วิศัลย์ เอกธรรมกุล

 ฉบับที่แล้ว ได้มีการอินโทรด้วยบทสัมภาษณ์ ENIGMAcoustics ใน WJWJ ฉบับนี้ จึงขอนำท่านสู่บททดสอบลำโพง ENIGMA M1 อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้เสียเวลา เชิญทัศนาครับ

ลำโพงรุ่นเดียวของค่าย ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่ถูกต้องก็คือ ENIGMA Mythology M1 เรื่องราวก็มีอยู่ว่า ความวิเศษและเป็นนวัตกรรมของลำโพง ENIGMA ที่สามารถกวาดรางวัลจากฝั่งยุโรปและอเมริกามากมายก่ายกอง ทั้งๆ ที่เป็นลำโพงที่ออกแบบและผลิตที่เอเชียนี่เองนั้น ก็คือ Super Tweeter ที่เรียกว่า Sopranino Super Tweeter ความพิเศษของทวีตเตอร์ตัวนี้คือ มันเป็นลำโพง Electrostatic ที่มีพื้นที่เปล่งความถี่มากกว่าทวีตเตอร์โดมขนาด 1” มาตรฐานทั่วไปประมาณ 30 เท่า โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าไปเลี้ยงไดอะแฟรมแบบลำโพง Electrostatic ทั่วไป ด้วยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ประเภทตัวนำยิ่งยวด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นฟิล์มหรืออินดัคทีฟพาเนลที่สามารถใช้สัญญาณไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากสายลำโพงพ่วงไฟฟ้าที่ว่านั้นผ่าน Jumper Cardas เพื่อเป็นพลังงานขับเคลื่อนไดอะแฟรม Electrostatic 

ความพิเศษของ Sopranino Super Tweeter คือ การออกแบบให้ใช้กับลำโพงซิสเต็มอื่นอย่างยืดหยุ่นและกลมกลืน กล่าวคือ เมื่อทำการพ่วงสายลำโพงของลำโพงหลักเข้าไปที่ทวีตเตอร์แล้ว ย่อมมีการผนวกเอา LF cut-off เอาไว้ด้วย และยังปรับเกนความไวได้อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ Sopranino Super Tweeter จึงสามารถเติมเต็มความถี่ในฮาร์โมนิกส์ที่สองที่สามจนถึงระดับจางหาย จากลำโพงมิดเรนจ์และทวีตเตอร์ ที่เป็นข้อจำกัดของลำโพงทั่วไปที่ต้องกล่าวว่าให้ไม่ได้มากเท่านี้ ผู้ผลิตเรียกว่า Ambient Restoration Device (เครื่องมือเอาบรรยากาศกลับคืนมา) ฟังแล้วเหมือน Thanos ดีดนิ้วจากแผงอัญมณีบนข้อมือเลยนะ

เมื่อผู้ผลิตพบว่า แบรนด์และนวัตกรรมเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในระดับเวิลด์คลาสแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องประกอบร่างให้เป็นลำโพงฟูลเรนจ์ประจำค่าย รวมเรียกว่า ENIGMA M1 ประกอบด้วย… เบส/มิดเรนจ์ไดรเวอร์ และทวีตเตอร์ ที่อยู่ในตู้เดียวกัน ผนวกกับ Sopranino Super Tweeter ที่วางอยู่หลังตู้ และท้ายที่สุด ขาตั้งลำโพงที่ออกแบบให้เข้าคู่กัน เมื่อพิจารณาซิสเต็มนี้จะพบการ mechanical damping/tuning ในระบบด้วยวัสดุหลากหลาย เช่น โลหะอะลูมินั่ม ไม้อัด และกระจกเทมเปอร์ ที่ล้วนแล้วแต่มีคุณภาพและฟินิชชิ่งที่ดี ไดรเวอร์มิด/เบส ขนาด 7” กรวย Polypropylene ใช้แม่เหล็กขนาด 6.5” matched pair ทุกคู่ ไดรเวอร์ทวีตเตอร์โดมผ้าไหมขนาด 1.3” ตัดความถี่ต่ำที่สโลปออร์เดอร์ที่สอง ไฮพาสที่ออร์เดอร์ที่สาม ซึ่งทาง ENIGMA บอกว่า ไดรเวอร์ของเขาสั่งผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ได้เลือก OEM ไดรเวอร์มาโมดิฟายด์แบบลำโพงชั้นนำทั่วไป ความไวของลำโพงอยู่ที่ 85dB ที่อิมพีแดนซ์ปกติ 4 โอห์ม และผมเห็นสเปกที่น่าตกใจที่ไม่รู้พิมพ์ผิดรึเปล่า เพราะเขาบอกว่า อิมพีแดนซ์ต่ำสุดก็อยู่ที่ 4 โอห์มเช่นกัน แปลว่า ฃมันจะกินกระแสจากแอมป์ต่ำสุดที่โหลด 4 โอห์ม ดังนั้น แม้ว่าความไวระบุจะออกไปทางประสิทธิภาพต่ำและแนะนำกำลังขับแอมป์ที่ 50 – 200 วัตต์/ข้าง (แต่ที่ 4 โอห์ม) ก็น่าจะกล่าวได้ว่า ไม่น่าจะเลือกแอมป์อะไรมากมายนะครับ แอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์หรือแอมป์โซลิดสเตท 30 หรือ 50 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ก็ควรจะขับ ENIGMA Mythology M1 ได้อย่างสบายๆ เน้นแอมป์ที่จ่ายกระแสได้สูงและกำลังสำรองสูงนะครับ กำลังวัตต์ต่อเนื่องอาจจะเป็นความจำเป็นที่รองลงไป

SET UP

WJ ทำการประกอบขาตั้งกับแท่นวาง ซึ่งมาแยกคนละกล่อง น้ำหนักก็พอทำงานคนเดียวได้อยู่ครับ คุณภาพการฟิตอัพถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ฟินิชชิ่งสวยงามดูดี เนื่องจากมีการใช้กระจกเทมเปอร์มาประกอบด้วย หลังจากประกอบลำโพงเข้าที่เข้าทางแล้ว ผมวอร์มด้วยแอมป์ยักษ์ Constellation Centaur กำลังขับขนาด 250 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม ซึ่งเมื่อต่อกับโหลดของ ENIGMA Mythology M1 จะได้กำลังขับ 500 วัตต์สบายๆ ส่วนฟรอนต์เอ็นด์ผมใช้ Meridian Reference 818 V3 ใช้ดิจิทัลปรีแอมป์ในตัว ต่อสัญญาณบาลานซ์ออกไปที่แอมป์เลย (ในการฟังครั้งสุดท้ายแบบเป็นเรื่องเป็นราว ผมต้องบายพาส โดยให้ Meridian ปล่อยสัญญาณ FIX ไปที่ปรี Audiovalve Conductor อยู่ดี) การฟังด้วย Meridian ผมเลือกใช้แทร็กที่เป็น MQA ผ่าน Tidal, CD Standard และ Hi-res ของ Sooloos ครับ 

ระยะการจัดวางในห้องอยู่ที่ 1.83 เมตร วัดจากหน้าลำโพงถึงผนังหลัง และซ้ายขวาห่างกัน 1.81 เมตร Super Tweeter วางอยู่ล็อกที่สองของด้านบนของตู้ โดยไม่ใช้เกนด้านหลังช่วย ใช้ระยะถอยร่นในการจูนแทน ซึ่งด้านบนตู้ที่มีฟินิชชิ่งกระจกเทมเปอร์จะมีมาร์คเป็นขีดๆ เพื่อสะดวกในการจัดระยะ ที่ควรจะระวังเป็นพิเศษคือ ความลื่น เพราะบอดี้ของ Super Tweeter ก็เป็นคริสตัล ที่วางบนตู้ก็เป็นกระจก มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการทำตกได้พอสมควรเลย ห้องฟังที่มีเด็ก ต้องระวังครับ 

OVERTURE

เริ่มจาก Barb Jungr, Sunday Morning St. Denis ลโพง ENIGMA Mythology M1 ให้ timbre ที่แปลก พูดยังไงดี คือ มันให้ความรู้สึกของเสียงร้องสาวเต็มสเกลราวกับกลังขับด้วยมิดเรนจ์สองตัวแบบลโพงตั้งพื้น ผมไม่ได้พูดถึงการเทียบเคียงในเชิงไดนามิกส์นะ แต่มันให้ความ “เต็มเสียง” ของนักร้องที่โหนเสียงจากเบสตอนบนจนสุดเสียงชนิดสมบูรณ์แบบ ผมเข้าใจแล้วว่า เหตุใดเจ้า Super Tweeter ตัวนี้ถึงกวาดรางวัลมาทั่วโลก มันทหน้าที่ “เติมเต็ม” ฮาร์โมนิกส์ตั้งแต่มิดเรนจ์ขึ้นไปจรดเสียงสูงสุด ทให้ผมรู้สึกถึงความ “ละเมียด” ของลีลาการร้องของนักร้อง และการสีไวโอลิน และเปียโนที่หวานมาก และอินกับเพอร์ฟอร์มานซ์ของนักดนตรี โอ้ว! นี่ไม่อยากจะเชื่อว่าฟังจากลโพงสองทางวางขาตั้ง (I Love Paris) 

ในแทร็กโปรดของผม The Space In Between ผมรักเสียงเปียโนที่เล่นผ่านซิสเต็มนี้ มันให้ความมีชีวิตชีวา ร่าเริง และจังหวะการพรมนิ้วที่คุมโทนของเพลงได้ดีมากสำหรับเสียงกลาง โดยดับเบิ้ลเบสคุมจังหวะในเสียงเต็มที่ให้สเกลพอเหมาะ ส่วนเสียงไวโอลินทำหน้าที่ประสานกับนักร้องที่ขอพูดอีกครั้ง ว่าสีได้หวานมาก Resolution สูงมาก ไม่บีบอีดหรือเจิดจ้า หรือเน้นรายละเอียด มันกลืนซิสเต็มเอาไว้ และปลดปล่อยเสียงออกมาอย่างสบายหู ปลอดความเพี้ยนและราบเรียบ จนกระทั่งพลังงานเสียงจางหายไปกับมวลอากาศในห้องฟัง!!!

มาต่อกับ Florida Grand Opera, Bizet Carmen โดยที่ ENIGMA Mythology M1 จำลองความใหญ่โตของเวทีได้ดีครับ แม้การจัดวางลำโพงซ้ายขวาจะใกล้กันกว่าที่ผมฟัง เพื่อปรับความเข้มข้นอย่างที่ผมอยากได้ แต่การกระจายเสียงในด้านกว้างก็ทำได้หลุดตู้และแผ่ออกไปอย่างน่าพอใจ ไดนามิกส์ของเสียงกลางและการควบคุมสปีด แม่นและลงตัวในแบบที่ไม่ต้องเกร็งแบบเป๊ะ เปรียบได้กับ เมื่อเฟสของความถี่มันลงตัวแล้ว มันดูพอดิบพอดีไปหมด มีจังหวะเนิบนาบหรือฉับไวตามลีลาของบทประพันธ์เลยครับ ฟังสนุกมาก ยิ่งเปิดดังขึ้นไปอีกนี่ ผมไม่รู้สึกถึงความเครียดเลย กลับรู้สึกมันปลดปล่อยพลังออกมาดุจสายน้ำคือ มีพลัง แต่แฝงไปด้วยความนุ่มนวล คุณสมบัติด้านการถ่ายทอด timbre โดดเด่นเป็นพิเศษ ไม่กล่าวถึงไม่ได้ครับ ความ “เต็ม” ของฮาร์โมนิกส์ที่ถูก “เติม” เข้าไปของซูเปอร์ทวีตเตอร์ ทำให้ความ “เหมือน” ของต้นกำเนิดเสียงดนตรี ทำให้เราเหมือนฟังดนตรีสดมากกว่าการฟังเครื่องเสียง เสียงเด็กวิ่งเล่นมีชีวิตชีวามาก เทียบกับ Magico Q3 ของผม ไม่ได้ทิ้งห่างกันเป็นช่วงตัวเลยครับ ได้ฟิลลิ่งใกล้เคียงกันเลย

ช่วงนี้ผมค่อนข้างจะ Blue Blue กับเรื่องสาหัสที่ผ่านมามิใช่น้อย อยากจะลองของเจ้า ENIGMA Mythology M1 ซักหน่อยว่ามันเจ๋งจริงไหม ลองจัด Faith in Fate ของ Mary Black ครับ ดูจะกินใจขนาดไหน อัลบั้ม Stories from the steeples กินเวลาแค่สามนาทีกว่าๆ เท่านั้น มันจะแค่ไหนกันเชียว เอิ่ม! หลังจากผ่านไปไม่ถึงนาที ความซวยเริ่มมาเยือนแล้ว น้ำตาผมค่อยๆ ซึมจนเอ่อล้นจากในดวงตาร่วงออกมาหยดเผาะๆ ช่างไพเราะซาบซึ้งกรีดลึกบาดจิตใจเหลือเกิน เสียงเจ้าหล่อนและไวโอลินจะเชือดเฉือนหัวใจไปถึงไหน ดีนะที่เสียงเปียโนและกีตาร์ช่วยประคองต่อมติสท์ไม่ให้เตลิดไปมากกว่านี้ แต่สุดท้ายดันเอาเครื่องเป่ามาโหมแทนไวโอลิน ตอนที่ Mary ระเบิดอารมณ์ออกมาในช่วงพีคสุดของเพลง (เพลงนี้ดีเจได้ใจมาก ไม่มีปลอบโยน กะฆ่ากันให้ตายกันไปข้างเลย) ก็ดูเหมือนกับเจ้า M1 บรรลุวัตถุประสงค์อันแท้จริงอย่างครบถ้วนด้วยเวลาของแทร็กนี้เพียงสามนาทีกว่าๆ เท่านั้น ค่ำคืนนี้ M1 ทำให้ผมไม่สามารถจะพรรณนาด้วยการเขียนต่อไปได้แล้ว นอกจากการฟังเพลงต่อไปเพื่อเชียร์อัพในตอนรุ่งสางด้วยไวโอลินของสแตรทหรือกัวเนอรี่ซักสองสามชุด ขอประทานโทษที่ต้องเอวังด้วยประการฉะนี้ ผมขอส่งท้ายด้วยเนื้อเพลง Faith in Fate ที่ผมว่า ขออนุญาตไม่แปลครับ

Put the past away
Save it for a sunny day
Right now there’s nothing I can do
Except stare right back at you
Put the future aside
I’ll try my best to make it right
Right now it just seems so obscene
To picture you without me
And I hate how much we’ve cried
Our break was our greatest mistake
But if we try, I’ll do everything I can
To keep my faith in fate
Forget everyone else
I’ve tried to convince myself
That it was only time we lost
But I’m not as strong as I thought
Forget who we’ve been with
The thought just makes me sick
Forget our year apart,
This is where we are
But I hate how much we’ve cried
Our break was our greatest mistake
But if we try I’ll do everything I can
To keep my faith in fate
And though we’ve cried
Our break was our only mistake
I know we’ll try and I’ll do everything I can
To keep my faith in fate

เป็นอัลบั้มที่ผมชอบที่สุดของ Mary Black เรียบง่าย สวยงาม และจับใจมาก แนะนำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผม เพลงนี้เพลงเดียวก็มากเกินพอที่จะพรรณนางานคุณภาพในอัลบั้มนี้แล้ว

สรุป

ENIGMA Mythology M1 ให้ความรู้สึกถึงความ “เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ” เท่าที่ควรจะเป็น ไม่ต้องโชว์หรือเน้นอะไรออกมาโดดเด่นให้จดจำเป็นคาแรกเตอร์ หากแต่ในความเรียบง่ายนี่เอง ทำให้มีความน่าติดตามและฟังสบายหูมาก อีกทั้งเรายังสัมผัสถึง “เสียงลึกๆ“ ที่ซ่อนไว้ในเสียงหลักออกมาได้ชัดเจนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว (ที่ลำโพงส่วนใหญ่มักทำให้เรามัวแต่จดจ่ออยู่กับเสียงหลักหรือคาแรกเตอร์ของลำโพงที่เน้นออกมา) ผมว่ามันดีไซน์ยากนะครับ ยิ่งผลิตออกมาให้ได้แบบนี้ ยิ่งยากเข้าไปอีก มันเป็นลำโพงที่ถ่ายทอดวิญญาณของเสียงออกมาแบบไม่ยัดเยียดนำเสนอให้คุณหูผึ่ง คุณต้องนั่งฟัง แล้วคุณจะพบว่า ENIGMA Mythology M1 สามารถพาคุณไปในมิติที่เหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งทั่วไป นั่นคือ มิติแห่งการเสพอารมณ์และจินตนาการที่คุณแต่งแต้มลงไปในบทเพลงตามแบบของคุณ แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เอิ่ม! เกือบลืมทริคในการเซ็ตอัพ

มันเป็นลำโพงที่ถ่ายทอดวิญญาณของเสียงออกมาแบบ
ไม่ยัดเยียดนำเสนอ ให้คุณหูผึ่ง คุณต้อง นั่งฟัง

แล้วคุณจะพบว่าENIGMA Mythology M1 สามารถพาคุณไปในมิติที่เหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งทั่วไป

1. ENIGMA Mythology M1 ประกอบด้วยวัสดุหลายชนิดเพื่อเรโซแนนซ์จูนนิ่ง ผมพบว่า มันเป็นลำโพงที่อ่อนไหวกับสิ่งแวดล้อมพอสมควร นอกเหนือไปจากการแม็ตชิ่งแอมป์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้โหดร้ายมากนัก แต่การเซ็ตระยะให้กลืนกันของระบบก็ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะระยะจัดวางผนังหลังห้องและซูเปอร์ทวีตเตอร์ เซ็ตลงก็สวรรค์ละ ผมไม่แนะนำให้ไปปรับเกน ถ้าไม่มีปัญหาด้านระยะการจัดวางในห้องที่เลี่ยงไม่ได้ การปรับให้เสียงกลมกล่อม แนะนำให้ใช้หลักฟิสิกส์ คือ เลื่อนขยับไดรเวอร์เอาครับ

2. มันเป็นลำโพงที่ต้องเปิดดังซักหน่อย เข้าใจว่าจะต้องมีกระแสไปเลี้ยงซูเปอร์ทวีตเตอร์ในระดับหนึ่งจึงจะหวังผลเพื่อให้ได้ศักยภาพของไดรเวอร์จริงๆ ออกมา ดังนั้น แอมป์ครับแอมป์ ขอให้คุณภาพดีจ่ายกระแสสำรองได้ดี อย่าปล่อยไฟตรง (คลิป) ออกไปลำโพงเด็ดขาด ไม่งั้นน้ำตาเช็ดหัวเข่า

3. เป็นลำโพงที่ฟังเพลงแจ๊ส วอยซ์ และคลาสสิก ได้ดีเยี่ยม ซึ่งน่ายกย่องเมื่อเห็นลำโพงตัวแค่นี้ อย่างที่กล่าวไว้ว่า เมื่อมันต้องเปิดดังซักหน่อย ผมแนะนำให้เล่นกับห้องฟังใหญ่ซักหน่อย บวกซับวูฟเฟอร์ไปอีกหนึ่งตัวเป็น 2.1 ผมว่าจะเป็นซิสเต็มลำโพงวางขาตั้งที่น่ากลัวจริงๆ ครับ ลำโพงสัญชาติอเมริกันซึ่งผลิตในไต้หวันดินแดนแห่งเทคโนโลยีระดับโลกที่ผมคิดว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะคุณสามารถก้าวข้ามความเป็นลำโพงขับเสียงไปเป็นลำโพงขับร้องได้แล้ว. ADP

ราคา 650,000 บาท พร้อม Super tweeter + ขาตั้ง
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Kstudio โทร. 085-489-7606, 081-559-4812

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 268