PMC TWENTY5.22
นักเขียน : ปฤษณ กัญจา :
ATL – Advanced Transmission Line และ Laminair เป็นนวัตกรรมที่ทาง PMC เน้นย้ำในเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานที่ยอดเยี่ยม จะว่าไปก็เหมือนเป็นจุดขายของลำโพง PMC นัยว่าด้วยการออกแบบที่สุดล้ำนี้ทำให้ลำโพง PMC สามารถถ่ายทอดเสียงย่านความถี่ต่ำได้ดีเยี่ยม และไม่เพียงเท่านั้น หากยังส่งผลดีมาถึงย่านความถี่ที่สูงขึ้นมาอีกด้วย
และหลังจากได้ฟังเสียงของลำโพง PMC รุ่น Twenty5.22 ผมก็ได้สัมผัสกับคุณงามความดีของ ATL และ Laminair ด้วยตัวเอง ซึ่งหลังจากคิดใคร่ครวญดีแล้ว ผมขอยกให้เป็นลำโพงสองทางวางขาตั้งที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่ผมได้ฟังภายในช่วงปีสองปีนี้ครับ
บ้าไปแล้ว
หลังจากเอาลำโพงวางบนขาตั้ง ต่อสายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีมาเข้าอินทิเกรตแอมป์ Cary Audio รุ่น SI300.2d ต่อสายลำโพงจากอินทิเกรตแอมป์มาเข้าที่ PMC: Twenty5.22 เสียบสายไฟของเครื่องเข้ากับปลั๊กพ่วง… จากนั้นก็เสียบเข้ากับเต้าไฟบ้าน แล้วทันทีที่เสียงออกมาจากลำโพง… บ้าไปแล้ว คือคำพูดที่แว้บขึ้นมาในตอนนั้น
ปฏิบัติการต่อมาของผมก็คือ ค้นแผ่นซีดีออกมากอง เริ่มจากแผ่นซีดีที่เป็นแนวเพลงฟังยาก ไม่คุ้นเคย และหยิบมาฟังน้อยครั้งมาก เพราะเอามาฟังทีไรก็ไม่สบอารมณ์ทุกครั้งไป ตัวอย่างของอัลบั้มเหล่านั้นก็เช่น… The Introductory Sampler สังกัด Asean Records, The Water Sings สังกัด Thomasso Records, Peiju Lien – Whisper สังกัด M.A Recordings, แทร็กที่ 5 Eclipse อัลบั้ม Best Sound Selection – Okihiko Sugano Recording Works – Stereo Sound Reference Record แผ่นซีดีที่จัดทำโดยนิตยสาร Stereo Sound ประเทศญี่ปุ่น
งานเพลงเหล่านี้บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีพื้นถิ่นของแต่ละประเทศ นำเสนอดนตรีพื้นบ้านที่ผมไม่คุ้นเคย หรืออย่างอัลบั้ม The Water Sings ก็เป็นดนตรีในแนวปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ซึ่งใช่ว่าจะฟังเอาความไพเราะอะไร
ดนตรีทั้งหมดทั้งมวลที่ยกตัวอย่างมานี้ ผมคิดว่าต้องการองค์ประกอบที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้สามารถเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการนำเสนอ ผมครอบครองแผ่นซีดีเหล่านี้มานานพอสมควร แต่ยังไม่เคยฟังทีเดียวจบแผ่น หรือแม้แต่เปิดไปแทร็กเดียวก็ยังฟังไม่จบ ทว่าพอได้ PMC: Twenty5.22 มาฟัง ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง…
การออกแบบ
บอกตรงๆ ว่า ผมไม่ค่อยอยากจะเขียนถึงเรื่องราวในส่วนการออกแบบนี้สักเท่าไหร่ เพราะในเว็บไซต์ของ PMC มีรายละเอียดอธิบายไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ดังนั้น จุดที่ผมจะเขียนถึงนี้จึงเป็นการวกกลับมาจากสิ่งที่ผมได้สัมผัสกับคุณภาพเสียงของ PMC: Twenty5.22
โดยส่วนตัว ผมสรุปของผมเองว่า การออกแบบลำโพงจะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องหลักๆ คือ… เริ่มจากส่วนที่เป็น Mechanic ก็พวกไดรเวอร์ต่างๆ ถัดมา Electronics ก็คือ Crossover Network ส่วน Acoustics ก็เกี่ยวกับตัวตู้
ทีนี้ในทางปฏิบัติ… ปริมาตรตัวตู้จะมีความสัมพันธ์กับขนาดของไดรเวอร์ เพื่อให้ไดรเวอร์มีพื้นที่ทำงานอย่างเหมาะสม ต่อไปก็คือ การออกแบบ Crossover Network ให้สัมพันธ์กับตัวตู้และไดรเวอร์ วนไปเวียนมาเป็นสามประสาน สุดท้าย… ถ้าการออกแบบทำได้สมบูรณ์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ลำโพงที่ถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาได้ดี… จริงหรือเปล่า? เพราะถ้ามันง่ายแบบนั้น เราก็น่าจะมีลำโพงเสียงดีเต็มบ้านเต็มเมืองใช่ไหมครับ
ย้อนกลับไปตอนที่ผมฟังเสียงของ PMC: Twenty5.22 ณ เวลานั้น ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ มันเหมือนกับผมอยู่ในสถานที่แสดงดนตรี เสียงที่ได้ยินเกิดจากวงดนตรีที่บรรเลงให้ฟัง แผ่นไหนบันทึกเสียงมาดีก็เห็นนักดนตรีชัดเจนทุกคน ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่กำลังเล่นชัดเจน เบสจะมากจะน้อยก็รับรู้ได้หมด ผมไม่ใช้คำว่าลำโพงล่องหน เพราะที่ยินได้มันเหนือกว่านั้น
เมื่อเป็นดังนี้ ผมจึงย้อนกลับมาดูเอกสารที่ทาง PMC แนบมาในกล่องลำโพง ซึ่งก็ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงประเภทของไดรเวอร์ อาทิ Bass unit ที่เรียกว่า g-weave (a resin-bound, fine-weave glass fiber and pulp hybrid cone) ไดรเวอร์ตัวนี้มีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่ากรวยกระดาษ และไม่มีบุคลิก ดังนั้น เสียงที่ถ่ายทอดออกมาจึงเป็นเสียงของดนตรี ไม่ใช่เสียงของลำโพง … นอกจากนั้นก็มีทวีตเตอร์ที่ PMC ร่วมมือกับ Seas ในการพัฒนา เป็นทวีตเตอร์แบบซอฟต์โดมขนาด 27 มม. ผลิตจากวัสดุที่มีชื่อเรียกว่า Sonolex ซึ่งทวีตเตอร์ตัวนี้สามารถตอบสนองความถี่สูงได้ดีและให้เสียงที่ราบเรียบนุ่มนวล จากนั้นก็เป็นตัวตู้ที่ด้านหน้าลาดเอียงไปด้านหลังเล็กน้อย ส่วนด้านหลังของตู้จะเอียงมากกว่าด้านหน้า ผมว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเสียงที่ชัดเจน เพราจะไม่เกิดเรโซแนนซ์ภายในตู้ ซึ่งจะมาบดบังความชัดเจนของเสียงที่ถ่ายทอดออกมา สำหรับการออกแบบ Crossover Network บอกได้ว่าจัดเต็ม เหมาะสม และลงตัว ตัดความถี่ที่ 1.8kHz การออกแบบวงจรและการเลือกใช้อุปกรณ์ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าจุดอื่น คือเป็นที่ทราบดีว่า ลำโพงระดับไฮเอ็นด์ระดับ Exotic นั้น จะมี Crossover Network ที่อลังการมาก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพเสียงว่าจะออกมาเป็นอย่างไร สำหรับ PMC ก็ทำแบบเดียวกับลำโพงไฮเอ็นด์ ซึ่งแน่นอนว่าจากที่ได้ฟังเสียงของ Twenty5.22 ถือว่า… การออกแบบ Crossover Network ของลำโพงรุ่นนี้บรรลุถึงวัตถุประสงค์อย่างสมบูรณ์
ปิดท้ายเรื่องการออกแบบด้วยการพูดถึงเรื่องของ ATL และ Luminair ในภาพรวมกันครับ ถ้าดูจากรูปประกอบ (เป็นของรุ่น Twenty21) จะเห็นว่าภายในตัวตู้จะแบ่งเป็นช่องทางเดินของเสียง แทนที่หลังจากไดรเวอร์ทำงานแล้ว อากาศจะถูกผลักออกที่ท่อด้านหน้าเลย แต่ระบบ ATL เสียงจะต้องเดินทางวนไปตามทางเดินนี้ก่อน จากนั้นจึงออกมาทางท่อ ตรงปลายท่อนี้จะมีชิ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นครีบทรงโค้งข้างหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งปลายท่อนี้มีชื่อเรียกว่า Luminair โดยจะเชื่อมต่อกับช่องทางเดิน ATL ทั้งสองส่วนจะทำงานประสานกัน คือเมื่ออากาศออกมาจะถูกรีดให้พุ่งตรงออกจากลำโพงอย่างรวดเร็ว จะไม่มีอากาศมาหมุนวนตรงปลายท่อที่เป็นสาเหตุหนึ่งของเสียงที่ขาดความชัดเจน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ว่านวัตกรรมสองส่วนนี้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของลำโพงดีขึ้นมากจริงๆ
ในความเป็นจริง ผู้ผลิตสามารถคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรก็ได้ที่จะนำมาใช้กับลำโพง เพื่อให้ลำโพงทำงานได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่า ความคิดของผู้ผลิตจะสัมฤทธิ์ผลหรือสอบตก ก็อยู่ที่คุณภาพเสียงที่ลำโพงถ่ายทอดออกมานั่นเองครับ ในกรณีของ PMC ถือว่า… สอบผ่านฉลุย แถมยังได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยครับ
HIGH DEFINITION SOUND
ในวงการเครื่อง เรามีศัพท์เทคนิคมากมายเพื่อใช้อธิบายคุณลักษณะของเสียงที่ได้ยิน กับลำโพงบางคู่ ฟังแล้วก็นึกภาพไม่ออกว่า เสียงที่ได้ยิน มันใช่อย่างที่ศัพท์ว่าไว้หรือเปล่า… แต่สำหรับ PMC: Twenty5.22 ด้วยคุณสมบัติที่มีความชัดเจนเป็นพื้นฐาน มันจึงง่ายที่เราจะเข้าใจคุณลักษณะของเสียงที่อธิบายด้วยศัพท์ต่างๆ เหล่านั้น
นอกจาก 4 อัลบั้มที่ผมได้ยกตัวอย่างในช่วงต้นไปแล้ว อัลบั้ม TIME+กาล ของ อาจารย์ไข่ วินัย โสตถิพันธ์ เป็นอีกอัลบั้มหนึ่งที่ผมฟังแล้วเทใจให้กับลำโพงคู่นี้ ดนตรีแจ๊สสามสี่ชิ้น บันทึกเสียงพร้อมกันหมด โดย คุณวู้ดดี้ สราวุธ พรพิทักษ์สุข ถูกย้ายมาเล่นในห้องฟังต่อหน้าผม นี่เป็นการฟังอัลบั้มนี้ครั้งที่ดีที่สุด และยิ่งทำให้เห็นถึงคุณค่าของอัลบั้มนี้ เครื่องดนตรีทุกชิ้นถูกถ่ายทอดออกมาเหมือนวันที่บันทึกเสียง (ผมอยู่ด้วยเพลงหนึ่ง) บรรยากาศของสถานที่บันทึกเสียง เสียงอะคูสติกเบสของอาจารย์หลง เสียงกลองของอาจารย์คม เสียงแซ็กโซโฟนของอาจารย์ปรินซ์ และเสียงเปียโนของอาจารย์ไข่ มันสด มีชีวิตชีวา สปีดของเสียงที่ออกมาจากลำโพงมีความสมจริงมาก แม้สเกลของเสียงไม่ได้ใหญ่เหมือนลำโพงขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เล็กจนทำให้ขาดความสมจริงไป เสียงความถี่ต่ำมีมากพอที่จะไม่กังขาว่า เครื่องดนตรีที่อาจารย์หลงกำลังเล่นอยู่นั้น คืออะคูสติกเบส เสียงกลองชุดไม่จุ๋มจิ๋ม เสียงแซ็กมีมวลอิ่ม เสียงเปียโนกังวานทอดยาวหายไปช้าๆ เสียงเหล่านี้ก็อย่างที่ผมบอก เหมือนไม่ไช่ฟังจากลำโพง และไม่ใช่ลำโพงล่องหน แต่เหมือนนักดนตรีมาเล่นในห้องจริงๆ ซึ่งคุณสมบัติแบบนี้ ผมเคยสงสัยเวลาอ่านบททดสอบเครื่องเสียง ว่ามันเป็นอย่างไร ทว่าตอนนี้ ผมเข้าใจแล้วครับ
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมไม่ได้สนใจซิสเต็มเสียด้วยซ้ำรวมไปถึงไม่สนใจลำโพงเช่นกัน เพราะตอนที่เสียงดนตรีดังขึ้น จุดที่สนใจคือดนตรีที่ดึงผมเข้าไปหา ซึ่งพอมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้มากความ เพราะการที่บอกเล่าว่ามีวงดนตรีมาเล่นในห้องก็มากพอแล้วครับ
สรุปแบบกระชับๆ นะครับ… PMC: Twenty5.22 เป็นลำโพงที่ตอบสนองฉับไว ไม่มีอาการอั้นใดๆ หมายถึงมีไดนามิกเฮดรูมที่กว้างมากๆ เบสดีมาก กลางดีมาก แหลมดีมาก ในอาณาบริเวณที่มีเสียงของลำโพงอยู่มีความชัดเจนมาก ไม่มีหมอกมัวใดๆ ถ้าจะมีหมอกมัวหรือฝ้าก็มาจากที่บันทึกในแผ่น คุณหยิบอัลบั้มไหนมาฟังก็จะเป็นเสียงของอัลบั้มนั้น แนะนำให้ใช้แอมป์กำลังขับสูงๆ หน่อย อย่างครั้งนี้ ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ Cary Audio รุ่น SI300.2d ซึ่งก็ดีมาก แถมผมยังบอกไม่ได้ด้วยว่า อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้มีบุคลิกเสียงเป็นยังไง เพราะมันถูกกลบด้วยเสียงดนตรีเช่นเดียวกัน
PMC: Twenty5.22 เป็นลำโพงที่ดีมากๆ เป็นลำโพงที่ผมอยากได้มากๆ ถ้าได้เป็นเจ้าของลำโพงคู่นี้ ผมจะทำงานอย่างมีความสุขอีกมหาศาลเลยครับ. ADP
ราคาพิเศษ 110,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
HIGH END GALLERY – THE NINE ถ.พระราม 9 โทร. 02-716-7934
HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER 1st FL โทร. 087-070-1685
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 251
No Comments