“ตัวตึง” ล่าสุด คือ ROCKNA Wavedream NET (WDNET) เป็นฟรอนต์เอนด์ประเภท Combo Digital Transports (ไม่มี DAC) โปรดสังเกตมี “s” ซึ่งก็คือเครื่องเล่นสุดล้ำจากแนวคิดสุดโต่ง โดยผนวก ENGINEs สองตัวของ Music Server / Player เจเนอเรชันล่าสุดที่ทำงานแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ จับรวมคู่กับ Memory-based CD Transport ที่ทำงานแบบดิจิทัลและเมคคาทรอนิกส์ ไว้ในเครื่องเดียว ถูกติดตั้งในห้อง Home studio ชายทุ่งที่ระยะนี้โดยรอบโดนถล่มด้วยฝุ่น PM2.5 จนขึ้นขีดแดง ต้องหลบเข้าหลุมหลบภัย… ก็ห้องนี้แหละ

สวัสดี…ชาวโลก

ขอต้อนรับสู่ audiophile go digital ฉบับออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องราวของไฮไฟแห่งยุคสมัย

Chitchat

สมัยทำงานประจำเคยสอนให้คนรอบข้างในแวดวงวิศวกรรมให้ “รักงานที่ทำ” จากฮ็อบบี้สู่วงการเครื่องเสียงมาร่วม 20 ปี หลังเกษียณมีโอกาส “ได้ทำในสิ่งที่รัก” ทุกวันนี้ยังมี Passion เหลือล้น สนุกกับชีวิตทุกวัน ไม่วอกแวกที่จะอัพเดตความเคลื่อนไหวเรื่องราวในแวดวงดิจิทัลออดิโอด้วยความแม่นยำ ฉับไว “บนพื้นฐาน Fact ตาม Skill ที่มี”

…ขอบคุณที่ติดตามและให้ความสนใจ …รักทุกคนครับ…

 “IT” แทรกอยู่ในทุกอณูของชีวิตผู้คนบนโลกใบนี้ที่มิอาจหลีกหนี สำคัญที่ดันทะลึ่งมาพันกับ “ไฮไฟ” ยุคนี้อย่างช่วยไม่ได้ จะมีขัดใจบ้าง แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงกับ “ปวดตับ” อะไรนัก เมื่อแลกกับความสะดวกสบายที่ได้ ถือว่าจิ๊บจิ๊บ แถมยังมีทางให้รีดเค้นคุณภาพได้หนุกๆ ในทางของมันอีก ขอให้มีความสุขกับมันก็พอ ยังไงซะ วิบากกรรมยังน้อยกว่าไฮไฟในอดีตที่เคยพบชนิดเทียบกันไม่ติด

ด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยี Digital Streaming ใช้เทคโนโลยี ‘IT’ เป็นตัวเชื่อม จึงโตอย่างก้าวกระโดดกินรวบไปทุกวงการ อย่าว่าแต่เพลง หนัง ทีวีแม้กระทั่งกีฬาอย่าง F1, NFL, VNL, NBA เกมออนไลน์ หรือแม้กระทั่ง YouTube ที่ว่าฟรีก็ต้องสับตะไคร้ เอ้ย Subscribe เพื่อติดตามอยู่ดี สนใจเลือกเสพได้เลย

“สับตะไคร้” บริการเหมาจ่ายรายเดือน/ปี ที่จะได้ดูหรือฟังทั้งหมดที่มีในคลังตลอดระยะเวลาที่จ่ายค่าบริการ ต่างจาก “เช่า” หรือ “ซื้อขาด” ก็ตรงที่ทั้งสองจะ “ได้ฟังได้ดู” เฉพาะที่ “ซื้อหรือเช่า” เอ่อบางคนบอก “สับตะไคร้” ก็แค่กิ๊กเท่านั้น กิ๊กทำตัวไม่ดี ไม่ได้ดั่งใจก็ระงับการจ่าย ตัดขาดกัน หาใหม่ที่ถูกใจง่ายกว่า ก็แค่นั้น

5th Decade of Digital Entertainment

ย่างเข้า 5 ทศวรรษเป็นที่น่าตื่นเต้นเสียนี่กระไร จาก CD Player เครื่องแรกในยุค ’80 พัฒนาการต่อยอดมาเป็นเครื่องเล่น Digital audio อันหลากหลายประเภทในวันนี้ จนมาถึงยุค Digital streaming ในปัจจุบันกินรวบในทุกวงการทั้งเพลงและหนังซึ่งแซงหน้าไปไกล มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นเสมอ จะแปลกตรงไหนก็ในเมื่อแผ่นดำเกิดมาเกินร้อยปีแล้ว ยังมีเครื่องเล่นและอุปกรณ์ใหม่ๆ ให้ติดตามกันได้นี่นา

Digital audio

เกิดมาพร้อมองค์ประกอบ 2 ส่วนหลักๆ คือ

  • ตัวอ่านสัญญาณดิจิทัลเรียกว่า Transport เดิมทีจะอ่านจากแผ่นฟิสิคัล CD (Compact Disc) และต่อมาก็ทำหน้าที่อ่านข้อมูล Digital file ถูกเรียกว่าสื่อไร้ตัวตน
  • ตัวแปลงรหัสดิจิทัลเป็นอะนาล็อกหรือ DAC (Digital to Analog Converter) นั่นเอง DAC เกิดขึ้นพร้อม CD Player ตัวแรกมีการพัฒนาเป็นหลายสถาปัตยกรรมที่มีความต่าง แล้วแต่ผู้ผลิตจะนำไปใช้

ทั้งสองมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตราบใดที่ทรานสปอร์ตคือตัวต้นน้ำชั้นดี ย่อมส่งข้อมูลให้ถึงปลายทางคือ DAC ตัวโปรดที่จับคู่อย่างสมศักดิ์ศรีได้อย่างไร้ที่ติ นิยามที่แนะนำว่า “ให้เลือก DAC ดี เสียงถูกจริตไว้ก่อน อย่าได้แคร์ว่ารองรับ DSD หรือ MQA หรือไม่” นั้นเป็นจริงเสมอ เพราะนาทีนี้ไม่ว่ายังไงก็มีทางจัดการที่จะเล่นได้หมดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งนั่นแหละ

Streaming นั้นปักหมุดมานานไม่น้อย นี่ก็เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว เติบโตรวดเร็ว พัฒนาการต่อเนื่อง กลุ่มผู้ผลิตมีฉันทามติว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด ใช้งานง่าย ปิดปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งาน ให้มีความชัดเจน ขยายฐานโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับราคา

ยุคแรกๆ ของสตรีมมิ่ง Digital transport มีตัวเลือกน้อย แม้จะใช้ DAC เทพก็ไม่มีทางเลือกมากนักที่อาจต้องใช้ PC / Notebook ติดตั้งแอปเล่นเพลงเป็น Player ที่เรียกขานกันว่า Computer audio

Computer audio

กลายเป็นแขนงหนึ่งใน Digital audio ระยะแรกมีสองสำนักคือมี Mac และ Windows ที่นำเอาคอมมาเชื่อมกับ DAC ดื้อๆ พร้อมการเชื่อมต่อ USB เฉยๆ ต้องยอมรับว่าขัดใจสายออดิโอไฟล์ชะมัด อะไรฟะจ่ายเงินค่า DAC เป็นล้านแล้วใช้ทรานสปอร์ตหรือตัวต้นทางเป็นคอมราคาหลักหมื่น สาย USB ที่ใช้ยังแพงกว่าด้วยซ้ำ จะเท่าไหร่กันเชียว

ต่อมาเกิดเป็น Music server เราเริ่มคุ้นกับ NAS ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายโฮมเน็ตเวิร์คกและสตรีมเมอร์ คืออุปกรณ์เครื่องเล่นสตรีมผนวกด้วย Onboard DAC แนวทางหลังนี้เป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมด ขาใหญ่อย่าง LINN แห่งสกอตแลนด์จะเป็นหัวหอกใช้ Code name ผลิตภัณฑ์ว่า DS (Digital Stream Player) เริ่มลุยตลาดแสดงความชัดเจนที่สุดโดยเริ่มในยุโรปจนแพร่ไปทั่วโลก จากนั้น Streamer ได้พัฒนาให้เสียงที่ดีขึ้นและกลายเป็นไฮไฟที่แพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ จนถึงในปัจจุบันมี Streamer ค่าตัวในทุกระดับราคา แต่เนื่องจากมีการพัฒนาฮาร์ดแวร์สำหรับออดิโอโดยเฉพาะ จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันเสียงรบกวนควบคู่ไปกับปัญหาอื่นๆ ทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อระบบดิจิทัลออดิโอระดับไฮเอนด์ ทำให้มีค่าตัวสูงกว่าที่จะเข้าถึงในวงกว้าง มีความยืดหยุ่นน้อย อาจไม่สามารถอัพเกรดได้ง่ายๆ รวมถึงการบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้กับ Streamer ตัวนั้น

ในขณะที่นักเล่นฮาร์ดคอร์อีกกลุ่มคิดว่ายังสามารถทำอะไรก็ได้เหนือกว่าบนคอมพิวเตอร์ที่ถูก Tweak หรือ Custom (ตัดแต่งพันธุกรรมอย่างสุดขั้ว) เรียกว่า CAT (Computer Audio Transport) ไง และนี่คืออีกแนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มออดิโอไฟล์ อย่าได้แปลกใจว่ามี CAT ระดับ Extreme ค่าตัวหลายแสนยันเรือนล้านผุดขึ้นให้เลือกใน พ.ศ. นี้

ROCKNA เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ใช้แนวทางที่สองนี้ โดยออกแบบ CAT (Computer Audio Transport) ในแบบของตัวเองเรียกว่า Wavedream NET (WDNET) จะขยายต่อหลังจากนี้ แต่ขอย้อนสู่เรื่องราวของ ROCKNA ซักนิด

ROCKNA AUDIO

“ความเรียบง่ายในความซับซ้อน ดิจิทัลออดิโอ ไฮเอนด์จากโรมาเนีย ได้แจ้งเกิดในตลาดเมืองไทย” เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน Bulldog Audio ไปแล้ว

ROCKNA AUDIO ผู้ผลิตสัญชาติโรมาเนีย ประเทศในกลุ่ม Eurozone หนึ่งใน “สายแข็งแห่งวงการดิจิทัลออดิโอ” โดยฝีมือพ่อมดโรมาเนีย Nicole Jitariu ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังหลายตัว ปัจจุบัน ROCKNA มี Product lines ที่ชื่อว่า ROCKNA Wavedream รวมถึง ROCKNA Wavelight ซึ่งเป็นซีรีส์รอง ไม่ทับไลน์กัน

ROCKNA WAVEDREAM

ซีรีส์เรือธง แบ่งเป็น 2 ผลิตภัณฑ์หลัก มีรุ่นแยกย่อยตามออปชันให้เลือกด้วย

–  Wavedream DAC: PCM/DSD DAC เป็น External DAC ซึ่งออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบสุดขั้วเป็น Discrete HyBrid R-2R Ladder DAC ให้เสียงใหญ่ เต็มวง จะแจ้ง เปิดเผย ถูกจริตผู้ที่ได้สัมผัส บัดนี้ติดลมบนไปแล้ว ทราบว่ามี Back Order ตกค้างหลายตัว แต่ของน่าจะเข้ามาบ้างแล้วมั้ง ซึ่งได้รีวิวไว้แล้ว หาอ่านย้อนได้จาก www.audiophile-videophile.com/audiophile-review/rockna-wavedream-dac/ ได้เลย

เชื่อว่ายังมีประชากร “DAC เทพในระดับเดียวกันกับ WDDAC” อยู่ไม่น้อย ถ้าอยากได้สุดยอดทรานสปอร์ตที่คู่ควรต้องอ่านต่อ

Wavedream NET (WDNET)

: CD transport /Network Transport /Music server w SSD Storage/ROON Core/ROON Endpoint

Wavedream NET (WDNET) เป็น CAT ที่อาจมิได้ดูจากหน้าตา ฟังก์ชันหรือทำหน้าที่เหมือนคอมพิวเตอร์ปกติที่เห็นกัน WDNET ถูกออกแบบให้รันบน LINUX Os ที่ออกแบบขึ้นเฉพาะ (Dedicate) สำหรับแพลตฟอร์ม ROON (Music Server/Payer) ที่กำลัง “ปัง” ในปัจจุบันและสามารถเข้าถึง WDNET ได้บน Web base ส่วนควบคุมสั่งการ Roon ได้ด้วยแอปพลิเคชัน Roon Remote บน Smart devices เช่น Roon Core ตัวอื่น แต่ทว่า WDNET เหนือกว่าคู่แข่งที่ยังมีทีเด็ดผนวก CD Transport ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพสูงในระดับเดียวกันด้วย… จริงดิ

WDNET ถือเป็น “ดิจิทัลทรานสปอร์ตแห่งยุคสมัย” ตอบสนองของ Digital audio ของคนสองยุค คือยุคสื่อฟิสิคัลพลาสติก (CD) และมี Engine อีกฟากรองรับ Music Server / Digital Stream Player สนองตอบยุคสตรีมมิ่งเฟื่องฟู เป็นทรานสปอร์ตคอมโบชั้นดีควรค่าและคู่ควรกับ “DAC เทพ” ตัวโปรดของคุณที่ต้องมีคู่กัน จะ “วิแคะ” รายละเอียดของ WDNET รวมถึงความคุ้มค่า ต่อจากนี้…

What…?

Wavedream NET (WDNET) คือเครื่องเล่น Combo Digital Transports (ไม่มี DAC) เป็นเครื่องเล่นที่ผนวก Engine ของ Music Server/Player เจเนอเรชันล่าสุดกับ Memory-based CD Transport เพื่อความเป็นที่สุด โดยออกแบบให้ทำงานอิสระแยกจากกัน รวมร่างบนตัวถังเดียวของเครื่องเล่นตัวใหญ่ตามไตล์ของ ROCKNA โดย WDNET สามารถทำงานแบบต่อเน็ตเป็นระบบเน็ตเวิร์ก หรือจะแบบสแตนด์อโลนเช่นเดียวกับ CD Transport ปกติก็ได้

WDNET จะมาเชื่อมต่อกับ Wavedream DAC ด้วย HDlink (I2S) จะให้เสียงดนตรีที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติกว่าที่เคยเล่นผ่านทรานสปอร์ตใดๆ เมื่อคู่หูดูโอ้จับคู่กันจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของเพลิดเพลินไปกับเพลงโปรดของความทรงจำดีๆ จากแผ่นฟิสิคัลพลาสติก (CD) ที่เก็บสะสมไว้หรืออาจหลงเหลือจากที่เจ้าของแอบปันใจไปกับไฟล์ Hi-res ที่ซื้อมาในคลังแสงจากภายในตัวเครื่อง จนถึง Music Streaming Service (TIDAL, QOBUZ) บริการเพลงเหมาจ่ายรายเดือนแห่งยุคสมัยที่ค่ายไฮเอนด์ต่างยอมรับ…

…More Than Just ROCKNA COMBO in ONE box.

  • FPGA-BASED HIGH-PERFORMANCE AUDIO

WDNET ถูกออกแบบและผลิตขึ้นโดยใช้วงจร Digital Core อันทรงพลัง จะสตรีมข้อมูลเสียงทั้งหมดไปยังหน่วยความจำชั่วคราวที่เรียกว่า RAM Buffer ขนาดใหญ่ ข้อมูลเสียงดิจิทัลจะถูก Re-clock จาก Masterclock ชั้นดีที่ติดตั้งในเครื่อง หลังจากสัญญาณถูกจัดการด้วย ultra-low phase noise ทำให้เสียงบริสุทธิ์ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดเสียงในอุดมคติที่สุด

วงจรอันเป็นหัวใจใช้เป็น FPGA อันทรงพลังจะดูแลในโหมดของการเล่นแผ่น CD เป็นพิเศษ ซึ่งแยกจากฝั่งของเซิร์ฟเวอร์โดยสิ้นเชิง นอกจากใช้ FPGA ที่ฉลาดล้ำทำให้มี DSP สามารถประมวลผลสตรีมมิ่งแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดพลังการประมวลผลอย่างมากจาก CPU ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้ ส่งผลดีต่อคุณภาพโดยรวม

  • ISOLATED MUSIC SERVER

วงจรส่วนของมิวสิกเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกติดตั้งอยู่ใน WDNET นั้นถูกแยกอิสระออกจากวงจรด้านเสียงด้วย galvanic isolation เพื่อตัดการรบกวนจากสิ่งไม่พึงประสงค์ที่จะ leak เข้าไปในวงจรที่อ่อนไหวต่อการรบกวน โดยสร้างความสมดุลระหว่างการใช้พลังงานของเซิร์ฟเวอร์กับพลังการประมวลผลอย่างระมัดระวังที่สุด

  • CORE DESIGN

หลายคนอาจคิดว่าใช้ CPU พลังสูงๆ แล้วจะเจ๋ง เพราะเชื่อในหลักการที่ว่า “ยิ่งใหญ่ ยิ่งแรง ยิ่งดี” อันที่จริงแล้ว CPU ที่แรง พลังประมวลผลใหญ่และแรงอาจไม่จำเป็นเสมอไป เลือกให้เหมาะสมจะมาพร้อมกับความสมดุล มีข้อดีเมื่อเสียงรบกวนน้อยลง ทำให้มีโครงสร้างเรียบง่ายขึ้น ส่งผลให้มี EMI ที่จะแผ่รังสีรบกวนต่ำกว่าด้วย เป็นที่แน่นอนว่าการใช้พลังงานที่น้อยลงต่างหากที่คือส่วนเสริมกัน ส่งผลดีโดยรวมในที่สุด อนึ่งถ้าพลังการประมวลผลสูงมากเกินไป หมายถึงต้องใช้ CPU ซับซ้อนและสูบกำลังไฟมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นเลย และไม่แน่ว่าจะดี เผลอๆ อาจไม่ส่งผลดีกับวงจร Audio อันละเอียดอ่อนด้วยซ้ำ

  • LINEAR-ONLY POWER SUPPLY

เช่นเดียวกับเครื่องเสียงไฮเอนด์ทุกตัวที่ต้องให้ความสำคัญกับภาคจ่ายไฟเพราะมันคือต้นกำลัง (Utilities) ของทุกอย่าง หนึ่งในเป้าหมายการออกแบบของ ROCKNA คือต้องอยู่ห่างไกลจาก SPS (Switching Power Supply) แปลว่า “ไม่ใช้” นั่นเอง ทั้งนี้เพราะ SPS มักมีสัญญาณรบกวนสูงกว่าและอาจเกิดผลเสียได้เมื่อถูกวางใกล้กับวงจร Audio ซึ่งมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก จริงอยู่ว่าออกแบบให้ SPS ดีๆ นั้นทำได้แต่ก็ไม่ง่ายและก็ไม่ถูกนัก

ดังนั้นจึงมิเพียง Linear Power Supply เป็นภาคจ่ายไฟของ WDNET รวมถึงแหล่งจ่ายไฟสำหรับฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ภาคจ่ายไฟอันเป็นขุมพลังของเครื่องเสียงไฮเอนด์ทุกตัว ถูกแยกส่วนของวงจรดิจิทัลในฟาก CD Transport และ Server อิสระจากกัน ที่จะชีลด์อย่างดีให้ขาดๆ กันไปเลย ลดปัญหา EMI อีกด้วย

ขุมกำลังหลักใช้ Toroidal Transformer จำนวน 2 ลูกแยกอิสระ รวมทั้งหมดจ่ายไฟให้กับวงจร Regulator Linear Power Supply หลายชุด ออกแบบให้มีความต้านทานต่ำและสัญญาณรบกวนน้อยที่สุดเพื่อผลของคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดนั่นเอง

วงจรภายในเชื่อมต่อด้วยมาตรฐานที่เรียกว่า LVDS standard (Low-voltage differential signaling) จะช่วยลดหรือตัดการรบกวนใดๆ ลง ซึ่ง Noise ที่อาจเกิดขึ้นก็คือ Jitter ที่คือตัวปัญหานั่นเอง เช่นเดียวกับ WDDAC จะส่งผ่านสัญญาณอย่างรวดเร็ว เที่ยงตรงสุดๆ

ทั้งหมดที่ร่ายมาถูกติดตั้งอยู่บนตัวแชสซีส์อะลูมินัมอย่างหนาของ WDNET ตัวเครื่องมีสัดส่วนหนากว่า WDDAC อีก ผิวโลหะถูกอะโนไดซ์เป็นสีดำหรือสีเงินให้เลือกตามรสนิยม รูปลักษณ์เรียบง่าย ทำให้ค่าตัวไม่แพงเวอร์วังเกินไป มีปุ่มเฉพาะที่ใช้งานได้จริงเช่นเดียวกับ WDDAC อย่าง WDNET ตัวนี้สีเงิน บ่งบอกถึงความดุดันเอาจริงเอาจัง มาพร้อมรีโมตคอนโทรลไร้สายหน้าตาต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ WDDAC

SOFTWARE & Application FEATURES

WDNET ในส่วนของเซิร์ฟเวอร์ติดตั้ง Hardware ที่มี Quad-core processor โดยใช้ Software Linux based ที่ทำงานเสถียร ไม่กวนใจ เป็นการส่งต่อจากนวัตกรรมจากซีรีส์น้อง Wavelight ที่มีพลังการประมวลผลมากพอที่จะทำงานมัลติฟังก์ชัน เพื่อสนับสนุนแอปและฟังก์ชันหลายตัว รวมถึงการใช้งานแบบ multi-room สบายๆ

Controlled & Application

ROCKNA รู้ใจนักเล่นทุกรุ่น จึงมีรีโมตคอนโทรลมาให้ด้วย อีกอย่างก็ประมาณว่าขี้เกียจต้องตามอัพเดตแอปบ่อยๆ ตามอัพเวอร์ชันโน่นนี่นั่น ทำไมต้องทำแอปอะไรให้ยุ่งยาก ง่ายๆ ตรงไปตรงมาก็จัดการแบบเบ็ดเสร็จบน web interface ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยคอมพิวเตอร์หรือ Smart devices ก็ได้ ถ้าต้องการตั้งค่าขออย่างเดียวมีอินเทอร์เน็ตสั่งการตั้งค่า WDNET เปิด/ปิดแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งมีมากมาย รวมถึงเมื่อต้องการอัพเดตเวอร์ชันของเซอร์วิสต่างๆ ก็แค่แตะนิดเดียว ไหนดูซิมีอะไรบ้าง

  • Roon Server / Roon Ready – แนะนำให้ใช้แอป: Roon remote เพื่อควบคุมอีกทีนึง
  • MPD Server – แนะนำให้ใช้แอป: MPD control, MPDroid
  • UPnP/DLNA เชื่อมต่อกับเครื่องเล่นตัวอื่นก็ได้
  • Airplay สำหรับ iDevices เผื่ออยากเล่น Apple music
  • HQ player
  • *Disc ripping – FLAC, WAV, MP3 on local storage

 SPECIFICATIONS

  • PCM 44.1K-384K, DSD64-DSD256
  • Local storage (ssd only): 1TB or 2TB; on special request 4TB
  • Inputs: ETH, USB mass storage
  • Outputs: SPDIF, AES/EBU, BNC, 2 x HDlink (I2S), USB

2 Engines in ONE chassis.

WDNET ตัวเครื่องมีสัณฐานใหญ่ สงสัยอยู่เหมือนกันว่าภายในมีอะไรบ้าง จะจัดเต็มอลังการงานสร้างเพียงไร ดูภาพนี้เลย

จะเป็นเพราะสวม 2 บทบาท โดยที่ภาค CD Transport จะใช้บางฟังก์ชันร่วมกันเพียงเล็กน้อยกับฝั่งเซิร์ฟเวอร์หมายความว่าเมื่อ WDNET สวมบทเป็นเครื่องเล่นซีดีจะไม่มีอิทธิพลใดๆ จากฝั่งเซิร์ฟเวอร์เลย และเมื่อเป็นเซิร์ฟเวอร์ Buffer ทั้งหมดและด้าน CD Transport จะฺ Buffer เก็บไว้เป็นส่วนของตนเองแยกจากกัน แม้ว่าอาจดูขัดความรู้สึกนิดว่าทำไมต้องทำอะไรให้ซับซ้อนเช่นนั้น แต่ก็เป็นวิธีการที่ถูกต้อง เพราะวิธีนี้ย่อมส่งผลต่อคุณภาพเสียงในทางที่เหนือกว่าสไตล์ของ Nicolae Jitariu คนนี้โดยได้ระบุไว้

“CD transport เป็นการทำงานแบบ Stand alone จะไม่ได้ใช้ Engine ในฝั่งเซิร์ฟเวอร์เลย เพราะถ้าเลือกที่จะเล่นซีดีโดยใช้ CPU ของเซิร์ฟเวอร์ อาจมีโอกาสที่จะไม่ได้คุณภาพเสียงดีเท่าเดิม” …จริงดิ?

: ได้เคยทดลองให้เห็นไว้ในคลิปโดยเล่นแผ่น CD แล้วดึงแผ่นออกก็ยังเล่นต่อได้ อีกคลิปเล่น 2 ฟังก์ชันพร้อมกัน แล้วกดรีโมตสลับไปมา เพลงจะเล่นต่อเนื่องโดยไม่สะดุดเลย สุดจริง

CD Ripper “เท่าที่ทราบ อาจมีคนไม่กี่คนที่ใช้คุณสมบัติการริปกับเครื่องพวกนี้ คือถ้าจะริปก็คงริปไปนานแล้ว พวกเราจะใช้ไฟล์ที่เก็บในตัวเครื่องหรือ NAS ในการสตรีม ส่วนใหญ่ก็ฟังจาก TIDAL หรือ QOBUZ แทนไปเลย” ผู้เขียน

แต่ถ้าอยากริป

*ในคู่มือระบุว่า WDNET มีซอฟต์แวร์ริปของตัวเองโดยใช้ของ CD paranoia เพื่อริปไฟล์และจัดเก็บไฟล์ซีดีแบบ Bit Perfect (ไม่ว่าจะในที่เก็บข้อมูล SSD แบบออนบอร์ดหรือ NAS แต่กระบวนการริปเปอร์ไม่ได้ใช้กลไก CD drive ของ WDNET ที่ติดตั้งมา ต้องซื้อ CD drive แยกต่างหากสำหรับการนี้ และเชื่อมต่อกับพอร์ต USB ด้านหลังพอร์ตใดพอร์ตหนึ่ง

:CD Ripper ได้ลองแล้วดูเหมือนยังทำไม่ได้ ต้องรอ F/W อัปเดตใหม่ ใจเย็นๆ เดี๋ยวก็ทำได้

Connectors

หลังเครื่องของ WDNET จะพบกับขั้วต่อมาตรฐาน (S/PDIF (RCA และ BNC), AES/EBU RJ45 Ethernet Port และ USB 2 พอร์ต) ยังมีลิงก์พิเศษเป็น HDMI จำนวน 2 พอร์ตสำหรับการเชื่อมต่อ I2S ซึ่งในอนาคตจะสามารถต่อแบบ 2 เส้นร่วมกันด้วย เคยพบว่า WEISS ใช้ AES สองเส้นเช่นกัน โดย ROCKNA จะเรียกว่าการต่อแบบ ‘Super-I2S’ แน่นอนอยู่แล้วที่น่าจะมี DAC ไม่กี่ตัวที่สามารถต่อเชื่อมได้ หนึ่งในนั้นก็คือ Wavedream DAC นั่นเอง คงต้องรอชมต่อไปว่าจะเริดเพียงไร

Coaxial (S/PDIF)
XLR (AES/EBU) 
USB  
HDMI LVDS (I2S HD-Link1r/p)
HDMI LVDS (I2S HD-Link2r/p)

รองรับ 24/192… DSD64
รองรับ 24/192… DSD64
รองรับ 24/384… DSD64-256/512   
รองรับ 24/384… DSD64-256/512 
รองรับ 24/384… DSD64-256/512

Hook Up

Bulldog Audio ส่ง ROCKNA Wavedream NET (WDNET) สีเงินมาพร้อมกับหน่วยความจำมาตรฐาน SSD 1TB วางคู่กันกับ ROCKNA Wave dream DAC (WDDAC) สีดำอะโนไดซ์ เป็นรุ่น Edition Balanced ซึ่งแปลว่ามีโมดูล RD-1(Edition -26 Bit) 2 โมดูลติดตั้งมาแบบ Full balanced พร้อม รีโมตและสาย HDMI เพื่อเชื่อมเข้าหากันด้วย I2S เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง ถ้าต่อเชื่อมกับ DAC ตัวอื่น WDNET มีช่องเสียบให้เลือกอีกเพียบ ที่ต่างจาก CD Transport ตรงมีช่องเสียบสาย LAN เพราะต้องสวมบท Network Transport (Roon Core / Roon Endpoint) ด้วย คงไม่แปลกแล้วใช่ไหมที่ห้องฟังต้องมีสาย LAN และ Network Switch อย่าลืมเชื่อมต่อสาย LAN ให้ด้วยล่ะ WDNET จะได้ติดต่อกับชาวโลกไง

หลังจากทีมงาน Bulldog Audio จัดวางคู่หูดูโอ้จากโรมาเนียทั้งสองไว้บนแท่นวาง ก็ได้เวลาส่งแขก จากนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านเอง ใช้เวลาไม่นานเพียง 2 – 3 นาทีเท่านั้นที่จะจัดการกับสายไม่กี่เส้น ประกอบด้วยสายไฟ 2 เส้น สาย HDMI, LAN และ XLR Balance อีกคู่หนึ่งเพื่อต่อพ่วงเข้ากับทีมเจ้าบ้านอย่าง VITUS , MANGER และ REL ก็แล้วเสร็จ

ถ้ายังไม่ต้องการเซ็ตอัพใดๆ อยากฟังเร็วๆ ก็เล่นแผ่นซิ หยิบรีโมตขึ้นมาเลือกกดฟังก์ชัน CD/Server LAN หรือเพียงกดปุ่มที่หน้าเครื่องก็ได้ กดเลือก CD เลย แต่ถ้าต้องการตั้งค่าการใช้งานอื่น ต้องเชื่อมกับเน็ตเวิร์กด้วย ก็แค่นั้น… ง่ายมะ?

Set Up

จะไม่ทำอะไรเยอะหรอก เข้าไปดูนิดว่า Firmware อัพเดตไหม เปิดฟังก์ชันเสียหน่อยก็แค่นั้น หลักๆ จะให้ “WDNET + WDDAC” สวมบทในลักษณะ CD Player / Media Player / Roon Endpoint ประมาณว่าเน้นฟีเจอร์หลักจะไม่เล่นเยอะล่ะ เอาเนื้อๆ ก็พอ

  • “CD Transport + DAC” จะกลายเป็นเครื่องเล่นซีดีไฮเอนด์แยกชิ้น เล่นเหมือนเครื่องเล่นซีดีปกติ ใส่แผ่นเล่น ใช้รีโมตตัวเดียวก็เล่นได้ ไม่ต้องต่อเน็ตเวิร์กหรือแอปใดๆ เลย ตรงนี้นักเล่นรุ่นคุณพ่อก็เล่นได้
  • “Roon Core + DAC” ให้ WDNET เป็น Roon Core พ่วงกับ DAC ชั้นดีตามอัธยาศัย ในที่นี้ต้อง WDDAC เท่านั้น ไม่งั้นมีเคือง กว่า “เสี่ยมุแห่ง Bulldog Audio” จะแหวกคิวจัดมาให้เป็นคู่แบบเต็มคาราเบลนี่ไม่ง่าย ต้องขอบคุณมากมาย ฟีเจอร์นี้จะใช้เป็นหลัก

แค่ Lock off จาก Core ตัวที่เล่นอยู่แล้ว Un-authorized ด้วย จากนั้นก็ Lock In ที่ WDNET มันจะสวมบทในทันที ก็จัดการ Sign In บรรดา Services: Tidal, Qobuz รวมถึงจัดการ Storage ตามปกตินั่นแหละ เลือก Audio output เสียให้เรียบร้อย ใช้แอป Roon Remote เล่นตามปกติ คิดว่าคงเป็นกันอยู่แล้ว จะไม่บรรยายต่อแล้วนะ

  • ROON Endpoint + DAC โดยมี Pachanko Labs Constellation Mini เป็น Roon Core ซึ่งใช้งานอยู่แล้ว

บทบาทนี้ WDNET ทำตัวเป็นดิจิทัลทรานสปอร์ต เมื่อถูกจับคู่กับ DAC ก็จะกลายไปเป็นเพลเยอร์ชั้นดีตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ครบทั้งอ่านแผ่นฟิสิคัลและเป็น Network Stream Player ไปในตัว โดยผลักภาระการจัดการไปให้ Roon Core ตัวอื่น ตัว WDNET เองก็จะเบาหัว แต่ตามทฤษฎีแล้วถ้าได้ Roon Core เก่งใหญ่ที่เหนือกว่า ควรจะให้เสียงดีที่สุด

  • Features อื่นๆ ขออภัยที่ไม่ได้ลองเช่น HQ Player ที่ว่ากันว่าดีมาก

ที่แน่ๆ เป็น UPNP / DLNA ประมาณว่าเครื่องเล่นอื่นก็เห็นไฟล์ในตัว WDNET ด้วย ลองใช้ MConnect ก็เล่นได้ ส่วน AirPlay ได้ลองนิดหน่อยพอสังเขปไม่ซีเรียส เครื่องระดับนี้จะใช้เล่นก็ไม่เป็นไร เช่นถ้าอยากฟังเพลงจาก Apple Music เป็นต้น

Show Time

เมื่อต้องเล่นแผ่น เปิดถาดของ WDNET ออกมา อึมม… คิดในใจดังๆ ว่า  “เอ่อ.. CD Drive ก็แสนจะธรรมดา ไม่หรูหรา เวอร์วังอะไรเลยซักนิด เสียงดีแน่นะ มุ?”

หลังใส่แผ่นเข้าไป รอซักอึดใจขอเวลาอ่านแพร็บ จำนวนแทร็กและระยะเวลา บ่งบอกความยาวของอัลบั้มจะปรากฏบนหน้าจอของ WDNET ที่เป็นเช่นนี้เพราะไดรฟ์จะยิงลำแสงจากหัวอ่านไปที่ร่องมีเดียโลหะภายใต้พลาสติกโพลีคาร์บอเนตที่ฉาบผิวหน้าไว้เป็นแผ่น CD drive ต้องใช้เวลาอ่านข้อมูลก่อนที่จะถูก Buffer หรือกระบวนการเก็บข้อมูลบางส่วน โดยเก็บใน RAM (Random Access Memory) เพราะถ้าขืนเก็บข้อมูลทั้งแผ่นคงต้องอ่านนานกว่านี้ซึ่งไม่จำเป็น ก็เก็บข้อมูลไว้ชั่วคราวบนหน่วยความจำ (Flash memory) เล่นออกไปแล้วก็อ่านข้อมูลชุดใหม่ไปเรื่อยๆ วิธีนี้ถูกใช้ใน PS Audio ด้วยฝีมือของพ่อมดโรมาเนียคนนี้ไง หรือแม้ CD Transport จากค่ายดังราคาตัวเป็นแสนก็ใช้วิธีการทำนองนี้แหละ

CD Transport เป็นการทำงานของ Digital + mechatronic โปรดอย่าสงสัยว่าทำไม ROCKNA ไม่เลือกใช้ Transport หรู เพราะถ้าขืนใช้ CD Transport หรู ทุกอย่างคือราคาที่ต้องจ่าย ค่าตัว WDNET คงไม่ใช่เท่านี้หรอก บังเอิญพ่อมดคนนี้ถนัด Digital นี่นา พี่เลยจัดน้ำหนักของ Digital แบบ “เต็มคาราเบล” มาชดเชยซะ อย่าดูเพียงว่าทำอย่างไร ให้ดูที่ผล “ฟังจากหูก็รู้ว่ามาถูกทางหรือไม่!”

เมื่อได้ฟังเสียงถึงกับอ้าปากค้าง ตกใจว่าทำไม WDNET ถึงเล่นแผ่น CD ได้ดีขนาดนี้ ดีแบบไม่น่าเชื่อ รายละเอียดเล็กๆ ยิบยับทุกตัวโน้ตทุกฮาร์โมนิกส์ ไดนามิกส์อิมแพ็คมาเต็มๆ ให้อารมณ์ร่วมดีมาก ไปขุดมาจากไหนเนี่ยะ

ถึงตรงนี้ เดือดร้อนต้องค้นลังแผ่นฟิสิคัลที่เก็บไว้บนห้องชั้นสองขุดเอาลงมาเล่น บอกเลยว่าระยะหลังมานี่แทบไม่ได้แตะ เพราะขืนทิ้งไว้ในห้องฟัง Home studio ก็รกห้อง เกะกะ ฝุ่นจับเปล่าๆ แถมห้องฟังรกๆ ยังมีโอกาสเป็นตัวสกัดคลื่นเสียงที่อุตส่าห์ปรับอะคูสติกส์เสียอีก เผลอๆ บางแผ่นหลวม เพราะตัวล็อกแผ่นอาจจับแผ่นไม่ดีจะส่งเสียงรบกวนเป็น Sound effect ให้ซะอีก กองไว้ก็ไม่ค่อยได้ฟังอยู่ดี ขนไปเก็บเถอะเพราะมัวแต่ฟังสตรีม ดังนั้นอยากฟังแผ่นไหนก็ต้องไปค้นเอา

ทีนี้ได้เวลาข้ามฟากมาเล่นไฟล์ตามถนัดกดรีโมตฟังก์ชัน CD/Server จะปรากฏบนหน้าจอเครื่องว่า LAN ตามด้วยบิตเรตของไฟล์ที่เล่น เช่น LANDSD256 หรือแปลว่าเล่นไฟล์ DSD256 เช่นเดียวกับหน้าจอของ WDDAC นั่นเอง แม้ WDNET เล่นไฟล์ได้หลายวิธีก็จริง “คิดว่านาทีนี้ Roon สะดวกสุด ทุกคนใช้งานคุ้นมือกันอยู่แล้ว อีกอย่างต้องการทดสอบให้เห็นว่า WDNET ทำหน้าที่ Roon Core และ Roon Endpoint ได้ดีเพียงไร”

อาจไม่จำเป็นต้องใช้ WDNET เป็น Roon Core เสมอไป สามารถเรียกใช้ Core บน PC เครื่องใดก็ได้ที่คุณเลือก และใช้ Wavedream NET ในฐานะสตรีมเมอร์ / Roon Endpoint แต่จะทำอย่างนั้นเพื่อ? บอกเลยว่า WDNET เหนือกว่า Core บนโน้ตบุ๊กชัดเจนชนิดไม่ต้องสืบ

ผมใช้ Pachanko Labs: Constellation Mini มาใช้งานร่วมด้วย ฟังก็รู้ว่าให้ผลแตกต่างแน่นอน ในกรณีนี้แนะนำให้ลองสลับตัวกันแล้วฟังดู ทาง PK แนะนำว่าให้เลือก ‘เก่งใหญ่’ ในที่นี้คือ WDNET เป็น Roon Core และให้ Mini เก่งเล็กเป็น Streamer / ROON Endpoint จะให้ผลแตกต่างชัดเจนกว่าครับ

วกกลับมาที่เพลง… ติดลมจากซีดี Pink Floyd: The Wall ทีนี้มาฟังจากไฟล์บ้าง อัลบั้มที่ต้องฟังคืออัลบั้ม Animal ที่เพิ่งรีลีส รวมถึงบางแทร็กของ DSOTM 50th Anniversary ซึ่งเริ่มรีลีสแล้ว รวมถึง Nick Mason’s Saucerful of Secrets งานของลุง Nick Mason กับผองเพื่อนที่รวมตัวออกทัวร์นำเพลงของ Pink Floyd ยุคซาวด์ไซครีเดลิคย้อนยุคสุดมัน แทร็กใหม่ของ EVA Cassidy เพลงหวานๆ กับวงใหญ่ก็ฟังดีนะ

การทำงานของ WDNET ที่ “เงียบ นิ่งและเสถียร ไม่กวนใจ” เป็นผลจากการพิถีพิถันในทุกสิ่ง เช่นกับภาคจ่ายไฟ การเฟ้นหาอุปกรณ์เพื่อวงจรภายในที่ซับซ้อนก็เพื่อสิ่งนี้ไม่ใช่หรือ เมื่อตัวต้นทางดี ก็เข้าทางที่ของ WDDAC แนวเสียงเฉพาะตัวของ R-2R Ladder DAC ชั้นดีที่ให้เสียงใหญ่ ให้ความประทับใจกับ Background Noise ที่ต่ำ จึงได้ความสงัด แผ่นหลังเวทีหายไปเลย นำพาให้ดำดิ่งลงสู่ห้วงลึกอันมืดมิด สัมผัสได้ถึงธรรมชาติของเสียงเครื่องดนตรีทุกตัวโน้ตเป็นอิสระเสมือนลอยออกมาเป็น 3D ปลดปล่อยพลัง รายละเอียดของดนตรีทุกเม็ด ได้ซึมซับกับงานดนตรีของศิลปินวงโปรด เวทีกว้างทะลุกำแพงแคบๆ ของ Home studio ให้ความโอ่อ่าเต็มวง เมื่อต้องการความดุดัน ปลดปล่อยพลัง สัมผัสได้ถึงแรงปะทะ แสดงรายละเอียดกระจะชัด เปิดเผย มิติชัดให้บรรญากาศดนตรีแสดงสดสมจริง ในขณะที่ดนตรีโหมกระหน่ำให้ซาวด์อิมเมจโดดเด่น รายละเอียดดีเยี่ยม ไดนามิกส์อิมแพ็คทรงพลัง และ โทนัลบาลานซ์อันยอดเยี่ยม ในแง่มุมของเนื้อเสียงให้ซาวด์สเตจในไสตล์ของ R-2R DAC เข้าทางผู้ที่ชอบอัลบั้มที่มี Sound ดิบ สด เปิด มีชีวิต จะสะใจมาก

ROCKNA Duo

ในช่วงเวลาก่อนยุคสตรีมมิ่ง เครื่องเล่นที่ดึงข้อมูลของแผ่นดิสก์เข้าสู่หน่วยความจำก่อนนั้นถือเป็น “สิ่งที่แพงและหาได้ยากในเครื่องเล่นทั่วไป” ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นวิธีทำให้ได้เสียงละเอียด แม่นยำกว่า และเหมือนเสียงที่คุณได้จากอะนาล็อกเทปหรือแผ่นเสียงที่เหนือกว่าดิจิทัลส่วนใหญ่ในยุคนั้น แต่กับคู่หูคู่นี้ นี่ไม่ใช่เสียงดิจิทัลที่มีขอบคมๆ มีสากเสี้ยนเช่นในยุคต้นของดิจิทัลออดิโอเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว แต่เป็นเสียงดิจิทัลที่เนียนปราศจากความกร้าน ก้าวร้าว ให้ได้ยินเนื้อแท้ของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน จะแสดงผลต่ออัลบั้มที่ถูกบันทึกไว้อย่างดีเข้ากับประเภทของเครื่องดนตรีที่จะให้ไดนามิกส์ที่ได้เผยรายละเอียดระดับ Micro details ให้สัมผัสได้ด้วยหูคุณเอง แสดงคุณสมบัติถูกต้อง “ตรงปก” ทั้งหมดของคำว่าสุดยอดของดิจิทัลออดิโอในระดับแถวหน้า ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษว่าคือจุดเด่นจริงๆ

เผื่อมีคนถาม ตอบตรงนี้เพราะ WDNET แทงกั๊กเอาใจสองฝั่งทั้งฟิสิคัลและดิจิทัลไฟล์ อย่าได้ถามเชียวนาว่าฟากใดเหนือกว่า ตอบเลยว่า “ดีทั้งคู่” และดีคนละแบบ

คู่หูได้สร้างเวทีเสียงสเตอริโอเวทีกว้าง ‘ในห้องฟังแคบของ Home Studio ชานกรุง’ ประมาณว่าบ้านนอกก็ได้ แต่ทำไมแถวนี้รถเยอะจังฟะ ในห้องเล็กแต่ให้วงใหญ่ๆ หนักแน่น สะใจกับเสียงเพลงของวงโปรดยุค ’70 ยิ่งฟังสนุก ยิ่งถ้าได้ฟังอัลบั้มแนว “โอ้ฟาย” บันทึกดีๆ ก็ยิ่งจะให้ Image Sound Stage ดีเยี่ยม เสียงที่เปล่งออกมาจากลำโพงเป็นธรรมชาติสมจริง รู้สึกใกล้กับเครื่องดนตรีจริงมากขึ้น ซึ่งก็อาจได้ยินประโยคนี้กับไฮเอนด์อื่นๆ แต่ ROCKNA DUO ให้ ‘บางสิ่ง’ ลึกกว่า ด้วยแนวเสียงละเอียดและเผยความซับซ้อนของดนตรีอย่างมีพลังในแบบของ ROCKNA ที่ให้คุณภาพเสียงใน “คลาสที่แตกต่าง” จากไฮเอนด์ในระดับเดียวกันอย่างแท้จริง ให้ตายซิ เป็นเช่นนั้นจริงๆ ถ้าชอบแนวนี้ก็ใช่เลย

WDNET เป็น Digital Transport ที่มาพร้อม CD Transport ให้เสียงที่ละเอียดและงดงามไร้ที่ติ ชวนให้ละเมียดดื่มด่ำกับเสียงดนตรีที่น่าฟัง ดึงดูดใจไม่แพ้กันจากฝั่งเซิร์ฟเวอร์ จะถ่ายทอดมาสู่ DAC เทพของคุณ แม้ไม่ว่า DAC ตัวใดที่คู่ควร ในที่นี้คือ WDDAC นั่นเองที่ให้รายละเอียดครบถ้วน เสียงที่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่งด้วยความดีงามของจังหวะท่วงที ลีลา (Rhythm and Timing) อย่างที่หาไม่ได้ง่าย

เสียใจด้วยนิดที่ดิจิทัลออดิโอในยุคนี้จะไม่กร้านหรือขัดหูอย่างที่แซะกัน ให้เสียงสด สะอาด ไร้นอยส์ เสียงป๊อปคอร์นรวมถึงเสียงสแครชใดๆ ที่อาจมาทำลายสมาธิ บังเอิญว่าสายสตรีมเป็นคนขี้รำคาญ ไม่ชอบจุกจิกเสียด้วย ก็เข้าทางซิ

Wrap Up: NETWORK ENCHANCED TRANSPORT

คอลัมน์ audiophile go digital นี้เคยทดสอบ “DAC เทพ” มานับไม่ถ้วน บางครั้งก็อดเสียดายไม่ได้ว่ายุคแรกๆ นั้นจะหา Digital Transport ดีๆ เพื่อจะได้คู่ควรกับมันยากมาก ยุคนี้ต้องบอกว่าโชคดีของผู้เล่น ที่มี Network Transport ดีๆ ให้ได้แก้คันหลายตัว หลายสนนราคา ใครก็ตามที่เป็น “เจ้าของ DAC เทพ เสียงดี” ให้เสียงถูกจริตอยู่แล้ว ดูซิว่าได้เรียกศักยภาพมันสุดแล้วหรือยัง? บางท่านเชื่อกองเชียร์หลงทางแทนที่จะขยับ Front End ตัวเดียวพาลเปลี่ยนยกชุดซะงั้น ขอให้เชื่อหูตัวเองดีที่สุด

ก่อนคิดจะไปต่อ ลองส่องดูซิว่า Transport คู่ควรกับ DAC ตัวโปรดแล้วหรือไม่ แม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆที่จัดเต็มไว้ด้วยตัวมันเองครบถ้วนอยู่แล้ว ตราบใดตามที่ยังมีความต้องการความเป็นที่สุด ลองปัดฝุ่นความคิดหา Transport แห่งยุคสมัยอย่าง WDNET มาจับคู่ เพียงเปลี่ยน Transport ตัวเดียวผลที่ได้เหมือนระเบิดชุด ยกเครื่องใหม่ทั้งชุดกันเลยทีเดียว อาจคิด “ไปอยู่ที่ไหนมา”

Wavedream NET เป็น 2 in 1 Transport มีค่าตัวที่ไม่ถึงกับดุนัก จัดว่าคุ้มค่ามาก “ลองบวก-ลบ-คูณ-หาร” ดูซิ WDNET จะกลายเป็นลมใต้ปีกเสริม ROCKNA Wavedream DAC พาให้บินสูงขึ้นไปอีก ส่งประสิทธิภาพของ DAC ไปสุดขอบจินตนาการ เป็นจริงอย่างที่เคยพูดไว้ “ทรานสปอร์ตคือตัวต้นทางที่สำคัญมาก”

… ข้อดีเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นตามลำดับความสำคัญเมื่อสุดยอดอุปกรณ์ทั้งสองมารวมพลังกัน เป็นการ Synergy ที่ได้ผลมากขึ้นเป็นทวีคูณไม่ใช่แค่ 1 + 1 = 2 นี่คือการทำงานร่วมกันที่ยอดเยี่ยมของ WDNET และ WDDAC ทั้งหมดนั้น บางทียิ่งใหญ่พอๆ กับแอมป์และลำโพงเสียอีก ก็เพราะวลี “SOURCE FIRST” ยังคงขลัง “ต้นทาง” ดีย่อมส่งผลดีโดยรวมของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นซิสเต็มนั่นเอง

WDNET (ROCKNA Wavedream NET) คือตัวเลือกอันเหมาะสมและคู่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของ WDDAC แนะนำให้รีบเรียก WDNET ไปลองจับคู่ด่วน ส่วนเจ้าของ DAC เทพตัวอื่นก็เช่นกัน… อย่าช้า!!!

ขอให้มีความสุขในการฟัง ขอบคุณและสวัสดีครับ. ADP

ราคา 350,000 บาท พร้อมหน่วยความจำ SSD 1TB

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Bulldog Audio
โทร. 081-454-0078

ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ