ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

มาอีกแล้วครับ สายเคเบิลฝีมือคนไทยที่ทำขึ้นมาด้วยใจอันรักในเสียงดนตรี แบบที่มีแนวทางเฉพาะตัว สำหรับผู้ที่นิยมของดี ราคายุติธรรมเป็นที่สุด Zensonice ถือกำเนิดขึ้นมาได้สองปีกว่าแล้ว แรกๆ ก็มีสายไฟ สายลำโพง สายสัญญาณ ปลั๊กพ่วง จั๊มเปอร์ หลังๆ ผมยอมรับว่าติดใจในน้ำเสียงของสายสัญญาณ Zensonice รุ่น “ปล่อยของ” หรือ The X-File ที่มีลักษณะของความเป็นอะนาล็อกนิยมสูงมาก แต่สนนราคาก็สูงกว่ารุ่น Analoga ที่ได้รับมาทดสอบในคราวนี้อยู่พอสมควรครับ

ขึ้นชื่อว่า Zensonice แล้วไม่ต้องห่วงเรื่องเสียงแข็ง คมจัด บาดหู ลืมไปได้เลยครับ สิ่งที่เป็นเคล็ดลับของเขาอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูเหมือนว่าไม่แตกต่างไปจากสายสัญญาณอื่นทั่วไป ขั้วต่อ XLR ไม่ได้ใช้ยี่ห้อโด่งดัง แต่เสียบได้แน่น จัดว่าอยู่ในระดับสตูดิโอเกรด ตัวนำของสายผลิตขึ้นจากลวดทองแดงรีดด้วยความร้อนตำเพื่อรักษาโมเลกุลไว้ให้คงตัวได้มากที่สุด เข้าสายด้วยวิธี Multi Gauge หรือมีตัวนำหลายขนาด เพื่อนำความถี่ได้ดีในทุกๆ ย่านเสียง ลวดทองแดงตัวนำจะถูกนำมาชุบน้ำมัน (Metal In Oil) ตามสูตรเฉพาะของ Zensonice ในสายสัญญาณ 1 ข้าง จะประกอบด้วยตัวนำ12 เส้น แยกชีลด์อิสระทุกเส้น มีการนำมาพันตามหลัก Phase Balance ความยาวมาตรฐาน 1.2 เมตร โดยที่สายมีน้ำหนักไม่มาก และดัดตัวได้ดี จึงเอื้ออำนวยต่อการจัดวางในลักษณะต่างๆ ได้ง่าย ตรงนี้อย่ามองข้ามนะครับ เพราะถ้าสายที่คุณใช้มีขนาดใหญ่และหนักมาก มันจะดึงรั้งเครื่อง ทำให้คุณต้องเดือดร้อนไปหาตัวรองสายมาช่วย ซึ่งก็แน่นอนว่าควักกระเป๋าอีกหลายบาท

น้าแหลมผู้ผลิตและบิดาของ Zensonice บอกว่า สายสัญญาณรุ่นนี้คนนิยมใช้กันแพร่หลาย อาจจะเป็นเพราะราคาไม่แรงมาก แต่แกไม่วายสำทับมาว่า ระวังลองใช้แล้วจะต้องถอดของเดิมออกหมดนะ!!! หูยย… ช่างกล้านะ (ผมคิดในใจ) เอาล่ะ ยังไงผมก็เอาใจช่วยให้สายไทยราคาเบาๆ สามารถซัดกับสายอเมริการาคา 4 – 5 หมื่นบาทได้ ก็ฟินเวอร์แล้ว ผลจากการทดสอบเพียงแค่ 2 เพลงแรกเท่านั้น ทำเอาผมตาหูเหลือก คิดว่าน้าแหลมแกเอาสายแพงๆ มาหุ้มหนังงู แล้วส่งมาหลอกให้ผมฟังหรือเปล่า เพราะเสียงที่มันถ่ายทอดออกมานั้น ไม่ได้แพ้สายสัญญาณส่วนตัวที่ผมใช้อยู่เลย จริงอยู่อาจจะมีบางอย่างที่ผมชอบและไม่ชอบกว่ากันอยู่ แต่โดยรวมๆ แล้ว Zensonice Analoga XLR ไม่แพ้สายระดับแสนบาทก็แล้วกัน

ถ้าคุณไม่ยึดติดในเรื่องแบรนด์แล้วล่ะก็ สายชุดนี้มีอะไรให้ประหลาดใจได้มาก ในระดับราคาที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง

ชุดที่ใช้ทดสอบ ผมใช้สาย Zensonice ต่อออกจากปรีแอมป์ Octave HP-300SE ไปเข้าเพาเวอร์แอมป์ Parasound A-21 ต้นทาง Esoteric P-70 เป็นทรานสปอร์ต + DAC Bryston BDA II สายสัญญาณโฟโน Acoustic Allegro XLR ลำโพง Focal Utopia Diablo สายลำโพง JPS Super Aluminata สายไฟเอซี HIFIDELITY Ultimate Reference ปลั๊กรางของ Zensonice ชนิด 6 เต้าเสียบ (Upgrade) และสายไฟ Audioquest Dragon สายดิจิทัลโดย อ. เจมส์ C-3

แผ่นที่ใช้ทดสอบเน้นไปที่ CD ครับ เริ่มจาก Accuphase Special Sound Selection 4, แผ่น True Audiophile DW Mastering, มงคล อุทก ชุด ดอกไม้ ใต้หญ้า, เพลงจีน Best Audiophile: Chinese Voices

ผมบอกได้เลยว่า สายสัญญาณชุดนี้ให้บุคลิกเสียงที่เกินราคาค่าตัวไปมาก คือสายสัญญาณดีๆ ในปัจจุบันเห็นขายกันเป็นหลายๆ แสน แต่ถ้าคุณไม่ยึดติดในเรื่องแบรนด์แล้วล่ะก็ สายชุดนี้มีอะไรให้ประหลาดใจได้มาก ในระดับราคาที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง ไม่ต้องจ่ายแพงถึงขนาดเป็นหนี้เป็นสินกันให้เดือดร้อนครอบครัว น้ำหนักตัวของสายไม่มาก และสามารถดัดตัวได้ดีพอสมควร แต่อย่างไรเสียก็ไม่ควรจะหักงอมันเกิน 45 องศานะครับ เพื่อไม่ให้โครงสร้างโมเลกุลของตัวนำต้องถูกทำลาย

หลังจากที่เปิดเพลงผ่าน Zensonice มาได้ 40 ชั่วโมงแล้ว ผมลองเปิดเพลง “หมอก” จาก UHQ CD ชุด “เพลงอภิรมย์ 2” เสียงดี๊ดีครับ เวทีกว้างขวาง แหลมสดใส มีรายละเอียด เบสลึกและหนัก หากแต่เสียงกลางยังไม่ค่อยรวมตัว โฟกัสชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมันต้องการระยะเวลาเบิร์นอินมากกว่านี้… จัดไปครับ… เมื่อล่วงพ้น 100 ชั่วโมง สายสัญญาณ Zensonice Analoga XLR เข้าที่เข้าทางอย่างที่ควรจะเป็น เวทีเสียงมีความลึกและสงัด อิมเมจอยู่เป็นที่เป็นทาง สมดุลเสียงคงที่ ไม่วูบวาบแล้ว ต่อไปเป็นผลการฟังทดสอบครับ

ด้วยเพลง Classic ที่บรรจุอยู่ในแผ่น Accuphase Sound 4 ผมพบว่า ไดนามิกสวิงได้กว้าง ไม่มีอาการอั้นตื้อใดๆ การขยับขับเคลื่อนของดนตรีเป็นไปอย่างอิสระ ไรขีดจำกัด ลื่นไหล โดยที่ยังคงให้เสียงแหลมที่เป็นประกายกรุ๊งกริ๊ง ไม่ใช่นิ่มนวล อ่อนยวบ อะไรแบบนั้น ดุลน้ำเสียงจัดได้ว่ามีความเสมอภาคกันทุกย่านความถี่ ไม่ว่าจะเป็นทุ้มกลางหรือแหลม โดยเฉพาะเบสลึกๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยจะได้ยินจากสายสัญญาณในระดับราคานี้ ตรงนี้ผมคิดว่ายังมีบางท่านสับสนระหว่างเบสลึกกับปริมาณของเบส คนละความหมายกันนะครับ เบสลึกหมายถึงความถี่ต่ำตั้งแต่ย่าน 80Hz ลงมา ซึ่งถ้าสายเคเบิลหรือเพาเวอร์แอมป์มีคุณสมบัติของ Amplitude ไม่ดีพอ คุณอาจจะได้ยินเสียงต่ำลึก แต่แผ่วๆ หรือไม่ได้ยินเลยก็ได้ ตัวอย่างเสียงที่ต่ำลึกได้แก่ เสียงออร์แกนท่อ หรือเสียงอะคูสติกเบสที่เล่นในโน้ตต่ำๆ ส่วนปริมาณของเบสจะมาในรูปแบบของความใหญ่โต ความดังของเสียงต่ำในทุกๆ ย่านครับ และถ้าหากเจาะลึกลงไปถึงคุณภาพของเบสแล้ว ยังต้องพิจารณาไปถึงรายละเอียด ความคมชัด และหัวโน้ต ฮาร์โมนิก การทิ้งตัว การกระเพื่อมตามมาเป็นระลอก… พวกนี้อีก ซึ่งผมสรุปให้ง่ายๆ เลยว่า สาย Zensonice สอบผ่านฉลุยเลยครับ ที่จะขัดใจวัยรุ่น (แย้มฝาโลง) อย่างผมอยู่บ้าง ก็คือ อิมแพ็คหรือแรงปะทะที่ค่อนไปในแนวทางสุภาพ สะท้อนบุคลิกของคนผลิต ว่าไม่ชอบอะไรที่ฉูดฉาด โครมครามมาก ที่ว่าอย่างนี้ผมไม่ถือว่าเป็นจุดอ่อน เพียงแต่จะเรียนว่า นี่เป็นบุคลิกของสายซึ่งมีอยู่ทุกยี่ห้อ แล้วแต่ว่ายี่ห้อไหนจะถูกกับรสนิยมความชอบของผู้ใช้งาน หรือแมตชิ่งลงตัวกับอุปกรณ์หลักในชุดเครื่องเสียงได้มากกว่ากัน

คุณสมบัติเกี่ยวกับเสียงกลาง โฟกัสพอประมาณ ไม่ถึงกับคมกริบ มันเหมือนกับดูรูปถ่ายที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มมากกว่ากล้องดิจิทัล เป็นเสียงกลางที่มีฮาร์โมนิกสมบูรณ์ ผิวเสียงเกลี้ยงเกลา มีมวลพอดีๆ ฟังสบาย ไม่รีดเค้นบังคับว่าจะต้องโพล่งออกมาทุกสรรพเสียงในเวลาเดียวกัน ตรงกันข้ามจังหวะ หรือ Pitch ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องสำคัญคือ Phase ดีมาก ทำให้ฟังเพลงเป็นเพลงจริงๆ ไม่เหมือนกับกำลังฟังเครื่อง และจุดนี้กระมังที่ทำให้มีผู้ใช้สาย Zensonice หลายต่อหลายคนติดอกติดใจจนยอมถอดสายแบรนด์นอกออกไป ส่วนเสียงแหลมนั้นเข้าขั้นดีมาก ลากหางเสียงออกไปได้อย่างยาวไกล พวกเสียงกระทบกันของโลหะมีมวล ประกาย เหมือนของจริง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำได้ดีเกินราคาครับ ในบางแผ่นที่ผมฟังบ่อยๆ ผมรู้สึกว่าเสียงพลิกโน้ตเพลง หรือเสียงแปลกๆ ที่เคยได้ยินเพียงแผ่วเบา กลับรับรู้ได้ยินโดยง่ายดายขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องเพ่งพินิจเลยครับ

คุณสมบัติเกี่ยวกับอิมเมจและซาวด์สเตจดูเหมือนว่าการพันลวดทองแดงตามสูตร Phase Balance จะส่งอานิสงส์ให้การตรึงตำแหน่งของอิมเมจมีความมั่นคง แม่นยำไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนภายในเวทีเสียง สามารถรับรู้ได้ว่า มีการจัดวางตำแหน่งไว้หน้า หลัง ซ้าย ขวา เยื้องหน้า เยื้องหลัง การจัดระนาบเวทีเป็นไปอย่างสวยงาม สมดุลกันทั้งทางด้านกว้างและด้านลึกและลึกมาก!!! ครับ ผมกำลังจะบอกว่า คุณสมบัติอันโดดเด่นประการหนึ่งของสายเส้นนี้ คือ ให้เวทีด้านลึกที่แทบจะทะลุผนังห้องด้านหลังลำโพงลงไปได้เลยครับ…

ข้อติติงเล็กๆ น้อยๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของวัสดุต่างๆ ที่นำมาประกอบสายที่ยังไม่สวยหล่อเหมือนกับสายฝรั่งมังค่าราคาแพงๆ ทั้งหลาย ซึ่งอันที่จริงเป็นคอสเมติกเพื่อประทินโฉมเท่านั้นแหละครับถ้าหากคุณไม่มากเรื่อง เห็นแต่คุณภาพเสียงเป็นสำคัญแล้ว ผมอยากชักชวนให้หาโอกาสยืมสายสัญญาณ Zensonice Analoga มาฟังดู แล้วคุณจะเชื่อว่า คนไทยก็ทำสายได้ดีไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลกครับ. ADP

ราคา 29,000 บาท (ความยาว 1.2 เมตร)
ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
Zensonice Team-Audioworks
โทร. 081-446-7141

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 268