ปฤษณ กัญจ

ในระบบเครื่องเสียง ลำโพงนับว่าใช้อุปกรณ์มาประกอบน้อยชิ้นที่สุด (ถ้าจะมีใกล้กันก็คงเป็น passive preamp) แต่ลำโพงกลับส่งผลต่อคุณภาพเสียงของซิสเต็มไม่น้อยกว่าเครื่องอื่นๆ

และด้วยความที่ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นนี้เอง จึงเป็นความท้าทายของคนออกแบบลำโพงทุกยุคทุกสมัยที่มีความพยายามทำให้ลำโพงสามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาตรงตามที่พวกเขาต้องการ

เสียงของลำโพงแต่ละรุ่นถูกกำหนดมาจากคนออกแบบ และคนออกแบบแต่ละคนก็มีแนวคิดและความชอบส่วนตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้น การซื้อลำโพงของคนเล่นเครื่องเสียงจึงควรมองไปที่แนวคิดของคนออกแบบก่อน ว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ และตัดสินใจด้วยการฟัง

ถ้าเราศึกษาและค้นคว้าข้อมูลของลำโพงแต่ละยี่ห้อ จะเห็นว่า ต่างก็บอกคล้ายๆ กัน ว่าลำโพงของตัวเองนั้น ถ่ายทอดเสียงเที่ยงตรง มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นคำบอกเล่าที่เป็นนามธรรมมากๆ

เพราะคำว่า “เที่ยงตรง” และ “เป็นธรรมชาติ” ของคนฟังแต่ละคนก็มีบรรทัดฐานและการอ้างอิงที่ไม่เหมือนกัน เพราะพวกเราต่างมีประสบการณ์และมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเสียงไว้ในสมองไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ความเที่ยงตรงและเป็นธรรมชาติของลำโพงแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ จึง touch ความรู้สึกของคนฟังไม่เหมือนกัน เราจึงได้เห็นการถกเถียงในประเด็นเรื่องคุณภาพเสียงในวงการเครื่องเสียงกันบ่อยครั้ง สำหรับความคิดเห็นของผม ไม่มีฝ่ายไหนผิดทั้งนั้น เพียงแต่เป็นการเอาประสบการณ์, บรรทัดฐาน และ ความชอบ ที่แตกต่างกัน มาโต้แย้งกัน มันก็เลยคุยกันไม่รู้เรื่อง และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะยังไม่มีเครื่องมือใดมาวัดความชอบของแต่ละคนให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ ถึงแม้ว่าได้มีความพยายามกำหนดมาตรฐานต่างๆ มาใช้อ้างอิง แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้ผลอย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ การเลือกซื้อลำโพงที่ได้ผลที่สุด จึงต้องใช้วิธีการฟังด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่นจริงๆ

The “Natural And Open” Canadian Sound: Inspired By Nature

แนวคิดการออกแบบลำโพงของ Paul Barton คือ ลำโพงต้องถ่ายทอดเสียงที่เป็นธรรมชาติและให้เสียงที่เปิด โดยอ้างอิงจากเสียงจริงของธรรมชาติ ซึ่งถ้าใครเคยฟังลำโพงของ psb ก็คงพอนึกออกว่าเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมักได้ยินนักเล่นเครื่องเสียงหรือนักวิจารณ์เครื่องเสียงบอกว่า psb เป็นลำโพงที่ให้เสียงเรียบๆ ไม่ฉูดฉาด และตามด้วยคำพูดที่ว่า “เป็นธรรมชาติ” เสมอ

จากที่มาข้างต้น ทำให้คนที่ไม่เคยฟังเสียงของลำโพง psb ก็จะมีข้อสรุปในหัวว่า เสียงของลำโพง psb ต้องเป็นแบบนั้น บางครั้งจึงมองข้าม psb ไป เพราะคิดว่าตัวเองไม่ชอบเสียงเรียบๆ ไม่ฉูดฉาด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คนนั้นอาจจะชอบเสียงของลำโพง psb ก็ได้ นี่เป็นความจริงที่มีอยู่จริงในวงการเครื่องเสียง

สรุปก็คือ ลำโพงที่ถ่ายทอดเสียงที่เป็นธรรมชาติก็ไม่ได้มีเสียงที่เหมือนกัน แม้คนออกแบบสามารถทำให้ลำโพงของเขาบรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้ ดังนั้น ถ้าคุณชอบแนวคิดของ Paul Barton หรือสนใจลำโพง psb ก็ควรต้องลองฟังด้วยตัวเองก่อน เพราะที่สุดแล้ว สิ่งที่คิดจะเป็นดังที่คิดหรือไม่ ต้องผ่านการทดสอบด้วยตัวเอง

psb Passif 50 ลำโพงที่บ่งบอกตัวตนที่แท้จริงของ psb และ Paul Barton

ย้อนไปในอดีต psb เคยผลิตลำโพงรุ่น Passif I และ Passif II ซึ่งได้รับคำชมเชย และถือเป็นลำโพงระดับคลาสสิกของ psb

นอกจากนั้น psb ยังเป็นผู้ผลิตลำโพงที่ได้ร่วมมือกับ Canada’s National Research Council ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมอะคูสติกส์ ของประเทศแคนาดา เพราะฉะนั้น เมื่อมีเครื่องมือ, ห้องทดลองปฏิบัติการด้านอะคูสติกส์ รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ลำโพง psb จึงผ่านกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการออกแบบ และไฟน์จูนด้วยการฟัง ดังนั้น ผลพวงที่ตามมาก็คือ ลำโพงของ psb ได้สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่จดจำมาตั้งแต่ยุคอดีตแล้ว

psb Passif 50 เป็นการทำลำโพงในโอกาสพิเศษครบรอบ 50 ปี โดยนำแนวทางการออกแบบมาจากรุ่น Passif I และ Passif II ทั้งหน้าตาและการจัดเรียงไดรเวอร์ ด้วยเหตุนี้ ใครที่ได้เห็นต่างบอกว่า นี่คือลำโพงวินเทจ อันที่จริงต้องบอกว่า “ลุควินเทจ” เท่านั้น เพราะไดรเวอร์ล้วนผลิตในยุคสมัยนี้ แต่ที่น่าทึ่งคือ เสียงที่ได้ยิน ในความเห็นผมว่า… Paul Barton ได้สร้างลำโพงที่ตรงกับความหมาย “Natural And Open” อย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ผมขอข้ามการพูดถึงการใช้ไดรเวอร์ หรือคุณสมบัติของไดรเวอร์ และการดีไซน์รูปทรง เพราะมีการเขียนถึงไว้ในหลายๆ แหล่งแล้ว ผมจะพูดถึงส่วนคุณภาพเสียงที่เห็นว่าเป็นจุดเด่นจริงๆ ของ psb Passif 50

Open sound

ผมไม่อธิบายคำว่า Natural ที่ psb Passif 50 ถ่ายทอดออกมา เพราะเสียงเป็นธรรมชาติของแต่ละคนที่ฟังก็ไม่เหมือนกัน อยู่ที่ประสบการณ์การได้ยินและการตีความ ว่าเสียงที่เป็นธรรมชาติของใครเป็นยังไง แต่อยากเน้นไปที่คำว่า “Open” มากกว่า

สำหรับใครที่นึกไม่ออกว่า เสียงที่ open หรือ เสียงที่เปิดเป็นยังไง อยากให้ได้ลองฟัง Passif 50 ครับ แล้วจะเข้าใจชัดแจ้ง ขอบอกเล่าสั้นๆ ง่ายๆ ตรงไปตรงมาแบบนี้ว่า… มันเป็นเสียงที่ได้ยินหมด ไม่มีเก็บกักอมพะนำไว้ เป็นเสียงที่ไม่ค่อยได้ยินจากลำโพงทั่วไป เท่าที่ใช้งานในซิสเต็มของผม เมื่อเปลี่ยนเป็นลำโพงอื่น เสียงจะไม่เปิดเหมือนที่ได้ยินจาก Passif 50

นอกจากนั้น ในความเปิดนี้มีความไวและอัตราเร่งที่ดีมากเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย  ถ้าอธิบายประเด็นนี้กับ Passif 50 เหมือนตอนเราเล่นกีตาร์ (strum) ตอนแรกก็เล่นช้าๆ จากนั้นก็เร่งขึ้นเร็วๆ ถ้าเป็นลำโพงที่ตอบสนองช้า ความรู้สึกที่ได้ฟังตรงนี้จะอืดๆ ตบเท้าค้าง ไม่ลงสักที แต่กับ Passif 50 เราสามารถตบเท้ารัวๆ ตามการดีดกีตาร์ได้ทัน และนอกจากทันแล้ว เสียงยังเปิดเผยให้ได้ยินรายละเอียดที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาด้วย

ถามว่า psb Passif 50 เสียงเป็นยังไง? ตอบแบบกวนๆ ก็บอกว่า… เป็นธรรมชาติ (ฮา)

ถามว่า psb Passif 50 เหมาะกับเพลงแนวไหน? ตอบตรงๆ เหมาะกับทุกแนว และรวมถึงดนตรีคลาสสิกด้วย ประเภทที่บอกว่า… เหมาะกับดนตรีทุกแนว ยกเว้นคลาสสิก แบบนั้นต้องบอกว่า… ไม่เหมาะกับทุกแนว (ฮา ฮา)  

ถามว่า psb Passif 50 เหมาะกับใคร? ตอบว่า… สำหรับคนที่มีงบประมาณซื้อลำโพงระดับแสนกว่าบาท (ฮา three times)

ถามว่า อ่านบทความนี้แล้วได้อะไร? ตอบว่า… ได้รู้ว่า ถ้าคุณซื้อ Passif 50 ตอนนี้ไม่ทัน เพราะผลิตมา Limited Edition คุณต้องไปฟังลำโพง psb รุ่นอื่นให้ได้ (ขอบอกว่า รุ่นระดับไฮเอ็นด์มีดีที่ไม่เคยมีใครรู้ ถ้ายังไม่เคยฟัง) แล้วคุณจะเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ที่ทีต่อ psb ไปอย่างสิ้นเชิง

สรุป

psb Passif 50 เป็นลำโพงที่ผมมีความเห็นว่า “น่าฟังและคุ้มค่ามากที่สุดในระดับราคาแสนต้นๆ” และถ้าใครมีกำลังจะซื้อได้ ขอแนะนำอย่างยิ่งครับ. ADP

psb Passif 50 ราคา 115,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่าย Conice Electronic
Line ID: @conice
โทร. 02-276-9644
www.conice.co.th