EMM Labs: NS1 Streamer Powerful and Versatile Network Bridge
สุดยอด Streamer ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ทำงานเสถียร ฟังเพลงแนว Streaming ได้อย่างสุดๆ ไม่ว่าจะเล่น Streaming Service โดยเฉพาะถ้าสตรีม TIDAL Master ก็สามารถคลี่ MQA ได้ หรือเล่นไฟล์ Hi-res ทั้ง PCM และ DSD ก็เนียนกริ๊บ ให้เสียงเที่ยงตรงเช่นที่บันทึกจากสตูดิโอ ซึ่งชุดเครื่องเสียงของคุณถ่ายทอดเสียงอันเป็น DNA ของ DAC หรือ Player ตัวโปรดอย่างแท้จริง
แม็ตชิ่งกับเครื่องเสียงชุดเดิมได้อย่างสมศักศรีดิ์ ด้วยชื่อชั้นของ EMM Labs >>> NS1 คือคำตอบ
EMM Labs หนึ่งในตำนานแห่งวงการดิจิทัลออดิโอโดดเข้าร่วมเส้นทาง Hi Speed Train สาย Streaming นำเสนอ EMM Labs: NS1 Streamer ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของค่าย แม้มีชื่อเป็นทางการว่า Streamer ก็จริง แต่ถ้าเห็นหน้าปัดเครื่อง หรือขั้วต่อด้านหลัง อาจตั้งคำถามว่า ตกลงมันคืออะไร? ทำมาเพื่อใคร? ทำงานอย่างไร? เล่นยากมั้ย? ข้อสำคัญเสียงดีมั้ย? ก่อนจะตอบให้ฟังชัดๆ ขอเกริ่นนำนิดหนึ่ง
EMM Labs บริษัทเครื่องเสียงสัญชาติคานาเดียน มีประวัติความเป็นมายาวนาน พ่อมดดิจิทัล Ed Meitner ผู้คร่ำหวอดในวงการฯ เป็นท้ังวิศวกร นักฟิสิกส์ รวบยอดทั้งศาสตร์และศิลป์แห่ง EMM Labs ได้นําเทคโนโลยีระดับ Worldclass มาสู่การฟังเพลงในบ้าน
EMM Labs ในฐานะ “ขาใหญ่” ทางด้าน converter technology ที่ใช้กันในวงการ professional studio มีสตูดิโอใช้งานเพียบ นอกจากนั้น Ed คือหนึ่งในกลุ่มผู้กำหนดมาตรฐาน SACD นั่นเอง จนมาเป็นเครื่องเสียงเพื่อออดิโอไฟล์ในกลุ่มนักเล่นระดับ cost-no-object ก็ประมาณว่าค่อนข้างเอื้อมถึงยาก ในชื่อแบรนด์ EMM Labs ระยะแรกทำเฉพาะฟรอนต์เอ็นด์ประเภท CD/SACD Player, External DAC รุ่นดังระดับตำนาน อยู่ในทําเนียบของ Stereo D/A converter ระดับแถวหน้าของโลก เช่น DAC2x ที่ผมได้ทดสอบไปแล้ว, DA2… จนมาถึง V2 ต่อมาจึงได้ทำ Pre amp, Power amp เครื่องเสียงครบไลน์
Built to LAST
เมื่อสตรีมมิ่งปังปุริเย่ซะขนาดนี้ EMM Labs: NS1 Streamer จึงถูกนำเสนอเพื่อมาเติมเต็ม Product line ในกลุ่ม Digital Front End ของ EMM Labs ให้แข็งแกร่งขึ้น สนองความต้องการของลูกค้า สู้กับคู่แข่งในระดับเดียวกัน ซึ่งก็คงนับนิ้วได้นั่นเอง เพราะเชื่อว่านักเล่นรุ่นใหญ่ที่มีอุปกรณ์ไฮเอ็นด์แยกชิ้น ไม่ว่าจะเป็น Player หรือแม้ CD/SACD Transport + DAC ซึ่งก็ล้วนเป็น DAC คุณภาพ และค่าตัวสูงเกินเอื้อมแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าให้เสียงที่ดีถูกใจเจ้าของเป็นฐานอยู่แล้ว
แต่โจทย์ที่ต้องคิดตามมาก็คือ ทำอย่างไร? ถ้าอยากใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า ในยุคที่สตรีมมิ่งบุกทะลวงเคาะประตูห้องฟังอยู่ทุกวัน ตะบะจะแตกอยู่ทุกวัน เมื่อทิศทางไฮไฟวันนี้มุ่งสู่ Streaming กันแทบหมด จะรออะไร…
Ed Meitner รู้ดีว่า ควรออกแบบ Streamer อย่างไรให้สมศักศรีดิ์ จึงเกิดเป็น EMM Labs: NS1 ที่ต้องเสถียรและใช้งานง่าย มั่นใจถึงกับบรรจงกัดคำว่า meitnerdesign ไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ วาง position เพื่อสู้กับเครื่องเสียง Super Hi-End ในระดับเดียวกัน เป้าหมายการตลาดก็คือ เจ้าของ DAC, Player ระดับเทพที่คู่ควรทั้งหลายที่มีอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าต้องรวมถึงเจ้าของ EMM Labs เช่น player รุ่น XDS1 หรือ DAC 2x, DA2 ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือใหม่ ที่มี Brand Royalty สูง น่าจะรอ NS1 อย่างใจจดจ่อ มีรึจะไม่อยากครอบครอง ทีนี้เราจะมาดูในรายละเอียดกัน
EMM Labs: NS1 Streamer
ผมมีโอกาสได้เห็นการเปิดตัวของ EMM Labs: NS1 ในงานเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่มิวนิค ก่อนหน้าจะได้สัมผัสตัวจริง แม้ชื่อทางการเรียกว่าอะไรก็ช่าง ฟังก์ชั่นการทำงานของ NS1 คือ Streamer ที่ไม่มี DAC ประมาณว่าทำหน้าที่เป็น Network Transport (ส่วนหน้าของเพลเยอร์) ดีๆ นี่เอง คือไม่สามารถส่งสัญญานเสียงอะนาล็อกไปยังแอมป์ได้ด้วยตัวเอง แต่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแหล่งเก็บข้อมูลไฟล์ Digital Audio บนเน็ทเวิร์กด้วยมาตรฐาน DLNA, UPNP ก็คือ สตรีมข้อมูลดิจิทัลแล้วอ่าน หรือ Render เช่น เล่นไฟล์จาก NAS, Media Server อื่นๆ เช่น Audirvana+ รวมถึงเป็น ROON Endpoint หรือเป็น Server ด้วยตัวเองจากไฟล์ใน USB Thumb drive รวมถึงฟังเพลงจาก Streaming Cloud Services (บริการเพลงเหมาจ่ายรายเดือน) เช่น TIDAL, QOBUZ, SPOTIFY, DEEZER รวมถึง Internet Radioจาก vTuners จากนั้นก็ทำหน้าที่เล่น (Renderer & Decode) รวมถึงการทำ MQA 2nd Unfolded ด้วย ตรงนี้ถิอว่าเริดเลย สำหรับ TIDAL Master ที่มีเพลง MQA (Master Quality Authenticated)เป็นล้านแทร็กทีเดียว ก่อนจะส่งต่อสัญญานดิจิทัลไปยัง External DAC รวมทั้ง CD/SACD Player ตัวโปรดของคุณที่มีช่องเสียบ Digital Input ทำให้สามารถนำมาใช้งานร่วมกับ NS1 ด้วยการเชื่อมต่อจากช่อง Digital Output ที่ประกอบด้วย AES, SPDIF (Opt) และ EMM OptiLink ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ EMM Labs โดยทุกช่องสามารถรองรับไฟล์ PCM 24/192 และ DSD64 (.dsf, .dff) แบบชิลล์ๆ ครับ และนี่คือบทบาทของ NS1 คือ… การหน้าที่ Network Bridge ได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
Built to LAST
EMM Labs: NS1 หน้าตาผิวพรรณผู้ดีสมฐานะ ตัวเครื่อง Slim กว่ารุ่นพี่เยอะ ดูดีมีราคา ด้วยวัสดุ Powder Coated Aluminum อย่างหนา ผิวครีมอมเทา น้ำหนักตัวราว 5 กิโลกรัม กัดตัวอักษรลงบนโลหะเป็นโลโก้ของ EMM Labs ทั้งบนหลังเครื่องและมุมบนด้านซ้ายของหน้าปัดที่เรียบหรู และกัดชื่อรุ่น NS1 ตรงมุมล่างขวา ทั้งยังลงคาถา เอ๊ย! ชื่อที่ “ขลังมาก” คือ meitnerdesign ตรงกลางด้านล่างของหน้าปัด กลางหน้าปัดมี LED Indicator สี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่ 3 ดวง สำหรับบอกสถานะการเชื่อมต่อและการทำงานของเครื่อง ถือว่าเรียบง่ายมาก จริงๆ ก็ไม่จำเป็นอยู่แล้วที่ต้องมี Display อะไรหรอก ก็แค่ผลักภาระการแสดงผลไปให้ DAC ในที่นี้คือ DAC2X หรือ DA2 ไงครับ
ด้านหลังเครื่องประกอบด้วย Digital Outputs 3 ชนิด คือ AES/EBU, Toslink SPDIF, EMM OptiLink และSerial RS-232 port สำหรับสายของทั้งสองช่องต่อนี้ให้มาพร้อมเครื่อง ในกรณีที่ใช้ D/A Converter ของ EMM Labs ทุกตัวก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องลงทุนซื้อใหม่ ส่วนช่อง USB (A) มีไว้เพื่อให้เสียบ thumb drive ประเภท USB Storage จะเป็น FAT32 หรือ NTFS Format ก็ได้ สำหรับการติดต่อของ NS1 กับโลกภายนอกผ่าน Home Network ทำได้ด้วยการเสียบสาย LAN ผ่านขั้วต่อ RJ45 หรือจะผ่าน WLAN (WiFi) ก็ได้
ภายในของ NS1 ออกแบบเน้นจุดสำคัญที่เป็นคุณสมบัติของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ตั้งแต่ภาคจ่ายไฟที่ทำงาน สงัดไร้การรบกวน และราบเรียบมาก วงจรภายในถูกออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นลิขสิทธิ์ของ EMM Labs เอง ที่เป็นหัวใจก็คือ MCLK master clock ที่ Ed Meitner บรรจงออกแบบเป็นพิเศษ จัดการ Jitter ได้ต่ำมาก ลงได้ถึงระดับ sub-pico second jitter performance กันเลยทีเดียว ทำให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับอุปกรณ์ Digital Audio อย่าง NS1 ส่งผลให้กระบวนการ sound reproduction ทำได้ดีเยี่ยมไหลลื่นไร้รอยต่อ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้ได้ จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมอย่างที่ได้วาดไว้
HooK Up
การติดตั้ง EMM Labs NS1 ทำได้ง่ายดายด้วยสายเพียงไม่กี่เส้น ได้แก่… สายไฟ AC, สาย LAN หรือเชื่อมต่อแบบ WiFi ด้วย WiFi adapter แต่แนะนำให้ใช้สาย LAN ดีที่สุด ผมต่อกับ SOtM: sNH10G Network Switch จากนั้นก็ใช้สาย Digital ต่อไปยัง DAC หรือ CD/SACD Player ในที่นี้ผมใช้ EMM OptiLink และ Serial RS-232 port ที่มาพร้อมกับเครื่อง และสายดิจิทัลบาลานซ์ AES/EBU ลองใช้เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างสายสองเส้น ในที่นี้จับกับ EMM Labs DAC2x รวมถึงลองเล่นกับ DAC จากค่ายอื่น หมายถึงเจ้าบ้านอย่าง Weiss: MEDEA+ ผมชอบตรงที่ NS1 เลือกใช้ขั้วต่อมาตรฐาน 3 ชนิดนี้ เพราะจะเชื่อมต่ออัตโนมัติโดยไม่ต้องตั้งค่าใดๆ เลย จากนั้นก็ใช้สาย XLR สองคู่ต่อไปเข้ากับอินทิเกรตแอมป์ Vitus: RI100 ขับลำโพง Manger ZeroBox 109IIe LE + ซับวูฟเฟอร์ REL S/5 SHO ต่อแบบ 2.2 เพื่อความแน่นกระชับไง
One app… to Rule them all!
การควบคุมและตั้งค่าของเครื่องเสียงยุคใหม่ต่างจากเครื่องเล่นซีดีในอดีตก็ตรงที่ส่วนใหญ่ไม่มีรีโมตมาให้ แต่เหนือกว่ามากด้วย app บน smart devices อันเป็นอวัยวะที่ 33 ไปแล้ว เจ้าของใช้เวลาลูบคลำมากกว่าอวัยวะของตัวเองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น iOS หรือ Android ก็ได้ สามารถจัดการกับฟังก์ชั่นทุกอย่างได้ในแอพเดียว
เริ่มต้นด้วยลองเล่น 8 Player ที่มีอยู่ก็เล่นได้เลย จากคู่มือ EMM Labs แนะนำว่าให้ใช้ ‘mConnect Control’ หรือ ‘mConnect Control HD app’ ทั้งคู่เป็น free app ไม่ต้องเสียเงินซื้อ โดยสั่งการทุกอย่าง ทั้งควบคุมและตั้งค่าได้ใน app เดียว รวมถึงการอัพเดต firmware ของ NS1 ด้วย และสั่งงานให้เล่นเพลงจาก NAS หรือ Music Server เช่น Minim server และอื่นๆ รวมถึง Cloud Service อย่าง TIDAL, QOBUZ, SPOTIFY หรือ DEEZER และ Internet Radio จาก vTuners แนะนำให้ดาวน์โหลดมาลงไว้ในมือถือก่อนเลย ข้อดีของ ‘mConnect Control’ คือ รวบทุกอย่างมาไว้ในที่เดียวนี่เอง จำไว้ว่า… “แม้มี app ตัวอื่นที่สั่งให้ NS1 เล่นเพลงได้ ยังไงซะก็จำเป็นต้องใช้ ‘mConnect Control’ app อยู่ดี”
หลังจากเชื่อมต่อเสร็จก็เปิดสวิตช์หลังเครื่องได้ทันที ใช้เวลาชั่วอึดใจ บู้สต์เร็วมาก เครื่องเงียบกริบเชียว รอจนไฟ LED ทั้ง 3 ดวงเป็น… สีขาว สีน้ำเงิน สีขาว แสดงว่าการเชื่อมต่อสมบูรณ์ พร้อมจะท่องโลกแห่งเสียงดนตรีอันไม่รู้จบแล้ว
Setup
เปิดแอพบนหน้า main menu ขึ้นมาเพื่อ setup ซึ่งง่ายมาก ไม่ซับซ้อน ด้านล่างขวาจะเห็นคำว่า Play to ให้เลือก EMM NS1 แล้วค่อยกลับมาที่หน้าเดิม หารูปเครื่องหมายฟันเฟือง จะพบ Device Setup จัดการตั้งชื่อ ในที่นี้ผมใช้ชื่อ EMM NS1 Home Studio สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ Firmware Update ก็พบว่าต้องอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่พอดี ก็จัดเสียเลย ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ ทีนี้ก็เข้าไปที่ Cloud Setup (รูปเมฆ) เปิดให้หมด ด้านบนเป็น Streaming จากภายนอก ส่วนล่างคือ Local Storage (USB) ขั้นตอนที่เหลือก็ต้อง sign in บน Cloud Services ซึ่งผมได้ subscrib ไว้แล้ว แต่ถ้าใครไม่มี แนะนำให้ไปสมัครบนหน้าเว็บของ www.tidal.com จะดีที่สุด ในราคา Hi-Fi ซึ่งมีบริการเพลง Lossless คุณภาพระดับ CD จนถึง Hi-res ซึ่งอยู่ในรูป MQA จ่ายเพียง 258 บาทต่อเดือน อย่าสมัครผ่าน apple app store เป็นอันขาด จะโดนกินหัวคิวไปเปล่าๆ ส่วนตัวอื่นเช่น SPOTIFY จะสมัครก็ได้ เผื่อไว้ฟังเพลงไทย แค่นี้ก็ฟังกันไม่ไหวแล้วล่ะมั้ง นอกจากนั้นยังสามารถตั้งค่า Gapless เพื่อฟังแบบต่อเนื่องไร้รอยต่อของแทร็กได้ด้วย ใครก็ตามที่อาจไม่คุ้นกับ TIDAL แนะนำให้เข้ากลุ่ม TIDAL Thailand ชุมชนคนรัก TIDAL บนFacebook ส่วน QOBUZ ยังไม่มีบริการในเมืองไทย อีกตัวคือ DEEZER เป็น Lossy มีเพลงไทยค่อนข้างเยอะ สำหรับ vTuners นั้น ฟรีนะครับ
LESS and MORE
ถ้าต้องการความง่ายก็ใช้ ‘mConnect Control’ ตัวเดียวจบ ฟังได้เท่าที่อยากฟัง จาก DAC ตัวเดิม เล่นStreaming (TIDAL, SPOTIFY, vTuner) ได้ไหลลื่น เล่น TIDAL ได้ “ตรงปก” กดหัวใจไว้ ยังไงก็หาเจอ สะดวกในการใช้งาน ส่วนถ้าบางท่านไฟล์ Hi-Res file ไม่ค่อยมีเก็บ คือมีบ้าง แต่ไม่มากถึงขั้นเป็นคลังแสง แนะนำให้ซื้อ USB thumb drive มาเสียบท้ายเครื่อง NS1 ก็จะกลายไปเป็น EMM NS1 Music Server ได้ไม่ยาก ซึ่งไม่ต้องพึ่ง NAS แต่อย่างใด นับว่า Simple สุดๆ แล้ว ที่เหลือก็เพียงสับตะไคร้ เอ๊ยสมัครสมาชิก TIDAL Subscribe เท่านั้น ขอให้สมัคร TIDAL Hi-Fi ไปเลย ให้ทราบไว้ว่า Streaming Services เปิดโลกทรรศน์การฟังเพลงอย่างไร้ขีดจำกัด ได้ฟังเพลงมากกว่าที่เราได้เคยซื้อเก็บสะสมไว้ในอดีตกับสื่อฟิสิคัลทุกประเภทอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีเพลงคุณภาพสูงให้ฟังไม่รู้จบแล้วครับ
แต่ถ้ามี DLNA: Music Server อยู่แล้วล่ะก็ ต้องขยับไปอีกขั้น จะ up lift เจ้า Music Server แบบเดิมๆ ที่เคยต่อตรงเข้ากับ DAC คั่นด้วย NS1 ที่ส่งผลต่อเสียงอย่างมาก จนไม่มีวันหันกลับไปเล่นแบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะ EMM Labs: NS1 เป็น DLNA/UPnP และ ROON ready ทำตัวเป็น ROON Endpoint อีกด้วย ทำให้มีวิธีเล่นอีกแบบที่นักเล่นสายสตรีมอาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในอดีต ซึ่งหลายคนก็ยังเล่นอยู่ ด้วยการเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย Music Stream app แล้วต่อไปยัง DAC อย่างเช่นยุคแรก JRiver หรือบน MAC ก็เป็น Amarra และ Audirvana+ ที่ต่อมาสามารถเล่นแบบ DLNA ได้ และที่ฮอตสุดในขณะนี้ก็น่าจะเป็น ROON ที่มีข้อเด่นเรื่องบริหารจัดการ Library รวมองค์ความรู้เรื่องดนตรียิ่งกว่า Encyclopedia เสียอีก เรียกว่า ROON Core ที่สามารถ run บนคอมพิวเตอร์หรือแพลตฟอร์มได้หลายแบบ รวม ROON Nucleus ที่ ROON ทำออกมาขายเองและดังมาก ทำหน้าที่เป็น Music Server เล่นแบบ multi-room ได้หลายจุด และรองรับ Streaming Service ที่กล่าวมาทั้งหมด โดยที่ Nucleus ก็แนะนำให้ต่อใช้สาย LAN มากกว่าวิธีอื่นด้วย นอกนั้นส่วนใหญ่ล้วนใช้วิธีต่อสาย USB ตรงไปเข้า DAC แทบทั้งสิ้น ซึ่งก็ใช้กันมานาน แต่วันนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด เพราะถ้าซีเรียสกับคุณภาพเสียง การต่อผ่าน USB ปัจจัยมีเยอะที่จะทำให้ลดทอนคุณภาพลง ปัญหาของการรบกวนจากวงจรเอง หรือเกิด jitter ที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวม
วิธีแก้ต้องเล่นแบบ Network Bridge โดยใช้ NS1 มาต่อคั่นตรงกลางระหว่าง Music Server หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Audirvana+ รวมถึง ROON Core ทุกอย่างเชื่อมต่อด้วย Audiophile Network Switch ทำให้ NS1 ที่มีวงจร isolator กันปัญหาจาก Network อยู่แล้ว ยิ่งจัดการปัญหาลด noise ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อรับข้อมูลดิจิทัลมาแล้ว จากนั้น NS1 ก็จัดการ re-render เสียใหม่ จึงให้คุณภาพเสียงที่เหนือกว่าไปอีกขั้น ข้อดีอีกอย่างที่ไม่อาจมองข้ามคือทั้ง Audirvana+ และ ROON มีลูกเล่นปรับแต่งโดยใช้ DSP สามารถปรับแต่งได้สารพัดให้เหมาะกับ DAC ของเรา ต่างจาก free app ที่พบปัญหาว่า ไฟล์บางไฟล์อาจเล่นไม่ได้ จะได้ไม่หงุดหงิดไงล่ะ ที่แน่ๆ เล่นด้วยวิธีนี้ เสียงมีไดนามิก เป็นสามมิติ ให้เสียงอิ่มและ มีรายละเอียดดี รวมถึงเล่นได้อย่างต่อเนื่อง แม้ปิดแอพไปแล้ว เหนือกว่า free app แน่นวล ที่เมื่อปิดแอพก็จะหยุดเล่นไปเลย
“We can hear everything we measure, but we can’t measure everything we hear. Let your ears be your guide.”
ในการใช้งานก็ฟังกว้างหลากหลาย เน้นที่การใช้แอพ ‘mConnect Control’ เป็นหลัก เลือกฟังเพลงจากหลายแหล่ง เช่น Hi-Res จากคลังแสง Noon NAS ที่เข้าถึงได้ตาม folder ที่เราจัดไว้ จัดไว้แบบไหน อยู่ยังไงก็ตามนั้น เลือกฟังหลากหลายแนวจนหนำใจ แล้วค่อยขยับมา TIDAL ตามที่ถนัดและคุ้นเคย
NS1 ไม่มีคาแร็กเตอร์ ถ่ายทอดเสียงได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ลดทอนเสียงดนตรีจากเครื่องเสียงหลักที่ต่ออยู่ สามารถบอกถึง DNA ของ DAC สองตัวที่ใช้อย่างชัดเจน และยิ่งทำให้ DAC ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อเสียงที่มีความอิ่มฉ่ำ แล้วยังบอกถึงความแตกต่างระหว่างสายสองประเภทที่ใช้กับ EMM Labs: DAC2x ยังไงก็ฟังออกว่าต่างกัน ระหว่าง EMM OptiLink และ Serial RS-232 port อันเป็นสายที่มากับเครื่อง ที่แนวเสียงออกเป็นมอนิเตอร์ขี้ฟ้องแบบสายสตูดิโอนิยมกัน ใครที่ชอบดิบ ตรงไปตรงมา ไม่ประนีประนอมสไตล์มอนิเตอร์ก็ใช่เลย ก็ฟังดีนะครับกับอัลบั้มที่บันทึกมาดีๆ จะดีเลย แต่ถ้าเป็นอัลบั้มร็อกตลาดๆ บันทึกมาเน่าๆ จะออกอาการสากหูหน่อยครับ สำหรับผมก็ OK นะ สำหรับคนส่วนใหญ่ในกลุ่มออดิโอไฟล์แนะนำให้ใช้สาย AES/EBU ที่ให้เสียงออกนวลเนียนประนีประนอมมากกว่า ฟังเพลงได้หลายแนว บันทึกไม่ดียังกล้อมแกล้มพอฟังได้ อีกอย่างสาย AES/EBU เปิดโอกาสให้คนที่ชอบเส้นสายอัพเกรดสายได้หลายระดับ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสายมีผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น
ตามที่จั่วหัวไว้ ไม่มีเครื่องมือวัดใดๆ จะดีกว่าหูของตนเอง ที่เหลือคือประสบการณ์การฟัง ยิ่งฟังจากชุดอ้างอิงในห้องของตัวเองที่ทำกับมือ ชุดอ้างอิง เส้นสายที่ดีพอตัว ก็สามารถจับได้หมด ไม่ว่าจะเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นใด หรือฟังอัลบั้มเวอร์ชั่นไหน สงัดพอได้ยิน แม้เข็มตก โม้ โม้ ห้องปูพรมจะได้ยินได้ไง.. 555
NS1 ช่วยให้ซิสเต็มเสียงดีมากขึ้นกว่าที่เคยได้ยินจากวิธีเดิม คือ.. ต่อ DAC ผ่านคอมพิวเตอร์ สงัดอย่างเหลือเชื่อ ส่งผลให้ไดนามิกส์ดีชิ้น ดนตรีเด่นชัดแยกแยะชิ้นดนตรีง่าย เสียงร้องบอกตัวตนของนักร้อง มีไดนามิกส์เฮดรูมดี ปลายเสียงสูงไปได้ไกล เสียงที่ได้ยินให้ความสมจริง เป็นธรรมชาติของชิ้นดนตรีแต่ละประเภท เช่น หัวไม้กระทบหนังกลอง ฝีมือใครตี เบสหนึบๆ แซ็กสากๆ หรืออะคูสติกกีตาร์ เสียงก้องกังวานของสแนร์ ปลายเสียงของไวโอลิน เชลโล่ การสั่นไหวของสายเปียโน แทบไม่เชื่อหู นี่มันของจริงนี่หว่า หลับตาฟัง ปล่อยจินตนาการให้บรรเจิด ต้องยอมรับว่าเสียงมีราคาจริง ต้องไม่ลืมว่า Ed แห่ง EMM Labs คือเอ็นจิเนียร์ระดับต้นๆ ของโลกที่ทำงานร่วมกับ Sony และ Phillips ในการวิจัยพัฒนา SACD และทราบดีว่าจะทำอย่างไรให้การเล่นกลับไฟล์ DSD ให้ได้เสียงดีที่สุด ซึ่งก็คือเล่นแบบ DoP (DSD Over PCM) นั่นเอง ดังนั้น EMM จึงเล่น DSD ได้เนียนกริ๊บเหนือกว่าใคร ให้เสียงดี และไม่บาง ไม่มี noise ให้รำคาญเลยซักนิด นี่คือจุดเด่น
“ไม่ว่าจะเล่นด้วยวิธีใด EMM Labs NS1 Streamer ตัวนี้คือพระเอกตัวจริงเสียงจริง เป็น ‘แกนนำ’ ที่เข้าควบคุมทุกอย่างใน digital chain แทน จัดการให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุดของภาคทรานสปอร์ตทั้งระบบ ส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลไร้ noise ไปยัง DAC แสนรักที่ทำหน้าที่ถอดรหัส นำพาเจ้าของมุ่งสู่ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ที่อาจจะทำให้หลงระเริงจนไม่อยากหวนกลับมาในแนวทางเดิมอีกเลย ขอชื่นชมและขอบคุณEd Meitner ที่ตั้งใจวิจัยพัฒนามอบสิ่งดีๆ ให้กับวงการ Digital Audio ครับ”
เริ่มฟังเพลงจาก NAS ซึ่งล้วนเป็นไฟล์ Hi-Res ทั้ง PCM และ DSD จากนั้นขยับมาที่ streaming service ที่ฟังเป็นหลักกับ TIDAL โดยเฉพาะที่ต้องลองคือ TIDAL Master ที่คลี่ MQA ได้ในระดับ 2nd Unfold ที่มี Resolution ถึง 24-bit/96kHz ส่งออกไปให้ DAC ภายนอกที่แม้ไม่ได้เป็น MQA DAC ก็ไม่มีปัญหา เพราะ DAC ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เลือกฟังหลายอัลบั้มมาก เพลงใน TIDAL มาใหม่ทุกสัปดาห์ ฟังกันแทบไม่ทัน ศิลปินระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจยังรีลีสงานใหม่ๆ ออกมาให้ชื่นชม เช่น ท่านเซอร์เพิ่งรีลีส Paul McCartney III มาให้ฟังหมาดๆ เป็น TIDALl Master (MQA) 24/96 และอื่นๆ อีกมาก ว่ากันตามตรง จริงๆ แล้ว ถ้าอัลบั้มใดบันทึกมาดี แม้เป็น CD ก็ยังเพราะอยู่ดี พอฟังไปนานๆ เริ่มถูกดูดจิตวิญญานเข้าพวังค์ แม้แต่ฟัง SPOTIFY และวิทยุ vTuner ด้วยซ้ำไป ถือว่าเป็นวิทยุที่เสียงดีเกินคาด เลิกสนใจว่านี่เราฟังอะไรอยู่ ไฟล์อะไร Resolution เท่าไหร่ ช่างบังเอิญว่า ทั้ง DAC2x และ MEDEA+ ไม่มี Display เป็นตัวเลข ซึ่งก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร คงไม่บรรยายเป็นแทร็กใดบ้างหรอก ดูจากภาพปลากรอบแล้วกัน ว่าฟังอะไรบ้าง ที่ไม่พลาดก็ต้องเพลย์ลิสต์อ้างอิงที่ต้องมี AudiophileVideophileThailand ทำแชร์เป็นของขวัญปีใหม่ ปีแห่งการ Stay at Home และ Work From Home ให้กับนักฟังสายสตรีม 4 ลิสต์ 4 อารมณ์ แปะไว้ให้ข้างล่างนี้แล้ว อย่าลืมติดหัวใจไว้ล่ะ
Audiophile Videophile Thailand NEW YEAR 2021 Playlists
HEAVENLY VOICE https://tidal.com/browse/playlist/ed4f4d41-15f3-43e2-b9d6-5ef6abd1d111
ROCK LEGENDs https://tidal.com/browse/playlist/08b390dd-e4c1-44c8-b389-9e431be88d34
MODERN CHILL https://tidal.com/browse/playlist/139e0cdc-fb88-4376-b642-272694deae37
NO SPEAK https://tidal.com/browse/playlist/344f3b28-6271-45ff-a90a-b4ae6e42af9e
Wrap Up
สิ้นสุดการรอคอยจริงๆ EMM Labs: NS1 Streamer มาอย่างมั่นคง เพื่อติดขีปนาวุธอันทรงพลังให้กับชุดเครื่องเสียงที่มีอยู่ พอกันทีกับฟิสิคัลที่เล่นอยู่เดิม ฟังเพลงวนไปเท่าที่มีปัญญาซื้อหา ทะยานขึ้นสู่โลกกว้างไร้ขีดจำกัด
ความจริงที่ Ed ไม่ได้บอก แต่ผมสรุปให้เอง ที่มาช้าก็เพราะความรอบคอบไม่ผลีผลาม รีบร้อน วู่วาม เห่อไปกับเทรนด์ใหม่ ถ้ารีบร้อนแล้วไม่นิ่ง รมณ์เสียเปล่าๆ อย่ากระนั้นเลยก็อย่าเพิ่งนำเสนอเสียเลยดีกว่า ฉลาดที่ไม่ต้องออกแรงพัฒนา app เอง จะเสียเวลาทำเองทำไม ปล่อยให้มือที่สาม เอ๊ย! 3rd Party มืออาชีพจัดการ..ดิ เอาเวลาไปวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดจะดีกว่า แล้วรอเวลาให้ Application พัฒนาจนนิ่ง โดยเลือกใช้ ‘mConnect Control’ และเป็นพาร์เนอร์กับ ROON รวมถึง DLNA Player เช่น Audirvana+ รวมถึงการแข่งขันของค่าย Streaming Service ที่มีการให้การบริการ จนถึง TIDAL Master (MQA) และ QOBUZ Hi-Res เลือกสุดยอดของการบริการที่มั่นคงให้กับลูกค้า เช่น TIDAL, QOBUZ (ยังไม่มีบริการในเมืองไทย), DEEZER, SPOTIFY ที่ป็อปสุด 3 – 4 ค่ายนี่ก็เหลือเฟือแล้ว รวมถึง vTuners ที่มีสถานีวิทยุออนไลน์ให้ฟังนับพัน นอกจากนั้น NS1 ยังทำงานเสถียร เปิดสามวันสามคืนก็ยังเล่นได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับ ROON นี่สุดๆ ลากยาวได้เลย
ณ จุดนี้ EMM Labs: NS1 Streamer คือมาตรฐานใหม่ของ Streamer ใน พ.ศ. นี้ ทำหน้าที่ Network Bridge ชั้นดี ที่ไม่จำเป็นต้องเล่นยาก หรือซับซ้อนใดๆ เลย ใช้เวลาติดตั้งเพียง 2 นาที ก็ฟังได้แล้ว หาเพลงง่ายด้วยปลายนิ้วสัมผัส สั่งการด้วย app มี AI ของ Streaming Service เป็น DJ ช่วยให้หาเพลง หรือศิลปิน รวมถึงแนวดนตรีที่ถูกใจ รู้ใจยิ่งกว่าลูกสาวแม่ยายเสียอีก โชคดีเหลือเกินที่เทคโนโลยีทันสมัยของ Streaming พัฒนาเร็วเป็นไปตามแนวคิดอุดมคติที่อยากให้เป็น แถมยังดีเกินคาด
อยากถามจังว่า DAC ที่เคยคุยว่าดีที่สุดในโลกนั้น ตัวต้นทางควรเป็นอะไร อย่างน้อยต้องสมน้ำสมเนื้อกันหน่อย ยังรวมถึง Disc Player รุ่นใหญ่ตัวเทพๆ เสียงดีตัวเดิมที่ลงทุนสูงปรี๊ดไปกับ ราคาร่วมล้านใช้มานานมาก ถือเป็นรุ่น สว. ที่คิดว่าคุ้มแล้ว อย่าคิดว่าของตกรุ่นแล้วจะค่าตัวตก NS1 ช่วยทำให้เป็นหนุ่ม กระชุ่มกระชวย เตะปี๊บดังได้อีก แต่ก็อาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบ้าง โดดขึ้น Hi-Speed Train เดินตามสายสตรีม เที่ยวนี้จะใช้กันได้ยาวๆ ยิ่งช่วงนี้สถานการณ์ COVID-19 กำลังกลับมา ต้อง WFH กันอีก และคงอีกนานเป็นปี ได้อยู่บ้านฟังเพลงมากขึ้น ถือว่าคุ้มสุดๆ
แค่ถามตัวเองว่ายังอยากเปลี่ยนเครื่องเสียงบ่อยๆ อีกหรือเปล่า ถ้าอยากเล่น Streaming ยิ่งมี DAC แถวหน้าของวงการอยู่แล้ว ก็ไปให้สุดหยุดที่ EMM Labs: NS1 Streamer ก็พอแล้วมั้ง ไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับ Digital Audio Player ตัวใหม่อีกเลย แนะนำให้หาโอกาสสัมผัสสักครั้ง แวะไป KS Sons สิครับ รับรองว่าจะกระเป๋าลั่นแน่ …นี่คือคำเตือน. ADP
ราคา 159,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท KS Sonsgroup จำกัด
โทร. 0-2276-3030
No Comments