METRONOMIST Miniature Custom Wireless Speaker


สุนทรียะแห่งการฟังเพลง
ในยุคที่เทคโนโลยีไร้สายกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการฟังเพลงของผู้คน ลำโพงบลูทูธกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มาแรงแซงทางโค้ง เพราะนอกจากใช้งานกับมือถือได้ง่าย ความสามารถของ codec รุ่นใหม่ในการส่งสัญญาณระดับ Hi-Res ทำให้ข้อจำกัดเรื่องคุณภาพเสียงที่เคยเป็นจุดอ่อนของการเชื่อมต่อไร้สายนั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว
เรื่องกระแสความแรง ส่วนหนึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับ Marshall แบรนด์กีต้าร์แอมป์ระดับตำนาน ที่ลงมาในตลาดทำให้คนทั่วไปรู้จักกับลำโพงบลูทูธ single-box แบบพรีเมี่ยมที่ผสมผสานความเท่แบบร็อกแอนด์โรล กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตหน้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้อย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา จนเดี๋ยวนี้มีผู้ผลิตลำโพงบลูทูธ custom made แนวทางเดียวกันออกมาขายเป็นล่ำเป็นสัน มีให้เลือกตั้งแต่ราคาหลักพันยันหลักหมื่น ไปเกือบแตะหลักแสนบาทกันเลยทีเดียว
เพราะนักฟังเพลงยุคใหม่ ไม่ได้ต้องการแค่เรื่องเสียงที่ดี แต่ต้องการสินค้าที่มอบ “ประสบการณ์” การใช้งาน ซึ่งสามารถเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกควบคู่กัน

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด Metronomist ผู้ผลิตลำโพงไวร์เลสระดับพรีเมี่ยมสัญชาติไทย ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน BAV Hi-End Show 2024 #2 ได้ยินว่ากระแสตอบรับดีทีเดียว เนื่องจากมีแนวคิดที่แตกต่างในการนำเสนอลำโพงบลูทูธที่มอบประสบการณ์การฟังระดับออดิโอไฟล์ ผ่านดีไซน์มินิมอลที่ร่วมสมัย ที่สำคัญยังสามารถเลือกเฉดสีลำโพงได้ตามต้องการ สะท้อนถึงความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหามากกว่าแค่อุปกรณ์เล่นเพลง และเป็นการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดได้อย่างมีชั้นเชิง
The Real Passion for Hi-End Sound
สินค้าของ Metronomist มีด้วยกันสามรุ่น คือ Miniature ตัวท็อปสุดของแบรนด์, Mezzo รุ่นกลาง, และ Compact รุ่นเล็กสุด ให้เลือกตามงบประมาณ ทุกรุ่นสามารถปรับแต่งพารามิเตอร์เสียงได้อย่างละเอียด ทั้ง crossover, phase, time alignment ด้วยเทคโนโลยี DSP เพื่อให้ได้ความคมชัดและรายละเอียดของเสียงออกมาดีที่สุด โดยคำนึงถึงผลกระทบจากสภาพอะคูสติกส์ของห้องอย่างรอบด้าน

“จุดเริ่มต้นของผมคือการเป็นนักเล่นเครื่องเสียง” คุณศรัณย์ วิวัฒน์พัฒนกุล เจ้าของแบรนด์ Metronomist เล่าถึงจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาศาสตร์ด้าน Audio Engineering อย่างลึกซึ้ง และก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา สินค้าของ Metronomist มีคอนเซ็ปต์ที่ไม่ซับซ้อน คือ เรียบ ง่าย แต่ได้คุณภาพเสียงสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นที่มาของดีไซน์ลำโพงไวร์เลส plug and play ในสไตล์มินิมอล แต่ก็ยังสามารถเลือกคัสต้อมสีได้มากถึง 1,700 เฉด เพื่อให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากับสไตล์การตกแต่งได้อย่างกลมกลืน เป็นของแต่งบ้าน แต่งร้าน ก็สามารถคุม Mood & Tone ได้หมด
ในกรณีพิเศษ หากผู้ใช้งานอยากจัดวางลำโพงในจุดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องเสียงเบสบูม หรือภายในห้องมีปัญหาเรื่อง room mode ย่านความถี่ต่ำรุนแรง ทางผู้ผลิตก็สามารถให้บริการปรับแต่งลำโพงเพิ่มเติมผ่านระบบ DSP เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุดสำหรับห้องนั้นๆ ได้ ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามที่คุณศรัณย์ ได้โดยตรง
เจาะลึก Miniature รุ่นท็อปสุด
ลำโพงตัวที่ส่งมาเป็นสีขาวเรียบหรู มิติตัวตู้ 35x21x20 เซนติเมตร (กว้าง/ลึก/สูง) แม้มีขนาดกะทัดรัด แต่น้ำหนักตัวเอาเรื่อง เพราะใช้โครงสร้างตู้เป็น plywood เกรดพิเศษ ซึ่งทนกว่า แข็งแรงกว่า และทนชื้นได้มากกว่า MDF และ HMR แผงหลังปิดด้วยแผงอะคริลิกดำเงา ใต้ลำโพงติดตั้ง rubber feet ไซส์เล็กสี่จุด ทำมุมเชิดหน้าลำโพงขึ้นเล็กน้อยเพื่อลดเสียงสะท้อนกับพิ้นผิว แผงหน้าลำโพงฝั่งขวาติดตั้งพอร์ตเบสรีเฟล็ก

จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของ Metronomist คือ การคัดสรรไดรเวอร์คุณภาพสูงมาใช้ โดยเฉพาะรุ่นท็อปสุดอย่าง Miniature ตัวทวีตเตอร์ทั้งสองข้างเป็นซอฟต์โดมแบบ ring radiator ของ SB Acoustics ซึ่งเป็นโมเดลที่พบได้ในลำโพงบ้านระดับไฮเอ็นด์ ขึ้นชื่อเรื่องการตอบสนองความถี่ราบเรียบ และมีมุมกระจายเสียงที่ยอดเยี่ยม
ส่วนตัววูฟเฟอร์ขนาด 4 นิ้ว คือทีเด็ดจากค่าย Purifi ซึ่งเป็นการคอลแลปส์กันของสุดยอดออดิโอดีไซน์เนอร์อย่าง Peter Lyngdorf, Lars Risbo, และ Bruno Putezeys มีจุดเด่นเฉพาะตัวตรงขอบเซอร์ราวด์เป็นลอนสูงต่ำคล้ายกับระลอกคลื่น ซึ่งไดรเวอร์แบรนด์นี้ทางสื่อ Stereophile ชมเปาะว่าเป็นนวัตกรรมระดับ breakthrough ที่ลดความผิดเพี้ยนของเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
ผนังตู้แต่ละด้านมีความหนาต่างกัน มีการคำนวณพารามิเตอร์อย่างเหมาะสม เพื่อให้ไดรเวอร์เปล่งประสิทธิภาพออกมาได้เต็มที่มากที่สุด จัดระเบียบการทำงานร่วมกันในลักษณะ 2.1 แชนเนล โดยทวีตเตอร์สองตัวเป็นแชนเนลซ้ายขวา ใช้ DSP ตัดแบ่งความถี่แทนพาสซีฟครอสโอเวอร์ไปยังวูฟเฟอร์สำหรับย่านความถี่กลางและต่ำ ส่วนภาคขยายก็จัดเต็มด้วยโมดูลแอมป์ class D กำลังขับสูงถึง 400 Watts RMS โดยแยกขับไดรเวอร์แต่ละตัวอย่างอิสระ 100 วัตต์ สำหรับทวีตเตอร์แต่ละข้าง และ 200 วัตต์ สำหรับวูฟเฟอร์ ตอบสนองความถี่ตลอดย่าน 45-20,000Hz (-3dB)


ปุ่มควบคุมการทำงานและช่องเชื่อมต่ออยู่ด้านหลังทั้งหมด ซึ่งก็เรียบง่ายจริงๆ มีแค่ปุ่ม LED แสดงสถานะของการเชื่อมต่อบลูทูธ, ปุ่ม reset สัญญาณบลูทูธ และช่องต่อสายแอนะล็อกแบบ 3.5 มม. อีกช่อง ที่เหลือเป็นพอร์ต USB สำหรับการเซอร์วิสปรับแต่งพารามิเตอร์ด้วยซอฟต์แวร์ และช่องเสียงสายไฟแบบ IEC ออดิโอเกรดของ Acrolink
ในด้านการเชื่อมต่อ Miniature เลือกใช้ aptX HD codec ที่รองรับการส่งผ่านสัญญาณเสียงความละเอียดสูงถึง 24-bit/48kHz เมื่อจับคู่กับวงจรขยายเสียงคุณภาพสูงที่ได้รับการปรับแต่งมาอย่างดี ทำให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงดนตรีได้อย่างครบถ้วน ทั้งมิติเสียง และไดนามิกที่กว้างขวาง เพียงพอแล้วสำหรับการรับฟังเพลงคุณภาพสูงในชีวิตประจำวันจากสตรีมมิ่งเซอร์วิสที่ให้บริการในบ้านเราทั้ง Spotify, Apple Music, Youtube Music, Joox หรือ Tidal
หมายเหตุ คุณศรัณย์ส่งสายไฟเอซีออดิโอเกรดของ XLO รุ่น Reference สีม่วงติดมาให้ด้วย เพื่อให้ทดลองใช้งานร่วมกัน สะท้อนถึงศักยภาพของลำโพงที่พร้อมตอบสนองการอัพเกรดในอนาคต สำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับคุณภาพเสียงให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ในการรีวิวจึงเพิ่มเนื้อหาส่วนนี้เข้าไปด้วย
เริ่มต้นใช้งาน
Miniature มีรูปลักษณ์ที่กะทัดรัด ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการออกแบบในภาคคุณภาพเสียง การจัดวางลำโพงบนขาตั้งหรือชั้นวางที่มั่นคงในระดับความสูงที่เหมาะสม และมีพื้นที่โล่งๆ รอบตัวสักหน่อยจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพทางเสียงออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความเป็นสเตริโอที่ดีเกินคาดจากลำโพงในลักษณะนี้ แถมไม่ต้องกังวลเรื่องเบส เพราะ Miniature ให้พลังเสียงย่านความถี่ต่ำที่เกินตัวเอามากๆ เลยทีเดียว
เป็นความลงตัวที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้สามารถวางได้อย่างสวยงามในทุกมุมของบ้าน แต่เมื่อไหร่ที่ต้องการประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีที่สุดก็สามารถจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ โดยไม่เสียความสวยงามของการตกแต่งได้เช่นกัน
ผมเลือกวาง Miniature ไว้บนโต๊ะทำงานแบบลำลอง ให้ใกล้เคียงกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากที่สุด ในตอนแรกใช้สายไฟเอซีธรรมดาในการทดลอง เมื่อเปิดสวิตช์ลำโพง สังเกตุไฟ LED แสดงสถานะด้านหลังจะกระพริบ จากนั้นเปิดบลูทูธบนสมาร์ทโฟนเพื่อทำการจับคู่ เท่านี้ก็พร้อมสำหรับการฟังเพลงแล้ว
คุณภาพเสียง

ปกติแล้วการเล่นลำโพงบลูทูธแบบ single-box ผมไม่คาดหวังเรื่องมิติเสียงมากนัก ฟังเอาน้ำเสียงเป็นหลัก เนื่องจากไม่สามารถจัดวางตำแหน่งลำโพงเพื่อแยกมิติเสียงได้เหมือนการฟังลำโพงสเตริโอสองตัวตามปกติ แต่ Miniature กลับสร้างความประหลาดใจด้วยความสามารถแสดงอิมเมจของเสียงได้แม่นยำเกินคาด แยกตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ได้ชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน และให้อิมเมจที่ใหญ่เกินตัว ถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่หาได้ยากจากลำโพงลักษณะนี้ แสดงถึงความใส่ใจของผู้ออกแบบที่มีการปรับแต่งมุมกระจายเสียงจากไดรเวอร์เพื่อชดเชยข้อจำกัดดังกล่าวได้ดี
ที่น่าทึ่งคือ มุมกระจายเสียงของลำโพงที่สามารถครอบคลุมตำแหน่งนั่งฟังได้กว้างเอามากๆ เพราะห้องที่วาง Miniature มีขนาดใหญ่พอสมควร ผมลองเดินไปมารอบๆ ห้อง รวมถึงนั่งนอนฟังในหลายๆ อิริยาบถ แม้อยู่ห่างจากลำโพงออกมาด้านข้างเกือบ 180 องศา ก็ยังได้ยินโทนัลบาลานซ์ที่มีความสมดุลใกล้เคียงกันดี ทั้งย่านทุ้ม กลาง แหลม สอดคล้องกับความเป็นลำโพงแบบไลฟ์สไตล์ที่เราฟังขณะที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปด้วย ไม่ได้นั่งฟังอยู่หน้าลำโพงตลอดเวลา
ว่ากันที่เรื่องเนื้อเสียง Miniature ให้เสียงที่เป็นผู้ดี ไร้ความหยาบกร้าน โฉ่งฉ่าง เวลาเปิดดังๆ แล้วเสียงเจี๊ยวจ้าวไม่น่าฟัง กลับกันคือ ให้เนื้อเสียงที่ละเอียด ราบรื่น มีบรรยากาศรอบตัวเสียงที่ไม่แห้งแล้ง เหมือนเราฟังจากลำโพงบ้านชั้นดี ซึ่งแมตชิ่งกับแอมปลิฟายเออร์มาอย่างลงตัว
ปกติลำโพงไซส์นี้ส่วนใหญ่เท่าที่เคยลองฟังมา หากเปิดดังมากๆ น้ำเสียงจะเริ่มออกอาการมีความแตกพร่า หรือขาดความสมดุลให้เห็น ด้วยข้อจำกัดของตัวไดรเวอร์ และกำลังขับของภาคขยายเอง แต่กับ Miniature ตรงกันข้าม ยังคงความไพเราะไม่ว่าจะฟังดังหรือเบา ให้ความกระจ่างใสน่าประทับใจ ไม่รู้สึกว่ามีเสียงอู้ก้องของตัวตู้ปะปนเข้ามารบกวน นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทางผู้ผลิตเลือกใช้ไดรเวอร์ชั้นดีร่วมกับภาคขยายที่มีกำลังขับสูง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมคุณภาพเสียงได้ดีในทุกระดับความดัง
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอรรถรสการฟังเพลงคือ ย่านทุ้ม Miniature จูนเสียงทุ้มให้เบสพอร์ตยิงออกด้านหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการวางชิดผนังด้านหลัง จึงให้เสียงทุ้มที่สะอาด มีมวลเสียงย่านทุ้มต้นที่เข้มข้น มีน้ำหนักและอิมแพ็กต์ที่ดี เมื่อเทียบกับขนาดของวูฟเฟอร์เพียง 4 นิ้ว โดยรวมฟังแล้วไม่รู้สึกว่าขาดแคลนเสียงทุ้มเลย การวางลำโพงหนีห่างผนังด้านหลังออกมามากหน่อยก็ยังให้น้ำหนักเสียงที่ดีอยู่ แถมจูนเสียงมาได้แนบเนียน ไม่ให้เสียงทุ้มไปรบกวนความใสของย่านกลางแหลมให้ขุ่นมัว ทำให้ครอบคลุมการฟังเพลงได้หลากหลาย ตั้งแต่พ็อพ ร็อก แจ๊ส คลาสสิก ดนตรีอะคูสติกน้อยชิ้น ไปจนถึงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ นิวเอจ หรือพวกซาวด์แทร็คภาพยนตร์
เคล็ดไม่ลับอัพเกรดเสียง
ช่วงท้ายของการทดสอบ ผมอยากลองยกระดับการฟังขึ้นไปสักหน่อย เพราะรู้สึกว่า Miniature ให้ศักยภาพของเสียงออกมาได้มากกว่าลำโพงบลูทูธทั่วๆ ไป อันดับแรกคือ การเปลี่ยนสายไฟเอซีจากสายไฟธรรมดาเป็นสายออดิโอเกรด XLO Reference ที่ทางคุณศรัณย์ส่งมาให้ลองใช้ร่วมกัน ซึ่งก็ช่วยทำให้เสียงมีพลัง ความสงัด ได้ยินรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดีขึ้นไปอีก ดังนั้นหากจะลงทุนกับสายไฟเอซีคุณภาพดีให้กับ Miniature ถือว่าสมเหตุผล

อีกประเด็นที่อยากบอกคือ การฟังเพลงผ่านบลูทูธ ภาคส่ง (Transmitter) มีผลต่อคุณภาพเสียงมากกว่าภาครับสัญญาณเสียอีก โดยเฉพาะลำโพงบลูทูธที่มีคุณภาพสูงอย่าง Miniature ซึ่งสามารถบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงทางเสียงได้ จากที่ผมลองใช้ FiiO BT11 บลูทูธ dongle ร่วมกับแอพ USB Audio Player Pro (UAPP) บนมือถือแอนดรอยด์นั้น ให้คุณภาพเสียงเหนือกว่าเชื่อมต่อบลูทูธจากมือถือตรงๆ มากมาย
อันดับแรกคือ UAPP จะมองเห็น BT11 เป็น USB DAC และสามารถทำ bypass sample rate conversion บนมือถือ android ได้ เสียงจะเนียนกว่าไม่ทำ SRC ถึงแม้ปลายทางจะถูก re-sampling ตามบลูทูธ codec ที่ใช้อีกรอบอยู่ดีก็ตาม
นอกจากนี้บนแอพ UAPP ยังสามารถตั้งค่าความละเอียดของโวลุ่มด้วยซอฟต์แวร์ได้ละเอียดถึง 250 สเต็ป คือปรับได้ทีละประมาณ 0.4-0.5dB ถ้าใช้การปรับโวลุ่มที่มือถือ ปกติระดับความดังจะโดดข้ามสเต็ปเกินไปสักหน่อย ช่วยให้เวลาใช้งานร่วมกับ Miniature เราสามารถปรับระดับความดังได้อย่างละเอียด และราบรื่นกว่าเดิมมาก
หมายเหตุ วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะกับมือถือ Android เท่านั้น เนื่องจากบน iOS ไม่มีแอพ UAPP ให้บริการ
สรุป
Metronomist: Miniature ลำโพงบลูทูธที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ผลิตในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ด้วยการเลือกใช้ไดรเวอร์คุณภาพสูง ผสานกับวงจรขยายและ DSP ที่ได้รับการปรับแต่งมาอย่างดี ส่งผลให้ได้คุณภาพเสียงที่เหนือความคาดหมายสำหรับลำโพงขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลำโพงฟังเพลงในห้องขนาดกลางถึงใหญ่ เน้นคุณภาพเสียงเสียงแบบออดิโอไฟล์ และต้องการความยืดหยุ่นในการติดตั้ง แม้มีราคาสูงกว่าลำโพงบลูทูธโดยเฉลี่ยทั่วไป แต่ด้วยคุณภาพการประกอบและเสียงที่ได้ ถือว่าคุ้มค่าสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพเสียงเป็นอันดับแรก. ADP
จุดเด่น
- ดีไซน์เรียบหรู เลือกเฉดสีได้ตามต้องการ
- เสียงราบรื่น มีความสมดุลทุกระดับความดัง
- รายละเอียดและมิติเสียงเกินตัว
- กระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก
ข้อสังเกต
- ปุ่มควบคุมและช่องเชื่อมต่ออยู่ด้านหลังอาจไม่สะดวกเมื่อมีพื้นที่จำกัด
- ต้องควบคุมระดับความดังผ่านมือถือ
Metronomist: Miniature
ราคา 60,000 บาท
ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
METRONOMIST
Tel: 099 195 9545
Line: @METRONOMIST
FB: METRONOMIST
IG: METRONOMISTTH
Website: www.metronomistth.com
E-mail: metronomist.th@gmail.com
No Comments