CARY AUDIO: DMS-800 Professional Version
(NETWORK AUDIO PLAYER)
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน
คอลัมน์ audiophile go digital เดินทางมาอย่างยาวนานจนแก่กล้า บททดสอบดิจิทัลออดิโอบนสื่อออนไลน์ของ Audiophile Videophile ที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ ฉบับเต็มของ“ของหนัก“ มาแล้วครับ…
หลายท่านคงได้พบกับ “บก.อุ้ม” ได้สนทนาธรรมกันไปแล้วในหัวข้อที่ว่า
“ใหญ่กว่า ลึกกว่า หนักกว่า เนียนกว่า เหนือกว่า” ในทุกมิติ
5 เรื่องน่าทึ่งของ CARY AUDIO: DMS-800 Professional Version (NETWORK AUDIO PLAYER) ได้ LIVE STREAM บนโซเชียลมีเดีย Facebook และ YouTube ไปแล้ว
บทความต่อไปนี้คือ บททดสอบ ที่จะขยายความนอกเหนือจากสิ่งที่พูดไว้ รวมถึงแก้ข้อความบางข้อความใน Live Stream อาจมีข้อผิด ตก ยกเว้นไป ก็จะเป็นไปตามข้อเท็จจริงไงครับ… ลองย้อนไปดูได้นะ
ก่อนอื่นต้องขอบคุณข้อมูลเชิงลึก ส่งตรงจาก Mr. Billy Wright: President Cary Audio ด้วยครับ
…ย้อนเรื่องราวของ Cary Audio กันนิดนึงครับ
CARY Audio
บริษัทไฮไฟอเมริกัน โตจากแอมป์หลอดไฮเอนด์ 2 แชนแนล เกิดจากปรัชญา ความมุ่งมั่นสู่แถวหน้าของวงการ เอกลักษณ์ โดยมีจิตวิญญาณคือ เครื่องเสียงที่นักเล่นถวิลหาความสุขต่อเสียงดนตรีแหล่งบันเทิงในบ้านตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน CARY มีพนักงานประจำอยู่ 21 คน ทั้งหมดถูกผลิต ประกอบด้วยมือ บนพื้นที่ขนาด 1 หมื่นตารางฟุตของโรงงานของตัวเองในเมือง Raleigh (ราลี), North Carolina สหรัฐอเมริกา CARY มีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงไฮเอนด์ชั้นนำ เช่นแอมป์หลอด ปรี โฟโนสเตจ แอมป์โซลิดสเตท จนถึงเน็ตเวิร์กออดิโอเพลเยอร์ คือ “ไฮไฟแห่งวันนี้และอนาคต”
the Believe…
Caryเชื่อว่า …
“ในโลกไฮไฟ ยังมีสิ่งเล็กๆ ที่มิอาจประนีประนอมได้ นั่นคือบรรยากาศและอารมณ์เพลง
และเมื่อได้ยินเสียงจากเครื่องเสียง Cary Audio จะเปลี่ยนวิถีการฟังไปตลอดกาล”
CARY AUDIO ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงผลการรีวิวจากรีวิวเวอร์ทั่วโลกเสมอมา วิถีการทำธุรกิจอเมริกันสไตล์คือ นำ Feedback ของผู้ใช้ นักทดสอบจากทั่วโลก รวมถึงผมด้วยที่ได้รีวิว Digital Source ของ CARY มาทุกตัว ไปปรับปรุงคุณภาพก่อให้เกิด Knowledge ส่งผลต่อความทุ่มเทของทีมวิศวกรของ CARY ที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของ CARY สร้างความแตกต่างจากไฮไฟอื่น
ปัจจุบันไฮไฟในส่วนของ Digital Front End มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ปลดล็อก Digital Player ที่ซึ่งถึงทางตันไปในช่วงต้นของปี 2000 สู่ความสดใส เกิดแรงผลักสู่อนาคต และก็คือ Digital Streaming Player (Streamer) จนโตขึ้นที่ปัจจุบันจะนิยมเรียกว่า Network audio player นั่นเอง
CARY’s DIGITAL ERA
คำถามที่ว่า Cary เข้าสู่ Digital Audio นานแล้วหรือยัง… หลายปีของการวิจัยพัฒนา Cary Audio ต้นยุค 2000 ได้นำเสนอ CD >> SACD Player ตัวอย่างเช่น CARY 306 CD/SACD ที่ให้เสียงอุ่น tubelike ในแบบฉบับของ CARY
Hello Streaming Years
ความจริง File base player สตรีมไฟล์ Hi-Res เริ่มก่อตัวเข้ามาเคาะประตูบ้าน “สวัสดีชาวโลก” มาตั้งแต่ช่วงปี 2007-2010 โดยเริ่มจากฝั่งยุโรปเรียกว่านานแล้วล่ะ จนเข้ามามีบทบาทกว้างขวางมากขึ้น CARY สู่วิถีสตรีมเต็มรูปแบบตั้งปี 2015 คืออเมริกันชนเพิ่งเล่นสตรีมมิ่งจริงจังนั่นเอง
ปักหมุดด้วย CARY: DMC–600SE Digital Music Center และ Cary Audio: DAC-200ts Digital to Analog Converter ซึ่งเคยรีวิวไว้แล้ว
DMS Series… 2018
ใน พ.ศ. ที่ Streaming service ทั้งดนตรีและหนังบุกทะลวงเข้าไปในบ้านอเมริกันชน รวมถึงชาวโลกทั่วทุกหัวระแหง ตรงไหนมี Internet เข้าถึงก็แปลว่าตรงนั้นล่ะคือเป้าหมาย
ไฮไลต์อยู่ตรงนี้ DMS Series (Digital Music Streamer) ถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกไฮไฟ ในขั้ว File base player ที่ควบรวมฟังก์ชันเด็ดไว้ ในนาทีที่สตรีมมิ่งครอบครองสื่อกระแสหลัก
DMS series ได้รับการตอบรับดีมาก เชื่อหรือไม่ว่า DMS ถูกขายออกไปแล้วมากกว่า 3,400 ตัวทีเดียว ไม่อยากนับเป็นเงินว่าจะเท่าไร… ส่วนตัวเชื่อว่ายังแรงได้อีก
Mission Statement
เป้าหมายท้าทายมาก
“DMS ต้องเป็น Digital Music Streamer ที่เสียงดีที่สุดบนโลกใบนี้ ในราคาค่าตัวเดียวกัน ไม่ว่าจะวันใดๆ ก็ยังเป็นผู้นำเสมอ”
Cary Audio DMS Series: Digital Music Streamer
Network audio player / Streamer / DAC / Pre-Amp ที่ลงตัวที่สุด ด้วย Home network, Cloud services รวมถึง Internet Radio ที่หลากหลายจากทุกที่ในโลก ยังทำตัวเป็น Music Library รองรับหน่วยความจำภายนอกขนาดใหญ่ ใช้งานง่าย การทำงานลื่นไหล และเสถียร ให้เสียงอุ่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ CARY AUDIO ที่ไม่มีวันเปลี่ยน
Digital Products line
CARY AUDIO ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในสายพันธุ์ดิจิทัล 3 รุ่น คือ
DAC >> Music Center>> Streamer/DAC
- DAC-200ts Digital to Analog Converter
- DMC-600SE Digital Music Center
- DMS-550/700
นำเสนอครั้งแรกด้วยรุ่น DMS-600 ซึ่งถือว่าปังมาก จากนั้นก็ถูกแทนที่ด้วย DMS–550 และรุ่นเรือธง DMS-700 ในขณะนั้น
ล่าสุด ได้นำเสนอ Cary DMS-650 และ “ยานแม่” ตัวใหม่ DMS-800PV (Network audio player)
DMS-800 Professional Version
Truly Full Balanced, Dedicated…and Separated Circuitries as Dual Mono… into ONE machine.
นิยามของ DMS-800PV คือ DMS ในรูปแบบ Extreme version แต่กลับเรียกว่า DMS-800 Professional Version นั่นเองที่ “จะใหญ่กว่า หนักกว่า หนากว่า ให้เสียงเนียนกว่า และเหนือกว่าในทุกมิติ”
from DMS-700… To Infinity… And Beyond
จากความสำเร็จของรุ่นเรือธง DMS-700 ที่มีอย่างท่วมท้น ได้รับการตอบรับ เทใจจาก User รวมถึงบททดสอบจากรีวิวเวอร์ทั่วโลกต่างยกนิ้วให้กับ DMS-700 ว่าคือ Network Audio Player ที่เยี่ยมยอดจริง
Mr. Billy Wright: President ของ Cary ขยับเป้าหมายใหม่ให้สูงขึ้น ท้าทายฝ่ายวิจัยพัฒนาโดยนำความสำเร็จของรุ่นเรือธง DMS-700 เพื่อยกระดับเพอร์ฟอร์มานส์ของยานแม่ Network Audio Player โดยใช้คุณสมบัติเด่น เป็น milestone เพื่อปรับปรุงให้เหนือขึ้นไปอีก โดยไร้ข้อจำกัดใดๆ
“ไม่ใช่แค่แตกต่าง แต่ต้องเหนือกว่าในทุกมิติในด้านเสียง”
ประมาณว่าต้องออกแบบใหม่หมดและทำอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อให้คุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ข้ามเส้นแบ่งจากไฮเอนด์สู่ Super Hi-End กันเลยทีเดียว
ก่อนอื่นต้องมาดู DMS-700 Core’s design เสียก่อน แน่นอนว่าคงให้ความสำคัญในสามส่วนคือ
PSU >> Digital Turntable >> DAC stage to Analog Output
ถ้ามองจากผังของการวางเครื่องภายใน DMS-700 ถูกถอดคอนเซปต์มาจาก DMS-600 แต่ถูกอัปเกรดวงจร DAC Section ให้ไปไกลกว่าด้วย DAC Chip: AKM AK 4499EQ คือเครื่องจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน
– ด้านซ้ายมือคือภาคจ่ายไฟหลัก ซึ่งแยกส่วนระหว่างที่จ่ายให้กับภาคดิจิทัลที่ต้องจ่ายไฟให้กับ DAC Chip และภาคอะนาล็อกอิสระต่อกัน
– ตรงกลางของ DMS คือ Digital section จะถูกเรียกว่า Digital Turntable ทำหน้าที่ Streamer / Renderer ที่สามารถเล่นไฟล์ได้ทุกฟอร์แมต รวมถึง DSD ISO ได้ด้วย
การเชื่อมต่อด้วยสาย LAN หรือไร้สาย WLAN (WiFi) ซึ่งจะรองรับ AirPlay2, AptX HD Bluetooth ยังประกอบด้วย Digital Input/Output ซึ่งสามารถเสียบหน่วยความจำภายนอก ทำตัวเป็น Music Storage ได้อีกด้วย
– ขวามือสุดคือวงจรของ DAC Stage / Analog Output / Pre เรียกว่าจัดเต็มมาก ประกอบด้วย FPGA DAC stage, Master Clock, DSP, Analog stage/Pre ถือเป็นขุมกำลังหลักของเครื่องกันเลยทีเดียว
Billy Wright บอสใหญ่แห่ง Cary Audio ได้กล่าวถึง DAC Stage ของ DMS-700 ไว้ว่า:
“มีบ้างไม่มากที่ใช้ FPGA DACs ในขณะที่บางบริษัทใช้ R-2R Ladder DACs อย่างหนึ่งอย่างใด แทบจะไม่มีเลยซักรายที่จะใช้ทั้งสองตัวทำงานร่วมกันเหมือน DMS-700 ตัวนี้ ก็เพราะเราต้องการให้ DMS ไปให้สุด
การที่จะใช้ FPGA อย่างเดียวกับ DAC นั้นอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก เว้นแต่จะต้องมี software engineer มือดีจริงๆ ระดับ Chip Maker ซึ่งสำหรับค่ายไฮไฟทั่วไปก็อาจไม่สามารถทำได้เลย ในขณะที่เลือกใช้ R2R DACs ล้วนๆ ก็ท้าทายเช่นกัน การยืมจมูกคนอื่นหายใจนั้น จะอัพ Firmware แต่ละครั้งก็นานเกิ๊น…”
CARY ท้าทายขึ้นไปอีกด้วยการนำ FPGA Chip มาผนวกการทำงานร่วมกับ DAC CHIP: AKM AK4499EQ โดย DAC Chip ตัวนี้ล้ำ และทรงพลังที่สุด มีโมดูล Switched resister Module หรือ R2R Ladder DAC อยู่ภายในซึ่งก็คือทีเด็ด แน่นอนว่า Cary ต้องการรีดเค้นเพอร์ฟอร์มานซ์จากมันออกมาให้มากที่สุดซึ่งไม่ง่ายนัก
ต้องยอมรับว่า Cary มีสายสัมพันธ์กับ AKM มาอย่างยาวนาน ปฏิเสธไม่ได้ว่า DAC Chip ของ AKM ถอด DSD แบบ Native ได้เนียนกว่าค่ายอื่นที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งถ้าทำไม่ดีเน่าเอาง่ายๆ และอีกข้อ DMS ต้องเป็น DAC Stage ที่เป็น MQA DAC พร้อมที่จะคลี่ MQA ไฟล์ได้หมดจด ไม่ว่าไฟล์จะมาจากที่ใด เช่น Ripped จากแผ่น MQA CD หรือสตรีมจาก TIDAL Master เป็นต้น และคือจุดแข็งที่นักเล่นถามหา Cary เขียน Algorithm ให้ FPGA มาสั่งให้ทำงานประสานกันกับ DSP จูนเสียงภาคอะนาล็อกในโทนเสียงของ CARY เอง ผลก็คือ DMS-700 ให้เสียงน่าทึ่ง ยากที่ใครจะเทียบ…
ต่อคำถามที่ว่ากันว่า 800 PV คือ DMS-700 สองตัวมาขนานกันแบบ Dual Mono ใช่หรือไม่
“ถ้าบอกว่าใช่จะอึ้งไหมล่ะ อาจเรียกได้ว่า DMS 800PV ถูกออกแบบให้ทำงาน Dual Mono DACs Stage ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด” ทั้งหมดถูกติดตั้งบนตัวถัง Aluminum ทั้งตัวพร้อม Isolator Feet ถึงได้หนักถึง 39.5 Lbs ประมาณนั้นไงครับ
ตารางที่แนบให้ดูนั้นบอกถึงความต่างและเหมือนของวงจรที่ใช้ร่วมกันของ DMS700 vs DMS 800PV
จะเห็นว่าต่างกันเยอะ มีใช้ร่วมกันน้อยมาก
How?
เมื่อได้โจทย์เช่นนี้ ฝ่ายพัฒนาวิจัยต้องรื้อผังวงจรใหม่ทั้งหมด จะสังเกตพบว่าส่วนล่างของเครื่องจะประกอบไปด้วยภาคจ่ายไฟหลายชุดแยกซ้ายขวา ตรงกลางมีหม้อแปลงขนาดใหญ่และคาปาซิเตอร์ความจุถึง 60,000 uF กันเลยทีเดียว เป็นส่วนสำคัญถูกชีลด์ไว้อย่างแน่นหนามาก
จะเห็นว่า ยังคงรักษาหลักการเดิม คือแยกส่วนเช่นเดิม โดยยังคงคอนเซปต์มี 3 ส่วนเช่นเดิมคือ PSU + Digital Turntable Stage + DAC Stages แต่เบิ้ลแบบ x2 ในส่วนสำคัญของเครื่องเสียงก็คือภาคจ่ายไฟอิสระหรือ PSU ที่แยกระหว่างดิจิทัลและอะนาล็อกอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละชุดก็ยังติดตั้งเป็นอิสระอีกข้างละชุด
โดยเฉพาะภาคจ่ายไฟให้กับ AK 4499EQ ต้องใช้ชุดจ่ายไฟถึง 7 ค่า กลายเป็นรวมกันถึง 2×7 ทีเดียว และ 2 DACs stage ทำงานโดย FPGA รวมถึง DSP จะทำงานประสานกันกับ CRYTEK Oscillator Clock แม่นยำในระดับ FEMTO second
AK 4499EQ DAC Chip ข้างละ 4 Ch รวมเป็น 8 Ch ถือว่าอลังการงานสร้างมาก และแพงมากด้วย ทั้งหมดสั่งการโดย Algorithm ซึ่ง Cary เขียนขึ้นเอง และ Firmware จะถูกอัพเกรดได้เรื่อยๆ เครื่องจะไม่ตกรุ่นง่ายๆ
Analog stage ที่ประกอบด้วย 2 Ch of Analog outputs วงจรของภาค I-V Circuit และ LPF & J-FET Output Circuit ลิขสิทธิ์เฉพาะของ CARY ทำงานแบบ Full Balanced และ Analog Filter: 3rd Order Bessel จัดเต็มแบบไม่หวงเครื่องเล่นไปเลย 2 ชุดขนานกันแบบ Dual Mono กันไปเลยทีเดียว เรียกว่า “ของหนัก” จริงๆ
ภาพด้านบนจะเห็นความซับซ้อนของวงจร DACs Stage ที่ถูกออกแบบใหม่หมด ส่วนสำคัญเป็น Dual Mono DACs Stage PCB แยกอิสระซ้ายขวายาวจรดหลังเครื่องเลยทีเดียว แต่ละแผงติดตั้งไว้ด้วย AK 4499EQ ซึ่งภายในมี DAC จำนวน 4 CH กลายเป็นว่า DMS-800 Professional Version ใช้ DACs ถึง 8 Ch รวมถึง DSP ก็ยังแยกกันด้วย ส่วนบนตรงกลางก็เป็น DMS PCB เป็น Streaming/Renderer รวมถึง Network circuitries / Digital Inputs Board ด้วย
-> Dedicate Isolated 2 Groups of Power supplies to all digital and analog stages.
→ Digital turntable function >> DMS platform PCB ยังคงใช้ชุดเดิม
→ Dual Mono DACs and Analog Outputs stage.
- Creating a Dual mono version of DMS-700,
- Dual mono DAC boards with its own AK4499EQ DAC each.
‘Twin AKM: AK4499 Switched Resister Current Output 4Ch per DAC Chips’
AK4499EQ 32-bit 4 channel Switched Resistor DAC 128 pins QFP package ซึ่งเป็น DAC Chip ตัวแรกของโลกมีประสิทธิภาพสูงที่สุด และแพงที่สุด
- Separate digital and analog boards
- Separate and multistage power supplies per channel
- Separate DSPs per channel
DMS mean’s
‘Digital Turnable’ DMS streaming platform
เผื่อจะสงสัยว่า DMS Platform ทำอะไรได้บ้าง
สิ่งแรกก็ต้องรองรับ UPnP, dLNA standard มาตรฐานการเชื่อมต่อกับ Home Network ไงครับ
Cloud Services เช่น Spotify, Tidal, QOBUZ สมาชิกเหมาจ่ายรายเดือน 3 ตัวนี้ก็เหลือๆ ส่วนของฟรีก็เช่น vTuner Internet radio ซึ่งมีสถานีนับพัน TIDAL คลี่ MQA Full decode อย่างหมดจด รองรับ ROON Ready ก็แสดงว่าทำตัวเป็น ROON EndPoint ต้องตั้งค่านิดนึง
เชื่อมต่อไร้สาย AirPlay, AptX HD Bluetooth แบบสองทาง ส่งก็ได้ รับก็ได้
เล่นไฟล์ 32-Bit 768 kHz และ MQA Full decode at 768 kHz แถมยังเล่น DSD ISO ซึ่งเป็น Image File ได้ด้วย Up conversion and Up Sampling >> Up to PCM 768 kHz or DSD 256
Technologies
เช่นเดียวกับ DMS ทุกตัวที่จัดมาเต็มๆ ไม่ฉายซ้ำล่ะ อยากรู้หาอ่านย้อนหลังจาก DMS-700 ได้
Qualcomm aptX HD Bluetooth 24 บิต / 48kHz ชนิด 2 ทาง รับและส่ง
เทคโนโลยี ADVANCED MU-MIMO WI-FI MU-MIMO นั้นใช้งานที่ความถี่ 5Ghz ซึ่งจะดีที่สุด
TruBit Upsampling Cary นั้นจัดเจนในเรื่องนี้ โดยทำงานที่ Digital Filter: 32-Bit 8x Oversampling Digital Filter ออกแบบโดยใช้ 128-bit DSP engine ที่จะใช้ถึง 7 different selectable TruBit sample rates คือจาก 44.1ทะลุ 768 kHz (44.1) —> 48 —> 88.2 —> 96 – 176.4 —> 192 —> 352.8 /384—> 705.6/768 kHz สุดๆ ไปเลย ที่ bit depth 32 bits ด้วย OSOTM Reclocking ฟังก์ชัน OSO “(Onboard Signal Origination)” ทำงานเช่นเดียวกับ USB Asynchronous จะทำการ re-clock และ buffer เพื่อกำจัด Jitter
CHECK IN
CARY คงรูปลักษณ์หน้าปัดไว้แทบจะเหมือนกันเลย ตั้งแต่ DMS-600, DMS-700 จนถึง DMS-800PV หน้าตาแนวเดียวกันหมด เพียงแต่มีสัณฐานตัวเครื่องหนาขึ้นอีกครึ่งนิ้วจาก 3.75” (H) เพิ่มเป็น 4.25” (H) ส่วนด้านอื่นเท่าเดิมคือ x17.25″ (W) x16.25″ (D) ข้อสำคัญหนักกว่าเดิมจาก 28 Lbs เพิ่มเป็น 39.5 Lbs
รูปลักษณ์ภายนอกของ CARY AUDIO DMS-800PV ไม่ได้ต่างจาก DMS-700 และ DMS-600 แม้แต่น้อย
เรียกว่าแทบจะเหมือนกันเด๊ะ มุมซ้ายบนของหน้าปัดอะลูมินัมกัดไว้ด้วย DMS-800 Professional Version: 768kHz/32 Bit Digital Music Streamer แปะโลโก้ของ DSD, Qualcom APT x HD, MQA และ ROON บ่งบอกว่าพี่จัดหนักด้วยเทคโนโลยีระดับ State of the art กันเลยทีเดียว
ตัวเครื่องมีสองสีคือ Silver/Black ออกแบบด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด ติดตั้ง isolation spikes (Feet) และ aluminum discs เข้ากับฐานของตัวเครื่องเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน ป้องกันการรบกวนจากภายนอกอันก่อให้เกิด Resonance ภายในตัวถังอะลูมิเนียมที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีทั้งหมด ตรงนี้ก็เป็นหมื่นแล้วนะ ไหนจะจัดการเคลือบตัวถังเพื่อป้องกัน RF ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง ฝาหลังเครื่องกัดเป็นร่องแบ่งเป็นสามส่วนเห็นได้ชัดจากภายนอก ซึ่งจะตรงกับภาคการทำงานวงจรภายในเช่นกัน
ด้านหน้ามีสวิตช์ปิดเปิดเครื่องปุ่มเดียว จอดิสเพลย์ขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ตรงกลางเหมือนเดิม แต่จอใหญ่กว่าเดิมอีก 1 นิ้ว จากเดิม 5 นิ้ว ขยายเป็น 6 นิ้ว
ด้านหลังเครื่องเหมือน DMS-700 เด๊ะ เมื่อเป็น Network Audio Player ก็ต้องมีขั้ว RJ45 เพื่อต่อ Ethernet LAN cable ไง มีเสาอากาศอีก 3 เสา เสาที่ 1 และ 3 เป็น WiFi ส่วนเสาที่ 2 เป็นเสาสำหรับ Bluetooth นอกจาก Analog Balanced/Unbalanced Outputs แล้ว จัดเต็มด้วยขั้วต่อ Digital Inputs/Outputs เช่น
(1)Optical (2)Coaxial (1)AES inputs
(3)USB-A (1)SD Card inputs with built-in NAS Drive capability
(1)Optical (2)Coaxial outputs capable of DSD and PCM 384kHz output.
Controlled
ควบคุมด้วย App หรือ Remote Controlled ที่ติดเครื่องมา ผมเองใช้น้อยเพราะจะตั้งค่าเป็น Max Vol เพราะ VITUS RI-100 เป็น Integrated amp ประมาณว่าตัดภาคปรีออกไป ทุกอย่างทำได้จาก app เลือก Inputs Output Voltage, Gain Vol เปิดไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ ทำได้หมด ดีตรงที่มี icon บอกให้ทราบว่าตรงนั้นคืออะไร นึกไม่ออกก็ลองแตะดูก็จะทราบ งงเหมือนกันว่าใช้รีโมตจะยุ่งยากเพียงไร ดังนั้น รีโมตจึงเอาไว้ปิดเปิดเครื่องเท่านั้น แต่ถ้าใช้ปรีก็คงอาจจะใช้บ่อยขึ้น
Hook Up
เสียบสาย LAN ต่อเสาอากาศที่ 2 เป็น Bluetooth Antenna เสาที่ 1 และ 3 ไม่ต้อง ต่อสาย XLR ไปเข้าแอมป์ เสียบสายไฟเข้าเครื่องอีกเส้นแค่นี้ก็เสร็จ กดสวิตช์หน้าเครื่องรอให้เครื่อง Boot สักพักก็พร้อมใช้งาน อย่าลืมเปิด Router เสียก่อนแล้วค่อยเปิดเครื่อง เปิดเครื่อง ตั้งค่าให้เรียบร้อยแล้วจึงค่อยเปิดแอมป์ ในที่นี้เจ้าบ้านคือ VITUS RI-100 นั่นเอง
Showtime
เปิดเครื่องมาต้องรอแพร็บ เครื่องใช้เวลา Boot ตรวจสอบเน็ตเวิร์ก โน่นนี่นั่น ใช้เวลาไม่นานก็พร้อมเล่นจะเข้าสู่หน้าหลักที่เราสามารถตั้งค่าได้
ปกติจะใช้ Cary Streamer 2.0 แอปของ Cary เองเป็นหลัก ใช้งานง่ายมาก เล่นไฟล์จาก NAS หรือ USB รวมถึง Streaming service อย่าง QOBUZ ก็เสียงดีมากนะ TIDAL ก็เล่นมานานจนคุ้นมือ Streaming Service ทั้ง 2 ค่ายนี้สมูธไหลลื่นดี แนวเพลงต่างกัน QOBUZ จะเข้มข้นกว่า แต่ก็มี Hi-Res ไม่เยอะนัก เมื่อเทียบกับ Tidal Master ถ้าให้ดีเล่นมันทั้ง 2 ค่ายแหละ แม้จะผ่าน ROON บนแอปก็จะแสดงผลให้เห็นด้วยเช่นกัน
จะตั้งค่าบนแอปก็สะดวกดี หรือจะตั้งค่าด้วยรีโมตก็ได้ แต่ต้องไปดูที่หน้าเครื่อง บังเอิญไม่ได้วางบนแร็ก ต้องคุกเข่ากับพื้น เมื่อยอ่ะ Oops… รู้เลยว่า สว. ประมาณว่าลงทะเบียน Tidal, QOBUZ เปิดฟังก์ชัน MQA Full decode, Out puts Voltage… Etc.
TIDAL Master คลี่ MQA ได้สุดติ่งทะลุ 352.8 kHz ไปเลย บนแอปเล่นอะไร หน้าจอดิสเพลย์จะแสดงผลเช่นเดียวกัน หาอัลบั้มง่าย จะจาก Artist, Track Playlist ได้หมด จะยากนิดหนึ่งตรงประเภท Side Line Project ไม่ค่อยเจอจะสู้เปิดบน ROON ไม่ได้จะลึกกว่า อ้อๆ vTuners เสียงดีทีเดียว กับ Spotify connect ไม่ซีเรียสหรอกครับ เพราะส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ฟังอยู่แล้ว ถือว่ายังไม่คู่ควรกับไฮเอนด์ รอไว้ให้ Spotify HiFi มาเสียก่อนค่อยมาสนใจ ฟัง Apple Music Lossless ผ่าน AirPlay บ้างก็ OK ระดับหนึ่ง ฟังขำๆ เท่านั้น เปิดทิ้งไว้ 7 วัน 7 คืนไม่มีเอ๋อ มีบ้าง เผลอไปปิด Network Switch เล่นเอามีมึนนิดๆ ทุกอย่างแก้ไขได้เพียง ReBoot ก็ Off /On ใหม่ เดี๋ยวก็มาเหมือนเดิม จริงๆ แล้วเขาอัพ Firmware เรื่อยๆ แหละ ง่ายนิดเดียว
ที่ต้องเล่นก็ไฟล์ DSD ISO ไม่มีระบุในคู่มือแต่อย่างใด เขาว่าเรื่องจิ๊บๆ! เสียบด้วย USB Thumb Drive หรือ SD card ปรากฏอยู่เหมือนเดิม สะดวกมาก เพราะเมื่อมัน built-in NAS Drive capability*ด้วยแล้ว ก็จะทำงานไม่ต่างจาก NAS เลย ข้อสำคัญเล่น DSD ISO แบบ Native เสียด้วย ให้เสียงสะอาดที่ต่างจากที่เคยเล่น DSD file แบบ Native จากที่เครื่องเล่นตัวอื่นต้องแตกไฟล์เป็น .dsf, .dff เสียก่อน ซึ่งสามารถสตรีมจาก NAS ภายนอกได้เช่นกัน
ระดับ Gain ความดังไม่ได้ลดลงเหมือนที่เล่นด้วยไฟล์ .dsf อย่างที่เคยเล่นมาก่อน ผลก็คือเสียงมีพลัง ไดนามิกส์อิมแพ็กจะแจ้งมาก DSD ISO เป็น Image file ก็เหมือนกับ Clone แผ่น SACD ทั้งดุ้นนั่นแหละ ใครที่มีสะสมไว้ก็สบายไป ไฟล์ DSD 256 ก็เล่นสบายๆ ส่วน DXD ก็ลื่น
MQA สุดซอยไหม ไม่ต้องคาใจเลย สุดติ่งเพราะ DMS เป็น MQA DAC และ Cary ยังเป็นพันธมิตรลำดับต้นๆ ของ MQA แปลว่าโตมาด้วยกันไง ไม่ว่าไฟล์จะมาจากที่ใด ไม่ต้องมาถามเลยว่าคลี่ได้สุดไหม เพราะ DAC เป็น MQA DAC
แสดงผล Dot มี 3 สี Green, Magenta และ Blue ที่คู่กับ MQA Logo บ่งบอกสถานะที่เครื่องทำงานบนหน้าจอ ตรงกับแอปซึ่งแสดงถึง Original Sampling Rate ของไฟล์ที่ DMS คลี่ออกมาได้สุด
เพลงจากแทร็กใด อัลบั้มใด ต้นฉบับ Sampling Rate เท่าไหร่ รายละเอียดครบ ไม่ขอบรรยายดนตรีละนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นรีวิวอัลบั้ม แค่นี้ก็ยาวมากแล้ว ฟ้องด้วยภาพดีกว่าว่าฟังอะไรบ้างครับ
Cary DMS 800PV สามารถสตรีมไฟล์ได้ด้วยตัวเองซึ่งดีมากอยู่แล้ว และในฐานะที่เป็น ROON ready ซึ่งก็สะดวกดี AI ฉลาด แต่เมื่อฟังเทียบกันจริงๆ ต้องบอกว่าให้เสียงต่างกันชัดเจน เอาเป็นว่ามี TEXTURE ของชิ้นดนตรีเปลี่ยนไปจากที่ควรเป็น บางท่านอาจจะชอบก็ได้
ปกติผมมักจะใช้แอปของเครื่องเป็นหลักเสมอ เว้นแต่ว่าไม่ไหวจริงๆ จึงยอมใช้ 3rd Party เพราะรีวิวเครื่องไม่ใช่รีวิวส์ 3rd Party Music Server ก็แล้วแต่ชอบ ที่ใครจะถนัด เอาที่สบายใจได้เลย
Leap from traditional to new digital music field
“ไม่ใช่แค่ต่างแต่เหนือและเหนือกว่าในทุกมิติ” ที่ทำมาทั้งที ก็เพื่อสิ่งนี้
ใหญ่ หนัก ตัวหนา PSU แบบเบิ้มๆ ไม่ใช่เพื่อให้หนัก ผิวเครื่องเนียน แล้วจะดูดีกว่า ไม่ใช่เพื่อเท่
ถ้าอ่านจากสเปกแทบจะไม่ต่างเลยมีอยู่ตัวหนึ่งที่สะดุดตา แต่เชื่อหรือไม่ว่าตรงนี้ยาก จ่ายแพงมากนะครับ
*****Dynamic Range 124>>129 dB ส่งผลให้เปิดประสบการณ์ใหม่ ซึ่งจะทะลุ Multiverse ได้
ใหญ่กว่า เครื่องใหญ่กว่า จอใหญ่กว่า เวทีเสียงที่ใหญ่ วง มิติ ดนตรีมี Layer
ลึกกว่า Noise Floor ที่ต่ำ ให้ Dynamic ที่ดีกว่า รายละเอียดเล็กๆ เบสลึกกว่า รับการสวิงของดนตรีได้ดีกว่าเดิมเยอะ
หนักกว่า ตัวเครื่องที่หนัก ก็จริงเพราะหนักเครื่อง ให้เสียงมีน้ำหนัก เบสหนักแน่น เสียงดุกว่าที่เคย
เนียนกว่า ใส่เยอะไม่ใช่บ้าพลัง เสียงมีรายละเอียดที่เนียนกริบ มีความเป็นธรรมชาติของเครื่องดนตรี เกิดช่องว่างระหว่างตัวโน้ต ฟังเพลงร้องแนว Vocal จะดีมาก ให้เสียงเนื้อแท้ของเครื่องดนตรีชิ้นนั้น
ดีกว่า เหนือกว่าในทุกมิติ
แม้ว่าคง Signature ความเป็น Cary Audio ไฮเอนด์สัญชาติอเมริกัน คำว่าเสียงดีกว่ามาก หมายถึงภาพรวมที่เหนือกว่า DMS-700 ที่ดีมากอยู่แล้วในทุกมิติ ก้าวข้ามคำว่าไฮเอนด์สู่ Super Hi-End
>>ที่ไม่ได้บอกอีกอย่าง นอกจากจัดเต็มคูณ 2 แล้ว ค่าตัวก็สูงขึ้นด้วย
ถ้าเมื่อเทียบกับการก้าวข้ามไปอีก Multiverse ก็ถือว่าสุดคุ้ม
คุณสมบัตินี้ DMS-800PV ขยับขึ้นแถวหน้าของ Network Audio Player สบายๆ
เสียงสดซึ่งบางครั้งกลุ่มโอ้ฟายอาจจะบอกว่าใช้คำพูดนี้จะใช่เหรอ เข้าใจตรงกันนะว่า เราคงหมายถึง บรรยากาศดนตรีสด ดนตรีมีชีวิต รายละเอียดเล็กๆ กระจะแจ้ง พลิ้วไหวของเส้นสายของเครื่องดนตรี เช่นเส้นสายของไวโอลิน เปียโน อะคูสติกส์กีตาร์ ปลายเสียง สแนร์ และ High HAT, Kick Drum มีอิมแพ็ก ลมหายใจของนักร้องนักดนตรี โดยเฉพาะดนตรีเครื่องเป่า เสียงลมผ่านโลหะ เช่นแซ็คโซโฟน ทรัมเป็ต มีเท็กซ์เจอร์ของมัน ทุกอย่างที่อธิบายไม่ได้ด้วยตัวอักษร วัดค่าไม่ได้เป็นตัวเลข แต่คุณสัมผัสได้อาจไม่ได้ยินจากเครื่องเสียงทั่วไป เครื่องเสียงไฮเอนด์เท่านั้นที่ให้ได้ครับ ได้อารมณ์เพลงจนลืมไปว่ากำลังฟังเครื่องเสียงอยู่ ว่าไปแล้วต้องเทียบกับ DMS-700 หรือ DMS-600 แบบทิพย์เสียหน่อย เพราะต้องระลึกอดีตนานหน่อย แอบมโนนิดนึง ที่แน่ๆ เหนือกว่าชัดเจนในเรื่องความสงัด ให้ไดนามิกส์ดีมาก Dynamic Range จาก 124 >> 129 dB ส่งผลตรงนี้ ให้รายละเอียดดีเยี่ยม เดิมที่เด่นตรงความไหลลื่น แผ่นตลาดยังฟังดี ส่วนใหญ่ฟังอัลบั้มยุค ’70 ก็ได้เพลิน เปิดดังยังไงก็ไม่สากหู มีความเป็น Analog-like มากถึงมากที่สุด ให้ความสด (LIVE) เต็มอิ่มด้วยจิตวิญญาณ ให้บรรยากาศ อารมณ์ดนตรีที่ไม่มีใครเหมือน ไดนามิกส์อิมแพ็กของกลองกระเดื่อง ดีฟเบสแน่นกระชับ กลองกระเดื่องกระแทกสะใจ สแนร์มีปลายเสียงมีประกายไม่เสียดหู โดยรวมให้ความกระจ่างชัดเหนือกว่าที่เคย ไม่ต้องพูดถึงอัลบั้มโอ้ฟาย ต้องโค-ตรดี ให้ Sound Stage ดีมาก วงใหญ่กว่าที่เคยแน่นวล เพลงร้องของตัวแม่ ชมรมหลงเสียงนางถึงกับเพ้อกันเลยทีเดียว ก็ที่ทำจนถึงขนาดนี้ก็เพื่อก้าวข้ามเครื่อง Digital Audio อื่นๆ ไง
OUTRO>>
วลีที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณในเชิงวิศวกรรมเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของเครื่องเสียงไฮเอนด์ที่ยังคงไม่มีวันเปลี่ยน Cary Audio DMS-800 Streaming Multifunctional Music Player” ก็ได้นำหลักการนี้มาใช้อย่างได้ผล และนี่ก็คือ CARY “ยานแม่” ตัวนี้ไงที่มี DNA ของ “DMS Digital Music Streamer ที่เสียงดีที่สุดบนโลกใบนี้” นี่เอง
ดังนั้นวลีที่ว่า
“ใหญ่กว่า ลึกกว่า หนักกว่า เนียนกว่า ดีกว่า เหนือกว่า เหมาะสมแล้วที่ต้องค่าตัวสูงกว่า DMS700” ซึ่งก็จริง
CARY AUDIO DMS-800PV นอกจากหมายถึงตัวเครื่องในมิติที่ ดูใหญ่ หนักเพราะจัดหนักดังที่กล่าวมาแล้ว จอดิสเพลย์ที่ใหญ่กว่าแล้ว เสียงละเอียดเนียน ผลจากที่ได้ทุ่มไปกับ Hardware ส่งผลให้ Dynamic Range กว้าง ให้เสียงละเอียด โอ่อ่ากว่า ดนตรีไหลลื่น สัมผัสได้ถึงชิ้นดนตรีเป็นสามมิติ พาเราล่องลอยทะลุมิติเข้าไปในกลางหน้าเวทีเลย ประสบการณ์เช่นนี้หาไม่ได้ง่ายนักกับเครื่องเสียงทั่วไป ต้องไฮเอนด์เท่านั้น
ไม่เพียงแต่ที่เหนือกว่า ดีกว่า ก้าวข้าม DMS-700 ไปไกลยังรวมถึงหนีห่างคู่แข่งในระดับค่าตัวครึ่งล้านขึ้นไปอีกหลายสเตปในทุกมิติอย่างไม่เคยทำมาก่อน ที่แน่ๆ ยังคงมนต์ขลังของไฮไฟในสไตล์ของ Cary Audio ไม่มีวันเปลี่ยน นับว่าทีมวิจัยพัฒนาของ Cary ได้ทำตามคอนเซปต์ข้างต้น แบบ Extreme กันไปเลย เพื่อบรรลุเป้าหมายอันท้าทายตามที่ Mr. Billy Wright ได้ให้โจทย์ไว้เป๊ะ
BIGGER..DEEPER…HEAVIER…SMOOTH ..BETTER in Every Dimensions of SOUND
วลีที่เหมาะที่สุดของ CARY AUDIO: DMS-800 Professional Version (NETWORK AUDIO PLAYER) …สมกับเป็น “เรือธง เหนือเรือธง” อ่อ ต้องเรียก “ยานแม่” ซิ เป้าหมายที่ว่า “DMS ต้องเป็น Digital Music Streamer ที่เสียงดีที่สุดบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะวันใดๆ” ยังใช้ได้เสมอครับ
สำหรับใครที่อาจไม่เคยสัมผัส หรืออาจเป็นเจ้าของ DMS-700 อยู่แล้ว ขอส่งเทียบเชิญเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่หน่อยไหม “คัน“ ล่ะซิ เชื่อว่า DMS-800PV จะพาทะลุ Multiverse (เอกภพคู่ขนาน) ของ Digital Streaming ได้เลย. ADP
ราคา 550,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Audio Revolution
โทร. 081-626-9072
ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ
No Comments