“My experience suggests that the only way to determine the best cable or interconnect for your system is to experiment and listen” Robert Harley เขียนไว้ในหนังสือ “THE COMPLETE GUIDE TO HIGH-END AUDIO”

แต่สำหรับ Zensonice: Twirelight Real อาจไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำนี้ก็ได้ เพราะด้วยคุณสมบัติที่เปรียบเสมือนเป็นท่อกลวง ไม่ขวางกั้นการเดินทางผ่านของคลื่นเสียงที่อยู่ในรูปของไฟฟ้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเอาไปใช้งานกับชุดเครื่องเสียงใดๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ในเชิงบวกเหมือนกันทั้งหมด เป็นสายที่เรื่องแม็ตชิ่งกับซิสเต็มไม่ค่อยมีนัยสำคัญเท่าไหร่ สามารถซื้อไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องลองฟังก็ได้ แต่ถ้าต้องการให้มั่นใจจริงๆ การได้ลองฟังก่อน ย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดแน่นอนครับ

มาทำความเข้าใจกันก่อน

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก ผมขออธิบายแนวคิดและแนวทางการเขียนบทความที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องเสียงและแผ่นซอฟต์แวร์ นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปของผมครับ

ข้อควรทราบ! !! สิ่งที่ผมเขียนไม่ใช่เป็น “การทดสอบ” แต่เรียกว่า.. การบอกเล่าข้อมูลจากที่ได้ทดลองใช้งาน ที่ไม่เรียกว่า “การทดสอบ” เพราะการทดสอบมีขั้นตอนของการเปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์ที่ทดสอบกับอุปกรณ์ที่เป็นตัวอ้างอิงในชุดเครื่องเสียง เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งตอนนี้ ผมไม่สนุกที่จะทำแบบนั้น เนื่องจากการเปรียบเทียบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีปัจจัยที่ต้องควบคุมเพื่อให้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้ และเวลาเขียนอธิบายยิ่งยาก ส่วนวิธีการของผมเป็นการนำอุปกรณ์เข้าไปใช้ในชุดเครื่องเสียงอ้างอิง แล้วบอกเล่าข้อมูลว่าเป็นอย่างไร

ดังนั้นจึงต้องหาชุดเครื่องเสียงอ้างอิงที่ผมมั่นใจว่าจะใช้เป็น indicator ในการทำงานได้ และนั่นจึงต้องย้อนกลับไปเล่าถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะเขียนถึงสาย Zensonice: Twirelight Real ในครั้งนี้

ชุดเครื่องเสียงอ้างอิง.. ของใคร?

ชุดเครื่องเสียงของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เพราะเหตุผลนานาประการ เรื่องแรกก็เป็น “รสนิยม” ในความชอบเสียงที่ต่างกัน เรื่องต่อไป “รสนิยม” ในความชอบดีไซน์ที่ต่างกัน เรื่องที่สาม “พื้นที่” ในการใช้งานที่ต่างกัน เรื่องที่สี่ “วัตถุประสงค์” ในการใช้งานที่ต่างกัน ฯลฯ

สำหรับผม ชุดเครื่องเสียง นอกจากเอาไว้ฟังเพลงแล้ว ผมยังต้องเอาไว้ใช้ทำงานด้วย เพราะฉะนั้น เหตุผลในการเลือกจึงมีปัจจัยเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหลังจากปรับไปปรับมา ผมก็ได้ชุดเครื่องเสียงอ้างอิงที่สามารถใช้ทำงานได้ดี ประกอบด้วย… เครื่องเล่นแผ่นเสียง Lenco: L70, พาสสีฟปรีแอมป์ Zensonice: Twirelight Passive Preamp, เพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตท Electron Kinetic: Eagle 2, เครื่องเล่นบลูเรย์ Arcam FMJ ใช้เป็นทรานสปอร์ต, Meridian: Director DAC สำหรับแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อกที่รับมาจากเครื่องเล่นบลูเรย์ Arcam, สุดท้าย ลำโพงนิรนามที่สามารถเป็น indicator ให้ได้ยินถึงความแตกต่างของเสียงได้  

เมื่อมีอุปกรณ์ครบแล้ว สิ่งที่จะมาเติมช่องว่างให้สมบูรณ์ก็คือ สายเชื่อมต่อต่างๆ ตั้งแต่.. สายไฟเข้าเพาเวอร์แอมป์, สายลำโพง, สายนำสัญญาณ, สายสัญญาณของเครื่องเล่นแผ่นเสียง, สายดิจิทัลโคแอ็กเชี่ยลต่อจากทรานสปอร์ตไป DAC

ก่อนหน้านี้ ผมก็มีสายที่ใช้งานอยู่แล้วบ้าง เป็นการผสมผสานหลายๆ ยี่ห้อ ในระหว่างนั้น ทาง Zensonice ก็ได้ออกสายซีรี่ส์ใหม่พอดี นั่นคือ Twirelight Real ที่มีวัตถุประสงค์ให้เป็นสายที่ไม่เป็นคอขวด สำหรับ sound current ที่เดินทางผ่าน จึงมีชื่อต่อท้ายว่า “REAL” ก็คือ “เสียงจริง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่ผู้ผลิตสายต่างก็มีความต้องการที่จะทำสายที่ถ่ายทอดเสียงได้สมจริง แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่าย เพราะปัจจัยมันเยอะ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดก็ต้องมาจบที่การใช้งานและการฟังเสียงด้วยหูของเราเอง

งานทำมือระดับงานฝีมือ

สาย Zensonice: Twirelight Real เป็นงานที่ประกอบด้วยมือของทีมผู้ผลิตที่มีความชำนาญและเข้าใจในการทำสาย ข้อดีคือ คนทำได้เห็นสายตั้งแต่เริ่มทำจนสำเร็จ จึงใส่ใจในทุกขั้นตอน ที่สำคัญ ทีมที่ทำเป็นคนออกแบบและช่างระดับทำงานฝีมือ ดังนั้น นอกจากเราซื้อคุณภาพของสายเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเสียงแล้ว ยังเหมือนได้ซื้องานฝีมือไปในคราวเดียวกัน คือข้อนี้จะบอกสั้นๆ ว่า พอเป็นงาน hand made ที่พิถีพิถันแล้ว มันทำให้สายดูมีเรื่องราวมากขึ้น ความเห็นส่วนตัวของผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับการเลือกใช้ของแบบนี้ โดยเฉพาะถ้าเราเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรธรรมดาๆ

ครอบครัว Zensonice Twirelight Real ที่ผมใช้งานอยู่

ตอนที่ทาง Zensonice เปิดตัวสายซีรี่ส์นี้ ผมก็บอกพี่แหลมไปว่า ขอยืมมาใช้เกือบทุกรุ่นนะครับ เพราะอยากฟังเป็นซิสเต็ม มียกเว้นตรงต้นทางจากปลั๊กไฟบ้านมาเข้าที่ step down isolation transformer ที่เป็นสายซีรี่ส์ใหญ่ของ Zensonice ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็น Twirelight Real เริ่มตั้งแต่ สายไฟจาก stepdown isolation transformer เข้าเพาเวอร์แอมป์, สายโฟโนจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้าโฟโนสเตจ, สายดิจิทัล coaxial จาก Arcam FMJ เข้า Meridian: Director DAC, สายสัญญาณจากพาสสีฟปรีแอมป์เข้าเพาเวอร์แอมป์, สายลำโพงจากเพาเวอร์แอมป์เข้าลำโพง รวมทั้งหมด 5 ประเภท

รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบสาย

ค่อนข้างอธิบายยาก ถ้าสนใจจริง แนะนำให้เข้าไปชมใน youtube ที่ผมได้พูดคุยกับพี่แหลมและคุณการุณชาติ ตามลิงก์นี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=jVT-m6-OFfc&t=1059s จะเข้าใจได้ง่ายกว่า                          

ได้ยินอะไรบ้าง?

การใช้งานสาย Zensonice: Twirelight Real ได้ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนในสิ่งที่ผมเคยได้ยินจากแผ่นซีดีและแผ่นเสียงที่เคยฟังมาก่อนหน้านี้ใหม่ทั้งหมด เพราะการได้ยินครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จนต้องกลับมาคิดว่าแล้วที่ฟังก่อนหน้านี้คืออะไร?

คุณสมบัติเด่นของสาย Zensonice: Twirelight Real ที่ชัดเจนที่สุดคือ “การเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่ไม่ไปลดทอน หรือเป็นตัวขัดขวาง การเดินทางของเสียงที่อยู่ในรูปของไฟฟ้า หมายถึงว่า ถ้าแผ่นบันทึกเสียงอะไรมาก็ตาม เมื่อถูกเล่นโดยเครื่องเล่น แล้วส่งผ่านมายังอุปกรณ์ตัวถัดมา จนสุดท้ายกลายมาเป็นเสียงที่เราได้ยิน เสียงจากจุดที่ 1 มาจนจุดสุดท้าย จะไม่มีอาการอั้นใดๆ ทุกเสียงเหมือนกับเดินทางในถนนที่ราบเรียบ ดังนั้น เมื่อฟังจากซิสเต็มที่ใช้สาย Twirelight Real แล้ว จึงเหมือนไม่มีอะไร เพราะสายไม่ไปขัดขวางการเดินทาง การเดินทางนั้นจึงไม่มีปัญหาใดๆ” ส่วนเรื่องคุณภาพของเสียงเป็นเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ ยิ่งอุปกรณ์ดี เสียงก็มีคุณภาพดีตาม .. ดังนั้น ในที่นี้ เมื่อพูดถึงเสียงจึงเป็นการพูดถึงเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงของผม ไม่ใช่เสียงของ Zensonice: Twirelight Real จริงๆ จะว่าไม่มีเสียงของสายเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะยังไงสายก็มีบุคลิกอยู่บ้าง แต่ไม่มากถึงกับมาครอบงำเสียงของอุปกรณ์หลัก

ที่อยากจะเล่าอีกก็คือ เรื่อง timing และ sense of space เพราะในการบันทึกเสียงนั้นต้องมี 2 อย่างนี้ถูกบันทึกมาด้วย เมื่อเราฟัง สิ่งที่ว่านี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วย เรื่องนี้ก็อธิบายยากเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างเรื่อง timing จากแผ่นซีดีอัลบั้ม “ภาพรัก” (ผู้จัดทำ – บริษัท สองสมิต) ของคุณสุภัทรา โกราษฎร์ เพลง “สิ้นรักสิ้นสุข” ก่อนหน้าที่จะเป็นซิสเต็มนี้ เพลงนี้ก็เหมือนเพลงที่ไพเราะทั่วไป แต่เสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรี เปรียบไปก็มีลักษณะเป็นเส้นตรง ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่พิเศษ แต่เมื่อฟังครั้งล่าสุดจากซิสเต็มนี้ เสียงทั้งหมดเปลี่ยนไป เพลงมีความซับซ้อนขึ้น จังหวะของการร้องมีความช้าที่สอดรับกับความหมายของเนื้อเพลง จังหวะของเครื่องดนตรีมีหน่วงเพื่อให้กลมกลืนไปกับเสียงร้อง เป็นความสมบูรณ์ของเพลงนี้ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกทอดอาลัย หมดเรี่ยวแรง

เรื่อง timing นี้ การรับรู้ของเราจะบอกเองว่า มันเป็นอย่างที่ควรเป็นหรือยัง ถ้ายังไม่ใช่ก็คือยังไม่ใช่ ซึ่งหลังจากใช้ Twirelight Real ในซิสเต็ม ตัดปัญหาเรื่อง timing ของเสียงที่ได้ยินว่าจะเพี้ยนจากต้นฉบับได้เลยครับ

เมื่อเสียงเดินทางโดยไร้อุปสรรค คุณสมบัติอีกเรื่องที่จะได้ยินก็คือ sense of space หรือ ความรู้สึกที่ผู้ฟังได้รับจากการฟังเสียงที่ถูกบันทึกมาในสภาพแวดล้อมของสถานที่บันทึกเสียงว่ากันง่ายๆ ก็คือ ตอนที่บันทึกเสียงเขาทำอะไรกัน เราก็จะรับรู้ถึงบรรยากาศตอนนั้นด้วย ตรงนี้กระมังครับ ที่เรามักใช้คำว่า สมจริง อธิบายถึงสิ่งที่ได้ยิน

อัลบั้ม “รักใหญ่กว่าโลกทั้งใบ” (ผู้จัดทำ – Zonic Records) บันทึกเครื่องดนตรีพร้อมกัน ณ สตูดิโอ 28 ดังนั้น เมื่อฟัง เราก็ควรต้องได้ยินสรรพเสียงที่อยู่ในนั้น แน่นอนว่า คุณภาพของซิสเต็มจะเปิดเผยความมาก-น้อย ของรายละเอียดเหล่านั้น กับซิสเต็มของผม ความกว้าง ความลึก บรรยากาศ เสียงร้องหลัก เสียงร้องประสาน เครื่องดนตรี และอื่นๆ ถูกถ่ายทอดมาได้ไม่น้อยเช่นกัน เรื่องนี้ก็เป็นดาบสองคม ถ้าต้นทางบันทึกมาไม่ดี เราก็จะรับรู้ถึงข้อบกพร่องที่มีอยู่ ดีว่าอัลบั้มนี้บันทึกเสียงมาโอเค ภาพรวมที่ได้ยินจึงไม่มีจุดใดสะดุดหูถึงความผิดปกติ

การที่ระบบสามารถถ่ายทอดเสียงได้โล่งๆ แบบนี้ เมื่อเติมอุปกรณ์อะไรเข้าไป ก็ได้ยินความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ตัวอย่างกรณีนี้คือ ผมได้ยืมอุปกรณ์กำจัดและดักจับสัญญาณรบกวน RN Marsh Design: Noise-Trap มาลองใช้เพื่อดูประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนในระบบ ซึ่งหลังจากต่อใช้งานก็รับรู้ได้ถึงเสียงที่ชัดเจนขึ้น พื้นเสียงมีความใสขึ้น ส่งผลให้ได้ยินรายละเอียดของเสียงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นนี้ ถ้าซิสเต็มให้ไม่ได้ก็ไม่ได้ยินชัดเจนเช่นนี้

หรือแม้แต่การเซ็ตอัพหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก เพราะได้ยินหมดว่า การปรับน้ำหนัก การปรับ anti-skating ทำให้เสียงเปลี่ยนไปในด้านใด ดีขึ้น หรือ แย่ลง

สิ่งที่อยากบอก

ผมใช้เวลา 4 เดือน ในการฟังซิสเต็มที่มีสาย Zensonice: Twirelight Real เป็นตัวกลางเชื่อมต่อ และใช้เวลาเท่าๆ กัน เพื่อเขียนบทความนี้ ซึ่งถ้าอ่านแล้วไม่เห็นว่าจะมีอะไรเลย ทำไมใช้เวลาเขียนนาน ผมก็จะบอกว่า .. ที่มันไม่มีอะไร ก็เพราะสิ่งที่มันมีสามารถเขียนได้สั้นๆ สองสามบรรทัดก็ยังได้ แต่ที่เขียนมายาวขนาดนี้เพื่อต้องการสำทับในประเด็นสำคัญว่า.. Zensonice: Twirelight Real เป็นตัวกลางที่เชื่อมอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงให้ทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ไปขวางความเก่งของแต่ละเครื่อง มาเท่าไหร่ก็ส่งไปเท่านั้นครับ. ADP   

Twirelight Real Power Cord ราคา 18,500 บาท
Twirelight Real Phono Interconnect cable ราคา 16,000 บาท
Twirelight Real RCA Interconnect cable ราคา 13,500 บาท
Twirelight Real Digital Coaxial cable ราคา 8,500 บาท
Twirelight Real Speakers cable ราคา 22,500 บาท

สอบถามเพิ่มเติม
Zensonice Team Audioworks
โทร. 081-4467141