KEF Q750 Mid-sized floorstanding Speaker
KEF Q750 mid-sized floorstanding speaker
ครบเครื่องสำหรับห้องทุกขนาด
ก่อนหน้านี้ ผมมีโอกาสได้ทดสอบลำโพง KEF รุ่น Q550 ไป ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นไซส์คอมแพ็คต์ของ Q ซีรี่ส์ และพบว่าเป็นลำโพงทรงตั้งพื้นที่เหมาะมากสำหรับการจัดวางในพื้นที่ห้องขนาดเล็ก มาคราวนี้ ทางบริษัท Vgadz ได้ส่งลำโพง KEF รุ่นพี่อย่าง Q750 มาให้ทดสอบ ถือเป็นโอกาสดีเลย ตอนฟัง Q550 นั้น ถ้ามีย่านเบสลึกๆ มาเสริมให้อิ่มแน่นกว่านี้อีกสักนิดจะยอดเยี่ยมเลยทีเดียว ดังนั้น การได้ลองฟัง Q750 ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย
ต้องบอกว่า สำหรีบ Q ซีรี่ส์ ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นลำโพงระดับ entry-level ของ KEF แถมได้รางวัลจากสื่อฝั่งโฮมซีเนม่ามากมาย หลายคนคงคิดว่า น่าจะ “เหมาะ” กับการเอาไปใช้ในชุดโฮมเธียเตอร์มากกว่าฟังเพลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าลำโพงระดับใดของ KEF จะมีบุคลิกเสียงที่เหมาะกับการฟังเพลงมากกว่านำไปใช้ชมภาพยนตร์ในสัดส่วนที่มากกว่า โดยเฉพาะความสะอาด ละเอียด ละเมียดละมัย แทบไม่ได้ต่างจากตระกูลดังอย่าง LS50 สักกี่มากน้อย หรือหากนำไปเทียบกับรุ่นสูงกว่าอย่าง R ซีรี่ส์ ก็ไม่ได้ห่างชั้นกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะย่านมิดเรนจ์ แต่ภาพรวมของ Q ซีรี่ส์ มีโทนเสียงที่ฟังแล้วค่อนมาทางอบอุ่นมากกว่า ไม่ออกไปทางมอนิเตอร์อย่างรุ่นสูงกว่า ถ้าชอบฟังเพลงแบบมิวสิคเลิฟเวอร์หลากหลายแนวสลับกับการชมภาพยนตร์ด้วยต้องมาทางนี้
KEF (Kent Engineering & Foundry) เป็นหนึ่งในแบรนด์ลำโพงที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในอังกฤษ ก่อตั้งโดย Raymond Cooke ตั้งแต่ปี 1961 แนวทางด้านการออกแบบลำโพงของเขา ถือว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก และยังคงสืบทอดมาสู่ปัจจุบัน โดยปัจจุบันมี Dr. Jack Oclee-Brown วิศวกรอัจฉริยะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ KEF เป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์สำคัญทั้งหมดมาอย่างยาวนานหลายปี อาทิ Blade ซีรี่ส์เรือธง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุซับเสียงสุดล้ำอย่าง META แน่นอนว่า KEF Q ซีรี่ส์เองก็เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบเช่นกัน
รูปลักษณ์และดีไซน์
KEF Q750 มีขนาด (สูงxกว้างxลึก) 36.3”x8.3”x12” เป็นลำโพงตั้งพิ้นแบบ 2.5 ทาง (Uni-Q ไดรเวอร์ + วูฟเฟอร์ 1 ตัว + พาสสีฟเรดิเอเตอร์ 2 ตัว) จุดตัดความถี่ 2.5kHz ดีไซน์แบบตู้ปิด ตัวตู้ทำจาก MDF แผงหน้าหนา 35 มม. ใช้ขั้วต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ ตัวตู้มีสามสีให้เลือก ดำ, ขาว, และ วอลนัท ตัวหน้ากากลำโพงระบบแม่เหล็ก แยกจำหน่ายเป็นออปชั่นเสริม
ไฮไลต์ของ Q750 คือ Uni-Q ไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์ เจนเนอเรชั่นที่ 12 ใช้กรวยอะลูมิเนียม 6.5 นิ้ว ที่ฝังทวีตเตอร์ 1 นิ้ว ไว้ตรงกึ่งกลาง มี damped loading tube ไว้สลายคลื่นหลังตัวโดมทวีตเตอร์อย่างราบรื่น ซึ่งทำเสียงแหลมย่านต่ำๆ มีความกระด้างน้อยลง เมื่อเทียบกับเสียงแหลมจาก Uni-Q ไดรเวอร์ เจนเนอเรชั่นก่อนหน้า และมี ‘tangerine’ เวฟไกด์ทรงเกลียวใบพัดช่วยเพิ่มเอาต์พุตย่านเสียงแหลม ทำให้การกระจายเสียงของไดรเวอร์มีความเป็นจุดกำเนิดเดียว (point-source) มากที่สุด และให้ sweet spot ที่กว้างครอบคลุมตำแหน่งนั่งฟังมากกว่าลำโพงแยกดอกกลางแหลมทั่วไป
ย่านต่ำเสริมด้วยด้วยวูฟเฟอร์กรวยอะลูมิเนียม 6.5 นิ้ว ที่ปรับปรุงใหม่เช่นกัน ทนต่อการเบรคอัพได้สูงขึ้น ขอบเซอราวด์ใหญ่ขึ้น เพิ่มระยะของช่วงชักและลดความผิดเพี้ยน เสริมด้วยระบบซัสเพนชั่นของตัวสไปเดอร์ที่คุมตัวได้นิ่งและกระชับกว่าเดิม ทำงานร่วมกับ Auxiliary Bass Radiator (ABR) พาสซีฟเรดิเอเตอร์ (ไม่มีระบบแม่เหล็กขับเคลื่อน) กรวยอะลูมิเนียม 6.5 นิ้วอีกสองตัว จัดเรียงในลักษณะประกบบน-ล่างดอกวูฟเฟอร์ตรงกลาง ภายในซีลแยกตู้ส่วนบนที่ติดตั้ง Uni-Q ไดรเวอร์ออกจากตู้เบสส่วนล่างเพื่อลดภาระการทำงานของกรวยลำโพงมิดเรนจ์ ให้วูฟเฟอร์รับภาระย่านต่ำมากกว่าแทน ส่งผลให้มิดเรนจ์ทำงานลิเนียร์มากขึ้น ลดความเพี้ยนของเสียงโดยรวม และไม่มีการใช้ DC blocking คาพาซิเตอร์บนเน็ตเวิร์ก ทำให้ได้ความกระจ่างชัดและรายละเอียดที่ดี รวมถึงให้การโรลออฟของจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์ที่สมูธยิ่งขึ้น
เซ็ตอัพ
ในกล่องจะแถม plinth สำหรับประกอบเข้ากับส่วนล่างของลำโพงข้างละ 2 ชิ้น พร้อมสไปก์เพื่อความมั่นคงในการจัดวาง หลังติดตั้งเรียบร้อย แนะนำให้ปรับตั้งระดับน้ำด้วยการปรับสไปก์ตรง plinth ให้ลำโพงสองข้างอยู่ในระนาบเดียวกันด้วย เมื่อตั้งลำโพงภายในห้อง พบว่า Q750
แทบไม่มีข้อจำกัดในการจัดวางเลย ส่วนหนึ่งมาจากเป็นดีไซน์ตู้ปิด ทำให้ระยะห่างจากผนังหลังมีผล กระทบน้อยกว่าลำโพงตู้เบสรีเฟล็กซ์ที่มีพอร์ตด้านหลังมาก เหมาะกับการจัดว่างในพื้นที่จำกัดเป็นพิเศษ ขอเพียงรักษาระยะห่างไม่น้อยไปกว่าขั้นต่ำสุดตามที่คู่มือระบุมาคือ ห่างผนังหลังไม่ต่ำกว่า 9 นิ้ว (วัดจากหลังลำโพง) และห่างผนังข้าง 1 เมตร (วัดจากผนังข้างลำโพง) ก็จะได้ประสิทธิภาพที่ดีมากแล้วจากลำโพงคู่นี้ ส่วนระยะห่างระหว่างลำโพงสองข้างควรวางห่างกันสัก 2 เมตรขึ้นไป และโทอินหน้าลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟังเล็กน้อยจะให้มิติเวทีเสียงและการจัดเรียงชิ้นดนตรีที่สมดุลทั้งด้านกว้างลึก มากกว่าการวางลำโพงแบบหน้าตรงและขยับลำโพงเข้ามาใกล้กันซึ่งชิ้นดนตรีจะเริ่มเบียดเสียดกัน สังเกตว่าลักษณะการกระจายเสียงของ Q750 มีการบีมเสียงเข้าหาผู้ฟังมากกว่าการกระจายตัวออกด้านข้าง (ช่วยลดผลกระทบจาก early reflections) ดังนั้น การเอียงหน้าลำโพงเข้าหากันอย่างเหมาะสมจะยิ่งช่วยให้สเตริโออิมเมจมีความเป็นสามมิติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดูจากสเปก Q750 ต้องการกำลังสำรองจากแอมปลิฟายเออร์มากกว่า Q550 ขึ้นมาอีกหน่อย ด้วยความไว 88dB (2.83V/m) ถือว่าปานกลาง หากตัวเลขน้อยกว่านี้จะเข้าข่ายลำโพงความไวต่ำแล้ว แต่ที่ต้องพิจารณาคือ ค่าโหลดความต้านทาน ระบุเอาไว้ที่ 8 โอห์ม และต่ำสุดอยู่ที่ 3.2 โอห์ม แอมป์ที่นำมาขับควรมีกำลังขับอย่างน้อย 100 วัตต์ขึ้นไป รวมถึงมีความสามารถในการจ่ายกระแสได้ดีสักหน่อย แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นต้องใช้เพาเวอร์แอมป์ไฮเอ็นด์กล้ามโต เท่าที่ลองจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ NAD216 THX ซึ่งเคยขับ Q550 ได้ดี กับ Q750 ก็ไม่ต่างกัน ให้การควบคุมไดนามิกย่านทุ้มที่กระชับเด็ดขาด และรักษาเรื่องของโทนัลบาลานซ์ได้ทุกระดับความดัง ที่น่าแปลกใจคือ ได้ลองเอาอินทิเกรตแอมป์ class D ตัวเล็กๆ อย่าง Fosi Audio ZA3 มาขับ ก็ให้น้ำเสียงที่ออกมากระชับ สะอาดน่าพอใจตลอดย่านทุ้มกลางแหลม แทบไม่ส่ออาการอั้นตื้อของเสียงเลย หากไม่เล่นกับบางเพลงที่ไดนามิกรุนแรง หรือมีความสลับซับซ้อนมากๆ ถือว่า Q750 เป็นลำโพงที่แมตช์กับแอมป์ได้ง่ายกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
คุณภาพเสียง
ลำโพง KEF มีความโดดเด่นเรื่องความโปร่งใส รายละเอียดเสียงชัดเจนเป็นธรรมชาติ และมีความเป็นมอนิเตอร์อยู่ในตัวพอสมควร กับ Q750 ก็เช่นเดียวกัน แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น สำหรับ Q ซีรี่ส์จะมีความอบอุ่นของเสียงเติมเข้ามาเล็กน้อย ผ่อนปรนความขี้ฟ้องลงมาสักหน่อย โดยยังคงรายละเอียดของเสียงเอาไว้ครบถ้วนตลอดย่านทุ้มกลางแหลม คือไม่ว่าจะแม็ตชิ่งกับสายหรืออุปกรณ์แบบใด ก็ยังคงให้น้าเสียงที่มีความกลมกล่อมน่าฟัง ไม่ฟ้องจุดด้อยออกมาอย่างเด่นชัดเกินไป (แต่ยังรับรู้ได้) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างมิวสิคเลิฟเวอร์และออดิโอไฟล์
ขนาดตัวที่ค่อนไปทางใหญ่ของ Q750 และการใช้ไดรเวอร์ตัวใหญ่ขึ้นกว่า Q550 จาก 5.5 นิ้วเป็น 6.5 นิ้ว ทำให้ได้การตอบสนองไดนามิกเสียงที่เปิดเผยเป็นอิสระยิ่งขึ้นมากพอสมควร ข้อจำกัดของ Q550 คือ.. เมื่อเล่นกับดนตรีออร์เคสตร้า หรือเพลงที่มีเครื่องดนตรีที่สามารถให้เสียงย่านดีฟเบสได้ เช่น เปียโน หรือ ไพป์ออร์แกน จะรู้สึกว่าฐานเสียงย่านทุ้มต่ำๆ โรลออฟเร็วไปสักนิด ซึ่งทุกอย่างก็ถูกเติมเต็มใน Q750 ที่ให้การตอบสนองย่านต่ำลงได้ลึกมากกว่า อาการที่รู้สึกว่าได้อีกนิดน่าจะดี หายเป็นปลิดทิ้ง แถมได้บรรยากาศเสียงที่รายล้อมของย่านกลางแหลมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คล้ายๆ กับการเสริมซับวูฟเฟอร์ชั้นดีเข้าไปในระบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากคุณภาพของโครงสร้างตู้ลำโพงและดอกวูฟเฟอร์ที่ตอบสนองความถี่ต่ำลึกได้สะอาด ฉับไว ไม่อู้ก้อง สอดรับกับกลางแหลมได้อย่างกลมกลืน ถือว่าเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ แต่ให้เสียงเบสได้เคลียร์และสะอาด ไม่กวนย่านกลางแหลม คล้ายๆ ลำโพง Bookshelf แต่ตอบสนองความถี่ได้ลึกกว่า เต็มอิ่มกว่า เสียงหวดกลองขนาดใหญ่เวลาฟังกับ Q750 นี่มันกระหึ่มลุ่มลึกดีแท้ อาจไม่เท่าลำโพงตั้งพื้นระดับไฮเอ็นด์ แต่มันก็ให้โครงสร้างเสียงทุ้มที่สมบูรณ์มากพอตัว
ย่านกลางแหลมคือไม้ตายของ KEF ที่ให้ทั้งความชัดถ้อยชัดคำ ราบรื่น และเป็นธรรมชาติไม่เกินเลย เสียงคนร้องมีความใกล้เคียงกับ LS50 เป็นอย่างมาก อ่อนความสดลงมาเล็กน้อย ฟังแล้วผ่อนคลายมากขึ้น รุ่นก่อนๆ ที่ใช้ Uni-Q ปลายเสียงแหลมขาดความราบรื่นไปสักหน่อย แต่สำหรับ Q ซีรี่ส์นี้ ทุกรุ่นให้เสียงแหลมที่ละเอียดเป็นฝอย แต่ไม่ฟุ้ง มีทรวดทรงไม่แบนราบ มีพลังดีดตัว โดยที่ไม่แสดงอาการสะบัดจัดจ้านให้เห็นเลย แม้เป็นทวีตเตอร์โดมโลหะ แต่ก็ให้ความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันไปกับย่านเสียงกลางแบบไร้รอยต่อ อารมณ์คล้ายกับการฟังลำโพงฟูลเรนจ์ดอกเดียว เวลาฟังเสียงคนร้องแล้วได้ความต่อเนื่องลื่นไหล มีการย้ำเน้น มีลีลาการถ่ายทอดอารมณ์ที่น่าฟัง ให้ความเปิดโปร่ง มีหางเสียงที่พลิ้วเป็นระลอก ถ้าเทียบกับ Q550 ต่างกันตรง Q750 ให้บรรยากาศรายล้อมตัวเสียงที่เข้มข้นมากกว่า รวมถึงการตอบสนองต่อไดนามิกเสียงที่ความดังสูงๆ ก็ทำได้นิ่งและราบรื่นกว่าไปอีกระดับ
ไดนามิกคอนทราสต์หรือความเปรียบต่างของเสียงในแต่ละช่วงความดังมีความละเอียดยิบย่อยแทบไม่ต่างจากลำโพง Bookshelf ที่โดดเด่นทางด้านนี้ แต่มีลักษณะค่อนไปทางค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ไม่รุกเร้า ฟังแล้วมีความผ่อนคลายผสมอยู่ในสัดส่วนมากกว่าความดุดัน โทนัลบาลานซ์ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำได้ลงตัวกว่า Q550 ซึ่งค่อนไปทางสว่าง แต่สำหรับ Q750 บาลานซ์ออกมาได้ลงตัวมากทีเดียว คือฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเสียงย่านทุ้มกลางแหลมมีย่านไหนโดดเด่นออกมามากกว่ากัน ไม่ว่าจะฟังดังหรือเบา นานๆ จะหาลำโพงตั้งพื้นในงบประมาณราวๆ นี้ที่รักษาสมดุลของโทนัลบาลานซ์ได้ดีมากสักคู่หนึ่ง ส่วนเรื่องมิติเสียงนั้นมีความชัดเจนในระดับที่ดีเลยทีเดียว ให้สเกลเสียงที่มีขนาดใหญ่สมจริง รวมถึงทิมเบอร์ของเสียงที่แม่นยำ แยกแยะลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ได้ชัด และให้อิมเมจของเสียงที่มีสัดส่วนเล็กใหญ่ต่างกันไป ตามรูปพรรณสัณฐานของเครื่องดนตรีนั้นๆ เวทีเสียงแผ่กว้างหลุดลอยและครอบคลุมพื้นที่เบื้องหน้าออกไปทั้งด้านกว้างและลึกแบบ room-filling sound แม้นั่งฟังเยื้องมาจากตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างลำโพงก็ยังคงได้ยินรายละเอียดและมิติเสียงที่ชัดเจนครบถ้วนใกล้เคียงกัน
สรุป
หาก KEF Q550 คือตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับลำโพงตั้งพื้นในห้องขนาดจำกัด KEF Q750 ก็คือตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับนักเล่นที่ต้องการใช้งานลำโพงตั้งพื้นในห้องขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการจัดวางมากเกินจนเสียพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่น และไม่จำเป็นต้องมีระยะนั่งฟังที่ตายตัวนัก จะนั่งฟังแบบ near-field หรือ far-field เยื้องไปทางซ้าย-ขวาบ้าง ก็ไม่เกี่ยง ยังคงสมดุลเสียงและรายละเอียดโดยรวมที่ราบรื่นเป็นธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างดี เรียกว่าเป็นลำโพงใหญ่ที่เป็นมิตรต่อห้องและผู้ใช้งานสูง แต่ยังได้คุณภาพเสียงในระดับที่เรียกว่า “ออดิโอไฟล์” ได้เต็มปาก ให้ไดนามิกเสียงที่เต็มสเกล ตอบสนองย่านความถี่ต่ำได้แบบคุณภาพเนื้อๆ เพียงพอต่อการฟัง ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีไหนก็ตาม รวมถึงการนำไปใช้งานเป็นคู่หน้าในระบบโฮมเธียเตอร์ก็ให้การตอบสนองความถี่ต่ำได้ลึกเพียงพอสำหรับการทำงานแบบฟูลเรนจ์. ADP
ราคา 71,900 บาท/คู่
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation Co., Ltd.
โทร. 02-692-5216
www.vgadz.com/kef
สอบถามเพิ่มเติมที่ตัวแทนจำหน่าย
ร้าน HD HiFi Rama IX
โทร. 063-236-6193 (คุณแมน)
Line ID: novara2561
โทร. 081-918-0901 (คุณต้อง)
Line ID: 0819180901
No Comments