ACOUSTIC ENERGY AE109
นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ :
Acoustic Energy เป็นผู้ผลิตลำโพงสัญชาติอังกฤษที่ดำเนินกิจการมากว่า30 ปีแล้ว ผมเคยสัมผัสกับลำโพงยี่ห้อนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน บริษัท เลเซอร์ คอนเนอร์ นำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งนับว่าเป็นลำโพงราคาไม่แพง แต่เสียงคุ้มค่ามากๆ สิ่งหนึ่งคือ ไดรเวอร์ที่ทำจากวัสดุอะลูมิเนียมแซนด์วิชทำให้ปั๊มเบสออกมาได้เกินหน้าเกินตาลำโพงอังกฤษในยุคนั้น สะใจโก๋กระเป๋าเบาอย่างผมเป็นอันมากครับ วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป จนกระทั่งล่าสุด บริษัท โคไนซ์ หรือ บ้านทวาทศิน ที่เป็นผู้นำเข้าเครื่องเสียง NAD และลำโพง NHT ก็ได้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายลำโพง Acoustic Energy ในประเทศไทย โดยระยะแรกเห็นมี Series 100 และ Series 300 ที่เข้ามาชิมลางดูก่อน
Acoustic Energy เป็นผู้ผลิตลำโพงสัญชาติอังกฤษที่ดำเนินกิจการมากว่า30 ปีแล้ว ผมเคยสัมผัสกับลำโพงยี่ห้อนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน บริษัท เลเซอร์ คอนเนอร์ นำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งนับว่าเป็นลำโพงราคาไม่แพง แต่เสียงคุ้มค่ามากๆ สิ่งหนึ่งคือ ไดรเวอร์ที่ทำจากวัสดุอะลูมิเนียมแซนด์วิชทำให้ปั๊มเบสออกมาได้เกินหน้าเกินตาลำโพงอังกฤษในยุคนั้น สะใจโก๋กระเป๋าเบาอย่างผมเป็นอันมากครับ วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป จนกระทั่งล่าสุด บริษัท โคไนซ์ หรือ บ้านทวาทศิน ที่เป็นผู้นำเข้าเครื่องเสียง NAD และลำโพง NHT ก็ได้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายลำโพง Acoustic Energy ในประเทศไทย โดยระยะแรกเห็นมี Series 100 และ Series 300 ที่เข้ามาชิมลางดูก่อน
AE109 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็ก (Slimline) ตัวไม่สูงนัก วัสดุที่ใช้และรูปทรง ดูน้อยหน้าลำโพงราคาแพงทั้งหลายเลย ตัวตู้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปาดมุมโค้ง บริเวณของลำโพงด้านบนปะผิวด้วยวีเนียร์ลายไม้ ไดรเวอร์สีดำ ขอบของไดรเวอร์ทุกตัวมีขอบโลหะสีเงินมันล้อมเอาไว้ทำให้ดูดีมีราคาขึ้นมาอีก ความพิเศษของลำโพงอยู่ที่ทวีตเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี Wide Dispension Technology (WDT) ซึ่งถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยี DXT Lens ในลำโพง AE รุ่นสูงๆ อย่าง Reference Series เทคโนโลยีนี้เสริมให้ทวีตเตอร์กระจายความถี่สูงออกไปได้อย่างเป็นระเบียบ ช่วยเพิ่มพื้นที่ของ Sweet Spot ทำให้เสียงเดินทางเข้ามาหาผู้ฟังได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องเพิ่มมุมกระจายเสียงให้กว้างขึ้นด้วยครับ ตัววัสดุที่ใช้ทำทวีตเตอร์เป็นซอฟต์โดมและมี Wave Guide ทรงปากแตรครอบอยู่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 มม. ส่วน มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวขนาด 4 นิ้ว ช่วงชักยาว ตัวแรกรับหน้าที่ขับความถี่กลางต่ำไปถึงเบสต้น ส่วนตัวที่สองทำหน้าที่ถ่ายทอดเบสต้นลงไปจนจบย่านความถี่ตำ ท่อระบายเบสรูปร่างแตกต่างไปจากลำโพงตู้เปิดทั่วๆ ไป กล่าวคือ เรามักเห็นท่อพอร์ตระบายเบสที่เป็นลักษณะกลม แต่ AE 109 มี Bass Port เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบ (Slot Port) เหมือนเป็นลำโพงประเภท Transmission Line แต่ก็ไม่ใช่ ผู้ออกแบบบอกว่าSlot Port ช่วยลดอาการขาดๆ เกินๆ ของเสียงกลางต่ำ และทำให้เบสสะอาด เนื่องจากกลางต่ำไม่ไปกวนเสียงต่ำจริงๆ ลำโพงจึงส่งเสียงได้เที่ยงตรงมากกว่า
ที่ผมแปลกใจคือ ตอนยกลำโพงออกมาจากกล่อง เพราะมันหนักเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ทีแรกนึกว่าไม้ที่ตีตู้มีมวลหนักแน่น แต่กลับกลายเป็นว่าเทใส่วัสดุถ่วงน้ำหนักไว้ที่ฐานของตู้ลำโพงเพื่อแดมป์การสั่นสะเทือน ลดการกระพือ และยังใส่สไปก์ที่ใต้ตู้ลำโพงได้ด้วย ผมว่าวิศวกรผู้ออกแบบมาถูกทาง เพราะการทำเช่นนี้ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นขนาดขี่ช้างจับตั๊กแตน และที่สำคัญ มันได้ผลจริงๆ เพราะตลอดเวลาที่เปิดฟังทดสอบ ผมพบว่าAE109 ให้เสียงเบสที่เคลียร์มากๆ
ขนาดของลำโพงสูง 80 ซม. กว้าง 16 ซม. ลึก 24 ซม. ค่อนข้างเตี้ยครับ หากวางกับพื้นโดยใส่สไปก์ในตำแหน่งที่ผมนั่งฟังเป็นประจำ จะต่ำกว่าหูเกินกว่ามาตรฐาน ผมเลยเอาขาตั้งเล็กของ Rezet ที่สูง 4 นิ้วมารองลำโพง (ถอดสไปก์ออก) ทำให้ได้ระดับความสูงที่พอดี AE109 จัดว่าเป็นลำโพงระบบสองทางครึ่ง วงจรตัดแบ่งความถี่เลือกจุดตัดที่ 2.3kHz อุปกรณ์ที่ผมเลือกมาใช้รวมในการทดสอบ คือ เครื่องเล่น SACD Marantz KI Pearl Lite / DAC LITE, อินทิเกรตแอมป์ TS Audio: C-3 MM และ CEC: 3300R C-3 RED ในคาบหลังได้เพิ่มซับวูฟเฟอร์ REL: T9 เข้าไปด้วย, สายลำโพง Zonotone 7700, สายสัญญาณ Virad
หลังจากที่ใช้แอมป์ TS Audio: C-3 MM นวดลำโพงอยู่ราว 20 ชั่วโมง ผมพบว่าลำโพงคู่นี้มีจุดเด่นที่ความสดใส จังหวะจะโคนถูกต้อง รายละเอียดดีมาก แต่เบสอ่อนไปนิด ในบางเพลงที่มีเสียงเครื่องลมทองเหลือง (Brass) และเสียงเคาะโลหะ อู้วหู้ว… มวลเสียงราวกับลำโพงค่าตัวหกหลัก เพียงแต่ปลายหางเสียงยังแข็งๆ ไม่พลิ้วไหวมากนัก (ก่อนหน้านั้น ผมฟัง B&W 703 S2 อยู่ครับ) เสียงกลางชัดเป๊ะ โฟกัสแม่นยำ อิมเมจเป็นรูปเป็นร่าง เวทีเสียงโดดเด่นทางกว้างมากกว่าลึก ตรงนี้ต้องขยายความว่าไม่ใช่ว่ามันจะไม่สำแดงเวทีเสียงทางด้านลึก เพียงแต่สมรรถนะในการโชว์เวทีเสียงด้านกว้างของมันโดดเด่นมาก ชนิดที่ไม่แพ้ลำโพงไฮเอ็นด์เลยแล้วกัน อ้อ… ผมลืมบอกไปครับ ว่าขั้วต่อสายลำโพงของ AE109 เป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์ไบดิ้งโพสต์พลาสติกแข็งเกรดทั่วไป ซึ่งถ้าคุณนึกซนจะโมดิฟายเปลี่ยนเป็นขั้วต่อทองเหลืองที่ทุ้มเยอะๆ หน่อย ก็เป็นความคิดที่เข้าท่า
เมื่อผมทดสอบกับเพลงร้องที่ฟังเป็นประจำ เช่น เพลง Live & Learn ของคุณกมลาสุโกศล หรือฟังเสียงของนักร้องชายหลายๆ คน ทั้งแผ่นออดิโอไฟล์และคอมเมอร์เชียล พบว่าทั้งเธอและเขาส่งเสียงออกมาได้ชนิดที่สาวและหนุ่มกว่าที่เคยฟังจากลำโพงคู่อื่นที่ผมเคยฟังมาอยู่นิดๆ อาการที่ว่านี่อาจจะเป็นเพราะแอมป์ที่ใช้ดันลำโพงมากเกินไป
ผมจึงทำการสลับแอมป์ไปเป็น CEC: 3300R C-3 RED คราวนี้ได้บุคลิกเสียงกลางที่อิ่มหวานของแอมป์เข้ามาช่วย ทำให้ฟังเพลงร้องได้มีความสุขมากขึ้น รายละเอียดยังดีอยู่เหมือนเดิม ลองฟังเพลงประเภทร็อกหนักๆ เพื่อข่มเหง และรีดเค้นประสิทธิภาพเรื่องการออกแบบจุดตัดของลำโพง ผมไม่พบอาการมัวซั่วหรือตีกลบกันเองเวลาที่นักดนตรีปล่อยของกันสุดเหวี่ยง กับเพลงซิมโฟนีออร์เคสตร้ารู้สึกว่ามันให้ความกว้างของสถานที่บันทึกเสียงออกมาได้ดีมาก เสียงเล็กเสียงน้อยต่างๆ สามารถปลดปล่อยออกมาได้หมด
สิ่งที่ผมอยากได้จาก AE109 อีกหน่อยคือ เบสย่าน 70Hz ลองฟังอัลบั้มชุดที่กลองหนักๆ แล้ว มันได้ยินหัวโน้ตครับ แต่การทิ้งตัวลงพื้นแล้วกระเพื่อมตามนี้ โรลออฟเร็วไปนิด ไม่หนักหน่วงเด็ดขาด นี่ผมกำลังเอามาตรฐานลำโพงระดับสุดโคตรมากัดกับมันอยู่นะเนี่ย เสียงแบบนี้ต้องบอกว่าอังกฤษแล้วล่ะครับ ไม่เน้นเบสใหญ่โตหนักหน่วง กลางสะอาดฟังชัดๆ รายละเอียดดี เวทีเสียงกว้างๆ เวลาเจอแอมป์เจ๋งๆ ลำโพงถึงกับล่องหนไปเลย AE109 มีคุณสมบัติที่ว่านี้
และแล้วก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องเปิดซับวูฟเฟอร์ REL T9 เข้ามาช่วยเพื่อดูว่าลำโพงตั้งพื้นราคาต่ำสองหมื่นบาทคู่นี้จะเป็นอย่างไร หลังจากลุกๆ เดินๆ ไปหมุนจุดตัดและระดับความดังที่ซับวูฟเฟอร์อยู่สองรอบ ผมก็นั่งฟังเพลงด้วยความสุขหูเป็นอย่างยิ่ง ตอนนี้ AE109 ถูกเติมเต็มด้วยฐานเสียงต่ำๆ ตั้งแต่ 65Hz ลงมาทุกอย่างครบหมด คงเหลือที่จะเว้นไว้ให้ติได้ก็แค่เสียงความพลิ้วไหวของเสียงแหลม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงราคาค่าตัวของมันแล้ว สามารถรับได้โดยไม่ต้องคิดมากเลยครับ ด้วยลักษณะของเสียงแบบนี้ รูปร่างหน้าตาชื่อยี่ห้อ และราคาขายที่ถูกเหลือเชื่อ ผมคิดว่าAcoustic Energy เป็นลำโพงที่น่าสนใจมาก มันสามารถนำไปใช้กับชุดโฮมเธียเตอร์ได้ 100% เลยครับ คุณจะได้ยินเสียงอันชัดถ้อยชัดคำมาจากตำแหน่งที่ถูกต้อง เวทีเสียงกว้างใหญ่ เพียงแค่หาซับวูฟเฟอร์ดีๆ มาแจมกับมันซักตัว รับรองว่าไม่ผิดหวัง
ในแง่ของการใช้ฟังเพลงมีข้อแนะนำอยู่บางประการที่ผมอยากจะเน้น คือ…
1. ต้องเพิ่มระดับความสูงด้วยการเสริมขาตั้งให้ลำโพง หรือติดแผ่นไม้หนาๆ สัก 2 – 3 นิ้วมาวางรองลำโพง เพื่อให้ทวีตเตอร์อยู่ในระดับหูของเราเวลานั่งฟัง
2. เนื่องจากลำโพงมีอิมพีแดนซ์ปกติ 4 โอห์ม ในบางคราว มันอาจลดลงไปเหลือ 1 – 2 โอห์มได้ ควรพิจารณาแอมป์ที่ดีพอสมควร ไม่งั้นฟังแล้วอาจเกิดอาการเวทีเสียงวูบๆ วาบๆ ได้
3. AE109 เป็นลำโพงที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาเหมาะกับผู้ที่ต้องการความจริง ไม่โปะเครื่อง-สำอางกันจนเยิ้มอะไรแบบนั้น ดังนั้น ไอ้อาการจีบปากจีบคอ ฉอเลาะน่ะคงไม่ใช่แน่ๆ แต่ถ้าหากคุณชอบฟังคุณภาพของต้นทางหรือแหล่งกำเนิดเสียงว่าเป็นอย่าไงไรแล้วล่ะก็ นี่เป็นลำโพงตัวเลือกในระดับที่ไม่ทำให้กระเป๋าสตางค์ฉีกครับ. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 252
No Comments