ชานนท์

The Biggest Small Subwoofer!

ตามทฤษฎี Hofmanns Iron Law (โดย Josef Anton Hofmann วิศวกรเสียงและนักออกแบบลำโพงชื่อดังชาวอังกฤษ) กล่าวว่า.. หากต้องการลำโพงที่ถ่ายทอดย่านเสียงต่ำแบบลงได้ลึก แล้วเปิดได้ดังดีด้วย (ไม่กินวัตต์) ก็มีความจำเป็นที่ตู้ลำโพงต้องใหญ่ เราจึงเห็นลำโพงที่ถ่ายทอดเสียงต่ำ โดยเฉพาะอย่างซับวูฟเฟอร์มีตู้ขนาดใหญ่ เหตุเพราะการออกแบบ “ให้เสียงดี” ตามกฎนี้ทำได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเราไม่ต้องการลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ จะแก้ปัญหาอย่างไร? ความท้าทายในการออกแบบ KC62 ของ KEF คือตัวอย่างที่ดีครับ!

กรณีที่ต้องการซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก แต่ยังให้เบสลึกได้ดีด้วย สิ่งที่ต้องคำนึงคือ.. จะแก้ปัญหา “ความไว” (Sensitivity) ที่ต่ำลงมากได้อย่างไร? สิ่งที่นักออกแบบลำโพงต้องต้องทำ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่ยาก คือ.. เพิ่มกำลังขับของภาคขยายให้สูงขึ้นไง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันต้องคิดต่อมากกว่านั้น.. 1. จะออกแบบ “วงจรภาคขยายกำลังขับสูง” ให้มีขนาดเล็กพอจะติดตั้งภายในตู้ลำโพงขนาดเล็กได้อย่างไร? และ 2. จะออกแบบ “วูฟเฟอร์ขนาดเล็ก” ที่ต้องรับภาระอันหนักอึ้งเพื่อถ่ายทอดย่านเบสลึกแบบมีคุณภาพ พร้อมๆ กับทนกำลังขับที่สูงมากเพื่อให้เปิดเสียงได้ดัง ได้อย่างไร?

ประเด็นแรกไม่ยากเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันวงจรภาคขยายแบบ Class-D สามารถตอบโจทย์ในจุดนี้ได้ดี เราจึงเห็นภาคขยายกำลังขับสูงถึง 1000 วัตต์ (2 x 500W RMS) ติดตั้งอยู่ภายในตู้ KC62 ที่มีขนาดเล็กได้

KEFs UniCore Force Cancellation

การแก้ปัญหาประเด็นที่ 2 ของ KEF นี่แหละของจริง! ผลจากการวิจัยมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้มาเป็น Uni-Core Force Cancellation เทคนิคการออกแบบวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพสูง

หลักการ คือ วูฟเฟอร์ขนาดเล็ก 6.5 นิ้ว แต่ใช้งาน 2 ชุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการผลักดันมวลอากาศสร้างคลื่นความถี่เสียงได้ดีพอๆ กับวูฟเฟอร์ใหญ่ชุดเดียว (ประสิทธิภาพอาจเทียบได้กับวูฟเฟอร์เดี่ยวขนาด 8 – 10 นิ้ว) แต่ผลพลอยได้ที่ล้ำกว่านั้น คือ การทำงานของวูฟเฟอร์คู่ที่สอดประสานกันโดยสมบูรณ์แบบ Force Cancelling จะ “หักล้าง” แรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของวูฟเฟอร์ ซึ่งจะถูกส่งผ่านต่อไปยังตู้ลำโพง และกลายเป็น Resonance ต้นเหตุของเสียงเพี้ยน ได้อย่างมีนัยสำคัญ

และเพื่อลดขนาดตู้ลำโพงให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การติดตั้งวูฟเฟอร์ทั้ง 2 ชุด แบบขนาบ (หันหลังชนกัน) แล้วออกแบบโครงสร้างแกนแม่เหล็กร่วมและวอยซ์คอยล์คู่ของแต่ละชุดใหม่ ช่วยลดขนาดโครงสร้างด้านหลังวูฟเฟอร์ลงอีก ในขณะที่ประสิทธิภาพไม่ต่างจากเดิม

P-Flex Surround ขอบเซอร์ราวด์โครงสร้างแบบจับจีบเป็นช่วงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กของ KEF ซึ่งเป็นลักษณะที่เอื้อให้วูฟเฟอร์มีระยะชักที่ลึกขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็ทนทานจากการผิดรูป เมื่อวูฟเฟอร์ต้องขยับตัวอย่างรุนแรง เกี่ยวเนื่องไปถึงความเปลี่ยนแปลงของแรงดันมหาศาลแบบไม่คงที่ภายในตู้ลำโพงแบบปิดได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงเทคนิคล้ำๆ ที่ KEF ใช้ในการออกแบบ KC62 ยังมีอีกมาก ผมคัดเฉพาะหัวใจสำคัญมา เพื่อไม่ให้รีวิวนี้ยาวและซับซ้อนจนเกินไป แต่หากใครสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก White Paper ได้ ซึ่ง KEF ให้เหตุผลอธิบายแนวคิด มีที่มาที่ไปแบบเป็นขั้นเป็นตอน และมีผลลัพธ์ที่ยืนยันและพิสูจน์ได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์ ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่งครับ

รูปลักษณ์การออกแบบ

ผมลองเทียบขนาด KC62 กับแผ่น CD จะเห็นได้ถึงความกะทัดรัด (มิติตัวตู้ไม่ถึง 1 ไม้บรรทัด) แต่น้ำหนัก 14 กก. นี่ดูเกินตัวไปมาก! ทั้งนี้ก็ด้วยวัสดุคุณภาพที่อัดแน่นอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากวูฟเฟอร์คู่ขนาด 6.5 นิ้ว จัดวางขนาบกันในโครงสร้างแกนแม่เหล็กร่วมแบบ Uni-Core พร้อมวงจรภาคขยาย Class D 1000 วัตต์ (2 x 500W RMS) และตัวตู้ที่ขึ้นรูปจากโลหะอะลูมิเนียมแข็งแรงมาก แน่นปึ้ก

ปัจจุบัน KC62 มีให้เลือก 3 สี คือ Carbon Black, Mineral White และ Titanium Grey ให้เข้ากับรสนิยมความชอบ และสไตล์การตกแต่ง

ไฟสถานะ Standby แสงสีส้ม, เมื่อซับวูฟเฟอร์เปิดทำงาน แสงไฟจะเปลี่ยนเป็นสีขาวติดสว่างพักหนึ่ง แล้วดับลง

ช่องรับสัญญาณ และ การควบคุมปรับจูนเสียง

เห็นขนาดเล็กแบบนี้ แต่รูปแบบการเชื่อมต่อสัญญาณที่ KC62 รองรับ ไปจนถึงลูกเล่นที่ใช้ในการปรับจูนเสียงครอบคลุมดีมาก มีความหลากหลายกว่าซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่บางรุ่นเสียอีก

KC62 รองรับสัญญาณทั้ง (L) Low Level Input แบบ Unbalanced RCA (Stereo) พร้อม LFE (Mono) และ (S) Speaker Level Input ซึ่งรุ่นนี้ต้องใช้คู่กับอะแดปเตอร์ในการเข้าสายลำโพง (มีแถมมาในกล่อง) แค่ว่าเหมาะกับสายลำโพงตัวนำขนาดเล็กเท่านั้นครับ

นอกจากนี้ยังมี (O) Line Level Output แบบ Unbalanced RCA (Stereo) สามารถกำหนด High-pass Filter ผ่าน (H) HPF Dip Switch ได้ด้วย เพิ่มทางเลือกสำหรับชุดฟังเพลงที่ต้องการจำกัดย่านความถี่ต่ำของลำโพงหลัก หรือใช้พ่วงเพิ่มจำนวน KC62 เพิ่มเติม

KC62 ยังรองรับสัญญาณแบบไร้สาย ร่วมกับอุปกรณ์เสริม KEF KW1 โดยเชื่อมต่อที่ช่อง (E) EXP

ด้านการปรับจูนเสียงให้แม็ตช์กับซิสเต็มลำโพงที่ใช้งาน นอกจาก (V) Volume (Gain) ชดเชยระดับเสียง, (P) Phase (0°/180°) และ (L) Low-pass Crossover (40Hz – 140Hz) กำหนดจุดตัดความถี่ย่านเสียงต่ำ (ซึ่งสามารถ Bypass ผ่านตัวเลือก (M) Mode ตำแหน่ง LFE)

รุ่นนี้ยังมี (Q) EQ สำเร็จรูปเพื่อใช้ลดทอนปัญหาเบสบูมจากตำแหน่งตั้งวาง ไปจนถึงใช้ลดทอนผลกระทบจากย่านเสียงความถี่ต่ำลึกที่อาจทะลุทะลวงเล็ดลอดออกไปรบกวนห้องข้างเคียง หรือเพื่อนบ้าน

EQ สำเร็จรูป ของ KC62 มี 5 ระดับ ที่ตำแหน่ง Room = Flat คือ ไม่มีการลดทอนความถี่เสียงย่านต่ำลึก ระดับการลดทอนจะเริ่มที่ตำแหน่ง Wall แล้วเพิ่มขึ้นตามสเต็ป มากสุดที่ตำแหน่ง Apartment (ผลลัพธ์คล้าย Night Mode) ทั้งนี้ EQ จะส่งผลเมื่อตั้ง (M) Mode ไว้ที่ตำแหน่ง Manual เท่านั้น หากตั้งที่ LFE ระบบจะ Bypass วงจรปรับแต่งเสียง ทั้ง Low-pass Crossover และ EQ จึงเหมาะกับระบบโฮมเธียเตอร์ (ปัจจุบันสามารถกำหนด EQ และ Bass Management/Crossover ผ่าน AV Receiver/Processor ได้ละเอียดยืดหยุ่นกว่า)

มีสวิตช์ (G) Ground Lift กรณีที่พบอาการเสียงฮัม หลังจากเชื่อมต่อสายสัญญาณกับบางอุปกรณ์ อันเกิดจากปัญหา Ground Loop.. จากคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมด นับว่า KC62 รองรับการใช้งานได้ยืดหยุ่นครอบคลุมทั้งกับชุดฟังเพลง และชุดดูหนังครับ

ผลการใช้งาน

KEF ยืนยันว่า KC62 ให้เสียงได้ดังสุดถึง 105dB ในห้องไร้เสียงสะท้อน (Anechoic) หากเป็นการใช้งานในห้องทั่วไป (ได้ Room Gain มาเสริม) ระดับเสียงสูงสุดจะดังเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 3dB! (Figure 13) เพราะฉะนั้น หายห่วงสำหรับใครที่ชอบเปิดอัดแบบเอามัน ซึ่งระดับความดังที่สูงกว่าการรับฟังปกติมากนี้ Smart Distortion Control Technology (SDCT) ระบบตรวจจับและควบคุมชดเชยการขยับตัวของวูฟเฟอร์แบบเรียลไทม์อาจทอนเบสลึกลงบ้างเพื่อจำกัดภาระของวูฟเฟอร์ แต่มั่นใจได้เลยว่า แม้เปิดเสียงดังระดับนี้ ความเพี้ยนที่เกิดขึ้นยังถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ (Figure 12)

ผมลองทดสอบจริงภายในห้องทดสอบกับคอนเทนต์ภาพยนตร์เบสโหดๆ แม้ไม่ได้เปิดโวลุ่มอัดจนสุด แต่ก็ดังกว่าระดับที่รับฟังปกติพอดู ยืนยันว่า KC62 ไม่มีอาการ “สำลักเบส” ที่มักเจอกับซับฯ เล็กทั่วไปแน่นอน

ก่อนนี้ผมเคยได้ลอง KEF LS50W II จับคู่กับ KC62 อยู่พักหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่า มันเป็นอุปกรณ์ที่เกิดมาคู่กันโดยแท้! KC62 มาเติมเต็มจุดที่ LS50W II ขาดอยู่ เพราะเป็นลำโพงเล็กวางขาตั้ง คือ “ย่านเบสลึก” ได้อย่างลงตัว กลายเป็นซิสเต็มลำโพง 2.1 ที่ถ่ายทอดย่านเสียงแบบ Full-Band ได้ยอดเยี่ยมชุดหนึ่ง โดยรวมๆ ผมว่าศักยภาพโดดเด่นกว่าซิสเต็มที่ใช้ลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็กถึงกลางแบบ 2.0 ไม่มีซับวูฟเฟอร์ในงบเท่าๆ กัน ในแง่การรองรับเพลงหลากหลายแนว ร่วมกับการรับชมภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับย่านเบสลึก

และพอได้ลอง KC62 ซ้ำอีกทีในครั้งนี้ร่วมกับซิสเต็มลำโพงที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็น KEF ยังยืนยันว่า KC62 เป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ย่านเสียงความถี่ต่ำลึก ซึ่งเป็นย่านเสียงที่ซิสเต็มดูหนังหรือฟังเพลงส่วนใหญ่มักจะขาดอยู่ได้อย่างโดดเด่น!

หากให้บอกจุดที่ผมชอบที่สุดของ KC62 คือ เบสที่สะอาด ให้ความกระชับฉับไวโดดเด่นมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ในส่วนย่านการตอบสนองความถี่ หากเป็นการฟังเพลง ผมถือว่าครอบคลุมครบย่านที่บันทึกมากับดนตรีส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ มันจะช่วยขยายไดนามิกเรนจ์โดยรวมของซิสเต็มให้กว้างขึ้น เสียงย่านต่ำมีน้ำหนักและแรงปะทะเพิ่มขึ้นชัดเจน เวลาฟัง Film Score บรรเลงโดยออร์เคสตร้าวงใหญ่ หรือ Big Band Jazz มันจึงได้ความมันจากรายละเอียดโน้ตเสียงย่านต่ำที่ถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขนาดของ KC62 ที่ดูเล็ก บางคนคงกังขาเรื่องของการถ่ายทอดเบสลึก ซึ่งถ้าเป็นซับวูฟเฟอร์ขนาดไล่ๆ กัน หรือใหญ่กว่านิดหน่อย บอกเลยหาตัวเทียบยาก เพราะ KC62 มีประสิทธิภาพเกินขนาดไปมาก แต่กับซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้สัก 3 เท่า 5 เท่า น้ำหนักเบสลึกสุดใจ เวลาชมภาพยนตร์จะเป็นรองบ้างก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ แต่แน่นอนว่าซับวูฟเฟอร์ใหญ่ขนาดนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะให้ความลงตัว โดยเฉพาะเมื่อจับคู่กับลำโพงวางขาตั้ง หรือลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็กได้ดีเท่า KC62

และสำหรับใครที่ซีเรียสเรื่องอิมเมจของเสียงในแบบออดิโอไฟล์ กลัวว่าถ้าเอาซับวูฟเฟอร์ตู้ใหญ่ๆ หน้ากว้างๆ ไปวางอยู่ระหว่างลำโพงฟังเพลงแล้ว มันจะเบี่ยงเบนเสียงสะท้อนของลำโพงไฮไฟทำให้อิมเมจเสีย กับ KC62 พูดได้เลยว่า ประเด็นนี้ไม่มีนัยใดๆ เพราะขนาดมันเล็ก ผลกระทบน้อยมากๆ ครับ ขอเพียงทำการเซ็ตอัพให้เสียงลงตัวผสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับลำโพงหลัก อานิสงส์จากฮาร์มอนิกเสียงย่านต่ำที่ชัดเจนขึ้นจะช่วยขยายบรรยากาศเวทีเสียงให้ดูยิ่งใหญ่ อลังการกว่าเดิมด้วย

ถ้าอิงจากขนาดแล้ว ผมยังไม่เห็นซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กรุ่นไหนที่ทำได้โดดเด่นเท่า KC62 ศักยภาพของมันช่วยให้การใช้งานร่วมกับชุดดูหนังฟังเพลงในห้องขนาดตามบ้านทั่วไปทำได้สะดวก ขนาดที่เล็กหาที่ตั้งวางได้ง่าย เมื่อเซ็ตลงตัวจะให้เสียงที่ล่องหนกลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักได้เป็นอย่างดี ใครกำลังมองหาลำโพงซับวูฟเฟอร์รูปสวย เสียงดี ที่สำคัญคือ ขนาดกะทัดรัด ดูทันสมัยเข้ากับการตกแต่งภายตามไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ แนะนำให้ไปสัมผัสทดลองฟังเสียงจริงกันได้ครับ. VDP

ราคาขาย 69,900 บาท

โปรโมชั่นลดเหลือ 59,900 บาท ภายในเดือนตุลาคมนี้

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation
โทร. 02-692-5216