การสานตำนานบทใหม่

ช่วงปี 2014 Paul Barton ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมออกแบบ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมากมายของแบรนด์ PSB เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อออดิโอถึงลำโพงไอคอนิกอย่าง Imagine T3 ว่าเป็นหนึ่งในลำโพงที่ดีที่สุดที่เขาเคยออกแบบมา และเอาไปใช้เป็นลำโพงอ้างอิงในซิสเต็มส่วนตัวอยู่นานหลายปี แม้อย่างนั้นก็ตาม เขาก็เตรียมวางแผนที่จะทำการอัพเดต Imagine ซีรี่ส์นี้ในอนาคต

หลังฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของบริษัท ด้วยการเปิดตัวลำโพง Passif 50 ไปไม่นานนัก PSB ก็เปิดตัว Imagine เจเนอเรชั่นถัดไปขึ้นมา ทิ้งห่างจาก Imagine ซีรี่ส์ดั้งเดิมร่วม 8 ปี ซึ่งครั้งนี้ Imagine ถูกวางตัวให้เป็นซีรี่ส์ระดับกลางด้วยคอนเซปต์ “best value, no-compromise performance” โดยนำเทคโนโลยีบางส่วนจาก Synchrony ซีรี่ส์เรือธงในปัจจุบันของ PSB มาประยุกต์ใช้ แต่มีราคาที่จับต้องได้ง่ายมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง

ถ้าจะบอกว่า Paul Barton คือหนึ่งในออดิโอดีไซน์เนอร์รุ่นเก๋าของวงการที่ไม่เคยหมดไฟเลยก็ว่าได้ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต แต่กระหายที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ ปัจจุบันในวัยกว่า 70 ทั้ง Paul และทีมงาน ยังคงพัฒนาและปรับปรุงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ PSB ตามแนวคิด “True to Nature” ออกมาอย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นของลำโพง PSB แทบทุกโมเดลตั้งแต่อดีต เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เอื้อมถึงได้มาแต่ไหนแต่ไร และ PSB Imagine T65 ที่นำมารีวิวนี้ก็เช่นกัน เป็นลำโพงตั้งพื้นตัวท็อปของซีรี่ส์กับค่าตัว (ลดแล้ว) ไม่เกิน 8 หมื่นบาท ในซีรี่ส์ยังมีลำโพงตั้งพื้นรุ่นรองอย่าง Imagine T54 และรุ่นวางหิ้ง Imagine B50 ให้เลือกสรรตามความเหมาะสมและงบประมาณ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับลำโพง PWM ซีรี่ส์ซึ่งเป็นลำโพงแบบ On-Wall ของ PSB ที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานร่วมกันในระบบมัลติแชนเนลได้อย่างกลมกลืน

รูปลักษณ์และดีไซน์

เมื่อย้อนกลับไปดู Imagine X ซีรี่ส์ก่อนหน้านี้ Imagine ซีรี่ส์ใหม่ของปีนี้ถูกปรับปรุงและยกระดับให้มีความพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้นจนไม่เหลือเค้าเดิม จุดเด่นหลัก ๆ คือการออกแบบครอสโอเวอร์และไดรเวอร์ที่นำเทคโนโลยีจากรุ่นเรือธง Synchrony มาประยุกต์ใช้ มิติของตัวตู้จัดอยู่ในกลุ่มลำโพงทรงทาวเวอร์ขนาดค่อนไปทางใหญ่ ดีไซน์มีความหรูหราขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะขอบอะลูมิเนียมขัดเงารอบตัวไดรเวอร์ทำให้ลำโพงดูโดดเด่นขึ้นมาก ส่วนล่างของตู้สามารถติดตั้งเพลตโลหะสองชิ้นพร้อมสไปก์รองสี่จุด ซึ่งปรับระดับได้ที่แถมมาให้ บริเวณด้านหลังมีช่องเบสรีเฟล็กทรง slot สองช่อง และขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบไบ-ไวร์

โครงสร้างตู้เป็น Low-resonance MDF คาดโครงค้ำยันแน่นหนา ออกแบบเป็นระบบ 3 ทางแท้ ในตู้มีเชมเบอร์แยกไดรเวอร์แต่ละส่วนไม่ให้อากาศกวนกัน จัดเรียงไดรเวอร์แบบ quasi-D’Appolito (มิดเรนจ์อยู่บนสุด, วูฟเฟอร์คู่อยู่ด้านล่าง, ทวีตเตอร์อยู่ระหว่างกลาง) ใช้ทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมขนาด 1 นิ้ว แม่เหล็กนีโอไดเมียมแดมปิ้งด้วยแม่เหล็กเหลว ติดตั้งในหลุมปากฮอร์นตื้น ๆ พร้อมอะคูสติกส์เลนส์ช่วยเรื่องการกระจายเสียงและปรับ time-alignment ให้สอดคล้องกับไดรเวอร์กลาง-ทุ้มไปในตัว มิดเรนจ์เป็นกรวยคาร์บอนไฟเบอร์สานขนาด 5 1/4 นิ้ว เสริมย่านความถี่ต่ำด้วยวูฟเฟอร์กรวยคาร์บอนไฟเบอร์สานขนาด 6.5 นิ้วอีกสองตัว ทั้งมิดเรนจ์และวูฟเฟอร์ใช้ขอบยางที่รับน้ำหนักได้ดีเป้นพิเศษและชุดโครงสร้างแม่เหล็กระดับพรีเมี่ยม ครอสโอเวอร์ตัดแบ่งความถี่แบบ Linkwitz-Riley 4th order ที่ 2000Hz และ 600Hz ซึ่งมีข้อดีตรงความลาดชันสูง (24dB/Octave) แยกความถี่ได้ชัดเจน ลดการรบกวนระหว่างไดรเวอร์ ลดปัญหาเฟสเพี้ยนช่วงความถี่สูง และทำให้เสียงจากไดรเวอร์แต่ละตัวมีความเป็นเนื้อเดียวกัน (Coherent) ยิ่งขึ้น

ในเรื่องประสิทธิภาพ โดยพื้นฐานของลำโพง PSB แทบทุกรุ่น เป็นลำโพงที่มีความ “ขับง่าย” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะซีรี่ส์เริ่มต้น-กลาง ไม่จำเป็นต้องใช้แอมปลิฟายเออร์ที่มีตัวเลขวัตต์สูง ๆ  มาขับเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดี แต่เน้นกันที่ “คุณภาพของวัตต์” มากกว่า สำหรับกรณีของ Imagine T65 เป็นลำโพงที่เปิดกว้างกับแอมป์ทุกประเภท ทั้งแอมป์หลอดและโซลิดสเตท ทดลองเอาอินทิเกรตแอมป์ Class D ตัวเล็ก ๆ ขับ ก็ยังให้น้ำเสียงและรายละเอียดออกมาดีน่าฟัง และเล่นได้ดังพอสมควร โดยไม่สูญเสียเรื่องของโทนัลบาลานซ์ ครั้นพอเปลี่ยนเป็นปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ Class AB กำลังขับ 120 วัตต์ ก็แสดงความแตกต่างในเรื่องของไดนามิกและมิติเสียงที่ชัดเจนขึ้น เวทีเสียงโปร่งใส เปิดกว้าง และวางตำแหน่งชิ้นดนตรีได้นิ่งและมั่นคงยิ่งขึ้น โดยยังคงบุคลิกเสียงหลัก ๆ ที่ไปในทิศทางเดียวกันเอาไว้

การเซ็ตอัพ

Imagine T65 ออกแบบมาให้ตอบสนองความถี่แบบฟูลเรนจ์ที่กว้างมาก 37-20,000Hz (±1.5dB) ช่วง cut off ความถี่ต่ำ -10dB ที่ 19Hz และมี slot เบสพอร์ตสองช่องอยู่ที่ด้านหลัง ดังนั้นจึงเหมาะกับห้องที่ขนาดใหญ่สักหน่อย มีพื้นที่ในการจัดวางลำโพงได้อย่างอิสระประมาณหนึ่ง เพื่อรองรับพลังงานความถี่ต่ำของลำโพงคู่นี้ที่มีความเข้มข้นได้อย่างราบรื่น เริ่มต้นทำการติดตั้งเพลตขารองลำโพงพร้อมชุดสไปก์ทั้งสี่จุดให้เรียบร้อย อาจหาอะไรมารองใต้สไปก์ก่อน เช่น พรมผืนเล็กเพื่อให้ขยับหาตำแหน่งลำโพงสะดวกขึ้น ตำแหน่งที่ลงตัวสำหรับการทดสอบในครั้งนี้คร่าว ๆ ลำโพงวางห่างจากกัน 1.96 เมตร ห่างจากผนังด้านหลัง 1.57 เมตร และห่างจากผนังด้านข้างราว 1 เมตร จุดนั่งฟังห่างออกมาจากลำโพงทั้งสองในลักษณะสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เอียงหน้าลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 10 องศา จนได้อิมเมจของเสียงที่ชัดเจนมากที่สุด มีทรวดทรงตื้นลึก และยังช่วยให้การตอบสนองความถี่ของลำโพงคู่นี้ภายในห้อง มีความสมดุลราบเรียบมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการวางลำโพงแบบหน้าตรงไม่โทอิน

มีทริคสำหรับใครที่ต้องการเล่นลำโพงคู่นี้ แต่มีพื้นที่จำกัด วางลำโพงหนีผนังด้านหลังออกมาได้ไม่มากนัก หรือจุดนั่งฟังอยู่ใกล้ผนังด้านหลังมากเกินไป อาจฟังแล้วรู้สึกว่าปริมาณเสียงเบสล้นขึ้นมากวนย่านเสียงกลางแหลม ลองหาก้อนไม้หรือออดิโอฟุตเตอร์มารองใต้สไปก์เพื่อยกลำโพงให้วูฟเฟอร์หนีห่างจากพื้นมากขึ้นสัก 1-2 เซนติเมตร แลกกับเนื้อมวลเสียงย่านทุ้มที่บางลงผกผันตามความระยะห่างจากพื้น แต่ก็ช่วยลดปัญหาย่านเสียงต่ำก้องสะท้อนอื้ออึงลงไปได้ในระดับหนึ่ง

หากไม่ซีเรียสกับการทำพื้นเป็นรอย แนะนำให้เอาตัวรองสไปก์ที่แถมมาออกไปเลย แล้วจิกสไปก์ลงกับพื้น จะได้หัวโน้ตเบสที่คมกระชับและเป็นตัวตนยิ่งขึ้น หรือหากลงทุนกับออดิโอฟุตเตอร์เกรดดี ๆ ยกตัวอย่าง Isoacoustic GAIA นำมาอัพเกรดแทนสไปก์ทั้งสี่จุด ก็น่าจะเสริมศักยภาพของลำโพงคู่นี้ได้อีกพอสมควร (รุ่นเรือธง Synchrony จะแถมมาให้เลย) ส่วนการต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ช่วยให้เสียงจากลำโพงมีความโปร่งมากขึ้น แต่การต่อสายลำโพงแบบซิงเกิลไวร์ที่ขั้วลำโพง LF คู่ล่าง แล้วใช้จั๊มเปอร์ที่ทำจากสายคุณภาพดีต่อพ่วงไปยังขั้วต่อสายลำโพง HF คู่บนจะให้ความกลมกลืนต่อเนื่องตลอดย่านทุ้มกลางแหลมที่ดีกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งในการทดสอบนี้ใช้การต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์เป็นหลัก

เสียง

ตลอดการทดสอบนี้ใช้แหล่งโปรแกรมหลักเป็นซีดีเพลเยอร์อย่างเดียว อัลบั้มที่ใช้ทดสอบมีหลากหลายทั้งแผ่นออดิโอไฟล์และแผ่นคอมเมอร์เชี่ยลไทย-สากล ซึ่งมีคุณภาพการบันเสียงคละเคล้ากันไป เพื่อดูว่าลำโพงคู่นี้จะตอบโจทย์การฟังได้ระดับไหน ภาพรวมของ PSB Imagine T65

มีความอบอุ่นเจือเอาไว้บาง ๆ ตลอดย่านความถี่ แต่เป็นความอบอุ่นที่มาพร้อมความโปร่งสบาย ไม่อับทึบ มีบรรยากาศรอบตัวโน้ตที่สะอาด ฟังแล้วมีความผ่อนคลายอยู่ในที ทำให้ฟังได้นานไม่ล้าหู หากเทียบกับซีรี่ส์เก่าอย่าง Imagine X รุ่นนั้นให้เสียงกลางแหลมที่พุ่งเปิดและมีความรุกเร้าออกมามากกว่าชัดเจน ส่วน Imagine T65 ถูกจูนเสียงมาให้มีอัตราส่วนระหว่างความประนีประนอมกับการฟังแบบ critical listening ในสัดส่วน 50:50 กับบางอัลบั้มที่มีการกดคอมเพรสเสียงมาก ๆ ไดนามิกเรนจ์แคบก็รับรู้ได้ทันที แต่สามารถฟังได้อย่างสบายหูไม่รู้สึกรำคาญ กลับกันเมื่อเล่นอัลบั้มที่บันถึงมาคุณภาพดีมาก ๆ ก็สามารถแสดงลักษณะของไดนามิกเรนจ์ที่เปิดเผยเป็นอิสระออกมาให้รับรู้ได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน

โทนัลบาล้านซ์ให้ย่านเสียงแหลมที่เปิดสว่างไม่อับทึบ แม้เป็นทวีตเตอร์โดมโลหะ แต่ไม่มีอาการเสียงแข็งกร้าวเลย มีความเกลี้ยงเกลา แถมมีน้ำหนักควบแน่นเป็นตัวตน ให้บรรยากาศรอบ ๆ ตัวโน้ต และเก็บปลายหางเสียงได้ดีไม่ฟุ้ง จะว่าไปเสียงแหลมของ PSB ซีรี่ส์ใหม่นี่ชวนให้นึกถึงแหลมจากโดมโลหะของลำโพง NHT อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องความสุกใสแบบมีน้ำหนัก

เนื้อเสียงย่านเสียงกลางมีความอิ่มเอิบยังให้ความสะอาดและเปิดเผยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกมาได้ครบถ้วน อานิสงส์จากกรวยคาร์บอนไฟเบอร์สาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ PSB นำมาใช้แทนกรวยโพรลี่โพรไพลีนเสริมวัสดุแดมปิ้งแบบเดิม ทำให้ Imagine T65 นอกจากได้ฐานเสียงย่านกลางต่ำรองรับแล้ว ยังไม่บกพร่องเรื่องรายละเอียดของย่างเสียงกลางทั้งหมด เรียกว่าบาลานซ์ออกมาอย่างน่าฟังเลยทีเดียว สังเกตได้เมื่อฟังเสียงนักร้องทั้งชายหญิง ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดโทนเสียงทั้งใสหวานหรือทุ้มต่ำออกมาได้เป็นธรรมชาติ ไม่ค่อนไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปจนรู้สึกได้

ย่านทุ้มของ Imagine T65 แม้มีปริมาณมากกว่าย่านอื่นเล็กน้อย และค่อนไปทางอิ่มหนา แต่ควบคุมได้ดี ไม่ล้นขึ้นไปกวนย่านเสียงกลาง ให้เสียงทุ้มลึกที่สะอาดและมีรายละเอียด จึงกลายเป็นเสน่ห์ของลำโพงคู่นี้ที่ทางผู้ผลิตตั้งใจทำให้เราสัมผัสกับรายละเอียดย่านทุ้มจากหลาย ๆ อัลบั้มได้อย่างเต็มอรรถรส ซึ่งลำโพงแบบวางหิ้งทั่วไปไม่สามารถตอบสนองได้ และเสียงทุ้มที่สะอาดลงลึกยังช่วยเสริมเรื่องเวทีเสียงให้มีความโออ่า มีแอมเบียนซ์ภายในเวทีเสียงที่ชัดเจน ยิ่งเวลาฟังอัลบั้มพวกบันทึกการแสดงสดที่บันทึกความถี่ต่ำลึกมา จะฟังออกชัดเจนว่าได้ยินเสียงครบทุกย่านความถี่ได้อย่างเต็มอิ่ม

เรื่องการตอบสนองไดนามิก ไม่ว่าจะฟังเบาหรือดัง ลำโพงคู่นี้ก็รักษาสมดุลของเสียงได้อย่างราบรื่นน่าพอใจ ใช้ความชัดเจนทั้งช่วงหนัก-เบาออกมาอย่างเหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันจะมีความประนีประนอมต่อแผ่นที่บันทึกมามีไดนามิกเรนจ์แคบในระดับหนึ่ง ไม่ฟ้องจนทำให้เสียอรรถรสในการฟังมากเกินไป เนื่องจาก Imagine T65 เลือกนำเสนอไดนามิกคอนทราสต์ที่มีความลื่นไหล นุ่มนวล ไม่รุกเร้าจนเกินไป ผ่อนแรงปะทะต้นโน้ตลงมากหน่อย อิมแพ็กต์หัวเสียงจึงออกไปทางนุ่มแน่น ที่สำคัญคือให้ความละเอียดของไดนามิกคอนทราสต์ออกมาได้อย่างดี เมื่อเล่นในระดับความดังสูงมาก ๆ ก็ไม่เกิดอาการเสียงหยาบหรือจัดจ้าน ความแตกต่างของเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งช่วงเบาและดังให้ออกมาน่าพึงพอใจ จึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์และลีลาของดนตรีออกมาได้อรรถรส แถมคุมจังหวะได้แม่นยำ ช้าเป็นช้า เร็วเป็นเร็ว จึงเกิดเป็นความน่าดึงดูดกับดนตรีทุกประเภท เรียกว่าคุณจะเพลิดเพลินกับลำโพงคู่นี้ได้ยาวนานเลยทีเดียว

สรุป

Paul Barton ยกระดับลำโพง Imagine T65 ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ สำหรับแฟน ๆ ของ PSB ลำโพงคู่นี้จะสร้างความแตกต่างจาก Imagine X เดิมขึ้นมาอีกขั้น มีความไฮเอนด์มากขึ้น เหมาะกับการฟังเพื่อเสพอรรถรสของดนตรีแบบลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ตอบสนองย่านต่ำได้อย่างเต็มอิ่ม สะอาด เปิดกว้างกับแอมป์ทุกประเภทที่นำมาขับ ไม่ว่าจะใช้ฟังเพลงหรือชมภาพยนตร์ ขอเพียงอย่างเดียว หากรักจะเล่นลำโพงคู่นี้ ห้องควรมีพื้นที่การจัดวางสักหน่อยเพื่อให้ลำโพงทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อเซ็ตอัพลงตัวแล้ว คุณจะพบว่า ลำโพงที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างแบบนี้ ให้อะไรได้มากกว่าการเล่นลำโพงเล็กหรือลำโพงวางหิ้งจนคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว. ADP

ราคา 98,600 บาท/คู่ (ราคาตั้ง)

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Conice Electronic
Line ID: @conice
โทร. 02-276-9644

#AudiophileVideophile
#ConiceElectronic
#psbspeaker