วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

Vivid Audio Kaya 45 ที่ได้รับมาทดสอบในคราวนี้เป็นลำโพง 3 ทาง 4 ตัวขับเสียง ซึ่ง Kaya Series ถือเป็นลำโพงรุ่นใหม่จาก Vivid Audio ที่ถูกวางตัวอยู่ตรงกลางระหว่าง Oval Series (ที่มี V1.5se เป็นน้องเล็ก) กับลูกพี่ใหญ่อย่าง Giya ซึ่งบอกตามตรง ผมคาดหวังไว้มากกับลำโพงรุ่นนี้ เนื่องจากความประทับใจใน Vivid V1.5se ที่ทดสอบไปเมื่อปีที่แล้ว แถมได้แจกรางวัล Product of the Year 2017 ให้เจ้า V1.5se ไปเป็นที่เรียบร้อย ในปีนี้ เราจะมาดูกันว่า Kaya 45 จะทำได้ดีขนาดไหน โดยปัจจุบันมี Kaya 25 เป็นรุ่นเล็กสุด แต่มีแผนจะออก Kaya 15 และลำโพงเซ็นเตอร์ตามมา และมี Kaya 90 เป็นรุ่นใหญ่สุด

กลับมาที่ Vivid Audio: Kaya 45 ที่ได้รับมาทดสอบในคราวนี้ ต้องบอกก่อนว่า ก่อนหน้าที่จะได้รับลำโพงมาทดสอบ เมื่อเห็นภาพลำโพงรุ่นนี้ในอินเทอร์เน็ต ผมรู้สึกว่า มันหน้าตาแปลกๆ ไม่ค่อยลงตัวยังไงชอบกล แต่เมื่อได้เห็นตัวจริง และได้รับมาทดสอบ ก็รู้สึกว่าตัวจริงดูดีกว่าในรูปค่อนข้างเยอะ และเมื่อลองหารูป Kaya 45 สีอื่นๆ มาดู ก็พบว่าจริงๆ แล้ว ถ้าได้ตู้สีสวยๆ น่าจะสวยดีทีเดียว กลับมาที่ตู้สีเทาด้านที่ได้มาทดสอบในคราวนี้ ถึงแม้ดูแปลกไปจาก Vivid รุ่นอื่นๆ ไปบ้าง แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่า ลำโพงสีแบบนี้ เมื่อเอามาตั้งในห้องฟังเพลงที่มีไฟออกโทนเหลืองหน่อย อย่างเช่นในห้องฟังเพลงของผมที่มีพื้นและฝ้าโทนดำผนังสีเทาเข้ม แล้วเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนหลอดไฟในห้องให้เป็นหลอดสี Cool White ที่มีอุณหภูมิสีราวๆ 4000K คือไม่เหลืองเหมือนหลอดไส้ ไม่ขาวแบบหลอดฟลูออเรสเซนต์ พบว่าตัวลำโพงสีเทาด้านแบบนี้จะดูคล้ายผิวตู้ที่เป็นอะลูมิเนียมพ่นทราย ซึ่งก็ดูสวยงาม ดูดี มีราคาขึ้นมาพอควร

ในส่วนของการออกแบบที่มีความน่าสนใจใน Kaya Series ก็คือ… มีการนำเทคโนโลยีที่อยู่ในซีรี่ส์สูงสุดอย่าง Giya มาปรับใช้ค่อนข้างเยอะ ที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจนคือ การใช้วูฟเฟอร์ขนาด 5 นิ้ว 2 ตัว (ตรงส่วนของวูฟเฟอร์ ผมก็เพิ่งอ่านเจอว่า ขนาดที่ Vivid Audio ระบุไว้ จะต่างจากผู้ผลิตอื่น เนื่องจากโดยปกติ ขนาดของวูฟเฟอร์มักรวมขอบเซอร์ราวด์ด้วย แต่ทาง Vivid จะนับแค่ขนาดของตัวกรวยเท่านั้น ซึ่งเมื่อลองวัดดูพบว่า วูฟเฟอร์ 5 นิ้วที่ Vivid Audio แจ้งมา แท้จริงแล้วคือขนาดเท่าวูฟเฟอร์ 6.5 นิ้วของยี่ห้ออื่นๆ นั่นเอง) โดยวูฟเฟอร์ทั้ง 2 ตัว จะวางด้านข้างของตัวตู้ในลักษณะหันหลังชนกัน แล้วยังมีการยึดโยงกันภายในตู้ด้วยเพื่อให้มีการหักล้างแรงสั่นสะเทือนกันในระหว่างทำงาน เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่จะมากระทำกับตัวตู้ เพื่อลดความเพี้ยนในการทำงาน โดยที่ไม่ต้องใช้ตู้ที่มีน้ำหนักมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ได้เห็นได้จากภายนอกคือ การใช้ตู้ที่มีลักษณะเป็นท่อปลายปิดที่ค่อยๆ ตีบลง หรือที่ทาง Vivid เรียกว่า Tapered Tube Loading ซึ่งถ้าเป็นในรุ่นสูงสุดอย่าง Giya จะเห็นเป็นปลายโค้งม้วนอยู่ส่วนบนของตู้ลำโพง มาในครั้งนี้ Kaya Series มีการออกแบบให้รูปทรงภายนอกของตู้ดูเรียบง่ายขึ้น มีการซ่อนส่วนที่เป็นปลายท่อแหลมเอาไว้ด้านในตู้ โดยแยกปริมาตรภายในเป็น 3 ส่วนสำหรับไดรเวอร์ทั้ง Woofer, Midrange, Tweeter แยกจากกันอิสระ ป้องกันการรบกวนกันระหว่างทำงาน โดยในส่วนของเสียงสูงใช้ Tweeter โดมอะลูมิเนียมขนาด 26 มม. (รุ่น D26) ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่ใช้ในรุ่นสูงสุดอย่าง Giya Series ซึ่งเมื่อเทียบรุ่นดูพบว่า Kaya 45 มีขนาดตัวและเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับ Giya G4 ค่อนข้างมาก คือเสียงแหลมก็ใช้ตัวเดียวกัน และวูฟเฟอร์ก็ใช้กรวยอะลูมิเนียมรุ่น C125L ขนาด 5 นิ้ว 2 ตัวเหมือนกัน ตอบสนองความถี่ลงไปได้ถึงราว 36Hz ในรุ่น Giya G4 และ 37Hz ในรุ่น Kaya45 ซึ่งก็ถือว่าใกล้เคียงกัน (อาจต่างกันเล็กน้อยตามรูปทรงตู้ที่มีผลให้ปริมาตรในตู้ต่างกันเล็กน้อย) แต่ที่ต่างกันค่อนข้างชัดคือ ในส่วนของเสียงกลาง ซึ่งใน G4 มีการแยกเป็น 2 ทาง คือ… กลางต่ำขนาด 4 นิ้ว (รุ่น C100s) และกลางสูงแบบโดมขนาด 2 นิ้ว (รุ่น D50) แต่ใน Kaya 45 ย่านความถี่เสียงกลางทั้งหมดถูกรวมเข้ามาทำงานด้วย Midrange รุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับ Kaya Series เป็นรุ่น C100se ผลที่ได้จะเห็นความต่างกันค่อนข้างชัดเจนคือ Kaya 45 ที่เป็นลำโพง 3 ทาง แม้จะใช้ Tweeter ตัวเดียวกัน แต่เนื่องจาก Tweeter ต้องทำงานที่ความถี่ต่ำลงมาเพื่อให้ต่อกับเสียงกลางขนาด 4 นิ้ว (Tweeter ตัดความถี่ที่ 3kHz) จึงทำให้ตอบสนองขึ้นไปได้เพียง 25kHz ในขณะที่ Giya G4 ที่มีโดมเสียงกลางสูงเข้ามาช่วยลดภาระให้กับ Tweeter (ตัดความถี่สูงขึ้นเป็น 4kHz) จะตอบสนองความถี่ขึ้นไปได้ถึง 36kHz ซึ่งเรียกได้ว่าสูงไปถ้าหากว่า ท่านคาดหวังคุณภาพเสียงไว้แค่ 70 – 80% ของที่มันควรจะทำได้ ก็จะพบว่าแทบเรียกได้ว่า วางลงไปแล้วฟังได้เลย แต่หากท่านต้องการคุณภาพเสียงอีก 10 – 20% ที่เหลือ ก็จะเริ่มเจอว่าเป็นงานที่ยากเอาเรื่อง นั่นคือ แค่วางๆ ไปก็ได้เสียงกลางที่อิ่มหนา น่าฟัง แหลมต่อเนื่องกับกลางได้ดี เบสมีปริมาณสมตัว เรียกว่าฟังมีแววดีมากเลย แต่เมื่อต้องการความเป็นที่สุดแบบที่ควรคาดหวังจากลำโพงตั้งพื้นราคาร่วมหกแสน ผมก็ย่อมต้องหวังสิ่งที่เหนือกว่า V1.5se ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ามองในมุมนั้นจะพบว่า เบสยังไม่แน่นเท่าที่ควร เสียงร้องยังไม่ควบแน่นเข้ามาเป็นเสียงคนยืนร้องจริงๆ ปลายแหลมมีอาการโรลออฟเร็วไปนิด อาการเหล่านี้เป็นส่วนของงานยากที่บอก แต่เมื่อได้ตำแหน่งที่ลงตัวก็พบว่า คุ้มค่ามากๆ เสียงกลางมีความอิ่มเนียนต่อเนื่องกันระหว่าง เบส กลาง แหลม ทำได้ดีมาก เรื่องของเบส ถ้าเทียบกับ V1.5se ก็ชัดเจนว่ามีปริมาณมากกว่า เนื่องจากการมีวูฟเฟอร์ 5 นิ้วเพิ่มเป็น 2 ตัว แถมไม่ต้องทำงานในย่านเสียงกลางด้วย และอย่างที่บอกไปว่ามีการนำเทคโนโลยี Tapered Tube Loading มาใช้ด้วย แต่ถึงอย่างไร Kaya45 ก็ยังเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็ก จึงไม่อาจให้เสียงเบสได้ใหญ่โตมโหฬารอย่างลำโพงอ้างอิง (จริงๆ ก็ไม่ควรเอามาเทียบกันนะ เพราะ Kaya 45 ให้มาแค่ 5 นิ้ว 2 ตัว มันก็ไม่มีทางให้เบสได้ใกล้เคียง 12 นิ้ว 2 ตัวต่อข้างที่อยู่ในลำโพงอ้างอิงอยู่แล้ว) แต่ก็มีมาสมตัว ไม่ถือว่าน้อยหน้าใคร ส่งต่อมาถึงเสียงกลางที่เรียกได้ว่าระดับเทพ มีความเป็นธรรมชาติดีมาก และด้วยความที่เป็นลำโพง 3 ทาง เสียงกลางไม่ต้องรับภาระสร้างเสียงเบสแบบใน V1.5se ทำให้ในช่วงเสียงกลางยิ่งฉายแววความสะอาด ปราศจากความเพี้ยนยิ่งขึ้นไปอีกระดับ ในส่วนของเสียงแหลม เข้าใจว่าทวีตเตอร์ยังต้องรับภาระลงมาต่อกับเสียงกลาง ไม่ได้มีโดมกลางสูงมาช่วยเหมือนในรุ่นใหญ่อย่าง Giya G4 จึงยังต้องมีสงวนปลายแหลมที่ความถี่สูง และหางเสียงที่อาจจะยังทอดยาวไม่ได้เท่าพวกโดมเพชรหรือโดมเบริลเลียม แต่ถ้าเทียบกับพวกซอฟต์โดม หรือโดมอะลูมิเนียมด้วยกัน ก็ต้องนับว่าทำได้ดีในระดับแนวหน้า อาจไม่อีกร่วมครึ่งอ็อกเตฟเลยทีเดียว ดังนั้น คาดเดาว่าย่านกลางแหลมของ G4 ควรจะต้องเหนือขึ้นไปกว่า Kaya 45 พอควรถึงกับทอดตัวไปได้สุดๆ แต่เพียงพอสำหรับเนื้อหาความเป็นดนตรีอย่างครบถ้วน

กับแผ่นเสียง Ella & Louis เสียงร้องของป้าเอลล่านุ่มนวลชวนฝันกำลังดี ส่วนลุงหลุยส์ถึงแม้เสียงมีความแหบ แต่จะฟังได้ถึงอารมณ์คนร้องที่มีความอ่อนโยนหยอกล้อกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากจะคิดว่า Kaya 45 มันเติมความอิ่มหนาให้รู้สึกหวานเกินจริง ก็ไม่น่าใช่ เพราะเสียงทรัมเป็ตยังคงมีความสดจัดอย่างเสียงเครื่องดนตรีจริงมายืนเป่าให้ฟังกันในห้อง แม้กระทั่งรายละเอียดของการไล้ฉาบเบาๆ ที่เป็นแบ็กกราวด์ก็สามารถติดตามรายละเอียดได้ดี แสดงว่าแหลมก็ไม่ได้ถึงขั้นโรลออฟเกินไป ยังคงให้เนื้อหาสาระของดนตรีได้อย่างครบถ้วน

กับแผ่นเสียง สแตมป์ อภิวัฒน์ รู้สึกได้ถึงลีลาการร้องที่มีชีวิตชีวาแบบแฝงความอบอุ่นในน้ำเสียง เสียงย้ำกระเดื่องกลองอาจยังไม่หนักแน่นมากนัก แต่ก็ต้องเข้าใจว่า Kaya 45 มันเล็กเกินไปสำหรับห้องฟังของผมที่มีความสูง 3 ม. กว้าง 5 ม. ยาว 7 ม. ถ้านำKaya 45 ไปตั้งอยู่ในห้องที่มีขนาดราวๆ 20 ตร.ม. น่าจะสมน้ำสมเนื้อมากกว่า

กับแผ่นซีดี B5 Now15 แทร็กแรกที่เป็นเสียงท้องถนนมีความสมจริงดี เสียงเปียโนมีความสดใสในแนวเปียโนยามาฮ่าที่เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวโต๋ เสียงดีดนิ้ว เสียงปรบมือในเพลง มีความอิ่มหนา มีเนื้อมีหนังดี ถึงไม่เหมือนมีคนมาปรบจริงๆ ในห้อง แต่ก็ทำได้ดี ไม่ดังแปะๆ แบบกลวงๆ เหมือนฝนตกเสียงร้องของนักร้องให้โทนเสียงที่แตกต่างกันได้ดี โดยที่ดียิ่งกว่าคือ เสียงแต่ละคนมีความเนียนน่าฟังในแบบของตัวเอง ในเพลง “ปล่อย” เสียงเอฟเฟกต์รีเวิร์บที่จงใจใส่มาให้เสียงร้องของ มาเรียม ที่ร้องคนเดียว รู้สึกมีความก้องสะท้อนของโถงห้องที่ร้อง ต่างกับท่อนที่มีคนอื่นร้องผสานที่จะลดปริมาณเสียงสะท้อนลงอย่างชัดเจน แล้วค่อยใส่กลับมาช่วงจบเพลง แสดงว่า Kaya 45 ให้รายละเอียดในช่วงเสียงร้องได้ดี มีความสามารถแยกแยะเสียงหลักและเสียงเอฟเฟกต์ที่จงใจใส่มาให้เป็นเสียงก้องได้เป็นอย่างดี

เมื่อมองดูตัวเลือกในระดับราคานี้ก็นับได้ว่า Vivid Audio Kaya 45 ถือเป็นลำโพงที่ให้เสียงได้น่าฟังมากรุ่นหนึ่งในระดับราคานี้

กับแผ่น SACD Faro ที่มี Robert Wolf เล่นกีตาร์ และ Feny Kammerlander (อ่านแล้วนึกถึง ไอ้มดแดง “kamen rider”) เล่นเบส พบว่าเสียงเบสมีความสะอาดดีมาก โดยปรกติ อัลบั้มนี้จะเจอบางความถี่ที่มีแอบบวมครางบ้างเล็กน้อย แต่คราวนี้ไม่เจออาการเบสครางเลย ไม่แน่ใจว่าจะเป็นด้วยมีการรีมาสเตอร์ใหม่ในการทำSACD ด้วยหรือไม่ แต่ Kaya 45 สามารถให้เสียงกีตาร์ที่มีหัวเสียงของการดีดชัดเจน และมีบอดี้ความอิ่มหนาของตัวกีตาร์ที่น่าฟังดี เสียงสีเบสก็มีความรู้สึกว่าเบสนั่งอยู่ไกลกว่าทุกครั้ง เพราะเสียงอยู่ลึกเข้าไปด้านหลังมากขึ้น และเบาลงกว่าที่คุ้นชิน คือเสียงกีตาร์อยู่หลังลำโพงไปไม่มากนัก ราวๆ เมตรเดียว แต่เบสน่าจะไปสีอยู่ด้านหลังไปราว 3 – 4 เมตรเลย ซึ่งสาเหตุที่รู้สึกว่าเสียงเบสถอยหลังลึกเข้าไปมากกว่าปกติ อาจจะด้วยข้อจำกัดด้านปริมาณเสียงเบสอยู่บ้าง หรือเป็นเพราะ SACD ที่มีความถี่สุ่มข้อมูลที่สูงกว่าซีดีมาก ทำให้เรื่องเวลามีความเป๊ะมากขึ้น เมื่อเจอกับลำโพงที่มีการออกแบบให้เฟสมีความกลมกลืนกันเป็นอย่างดี มีเสียงต่อเนื่องแบบ Kaya 45 จึงสามารถแสดงความลึกของรูปวงได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนรับรู้ได้ว่าเบสถอยหลังไปอยู่ลึกขึ้น แต่ยังคงให้รายละเอียดในการเล่นได้อย่างครบถ้วน ไม่มีตกหล่น เป็นเรื่องที่น่าประทับใจดี

กับอัลบั้มที่ 7 ของ Utada Hikaru อย่าง Hatsukoi พบว่า Kaya 45 ถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงร้องที่รู้สึกได้ถึงน้ำเสียงที่มีอายุมากขึ้นของอูทาดะ พร้อมเทคนิคการร้องที่เพิ่มมาตามประสบการณ์ ทำให้เพลงมีมิติความลึกมากกว่าอัลบัมก่อนๆ

สรุป

สรุปได้ว่า Vivid Kaya 45 มีความเที่ยงตรงในการนำเสนอเสียงได้เป็นอย่างดี จริงๆ อยากใช้คำว่าเที่ยงตรงเหมือนลำโพงมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นความหมายในด้านดี ไม่ใช่แบบที่คนส่วนมากมีความคิดว่า ลำโพงมอนิเตอร์จะต้องให้เสียงที่จืดชืด ขาดความน่าฟัง หรือไม่ก็สดชัด เจี๊ยวจ๊าว แต่สำหรับ Vivid Kaya 45 จะเป็นมอนิเตอร์ที่สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้ตามที่ถูกบันทึกมา มีความราบเรียบในการตอบสนองความถี่ดี มีความกลมกลืนต่อเนื่องของเสียงแต่ละย่านดีมาก ทำให้เสียงดนตรีมีความลื่นไหลน่าฟังตลอดทั้งย่านที่สามารถตอบสนองได้ ทั้งยังสามารถให้รายละเอียดของการถ่ายทอดอารมณ์การร้องออกมาได้อย่างน่าสนใจเป็นพิเศษ แน่นอนว่า คุณภาพเสียงกลางและเบส เรียกได้ว่าเหนือชั้นกว่า Vivid V1.5se ที่ได้รางวัลไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ด้วยราคาที่ต่างกันราวเท่าตัว ทำให้ความคาดหวังจำเป็นต้องสูงตามไปด้วย ซึ่งก็ต้องบอกว่า Kaya 45 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เนื่องจากสามารถให้ปริมาณและคุณภาพของเสียงเบส และเสียงกลางที่เหนือกว่า V1.5se ขึ้นมาได้อีกระดับ และเมื่อมองดูตัวเลือกในระดับราคานี้ก็นับได้ว่า Vivid Audio Kaya 45 ถือเป็นลำโพงที่ให้เสียงได้น่าฟังมากรุ่นหนึ่งในระดับราคานี้ ถ้าท่านกำลังมองหาลำโพงในงบประมาณนี้เพื่อนำไปจัดวางในห้องขนาดราวๆ 20 ตารางเมตร แนะนำว่าต้องไปฟัง Vivid Audio Kaya 45 ให้ได้ ถ้าไม่ได้ฟัง ถือว่าพลาดอย่างแรง. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 260