ธรรมนูญ ประทีปจินดา

ผมเคยเชื่อฝังหัวมาตลอดว่า ลำโพงใหญ่อยู่ในห้องฟังเล็กเอาดียาก คือเอาดีได้ แต่ยาก และเท่าที่ผ่านๆ มาก็แทบไม่เคยพบห้องฟังเล็กที่ยัดลำโพงยักษ์ให้เสียงได้น่าประทับใจสักเท่าไหร่ แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ทุกเรื่องมักมีข้อยกเว้นเสมอ ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่นเดียวกับห้องฟังของ คุณอู๊ด – ธีรศักดิ์ สุดายุวร ที่เปิดให้สมองโล่งๆ ของผมได้ซึมซับประสบการณ์ที่น้อยครั้งนักจะได้พบพาน

ในห้องฟังขนาด 4 x 4 เมตร คุณอู๊ดอัดลำโพง Quintessence รุ่น Shadow V กับเพาเวอร์แอมป์ Karan รุ่น KA M650 Monoblock เต็มห้อง เหลือพื้นที่ให้นั่งฟังอยู่นิดเดียว ทว่าเมื่อเสียงเพลงดังขึ้น ภาพที่เห็นตรงหน้า คือ สนามเสียงที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ลำโพงขนาดน้องยักษ์นั้นได้อันตรธานหายไป เสียงเบสบูมล้น หรืออึดอัด ที่เป็นปัญหาพื้นฐานของห้องขนาดเล็ก ไม่มาทักทายผมแม้แต่น้อย สิ่งที่ได้ยินคือ เบสที่ลึกและแผ่ออกไปอย่างน่าฟัง 

ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมกล่าวชมนี้มีที่มาที่ไป เพราะกว่าที่คุณอู๊ดจะทำให้ซิสเต็มได้เสียงที่ดีแบบนี้ ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี ถ้าเป็นหนังจีนกำลังภายใน เห็นทีต้องบอกว่า “ความพยายามอยู่ที่คน ความสเร็จอยู่ที่ DPoLS” 555 

แบ็กกราวด์การเล่นเครื่องเสียง

ผมเริ่มเล่นเครื่องเสียง ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่ปี 2525 ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.3 แล้วเครื่องเสียงชุดแรกที่เล่นคือ Luxman เป็นปรี-เพาเวอร์ของ Luxman จำได้ว่าซื้อมาสามหมื่น ลำโพงที่ใช้เป็นลำโพงตู้สำเร็จของ Denon ตอนหลังเก็บเงินได้ก็เอาไปซื้อลำโพงดีๆ คู่แรก คือยี่ห้อ Legacy ซื้อที่ร้านอัษฎางค์ ออดิโอ ตอนนั้นยังไม่เป็น ไฮไฟทาวเวอร์ เครื่องเล่นซีดีเป็น NAD พอเล่นก็เริ่มชอบ 

ทำไมถึงซื้อเครื่องเสียงดีๆ มาฟังเพลง 

ชอบมาตั้งแต่เด็กครับ ตอนที่ผมอยู่ ม.1คุณพ่อซื้อเครื่องเสียงของ Denon เป็นสินค้าลดราคาของร้านเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง ผมได้ฟังก็ชอบ กลับจากเลิกเรียนก็มาฟังทุกวัน จนพออยู่ ม.3 ม.4ผมก็เริ่มเก็บเงินซื้อเครื่องเสียงเอง ตอนนั้นฟังกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์พอเก็บเงินซื้อก็ได้ Luxman กับเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์ Denon S810 ตัวท็อป 

สมัยนั้นฟังเพลงแนวไหน

ส่วนใหญ่เป็นเพลงสากลยุค ’70s – ’80s พวกวง Cupid อะไรพวกนี้ ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะใช้ฟังเพลงจีนกับเพลงญี่ปุ่น หลังจากนั้นพออยู่ ม.ปลาย ก็เริ่มอัพเกรดเครื่องเสียงเป็น NAD ตอนนั้น NAD ได้รางวัล คือผมก็ไม่รู้อะไรหรอก เราก็อ่านจากหนังสืออย่างเดียว หนังสือบอกว่าดี เราก็ซื้อ NAD เล่นไปได้สักพัก เริ่มมีงบฯ ละ หนึ่งแสนบาท อยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 ก็เริ่มซื้อเครื่องเสียงที่ดีขึ้น ตัวต่อมาจาก NAD ผมซื้อเครื่องเสียงไทย Magnet เป็นปรี-เพาเวอร์ของ Magnet เพาเวอร์แอมป์รุ่น A-400 ก็เริ่มพัฒนาไป พอเล่นถึงจุดๆ หนึ่ง ขึ้นปี 2 มีงบฯ อยู่สามแสนละ เริ่มอัพเกรด แล้วก็เริ่มเล่นสาย ตอนนั้นอัพขึ้นมาเป็นแอมป์หลอด เล่นเป็น BAT – Balanced Audio Technology ตอนนั้นเพิ่งเข้ามาเมืองไทยใหม่ๆยังไม่มีใครรู้จักเลย ก็ซื้อจากร้านอัษฎางค์นี่แหละแต่ตอนนั้นก็เล่นมั่วนะครับ ยังไม่มีแนวเลย เล่นอยู่คนเดียว ตอนนั้นในวงการไม่มีใครรู้จักกัน ก็เล่นจนถึงเรียนจบ ตอนเรียนจบได้ซื้อ ProAc Response 4 ตอนนั้นอยู่บ้านเก่า เพาเวอร์แอมป์เป็น Jeff Roland Model 6 ตอนหลังก็เปลี่ยนเป็น Model 8 ส่วนปรีแอมป์เป็น BAT รุ่น VK-5i และเครื่องเล่นซีดีอัพเกรดขึ้นมาเป็น Wadia ตอนนั้นรู้จักกับเฮียปัก ร้านไฮเทคออดิโอ ก็เล่นของเฮียปักมาตลอด จนเริ่มทำงาน และแต่งงาน ก็ย้าย ProAc Response 4 มาอยู่ห้องนี้ แต่มีปัญหาเรื่องเสียงเบส แก้ไม่ได้ เปลี่ยนแอมป์เป็น Pass Labs แล้ว ก็แก้ไม่หาย Jeff Roland Model 8 Model 6 ก็แก้ไม่หาย ตอนนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาละ ก็เริ่มมีก๊วน ก็ได้คุยกัน เพื่อนก็บอกเขาอยากเล่น Response 4 ก็เลยเปลี่ยนลำโพง แล้วก็ไปตระเวนหาลำโพง ผมไปดูทั้ง Avalon, Karma สุดท้ายมาได้เป็น Quintessence เพราะว่าเป็นลำโพงที่มีสเกลใหญ่ที่สุด แต่ก็กลัวนะ เพราะว่าใช้ไดรเวอร์เบส 8 นิ้ว กับ 10 นิ้ว เราก็กลัวจะมีปัญหาเรื่องห้อง แล้วพอเอามาก็มีปัญหาจริงๆ เบสก็จะอูม บวม ทำไงล่ะ คืออยากเล่นลำโพงใหญ่ ก็ไปหาอ่าน จนมาพบเรื่อง Dead Points of Live Sound 

ก่อนจะมาถึงจุดนี้ การเล่นเครื่องเสียงของคุณอู๊ดก็ยังเป็นการเล่นแบบเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ดีขึ้นๆ

ใช่ครับ ยังเล่นเครื่อง การเซ็ตอัพลำโพงยังไม่รู้เรื่องเลย แม็ตชิ่งก็ยังไม่รู้ หยิบสายหยิบอะไรเข้ามา เขาบอกว่าดี เราก็ว่าดี แต่ไม่รู้หรอกว่าแม็ตช์ไม่แม็ตช์ 

ช่วงไหนที่หันมาให้ความสำคัญกับการเซ็ตอัพลำโพงและแม็ตชิ่ง

ตอนที่ได้ลำโพง Quintessence คู่นี้ล่ะครับ พอลำโพงคู่นี้เข้ามาปั๊บก็เกิดปัญหาขึ้นทันทีว่า มันมีปัญหาเรื่องเบส ผมก็คิดว่าจะทำยังไง ทีนี้ก็เลยต้องไปความรู้เรื่องการเซ็ตอัพลำโพงและการแม็ตชิ่งอุปกรณ์ ประกอบกับเริ่มฟังเป็น ข้อดีของลำโพงตัวนี้คือ พอเราใส่อะไรเข้าไป ใส่สายเข้าไป หรือแค่ฐานรอง ก็บอกมาเลยว่า เสียงเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ก็เลยเริ่มได้รู้ เริ่มศึกษาจริงๆ จังๆ ไปอ่านเรื่อง Dead Points of Live Sound อ่านจนเริ่มเข้าใจแล้วว่า ในห้องๆ หนึ่งจะมีส่วนที่สำคัญกับเสียงอยู่ประมาณหนึ่งหรือสองจุด ศึกษาว่าถ้าแบบนี้เราจะทำยังไง แต่อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจจนเจอคนที่เซ็ตเก่งๆ อย่าง เฮียเม้ง เจอโก้ (IAV) เขาก็อธิบายให้เราฟัง แต่อธิบายยังไงก็ไม่รู้หรอกครับ เพราะพอเขาบอกว่าเสียงกลม เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันกลมยังไง จนต้องไปตามหาชุดๆ เพื่อฟัง แต่เชื่อไหมครับว่า 95% มันไม่ดีเลย มีอยู่แค่ 5% ที่ดีจริงๆ คือต้องไปขอเขาฟังถึงจะได้รู้ว่าเสียงเป็นยังไง แล้วเราก็เอามาเทียบกับเสียงดนตรีจริงๆ เพราะว่า ใน Dead Points of Live Sound ก็บอกเลยว่า บุคลิกเสียงนั้น ต้องหา timbre ของเครื่องดนตรีให้ได้ก่อน ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มเซ็ตละ ทำมาเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี 

แสดงว่าลำโพงคู่นี้กับห้องนี้เป็นครู

ใช่ครับ 

เพาเวอร์แอมป์ Karan ใช้ตั้งแต่แรก หรือว่าเพิ่งเปลี่ยนตอนหลัง 

ไม่ใช่ครับ ก่อนที่จะเป็น Karan เป็น KR62 แล้วมาเป็น Pass Labs เริ่มตั้งแต่ Aleph 0 จนมาถึง XA-350 ก็ยังไม่เวิร์กครับ จนสุดท้ายผมกำลังคิดว่าจะเปลี่ยน ก็เลยติดต่อกับทาง KS ขอยืม McIntosh 402 กับ 602 มาลอง และก็ยังติดต่อไปทาง IAV ตอนนั้นรู้จักโก้แล้ว ก็ขอยืม Karan 450 ที่เป็นสเตริโอ พอเอามาฟังปรากฏว่า มันคนละเรื่องกับสิ่งที่เราได้ยินมาทั้งหมด ไม่ใช่เสียงที่เราเคยคิด มันออกมาอีกแบบหนึ่งเลย ผมฟังปุ๊บรู้สึกว่ามีไดนามิก ส่วนที่ดีคือมีความนวลในตัวมันด้วย และคุมเบสอยู่หมัดเลย ปึ๊กเลย ก็ตัดสินใจเลือก Karan 450 พอเอามาใช้ก็รู้สึกว่า เสียงมันติดแข็งไปหน่อย อยากได้ที่นุ่มนวล โก้ก็บอกว่าต้องเล่นรุ่น 650 เสียงจะเนียนขึ้น พอดีมี 650 มือสองหลุดมาคู่หนึ่ง ผมก็เลยเอา 650 มา แล้วพอฟัง มันได้อย่างที่เราต้องการทั้งหมดเลย ตอนนี้เหลือแต่การเซ็ตอัพละ เราก็ค่อยๆ เซ็ตไป แล้วก็แม็ตชิ่งสาย 

ตอนที่ตัดสินใจมาซื้อคอนโดมิเนียม แล้วต้องใช้ห้องนี้เป็นห้องฟังเพลง เป็นห่วงเรื่องใดบ้างครับ ดูจากขนาดของห้อง และไม่ได้มีการปรับอะคูสติกส์ 

ตอนที่ได้ห้อง 4 x 4 เมตร อยากร้องไห้เลยครับ คือตัวเองชอบเล่นลำโพงใหญ่ แต่พอเจอห้อง 4 x 4 มันมีปัญหาเรื่องเรโซแนนซ์เบสแน่นอน แต่มันเลือกไม่ได้ครับ ผมถือคติว่ามีปัญหาก็แก้กันไป สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เหมือนกับคนอื่นตรงที่ว่า ห้องของผมจะไม่ทำเป็นห้องแล็บ ก็คือจะไม่ติดพวกอะคูสติกส์ซาวด์ หรือดิฟฟิวเซอร์อะไรเลย แต่เราจะเซ็ตยังไงให้ดีที่สุดออกมาสำหรับตามสภาพที่เป็นอยู่ 

พร้อมที่จะรับกับเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่ภายใต้สภาพห้องจะอำนวยโดยไม่ตัดสินใจทำอะคูสติกส์ให้ห้อง

ไม่คิดจะทำห้อง อยากให้เป็นแบบเดิม แล้วแนวคิดของผมคือ ครอบครัวมานั่งฟังได้ ไม่ใช่เป็นห้องที่เงียบกริบ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เซ็ตลำโพงไปเรื่อยๆ จนเจอจุดๆ หนึ่ง ผมใช้เวลาในการเซ็ตลำโพงคู่นี้จนออกมาได้ขนาดนี้ก็น่าจะประมาณสองปีกว่าๆ หาจุด Dead Points of Live Sound เนี่ยครับพอเจอตำแหน่งเบสจะกระแทกและ punching และอาการเบสบวมจะหายไปทันที ในห้องหนึ่งจะมีประมาณแค่สองจุด จุดหนึ่งจะอยู่ประมาณหนึ่งในสามของห้อง ตามที่ทฤษฎีการเซ็ตอัพลำโพงทั่วไปบอก มันอยู่แถวๆ นั้นแหละ แต่มันหายากเท่านั้นเอง แล้วที่สำคัญคือ มันต้องการการแม็ตชิ่งที่ถูกต้องฅมากๆ พอเราเจอสิ่งที่เราได้นี้ปุ๊บ มันยังไม่ใช่ optimum ที่เหลือคือการแม็ตชิ่งแล้วครับ เราก็ต้องหาสายมาจูน คราวนี้เราก็ได้ความรู้เรื่องสายอีก ทั้งสายนำสัญญาณสายลำโพง ก็รู้ว่ามีความสำคัญละ ตอนหลังจะเห็นได้ชัดเลยว่าสายดิจิทัลจะมีผลต่อเสียงค่อนข้างสูงมาก และตัวสุดท้ายที่ผมไม่คิดว่าจะมีผลต่อเสียงมากๆ คือ สายเอซี ซึ่งเปลี่ยนบุคลิกเครื่องได้เลย ตอนหลังก็เลยรู้เรื่องการแม็ตชิ่งสายเอซี ก็เลยมาจัดให้แม็ตช์จนลงตัวให้ออกมาเป็นเสียงแบบนี้ครับ 

ไม่ได้หมายความว่าพอได้จุด Dead Points of Live Sound แล้วจะไม่ต้องทำอะไรแล้ว

ใช่ครับ สิ่งแรกที่เราจะได้ Dead Points of Live Sound คือต้องปรับโทนเสียงของเครื่องเสียงของเราให้มีความถูกต้องก่อน สิ่งสำคัญเลยก็คือว่า สูง กลาง ต่ำจะต้องออกมาพอๆ กันก่อน ไม่ใช่แหลมมากเกินไป เบสมาเกินไป หรือกลางโด่งเกินไป พอเราได้ตรงนี้แล้ว เราถึงจะหาจุดที่เป็น Dead Points of Live Sound เจอได้ง่ายขึ้น

เท่ากับว่าอุปกรณ์ร่วมในซิสเต็มจะมีผลในเรื่องของโทนัลบาลานซ์ 

ถูกต้องครับ เพราะบางทีเอาบางชิ้นใส่เข้าไปก็จะแหลมเกิน อะไรอย่างนี้ ถ้าหากโทนถูกต้องแล้ว ที่เหลือเรามาเก็บรายละเอียด จากการที่ผมเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมด มันได้ข้อสรุปอยู่เรื่องหนึ่งว่า ก่อนที่คุณจะเซ็ตลำโพงให้ได้เสียงดี สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ เอาทุกอย่างขึ้นมาให้หมดก่อน เสียงเบสก็ต้องเอาขึ้นมาให้ได้ เสียงกลางและเสียงแหลมก็ต้องขึ้นมาให้ได้ ไดนามิกก็ต้องขึ้นมาให้ได้ พอทุกอย่างขึ้นมา แอมเบี้ยนต์ขึ้นมา แล้วเราค่อยมาจัดระเบียบมัน 

ถ้าเสียงใดเสียงหนึ่งไม่ออก แสดงว่ามันขาด

ถูกครับ คราวนี้เราก็ต้องไปหาจูนละ คือไปปรับสาย เพราะปรับเครื่องมันปรับยาก เราไปปรับสายก่อนจนมันได้ อาจจะได้ดีมาหน่อยหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่ดีที่สุด แต่เราก็ถือว่าโอเค ถ้าได้โทนออกมาแบบนี้ก็ยังพอที่จะปรับให้มันได้ 

เราต้องประเมินก่อนว่า ลำโพงคู่นี้กับแอมป์คู่นี้ มันต้องให้สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้ได้ ถ้าอะไรหายไปก็อาจจะเป็นส่วนที่ไม่แม็ตช์

ใช่ครับ เราก็ต้องตามหา 

การฟังในเรื่องของ timbre ยากแค่ไหนครับ

ยากครับ จุดนั้นเป็นเรื่องยากของการเซ็ตลำโพงละ timbre เป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำให้ได้ก่อน ตอนนั้นที่ผมฝึกก็ฝึกกับเสียงเปียโนตัวนี้ (Steinway & Sons Grand Piano) กดคีย์เปียโนแล้วก็เทียบฟังกับเสียงของซิสเต็มว่าต่างกันแค่ไหน คือเรารู้แหละว่าไม่มีทางเหมือนหรอก มันจำลองมาเฉยๆ แต่อย่างน้อยก็ให้มันคล้าย บุคลิกที่ผมจะเน้นย้ำอันแรกเลยก็คือ พอเปิดเครื่องเสียงแล้ว เสียงแกรนด์เปียโนก็ต้องเป็นแกรนด์เปียโน อัพไรท์เปียโนก็ต้องเป็นอัพไรท์เปียโน ไม่ใช่อัพไรท์ก็แยกไม่ออกว่าเป็นอัพไรท์หรือแกรนด์ คือฐานเบสของแกรนด์เปียโนก็ต้องมี แต่พอเวลาเป็นอัพไรท์ ฐานเบสมันก็ต้องไม่มี คือเราต้องปรับ timbre จนมันเจอ 

ตำแหน่ง Dead Points of Live Sound พอได้แล้ว ทุกอย่างจะเหมือนหายไปเลยใช่ไหมครับ หรือไดนามิกเวลาที่พีคก็ต้องพีคตามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่การพีคที่มีความเพี้ยนปะปน 

คือถ้าเกิดลำโพงสองตัววางได้สัมพันธ์กันปั๊บ ทุกเสียงจะให้บุคลิกที่เป็นธรรมชาติ เสียงที่แผดก็จะแผด เสียงของเบสที่ลงกระแทกก็เริ่มกระแทกละ แต่กว่าจะถึงจุดนี้มันต้องใช้ความอดทนสูง ทั้งการเซ็ตอัพและการแม็ตชิ่ง คือถ้าเราปรับแต่โทน เราจะได้ DPoLS แค่นี้ (ทำมือประกอบ) แต่ถ้าแม็ตช์ถูก เราจะได้แค่นี้ แต่ถ้าเราไฟน์จูนเป็น มันจะได้ optimum สูงขึ้นไปอีก และหลังจากที่ผมสรุปตรงนี้ได้ ก็เลยทำให้ผมไปสรุปอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ผมได้แผ่นซีดี XLO มา ผมก็ไปสรุปวิธีเซ็ตอัพลำโพงจากแผ่น XLO คือพอเราฟัง เราก็จับเลยว่า แผ่น XLO จะมีเสียงที่แตกต่างกันทั้งหมด 13 แทร็ก เอาตรงนั้นมาสรุปเป็นการเซ็ตลำโพง และได้ความรู้มาจากคุณโก้และเฮียเม้ง สองคนนี่แหละที่ให้ความรู้กับผมค่อนข้างเยอะ จนผมเอามาสรุปได้ว่า ถ้าเราค่อยๆ ทำเอาแผ่น XLO มาเซ็ตอัพลำโพง อย่างน้อยได้เสียงที่ดี 70% 

โดยที่ต้องยึด DPoLS 

ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะ DPoLS นี่จะยากขึ้นไปละ เพราะคนที่สามารถเข้าใจเรื่อง DPoLS ได้ คุณต้องเข้าใจเรื่องเสียงดนตรีธรรมชาติจริงๆ ก่อน ถ้าคุณไม่สามารถทำให้ชุดของคุณได้โทนแบบนั้น ยังไงก็หาไม่เจอ มันจะหาเจอยากมากครับ 

วิธีเซ็ตด้วยแผ่น XLO คิดขึ้นมาสำหรับเซ็ตลำโพงทั่วๆ ไป

ครับ จะง่ายลงมาละ มันได้อย่างน้อย 70% แผ่น XLO ตัวที่สำคัญคือสี่แทร็กหลัก แทร็กแรกจะเป็นลักษณะของ Mono in phase, แทร็กที่สอง Mono out of phase, แทร็กที่สามจะเป็น Stereo in phase และแทร็กที่สี่จะเป็น Stereo out of phase เอาทั้งสี่แทร็กมารวมกันเพื่อที่จะสร้างการเซ็ตอัพขึ้นมา เป็นหลักการที่เป็นไปได้จริงๆ 

ใช้ได้กับทุกห้อง ไม่ว่าจะเป็นห้องที่ปรับอะคูสติกส์ หรือไม่ปรับอะคูสติกส์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

คือมันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลำโพงทั้งสองข้างให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของห้อง มีแผ่นซีดีหลายแผ่นที่ผมเคยคิดว่าบันทึกเสียงไม่ดี แต่พอเราเซ็ตถูกหมดแล้ว เอามาฟังใหม่ กลายเป็นว่าเขาอัดมาดีนะ แต่มันไปไม่ถึง อย่างแผ่นแกรมมี่ ก่อนหน้านี้ผมดูถูกเขามากเลยนะ ว่าเสียงไม่ได้เรื่องเลย เดี๋ยวนี้พอมาฟัง ผมว่าก็อัดใช้ได้นะ แต่ว่าไม่ถึงขั้นดีเท่ากับแผ่นที่อัดมาดีๆ 

ตรงการแม็ตชิ่งมีหลักการอย่างไรครับ จุดไหนจะสังเกตได้ว่าลงตัวแล้ว

ก่อนที่เราจะแม็ตชิ่งให้ถูก เราต้องฟังโทนให้ออกก่อน พอเราฟังโทนออก ถึงจะรู้ว่าแบบนี้คือถูกหรือไม่ถูก สูง-กลาง-ต่ำต้องมาพอๆ กัน แล้วต้องมีเนื้อเหมือนเครื่องดนตรีจริงๆ อย่างเช่น ถ้าเป็นเครื่องดนตรี “จะเข้” มันต้องมีความอิ่ม และมีแรงดีดตัวของตัวจะเข้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าฟังจะเข้แล้วกลายเป็นขิมติ๊งๆ ๆ ๆ ไม่ใช่ละ นั่นผิดโทน 

เราไม่สามารถใช้รสนิยมส่วนตัวมาประเมินค่าได้ ต้องอิงจากของจริง

ใช่ครับ ต้องอ้างอิงจากของจริง เราต้องฟังออกจริงๆ ว่า เสียงธรรมชาติของกีตาร์คลาสสิกควรจะเป็นแบบไหน เสียงเปียโนควรเป็นแบบไหน แล้วเราจับโทนตรงนี้ ผมจำคำของคุณโก้ที่สอนผมครั้งแรก “พี่อู๊ดต้องแยกให้ออกระหว่างการเคาะบนไม้กับการเคาะบนโลหะ เสียงจะต้องแยกได้ชัดเจนว่าไม่เหมือนกัน” ผมก็เอาจากนั้นตรงนั้นมาฝึก เพราะว่าชุดเครื่องเสียงหลายชุดเลยนะครับ หรือ 90% แยกไม่ออกครับ ถ้า Xylophone ตี แล้วเจอโปงลางตี เขาก็จะคิดว่าโปงลางก็เป็น Xylophone ด้วยเหมือนกัน แทร็กที่มีเครื่องดนตรีทั้งสองประเภทเลยคือ Jazz Variants ซึ่งจะมีเพอร์คัสชั่นที่ทำด้วยไม้ และเพอร์คัสชั่นที่ทำด้วยโลหะ แล้วเขาจะตีส่งกัน ถ้าเราเปิดแทร็กนี้ และเราแยกได้อย่างชัดเจนว่าอันนี้คือไม้ อันนี้คือโลหะ ก็ถือว่าสำเร็จในขั้นหนึ่งแล้ว 

หลักการของเครื่องเสียง คือ… เสียงทุ้มจะอยู่ข้างล่างเสมอ เรียกว่าทุ้มต้องลงพื้น และกลางแหลมจะต้องอยู่ข้างบน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ จริงๆ แล้ว เราเซ็ตให้ทุ้มอยู่ข้างในต่างหาก เสียงทุ้มจะอยู่ด้านหลัง และเสียงหลางแหลมจะอยู่ข้างหน้า พอเราฟังด้วยลักษณะของสเตริโอโฟนิก มันจะเกิดลักษณะที่ว่าทุ้มอยู่ข้างล่าง และกลางแหลมอยู่ข้างบน ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้ทุ้มดังแค่ไหนก็จะไม่กวนกลางแหลมเลย เหมือนกับเมื่อกี้ที่ฟังชุดของผมที่ฟังดนตรีทุกรายละเอียดออกหมดเลย ว่าตรงไหนอยู่ตรงไหน ถ้าทุ้มอยู่ในระดับเดียวกับกลางแหลม มันจะตีกวนกลางแหลมทั้งหมดเลย 

เรื่องเกนมีส่วนเกี่ยวข้องไหมครับ

ถ้าเป็นแอมป์ตัวเดียว ไม่เกี่ยวแล้วครับ แต่ถ้าเกิดไม่แม็ตช์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่า เกนของปรีกับเพาเวอร์แอมป์ไม่สัมพันธ์กัน หรืออิมพีแดนซ์เอาต์พุตของเครื่องเล่นซีดีกับอิมพีแดนซ์อินพุตของปรีแอมป์ไม่สัมพันธ์กัน ตรงนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ กรณีนั้นจะไม่เกิดอาการเสียงในลักษณะที่ว่าเบสนำหน้าหรือแหลมนำหน้า แต่เสียงจะไม่มีแรง หรือเสียงกระด้าง หรือแหลมไม่ออก อันนี้เป็นเรื่องของเกน เป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเซ็ตอัพที่ผิด ส่วนมากเลยก็คือ กลางแหลมจะถูกเบสกวน หรือเบสไม่มีเลย 

สเต็ปต่อไปทำยังไงครับ

ต่อไปก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้เสียงเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมใหญ่ พอเป็นภาพสี่เหลี่ยมแล้ว เราก็ต้องฟังด้วยว่า ซ้าย-ขวา-กลาง น้ำหนักพอๆ กันไหม เหมือนกับการแรเงาภาพจะต้องได้น้ำหนักเสียงที่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ว่าซ้ายดังกว่า หรือขวาดังกว่า หรือตรงกลางดังกว่า แต่เสียงต้องเป็นระนาบตรง และดังพอๆ กันหมดเลย เสียงเกิดจากลำโพงสองจุดใช่ไหมครับ มีลักษณะออกมาเป็นรัศมีครึ่งวงกลม เราจะทำยังไงก็ได้ให้ครึ่งวงกลมนี้เกิดเป็นภาพสี่เหลี่ยมตรงๆ เหมือนจอหนัง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต้องไปตกที่หลังลำโพง ห้ามเกิดที่ลำโพง อาจจะเกิดที่ลำโพงได้มีเรื่องเดียวคือ เป็นการอัดโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างเสียง แล้วจะทำให้เสียงเกาะอยู่ที่ลำโพง อันนั้นแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการอัดแบบสมัยก่อนที่ใช้ไมโครโฟนตั้งข้างหน้า เสียงทั้งหมดต้องไปอยู่หลังลำโพง เพราะลำโพงก็เหมือนเป็นการรีโปรดิวซ์ของตัวไมโครโฟน เสียงจะไปอยู่ข้างหลัง แล้วพอเสียงไปอยู่ข้างหลัง ถ้าห้องเราลึก มันก็ลึกเข้าไปเรื่อยๆ แต่ว่าจะลึกถึงจุดๆ หนึ่ง เราก็ถือว่ามันสุดละ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำผิด ไม่สามารถจะทำขึ้นภาพสี่เหลี่ยมได้ ยังไงก็ไม่มีความลึก ก็จะเห็นเสียงดนตรีอยู่ตรงนี้ๆ เต็มไปหมดแต่ว่าตำแหน่งจะไม่นิ่ง 

ทั้งหมดนี้เกิดจากการเซ็ตอัพลำโพง

ใช่ครับ มาจากการเซ็ตอัพอย่างเดียว ต่อให้คุณจูนสายตรง แม็ตชิ่งตรง ก็ไม่เกิดครับ ต้องเซ็ตอัพเท่านั้น เซ็ตอัพลำโพงลงตัว มันจะได้หมดเลย สิ่งที่เซ็ตอัพครั้งแรก เริ่มต้นจากเรื่องของเบส หาจุดที่เบสบูมที่สุดในห้องให้ได้ แล้วทำให้ลดลง จะขึ้นหน้าก็ได้ ถอยหลังก็ได้ ทำให้เบส punch ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เบสหายไปอีก จากนั้นก็กลับมาในจุดที่ดีที่สุด แล้วยึดตรงนั้นเป็นเกณฑ์ ให้เซ็ตที่เบสให้ punch ก่อน เพราะว่าเบสถ้าเราขยับหน้าลำโพงแล้วจะเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ากลางแหลม พอได้เบสแล้วถึงจะเซ็ต toe-in หรือ toe-out หรือ บีบเข้า-บีบออก เพื่อที่จะสร้างเสียงแหลมกับเบสให้ตกข้างใน 

ถ้าได้ตำแหน่งที่เบสดีแล้วจะไม่ขยับลำโพงอีกต่อไป

อาจจะขยับน้อยมาก จะเป็นการขยับในแนวระนาบครับ จะไม่มีการเดินเข้าเดินออก 

ไม่มีทางเรียนลัด 

ไม่มีครับ เพราะมันเกิดจากการฟัง ต้องขึ้นบันไดอย่างเดียวครับ ไม่มีการขึ้นลิฟต์ 

เปลี่ยนเครื่องก็ไม่ได้ช่วย

ใช่ครับ เพราะถ้าเกิดห้องฟังของคุณมีปัญหา สมมติเบสที่ 80Hz มันโด่ง แล้วคุณแก้ไม่เป็น คุณจะเปลี่ยนกี่เครื่องมันก็โด่ง เว้นแต่คุณโชคดีไปเจอเครื่องนั้นไม่มีเบสตรงนี้พอดี มันก็ดรอป แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเครื่องจะไม่ค่อยมี แต่ถ้าเป็นลำโพงน่ะใช่ ถ้าเราเปลี่ยนลำโพงปั๊บ จุดดรอปของเบสเปลี่ยนทันทีครับ

ไม่ว่าจะเป็นลำโพงตั้งพื้น หรือวางขาตั้ง ก็สามารถทำให้ได้เสียงดีเหมือนกัน

ใช่ครับ ทำได้หมดครับ ลำโพงทั้งหมดเราสามารถทำได้ คุณได้เวทีเสียงแน่นอน คุณได้ความกว้าง ความลึก และได้โฟกัสที่เป็นตำแหน่งเหมือนกับเปิดสปอตไลต์ อยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็ฉายออกมา ฉายออกมา ทำได้หมดครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 232