KEF: Q11 META Flagship 3-way floorstanding speaker ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของ Q ซีรี่ส์พร้อม MAT™
ปีที่ผ่านมา KEF มีการเปิดตัวไลน์อัพลำโพงใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดถึงคิวของ “Q Meta” ซีรี่ส์ ที่มาพร้อมนวัตกรรม MAT™ นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 9 ของซีรี่ส์ลำโพงระดับ entry-level ของ KEF ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อราคาสูง จนกวาดรางวัลมากมาย
ครั้งนี้มีการพัฒนาใหม่แบบก้าวกระโดดจาก Q ซีรี่ส์เดิม (2017) ไปหลายช่วงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีจาก Blade และ The Reference ซีรี่ส์มาใช้แบบไม่มีกั๊ก นั่นทำให้ Q Meta กลายเป็นโปรดักต์ที่มี “ว้าว แฟคเตอร์” ซึ่งสร้างความประทับใจแรกฟังอยู่มากพอสมควร
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Q Meta ซีรี่ส์ใหม่นี้ โดยเฉพาะรุ่นตั้งพื้น คือ การตัดสินใจเปลี่ยนจากดีไซน์ลำโพง 2 ทางครึ่ง ที่ใช้มาตลอดเป็น 3 ทาง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งข้อดีของลำโพงดีไซน์ 3 ทาง คือ สามารถจัดการการตอบสนองของแต่ละย่านความถี่ทุ้มกลางแหลมได้อิสระ ตัวไดรเวอร์มิดเรนจ์ก็ทำงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องรับภาระย่านความถี่ต่ำ ช่วยลดความเพี้ยนของเสียงแต่ละย่านความถี่ จากประสบการณ์มันมักให้เสียงที่มีรายละเอียดและความโปร่งใสเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น เวลาฟังเพลงที่มีไดนามิกเรนจ์กว้างจะให้ความผ่อนคลายและรายละเอียด มีความลึกรวมถึงให้สเกลเสียงโดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด
“คีย์แมสเสจของ Q Meta คือ การพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและการออกแบบอย่างต่อเนื่องด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปี นั่นทำให้ทีมออกแบบต้องล้างไพ่ระบบอะคูสติกส์ของ Q Meta ซีรี่ส์ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อนำเสนอเสียงคุณภาพสูงด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม”
สำหรับ Q Meta ซีรี่ส์ประกอบไปด้วยรุ่นวางขาตั้งอย่าง Q1 Meta, Q3 Meta, Q Concerto Meta ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Concerto ลำโพงวางขาตั้งแบบสามทางรุ่นแรกของ KEF ในปี 1969 นอกจากนั้นก็มีลำโพงสำหรับระบบมัลติแชนเนลทั้งลำโพงเซ็นเตอร์ Q6 Meta, ลำโพง Atmos Q8 Meta และ Q4 Meta ลำโพงแขวนผนังที่มีความบางพิเศษใช้เป็น LCR ได้ ท้ายสุดคือกลุ่มตั้งพื้น ได้แก่ Q7 Meta และ Q11 Meta รุ่นท็อปสุดของซีรี่ส์ที่ได้รับมารีวิวในครั้งนี้
อะไรทำให้ Q Meta ซีรี่ส์นั้นแตกต่าง?
- ใช้ Uni-Q รุ่นที่ 12 ร่วมกับเทคโนโลยี MAT
- ใช้โครงสร้าง Flexible Decoupling ลดการส่งผ่านการสั่นสะเทือน
- เพิ่ม Shadow Flare รอบ Uni-Q ลดการเลี้ยวเบนของเสียงที่ขอบตู้
- ปรับแต่งด้วยระบบ FEA ให้ไดร์เวอร์ขยับตัวลิเนียร์มากขึ้น
- ใช้ตู้ระบบ bass-reflex ร่วมกับไดรเวอร์เบสหลายตัว
- พัฒนาครอสโอเวอร์ใหม่เน้นการตอบสนองทั้ง on-axis และ off-axis
ความชัดเจนเหนือชั้น
ไดรเวอร์กลางแหลมเป็น 12th generation Uni-Q driver array ซึ่งเป็นการตกผลึกจากประสบการณ์หลายทศวรรษของ KEF ผสานกับการใช้เครื่องมือจำลองและวิเคราะห์ที่ล้ำหน้ากระจายเสียงจากแหล่งกำเนิดเดียวกันอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งห้องช่วยให้ sweet spot กว้าง ไม่จำเป็นต้องนั่งฟังตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงอย่างเดียว
ท้ายของไดรเวอร์ติดตั้ง Metamaterial Absorption Technology (MAT) ตัวดูดซับเสียงประสิทธิภาพสูง ทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทาง ฉีดขึ้นรูป ข้างในเป็นช่องสลับซับซ้อนคล้ายเขาวงกต ช่วยดูดเสียงส่วนเกินด้านหลังทวีตเตอร์แบบแยกความถี่เฉพาะเจาะจงได้ถึง 99% รอบนี้พัฒนาโครงสร้างใหม่เป็น single layer ที่มีถึง 20 ช่องนำเสียง (สำหรับรุ่น 3 ทาง) เสียงจึงบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมี Flexible Decoupling Chassis เทคนิคการใช้โครงยึดแบบยืดหยุ่นระหว่างมอเตอร์มิดเรนจ์กับตัวตู้ลำโพงร่วมกับแผ่นแดมป์เพื่อตัดแรงสั่นกวน ไม่ให้เสียงจากตู้ที่เป็นคัลเลอร์ส่วนเกินปะปนเข้ามากับเสียงของไดร์เวอร์ รวมถึง Shadow Flare ขอบเวฟไกด์รอบ Uni-Q ไดรเวอร์ถูกคำนวนด้วยคอมพิวเตอร์ความแม่นยำสูง ช่วยลดการเลี้ยวเบนของเสียงบริเวณเหลี่ยมสันของตู้จนแทบไม่มีผลกระทบใดๆ กับย่านเสียงแหลม ทำให้ได้ยินรายละเอียดหยุมหยิมชัดเจน
ความถี่ต่ำเหนือระดับ
สำหรับรุ่นตั้งพื้น ย่านทุ้มแต่เดิม KEF ใช้ระบบ Auxiliary Bass Radiators (ABRs) ซึ่งมีไดรเวอร์เบส 1 ตัว ทำงานร่วมกับพาสซีฟเรดิเอเตอร์ 2 ดอก มาเป็นการใช้ไดรเวอร์เบสแบบแอคทีฟทั้งหมด ปรับแต่งด้วย FEA-optimised ให้ระยะชักเป็นลิเนียร์ยิ่งขึ้น พร้อมลดความเพี้ยน นอกจากนั้นยังคำนวณตำแหน่งติดตั้งอย่างเหมาะสมเพื่อลดสแตนดิ้งเวฟภายในตู้ แทนการแบ่งตู้ลำโพงออกเป็นห้องย่อยหลายส่วนซึ่งอาจทำให้ต้นทุนขยับสูงเกินไป นับเป็นวิธีแก้ปัญหาได้อย่างแยบยล เมื่อรวมกับการออกแบบท่อ Flared port ใหม่ ทำให้เบสลงลึก ควบคุมได้แม่นยำ มีรายละเอียดและสะอาดราบรื่นมากกว่าเดิม
การขัดเกลาถึงขีดสุด
อีกหนึ่งไฮไลต์ คือ การปรับปรุงมุมกระจายเสียงของลำโพง โดยการดีไซน์ครอสโอเวอร์ใหม่ เน้นพัฒนาความราบลื่นในการตอบสนองของเสียงทั้ง on-axis และ off-axis ผ่านการวัดค่ามากกว่า 1400 ตัวอย่าง (ในรุ่น Q11 Meta) ด้วยไมโครโฟนคัสต้อมในห้องไร้เสียงสะท้อนที่เมืองเมดสโตน ประเทศอังกฤษ แบบเดียวกับการพัฒนาครอสโอเวอร์ของ Blade, Reference และ LS50 Meta ซึ่งทำให้ไดรเวอร์ทุกตัว และทุกองค์ประกอบทำงานร่วมกันกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวอย่างเต็มประสิทธิภาพ
รูปลักษณ์ / ดีไซน์
ดีไซน์ของ Q11 Meta ยังคงเป็นแนวร่วมสมัยแบบมินิมัลที่ดูไม่เบื่อ การใช้สีผิวตู้แบบ Satin Black ให้ความรู้สึกเรียบสงบ หรูหรา เข้ากับสไตล์ห้องได้ดี ทั้งโทนเข้มและสว่าง คุมโทนของไดรเวอร์ พร้อมหน้ากากแม่เหล็กสีเดียวกับลำโพง นอกจากนี้ยังมีสี Satin White และสี Walnut ที่เพิ่มจากรุ่นก่อนให้เลือกเพื่อเปลี่ยน mood & tone
มิติของตู้ (สูงxกว้างxลึก) 43.8”x12.5”x15” เทียบกับตัวท็อป Q950 ของ Q ซีรี่ส์เดิม จะดูเพรียวขึ้น แต่เพิ่มความลึกของตู้มากกว่า
ไฮไลต์คือ การเปลี่ยนมาใช้ดีไซน์ 3 ทาง (Uni-Q ไดรเวอร์ + เบสไดรเวอร์ 3 ตัว) จุดตัดความถี่ 480Hz และ 2.7kHz ตัว Uni-Q ไดรเวอร์ประกอบด้วยมิดเรนจ์กรวยอะลูมิเนียมขนาด 4 นิ้ว ฝังทวีตเตอร์โดมอัลลอยด์ 0.75 นิ้วไว้ตรงกลาง มี Tangerine waveguide ทรงเกลียวใบพัดช่วยรีดเอาต์พุตย่านเสียงแหลม ส่วนวูฟเฟอร์เป็นไดรเวอร์ Hybrid aluminium cone อะลูมิเนียมซ้อนกรวยกระดาษ ขนาด 6.5 นิ้วสามตัว
บริเวณด้านหลังส่วนล่างติดตั้งท่อพอร์ตและขั้วต่อไบดิ้งโพสต์แบบซิงเกิลไวร์ พร้อม Plinth ขาตั้งดีไซน์ใหม่และสไปก์แบบยางแข็งสี่จุด (สไปก์เดือยแหลมแยกจำหน่าย)
เซ็ตอัพ
Q11 Meta เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ที่ยืดหยุ่นต่อการจัดวางเกินคาด แม้เปลี่ยนจากระบบตู้ sealed box + พาสซีฟเรดิเอเตอร์ ซึ่งมีเอฟเฟ็กต์ย่านความถี่ต่ำกับห้องน้อยกว่า มาเป็นระบบ bass reflex ที่มีพอร์ตยิงออกด้านหลังแทน แถมมีปริมาตรตู้มากขึ้นกว่ารุ่น Q750 ที่เคยได้ทดสอบไปหลายเดือนก่อน แต่ตำแหน่งในการจัดวางนั้นค่อนข้างใกล้เคียง
ตามคู่มือแนะนำระยะห่างจากผนังด้านหลังไม่ควรน้อยกว่า 50 เซนติเมตร (วัดจากท้าย) และห่างจากผนังข้างมากกว่า 1 เมตร (วัดจากด้านข้าง) ซึ่งในห้องฟังปกติหากจำเป็นต้องวางลำโพงน้อยกว่าระยะที่กำหนด แล้วเกิดอาการเสียงทุ้มโด่ง อื้ออึง สามารถใช้ปลั๊กโฟมอุดท่อพอร์ตเพื่อปรับจูนการตอบสนองย่านเสียงทุ้มให้ราบเรียบขึ้นได้อีกสองระดับ ระยะห่างระหว่างลำโพง (วัดจากกึ่งกลาง) ไกล้สุดคือ 1.5 เมตร และไกลสุดคือ 3 เมตร ส่วนระยะจุดนั่งฟังให้เอาระยะห่างระหว่างลำโพงคูณด้วย 1.2 สามารถทดลองปรับโทอินลำโพงได้ในช่วง 0-15 องศา
หลังติดตั้ง Plinth เข้ากับลำโพง ผมลองใช้ rubber feet ยางแข็งที่แถมมาให้ดูเบื้องต้น ปรากฏว่ามวลเสียงย่านทุ้มจะติดหนาไปนิด ปรับเซ็ตอย่างไรอาการนี้ก็ยังคงติดปลายนวมอยู่ เลยตัดสินใจถอดสไปก์เดีอยแหลมจากขาตั้ง Atacama รุ่น HMS1 ซึ่งระยะเกลียวเท่ากันพอดีมาลองใส่แทน ปรากฏว่าทุ้มคมกระชับ ได้ความโปร่งใส มีฮาร์โมนิกรอบๆ ตัวเสียงอย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้นทันที ส่วนถ้าเป็นสไปก์ของ KEF (PQ1 Plinth Spike Kit) จะแยกขายเป็นออปชั่น โดยเฉพาะการวางบนพื้นที่ปูพรม แนะนำให้ใช้ครับ
เรื่องการแม็ตชิ่ง จากสเปกลำโพงระบุความต้องการของกำลังขับไว้ 15 – 225 วัตต์ ความไว 89dB และอิมพีแดนซ์ปกติ 4 โอห์ม (ต่ำสุด 3.2 โอห์ม) เป็นโหลดที่ไม่หนักเกินไป แต่เมื่อลองขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ 120 วัตต์ที่โหลด 4 โอห์ม แม้สมดุลเสียงค่อนข้างดี แต่ยังรู้สึกว่ามีความคลุมเครือและควบคุมย่านทุ้มได้ไม่เด็ดขาดนัก เลยลองเปลี่ยนไปใช้เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก class D ซึ่งมีกำลังขับ 240 วัตต์ที่ 4 โอห์ม ปรากฎว่าลำโพงตอบสนองได้ดีขึ้นมาก มี headroom ที่รับมือกับไดนามิกได้ดีขึ้น และได้ทุ้มที่สะอาดแม่นยำลงไปถึงช่วง sub-bass กันเลยทีเดียว
อนุมานว่า Q11 Meta ต้องการจับคู่แอมป์ที่มีตัวเลขกำลังขับสูงหน่อย สัก 150-200 วัตต์ที่โหลด 4 โอห์ม กำลังสวย จะให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าการใช้แอมป์วัต์กลางๆ ขับมากพอสมควร โดยเฉพาะความชัดเจนของช่องไฟและความใสสะอาดชัดเจนตลอดย่านความถี่ และมีบุคลิกที่ดูจะถูกโฉลกกับแอมป์ class D ยุคนี้ที่สามารถจ่ายกระแสได้ดีในย่านความถี่ต่ำเป็นพิเศษ
เสียง
ทันทีที่ทุกอย่างลงตัว น้ำเสียงของ Q11 Meta ทำให้อดทึ่งได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องไดนามิกคอนทราสต์ที่ไล่ระดับได้อย่างละเอียดสวยงาม มีความประณีตในน้ำเสียงของย่านกลางแหลม มีสัดส่วนความเป็นไฮเอ็นด์เด่นชัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมิดเรนจ์ที่มีขนาดเล็กลงเหลือ 4 นิ้ว ชวนให้นึกถึง KEF R3 Meta อีกรุ่นที่เคยได้ฟัง เรียกว่าถ้ารุ่นสูงกว่าให้ความละเอียดของเสียงออกมาได้ 100 ระดับ Q11 Meta ก็อยู่ที่ 85 ระดับ แทบหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว
แม้เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ที่ตอบสนองความถี่กว้าง แต่ความสามารถในการรักษาโทนัลบาลานซ์นั้นยังคงยอดเยี่ยมอยู่เสมอตามสไตล์ KEF บอกเลยว่า หากอยู่ในห้องที่เหมาะสมและเซ็ตอัพตามที่ระบุไว้ มันจะให้ความราบเรียบและราบลื่นตลอดย่านความถี่ได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มีความต่อเนื่องตั้งแต่ย่านทุ้มกลางแหลมแบบไร้รอยต่อ ซึ่งใครที่ผลัดหูมาจากลำโพงอเมริกันสไตล์ที่เน้นปริมาณทุ้มสักหน่อยอาจจะรู้สึกว่า มันราบเรียบเกินไปเลยด้วยซ้ำ แต่ข้อดีคือ เสียงทุ้มนั้นมาแบบถูกที่ถูกเวลาเสมอ [อัลบั้ม Meet Me in London – Antonio Forcione]
ย่านกลางแหลมที่สะอาดโปร่งใสเป็นเอกลักษณ์ของ Uni-Q ไดรเวอร์อาร์เรย์ถูกยกระดับขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับรุ่นเก่าที่เคยทดสอบไปอย่าง Q750 มันมีโครงสร้างทางเสียงที่สมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฟังแล้วเป็นธรรมชาติมากขึ้นเหมือนกำลังฟังเสียงจริงๆ มากกว่าเดิม
เทคโนโลยีในการลดความเพี้ยนของตัวไดรเวอร์ เสริมกับการลดคัลเลอร์จากโครงสร้างตู้ ทำให้เสียงกลางแหลมมีความเพี้ยนต่ำและผ่อนคลาย ไร้ความหยาบกร้าน มีรายละเอียดที่ชวนฟังอย่างยิ่ง มวลเสียงย่านกลางต่ำก็อุดมสมบูรณ์แบบไม่เกินเลย ทำให้เกิดมิติตื้นลึกของอิมเมจเสียงที่ขึ้นรูปเป็นตัวตนให้รับรู้ได้ มีทั้งสเกลที่แม่นยำและสัดส่วนที่ถูกต้องอย่างที่ควรเป็น
ย่านทุ้มโดดเด่นมากสำหรับลำโพงตั้งพื้นพิกัดราคาไม่เกินหนึ่งแสน เพราะแทบไม่ต้องเลือกเลยระหว่างคำว่าปริมาณและคุณภาพ ถึงแม้ว่า Q11 Meta ยังคงบุคลิกแบบลำโพงฝั่งอังกฤษที่แฝงความสุภาพนุ่มนวล มีเสียงทุ้มที่สอดรับกับย่านกลางแหลมอย่างแนบเนียน ไม่เน้นแรงปะทะหนักหน่วงคมชัดเท่าลำโพงอเมริกัน
แต่ในความนุ่มนวลนั้น ไม่ปรากฎความพร่าเบลอของอิมเมจย่านทุ้ม มีเพียงความนุ่มนวลของสายอะคูสติกเบสที่สั่นไหวอย่างชัดเจน หรือเสียงทุ้มแบบเสียงสังเคราะห์ที่เข้มเป็นตัวตนชัดเจนแต่ไร้อาการขึ้นขอมกระด้างคมแข็ง เมื่อจัดวางตำแหน่งได้เหมาะสมจะได้การตอบสนองความถี่ต่ำสุด (sub-bass) ที่ราบเรียบ ช่วยเสริมบรรยากาศของดนตรีได้อย่างสมบูรณ์
ไดนามิกเรนจ์ที่ Q11 Meta ถ่ายทอดออกมานั้นเปิดกว้างเป็นพิเศษ ให้รายละเอียดที่ครบชัด ไม่ว่าฟังเบาหรือดัง จนฟ้องคุณภาพของต้นทางออกมาได้ง่าย ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับบางคนและเป็นข้อเสียสำหรับบางคนเช่นกัน [Still Crazy After All These Years – Paul Simon] การฟังเวอร์ชั่นไฮเรสบน TIDAL จะรับรู้ช่วงความต่างระดับเสียงจากช่วงเบาสุดไปหาดังสุดออกมาได้เต็มที่ ในขณะที่ฟังอัลบั้มเดียวกันแบบ lossy ฟอร์แมต บน Spotify จะรู้เลยว่า ไดนามิกสวิงได้แคบกว่า และรายละเอียดช่วงเบากับช่วงดังยังไม่ชัดเจนเท่า
Timbre ของเครื่องดนตรีต่างๆ แสดงออกมาได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ไฟฟ้า เปียโน แซ็กโซโฟน หรือพวกเครื่องทองเหลือง โดยให้ความรู้สึกถึงน้ำหนักและเนื้อเสียงที่เต็มอิ่มมาครบ ตั้งแต่หัวเสียงไปจรดหางเสียง ซึ่งช่วยดึงอารมณ์ร่วมไปกับบทเพลงได้ดี โดยเฉพาะพวก live concert
เวทีเสียงกว้างโอ่อ่ามาก จำลองภาพเวทีเสียงที่เป็นโถงและให้ความลึกที่มีการจัดวางตำแหน่งของเสียงเครื่องดนตรีได้อย่างแม่นยำและมั่นคง [Seven Pillars – Andy Akiho, Sandbox Percussion] ให้อิมเมจของชิ้นดนตรีหลุดลอยอิสระจากตู้แบบสบายๆ แทบไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของตู้ลำโพงตรงหน้า และไม่จำเป็นต้องนั่งในตำแหน่งที่ดีที่สุดก็สามารถรับรู้ได้ ซึ่งต้องขอยกเครดิตตัวโตๆ ให้กับมุมกระจายเสียงอันยอดเยี่ยมทั้งแนวราบและแนวดิ่งของลำโพงคู่นี้
การถ่ายทอดไดนามิกคอนทราสต์ของเพลงทำได้อย่างมีเสน่ห์ [Postcards – The Turtle Creek Chorale] นำเสนอรายละเอียดในส่วนที่แผ่วเบามากๆ ออกมาได้น่าประทับใจ อย่างเสียงร้องประสานที่คลอเบาๆ หรือรายละเอียดหยุมหยิมที่แสดงบรรยากาศของดนตรีก็ยังได้ยินทุกรายละเอียดแบบไม่อำพราง ทั้งช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงความดังเสียงอย่างฉับพลัน หรือช่วงเบาสลับดัง ให้ความสดในระดับที่สามารถนำเสนอทั้งความนุ่มนวลและมีพลังได้เข้าถึงอารมณ์ตามบทเพลงด้วยคะแนนสูงทีเดียว
สรุป
ผมว่าทีมผู้ออกแบบตกผลึกในการผลิตลำโพงตระกูล Q Meta ซีรี่ส์นี้อย่างสมบูรณ์ แก้ทางข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ใน Q ซีรี่ส์เดิมได้หมดจด แถมยกระดับคุณภาพเสียงขึ้นไปใกล้เคียงกับ R ซีรี่ส์ได้อย่างน่าประทับใจ มีความครบเครื่องในหลายประเด็น แทบไม่มีข้อจำกัดในการเอาไปใช้งาน ทั้งการฟังเพลงหรือชมภาพยนตร์ ถ้าคุณเป็นคนที่มีความชอบเสียงแบบธรรมชาติ ราบรื่น มีไดนามิกที่จะดึงอารมณ์ผู้ฟังให้จดจ่ออยู่กับคอนเทนต์ตรงหน้า แอมป์กำลังขับถึง รวมถึงมีพื้นที่พอที่จะให้ลำโพงหายใจได้อย่างสะดวกสักหน่อย แนะนำอย่างหนักแน่น ต้องไปลองฟัง KEF Q11 Meta คู่นี้ก่อนเป็นอันดับแรก
“นี่คือลำโพงตั้งพิ้นระดับ entry-level ที่ดีที่สุดของ KEF เท่าที่เคยได้ฟังมา”
เป็นความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาสำหรับการเขียนสรุปส่งท้ายบทความทดสอบนี้ครับ. ADP
KEF Q11 Meta
ราคา 95,900 บาท/คู่
PQ1 Plinth Spike Kit
ราคา 3,900 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation
โทร. 02-692-5216
No Comments