ธรรมนูญ ประทีปจินดา

ความสุขที่สัมผัสได้ด้วยประสาทหู นำมาซึ่งวิถีไฮไฟของนักเล่นเครื่องเสียงนั้น มีความหลากหลายชวนติดตามเสมอ เรื่องราวในคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE แต่ละตอน จึงเป็นมักเป็นหัวข้อสนทนาในหมู่สมาชิกได้ไม่รู้จบ แถมยังมีหลากหลายอารมณ์ทั้งอึ้ง ทึ่ง เสียว ครบครัน เป็นบทเรียนให้กับนักเล่นท่านอื่นได้ศึกษาอีกด้วย 

สำหรับเรื่องเล่าจากห้องฟังฉบับเดือนเมษายน 2559 นี้ เป็นประสบการณ์บนวิถีไฮไฟของ “คุณเม่น” สถาปนิก นักธุรกิจหนุ่ม เจ้าของห้องฟังที่ขออนุญาตไม่แสดงตัวในที่นี้ นับเป็นหนึ่งในห้องฟังที่ขอบอกว่ามีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บางทีอาจทำให้นักเล่นเครื่องเสียงฉุกคิดขึ้นมาว่า เดินอ้อมไกลไปหรือเปล่า… 

จั่วหัวเช่นนี้ก็เพื่อให้ทราบกันว่า สุดยอดลำโพงฮอร์นของญี่ปุ่นGIP Laboratory 5006 คู่แรกของเมืองไทยอยู่ที่นี่… ส่วนผู้อ่านที่ยังไม่ทราบว่า GIP Laboratory แบรนด์นี้มีอะไรดี มีที่มาจากไหน ต้องติดตามอ่านบทความ Exclusive Interview: Mr. Shinichi Suzuki, CEO & President G.I.P Laboratory ในตอนท้ายของคอลัมน์นะครับ

ตัวตน

คนในแวดวงธุรกิจวัยเดียวกันกับผม พวกเขาชอบเล่นรถ เล่นปืน เล่นกอล์ฟ หรือนักสะสม เขามีเรื่องอื่นสนใจเยอะ ทว่าผมกลับชอบเครื่องเสียง แต่มีไว้เพื่อเล่น เพื่อฟัง มิใช่สะสม เพราะมองว่าเครื่องเสียงเป็นเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดงานศิลปะได้ ผมเป็นสถาปนิกก็ชอบงานศิลปะเป็นทุนอยู่แล้ว จึงเน้นการจัดวางด้วย เครื่องเสียงนั้นมีความสวยในตัวของมันอยู่แล้ว โดยเฉพาะแนววินเทจ มีเสน่ห์น่าหลงใหลในตัว แต่อย่างไรผมก็ยังรักความเป็นระเบียบ สวยงาม มีสไตล์อยู่ดี

DIY ปฐมบทของคำว่าเครื่องเสียง

สมัยยังเรียนมัธยมก็เล่นเครื่องเสียง ชอบฟังเพลงตั้งแต่เล็กหลังเรียนจบมีงานทำก็เล่นลำโพง B&W เล่นไปสักพักก็หันมาสนใจเล่นแนว DIYกับเพื่อนในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งราวสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ก็ชอบแอมป์หลอด ก็หาวงจรในอินเทอร์เน็ตมาต่อเล่นกันเองแบบมั่วๆ พอยากขึ้นก็ต้องถึงมือพี่ต๋อง (คุณยรรยงค์) แกเล่น DIY แนววินเทจระดับต้นๆ ช่วยจัดการให้ ตอนนั้นเล่น DIY ก็เล่นลำโพงเก่าๆ อย่าง JPW ตอนนั้นยังเล่นซีดีอยู่ ยอมรับว่าทำให้ได้ดียากมาก ตอนที่เล่น DIY ถ้าถามว่าเล่นวงจรสุดๆ ก็เห็นจะเป็นวงจรของเพื่อน เป็นของ LAMM นี่ล่ะ จัดหาอุปกรณ์จนครบ ถึงตอนประกอบ ผมกับเพื่อนขึ้น Case กันเอง แต่พอประกอบต้องยกให้พี่ต๋องจัดการ พวกทรานสฟอร์เมอร์ก็สั่งทำ ก็ได้ประมาณหนึ่ง ผมคงไม่ถึงขั้นแบบพี่ๆ เขาหรอก ผมแค่เล่นเงียบๆ กับเพื่อนผม เล่นอยู่ราวสามสี่ปีเท่านั้น ตอนนี้ก็ยังเก็บไว้อยู่บ้าง เช่น แอมป์ Single End ส่วนใหญ่เก็บเป็นขยะอยู่ที่บ้านเพื่อนของผม

หันหัวสู่เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ 

จะเพราะติดลำโพงก็ไม่ทราบ แอมป์ DIY Single End แรงมันน้อย มันขับ B&W ไม่ออก ก็เริ่มเล่นลำโพงไฮเอ็นด์ Avalon รุ่นเล็ก เป็นมือสองจากร้าน Boeing แอมป์ Pass Labs ตอนนี้แรงดีแน่นอน ปรีจาก KS เป็นมือหนึ่ง ตอนนั้นเล่นอยู่ที่ บ้านในเมือง ห้องสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร ยอมรับว่าไม่มีความรู้อะไรเลย ว่าขนาด ห้อง การแม็ตชิ่ง หรือว่าสาย มีความสำคัญเพียงไร ยังไม่เชื่อว่าสายจะแพงขนาดนั้น 

เล่นแอมป์ Pass Labs 350 กับปรี Audio Research (AR) LS เล่นจนได้ยินเสียงแปลกๆ เวลาปิดเปิดออกลำโพง ก็เลยรู้สึกรำคาญ ตอนนั้นบังเอิญ ไปคุยกับพี่สมชาย ไปเอา Wilson Audio: Sofia 3 มา เรายังคิดถึงแอมป์หลอดอยู่ ก็เลยไปเอาเพาเวอร์แอมป์ VTL มาจับคู่กับปรี AR ตัวเดิม ความจริงมันไม่แม็ตช์หรอก แต่เราซื้อใหม่มา ถ้าเทรดจะขาดทุนเยอะ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จริงนักหรอก แต่พอใช้ไป สักพักก็พอทราบว่าไม่แม็ตช์จริง จะเป็นเพราะว่าเราข้ามขั้นไปมั้ง 

พอเริ่มเรียนรู้ว่าการแม็ตชิ่งมีความสำคัญ ต่อมาจึงเปลี่ยนปรี-เพาเวอร์ เป็น Pass Labs 350.5 ซื้อใหม่ + AR Reference 5SE มือสอง ตามสูตรที่เขาเล่นกัน แล้วก็เริ่มแม็ตชิ่งสาย ตอนนั้นเริ่มรู้จักคุณบอล ใช้สาย MIT Magnum ยังเคยลองสาย Odin ของพี่โป๋เลย อยากรู้ว่าสายดีๆ มันเป็นยังไง ต้องยอมรับว่ามันเยี่ยมจริงๆ แต่ก็เพื่อรู้ เพราะความจริงห้องมันไม่ได้อยู่แล้ว พี่สมชายมาตั้งให้เท่าที่ พอไปได้ ระหว่างนั้นก็เอา Magico V2 และ V3 มาเล่นด้วย ประมาณว่าลำโพงเต็มห้องเลย ห้องแค่นั้น ยกเข้า ยกออก สนุกเลย แม่ตาเขียวเลย …จะยกไปไหน …ถี่เกิ๊น ต้องบอกว่าของราคาสองสามแสน เปลี่ยนมือง่าย เล่นมันสนุกเลย เทรดก็ไม่เจ็บมาก 

ได้ห้องฟังในฝัน 

เมื่อจะต้องย้ายบ้าน วางแผนว่าจะมีห้องที่ไปถึง Wilson ตัวใหญ่ให้ได้ พอมาดูบ้านที่นี่ ผมมาเล็งก่อนเลย แม้แต่บ้านใหญ่ที่สุดของโครงการก็ยังไม่ได้ขนาดห้องที่ต้องการ ก็เลยขยายออกไปทางเฉลียงหน้าบ้านที่เราไม่ได้ใช้ ความจริงไปได้อีก แต่จะทำให้รูปลักษณ์ภายนอกเสียไป จึงได้ขนาดเท่านี้ คือให้ได้ 4.1 x 6 x 2.75 เมตรพอดี ได้ห้องในฝันกันล่ะคราวนี้ 

ถึง… ทงสองแพ่ง 

ระหว่างทำบ้านก็เล่นไปเรื่อย เอา Magnepanมาเล่นไปเรื่อย จนบ้านเสร็จก็เอา Wilson Max 3 มา ผมว่าMAX มันฟ้องอุปกรณ์ที่ใช้กับมัน หรือว่าหูมันจับผิด 

ตอนนั้นผมขายแอมป์ชุดเดิมไป ไปเอา 200.5 ปรียังไม่ค่อยลงตัว หาปรีอยู่หลายตัว จนไปจอง Ref 10 ระหว่างที่รอของก็ได้เอาตัวเดโมมาเล่น ผมว่ามันไม่ใช่ ผมกลับไม่ชอบ ระหว่างนั้นก็เล่นลำโพงวินเทจ Altec A5 ด้วย ตั้งอยู่ห้องข้างล่างนี้ แหละ ผมกลับชอบ A5 มากกว่า …ซะงั้น แอมป์ก็โบราณ ไม่มีความเสถียรเลย แต่ มันก็มีเสน่ห์ของมัน เล่นคู่กันไป ปรากฏว่าผมกลับใช้เวลาอยู่กับชุดวินเทจมากกว่า ตอนนั้นไฮเอ็นด์ก็ยังไม่ลงตัว เอาสาย MIT Oracle มาลงอีก พอดีไปเจอญาติเพื่อน พี่ฟร้อง เป็นรุ่นพี่โรงเรียนด้วย แกเล่นหนัก ไปเยี่ยมห้องแก แกเล่น MAX 3, DartZeel, Accuphase ก็บอกว่า DartZeel มันดีมาก แต่แพงมาก ต้องยอมรับว่าเนื้อเสียงดีมาก ก็เลยไปเอา DartZeel อินทิเกรตแอมป์มาเล่นก่อน เล่นกับ AR CD-9 ซื้อตัวแรกๆ เล่นอยู่สักพัก ไม่ถึงปีด้วยซ้ำ รู้สึกว่าไม่ชอบ ไปเอา dCS Puccini มา ดุลก็ดีขึ้นนะ ความจริงลึกๆ ผมชอบเสียงอะนาล็อก ผมไม่ต้องการความชัด หรือความสมบูรณ์มากนัก มันขาดเสน่ห์ไป 

ระหว่างนั้นก็ศึกษาแอมป์หลอด Single End กับลำโพงตัวเล็กที่ใช้ Field Coil ของ Shindo ทั้งชุดรวมสายด้วย อยากรู้ว่าชอบไหม ผมว่ ามันเป็นงานอาร์ตนะ จริงๆ ผมใช้เวลากับห้องนี้มากกว่า จะเป็นเพราะเราเป็นดีไซเนอร์ เราชอบงานอาร์ต จึงเน้น บรรยากาศ เน้นดุลน้ำเสียง ไม่รู้ว่าจะต้องการความสมบูรณ์สุดๆ ไปเพื่ออะไร อย่าง ไฮเอ็นด์ เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนสาย กันจนงงไปหมด สิ่งที่คล้ายกันก็คือ ความจะแจ้ง ฟังมัน สนุก ออกมาเป็นตัว แต่เรียกว่าถมไม่เต็มสักที ฟังไปสักพักก็ว่าไม่ใช่แล้ว สรุป แล้วไม่ถึงปี มันยังห่างกับที่อยากได้อยู่เยอะ

ความจริงลึกๆ ผมชอบเสียงอะนาล็อก ผมไม่ต้องการความชัด หรือความสมบูรณ์ มากนัก มันขาดเสน่ห์ไป 

จุดเปลี่ยนสู่ G.I.P วินเทจยุคใหม่ใน พ.ศ. นี้ 

เมื่อเราเล่นวินเทจ A5 แล้วก็ JBL Olympus, Shindo แล้วรู้เลยว่าใช่ ทีนี้จะเลือก อะไรล่ะ มีตัวเลือกไม่มาก จริงๆ แล้วแบรนด์อื่นไม่เคยสนใจเลย ต้อง Western Electric เท่านั้น 

อย่างที่คนเล่นวินเทจที่เขาเล่นกัน จะทราบกันว่าไดรเวอร์ในอุดมคติที่อยากไป ถึงต้อง Western Electric เพราะมันคือรากเหง้าของลำโพงที่ดีที่สุด เราฟังจากรุ่นพี่ อย่างพี่ต๋องนี่แหละ อ่านเรื่องราวตำนานของ WE บนอินเทอร์เน็ต ด้วยหลักการที่เขาทำ สร้างสนามแม่เหล็กในอุดมคติขึ้นมาที่เรียกว่า Field Coil ที่เที่ยงตรง ซึ่ง ณ ตอนนั้น แม่เหล็กถาวรยังทำไม่ได้ ยังไม่มี แล้ว WE มันกลายเป็นตำนาน ถ้าจะเล่นแบบสมบูรณ์ มันหาไม่ได้แล้ว เพราะว่าถึงได้มา สองตัวเสียงก็ไม่เท่ากัน เว้นแต่ว่าเราฟังแบบโมโน

ความจริงรู้จัก G.I.P ก่อนเล่นไฮเอ็นด์ด้วยซ้ำ ทราบว่ามันคือ WE ที่มาทำใหม่ เพื่อใช้ในวันนี้ แต่เห็นราคานี่ บ้าแล้ว ก็เลยไม่ได้สนใจนัก จนมาถึงวันที่เราพร้อม 

สู่ G.I.P Laboratory 

เมื่อจะต้องหันหัวสู่วินเทจทั้งที ลำโพงคู่ที่จะมาต้องมีความเป็นวินเทจอย่างที่ชอบ สองต้องฮอร์น มีบรรยากาศ มีความเป็นไฮเอ็นด์ ที่ต้องเป็น G.I.P เท่านั้น เพราะเป็น WE ที่ทำเพื่อวันนี้ ซึ่งค้นพบว่า เขาขายอุปกรณ์แยกทุกชนิด ตั้งแต่ฮอร์นไดรเวอร ์ ทวีตเตอร์ ครอสโอเวอร์ ตัวตู้ ผมต้องการตู้ของเขาด้วย เพราะเชื่อว่าปริมาตรตู้ต้อง ออริจินัลเท่านั้น ที่เขาเล่นกัน ได้แบบมาก็จริงแต่องศาผิดไปนิดก็ยุ่งแล้ว หรือวัสดุก็ ไม่ใช่ มีประสบการณ์กับ A5 ยังไม่ได้เลย จริงอยู่แม้เราจะได้สัดส่วนมาก็จริง แต่วัสดุ แน่ใจว่าถูกต้องแล้วเหรอ นี่เขาได้ License มี Drawing แท้ๆ เลย เอามาพัฒนา ออกแบบและทดสอบมาอย่างดี เขาจูนมาอย่างดี ผมเชื่ออย่างนั้นนะ แถมมีผลิตภัณฑ์ ให้เลือกเล่นหลายขนาด หลายโมเดล เป็นแบบ Complete set จบได้เลย เป็นลำโพง ความไวสูง ราคารับได้ ใช้แอมป์วัตต์ต่ำๆ แถมสวยด้วย 

ทำไมต้องเป็นรุ่น 5006 

เนื่องจาก G.I.P ทำลำโพงออกมาสองฟาก คือ Vintage Series กับ Hi-End Series ที่ต้องเลือก Vintage Series G.I.P 5006 ก็เพราะผมต้องการ Pure WE ไงครับ ปราศจากการปรุงแต่งไดรเวอร์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจริงๆ Vintage Series มีหลายรุ่น เมื่อเรามีขนาดห้องแล้วก็ปรึกษากับทาง G.I.P เขาก็ระบุว่ารุ่นที่เหมาะสมต้องตัวนี้ เพราะ เป็ นรุ่นดัง ขายดี เล่ นได้ตั้ งแต่ ห้ องเล็ ก3.5 x 3.5 เมตรขึ้ นไป ความจริงมีตัวเลือกอยู่สองสามรุ่น คือ รุ่นเล็กกว่านี้เป็นซีรี่ส์ 7 อีกรุ่นใหญ่กว่านี้คือ 5005 ตู้ใหญ่กว่านี้ แถมแพงมาก ก็เลยมาจบที่ตัวนี้ การเข้าไม้ประณีตมาก สั่งอยู่ราวสามเดือนถึงจะได้ของ จริงๆ ก็เพิ่งทราบว่าคุณบอลขายอยู่ก็เลยให้แกสั่งให้ นี่ถ้าใครมีห้องที่ได้สัดส่วน งบประมาณถึง ต้องเล่น 12a ก็คงสุดๆ เลย 

ความจริงตอนแรกอยากได้ปากฮอร์นเป็นโลหะ แต่เขาแนะนำเป็นไม้แบบนี้ ซึ่งต้องเล่นดูก่อน ทีหลังอยากเปลี่ยนค่อยสั่งมาเปลี่ยน เพิ่งใช้ได้ราวสี่เดือนกว่าๆ เอง ยังไปได้อีก 

Vintage & Audiophile 

ความที่ผมทำงานดีไซน์ เห็นในรูปก็พอจินตนาการออกว่าจะเป็นอย่างไร ความจริงน่าจะดิบกว่านี้ เนี้ยบ แต่ไม่ถึง Luxury นัก เมื่อเทียบกับ VOX Olympion เขาต้องทำตัวตู้ให้เข้ากับสไตล์ของไดรเวอร์ที่ดิบแบบโบราณเลย ช่วงแรกก็เอา Shindo, Carry Audio มาต่อ ยังไม่ลงตัวเลย เท่าที่ทราบ แรกๆ ก็มีคนปาดเหงื่อ… ฮา จริงๆ แล้วผมต้องการให้มันอยู่กลางๆ ระหว่างวินเทจกับออดิโอไฟล์ ให้มีกลิ่นอายมันอยู่ บ้าง เพราะยังไม่ถึงกับวินเทจแบบโบราณฟังแผ่นโมโน หาแผ่นยากครับ ยังฟังเพลง Diana Krall ได้อยู่ 

Matching 

พอได้ลำโพงคู่นี้มา มันเป็นลำโพงแบบ Complete set เขาตั้งค่าจูนเสียงมาด้วย ฝีมือของ Mr. Susuki เองเลย เราแทบไม่ต้องทำอะไร เขามีคู่มือมาให้เราปรับ ความดัง ตั้งระยะของไดรเวอร์แต่ละตัว เป็นการปรับ Time Alignment ซึ่งลำโพงอย่าง Wilson ก็มี ถือว่าไม่ยากนัก เหลือเพียง Matching ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักเล่น เครื่องเสียงต้องเข้าใจได้อยู่แล้ว คิดว่ามีตัวเล่นไม่กี่ตัว แต่สำหรับผมจะเล่นวินเทจ เหมือนต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่หมดเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยมีความรู้มาก่อนกับ ไดรเวอร์ แบบนี้ ผมว่าแอมป์ไฮเอ็นด์ในยุคนี้ น่าจะใช้ไม่ได้กับลำโพง G.I.P 5006 คู่นี้ แอมป์กว่าจะลงตัวมาที่ Leak ก็ใช้เวลาพอควร เหลือแต่สายนิดหน่อย ตอนนี้ผสม กัน Shindo, Mogami, Belden ซึ่งต้องปรับจูนอีกนิดหน่อย 

ของใหม่แน่นอนว่ามันเสถียรอยู่แล้ว อย่าง Olympus ก็เพื่อเป็นตัวอ้างอิง ไม่ ต้องเทียบกับ Altec ทุกรุ่น คนละเรื่องเลย มันคนละดิวิชั่นกันเลยครับ G.I.P ให้เสียง ที่ชัดแจ้งกว่า น้ำเสียงอยู่กลางๆ มากกว่า

บังเอิญรู้จักกับ คุณหมอสมรัช ที่เป็น Collector คุณหมอก็ไม่ได้พูดอะไร แต่จับอาการเหมือนบอกว่ายังไม่ใช่ ก็คงต้องไปศึกษาวินเทจมากขึ้น ได้มีโอกาส ไปกับก๊วนวินเทจ พวกคุณหมอสมรัช คุณเบิ้ล พบว่าแอมป์รุ่นโบราณอย่าง McIntosh ไปได้ดีกว่า จริงๆ เพาเวอร์แอมป์ก็สำคัญ ปรีอย่าง Marantz 7, McIntosh C22 กลับยังสู้ Shindo ไม่ได้ เหมือนว่ามันเป็นแนวออดิโอไฟล์ ผมจึงยึดปรี Shindo ไว้ก่อน อ้อ! เทิร์นเทเบิ้ลก็ Shido ด้วย แอมป์ศึกษากับคุณ Koji ให้ใช้แอมป์ของ Western ซึ่งเห็นสภาพแล้วไม่กล้าซื้อเลย กลัวครับ คุณหมอเองก็แนะนำว่าแอมป์ Leak 12.1 ของอังกฤษสมัยปี 1947 แอมป์โบราณนี่แบนด์วิธมันกว้าง เหมาะกับลำโพงฮอร์นวินเทจ ตกลงเลยซื้อตัวนี้ ก็ถือว่าลงตัวแล้ว เหลือแต่ Fine Tune สายอีกนิดหน่อยเท่านั้น 

การจัดวาง 

ลำโพงวินเทจไม่เน้นต้องปรับรูมจูน ดังนั้นตั้งได้ในห้องปกติ มีระยะห่าง นิดหน่อยก็ได้แล้ว ไม่ซีเรียสเท่า จริงๆ แล้วในตัวมันมีตัวปรับ Time Alignment ซึ่งต้องเซ็ตอยู่แล้ว ถือว่าโดยรวมง่ายกว่าออดิโอไฟล์ ไฮเอ็นด์อีก 

Not only Hi-Fi… but Arts 

เมื่อเล่นลำโพงฮอร์นแล้ว คิดว่าคงหยุดไปนานเลย การเล่นแนว นี้เป็น Timeless เพราะลำโพงฮอร์นพัฒนามาจนสุดแล้ว อย่าง Shindo ถือว่าตรงเลย เทิร์นเทเบิ้ล Shindo เขาเอา Garard 301 มา re-design ใหม่หมด เพื่อให้เล่นใน พ.ศ. นี้ เหมือนกับ G.I.P เลย ที่ตามเส้นทางของ WE ซึ่งถูก re-design เช่นกัน เป็นไปได้ว่าพวกวินเทจแท้ๆ ที่ชอบของออริจินัลคงไม่ชอบ แต่เราจะไปหาที่ไหนกันล่ะ ผมฟังแจ๊ส เพลงยุค ’60s เป็นหลัก Coltrane, Bill Evans, Ella …, Bluenote บ้าง หรืออย่าง Diana Krall, Tony Bennett อยู่กับมันได้หลายๆ ชั่วโมง ปกติถ้ามาบ้านนี้ก็จะฟังราวสองสามชั่วโมง สัปดาห์ละสองวัน ฟังไปด้วย จูนไปด้วย 

เราชอบงานอาร์ต จึงเน้นบรรยากาศ เน้นดุลน้ำเสียง ไม่รู้ว่าจะต้องการความสมบูรณ์ สุดๆ ไปเพื่ออะไร 

เพิ่งเล่นแผ่นเสียงได้ไม่นาน ราวสามปี ก็พึ่งร้าน Audio Excellence นี่ล่ะ ไม่ถึงกับต้อง 1st Press หรอกครับ ส่วนเทปรีลได้มาจากร้านคุณสมชาย 

ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเรียนรู้ ดีที่รู้ตัวเร็ว ไม่ถึงกับบาดเจ็บอะไรมากนัก โชคดี ที่เล่นวินเทจคู่ไปด้วย ทำให้เราเลือกทางเดินได้มั่นคง อยากบอกคนที่เล่นเครื่องเสียง ซูเปอร์ไฮเอ็นด์จนสุดแล้ว แนะนำว่าน่าจะหาโอกาสไปฟังลำโพงฮอร์นบ้าง ไม่แน่นะ อาจจะคลิกก็ได้ เมื่อมันลงตัว แล้วมันได้บรรยากาศดีมาก เมื่อมาทางนี้แล้ว คงหันหัว กลับไม่ได้แล้วด้วย 

“ไม่มีหนทางลัดในวิถีไฮไฟ เพียงแต่จะหาจุดหมายปลายทางเจอเร็วแค่ ไหน” เป็นบทสรุปที่คุณเม่นเล่าให้เราฟัง เริ่มจากเพราะใจรักในเสียงดนตรี เข้าสู่วิถี ไฮไฟ หลงใหล ติดใจในเสียงหลอด แม้จะออกนอกลู่นอกทางไป ลัดเลาะจนค้นพบสิ่งที่โหยหาจนพบ เลือกอย่างชาญฉลาดที่เป็นตัวตนของคุณเม่นคือเครื่องเสียงวินเทจ คือตัวที่ถ่ายทอดงานศิลป์นั่นเอง และที่คุณผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวเช่นนี้ก็เพราะ… “WE ARE AN AUDIOPHILE”. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 230