รีวิว UNISON RESEARCH UNICO DM
ธีรวัฒน์ โชติสุต
teerawatj@hotmail.com
ในบรรดาแบรนด์แอมป์หลอด ชื่อของ Unison Research ไม่เคยทำให้นักเล่นผิดหวังในเรื่องคุณภาพเสียง ขณะเดียวกันทาง Unison Research ก็มีสินค้าอีกไลน์หนึ่งซึ่งเป็นแนวไฮบริด คือหลอดผสมโซลิดสเตทเพื่อให้มีกำลังขับที่มากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของนักเล่นในการเล่นได้หลากหลายขึ้น นั่นก็คือซีรีส์ Unico
ในซีรี่ส์นี้มีทั้งอินทิเกรตแอมป์ ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ และเครื่องเล่นซีดี แต่คราวนี้จะยกเอาเพาเวอร์แอมป์ Unico DM Power Amplifiers มากล่าวถึงกันก่อน
จริงๆ แล้ว ในการเล่นปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ หลายๆ ยี่ห้อ มักแนะนำให้เล่นยี่ห้อเดียวกัน และนักเล่นส่วนใหญ่ก็คิดแบบนั้น เนื่องจากว่าจะแม็ตช์กันมากกว่าเล่นต่างยี่ห้อ แต่ก็ใช่ว่าจะเล่นปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ต่างยี่ห้อกันไม่ได้ เพราะก็เล่นได้เช่นกัน คิดในแง่บวกจะทำให้เราได้ประสบการณ์ในการเล่นที่หลากหลายขึ้น เพราะบางครั้งบางโอกาส เราอาจต้องการหาเพาเวอร์แอมป์ที่อยู่ในงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ หรือต้องการหาเพาเวอร์แอมป์มาเพิ่มกำลังของซิสเต็มให้มากยิ่งขึ้น อาทิ มีอินทิเกรตแอมป์อยู่แล้ว และอินทิเกรตแอมป์ก็มีช่องปรีเอาต์อยู่ด้วย จึงกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะเพิ่มกำลัง เพียงต่อสายจากช่องปรีเอาต์ไปยังเพาเวอร์แอมป์เท่านั้นเอง ก็เพียงพอที่จะเพิ่มกำลังขับจากอินทิเกรตแอมป์แล้วล่ะ
Unison Research: Unico DM Power Amplifier ให้กำลังขับ 160 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม และ 650 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ในโหมดบริดจ์โมโน การออกแบบ Unison Research: Unico DM Power Amplifier นั้น ออกแบบในลักษณะดูอัลโมโน แยกอิสระทั้งซ้ายและขวา จากข้อมูลในเว็บไซต์บอกว่า Unico DM Power มีตัวถังที่แข็งแรงกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ และกำลังขับก็ดีกว่าเดิมอีกด้วย ผมไม่เคยฟังรุ่นก่อนหน้านี้ จึงไม่ทราบว่าเสียงจะแตกต่างกันมากขนาดไหน
Unico DM Power ใช้หลอดในภาค Input Stage โดยใช้หลอด ECC82/12AU7 สองหลอดทำงานในโหมด Class A ส่วนภาคเอาต์พุตใช้ Power Mosfet ทำงานในโหมดซึ่งทาง Unison Research เรียกกว่า Dymamic Class A ช่องอินพุตมีมาให้ทั้ง RCA และ XLR อย่างละ 1 ชุด ขั้วต่อสายลำโพงข้างละ 2 ชุด สามารถต่อเล่นในลักษณะ Bi-Wiring ได้อย่างอิสระ
การเปิดปิดการทำงานของเครื่องเสียงมีสวิตช์ด้านหลัง เวลาเปิดแล้วกดปุ่ม Stand By ด้านหน้า จะมีรีเลย์หน่วงการทำงานช่วงหนึ่ง ส่วนสวิตช์โยกด้านหลังเป็นตัวเลือกการทำงานในโหมด Stereo 160 วัตต์ หรือ โมโน (บริดจ์โมโน) ส่วนปุ่มกดด้านหน้าเป็นปุ่ม Stand By และเลือกการทำงานของช่องอินพุต UnB/Bal
เซ็ตอัพและคุณภาพเสียง
ผมขอรวบ 2 เรื่องพูดพร้อมๆ กันไปเลยจะดีกว่านะครับ
สำหรับ Unison Research: Unico DM Power แนะนำเลยว่าควรใช้สายลำโพงซึ่งมีขนาดหน้าตัดเท่ากับหรือมากกว่า 6 sq.mm ขึ้นไป หรือถ้าสามารถหาขนาดสายลำโพงหน้าตัดขนาด 10 sq.mm จะดีอย่างมาก เพราะรายละเอียด เรนจ์เสียง ไดนามิกและแรงปะทะ ดีกว่าขนาด 6 sq.mm อย่างมากทีเดียว ในการทดสอบนั้น ผมจึงเลือกใช้สายลำโพงขนาด 16 sq.mm โดยใช้งานร่วมกับสายไฟเอซีก้องกิจกรทั้งซิสเต็ม ตั้งแต่เครื่องกรองไฟ Isolation Transformer, แหล่งโปรแกรมต้นทาง, ปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ ส่วนสายนำสัญญาณทั้งหมดใช้ของ Burson Audio ทั้งซิสเต็มเช่นกัน โดยเลือกต่อแบบขั้ว RCA
สำหรับปรีแอมป์ ผมใช้ทั้งหมด 2 ตัวคือ… Audio Space WE-300L, Musical Fidelity F2 และภาคปรีเอาต์ของอินทิเกรตแอมป์ Rega Mira3 เพื่อต้องการตรวจสอบว่า หากใช้ภาคปรีเอาต์ของ Rega Mira3 เสียงจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนลำโพงนั้นแน่นอนไม่มีอื่นไกล ซึ่งก็คือ Totem Signature One นั่นเอง
ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะนำปรีแอมป์แบบใดมาใช้งานร่วมกับ Unico DM Power ไม่ว่าจะเป็นปรีแอมป์หลอดหรือปรีแอมป์โซลิดสเตท ก็ไม่ได้รู้สึกถึงปัญหาในการไม่แม็ตช์กันทางอิมพีแดนซ์ระหว่างเอาท์พุตฝั่งภาคปรีแอมป์และอิมพีแดนซ์อินพุตของฝั่ง Unico DM Power แต่อย่างไร ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเพาเวอร์แอมป์ประเภทไฮบริด ก่อนหน้านี้หลายครั้งที่พบว่า หากนำปรีแอมป์หลอดมาเล่นคู่กับเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตท มักเจอปัญหาไม่แม็ตช์กันระหว่างเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ฝั่งขาออกกับอินพุตอิมพีแดนซ์ฝั่งขาเข้าค่อนข้างบ่อยมาก
ดังนั้น ถ้าผมบอกว่า Unico DM Power ทำตัวเสมือนภาคขยายเสียงจากปรีแอมป์ต้นทาง คุณภาพเสียงที่ออกมาจาก Unico DM Power กว่า 60% มาจากคุณภาพเสียงของปรีแอมป์ที่ใช้จากต้นทางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนปรีแอมป์เป็น Audio Space WE-300L, Musical Fidelity F2 หรือจะจับอินทิเกรตแอมป์ Rega Mira3 มาใช้งานในลักษณะปรีแอมป์ ก็ให้เสียงออกมาไม่เหมือนกันเลย นั่นก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ตัวบุคลิกเสียงของตัว Unico DM Power นั้นไม่ได้มีอิทธิพลในบุคลิกเสียงรวมทั้งหมด ครั้งนี้ดูเสมือนว่า 1+1 ไม่เท่ากับสองเสียแล้ว 1+1 เท่ากับ 1.1 คือเป็นหนึ่งเดียวของปรีแอมป์ต้นทาง แต่ที่เติมลงไปก็คือพละกำลังที่แทรกเพิ่มเติมในแต่ละตัวโน้ตเพิ่มเข้ามาเท่านั้นเอง
เริ่มต้นด้วยปรีแอมป์ Audio Space WE-300L ซึ่งผมมาลองร่วมเล่นกับ Unico DM Power ในระยะเวลาช่วงสั้นๆ เนื่องจากเป็นรุ่น Limited Edition เลยจับมาลองต่อเล่นเสียหน่อย ลูกเล่นของ Audio Space WE-300L ที่ชอบและถูกใจอย่างมากก็คือ การเลือกปรับค่าช่องเอาต์พุตด้านหลัง ซึ่งมีเกนที่แตกต่างกันให้เลือกเล่นตามต้องการ จะต้องการให้เสียงออกมาแนววินเทจหรือเสียงออกมาแนวสมัยใหม่ก็ได้ อันนี้ถูกใจยิ่งนัก
ตรงนี้จะเห็นข้อดีอย่างหนึ่งของเพาเวอร์แอมป์ไฮบริด ซึ่งใช้หลอดในภาคอินพุต และภาคขยายใช้มอสเฟต อย่างที่บอกข้างต้น เมื่อจับคู่ระหว่างปรีแอมป์ Audio Space We-300L + Unico DM Power ความรู้สึกของผมเหมือนกำลังฟังอินทิเกรตแอมป์หลอดผ่านตัว Supercharge เลย เนื่องจากครั้งหนึ่งผมเคยฟังอินทิเกรตแอมป์ Audio Space Reference 3.1 (300B) ขับผ่าน Musical Fidelity 750K Supercharge
คุณภาพเสียง ณ ตอนนี้ คือ… แนวเสียงจากอินทิเกรตแอมป์หลอด 300B ที่ได้รับการอัดฉีดพละกำลังเพิ่มขึ้นมา บุคลิกเสียงก็ยังคงแบบเสียงหลอด 300B ความฉ่ำหวานของเสียงนั้นยังคงเดิม เสียงเครื่องเคาะโลหะพลิ้วกังวานอย่างมาก แต่ตัว Unico DM Power เติมเพิ่มเข้าไปคือ ความอิ่มของเนื้อเสียง เรนจ์เสียงย่านต่ำที่ขยายเพิ่ม ไดนามิกโน้ตหัวเสียงที่เติมอัดฉีดเพิ่มเติมลงไป
ขอยกตัวอย่างจากแผ่นซีดี Three Kingdoms ซึ่งผมค่อนข้างแปลกใจในคุณภาพเสียงอย่างมาก คือ แทบไม่น่าเชื่อว่ากำลังฟังเสียงจากปรีแอมป์หลอดและเพาเวอร์แอมป์แบบไฮบริดอย่าง Unico DM Power (ลองฟังเสียงจากคลิปเสียงนี้ดูครับ ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนหน้านี้เคยลงมาแล้วหรือยัง https://youtu.be/LR7vN6xFyyw)
จากแผ่นนี้จะเห็นคุณภาพอีกด้านหนึ่งของ Unico DM Power ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว อย่างแรกก็คือ สัญญาณระหว่างซ้ายและขวาที่แยกแยะกันได้เด็ดขาด จึงเกิดมิติเสียงค่อนข้างชัดเจนมากๆ เมื่อฟังเจาะลึกในรายละเอียดของเสียงต่างๆ ก็ยังพบว่า Unico DM Power แยกแยะรายละเอียดของเสียงออกมาได้ค่อนข้างเด็ดขาดและชัดเจน เปรียบเทียบกับอินทิเกรตแอมป์ซึ่งผมเล่นเป็นประจำเมื่อเปลี่ยนมาฟังชุดปรี-เพาเวอร์ การแยกแยะรายละเอียดของเสียงต่างๆ นั้น ชุดปรี-เพาเวอร์ให้ออกมาดีกว่ากันเยอะ ถ้าจะถามว่าดีกว่าอินทิเกรตแอมป์ Pass Labs: INT-250 ที่เคยฟังก่อนหน้านี้หรือเปล่า ต้องบอกว่าเสียงแตกต่างกัน ถึงแม้ว่ากำลังขับของ Unico DM Power จะน้อยกว่า Pass Labs: INT-250 แต่ก็มีบางอย่างเด่นกว่า บางอย่างด้อยกว่า
ถ้าจะเปรียบทางเชิงมวย คู่ของ Audio Space WE-300L + Unico DM Power ไม่ได้เป็นนักมวยแบบไฟท์ติ้ง แต่เป็นนักมวยแบบชั้นเชิง ลีลาพลิ้ว ออกหมัดได้เด็ดขาดและหนักแน่นเช่นกัน ถึงไม่ใช่พวกหมัดเดียวน็อค ถึงจะนับก็ลุกยืนไม่ไหว แต่เป็นการปล่อยหมัดเดียวก็สามารถทำให้คู่ต่อสู้ลงไปนอนกองกับพื้นได้ นับครบสิบก็ยังยืนได้ แต่ชกต่อไปไม่ไหว
ถ้าจะให้เลือกระหว่างอินทิเกรตแอมป์และชุดแยกชิ้นปรีแอมป์-เพาเวอร์แอมป์ ผมเลือกอย่างหลังมากกว่า ถึงแม้จะมีเรื่องจุกจิก และมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าก็ตาม
เรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยมานาน เพราะตั้งแต่ติดตามบทรีวิวชุดปรีแอมป์ Unico Pre + Unico DM Power ก่อนจะนำมาสู่บททดสอบ Unico DM Power ในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นแตกต่างออกไปก็คือ มวลความเข้มข้นด้านความถี่กลางต่ำลงไป ซึ่งแสดงทัศนคติในทำนองว่า ติดนุ่มไปเล็กน้อย ส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นรุ่นเก่าหรือเปล่า แต่สำหรับ Unico DM Power ผมมีทัศนคติต่อเพาเวอร์แอมป์รุ่นนี้ที่แตกต่างออกไป
ในแง่ความเข้มข้นหัวโน้ตอย่างเช่นพวกอะคูสติกเบส ความเข้มข้นมวลเสียงตรงนี้อาจไม่เท่ากับเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตทกำลังเยอะๆ ที่ให้ความเข้มของหัวโน้ตที่กระชับ หนักแน่น มวลเสียงข้นเข็ม และให้ไดนามิกออกมาดุดันมากกว่า ความเข้มข้นของไดนามิก ผมให้ Unico DM Power 8 จาก 10 เมื่อเทียบกับเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงมากกว่านี้ (ลองฟังเพิ่มเติมจากคลิปเสียงเพลงแจ๊ส https://youtu.be/8vmn5CN7XEI)
แต่ผลข้างเคียงที่ทำให้ Unico DM Power น่าฟังน่าเล่นก็คือ โทนเสียงที่ไม่ได้เก็บตัวเร็ว บรรยากาศและรายละเอียดเสียงรอบๆ ตัวโน้ตนั้น ถ่ายทอดออกมาได้ครบ ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นในเนื้อเสียง ถึงไม่ได้ดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ก็ยังให้ความรู้สึกเร่าร้อนได้ดี
ตรงนี้อย่างที่ผมเคยย้ำมาเสมอก็คือ ขึ้นอยู่กับอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงในเรื่องนี้ตรงๆ นั่นก็คือสายไฟเอซีที่ใช้งานร่วมด้วยนั่นเอง ในมุมมองของผม ผมไม่ได้แยกสายไฟเอซีออกจากเครื่อง เพราะผมถือว่าคุณภาพเสียงของเครื่องหนึ่งๆ นั้น มาจากสายไฟเอซีกับเครื่องรวมกัน เพราะถ้าเปลี่ยนสายไฟเอซี เสียงของเครื่องนั้นก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สำหรับ Unico DM Power ก็เช่นกัน เป็นเพาเวอร์แอมป์อีกยี่ห้อหนึ่งที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของเสียงจากสายไฟเอซีที่ต่อใช้งานอย่างมากทีเดียว หากใช้สายไฟเอซีที่เป็นแบบสายอ่อน ซึ่งทางเทคนิคเรียกว่า “Fine Stranded Wire” ความเข้มของไดนามิกหัวเสียงก็จะลดลงมาหน่อย เสียงจะไปทางนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น
ในทางเทคนิค การออกแบบภาคขยายของ Unico DM Power ถือว่าให้เกนขยายค่อนข้างตำความหมายของผมเวลาบอกว่า เกนขยายต่ำก็คือ ผมเทียบจากปรีแอมป์ก่อนหน้านี้ เมื่อป้อนสัญญาณ 1kHz ในความดังระดับหนึ่ง แล้วผมก็วัดแรงดันตกคร่อมขั้วลำโพง และผมก็ทำเช่นเดียวกันกับ Unico DM Power เมื่อป้อนสัญญาณ 1kHz แล้วใช้ปรีแอมป์ต้นทางเป็น Musical Fidelity F2 เพราะผมเคยใช้อ้างอิงในเรื่องนี้มาก่อน ที่ระดับแรงดันตกคร่อมหลังขั้วลำโพงเท่ากัน เมื่อใช้ Unico DM Power ผมต้องเร่งวอลลุ่มของ Musical Fidelity F2 เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน นั่นคือข้อดีในเรื่องเสียง แต่อาจจะส่งผลลบในเรื่องทัศนคติ
แง่ลบในเรื่องของทัศนคติก็คืออาจจะมองว่ากำลังขับไม่ดี เพราะต้องเร่งเสียงมากกว่าเดิม ต่างจากแอมป์บางยี่ห้อ หมุนบิดวอลลุ่มไม่เท่าไหร่ เสียงก็ดังลั่นเต็มห้องแล้ว ทั้งๆ ที่ความแรงไม่ได้วัดกันที่ระดับวอลลุ่มนั้นจะบิดมากหรือน้อย
ส่วนข้อดีของเกนต่ำก็คือ “บรรยากาศ” ครับ Unico DM Power ให้บรรยากาศของเสียงออกมาดีมากทีเดียว รายละเอียดเสียงและเรนจ์เสียงนั้น ออกมากว้าง เพราะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยแบนด์วิดธ์ของภาคจ่ายไฟ เร้นจ์เสียงกว้างจนเนื้อเสียงไม่ได้มีความรู้สึกว่า เสียงหยาบกร้านเลย
โทนเสียงของ Unico DM Power จึงไม่ได้มีบุคลิกเสียงแบบรุกเร้าดุดัน เพราะทุกอย่างเต็มไปด้วยจังหวะ ลีลาของโน้ตดนตรีที่มีช่องว่าง ช่องไฟ และไทมิ่งของโน้ตที่ชัดเจนมากๆ ความกว้างและลึกของเวทีเสียงนั้น ดูเหมือนจะขยายออกไปในทุกทิศทางทาง
แผ่นซีดี Tchaikovsky 1812/TELARC แผ่นนี้ ผมเคยลองเปิดกับซิสเต็มใหญ่ๆ มาหลายครั้ง คุณภาพเสียงที่ได้จาก Unico DM Power ถือว่าทำได้เหนือความคาดหมายมากๆ
ในแทร็กที่ 1 “1812 Overture Op.49” เสียงของกลุ่มนักร้องชาย-หญิง แยกแยะและให้รายละเอียดของเสียงดีมาก ทั้งความชัดเจนของอักขระ มวลน้ำหนักการผ่อนหนักเบาของเสียงร้อง ช่วงที่เสียงร้องเปลี่ยนคีย์เสียงที่สูงขึ้นยังถ่ายทอดในรายละเอียดของเสียงได้ครบ แม้แต่ไดนามิกของเครื่องเป่าทองเหลืองที่แทรกสอดขึ้นมา แล้วสลับมาเสียงร้องในคีย์เสียงที่สูง ตามมาด้วยไดนามิกพละกำลังของเสียงกลองทิมปานี แล้วตามมาเสียงของเครื่องสาย เรนจ์เสียงในรายละเอียดของเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ แจกแจงออกมาได้อย่างครบถ้วน เสียงเปิดโปร่ง และให้รายละเอียดของเสียงครบ สนามเสียงโอบล้อมดีมากๆ เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นไม่ได้มีความคลุมเครือใดๆ เลย
ผมชอบในบรรยากาศของเสียงที่ Unico DM Power ถ่ายทอดออกมาอย่างมากๆ เสียงมีความต่อเนื่องลื่นไหลอย่างไม่ขาดตอน พละกำลังของ Unico DM Power สามารถไหลต่อเนื่องได้อย่างตลอด ไดนามิกของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นชัดเจนจะแจ้งจริงๆ ไม่ได้รู้สึกรุกเร้าหรือให้เสียงที่น่ารำคาญแต่อย่างไร ยิ่งเสียงปืนใหญ่ให้มวลเสียงใหญ่ดีมากทีเดียว รู้สึกเหมือนเสียงปืนใหญ่กำลังยิงกันในห้องฟังเพลงเลย
ตรงนี้ถือเป็นข้อดีมากๆ ของ Unico DM Power แม้ว่าแทร็กเดียวกันนี้ ผมย้อนมาเปิดอีกครั้งโดยใช้อินทิเกรตแอมป์ Rega Mira3 มาเล่นเป็นปรีแอมป์ ต่อช่องจากปรีเอาต์ออกมาต่อกับ Unico DM Power ถึงแม้ว่าความชัดเจนและรายละเอียดบางอย่างไม่ได้ชัดเจนเท่าปรีแอมป์จริงๆ ความกว้างและสนามเสียงแคบกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ Unico DM Power ทำหน้าได้อย่างเที่ยงตรงคือ เหมือนไม่ได้เปลี่ยนสไตล์เสียงที่ออกมาให้แตกต่างออกไป ลักษณะของเสียงที่ผมรู้สึกได้ก็เสมือนว่ายังฟังเสียงจากอินทิเกรตแอมป์ แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ พลังเสียงจากความถี่เสียงกลางต่ำที่อัดแน่นไปด้วยพละกำลังและรายละเอียดของเสียงที่มากขึ้นกว่าเดิม เวทีเสียงก็ขยายทั้งด้านบนและด้านกว้างมากกว่าเดิม และลึกขึ้นอีกด้วย
เสน่ห์อีก 2 อย่างของ Unico DM Power ก็คือ เสียงร้องครับ จากแผ่นซีดี Linda Ronstadt & The Nelson Riddle Orchestra ผมชอบเสียงร้องของ Unico DM Power เสียงร้องอิ่มฉ่ำมีรายละเอียด ปลอดโปร่ง ยิ่งฟังจากปรีแอมป์ Audio Space WE-300L แล้ว ทำให้ช่วงเวลาในการฟังเพลงจากแผ่นนี้เพลิดเพลินดีมากๆ แผ่นนี้ค่อนข้างเน้นเสียงร้องของลินดาเป็นพิเศษ กล่าวคือจะให้เสียงร้องลอยเด่นมากกว่าเสียงเครื่องดนตรีทั้งหลาย เสียงร้องของลินดาเด่นมากๆ
Unico DM Power ให้เสียงร้องของลินดาลอยเด่นออกมามากยิ่งขึ้น ยิ่งช่วงลากเสียงสูงขึ้นไป ความต่อเนื่องของเสียงดีมากทีเดียว เพลงนี้พอเปลี่ยนมาฟังปรีแอมป์โซลิดสเตทอย่าง Musical Fidelity F2 ความน่าฟังสู้ใช้ปรีแอมป์หลอดไม่ได้เลย เสียงจากโซลิดสเตทจะออกขุ่นกว่าอย่างชัดเจนทีเดียว
จังหวะไทมิ่งของเสียง Unico DM Power ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ผมเคยฟังเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตทรู้สึกว่าจังหวะออกจะรุกเร้ามากกว่านี้หน่อย แต่สำหรับ Unico DM Power ฟังดูผ่อนคลายมากกว่ากันเยอะ รู้สึกพึงพอใจในลักษณะเสียงแบบนี้ของ Unico DM Power ค่อนข้างมากทีเดียว
จากตรงนี้ ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ปรีแอมป์รุ่น Unico Pre เลยก็ได้ แต่หันไปเล่นปรีแอมป์หลอดของ Unison Research ในรุ่น Reference Pre เลยก็จะยิ่งดีมากกว่า เพราะถ้าปรีแอมป์ Audio Space WE-300L ยังเข้าได้ดีกับ Unico DM Power ขนาดนี้ การขยับไปเล่น Unison Research Reference Pre ก็ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างไร สเปกของ Unison Research Reference Pre นั้น น่าสนใจมิใช่น้อยทีเดียว เพราะใช้หลอด 300B เช่นกัน
อีกอย่างที่เด่นอย่างมากของ Unico DM Power ก็คือพวกเครื่องสาย สินค้าของ Unison Research ทุกรุ่นให้เสียงเครื่องสายที่ออกมาเป็นธรรมชาติน่าฟังมาก เป็นเสียงที่ไม่มีคัลเลอร์ในตัวเลย และครั้งนี้ก็เช่นกัน Unico DM Power ถึงแม้ว่าเป็นแอมป์ไฮบริด ใช้หลอดในภาคอินพุตสเตจและมอสเฟตในภาคขยาย เสียงเครื่องสายก็ยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นเดิม
เพาเวอร์แอมป์ที่ควรค่าแก่การเป็นเจ้าของอย่างยิ่ง
ถ้าจะให้ผมสรุปอย่างสั้นๆ กระชับมากที่สุด ผมก็คงบอกว่า นี่คือเพาเวอร์แอมป์ที่ควรค่าเป็นเจ้าของยิ่งนัก อย่างแรกก็คือ ราคาที่ตั้งเอาไว้น่าสนใจมากๆ ก็คือ 155,000 บาทนั้น ค่อนข้างได้เปรียบในท้องตลาด เพราะราคานี้นักเล่นหลายท่านสามารถเอื้อมคว้ามาเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก
เพาเวอร์แอมป์ Unico DM Power ตัวนี้สามารถเข้ากันได้ดีกับทั้งปรีแอมป์หลอดและโซลิดสเตท แต่ข้อควรระวังก็คือ สายไฟเอซีมีผลต่อเสียงค่อนข้างมากทีเดียว แนะนำให้ใช้สายไฟเอซีขนาดใหญ่ที่มีหน้าตัดมากกว่า 12AWG และต้องไม่เป็นสายไฟอ่อนฝอยแบบ Fine Stranded Wire การเลือกสายลำโพงก็ให้เลือกขนาดของสายลำโพงอย่างน้อย 6 sq.mm (อย่างน้อย 10AWG) ขึ้นไปจะดีมากๆ
แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเล่นที่กำลังหาเพาเวอร์แอมป์สักตัวที่จะมาสร้างความสุขในการฟังเพลงได้ตลอดเวลา โดยไม่ได้รู้สึกล้าหูแต่อย่างไร. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 257
No Comments