Piano Concerto ห้าอรหันต์
พลโท นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์
โหมโรง
ไวน์แดงระดับห้าเซียน หรือเรียกว่า ๕ อรหันต์ คือ… Chateau Mouton Rothschild, Chateau Lafite Rothschild, Chateau Latour, Chateau Margaux, Chateau Haut Brion นั้น สำหรับคนที่ได้ลิ้มรสและรู้จักโลกของเมรัยนี้ย่อมจะดื่มด่ำในสุนทรียิ่งนัก ในวัยหนุ่ม ผมเคยติดรสชาติและศึกษาติดตามเรื่องของไวน์อยู่หลายปี ได้เข้าไปในวงการและได้เสพมามากพอสมควร ขนาดวิ่งไปซื้อไวน์อนาคตล่วงหน้าที่สิงคโปร์ แล้วมีตู้เก็บอยู่ทั้งกรุงเทพฯ และพัทยา ต่อมากลับตัวกลับใจได้ว่า อันคนที่รสนิยมสูงรายได้ต่ำนั้น หมดตัวแน่นอน เลยเลิกสะสมและติดตาม พออายุอานามมากขึ้นมีสติ เอาแค่อยู่พอเพียงแบบกลางๆ ก็พอ
คราวนี้วิญญาณเก่าเกิดอยากจะเอาไวน์ห้าอรหันต์มาผูกกับห้าอรหันต์ของโลกดนตรีคลาสสิกที่ผมเขียนอยู่มาหลายสิบปี เขียนให้สนุกขำๆ ไปเท่านั้นแหละ
ก่อนจะเลยไป ผมก็ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างตั้งแต่ตอนนี้เสียก่อนว่า ห้าอรหันต์ของเปียโนคอนแชร์โตนั้น ก็เหมือนกับไวน์ห้าอรหันต์ที่ไม่ใช่เรียงตามลำดับชั้นหรือเบอร์ เพราะทุกตัวเยี่ยมหมด เหมือนเปียโนคอนแชร์โต ซึ่งผมมิบังอาจจะเรียงลำดับตามความรู้เพลงคลาสสิกขั้นประถมของผม
Chateau Morton Rothschild Beethoven Piano Concerto No. 5
Chateau Lafite Rothschild Tchaikovsky Piano Concerto No.2
Chateau Margeux Rachmaninov Piano Concerto No. 2
Chateau Latour Grieg Piano Concerto No. 1
Chateau Haut Brion Brahms Piano Concerto No. 1
ไวน์ห้าอรหันต์ จับคู่กับ Piano Concerto ห้าอรหันต์
Chateau Morton Rothschild – Beethoven Piano Concerto No. 5 (The Emperor)
เมรัยชื่อก้องโลกตัวนี้ Thomas Jefferson ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ผู้หลงเสน่ห์ไวน์ พยากรณ์ไว้ว่า ปี 1982 จะเป็นปีสุดยอด ซึ่งก็เป็นจริง (ปีเกิดของ Royal Bangkok Symphony Orchestra) ป้ายปิดขวดเป็นภาพคลาสสิกของ John Huston วาดให้ท่านบารอนอายุ ๖๐ ปี เป็นรูปแกะตัวผอมสีขาวแหงนดูพระอาทิตย์สีแดง เท่มากๆ ไวน์ตัวนี้รสชาติซาบซึ้งติดลิ้นด้วยกลิ่นโอ๊ค สีองุ่นเข้มเกือบดำแดง มีขาหนืดไหลลงมาตามขอบแก้วสวยงามมาก ได้ดื่มสักครั้งสองครั้งก็จะตรึงใจ
เบอร์ 5 ของนายพระเอกของผมที่เรียกว่า Emperor Concerto นั้น เหมาะสมยิ่งนัก เพราะสง่างาม องอาจในทำนองแหวกแนวในยุคนั้น Beethoven ไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อ ดูเหมือนว่านายทหารคนหนึ่งได้ยินเข้าก็เรียกตั้งชื่อเอา สำนักพิมพ์ก็เลยโมเมเรียกด้วย Beethoven แต่งตอนอายุกลางคน (อายุ ๓๙ ปี) และเป็นเบอร์สุดท้าย เพลงนี้อุทิศให้เจ้านายและลูกศิษย์ คือ Archduke Rudolf ที่เป็นที่แหวกแนวจากศิลปินอื่นคือ ตอนใกล้จบท่อนที่ ๑ กระเด็นซ่า (Cadenza) นั้น เบโธเฟนเขียนกำกับไว้เลย ไม่ปล่อยให้นักเล่นเปียโนเดี่ยวไปตามใจแบบคนอื่นๆ ทำเปียโนขั้นอรหันต์ชิ้นนี้ไปกันได้กับ Rothschild 82 ยิ่งนัก เขียนไปก็ชักอยากเอามาจิบแล้วสิ ตอนนี้ทำได้ก็แค่เอาฉลากเก่าๆ ที่เก็บไว้มาดู… ก็เท่านั้น
Chateau Lafite Rothschild – Piano Concerto in B flat minor Op. 23 Tchaikovsky
Lafitte เป็นอรหันต์อีกองค์หนึ่งที่คอไวน์หลงใหลในความลึกล้ำซ่อนเสน่ห์ อรหันต์ตัวนี้ ปี 1787 เป็นไวน์ที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในโลกคือ 156,450 US$ อาจจะเป็นเพราะมีชื่อ THJ (Thomas Jefferson) สลักอยู่ก็ได้ ขนาดชั้นล่างๆ อย่างปี 1916 เปิดทิ้งไว้สัก ๒ ชั่วโมง ดมดูก็จะได้กลื่นหอมดอกไม้ผสมควัน สีไม่มีสีม่วงให้เห็นแล้ว กลายเป็นแดงจัด รสชาตินุ่มนวลลึกซึ้ง ปี 1916 นาย Robert Parker ให้คะแนนไว้ ๙๖ คะแนน หวิด ๑๐๐ นับว่าเป็น Extraordinary wine
เบอร์ 1 ของไชคอฟสกี้นี้เป็นจุดผกผันของชีวิต แต่งตอนเป็นหนุ่ม พอเอาไปให้อาจารย์ดู อาจารย์ Rubinstein บอกว่าแย่มาก ต้องแก้ไขมากมาย สงสัยกันว่าอาจจะอิจฉา เพราะมันสุดยอด เลยต้องติเสียก่อน นายศิลปินผู้นี้คอตก แต่มีสติบอกว่าจะไม่แก้ไขสักตัวเดียว ขอเป็นไทเสียที แล้วต่อมาให้เพื่อนกันเอาแสดงที่อเมริกา ได้รับการต้อนรับดีมาก ดังชั่วข้ามคืน แล้วก็ดังมาจนถึงทุกวันนี้ ทำนองอันไพเราะสวยงามสง่างามตอนขึ้นต้น เป็นเพลงที่มีเสน่ห์อันยิ่งใหญ่ ผมละยกให้เป็นอรหันต์หนึ่งในห้า
Chateau Margeux – Rachmaninov Piano Concerto No 2
อรหันต์ตัวนี้เป็นสุดยอดอีกตัวหนึ่งที่เป็นที่หลงใหลของคนรสนิยมสูง Marguax นั้น พอเอ่ยชื่อ คอไวน์ก็สะดุ้ง เพราะราคานั้นแพงมากๆ ฉลากของ Marguax นั้นเรียบง่าย ไม่พิลึกพิลั่นแบบ Rothschild บริเวณเมด็อกนี้อยู่ห่างจากคนอื่น เพราะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ไวน์ตัวนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอีกตัวคือ Haut Brion ซึ่ง Thomas Jefferson (อีกแล้ว) พยากรณ์ไว้ในปี 1778 ว่า Marguax นี่จะเป็นหนึ่งใน ๔ อรหันต์ แสดงว่าคอของอดีตประธานาธิบดีสุดยอดมาก ปีนั้นขายราคา 500,000 US$ ราคาคุยหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ว่าปี 1989 ที่โรงแรม Four Seasons NY พนักงานทำขวดตกแตก บริษัท Insurance ต้องจ่ายเงิน 225,000 US$ ให้ทดแทน เรื่องของเศรษฐีนั้นเหลือเชื่อ ขนาดเราได้ดื่มปี 1986 ครั้งหนึ่ง ก็ยังนึกถึงว่า ไอ้ที่ว่า 96 Parker point นั้น มันสะใจนัก
อรหันต์ Piano Concerto No. 2 Rachmaninov ก็เป็นตำนานว่าเพลงนี้เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่เป็นโรคประสาทไปเกือบ ๔ ปี เพราะโดนนักวิจารณ์ปากเสียที่บอกว่า Symphony No. 1 นั้น ไม่ใช่เพลง เป็นอะไรที่เลวร้าย ทำให้คนแต่งเสียใจมาก ซึมเศร้าทำงานไม่ได้หลายปี หมดกำลังใจ ต้องรักษาด้วยการสะกดจิตจาก หมอดาล์ห จนหาย พอหายโรคซึมเศร้าก็แต่ง Piano Concerto No. 2 เป็นที่โปรดของคนทั่วโลก ขึ้นต้นเพลงนี้เหมือนเสียงเคาะระฆังเป็นธีมแรก สง่าผ่าเผยยิ่งนัก บรรยากาศเหมือนอยู่ในเมืองหนาว เบอร์ 2 นี่ จัดเป็นอรหันต์ที่ไม่แพ้ใคร
Chateau Latour – Grieg Piano Concerto No. 1
อรหันต์ตัวนี้มีชื่อว่า ชาร์โต ลาตู ฉลากเป็นรูปหอคอยบนป้อม มีรูปสิงห์เกาะอยู่เหนือหอคอย บางคนบอกว่าเป็นป้อมที่ให้นกพิราบอาศัยอยู่ สงสัยเป็นนกสื่อสารในสมัยสงครามเมื่อ ๓๐๐ ปีมาแล้ว ลาตู ตัวนี้ต้องจัดว่าเป็นไวน์หายากตัวหนึ่ง เพราะมีพื้นที่เล็กๆ ในบริเวณบอร์โดซ์ ไวน์ตัวนี้ปี 2010 ราคาประมาณ 1250 EU หรือประมาณ 45,000 เท่านั้น เขาว่ากันว่า กลิ่นหอมของเครื่องหนังและผสมกับกลิ่นโอ๊คนั้น ไม่มีอะไรทาบได้ ผมก็ไม่เคยได้ลิ้มปีแพงๆ อย่างนั้นหรอก ขนาดปีที่ไม่แพง เช่นปี 1999 ด้วยความอารีของเพื่อนจึงได้ลิ้มรส คิดว่าอรหันต์ตัวนี้ไม่ค่อยเป็นที่กว้างขวางนัก เพราะดูว่าอนุรักษ์นิยมทั้งรสชาติและการตลาด
ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงมาจับคู่กับอรหันต์จากนอร์เวย์ได้พอเหมาะ Piano Concerto ของ Advard Grieg นี้เป็นหนึ่งในยอดนิยม (ของผม) ขึ้นต้นดังแบบสายฟ้าแล่บ หนาวเย็น สมกับเป็นเพลงของนอร์เวย์ เปียโนเล่นทำนองหลักที่คลอด้วยวงออร์เคสตร้า ท่อนที่ ๒ เปียโนเล่นเป็นพระเอกด้วยทำนองสวยงาม และท่อนที่ ๓ จบลงอย่างสง่างาม ผมจัดเป็นหนึ่งในอรหันต์ เพราะความชอบส่วนตัวเท่านั้นเอง
Chateau Haut Brion – Brahms Piano Concerto No. 1
ไวน์อรหันต์ที่จัดมาเป็นตัวสุดท้ายไม่ได้หมายว่าเป็นที่โหล่ของ อันดับ ถึงแม้ว่าชื่อเสียงบางคนคงไม่ค่อยคุ้นหูก็ตาม อรหันต์ตัวนี้ ใกล้กับ Marguax เรียกว่า Conservative ฉลากกี่ปีกี่ปีไม่เคยเปลี่ยน เป็นรูปชาร์โตแบบโบราณเหมือนห้องแถวงั้นแหละ เปลี่ยนแต่ปีเท่านั้น เอง THJ อดีตประธานาธิบดีหูตาไกลมาก ปี 1987 สั่งซื้อให้ส่งไปไว้ ที่บ้านถึง ๖ ลัง (มิน่าจึงจนกรอบ เพราะรสนิยมสูงยามที่หมดบารมี) ในชีวิตนี้ได้สัมผัสปี 1982 ครั้งเดียว ด้วยบารมีของสหายผู้มีอันจะกิน นึกไม่ค่อยออกว่ามีกลิ่นยาเส้นผสมโอ๊คหรือไม่
อรหันต์อย่างของ Brahms Piano Concerto No. 1 นั้น ไม่ยิ่งหย่อนในประวัติ เพลงนี้มีทำนองเร้าใจสดใสตามแบบของศิลปิน ผู้มากด้วยบารมีทุกอย่าง ทุกวันนี้ยังถกเถียงกันไม่จบว่าควรเล่นช้า แค่ไหน วาทยกรแต่ละคนเล่นช้าเร็วต่างกันได้ตั้ง ๓ ถึง ๕ นาที ซึ่งนับว่า ต่างกันมาก อาจารย์ เลนนี่ เคยแหกประเพณีพูดกับคนฟัง (โดยปกติ ไม่มีใครทำ) ว่า เกือบจะไม่กำกับแล้ว เพราะขัดกับศิลปินเดี่ยว คือ นาย กูลด์ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันว่าต้องเล่นช้ามากๆ แต่ในที่สุดก็ ตกลงกันได้ เพราะต่างก็ชื่นชมในความสามารถของฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้น อรหันต์ตัวนี้ก็สมกันดี
การฟังเพลงคลาสสิกก็เหมือนกับการดื่มไวน์มีสกุล ไม่ว่าจะขั้น อรหันต์หรือไม่ การที่จะเสพให้ได้สุนทรีมันต้องมีกาละและเทศะ มีเพื่อนคอเดียวกัน แก้วอย่างดี มีบรรยากาศอันเป็นสุนทรี ไม่ใช่ เอาถ้วยกระดาษใส่ไวน์ระดับอรหันต์ชดกับแกงส้มตอนแดดเปรี้ยงๆ
ผมคนหนึ่งละที่ฟัง ดนตรี ไม่ได้ฟัง เสียง จากเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ พอเพียงที่ได้เสพคุณภาพตามที่คนแต่งมาก็มีความสุข
การเลือกปีไวน์ก็เหมือนกับเลือกนักดนตรีหรือวงดนตรี หรือวาทยกร มันหลากหลายนับไม่ถ้วน ห้าอรหันต์ทั้งไวน์และเปียโน คอนแชร์โต มาร่วมกันให้เราได้เสพนานๆ ครั้ง ก็มีความสุขแล้วแหละ ที่ยังมีชีวิตและยังเสพได้ ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว…เชียร์. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 268
No Comments