ชุมพล

อุปกรณ์แปลงข้อมูลดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (Digital to Analog) ระดับไฮเอ็นด์สุดขั้ว ผลงานการสร้างและออกแบบ โดย.. นาย Angel Despotov ตัวจริงเสียงจริงที่นักเล่นเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ยอมรับ สิ่งที่ Analog Domain สร้างชื่อเสียงเอาไว้อย่างมากมาย คือ เพาเวอร์แอมป์ รุ่น M75P และอินทิเกรตแอมป์ รุ่น M75D ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะหรือคุณภาพเสียง

มีนัก DIY มือพระกาฬเคยพูดถึงแอมป์ของนาย Angle ว่า ถึงเอาวงจรมาดู ก็ไม่สามารถทำได้เหมือน เพราะว่าทั้งอุปกรณ์และอะไหล่ ถูก Custom made ขึ้นมาใหม่ รวมถึงการออกแบบวงจรที่มีแค่เฉพาะใน Analog Domain เท่านั้นที่ทำได้ ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่เคยผ่านหูผ่านตาเครื่องเสียงยี่ห้อนี้มาก่อน ทั้งที่ยี่ห้อนี้ได้รับการชมเชยจากงานเครื่องเสียงระดับโลกหลายต่อหลายงาน ทั้งที่อเมริกาและเยอรมนี Analog Domain ได้ถูกนำไปจัดชุดร่วมกับลำโพงไฮเอ็นด์ระดับโลก หลายยี่ห้อ เช่น Estelon หรือลำโพงของ Analog Domain เอง ที่ผมชอบคือเอาไปขับลำโพง Dali รุ่น Core ซึ่งเป็นรุ่น Flagship (น่าเสียดายที่เมืองไทยตัวแทนจำหน่ายไม่นำเข้ารุ่นนี้) กล่าวคือ ยี่ห้อ Analog Domain นี้ ไม่เน้นการตลาด หรือโฆษณาเท่าไหร่ เพราะไม่อยากให้ต้นทุนสูงจัด เน้นไปที่การ R&D project โดยเฉพาะเท่านั้น ที่ประเทศไทย บริษัท Exotech Design Lab ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสาย EDL เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย แต่เพียงผู้เดียวครับ

D to A Converter รุ่น DAC 1 V. เป็น DAC ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่หมดทั้งรูปแบบ, Topology และวงจรเสียง คอนเซ็ปต์ของนาย Angel ที่ผมชอบมากคือ ทำ DAC ที่ลูกค้าเสียบสายแล้วใช้งานได้เลย ไม่ต้องยุ่งกับการปรับตั้งค่าต่างๆ หรือเลือก Digital Filter ใดๆ อีก เพราะเครื่องจัดการเลือกให้เอง และต้องรองรับ Digital Format ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน เผื่อไปถึง Format ในอนาคต (อัพเกรด) ได้ด้วย

รุ่น DAC 1 V. หมายความว่ามี Volume ปรับระดับความดังของเสียงมาให้ด้วย ส่วนรุ่น DAC 1 เฉยๆ ไม่มี Volume ข้อดีคือ ถ้าคุณใช้ DAC 1 V. จะทำให้ประหยัดค่าปรีแอมป์ไปได้หลายตังค์อยู่ครับ เท่าที่ผมทดสอบ พบว่า ปรีแอมป์ระดับราคาปานกลางไม่เกินสองแสนทำอะไรโวลุ่มที่ให้มากับ DAC 1 V. ไม่ได้จริงๆ เอากับเขาสิครับ แต่ละอย่างที่ Analog Domain บอกมานั้น คือความจริงล้วนๆ ไม่ได้โม้เลยแม้แต่น้อย ในอนาคตเราจะเห็น Phono Stage ของ AD. ออกมาขายอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็น Phono ระดับบนๆ เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเขา

บุคลิกลักษณะเสียงของ Analog Domain ที่ผมวิเคราะห์ออกมาได้คือ มีความอิ่มหวานแบบแอมป์/
ปรีหลอด แต่มีไดนามิค อิมแพค ความหนักของเบสแบบแอมป์ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นแนวเสียงในอุดมคติของใครหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมเอง ข้อสำคัญ มันมาพร้อมกับ distortion หรือสัญญาณรบกวนที่ต่ำมากๆ จนไม่ได้ยินเลยครับ บุคลิกเสียงที่รวมเอาข้อดีของแอมป์หลอด+ทรานซิสเตอร์เข้าไว้ด้วยกันแบบนี้หาได้ยากยิ่งที่จะมีใครผลิตออกมาได้พอดิบพอดี และมีความสามารถในการขับดันลำโพงมหาโหดได้อีกต่างหาก ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าจะมีใครสักคนทำสำเร็จแล้วต้องจ่ายแพงหน่อยก็น่าจะคุ้ม ดีกว่าหลงทางวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเปลี่ยนเครื่องอยู่นั่นเอง สุดท้ายก็ได้พบว่า Analog Domain คือคำตอบของแอมป์โซลิดสเตทที่ให้เสียงคล้ายๆ แอมป์หลอด ซึ่งบุคลิกแบบนี้ส่งผ่านมาที่ DAC 1V. ด้วยครับ

รูปลักษณ์ภายนอกของ DAC 1V.

ดูแล้วเป็นดีไซน์ชนิดเรียบหรู ดูได้นานๆ ไม่เบื่อ ตัวถังเป็นอะลูมิเนียม ฝาเครื่องด้านบนสลักเป็นสัญลักษณ์ของ AD. ปาดขอบเฉียงลงมาหาขอบตัวถังสีดำตัดกับสีเงินของฝาบน/ล่าง และขาตั้งเครื่อง มองจากด้านหน้าเครื่องจะเห็นสวิตซ์กดเปิด/ปิด (Power) สวิตซ์กดเลือก Input ตั้งแต่ USB, OPT, EX1, EX2, AES, และสวิตซ์เร่งลด Volume, จอแสดงผล LED สีแดง อยู่ตรงด้านขวามือสุด

ด้านหลังเครื่องไล่มาจากทางซ้ายเป็นช่องเสียบ Analog Output ชนิด RCA และ XLR อย่างละชุด ถัดไปทางขวาเป็นช่อง Digital Input ตั้งแต่ AES/EBU, COA 2 ช่อง, Optical, USB, ช่อง Trigger สำหรับควบคุมอุปกรณ์อื่นๆ ของ Analog Domain มีสวิตซ์กดเปิด/ปิด อยู่เหนือช่องเสียบสายไฟชนิด IEC

ขารองเครื่องสูงประมาณ ½ นิ้ว ทำด้วยอะลูมิเนียม มีแผ่นคอร์กบางๆ แปะติดอยู่ด้านล่าง ทำหน้าที่ซึมซับแรงสั่นสะเทือน น่าแปลกใจที่อุปกรณ์เสริมตัวรองทั้งหลายใช้ไม่ได้ผลกับ DAC 1V. หากจะบอกตรงๆ คือ เอาอุปกรณ์เสริมประเภทใช้รองเครื่อง ไม่ว่าราคาถูกหรือแพง มาใช้กับ DAC 1V. แล้ว เสียงไม่ได้ดีขึ้นเลยครับ เขาทำมาดีแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรไปช่วยอีก!!! ไม่เคยเจอ และที่ขัดใจนักเลงฟิวส์ คือ ไม่ได้เผื่อช่องสำหรับเปลี่ยนฟิวส์ภายนอกเครื่องมาให้ด้วย ซึ่งผมไม่แนะนำให้เปิดฝาออกมาทำอะไรต่อมิอะไรไปอีกนะครับ เพราะสิ่งที่ DAC 1V. ให้มานั้น เหมาะสมลงตัวแล้วทุกประการ

ผมลองยกเครื่องดูก็ไม่ถึงกับหนักมากมาย โดยที่การประกอบนั้นทำได้เรียบร้อยมาก วัสดุที่ใช้คุณภาพสูงสามารถอยู่กับเราไปได้อีกยาวนาน DAC 1V. รองรับดิจิทัลฟอร์แมตได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ 16 Bits/44.1kHz ไปจนถึง 32 Bits/384kHz, DSD64, DSD128, DSD256 และในอนาคตสามารถอัพเกรด Firmware ได้อีกด้วย

Analog Domain DAC 1V. มีรีโมตคอนโทรลตัวเล็กๆ มาให้หนึ่งตัว ใช้ควบคุมระดับความดัง (Volume) ได้ นับว่ามีความสะดวกสบายในการใช้งาน และเป็นเครื่องระดับไฮเอ็นด์ที่ Set up ง่ายมากๆ แค่เสียบสาย เปิดสวิตซ์ ก็เล่นได้แล้วครับ ในกรณีที่คุณต่อ DAC 1V. ผ่านปรีแอมป์ โวลุ่มในตัวของมันจะทำตัวเป็น Output Gain ที่ปรับได้ตามความแรงของสัญญาณที่บันทึกมาในแต่ละ Source ซึ่งอาจจะมีความแรงไม่เท่ากัน ถือเป็นข้อดีอีกประการหนึ่งของ DAC เครื่องนี้

ผมนำ Analog Domain DAC 1V. มาต่อเข้ากับ CD Transport ยี่ห้อ Esoteric รุ่น P-70 ด้วยสายดิจิทัล XLR ที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ โดย C-3 สลับกับสาย Coaxial ของ EDL รุ่น Supreme (ขั้วต่อ RCA), ปรีแอมป์ Octave รุ่น HP 700 SE, เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก Antique Sound Lab รุ่น Hurricane, ลำโพง Amazing Line Source ของ Bob Carver + Active Subwoofer 15” ของ M&K, สายไฟ สายสัญญาณ สายลำโพง และปลั๊กพ่วง ทั้งหมดใช้ของ EDL รุ่น MK VI ซึ่งมีคุณสมบัติทางเสียงที่ไหลลื่น และให้พละกำลังที่ดีด้วย

DAC 1V. เป็นเครื่องที่ใช้งานง่ายมาก เพียงเสียบสาย เปิดสวิตซ์ และปรับตั้งระดับเสียง เครื่องก็พร้อมจะทำงานแล้ว ผมเลือกปล่อยสัญญาณจาก P-70 ออกมาเป็น 16 Bits/88.2kHz เปิดฟังไปเรื่อยๆ โดยในช่วง 10 ชั่วโมงแรกใช้แผ่นบันทึกเครื่องดนตรีอะคูสติกส์น้อยชิ้น และเพลงร้องที่ฟังง่ายๆ พอล่วงพ้นชั่วโมงที่ 11 ใช้เพลงคลาสสิคบรรเลงด้วยวงออเคสตร้าขนาดใหญ่ ผมเริ่มฟังทดสอบจริงจัง เมื่อการเบิร์นพ้นผ่านไป 20 ชั่วโมงแล้ว การปรับระดับโวลุ่มในตัวเครื่อง Analog Domain DAC 1V. มีผลต่อคุณภาพเสียงอยู่พอสมควร ถึงแม้ต่อแบบผ่านปรีแอมป์

ก่อนหน้านี้ ผมเคยฟัง DAC 1V. ต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์มาแล้ว บอกได้เลยว่า แทบไม่ต้องใช้ปรีแอมป์ แต่เมื่อได้ปรีแอมป์ดีๆ เข้ามาช่วยก็ดูเหมือนว่าเสียงมีความอิ่มหนาขึ้นมา และมีแรงอัดฉีดที่เพิ่มขึ้นด้วย

ในการทดสอบ ผมลองทั้งต่อผ่านปรีแอมป์ Octave รุ่น HP-700 SE และต่อตรงเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ Antique Sound Lab รุ่น Hurricane ต้องยอมรับว่า การต่อผ่านปรีแอมป์(ที่ดี) แม้ว่าต้องเพิ่มสายสัญญาณและสายไฟเอซีขึ้นมาอีก 1 ช่วง เสียงดีกว่าต่อตรง ดังนั้น ผลการทดสอบต่อไปนี้อ้างอิงจากการเล่นที่ใช้ปรีแอมป์ในระบบนะครับ

เมื่อนึกถึงลักษณะเสียงโดยรวมๆ ของ Analog Domain DAC 1V. สิ่งที่แวบเข้าสู่สมองของผมคือ มันมีความเป็นอะนาล็อกที่แทบจะไร้บุคลิกของดิจิทัลมาปะปนเลย เสียงอิ่มมีประกาย ฮาร์โมนิกบริบูรณ์ เวทีเสียงกว้างใหญ่ ไดนามิคสวิงได้กว้างสุดๆ ตลอดย่านความถี่ และเที่ยงตรงต่อโปรแกรมที่ป้อนเข้าไปให้มัน สมความเป็น DAC ชั้น Hi-End ฟังดนตรีคลาสสิค แทร็ก Fanfare For The Common Man ของ Copland เสียงเครื่องเป่ากลุ่ม Brass แยกแยะออกมาได้ชัดๆ ว่ามีเครื่องดนตรีชิ้นไหน ประเภทใด กำลังบรรเลงอยู่ในโน้ตนั้นๆ เสียงเครื่องกระทบ กลองใบใหญ่มีสเกล แรงปะทะ และการกระเพื่อมเหมือนจริง ที่เหนือชั้นสุดๆ เลย คือ ให้บรรยากาศหรือแอมเบี้ยนต์ของสถานที่บันทึกเสียงออกมาเหมือนกับเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ ในเพลง Firebird ก็เช่นเดียวกัน  ผมไม่เคยรับรู้ถึงสถานที่บันทึกเสียงได้สมจริงขนาดนี้มาก่อนเลย แถมด้วย “เบสทะลุห้อง” เสียงต่ำมันลงลึกกระแทกกระทั้น และการกระเพื่อมชนิดที่คุณต้องสะดุ้ง ความเก่งกาจของ DAC 1V. อีกเรื่องหนึ่งคือ ได้ยินรายละเอียดครบถ้วนทุกเม็ดทุกย่านความดังของเสียง เหมือนในยามที่นักดนตรีเล่นเบาๆ ก็ยังสามารถติดตามได้โดยง่าย มันให้มาแบบที่นักวิจารณ์ชอบเขียนว่า “ไม่เคยได้ยินเสียงนี้มาก่อน” ยกตัวอย่าง เช่น เพลง Spanish Harlem ของ รีเบคก้า พีเจนท์ ในชุดเครื่องเสียงที่ดีมาก คุณจะได้ยินก๊อกแก๊กแทรกเข้ามาเป็นเบาๆ ในระหว่างที่เล่นไปช่วง 4-5 นาที คราวนี้มาแบบชัดเจนเต็มสองหู และฟังออกว่า เสียงมันไม่ได้มาจากการกระทบกับเครื่องดนตรี แต่มาจากวัตถุอื่นที่อยู่ในห้องอัดนั้นเอง ส่วนเพลง Grandma’ & Hands ของ ลิฟวิงสตัน เทย์เลอร์ ที่จะมีเสียงตบเท้าเบาๆ นั้น คราวนี้มีความกังวานพรึ่บๆ แผ่ออกมาตามจังหวะด้วย ฟังเครื่องเสียงมาหลายชุดแล้ว ก็เพิ่งจะได้ยินอะไรแบบนี้ครับ ผมทดลองกับแผ่นซีดีเพลงไทยบ้าง เพลง “กระดาษห่อไฟ” ของ เสือ ธนพล ตอนขึ้นต้นเพลงมีเสียงจุดไม้ขีดไฟลากจากซ้ายไปขวาสั้นๆ คราวนี้ผมได้ยินเสียงขีดหัวไม้ขีดไฟจนไฟลุกฟู่ขึ้นมาทีละนิด ไล่จากซ้ายโอบเข้าหน้าเวทีนิดหนึ่ง แล้วค่อยๆ ถอยกลับเข้าไปทางลำโพงขวา โอ้ว! แม่เจ้า เสียงแบบนี้ แผ่นเสียงก็ยังให้ไม่ได้เลยครับ ผมลองแบบ A/B Test มาแล้ว ยอมรับจริงๆ ว่า นาย Angel แกทำ DAC ออกมาได้สุดติ่งจริงๆ ถึงได้มีราคาค่าตัวแพงขนาดนี้

ผมฟังทดสอบต่อด้วยแผ่น Poetry Of The Sea ปั๊มแรกของ JVC ได้ยินเสียงดนตรีหลายชิ้นที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน การจัด layer ของเสียงเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัยมาก ห้องฟังของผมกลาย เป็นชายหาดโอกินาว่า เสียงคลื่นซัดแรงมากบ้าง เบาบ้าง มีอาการม้วนตัวลงกลับไปในทะเล เสียงเครื่องสายฟังแล้วไพเราะมาก เหมือนกับถูกรีมาสเตอร์ใหม่ มีเพื่อนๆ ที่ผ่านมาแวะห้องฟัง และคุ้นกับแผ่นนี้ดี ต่างก็รู้สึกแปลกใจว่า แผ่น JVC ธรรมดาที่บันทึกไว้นานเกินกว่า 20 ปีแล้ว จะมีที่ไพเราะถึงเพียงนี้ ใครมีแผ่นนี้เก็บไว้ดีๆ เถอะครับ เอาไปเปิดกับเครื่องเสียงดีๆ จะรู้ว่า วิศวกรเสียงชาวญี่ปุ่นนี้ แกทำเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่าได้คิดว่าฝรั่งเก่งกว่าคนเอเชียไปเสียทั้งหมด ผมลองแผ่นเพลง Jazz ที่รุ่มรวยบรรยากาศอย่าง Jazz At The Pawn Shop เป็นซีดีแผ่นทองผลิตในญี่ปุ่น ที่เสียงดีมากๆ ปกติผมฟังเพลง High Life เพื่อทดสอบเครื่องเสียงเป็นประจำ รู้สึกว่าเวทีเสียงค่อนข้างแคบ เนื่องด้วยสถานที่บันทึกสียง คือ Stampen Pub นั้น ไม่ใช่ร้านขนาดใหญ่โตอะไร เวลาที่ใช้ AD. DAC 1V. แล้ว ช่วยถ่างอาณาบริเวณเวทีเสียงออกไปทุกๆ ด้าน ไม่มากจนเวิ้งว้าง เสียงดนตรียังคงเชื่อมเข้าหากันด้วยบรรยากาศการแสดงสด ไม่มีอะไรตกหล่นไปสักนิด ความสดสมจริง อารมณ์สนุกสนานปรากฏออกมาชนิดที่แทบจะจับต้องได้ ที่ผมรู้สึกทึ่งมากคือ เสียงที่ได้ยินนั้นบอกได้ว่า นักดนตรีมีการขยับเขยื้อนตัว หรือขยับมือไม้อย่างไร ที่ผ่านมาในบางชุดเครื่องเสียงอาจจะสำแดงปรากฏการณ์เช่นนี้ออกมาได้บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนจะแจ้งเท่านี้มาก่อน เสน่ห์ของเพลง Jazz ถูกนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจ ชวนให้ฟังต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้เบื่อ ทำให้ผมลืมสังเกตไปเลยว่า เสียงทุ้ม กลาง  แหลม เป็นอย่างไร มันฟังเพลินจริงๆ ครับ

ในส่วนของเพลงที่ทำออกมาเพื่อโชว์ความพิเศษของชุดเครื่องเสียง อย่างเช่น แผ่นซีดีรวมเพลงทดสอบของ Dali Vol. 1 และ 2 นั้น ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมราคาของซีดีอัลบั้มนี้ถึงดีดขึ้นไปจนถึงแผ่นละ 4,000 บาท ใน Ebay ฝีมือการมิกซ์และรีมาสเตอร์ของเขาทำได้สุดยอด โชว์สมรรถะของเครื่องเสียงออกมาได้ครบถ้วนกระบวนความจริงๆ ในแผ่นซีดีของ James Blake ศิลปินจากอังกฤษกับเพลง Limit To Your Love มีการเล่นกับเสียงต่ำๆ ที่ลงลึกอย่างน่ากลัว มีเบสอัดออกมาเป็นระลอก ซ้อนตามกันมา ลูกแรกยังไม่ทันกระเพื่อมหาย ลูกสอง สาม ตามมาอีกแล้ว แถมด้วยการเล่นกับการปรับเฟสให้การยิงเสียงออกมาจากลำโพงมีการกวาดเอียงเหมือนกับลำแสงเลเซอร์ที่บีมออกมา แล้วหมุนปรับองศา ทุกอากัปกริยาที่ผมบรรยายมาข้างต้น ชัดเจนมาก มีรายละเอียดยิบยับ ตั้งแต่การเกิดขึ้น คงอยู่ จางหาย ลักษณะของการทับซ้อนองศาของ Beam เสียงที่เปลี่ยนแปลงไป

เรื่องคุณสมบัติพื้นฐานอย่างโทนัลบาลานซ์ เวทีเสียง อิมเมจ ไดนามิค ความใส และคอนทราสต์ นี่หายห่วง Analog Domain DAC 1V. ทำได้ดีเยี่ยมในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว ที่ผมชอบมากคือ มันไม่ได้ไปสร้าง “บุคลิกเสียง” ใหม่ ให้กับสัญญาณดิจิทัลที่ส่งเข้ามาแปลงข้อมูล อะไรดีก็ว่าดี อะไรที่ไม่ดีก็เป็นไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าทำการปรับปรุงแต่งจนกลายเป็นอีกเสียงหนึ่งไปเลย ซึ่ง DAC ในยุคหลังนี้ชอบทำกันจัง เหตุผลคือเพื่อช่วยสัญญาณขาเข้าที่อาจจะทำมาได้ไม่ค่อยดี มีความแห้ง หยาบ กระด้าง จึงต้องแต่งเติมเข้าไป ผลคือ ไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพราะเสียงมันออกมาใกล้เคียงกันไปหมด

สรุป

DAC ของ Analog Domain รุ่น DAC 1V. เป็น DAC ที่ให้เสียงออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟัง DAC มา ข้อควรระวังมีเพียงประการเดียวคือ ระบบกระแสไฟฟ้าที่บ้าน หรือที่ไหนก็ตามที่คุณจะนำ DAC ตัวนี้ไปใช้งาน ควรมีการตอก Ground ลงดินจริงๆ ไม่ใช่แค่ปลั๊กมีสามขา แต่ลอยกราวด์ไว้เฉยๆ ทั้งนี้เพื่อให้วงจรของเครื่องทำงานได้สมบูรณ์แบบตามที่นาย Angle แกออกแบบมา ขอให้คุณโชคดีที่ได้ครอบครอง DAC ตัวนี้ครับ. ADP

ราคา 990,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Exotech Design Lab
โทร. 0986145156
Line: 0986145156

#AudiophileVideophile
#ExotechDesignLab
#AnalogDomain