KARAN ACOUSTICS KA M 900 MONO BLOCK POWER AMPLIFIER
นักเขียน วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :
สงสัยปีนี้น่าจะเป็นปีที่สนุกสนานสำหรับการทดสอบเครื่องเสียงของผมแน่ๆ เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไล่มาถึงต้นปีนี้มีเครื่องเสียงใหญ่ๆ หนักๆ จัดเต็ม ระดับราคา 7 หลัก แวะเวียนเข้ามาให้ลองเล่น-ลองทดสอบอยู่หลายตัวทีเดียว โดยในคราวนี้เป็นคิวของแอมป์ขนาดน้องๆ รถถังอย่าง Karan Acoustics KA M 900 ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมห้องของผมบ้าง หลังจากที่เปรยๆ กับทาง กอง บก. ไว้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุดอ้างอิงของผมก็มีการเปลี่ยนแปลงในหลายจุดจนมาไกลจากวันแรกที่เข้ามาร่วมงานกับทาง Audiophile อยู่ไม่น้อย ถึงแม้เครื่องหลายๆ ตัวยังคงเดิม เพราะยังทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี แต่จากการที่ได้ลองเครื่องต่างๆ มาเป็นจำนวนไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พบว่า ในบางจุดน่าจะยังมีช่องทางให้ปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีกได้ ซึ่งส่วนที่มีความน่าสนใจในช่วงนี้จะเป็นส่วนของภาคขยาย เนื่องจากลำโพงอ้างอิงมีขนาดใหญ่ขึ้น และลำโพงที่แวะเวียนมาหลังๆ ก็ตัวใหญ่ขึ้น ทำให้เริ่มมีความสนใจที่อยากจะลองแอมป์กล้ามโตที่มีกำลังขับแบบมีคุณภาพดี เรียกว่าเอาทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ฟังดูแล้วไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสภาพคล่องทางการเงินเท่าไหร่ ดังนั้นคงต้องใจเย็นๆ ลองไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ซึ่งทาง บก. ก็ใจดี จัดแจงติดต่อส่งแอมป์กล้ามโตมาให้ลองตามคำขอ ซึ่งในคราวนี้เริ่มต้นด้วย Karan Acoustics KA M 900 ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่า ถึงแม้ผมเคยมีประสบการณ์ฟังเสียงของแอมป์จาก Karan Acoustics ผ่านทางการไปเยี่ยมเยียนชุดเครื่องเสียงของนักเล่นหลายท่านตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เคยได้ฟังแอมป์ Karan Acoustics ในชุดของตัวเองเลย คราวนี้จึงเป็นโอกาศอันดีที่จะได้ทำความรู้จักกับ Karan Acoustics KA M 900 อย่างใกล้ชิด
ในส่วนของการออกแบบพบว่า KA M 900 จัดหนัก จัดเต็มจริงๆ เริ่มต้นด้วยกำลังขับที่มากถึง 900 วัตต์ ที่โหลดปกติ 8 โอห์ม และสามารถไปได้ถึง 1,440 วัตต์ ที่โหลด 4 โอห์ม เท่านั้นไม่พอ ยังสามารถจ่ายกำลังระดับ 2,100 วัตต์ ที่โหลด 2 โอห์มต่อเนื่องได้ด้วย น่าจะเรียกได้ว่า ขับลำโพงที่ออกแบบให้ใช้ในบ้านได้ทุกคู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่ถ้าเป็นห้องที่ใหญ่มากๆ แล้วต้องการความเป็นที่สุดก็ยังมีรุ่น KA M 2000 เป็นพี่ใหญ่ให้เลือกอีกรุ่น แต่ในที่นี้แค่ KA M 900 ก็น่าจะเหลือๆ แล้ว โดยที่มาของกำลังขับที่น่าจะบอกกันเป็นแรงม้าก็มาจากการที่ Karan Acoustics ให้ความใส่ใจกับการออกแบบในทุกส่วน เริ่มตั้งแต่ภาคจ่ายไฟที่ในแอมป์แต่ละตัวมีหม้อแปลงขนาด 1kVA สองลูก เท่ากับว่าออกแบบให้ใช้หม้อแปลง 2kVA ต่อแชนเนล และยังใช้ตัวเก็บประจุมากถึง 132,000uF ต่อข้าง ทำให้หายสงสัยว่าน้ำหนักตัวข้างละ 52 กก. ไม่ได้มาเพราะแอบเอาหินถ่วงไว้ในเครื่องแน่ๆ แต่เป็นน้ำหนักของหม้อแปลงในภาคจ่ายไฟที่แข็งแรง หนักแน่นประดุจรถถังอย่างนี้นี่เอง
นอกจากในส่วนของภาคจ่ายไฟแล้ว ส่วนอื่นๆ ทาง Karan Acoustics ก็จัดมาเต็มที่เหมือนกัน เช่น การเลือกใช้เอาต์พุตทรานซิสเตอร์ของ Sanken จากญี่ปุ่น ที่โดยปกติแค่ตัวเดียวก็จ่ายกระแสได้สูงมากแล้ว แต่ใน KA M 900 ใช้ถึง 16 ตัวต่อข้าง ทำให้รองรับการจ่ายกระแสได้ถึง 320 แอมป์ เรียกได้ว่าจ่ายกระแสได้มากกว่าตู้เชื่อมโลหะซะอีก ตรงส่วนนี้จึงเป็นที่มาของแดมปิ้งแฟกเตอร์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ระดับมากกว่า 10,000 เลยทีเดียว ปกติค่าแดมปิ้งแฟกเตอร์เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการหยุดยั้งการเคลื่อนตัวของกรวยลำโพงของแอมป์ ถ้าค่ายิ่งมาก แอมป์ก็มีลักษณะที่คุมเสียงเบสได้ดี หากเป็นแอมป์หลอดอาจจะมีค่าอยู่แถวหลักสิบ ถึงร้อยสองร้อยก็เทพมากแล้ว นั่นคือเหตุผลที่แอมป์หลอดส่วนมากยังมีปัญหาเรื่องสปีดความเด็ดขาดของเสียงเบสอยู่บ้าง ถ้าเป็นแอมป์โซลิดสเตทก็ควรเกิน 100 ขึ้นไป แต่ที่เกิน 500 ก็เริ่มหายากหน่อยแล้ว จริงๆ บางครั้งหลายคนบอกว่าเกิน 300 ก็ฟังไม่ออกแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาเอาค่า 300 มาจากไหน โดยส่วนตัว ยิ่งมาก มักจะยิ่งคุมลำโพงได้นิ่งขึ้น เที่ยงตรงขึ้น ส่วนถ้าเป็นแอมป์ Class D ที่เป็นที่ฮือฮาในเรื่องความสามารถในการจ่ายกระแสได้สูง มีพลังในการหยุดตัวของกรวยลำโพงได้ดี ส่วนมากมีค่าหลักพันขึ้นไป แต่ก็ยังเห็นอย่างมากไม่ค่อยเกิน 5,000 ด้วยซ้ำ
สำหรับ KA M 900 ที่ใช้วงจรขยาย Class AB ที่เหมือนจะธรรมดา แต่สามารถจ่ายกระแสได้สูงจนมีค่าแดมปิ้งแฟกเตอร์ระดับเกิน 10,000 ขึ้นไป ตลอดย่านความถี่ 20 – 20,000Hz นี่ต้องเรียกว่า น่าทึ่งมากๆ และต้องเกิดจากการออกแบบอย่างดี ไม่ใช่โชคช่วยแน่ๆ นอกจากนี้ ในเรื่องของการตอบสนองความถี่ที่ระบุไว้ว่า DC – 300,000Hz +0, -3dB ซึ่งการตอบสนองความถี่ได้กว้างเกินช่วงความถี่เสียง มันไม่ได้มีผลทำให้หูคนเราได้ยินเสียงที่ความถี่สูงกว่า 20,000Hz แต่มีผลต่อความเที่ยงตรงของเวลาในการเกิดขึ้น และเงียบไปของเสียงที่มีความถูกต้องตรงกับที่บันทึกมามากขึ้น เราจะรู้สึกได้ถึงช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีที่มีความสงัดมากขึ้นนั่นเอง พอพูดถึงเรื่องความสงัดก็คงต้องพูดถึงค่าสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนที่สูงถึง -112dB (ค่ายิ่งติดลบเยอะๆ เท่ากับว่าแอมป์มีสัญญาณรบกวนปนออกมาน้อย) ซึ่งค่าที่สูงมากระดับนี้เรียกได้ว่า น่าทึ่งเช่นกัน เพราะถ้าหากเราดูที่ Dynamic Range ของสัญญาณที่มาจาก CD หรือ SACD จะพบว่ามีค่า 96 และ 120dB ตามลำดับ หมายความว่า ถ้าเล่นแผ่นซีดีผ่าน KA M 900 ความเพี้ยนที่วัดได้เจอ จะมาจากข้อจำกัดของแผ่นที่บันทึก ก่อนที่จะเป็นสัญญาณรบกวนที่เกิดจากตัว KA M 900 เสียอีก การจะให้ได้มาซึ่ง S/N Ratio ที่ระดับนี้ต้องเกิดจากการใส่ใจในรายละเอียดทุกจุดอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกินสัญญาณรบกวนขึ้นที่ตรงจุดไหนเลยจึงจะพอมีทางเป็นไปได้
อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผมเคยได้ยินหลายคนบ่นเรื่องแอมป์ Karan เป็นแอมป์ที่ค่อนข้างเลือกปรีแอมป์ที่จะนำมาจับเข้าคู่ เรื่องนี้จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรมากมายขนาดนั้น เพียงแต่ในการจับคู่ควรต้องให้ความสนใจกับเรื่องของระดับความดัง ซึ่งเกี่ยวกับระดับความแรงสัญญาณที่จ่ายจากเครื่องต้นทางไปยังเครื่องรับที่ต่อพ่วงกันในระบบ และเกนขยายในอุปกรณ์ชิ้นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ของเครื่องที่อยู่ต้นทาง และอินพุตอิมพีแดนซ์ของเครื่องที่อยู่ปลายทางอย่างเช่นเพาเวอร์แอมป์ด้วย เมื่อดูจากสเปกของแอมป์ KA M 900 จะเห็นได้ว่ามีอินพุตอิมพีแดนซ์อยู่ที่ 30kOhms นับว่าไม่สูงมากนักสำหรับแอมป์โซลิดสเตท แถมยิ่งถ้าดูจากสเปกของปรีแอมป์จาก Karan Acoustics ที่มีเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ต่ำสุดๆ ระดับ 0.6 โอห์ม (แทบเอาปรีแอมป์มาขับลำโพงมีเสียงดังอยู่แล้ว) จึงพอจะคาดเดาได้ว่า KA M 900 เป็นแอมป์ที่ชอบจับคู่กับปรีแอมป์ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายแรงดันสัญญาณได้เยอะแยะมากมาย แต่ต้องจ่ายกระแสออกมาได้เยอะๆ ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อผมได้ลองต่อใช้งาน KA M 900 ร่วมกับปรีโปรเซสเซอร์ที่ใช้สำหรับดูหนัง ซึ่งเดิมเซ็ตค่าความดังของสัญญาณลำโพงคู่หน้าที่ต่อใช้กับแอมป์อ้างอิงที่มีอินพุตอิมพีแดนซ์ระดับ 100kOhms และมีเกนขยาย 27dB เมื่อเปลี่ยนมาเป็น KA M 900 ที่มีอินพุตอิมพีแดนซ์ระดับ 30kOhms และมีเกนขยาย 28 dBพบว่า… เสียงที่ออกจากลำโพงดังกว่าเดิมมาก และเมื่อ cali มีเสียงดังอยู่แล้ว) จึงพอจะคาดเดาได้ว่า KA M 900 เป็นแอมป์ที่ชอบจับคู่กับปรีแอมป์ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายแรงดันสัญญาณได้เยอะแยะมากมาย แต่ต้องจ่ายกระแสออกมาได้เยอะๆ ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อผมได้ลองต่อใช้งาน KA M 900 ร่วมกับปรีโปรเซสเซอร์ที่ใช้สำหรับดูหนัง ซึ่งเดิมเซ็ตค่าความดังของสัญญาณลำโพงคู่หน้าที่ต่อใช้กับแอมป์อ้างอิงที่มีอินพุตอิมพีแดนซ์ระดับ 100kOhms และมีเกนขยาย 27dB เมื่อเปลี่ยนมาเป็น KA M 900 ที่มีอินพุตอิมพีแดนซ์ระดับ 30kOhms และมีเกนขยาย 28 dBพบว่า… เสียงที่ออกจากลำโพงดังกว่าเดิมมาก และเมื่อ calibrate ระบบให้ระดับความดังเท่ากับแชนเนลอื่นๆ พบว่าต้องลดความดังของสัญญาณที่ส่งเข้า KA M 900 ลงถึง 8dB
นั่นหมายถึงการที่มีอินพุตอิมพีแดนซ์ที่ต่ำลง ทำให้แอมป์เรียกร้องกระแสจากปรีแอมป์ในปริมาณมากขึ้น และเมื่อรวมกับการที่มีเกนขยายกำลังที่มากขึ้นอีกเล็กน้อย ทำให้กำลังขับที่ได้รับจากปรีแอมป์เพิ่มขึ้น (ขอให้นึกเหมือนว่า อิมพีแดนซ์ของแอมป์ มันก็เหมือนอิมพีแดนซ์ของลำโพง ถ้าเอาลำโพงอิมพีแดนซ์ต่ำๆ มาต่อกับแอมป์ มันก็จะดึงกำลังขับจากแอมป์มากขึ้น ดังนั้น แอมป์ที่อินพุตอิมพีแดนซ์ต่ำๆ มันก็ดึงกำลังขับจากปรีแอมป์เช่นกัน) ซึ่งกำลังขับที่ได้รับมามากขึ้นก็ถูกขยายออกไปมากขึ้น ก็เป็นผลให้เสียงของลำโพงดังขึ้นนั่นเอง จากตรงนี้จึงสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่า แอมป์ KA M 900 ดูจะไม่ชอบจับคู่กับปรีแอมป์หลอดที่มักมีเอาต์พุตโวลต์เตจสูง แต่ดันมีเอาต์พุตอิมพีแดนซ์สูง คือมีแต่แรงดัน แต่จ่ายกระแสได้ไม่เยอะ เมื่อมาจับคู่กับ KA M 900 ที่ชอบปรีแอมป์ที่จ่ายแรงดันไม่ต้องเยอะ แต่ขอกระแสเยอะๆ มันก็ดูจะสวนทางกัน จึงเป็นที่มาของปัญหาที่บางท่านพบว่ามีโทนเสียงที่ออกแนวจัดกร้าว ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับแอมป์ แต่เป็นที่ปรีแอมป์ที่นำมาต่อร่วมใช้งานมีการออกแบบไปคนละทิศทางกัน จึงทำงานไม่เข้าขากันเท่านั้นเอง เมื่อผมต่อใช้งานกับปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 ที่มีเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ต่ำและตั้งเกนขยายแรงดันไว้ที่ 0dB ก็จะทำให้ไม่เจอปัญหาที่กล่าวมา ดังนั้น ผมไม่ถือว่า KA M 900 เป็นแอมป์ที่หาปรีแอมป์จับคู่ยากตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด เพียงแค่อย่าไปฝืนธรรมชาติของมันก็จบ
คุณภาพเสียง
เมื่อเปิดเบิร์นแอมป์ไปเรื่อยๆ จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า แอมป์เข้าที่แล้วก็เริ่มฟังอย่างจริงจัง พบว่าเจออาการเบสอั้น ตื้อ ไม่ทอดตัว จึงต้องปรับตำแหน่งลำโพงให้ห่างผนังหลังมากขึ้น พบว่าตำแหน่งสุดท้ายเลื่อนหน้ามาจากจุดเดิมร่วมคืบ ตรงจุดนี้ก็ตรงตามความคาดหมาย เนื่องจากกำลังขับที่มากขึ้น เบสที่ได้จากลำโพงมีปริมาณมากขึ้นจึงจำเป็นต้องปรับตำแหน่งลำโพงใหม่เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปรับแล้วก็จะได้จุดที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบในคราวนี้
เมื่อได้แอมป์แรงดีระดับนี้มาแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากลองเอามาขับลำโพงอ้างอิงคือ เสียง T-Rex เดินในแผ่น Telarc: The Great Fantasy Adventure Album ที่คราวที่แล้วติดใจความรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจากระยะไกลที่เหมือนจริงมากๆ จากลำโพง PMC แต่พอฟังชุดของตัวเองแล้ว ไม่ได้ความรู้สึกที่สมจริงเหมือนอย่างนั้น ข้อที่ค้างคาใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสามารถในการคุมเสียงเบสให้มีความสะอาด ลงลึกแบบสุดๆ (ในแทร็กนี้มีคำเตือนบนแผ่นว่า สัญญาณที่บันทึกมามีความถี่ลงไปถึง 5Hz ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงเสียหายได้!!!!!) ผลที่ได้ แม้ไม่ได้เป็นไปตามคาด คือไม่สามารถจำลองแรงสั่นสะเทือนของการเดินของ T-Rex จากระยะไกลได้เหมือนจริงเท่า PMC แต่ก็ได้พบประเด็นที่น่าสนใจในส่วนของการแม็ตช์สายลำโพงเข้ากับแอมป์ พบว่า… เมื่อจับคู่แอมป์ที่มีเกนขยายแรงดันค่อนข้างสูงแบบ Karan KA M 900 เข้ากับสายลำโพงที่มีกระเปาะวงจรปรับอิมพีแดนซ์ กลับพบอาการอั้นตื้อของเบสที่ความถี่ต่ำจัดๆ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนสายลำโพงเป็นแบบไม่มีวงจรแล้ว
อาการดังกล่าวก็หายไป ที่น่าแปลกใจเพราะก่อนหน้านี้สายลำโพงชุดที่ว่าก็ใช้ในการทดสอบกับแอมป์หลายตัว รวมถึงลำโพงไม่รู้กี่คู่ ก็ไม่เคยเจออาการนี้เลย จริงๆ แล้วสายชุดนี้ก็ใช้ต่อกับแอมป์อ้างอิงเพื่อขับ PMC ที่เป็นเสียงอ้างอิงของ T-Rex ในความทรงจำดังนั้น แสดงว่าปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่สายลำโพงเช่นกัน แต่เป็นเรื่องของความไม่เข้ากันทางอิมพีแดนซ์ระหว่างแอมป์และสายลำโพง ที่ความถี่ต่ำๆ จัดๆ เท่านั้น ถึงตรงนี้ อาการนี้ก็ไม่ได้รุนแรงถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะด้วยเพลงทั่วไปก็ไม่ได้พบอาการชัดเจนอะไร แต่ที่สังเกตหาความแตกต่างได้ เนื่องจากการไปลองฟังเสียง T-Rex เดินที่มีความถี่ระดับ Infrasound (ความถี่ต่ำกว่า 20Hz ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยหู แต่รู้สึกเป็นแรงสั่นสะเทือนมาทางผิวหนังแทน)
จากเหตุการณ์นี้จึงมีข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ 2 ส่วน นั่นคือ 1. ลำโพงอ้างอิงน่าจะไม่สามารถให้เสียงเบสลงลึกถึงระดับ Infrasound ได้สะอาดมีคุณภาพเท่าลำโพง PMC ที่ใช้เป็นเสียงอ้างอิง และ 2. แอมป์ KA M 900 อาจไม่ค่อยถูกโฉลกกับสายลำโพงที่มีวงจรปรับชดเชยอิมพีแดนซ์ทั่วๆ ไปซะเท่าไหร่ ถ้าจะใช้งานร่วมกันอาจต้องแจ้งทางผู้ผลิตสายให้ปรับแต่งสายมาให้เหมาะสมกัน จึงจะลดอาการอั้นตื้อที่ความถี่ต่ำมากๆ ระดับ Infrasound ได้ ซึ่งหลายท่านคงคิดว่าผมบ้า จะมาสนใจเป็นประเด็นอะไรกับความถี่ระดับนี้ ไม่มีในดนตรีจริงซะหน่อย ก็ต้องเรียนตามตรงว่า ใช่ครับ มันไม่มีผลต่อการฟังเพลง แต่เมื่อผมทำการรีวิวส์เครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์แบบเกือบจะเรียกว่าเป็น Ultimate Hi-End อยู่แล้ว ผมก็ควรต้องรายงานสิ่งที่พบอย่างตรงไปตรงมา
ถัดจากนั้น พอดีช่วงที่ทดสอบได้แผ่น Royal New Orleans Jazz Celebration ที่เป็นแบบกล่องพร้อม DVD มาใหม่ แผ่นนี้ออกมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ซื้อ เพราะมีแผ่นต้นฉบับอยู่แล้ว แต่ไหนๆ ก็ชอบการเรียบเรียงเพลงในแผ่นนี้อยู่แล้ว ก็เลยซื้อมาสะสมไว้ เมื่อเอามาเปิดฟังผ่าน Karan KA M 900 มีความรู้สึกแปลกใหม่ว่า ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นมีความตรึงแน่น ตำแหน่งนิ่งกว่าทุกครั้งที่ฟังแผ่นนี้ เสียงบางเสียงที่เคยรู้สึกว่า แปร๋น สดจัดเกินไป ก็มีความนุ่มนวลผ่อนคลายลง เรียกได้ว่าเสียงโดยรวมมีความนวลเนียนมากขึ้น โดยที่ไม่ได้เป็นแบบขุ่นจนกลบรายละเอียด หากแต่เป็นที่เสียงต่างๆ มีฐานเสียงเข้ามาเสริมให้เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ มีความกลมกล่อมอย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น ทั้งๆ ที่แผ่นนี้เข้าใจว่าก็ไม่ได้มีการรีมาสเตอร์ให้ต่างจากแผ่นต้นฉบับที่เป็นซีดีกล่องการะดาษรุ่นดั้งเดิมแต่อย่างใด
เมื่อลองกับแผ่น Chick Corea: Rendezvous in New York ที่ฟังอยู่บ่อยๆ ก็พบว่าชิ้นดนตรีทุกชิ้นถูกตรึงแน่น นิ่งอยู่กับที่ มีรายละเอียดของความสมจริงเพิ่มขึ้นจากที่เคยฟัง คือเสียงแต่ละเสียงที่อยู่ลึกลงไปในสนามเสียง จากเดิมก็รับรู้ความเป็นสามมิติได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อฟังผ่าน Karan KA M 900 มันมีรายละเอียดของความเป็นสามมิติมากขึ้น ถ้าให้เปรียบก็เหมือนดูหนัง 3D กับการมองเห็นวัตถุจริงๆ ซึ่งทั้งสองอย่างก็ให้การรับรู้ถึงความเป็นสามมิติได้ บอกตำแหน่งว่าอยู่ใกล้ อยู่ไกล สูง ต่ำดำขาวได้ แต่การมองวัตถุจริงๆ เราได้เห็นรายละเอียดของแสงเงาที่มีความถูกต้องมากกว่าการดูหนัง 3D ตรงนี้ต้องยกความดีให้ Karan KA M 900 ที่สามารถคุมการขยับตัวของลำโพงได้อยู่หมัด ทำให้เสียงที่ออกมาจากลำโพงมีความใกล้เคียงสัญญาณที่บันทึกมาเข้าไปอีกระดับหนึ่ง เสียงเส้นสายของเปียโนสามารถรับรู้ได้ถึงความเป็นเส้นลวดที่ถูกค้อนเคาะ แล้วเป็นเส้นลวดที่สั่นได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น จะว่าไปแล้วมันเหมือนการเพิ่มความรู้สึกถึงความเป็น Pin Point ของเสียงต่างๆ ในสนามเสียง ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า โดยปกติแล้วเสียงที่ได้จากลำโพงประเภทอิเล็กโทรสแตติก หรือพวกลำโพงโอเพ่นแบฟเฟิล (หรือเหมารวมๆ ว่าพวกลำโพงไม่มีตู้ก็ได้) ที่มีการกระจายเสียงกลับเฟสไปด้านหลังลำโพง เมื่อเซ็ตลงตัวดีแล้ว มักสามารถให้ความรู้สึกถึงความกว้างและลึกของรูปวงได้ดี เพียงแต่ว่าความรู้สึกถึงการชี้จุดเฉพาะเป็น Pin Point อาจเป็นรองลำโพงที่มีมุมกระจายเสียงด้านหน้าอย่างเดียวเหมือนลำโพงมีตู้ทั่วไปที่มักให้ตำแหน่งที่ชัดเป๊ะเป็นจุดมากกว่า แต่ในคราวนี้ Karan KA M 900 ได้เพิ่มความเป็น Pin Point เข้ามาเพิ่ม แถมยังไม่ได้เรียวเล็กเป็นจุดจนรู้สึกว่าเล็กเกินจริงด้วย นับว่าน่าประทับใจดี ปิดท้ายด้วยแผ่นเสียง Boyd Pod ที่เพิ่งได้แผ่นใหม่ที่รีมาสเตอร์เป็นแผ่นคู่ เมื่อเอามาฟังเทียบกับแผ่นเก่าก็พบว่า KA M 900 สามารถแสดงความแตกต่างของคุณภาพสัญญาณที่ถูกบันทึกมาในทั้งสองแผ่นให้ได้ยินชัดเจนถึงคุณภาพที่มากขึ้น เอาแค่เสียงเอฟเฟ็กต์ตอนต้นเพลงแรกที่ทำเลียนแบบเสียงรัมเบิลของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ต่างกันคนละชั้นแล้วครับ ในแผ่นเก่าได้ยินเป็นเสียงรัมเบิลเบาๆ แต่ในแผ่นใหม่จะรับรู้ได้ถึงความถี่ต่ำๆ เหมือนที่เกิดจากรัมเบิลจริงๆ มากกว่าเยอะ เสียงชิ้นดนตรีต่างๆ ก็มีความกลมกลืน ควบแน่น มีความเป็นสามมิติมีเนื้อมีหนังขึ้นอย่างชัดเจน
สรุป
น่าเสียดายที่คราวนี้ KA M 900 มาช้าไปนิด เลยไม่ทันได้จับคู่กับลำโพงยักษ์ใหญ่ที่ต้องการกำลังขับเยอะๆ แบบ PMC MB2 XBD SE ไม่อย่างนั้นน่าจะมีอะไรเด็ดๆ ให้ได้เล่าสู่กับฟังอีกมากทีเดียว แต่เท่าที่ได้ลองอย่างจริงๆ จังๆ ก็พบว่า หากใส่ใจในรายละเอียดในการเลือกจัดอุปกรณ์ในทุกช่วงของระบบให้เข้าขากันได้ดีแล้ว Karan Acoustic KA M 900 เป็นแอมป์ที่เที่ยงตรง มีความทรงพลัง ที่สามารถเติมความเหมือนจริงเข้าไปในดนตรีที่ฟังได้เป็นอย่างดีทีเดียว. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 253
No Comments