MR. STEVE HUNTLEY INTERNATIONAL SALES BOULDER
นักเขียน : วิศัลย์ เอกธรรมกุล
เย็นวันหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ โชว์รูม บริษัท Deco 2000 ตึกอัมรินทร์ พลาซ่า WJ ได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์ตัวแทน จากเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่วาง ตำแหน่ง Ultra Hi-end Segment ที่ยังคงผลิตสินค้าที่อเมริกาแท้ๆ ทั้งตัว นั่นคือ Boulder ครับ เท่าที่จำได้ ผมเคยทดสอบตัวซอร์สซีดีและ Network Music Player รุ่น 1021 ของค่าย ถ้าจำไม่ผิดก็เคยทดสอบแอมป์ Boulder รุ่น 2150 หรือ 2160 นี่แหละครับ รุ่นนี่จำได้ไม่แม่น แต่เสียงนี่ติดหูไปแล้ว ที่มาที่ไปก็คือ ทาง Boulder แจ้งว่าจะมีการแนะนำสินค้า ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ จุดเด่นอยู่ที่การวางตำแหน่งของสินค้าที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่าเดิม
ต่อไปนี้จะเป็นการถอดความและเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ในวันนั้นในเนื้อหา ใจความสำคัญครับ ส่วนการถ่ายทำวิดีโอสดๆ ทางทีมงานออดิโอไฟล์ก็ Live และอัพโหลด ขึ้นไปบน Facebook และ Youtube ของ Audiophile/Videophile เป็นที่เรียบร้อยครับ
ADP: สวัสดีครับ Steve ครั้งนี้ น่าจะไม่ใช่การมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกกระมังครับ?
Boulder: สวัสดีครับ ไม่ใช่ครั้งแรกครับ ผมรักที่นี่ ผมชอบที่ได้มาที่นี่ครับ
ADP: วันนี้ เราจะมาพูดถึง Boulder กัน พูดตรงๆ เราไม่ค่อยจะรู้จัก Boulder มากนัก ก่อนหน้าที่ DECO จะได้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยสักราว 4 ปีที่แล้ว ช่วยเล่าเรื่องราวของ Boulder ให้เราฟังสักหน่อยนะครับ
Boulder: ได้ครับ Boulder Amplifier ถือกำเนิดขึ้นมาในวงการโปรเฟสชั่นแนล (ห้องบันทึกเสียง) ผู้ก่อตั้งของเราทำอุปกรณ์เครื่องตัดแผ่นเสียง เครื่องบันทึกมาสเตอร์เทป และอุปกรณ์เกี่ยวกับสถานีวิทยุกระจายเสียง (Broadcast) ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อคุณทำอุปกรณ์ที่ใช้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือการบันทึกเสียงในวงการโปรเฟสชั่นแนล นั่นหมายความว่า เครื่องของคุณต้องมีความแน่นอนน่าเชื่อถือได้อย่างเหลือเชื่อ (Incredible Reliable) คือจะมีปัญหาในระหว่างการใช้งานไม่ได้เลย ลองคิดดูว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาระหว่างออกอากาศแม้แต่ครั้งเดียว เครื่องของคุณก็จะหลุดจากวงไปเลย (บ้านเราคงจะเรียกสาปส่ง) ไอเดียและจุดยืนของเราก็คือ ความแน่นอนน่าเชื่อถือได้ของสินค้า และการใช้วงจรที่ทำงานแบบบาลานซ์ หลังจากนั้นเราคิดว่า เครื่องเคราที่ใช้กับโปรเฟสชั่นแนลก็สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องเสียงบ้านได้ และมันก็จะดีกว่าเครื่องเสียงบ้านทั่วๆ ไปด้วย นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นครับ
ADP: ทุกวันนี้ คุณยังทำเครื่องที่ใช้กับโปรเฟสชั่นแนลหรือเปล่าครับ?
Boulder: เราเลิกทำแล้วครับ เราวุ่นอยู่กับเครื่องเสียงบ้านที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อสองปีที่แล้ว เราตั้งโรงงานใหม่ที่ Colorado เพื่อรองรับการเติบโตนี้ ซึ่งก็ไปได้ด้วยดีครับ
ADP: สินค้าแรกของ Boulder สำหรับเครื่องเสียงบ้านคือรุ่นไหนครับ?
Boulder: Amplifier รุ่น 500 ครับ ทุกวันนี้เรามีหลายรุ่นที่มีจุดแข็งต่างกัน ราคาต่างกัน การผลิตที่ต่างกัน แต่ก่อนเราว่าจ้างคนอื่นทำตัวถัง ทำเซอร์กิตบอร์ด ต่อมาเราคิดว่า เราจะต้องทำเองทุกอย่างในโรงงานของเราเอง นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง เรามีเครื่องจักรสำหรับงานโลหะ เรามีเครื่องประกอบเซอร์กิตบอร์ดของเราเอง ด้วยวิธีนี้ เราสามารถควบคุมคุณภาพเครื่องของเราได้ดีกว่า เราสามารถปรับอัตราการผลิตหรือไลน์ผลิตเครื่องตามออเดอร์ของลูกค้า ทำให้เราไม่มีปัญหาในการส่งมอบเครื่อง ในขณะที่รายอื่นอาจจะต้องรอการผลิตเป็นล็อต ซึ่งใช้เวลาที่นานกว่า และคาดเดาระยะเวลาส่งมอบไม่ได้
ADP: ผมคิดว่าตำแหน่งของสินค้า
Boulder จัดอยู่ในกลุ่มลูกค้า Ultra Hi-end อะไรที่ทำให้ Boulder มีความโดดเด่นกว่าใคร?
Boulder: เป็นคำถามที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ทำไมสินค้าแบรนด์ Boulder ถึงมีราคาแพง เมื่อลูกค้าได้มาชมโรงงานของเรา และเห็นว่าสินค้าของเราถูกผลิตขึ้นมาอย่างไร เขาก็จะบอกว่า อืม… เข้าใจละ (ว่าทำไมถึงขายราคานั้น) ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ การลงทุนในเครื่องจักรและโรงงาน วัสดุที่เราใช้ผลิต ความโดดเด่นที่ผู้ผลิตในอเมริกาด้วยกันไม่มีคือ เราผลิตทุกอย่างในโรงงานของเราทุกชิ้น เราตระหนักถึงคุณภาพสินค้าของเรามาก เราตระหนักถึงความคาดหวังของลูกค้าที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพสูง ประสิทธิภาพสูง ความน่าเชื่อถือได้ บางรายทำเครื่องเสียง เสียงดีมาก แต่ความน่าเชื่อถือ (Reliable) ไม่ดีเท่าที่ควร เราไม่ทำอย่างนั้น ผมคิดว่าคนยอมจ่ายตรงนั้น เมื่อเขามาเยี่ยมชมที่โรงงานของเรา เขาจะเข้าใจได้เร็วมาก
ADP: สำหรับสินค้าของ Boulder รุ่นเก่า สามารถอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่ได้หรือไม่?
Boulder: เราไม่มีแนวคิดอัพเกรดเครื่องแบบนั้นเลยครับ เราคิดว่า เราลงทุนกับงานวิศวกรรมและทุกอย่างที่ดีที่สุดไปกับสินค้าของเรา แล้วนำสู่ตลาดและก็วางจำหน่ายเป็นเวลานานโดยที่ไม่เปลี่ยนรุ่นง่ายๆ มีหลายแบรนด์ที่มีแนวคิดเรื่องการอัพเกรดได้ ซึ่งผมไม่คิดว่าเป็นผลดีกับลูกค้า แน่นอนว่าลูกค้าต้องการของที่เป็นรุ่นล่าสุด เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะครับ แต่เราคิดว่า เมื่อเราออกแบบและทำทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ให้กับสินค้าของเรา แล้วก็วางจำหน่าย จนกว่าจะถึงวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป หรือมีไอเดียในการออกแบบที่ใหม่และดีกว่าเดิมนั่นแหละ เราถึงจะเปลี่ยนโมเดลครับ
ADP: มาพูดถึงรุ่น 3000 ที่เป็นรุ่นเรือธงของค่าย รุ่นนี้ผลิตและวางจำหน่ายมานานหรือยังครับ?
Boulder: รุ่นนี้ก็ราว 5 ปีมาแล้ว เราได้รับ Feedback จากลูกค้าว่า คุณจะทำแอมป์ได้ดีกว่ารุ่น 2000 ได้ไหม เราก็ไม่รู้นะ เราคิดว่ารุ่น 2000 มันก็ดีมากอยู่แล้ว ตอนนั้นก็ตอบไม่ได้ คิดไม่ออก แต่เราก็เริ่มเส้นทางออกแบบกัน เราลองอะไรๆ ใหม่ๆ และก็เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ก็ในเมื่อลูกค้าต้องการสิ่งที่ดีที่สุด สุดท้าย เราก็ทำรุ่น 3000 ออกมาได้สำเร็จ และมันก็ดีกว่าจริงๆ
ADP: รุ่น 3000 ขณะนี้มีแต่ปรีและแอมป์ ยังไม่มี DAC หรือ CD player?
Boulder: ตอนนี้เป็นแบบนั้นครับ ขณะนี้เรากำลังทำ Reference DAC ตัวใหม่ แต่ก็อยู่ในรุ่น 2000 ครับ เราคิดว่ารุ่น 3000 ก็อาจจะต่อยอดขึ้นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาอีกนาน DAC ของรุ่น 2000 ที่เรากำลังทำกันอยู่ก็ดีสุดๆ เท่าที่เราทำได้แล้ว
ADP: ก่อนจะมาที่โฟโนสเตจตัวใหม่ คุณมีโฟโนสเตจรุ่น 1000 อยู่แล้ว?
Boulder: เราก็ยังมีครับ โฟโนสเตจรุ่นใหม่ก็ไม่จัดว่าแพงมากเพื่อให้คนที่อยากจะเข้ามาร่วมเป็นครอบครัว Boulder ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สำหรับไอเดียของโฟโนสเตจตัวใหม่ เราคิดว่าเราจะทำสินค้าที่มีคุณภาพสูง การผลิตที่ดี คุณภาพเสียงดี คงไว้แต่ฟีเจอร์ที่จำเป็นจริงๆ สำหรับลูกค้า 99% ที่ไม่ต้องการการเซ็ตอัพอะไรมากมาย เทิร์นเทเบิ้ลตัวหนึ่ง โฟโนสเตจตัวหนึ่ง เข้าปรีแอมป์ จบเลย ไม่ต้องเซ็ตอะไรกันอีก
ADP: ถึงจะเป็นโฟโนรุ่นประหยัด ก็ยังเห็นว่ามันรับอินพุตแบบบาลานซ์ ภายในวงจรเป็นบาลานซ์ตั้งแต่เขาจนถึงออกเลยมั้ย?
Boulder: เราคิดว่า วงจรบาลานซ์เป็นวงจรที่ดีที่สุดในการลดการรบกวน และสัญญาณที่ออกจากหัวเข็มโดยธรรมชาติก็เป็นบาลานซ์อยู่แล้ว นั่นยิ่งง่าย ส่วนด้านเอาต์พุต เราก็พยายามโปรโมตให้คนมาใช้บาลานซ์ น้อยส์ต่ำกว่า เสียงดีกว่า เดินสายได้ยาวกว่า
ADP: โฟโนรุ่นนี้คือ 508 เรียบง่ายและดูดีมาก ผมต้องขอบอกว่า มันดูหนักแน่น และก็บ่งบอกว่า นี่เป็นสินค้าคุณภาพสูง โฟโนตัวนี้คุณไม่สามารถจะปรับเกน ค่าคาพาซิแตนซ์ อินดักแตนซ์ อะไรได้เลย?
Boulder: ปรับไม่ได้ครับ เราคิดว่าอิมพิแดนซ์ 1000 Ohm สำหรับหัว MC ก็ค่อนข้างเป็นมาตรฐานทั่วไป และก็เสียงดีมาก ในทางกลับกัน การเปลี่ยนโหลดดิ้งได้ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เสียงดีขึ้นเช่นกัน มันเป็นแค่การปรับให้เสียงมันถูกใจคุณหรือเปล่ามากกว่า เช่น ชอบเสียงเปิด หรือเสียงข้น อะไรแบบนั้น
ADP: แต่ MC ก็มีแบบ High mid low output เราไม่ต้องปรับอะไรเลยเหรอ?
Boulder: เกนขยายที่ 70dB เราคิดว่ามากพอที่จะใช้งานได้ดี การใช้สวิตช์ปรับเกน หรือโหลดของหัวเข็ม เพิ่มความยุ่งยากและไม่ได้ทำให้เสียงดี
ADP: ผมเห็นว่าคุณมีอะแดปเตอร์ขั้วต่อจากอันบาลานซ์เป็นบาลานซ์อินพุต?
Boulder: ใช่ครับ สำหรับลูกค้าที่มีสายสัญญาณจากหัวเข็มเป็นอันบาลานซ์ก็ต่อผ่านอะแดปเตอร์ตัวนี้ แต่เอาต์พุตเราให้เป็นบาลานซ์เท่านั้น
ADP: บาลานซ์เป็นอินเวิร์ตเฟสหรือมาตรฐานครับ?
Boulder: มาตรฐานครับ
ADP: เอาต์พุตเท่าไหร่ครับ?
Boulder: น่าจะ 2.5 โวลต์ ครับ
ADP: เราจะบอกว่า โฟโนรุ่นนี้เป็น Discrete Balance circuit ได้ไหม?
Boulder: ไม่ครับ เราเลือกเฉพาะจุดที่ไม่จำเป็นที่จะต้อง Discrete input/output เป็น Discrete Balance แต่มีวงจรบางส่วนที่ควรจะทำเป็นอันบาลานซ์จะได้ผลดีกว่า นั่นไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นไอเดียในการออกแบบของโฟโนรุ่นนี้ที่จะให้เสียงดีที่สุด (ผมเชื่อว่าอยู่ภายในงบประมาณที่จำกัด) เพาเวอร์ซัพพลายที่เราใช้ เราเลือกมาตั้งหลายแบบ สุดท้ายเราได้ตัวที่ให้แบ็กกราวด์น้อยส์ที่เงียบที่สุด ถ้าคุณฟังไวนิล คุณต้องการแบ็กกราวด์ที่สงัด ตัวนี้มันโครตสงัดเลย
ADP: กลับมาที่โฟโนสเตจรุ่น 1000 มีการแยกภาคจ่ายไฟกับภาคขยายออกเป็นสองตัวถังหรือเปล่าครับ?
Boulder: ไม่ครับ เราจะทำซัพพลายแยกชิ้นเฉพาะในรุ่น 2000 ขึ้นไป
ADP: ผมแค่จะมองช่องทางสำหรับคนที่จะอัพเกรดซัพพลายแยกชิ้นตรงนั้น
Boulder: สำหรับโฟโนสเตจรุ่นใหม่ เราพยายามทำให้มันอยู่ในระดับราคาที่เชิญชวนนักเล่นกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา ส่วนใครที่พร้อมจะอัพเลเวลก็ขยับรุ่นขึ้นไปก็ทำได้อยู่แล้ว ถึงมันเป็นรุ่น Entry แต่ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีที่เซ็ตมาตรฐานเอาไว้สูงมากครับ ตัวเล็ก เสียงใหญ่ เบสลงได้ลึก ไดนามิกส์เต็ม แบ็กกราวด์เงียบ
ADP: นี่ลองยกดูก็น้ำหนักมากทีเดียวนี่กัดเอาจากอะลูมินั่มก้อนใช่ไหมครับ?
Boulder: ใช่ครับ เรามีเครื่องจักรของเราเอง กัดตัวถังขึ้นมาจากอะลูมิเนียมก้อน เราพบว่า การลดขั้นตอนในการประกอบตัวถังหลายชิ้นด้วยการขึ้นรูปตัวถังแบบนี้ให้ประสิทธิผลดีที่สุด เราสามารถยึดเพาเวอร์ซัพพลายหรือเซอร์กิตบอร์ดลงบนตัวถังได้โดยตรง ลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น แน่นอนว่าเราทดสอบเสียงมันด้วยครับ ว่ามันต้องได้ผลดีตามมาตรฐานของเราที่ทัดเทียมกับรุ่นอื่น ตัวถังมันก็เลยมีแต่แผ่นปิดเครื่องด้านล่างเท่านั้น อีกห้าด้านที่เหลือก็เป็นตัวถังชิ้นเดียว
ADP: โฟโน 508 รุ่นใหม่วางตลาดเมื่อไหร่ 2018 หรือเปล่าครับ?
Boulder: ใช่ครับ เปิดตัวเป็นทางการในงานมิวนิกที่ผ่านมานี่เอง
ADP: ของล็อตแรกจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อไหร่ครับ?
Boulder: ผมยินดีที่จะมาที่นี่อีกนะ อยากมาบ่อยๆ เลย (แหล่งข่าวแจ้งมาว่า ตอนนี้มีอยู่สองตัว)
ADP: ดีครับ คุณมีอะไรจะฝากถึงผู้อ่านชาวไทยเกี่ยวกับ Boulder Audio?
Boulder: ผมคิดว่าจุดยืนของสินค้าเราอยู่ในจุดสูงสุดของคุณภาพสินค้าและคุณภาพเสียง เราได้ยินเสียงตอบรับเกี่ยวกับราคา และเราพยายามที่จะทำสินค้าที่ดีที่สุดในระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ปีหน้าคุณคงจะได้เห็นสินค้าใหม่ๆ จากเรามากขึ้น เรากำลังโฟกัสในวิถีทางที่จะให้นักเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในวงการมากขึ้น ฟังดนตรีในแบบที่เราฟัง หรือปรับไปสู่วิถีที่เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ADP: เราอาจจะเห็นปรีแอมป์ + DAC + Bluetooth streaming ในอนาคต?
Boulder: เป็นได้ครับ เราต้องทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักฟังเพลงหรือเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Roon, Tidal, Spotify นั่นแหละครับ เขาเล่นแบบนั้น ซึ่งมันก็ทำให้เสียงดีได้นะ ถ้าทำอย่างถูกต้อง
ADP: ขอพูดถึงฟรอนต์เอ็นด์ ตอนนี้คุณมีแค่ รุ่น 2000 ที่เป็น DAC และรุ่น 1000 ที่เป็น CD/Network player คิดว่าจะมีอะไรออกมาอีกไหมครับ?
Boulder: เรากำลังทำดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่กันอยู่ครับ ทำมาพักใหญ่แล้ว คิดว่าตัวแรกๆ จะเป็น Entry level เพื่อตอบสนองความต้องการของนักฟังรุ่นใหม่ตามที่บอกไปแล้ว มันมีแผนอยู่แล้วว่าจะทำการต่อยอดไปสู่รุ่นใหญ่ได้ อย่างที่บอกโจทย์หลักๆ คือ จะต้องนำพานักฟังรุ่นใหม่ๆ เข้ามาให้ได้ ซึ่งนั่นเป็นจุดที่เราโฟกัสมากที่สุด
ADP: ก็แปลกดีที่ Boulder ยังคงทำโฟโนสเตจออกมา คนรุ่นใหม่ๆ ยังฟังไวนิลกันเหรอครับ?
Boulder: ฟังแน่นอนครับ การที่เราทำโฟโนรุ่นนี้ขึ้นมาก็เหมือนกับเป็นการตอกย้ำว่ายังไงทุกคนก็ต้องฟังไวนิล และเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ฟังไวนิลก็อยากจะได้โฟโนสเตจของ Boulder ในราคาที่จับต้องได้ เรารับฟังลูกค้า และก็ประเมินทิศทางการตลาดและก็ทำครับ
ADP: ท้ายนี้มีอะไรจะเพิ่มเติมอีกมั้ยครับ?
Boulder: ขอขอบคุณที่ให้โอกาสให้ Boulder ได้มาเล่าให้ฟังว่า เราทำสินค้าอย่างไร เราคิดอย่างไร เรามีความภูมิใจในสิ่งที่ทำ และเรายินดีที่ได้ทำงานร่วมกับ DECO 2000 ขอบคุณที่สละเวลาครับ
ADP: ขอบคุณเช่นกัน และโชคดีครับ
ก็จบกันไปสำหรับบทสัมภาษณ์เครื่องเสียงในระดับอภิมหาแบรนด์หนึ่งในโลก ผมคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนวงในระดับโลก ซึ่งท้ายสุดแล้ว การที่จะทำอะไรยั่งยืน คงจะต้อง “ฟังเสียงลูกค้า” มากกว่า “กูอยากจะทำ” นี่คงเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอนที่สุด สวัสดีครับ. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 261
No Comments