าใจได้แล้ว
จุดเด่นของ CD11 คืออ่านแผ่น CD-R ได้หมด มีช่อง Coaxial Digital Out ตัว DAC ชิพมีความสามารถถอดรหัสได้ถึง 24-bit/192kHz เท่าที่ลองเสียงต่อไปใช้ DAC ภายนอก (Teac UD-501) พบว่าเสียงในตัวของ CD11 ไม่ได้แพ้เลยครับ ส่วน A11 เป็นแอมป์ Class AB กำลังขับ 50 วัตต์/ข้าง (วัตต์จริง) หม้อแปลงทอรอยดัลทำในโรงงานของ Rotel เอง ภาคอินพุต มี Phono MM มาให้ด้วย แถมรับบลูทูธได้อีก ทั้ง CD11 และ A11 ใช้ขั้วต่อสายไฟชนิด IEC 2 ขา ที่ถอดเปลี่ยนสายไฟได้ และแน่นอนว่าผมย่อมไม่พลาดที่จะลองเอาโคตรสายไฟอย่าง Power Connex และ Purist Audio Design มาลองเสียบ (ยี่ห้อหลังนี้ราคาสองแสนกว่าบาท) สุดท้ายตอนทดสอบจริงต้องลดลงมาเหลือสายไฟ Entreq เสียบท้ายอินทิเกรตแอมป์ ส่วน CD11 ใช้สายไฟ In-akustic รุ่นตัดแบ่งขาย สายลำโพง JPS: Super Blue, สายสัญญาณ Audioquest King Cobra (ไครโอเจนิก) ลำโพงที่ใช้มี 2 ชุด คือ XAV LS35 KIT และลำโพง Elac B6 ปรากฏว่าลงตัวกับ XAV LS35 มากกว่า จึงใช้ XAV LS35 เป็นหลักในการฟังทดสอบครับ
จุดเด่นๆ ของ Rotel ในการออกแบบแอมป์ของเขาทุกตัวจะใช้หลักการ Balanced Design Concept ใช้อุปกรณ์ภายในคุณภาพสูง วงจรทางเดินสัญญาณซ้ายขวาสมมาตรเท่ากันเปี๊ยบ ภาคจ่ายไฟมีการเผื่อไว้ยามที่ต้องจ่ายกระแสสูงๆ จะได้ไม่อั้นหรือเพี้ยน จุดลงกราวด์จะเดินมารวมกันที่จุดๆ เดียวคล้ายๆ กับ Star Ground อะไรแบบนั้นครับ
CD11
เป็นซีดีเพลเยอร์ชนิดมีถาดโหลดแผ่น กลไกทำงานนิ่มนวล ชิพแปลงดิจิทัลเป็นอะนาล็อก 24 Bit ของ Texas Instruments ด้านหลังมี Coaxial Output สำหรับต่อ DAC มีขั้วต่อ RS232 และ Rotel Link นอกจากนั้นยังมีช่อง 12V. Trigger สำหรับเชื่อมต่อกับ A11 เพื่อให้ควบคุมได้ด้วยรีโมตคอนโทรลตัวเดียว
ในการทดสอบ ผมลองสลับเอา CD Player Marantz 63Ki มาเสียบต่อกับ A11 ถ้าเป็นเมื่อก่อนคุณคงคงคิดว่า 63 Ki ชนะขาด แต่พอมา พ.ศ. นี้ ด้วยวิวัฒนาการของระบบดิจิทัล ผมว่า CD11 มีหลายอย่างที่เหนือกว่า 63Ki เช่น อิมแพ็ค และรายละเอียด จะมีก็แต่เสียงกลางอันนุ่มหวานแบบ Marantz ที่ยังคงหาใครมาแทนที่ได้ยาก บอกตามตรงว่าถ้าให้ซื้อเครื่องเล่นซีดีราคาประหยัดในยามนี้
ผมคงมองมาที่ CD11 แน่ๆ การเปลี่ยนสายไฟ AC ดีๆ ให้มันสักเส้น จะให้อะไรเพิ่มขึ้นได้มากครับ
ส่วนอินทิเกรตแอมป์ A11 นั้น อย่าได้ดูถูกว่ากำลังขับแค่ 50 วัตต์จะทำอะไรได้ ผมเล่นกับลำโพง XAV LS35 (ไม่ได้ต่อซับวูฟเฟอร์) ให้เสียงที่น่าพอใจ มีครบย่าน ทั้งทุ้ม กลาง แหลม ความพิเศษของการทำงานร่วมกันระหว่าง A11 + CD11 คือ รายละเอียดที่เพียบพร้อม โดยที่ผิวเสียงไร้ความหยาบกระด้าง แถมด้วยน้ำหนักเบสที่หนักเอาเรื่อง บางคนบอกว่าเสียงพัฒนาขึ้นมาจากรุ่น RA11 มากเลย จริงเท็จประการใดอันนี้ไม่รับรองครับ เพราะผมไม่เคยฟัง RA11 สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับ Rotel อีกประการหนึ่ง คือ เขาไม่ประหยัดในส่วนสำคัญๆ ของเครื่อง ยกตัวอย่างเช่น หม้อแปลงและคาพาซิเตอร์ รวมทั้งแผงวงจรภายในเครื่องด้วย ข้อควรรู้อีกประการหนึ่ง คือ Rotel ผลิตเครื่องเล่นซีดีออกมาขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 แล้วก็ไม่เคยหยุดเลย ยังทำต่อเนื่อง และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นับได้ 30 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า CD Player ของเขาต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ผลการทดสอบ
Rotel A11 + CD11 ถูกเปิดใช้งานอยู่ 30 ชั่วโมงเพื่อทำการ Burn-In เสียงคงตัวแล้วจึงถึงเวลาค้นหาตัวตนที่แท้จริงของมัน ไม่เช่นนั้นในระยะแรกๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมงแรก อาจจะรู้สึกว่ามันหน่อมแน้มไปหน่อย ในช่วง Burn-in นั่นเอง
ผมพบว่า การ Power on เครื่องไว้โดยที่ไม่มีสัญญาณไหลผ่าน มันจะตัดการทำงานเองโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นการถนอมเครื่อง นับว่าเป็นวงจรที่ฉลาดมาก และไม่คิดว่าจะมีอยู่ในเครื่องระดับเริ่มต้นเช่นนี้ ผมลองเล่นแผ่นซีดีเพลงอภิรมย์ 2 เวอร์ชัน 1.1 ที่บันทึกจากมาสเตอร์โดยตรง เสียงมีบุคลิกเดียวกับที่ฟังในเครื่องเสียงชุดใหญ่หลายส่วน เพียงแต่สเกลชิ้นดนตรีต่างๆ จะย่อส่วนลงมาบ้าง ผมจัดหนักกับ Rotel คู่นี้ด้วยการฟังเพลงที่บันทึกสดอย่าง The Weavers: (Live) Reunion at the Carnegie Hall แผ่นทองของ Analogue Production แผ่นนี้ในซิสเต็มขนาดใหญ่ที่ดีจริงๆ จะได้บรรยากาศเหมือนกับคุณเข้าไปอยู่ในคาร์เนกี้ฮอลล์ด้วย และจะมีฮาร์โมนิกของเครื่องดนตรีจริงตลบอบอวลไปหมด รวมทั้งเสียงประหลาดๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่คนฟังไอจามด้วย ไอ้หนูคู่นี้มันก็อุตส่าห์จำลองลักษณะดังกล่าวออกมาให้ได้ แม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกับชุดเครื่องเสียงราคาหลายล้าน ก็เอาเหอะ ในราคา 4 หมื่นบาททำได้ขนาดนี้ ผมว่าดีเกินตัวแล้วครับ
ถอยมาฟังแผ่นง่ายขึ้นมาหน่อย Lee Ritenour ชุด Captain Fingers ที่จริงจะว่าง่ายก็ไม่เชิง แผ่นนี้บันทึกลงเทปอะนาล็อก แล้วแปลงเป็นดิจิทัลในยุคแรกๆ ประมาณปี 1980 มีการรีมาสเตอร์เพื่อปั๊มออกมาเป็นซีดี บุคลิกเสียงต้องเปิดกับชุดใหญ่หน่อย ไม่งั้นจะออกแบนและบาง ผมก็ใจร้ายเอามาเปิดกับ CD11 ผลปรากฏว่ามันให้เสียงที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะในย่านเสียงแหลมที่ไม่มีอาการแห้งแล้งแบบดิจิทัลเลย การย้ำหัวโน้ตทำได้ดีมีน้ำหนัก เก็บรายละเอียดมาได้ครบทุกเม็ด ลีลาในการลีดกีตาร์ของ Lee สมัยยังหนุ่มฟ้อต้องบอกว่าแพรวพราวสมดั่งสมญานาม Captain Fingers จริงๆ ครับ ดุลน้ำเสียงดีมาก มาครบดีเสมอกันทุกย่าน เบสไม่ถึงกับถล่มทลาย แต่ก็มีเลี้ยงไว้ตลอด ไม่ทำให้รู้สึกว่ามันขาด ผมลองเล่นแผ่น Chesky Records ชุด Collection Series No.1 ได้ความรู้สึกนุ่มเนียน หวานอย่างมีสาระ เสียงดีมาก มีกังวานและโฟกัสปานกลาง เสียงเครื่องเคาะเพอร์คัสชันพอได้ยิน แต่การย้ำหนักเบานี่ยังไม่ค่อยจะแจ้งเท่าไหร่ เสียงเปียโนมี Timbre ที่ใกล้เคียงของจริง และที่แปลกคือ มันให้เสียงเครื่องเป่าทองเหลือง และฟลู้ตได้ดีมาก แสดงว่าแหลมต้นๆ นีเป็นของหวานหมูสำหรับชุดนี้ครับ และที่ต้องชมคือ มวลเสียงแหลมที่ได้ยินนั้น ช่างห่างไกลคำว่า เบาบาง แห้งแล้ง ฟังแล้วสบายหูดีมากครับ
มันถ่ายทอด DNA มาจาก Rotel รุ่นใหญ่แบบพิมพ์เดียวกันเป๊ะเลย เพลงคลาสสิกวงใหญ่ไดนามิกรุนแรง เช่น 1812 หรือแผ่น Tutti (Reference Recordings) ต้องเลือกลำโพงความไวสูงหน่อยถึงจะขับออกมาดี Elac B6 นี่ไม่ใช่เนื้อคู่แน่ XAV LS35 ก็เป็นลำโพงตู้ปิดเบสเป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องการแอมป์วัตต์สูงๆ หน่อยมาขับ ถึงจะสำแดงฤทธิ์เดชออกมาได้เต็มที่ ผมมีลำโพง Victor โบราณที่มี 4 ไดรเวอร์ ความไว 90dB เลยเอามาลองกับ A11 + CD11 คราวนี้เสียงหลุดตู้ไปไกลกว่าเดิมเยอะมาก เสียงร้องนุ่มหวาน เสียงแหลมทอดพลิ้วลากหางขึ้นไปได้สุด
คุณสมบัติเกี่ยวกับอิมเมจและซาวด์สเตจ ผมให้ 7 เต็ม 10 กล่าวคือ… อิมเมจขึ้นรูปชัดพอสมควร แต่ยังไม่โฟกัสชัดแจ๋ว มันพอรู้สึกถึงความเป็นตัวเป็นตนอยู่ตรงไหนของเวทีเสียง ซึ่งไม่แปลกสำหรับเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นที่จริงต้องชมด้วยซ้ำไปว่า สิ่งที่ให้ได้เกินกว่าราคาค่าตัวไปด้วยซ้ำเวทีเสียงในกรณีที่แม็ตชิ่งและเซ็ตอัพลำโพงลงตัว + เล่นเพลงที่เหมาะกับมัน ผมพบว่าเวทีเสียงกว้างและลึกอย่างสมดุลกัน ด้านกว้างฉีกตัวเลยตำแหน่งที่วางลำโพงออกไปได้ โดยที่ยังไม่เลยผนังห้องฟัง ส่วนด้านลึกนั้นประหลาดมากที่ชุดนี้สามารถวางตำแหน่งเครื่องดนตรีที่ลึกลงไปในเวทีเสียงได้อย่างสวยงาม บางเครื่องที่ราคาแพงกว่านี้หลายเท่าตัวยังทำไม่ได้เลยครับ สำหรับการเพิ่มสายไฟดีๆ สายสัญญาณคุณภาพสูง และสายลำโพงเทพๆ ย่อมยกระดับคุณภาพเสียงขึ้นไปได้อีก เช่น สายสัญญาณอาจจะใช้ Life Audio รุ่นมดแดง, สายไฟ Power Connex, สายลำโพง Zonotone รุ่นเล็กไม่กี่บาท DPS Super Blue รับรองว่าไม่ผิดหวังครับ. ADP
ชุด Rotel: CD11 + A11 ราคา 38,880 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนิค วิชั่น จำกัด
โทร. 0-2681-7500
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 266
No Comments