CLASSY JAZZ แจ๊สในความเป็น CLASSY RECORDS
นักเขียน : ปฤษณ กัญจา :
ในแวดวงผู้ผลิตเพลงไทยยุคนี้ ชื่อของ Classy Records ถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของวงการ เมื่อนับจากผลงานที่มีออกมาสม่ำเสมอ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวงการเพลง เพลงของ Classy Records ฟังง่าย มีความไพเราะ และพิถีพิถันในการสร้างงาน ฉะนั้น จึงมีแฟนเพลงประจำที่เฝ้าติดตามผลงานของศิลปินในค่าย Classy Records อย่างต่อเนื่อง
นอกจากเพลงพ็อพฟังสบายๆ แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง Classy Records ก็ได้สร้างานดนตรีที่ความเป็นแจ๊สอยู่ด้วย ไม่ว่าจะอัลบั้ม “Jazz Reminiscence”, “JAZZเดี่ยว” ปั่น – ไพบูลเกียรติ เขียวแก้ว และ less is more ของ Tuck & Jo (ตั๊ก กะ โจ้) ซึ่งบุคคลผู้อยู่เบื้อง หลังทั้งสองอัลบั้ม และมีภาพของความเป็นคนแจ๊สที่ชัดเจน ก็คือ… โจ้ – นรินทร์พันธุ์ ปัณฑรวงศ์ ซึ่งในอดีตได้เคยฝากผลงานแนวแจ๊สที่เป็นที่จดจำอย่าง Event of Love I – แจ๊ส 12 เสียง (2547), Event of Love II (2549) และ Jazz After Hours (2550)
ปีนี้ โจ้ – นรินทร์พันธุ์ ปัณฑรวงศ์ ได้ร่วมกับ แจ็ค รัสเซล เปิดค่ายเพลงใหม่ใต้ชายคาเดียวกันกับ Classy Records ในชื่อ “Classy Jazz” เพื่อสร้างสรรค์งานดนตรีที่เป็นแจ๊สให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถือเป็นการกระจายกำลังรุกตลาดวงการเพลงไทยที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดยหลังจากเปิดตัวก็ได้แนะนำงานเพลงใหม่ออกมา 2 อัลบั้ม คือ… “JAZZOCIATION” ที่นำนักร้องมากคุณภาพมากมายมาร่วมกันถ่ายทอดเสียงร้องในแนวเพลงแจ๊ส และ “Too Hard to Forget” ของวง Triple J. Jazz Trio งานดนตรีแจ๊สคุณภาพระดับหัวกะทิ จากนักดนตรีชั้นแนวหน้าของเมืองไทย คือ… ไพรัช ลูกจันทร์ (เจมส์) – เปียโน, วัชรินทร์ ลูกจันทร์ (จิ๊บ) – เบส, ชัชชัย โยธีเสวต (โจ) – กลอง
Classy Jazz จะก้าวไปในทิศทางใด วางแผนงานในอนาคตไว้อย่างไร? และมีอะไรน่าสนใจในผลงานของพวกเขา… โจ้ – นรินทร์พันธุ์ ปัณฑรวงศ์ และสมาชิกวง Triple J. Jazz Trio จะมาเล่าให้พวกเราฟังกันครับ
โจ้ นรินทร์พันธุ์ ปัณฑรวงศ์
แนวคิดในการแยกมาเป็น Classy Jazz
จริง Classy Jazz ก็คือ Classy Records เพียงแต่ว่า Classy Records เริ่มต้นโดย คุณแจ๊ค รัสเซล ใช่ไหมครับ ผมก็เริ่มมาด้วยกัน ทีนี้งานที่ออกมาก็จะปะปนกันอยู่ คือส่วนใหญ่เป็น Easy Listening แล้วก็มีแจ๊สปนอยู่บ้าง รู้สึกว่าบางทีคนก็งงๆ ก็เลยคุยกับคุณป๊อก ว่า… วันนี้ Classy Records มาถึง 6 ปี 7 ปีแล้ว เราแยกเซ็กชั่นออกมาไหม ให้มันชัด แต่เราก็คือ Classy Records เหมือนเดิม เพียงแต่แยกมาดูแลอีกส่วนให้มันชัดไปเลย ทำโปรดักส์ให้ชัด พูดง่ายๆ แยกมาเป็น Classy Jazz โดยที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตผลงานด้านแจ๊ส แล้วก็จะผลักดันคนทางด้านแจ๊สที่มีฝีมือ ความคิด และทัศนคติที่ดีให้เกิดผลงานขึ้น
ที่ผ่านมา ตลาดคนฟังที่เป็นแจ๊สจริงๆ ในบ้านเรา มีปริมาณมากพอไหม เมื่อแยกออกมาเป็น Classy Jazz แล้ว จะมีกลุ่มผู้ซื้อหรือเปล่า
ผมค้นพบว่า ตอนเป็น Classy Records คนที่เขาฟัง Easy Listeningหรือในกลุ่ม Classy Records บางคนก็ไม่ได้ฟังงานแจ๊ส คือดนตรีเป็นเรื่องของความชอบ มันบังคับกันไม่ได้ เขาชอบแบบนี้ บางคนชอบแจ๊ส อย่างผมชอบแจ๊สก็อาจจะไม่ฟัง Easy Listening เท่าไหร่ แต่ว่าเราฟังได้ไหม เราก็ฟังได้ และก็เข้าใจว่างานแบบนี้มีคุณค่าสำหรับคนกลุ่มที่เขาชอบ ฉะนั้น เรารู้สึกว่าเราถนัด เราชอบที่จะอยู่ในกลุ่มแจ๊สที่เป็นตัวตนของเรา เราอยากนำเสนอตรงนี้ เราก็ทำตรงนี้ดีกว่า ชัดเจนกับมัน ส่วนกลุ่มผู้ฟัง คือผมว่า ทุกวันนี้คนฟังแจ๊สในเมืองไทยเริ่มเยอะขึ้น เริ่มเปิดใจเปิดหูกันมากขึ้น ที่พี่บอกว่า โลกแคบลง เทคโนโลยีโซเชียลอะไรต่างๆ หรือแม้แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนมหาวิทยาลัย เรียนแจ๊สโดยตรงเลยก็เยอะ ซึ่งผมก็รู้สึกว่า กว่าเราจะชอบแจ๊ส มันก็ต้องฟังเพลงตกผลึกมาสักพักหนึ่ง ช่วงอายุ 20 กลางๆ 20 ปลายๆแต่บางทีเด็กพวกนี้เขาเริ่มต้นแล้ว หรืออาจจะด้วยเพราะผมว่า ช่วงหนึ่งที่คนได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 เยอะด้วย ท่วงทำนองลีลาเพลงของพระองค์ท่านก็เป็นในแนวทางแจ๊สคลอไป ทำให้อาจจะมีการเปิดรับกันมากขึ้น เราก็ทำออกมาเราชัดเจนตรงนี้ แล้วเดี๋ยวการตลาดก็ค่อยเคลื่อนไป ลองดูว่าเหมือนกับกรองคนเข้ามาสนใจผลงานเราได้ขนาดไหน
แวดวงดนตรีแจ๊สในระดับสากล ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับผมว่าข้อดีของแจ๊สอย่างหนึ่งคือว่า จริงๆ ไม่เฉพาะแนวแจ๊สนะ แนวอื่นด้วยบางทีเราก็ยังฟังเพลงยุคเก่าๆ คือพอถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าดนตรีแนวไหน มันแตะคำว่าคลาสสิก หรือเป็นงานที่ดี มันก็ฟังได้นาน และผมก็ฟังยุคนั้นอยู่ แล้วก็รู้สึกว่า เออ พอเพลงมันใช่กับบรรยากาศ เปิดเมื่อไหร่มันก็ได้เหมือนกัน ข้ามข้อจำกัดเรื่องเวลาไปแจ๊สมันก็เคลื่อนตัวเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่เขาเริ่มรู้สึกว่า มันเล่นซ้ำๆ กันแล้วมันเหมือนวิวัฒนาการที่น่าจะสวิงจากนิวออร์ลีน สวิงมาบิ๊กแบนด์ พอเริ่มเบื่อ
ก็เริ่มมา ชารลี ปาร์คเกอร์ ที่เป็นช่วง After hour ที่มาเล่นกัน ช่วงนั้นเป็นบีบ็อบ พอบีบ็อบมาถึงจุดหนึ่งปั๊บ ก็มาเกิดคูลขึ้นมา ยูเล่นกันร้อนแรงเกินไปงั้นเล่นแบบคูล เล่นแบบช้าๆ แบบพวกยุค Miles Davis ยุค Chet Baker, West Coast Jazz จนกระทั่งผมว่าปัจจุบันกลายเป็นลูกผสมเยอะอะครับ คือพอเมนสตรีมสแตนดาร์ดมาถึงทางตันจุดหนึ่ง ผมว่าทุกคนก็มา ก็สวิงอีกละ ก็สแตนดาร์ดงี้อีกละ เท่าที่ผมศึกษานะครับ ช่วงหลัง ก็มีผสมกับดนตรีแนวอื่นแนวโซล แนวฟังก์ แนวพ็อพ แนวร็อก คันทรี อะไรเต็มไปหมดเลย อยู่ที่ว่าใครจะครีเอตออกมายังไงแจ๊สมันค่อนข้างอิสระ
ทุกวันนี้ก็ยังมีศิลปินแจ๊สหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นใช่ครับ อย่างคนนี้ผมก็ชอบ เขาทำได้น่าสนใจEsperanza Spalding เขาผสมหลายอย่าง มันก็เก๋
ไปอีกแบบ ถึงเราจะไม่ได้ฟังเขาบ่อย เพราะว่ารสนิยมเราอาจจะออกไปทางใกล้คนมีอายุเยอะหน่อยฟังเมนสตรีม แต่เราก็ชื่นชมว่ามันเก๋ดี
อัลบั้มแรกของ Classy Jazz ที่ออกมา “JAZZOCIATION” คอนเซ็ปต์หลักๆ ของอัลบั้มนี้คืออะไรครับ
ย้อนไปสมัยที่ผมเลิกเล่นดนตรี ตอนนั้น ผมก็ไปเป็นพนักงานบริษัท แต่มาวันหนึ่งรู้สึกว่าดนตรียังอยู่กับเรา พอเรากลับมาสู่วงการนี้ คุณป๊อกเขาก็ยังเดินอยู่ เขาก็บอกว่าทำแบบนี้สิ เขาก็ใช้โมเดลลักษณะว่า เราโปรดิวซ์ เราแต่งเพลง แต่ว่ามี guest มาร้อง เพราะเราร้องเพลงไม่ดี ร้องเพลงธรรมดาก็เลยเกิดอัลบั้ม “Event of Love 1” – แจ๊ส 12 เสียง, “Event of Love 2” – Jazz After Hours หลังจากนั้นผมก็หยุดไป เพราะว่าครอบครัว ภรรยาคลอดลูกมีลูกก็หยุดไปดูแล พอกลับมาอีกที ทีนี้ก็เป็น Classy Records เริ่มจากอัลบั้ม “ความรัก ปากกา กีตาร์โปร่ง” แล้วมา “Classicnova” หลังจากนั้นผมไม่เคยทำอัลบั้มลักษณะโมเดลนี้อีกเลย ตอนนั้นก็ทำพี่ปั่นพีป่ นั่ กเ็ ปน็ ศิลปนิ คนเดยี ว ก็รสู้ กึ วา่ เราอยากมาทำลักษณะนี้อีกสักที สักชุดหนึ่ง เพราะว่าเราก็ห่างหายจาก Jazz After Hours มาสักประมาณ 10 ปี ก็เลยรู้สึกว่า เราลองนำเสนออย่างนี้ดีกว่า แล้วเราก็มีพี่ๆเพื่อนๆ น้องๆ นักร้องที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่จะมาจอยกันพอดี แล้วแต่ละคนก็อย่ใูนโทนที่ร้องเพลงพ็อพเพลงอะไร แต่ก็ชอบแจ๊ส อย่างพี่ปั่นที่มาชวนทำ“แจ๊สเดี่ยว” หรือแม้แต่ พี่อุ้ย, พี่ป้อม ออโต้บาห์น,พี่สุเมธ แกก็อยู่โทนๆ นี้ ฉะนั้น คนที่ดึงมาร่วมงานเป็นคนที่ร้องในโทนที่ถนัด แล้วก็อิงมาทางแจ๊สด้วยก็เลยสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
งานดนตรีของคุณโจ้ ค่อนข้างมีเอกลักษณ์มีลายเซ็น
จริงๆ ผมแต่งเพลงแบบพ็อพๆ อะไรอย่างนี้ก็ได้เพียงแต่ว่ามันเขิน เริ่มจากทำนองก่อนนะครับ เราก็เลยมองหา คือเราศึกษาแจ๊ส ได้ยินตัวโน้ตที่มันลึกแล้วมันสวย มันสวยแบบลึกๆ แล้วคิดว่าพวกนี้มีเสน่ห์มันอยู่ได้นาน บางทีเราฟังเพลงพ็อพ โดน ติดหูเลยปั๊บบางทีเราก็ไม่ฟังอะไรที่มันลึก มันน่าค้นหา ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ เราก็พยายามนำเสนอ บางทีรูปแบบนี้มันเริ่มจากทำนอง ทีนี้บางเพลงผมแต่งได้ก็จะแต่งแต่ว่าเพลงไหนผมคิดไม่ออก ผมก็จะให้คุณป๊อกแจ๊ค รัสเซล แต่ง หรือบางทีผมก็ส่งไปให้เขาดูเพราะเขามีประสบการณ์ในการแต่งเนื้อที่มากกว่าเราก็ดู เขาเปลี่ยนตรงนี้ ขยับคำนิดหน่อยจะได้สวยขึ้น คือตั้งใจเสนอให้มันลึกขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่งฉะนั้นมันก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้แต่ก็ไม่ได้อยากให้ลึกเกินไป และก็ไม่ได้อยากให้มันตื้นเกินไป เพราะถ้าลึกเกินไปแบบแจ๊สจริงๆ แล้วโอ้โห มันยากกว่านี้ มันจะเข้าถึงยากกว่านี้ และด้วยนักร้องที่รับเชิญมา ก็ไม่ใช่นักร้องแจ๊สแบบซีเรียสแจ๊สจริงๆ ฉะนั้น การร้อง การเฟรสซิ่งของประโยคการร้องมันก็จะอิงๆ ไปทางพ็อพหน่อย ก็ยังฟังง่ายอยู่
แพลนอัลบั้มต่อๆ ไปหรือยังครับ
ก็มีครับ วง Triple J. Jazz Trio เป็นวงทรีโอที่เล่นในแนวแจ๊ส ชุดนี้อาจจะเปิดตัวด้วยความป๊อปปูลาร์นิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นชุดแรกก็อยากให้คนเตะตา ไหนมีพี่ปั่น มีพี่อุ้ย มีพี่ป้อม ออโต้บาห์นมีพี่เมศ แต่ชุดนี้ผมก็ไม่รู้มาถูกทางหรือเปล่านะครับ(หัวเราะ) คืออยากให้ซีเรียสขึ้น แม้แต่ตัวผมเองผมก็มีข้อจำกัดในความลึกของดนตรีแจ๊ส เพราะว่าเราก็ศึกษาด้วยตัวเองมาตลอด ทั้งกีตาร์ ทั้งทฤษฎีทั้งการแต่ง การเรียบเรียง แต่กับว่าน้องๆ เจมส์มือเปียโน, จิ๊บ มือเบส และ โจ มือกลอง เขาเป็นสายนี้โดยตรง ก็เรียนมาด้วย เป็นอาจารย์กันทั้งหมด ฉะนั้น ในมิติความลึกของดนตรี เขาสามารถไปได้ลึกกว่าผม หมายความว่า ถ้าผมเรียบเรียงได้ลึกแค่นี้เขาไปได้ลึกกว่า แล้วเราก็รู้สึกว่า ตอนนี้ทุกวันนี้โลกมันเปิดแล้ว อันไหนของดีๆ คนสามารถเข้าถึงได้บางทีเขาก็เปิดรับด้วยซ้ำ เขาชอบ เพราะมันแตกต่างแล้วเรารู้สึกว่า ถ้าเราแจ๊สเนี่ยก็เอาให้มันสุดมากกว่านี้เลยละกัน ให้มันลึกกว่านี้เข้าไปอีก
ในหนึ่งปีจะมีผลงานกี่อัลบั้ม สำหรับ Classy Jazz
ปรึกษากับทาง Classy ใหญ่ คุณป๊อก แจ๊ค รัสเซล ไว้ว่าอยากจะมีสักสองครับ หรืออย่างน้อยถ้าไม่ทันจริงๆ ก็อาจจะสักหนึ่ง พยายามให้ทัน ก็ยากอยู่ครับ เพราะว่าอย่างที่ทราบกันอยู่ว่า รายได้ที่มาจากแผ่นฟิสิกคัลมันน้อย ถึงแม้ว่าเราพยายามหารายได้จากโชว์ ซัพพลายในตลาดมันก็เยอะ แนวแจ๊สก็อาจจะคนต้องการน้อยหน่อย แต่ว่าเราก็พยายามเดินอยู่
คุณโจ้มีอะไรจะเสริมไหมครับ ในส่วนของอัลบั้ม Jazzociation กับ Classy Jazz
เติมนิดหนึ่งครับ คนบันทึกเสียงเปียโนคือ เจมส์ส่วนจิ๊บก็เล่นเบส ตอนนั้นยังไม่เจอโจ มือกลองก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง ฉะนั้น สีของชุดนี้ก็จะได้ฝีมือของสองคนนี้คั้นออกมาค่อนข้างเยอะ ก็จะไม่เหมือนทีมเดิมที่ผมเคยใช้สมัยก่อน
TRIPLE J. JAZZ TRIO
ที่มาของ Triple J. Jazz Trio
คุณโจ้ นรินทร์พันธุ์: หลังจากบันทึกเสียง
Jazzociation ก็มาเจอกับจิ๊บที่ Classy Coffeeนี่แหละครับ ก็คุยกันว่า ผมมีโปรเจกต์อยากทำต่อน่าจะถึงเวลาแล้วนะ ที่เป็นเวลาของนักดนตรีแจ๊สที่ผมอยากสนับสนุนเพราะ 1. เราก็นักดนตรี 2. เรามองว่าอย่างทั่วโลก คนเขาก็สนใจความเป็นนักดนตรีภาษาที่เล่นผ่านชิ้นดนตรีของเขาออกมา แต่ว่าในเมืองไทยคนให้ความสำคัญเกี่ยวกับนักดนตีค่อนข้างน้อย คนไปให้ความสำคัญนักร้องอย่างเดียว บางทีฟังเพลงก็อาจจะฟังแค่เสียงนักร้อง เนื้อร้องทำนองดนตรีก็กลายเป็นตัวประกอบ ผมว่านักดนตรีที่เขาสามารถผลิตงานสร้างสรรค์งาน แล้วก็เล่นออกมาได้น่าสนใจก็มีมีเยอะ เลยมองว่าถึงเวลาที่เราจะผลักดันในลักษณะอย่างนี้ อาจารย์จิ๊บก็ได้คุยว่า ทำไมพี่โจ้ไม่ลองดูโมเดลใหม่ๆ ผมก็บอกว่า ผมต้องรอ budgetในการหมุนเวียน สมมติยอดขายชิ้นนี้ก็ต้องมาเพื่อที่จะสานต่อ เขาก็บอกว่าทำไมไม่คิดโมเดลอื่นๆ ซึ่งให้นักดนตรีมาเล่นแล้วมีส่วนแบ่งด้วยในนี้ ค่าจ้างอาจจะถูกหน่อย เออ… ถ้าอย่างนั้นน่าสนใจ ก็น่าจะไหว ก็ต้องขอบคุณอาจารย์จิ๊บด้วยที่เสนอมาวันนั้นก็เลยทำให้เรามองต่อไปได้เลย ไม่ต้องรอรอบ ก็วางโปรเจกต์กันเลยว่า เดี๋ยวจะเกิดวง Triple J. Jazz Trio ขึ้น ก็คิดว่า งั้นลองดูสิว่า ใครที่เป็นทีมที่แม่นกันที่สุด และคุ้นเคยกันที่สุด เพราะฉะนั้นก็ได้อาจารย์เจมส์ ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของอาจารย์จิ๊บ แล้วก็ได้อาจารย์โจ เป็นมือกลอง สามคนนี้คุ้นเคยกันมานาน แล้วก็ลองมาวางดูว่าอัลบั้มจะออกเป็นโทนไหน ยังไง เพลงอะไร ก็เลยเริ่มเดินโปรเจกต์ตั้งแต่วันนั้นมา
ในแง่ของดนตรี คอนเซปต์จะเป็นยังไงครับ
คุณโจ้ นรินทร์พันธุ์: เราอยากให้งานชุดนี้
เชื่อมโยงกับ Classy แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นเพลงบรรเลง และมีเพลงร้องอยู่ 2 เพลง จริงๆ เราปรึกษากันก่อนว่าจะมีกี่เพลง มีอัตราส่วนเพลงร้องเพลงบรรเลงเท่าไหร่ หรือจะบรรเลงหมดเลย ก็สรุปกันได้ว่ามี 9 เพลง เพลงร้อง 2 เพลง ร้องภาษาไทยหนึ่ง ภาษาอังกฤษหนึ่ง ตอนนั้นไม่อยากกวนน้องๆ เขามาก ผมกะว่าผมทำ น้องๆ แค่มาเล่น (หัวเราะ) สุดท้ายผมก็เลือกเพลง เป็นเพลงของ Classy ทั้งหมด 8 เพลง เพลงสแตนดาร์ดแจ๊ส 1 เพลง เพลง Classy ก็เป็นเพลงที่ผมแต่ง 4 เพลง ของ ป๊อก แจ๊ค รัสเซลแต่งอีก 4 เพลง แต่เจมส์เขาเสนอ ผมมีเพลงแต่งนะพี่จริงๆ ผมอยากเปิดให้ศิลปินคิดอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เราเกรงใจว่าเราก็ไม่ได้มีงบประมาณอะไรให้เขาเขาก็บอกไม่เป็นไรพี่ ไม่ต้องห่วงเรื่องนั้น ก็เลยกลายเป็นว่า เราก็มีอัตราส่วนเพลงของเจมส์ที่แต่งมา 2 เพลงซึ่งผมชอบ โดยเฉพาะเพลง Evening in Ayuthaya อันนี้มีเครื่องดนตรีไทยมาผสม ผมชอบมากตอนเขาส่งมาให้ฟังครั้งแรก โอ้ ว้าว เอาเลย เจ๋งมาก
อาจารย์จิ๊บเป็นเล่นดนตรีสำหรับบันทึกเสียงมานานหรือยังครับ
อาจารย์จิ๊บ: ถ้าบันทึกเสียงกับ Classy ประมาณ 6 ปีแล้วมั้งครับ
ตอนที่คุณโจ้มาคุยโปรเจกต์นี้ คิดอย่างไรครับ
อาจารย์จิ๊บ: อย่างแรกเลย ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับพี่โจ้อยู่แล้ว แล้วก็อยากทำงาน คือความเป็นตัวตนเรา อยากเสนอความเป็นตัวตนเราบ้าง พอพี่โจ้พูดมา ก็ตอบรับโดยไม่คิดอะไรเลย ให้ทำอะไรทำหมดครับ เพราะว่าอยากทำ อยากทำมาก
ในส่วนของอัลบั้มนี้ครับ นอกจากเล่นแล้ว ได้เรียบเรียงดนตรีไหมครับ
อาจารย์จิ๊บ: ส่วนมากเจมส์จะเป็นคนเรียบเรียง แต่ว่าเวลาเรียบเรียงเสร็จแล้ว เราจะมาซ้อมกันให้ตกตะกอนก่อน ทั้งสามคนจะช่วยกันปรับตรงนู้นตรงนี้ให้ดูเป็นเนื้อเดียวกัน มีการสื่อสารระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเนื่องด้วยดนตรีมันเป็นแจ๊สก็จะเน้นเรื่องนั้นเป็นส่วนมากครับ
ในอัลบั้มนี้ แจ๊สเป็นแบบไหนครับ
อาจารย์จิ๊บ: จะบอกว่ามีหมดเลยครับ มีทั้งที่เป็นสวิงจ๋าๆ ก็มี ที่เป็นละตินก็มี เป็นแบบ ECM ก็มี แล้วก็อื่นๆ เต็มไปหมดเลยครับ แต่ว่าสุดท้ายที่เราเคาะจริงๆ ก็คือ ความกลมกล่อมของเพลงต้องมี สุดท้ายคือความสวยงามต้องมี
ในฐานะที่เป็นคนเล่นเบส ความน่าสนใจของการเอาเพลงของ Classy มาเรียบเรียงและมาบรรเลงใหม่ เสน่ห์จะอยู่ตรงไหนครับ
อาจารย์จิ๊บ: ถ้าจะเอาเสน่ห์จริงๆ คนที่จะได้รับถึงเสน่ห์จริงๆ ก็คือคนที่เคยฟังเวอร์ชันเดิมมา แล้วมาฟังเวอร์ชันที่ทำเป็นเพลงบรรเลง คนที่ฟังทั้ง 2 อย่างจะได้ยินความแตกต่าง ว่ามันต่างกันยังไง มันสวยงามต่างกันยังไง แล้วก็เสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากถ้าเป็นเพลงร้อง คนที่ฟังโดยทั่วไปจะซึมซาบจากเนื้อหาของความหมายเพลงซะส่วนมากใช่ไหมครับ ซึ่งบางทีอย่างที่เอามาทำเป็นเพลงบรรเลง คือจากเพลงเนื้อร้องเป็นเพลงบรรเลง บางทีเมโลดี้มันไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะว่าเขาสื่อความหมายจากเนื้อร้องเป็นหลัก เราต้องมาทำฮาร์โมนีให้มันมีอะไรให้มากขึ้น ให้รู้สึกเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น เสน่ห์ก็จะอยู่ที่ตัดเรื่องความหมายเพลงออกไปเลย ความหมายของเนื้อเพลงที่เป็นภาษาไทยออกเลย แล้วก็มาซึมซับของความเป็นเมโลดี้ การเคลื่อนไหวของฮาร์โมนีคอร์ดน่าจะเป็นตรงนั้นซะส่วนมาก
ในอัลบั้มมีเพลงที่มีเบสเป็นพระเอกบ้างไหมครับ
อาจารย์จิ๊บ: มีโซโล่อยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นทีมเวิร์กมากกว่า เอาจริงๆ หน้าที่ของเบสจริงๆ คือเป็นแกนกลางครับ คือถ้าเบสจะทำหน้าที่ตรงนั้นหมด บางทีรอบๆ ข้างก็อาจจะโล่งๆ ไป ทำหน้าที่คุมอยู่ตรงกลางซะมากกว่า
อาจารย์โจ: เสริมนิดหนึ่งครับ ในวงแจ๊สเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดที่เรียนมา ศึกษามา ที่รับต่อกันมาจากผู้รู้ เครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดในวงแจ๊สคือ เบส ทั้งรักษา tempo จังหวะ ให้สไตล์เพลง ทั้งคอร์ด เบสเครื่องเดียวอยู่หมดครับ อย่างนักร้องร้อง ถ้าไม่มีเบสร้องไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีกลองร้องได้ ไม่มีเปียโนร้องได้ เพราะฉะนั้น เบสเป็นเครื่องที่สำคัญที่สุดในวงแจ๊ส
อาจารย์เจมส์ครับ ตอนที่จะต้องเอาเพลงของ Classy มาทำ มีภาพอะไรในหัวไหมครับคิดว่าต้องนำเสนอยังไงถึงจะน่าสนใจ
อาจารย์เจมส์: พี่โจ้ให้เพลงมาฟัง ให้มาเล่นในรูปแบบทรีโอครับ พี่โจ้ก็ทำการบ้านให้เราเยอะมาก ทั้งทำเดโม่ เขียนคอร์ดมา ซึ่งจริงๆ เราแทบไม่ได้ทำ อะไรเพิ่มเติม เราเล่นเลย มันก็จะมีความน่าสนใจอยู่ในฝีมือของแต่ละคนอยู่แล้ว รูปแบบของเปียโนทรีโอ มันจะต่างจากแจ๊สชนิดอื่น คือทุกเครื่องมีอิสระแล้วก็ต้องสื่อสารกัน อย่าง Keith Jarrett กับ Gary Peacock เขาก็ไม่มีการซ้อม สดกันบนเวที แล้วก็ตรงนั้นก็จะสื่อสารกันยังไง เหมือนแจมกัน แต่ก็ยังน่าสนใจ ส่วนผมเองเป็นคนชอบอะเรนจ์เพลงอยู่แล้ว การอะเรนจ์เพลง ทำเพลง ก็เอาจากพี่โจ้วางโครงมาให้แล้วครับ ก็อะเรนจ์ต่อไป พยายามแยกสไตล์เพลงให้มันกว้างๆ ไม่ใช่เล่นแจ๊สต้องสวิงหมด แต่ก็มีบ้างก็เป็นบัลลาด เป็นกรูฟ เป็นสมัยใหม่ คือเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ชอบ ที่เรียนรู้มา ที่ฟังเพลงและชอบ มาลงในอัลบั้มนี้
สไตล์ที่เป็นส่วนตัวของตัวเอง
อาจารย์เจมส์: ผมเป็นคนยังไง นิสัยยังไงชอบฟังเพลงยังไง มันก็จะออกมาในการเล่นนักดนตรีแจ๊สเป็นอย่างนี้หมดทุกคน คนที่ตกผลึกแล้ว ส่วนตัวผมเอง ผมชอบแคร์คนฟัง เพราะฉะนั้นการเล่นก็จะเล่นให้คนฟังเข้าใจ รู้สึกในแง่บวกมากกว่าการที่ปล่อยอะไรยากๆ ไปให้เขาฟังมากกว่าการเล่นกายกรรม (หัวเราะ) ผมจะคิดถึงคนฟังมาก
ชอบแนวแจ๊สแนวไหนเป็นพิเศษครับ
อาจารย์เจมส์: ชอบเป็นพิเศษจริงๆ ชอบเพลงร้องที่เป็นแจ๊ส เพราะว่าเพลงร้องยังมีความฟังง่ายอยู่ แต่ว่าเปียโนที่ accompany เพลงร้องเนี่ย จะสามารถเติมอะไรได้ ควบคู่ไปกับเพลงร้อง ที่มันไม่ฟังยากเกินไป คราวนี้เพลงร้อง ความสวยงามอยู่ที่การอะเรนจ์ ผมก็ชอบพวกการอะเรนจ์ เปลี่ยนคอร์ด เปลี่ยนริธึ่ม เปลี่ยนจังหวะ
ออกมาสวยงาม
อาจารย์เจมส์: ใช่ครับ ก็จะไม่เล่นอะไรที่มันรุนแรง หนักๆ ก็จะมีนักดนตรีแจ๊สบางคนไปทางนั้น เนื่องด้วยประสบการณ์เล่นเพลงร้อง แบ็กอัพนักร้องชาวไทย นักร้องต่างชาติก็เยอะ ก็จะชอบพวกฟังเพลงร้องเยอะ
คุณโจ้ นรินทร์พันธุ์: ขอเสริมนิดหนึ่งครับ จริงๆ พวกนี้เป็นงานศิลปะ คือทั้ง accompany คนร้อง หรือที่เขาเรียบเรียงกันมาเป็นทรีโอ คือผมมองดนตรีในมุมงานศิลปะ ซึ่งผมว่าตรงนี้มันค่อนข้างขาดในเพลงบ้านเรา คือเขามองกันแต่สำเร็จรูป อันนี้มันต้องใช้เวลา คือมองในแง่ศิลปะ มันมีคุณค่าอยู่แล้ว
อาจารย์โจครับ กลองในวงแจ๊สหน้าที่หลักๆ คืออะไร และสามารถสื่อสารแทรกออกมาในระหว่างเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ไหม
อาจารย์โจ: หน้าที่หลักของกลอง หรือ drumset ในวงแจ๊สก็แล้วกันนะครับ ไม่นับถึงทรีโอแจ๊ส หรือวงควอเท็ต อะไรอย่างนี้ หน้าที่หลักๆ ของมือกลองก็รู้อยู่แล้วว่า ส่วนมากคือการรักษา tempo ในความคิดผมจะรองลงมาจากมือเบสครับ คือผมต้องฟังเบสอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่เล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก เรียนดนตรีตั้งแต่เด็กอยู่แล้วก็สามารถฟังคอร์ดออก ฟังไลน์เบสออก ในส่วนของกลองในวงแจ๊สเป็นทักษะเรื่องเบสิก เรื่องพื้นฐานต่างๆ คือการสื่อสาร
มีโน้ตกำกับไหมครับ ว่ากลองต้องตีแบบไหน
อาจารย์โจ: ไม่มีครับ ไม่มีโน้ตฟิกซ์เลยครับ เพราะว่าที่บอกเลยว่าแจ๊สไม่มี จะไม่เหมือนเพลงพ็อพ หรือคลาสสิก อย่างตัวผมเล่นคลาสสิกตั้งแต่เด็ก อยู่ในวง BSO และก็อยู่ในวงดนตรีไทยที่เป็นของอาจารย์บรู๊ซ แกสตัน วงฟองน้ำ ผมก็เล่นมา แต่ทีนี้ในการที่ผมมาทำอัลบั้ม ผมคิดว่ามันแตกต่างจากประสบการณ์ที่ผมเคยเล่นแน่นอน
มันจะอัตโนมัติใช่ไหมครับ ว่าช่วงจังหวะไหน เราจะตีแบบไหน
อาจารย์จิ๊บ: อีกอย่างหนึ่งคือ 3 คนนี้เล่นด้วยกันมานานมาก จะรู้ว่าได้ยินแบบนี้ เดี๋ยวคนนี้กำลังจะทำแบบนี้ต่อไปจะรู้ทันทีเลย
อาจารย์โจ: พูดถึงแจ๊สจะต้องสวิง ตะดิ๊งๆๆ สำหรับผมเนี่ยไม่ใช่เลย ต้องรอติดตามเลย
เพราะฉะนั้นเล่นในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน
อาจารย์โจ: ไม่เหมือนครับ เล่น 10 ครั้ง อัดเพลงเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน
อาจารย์จิ๊บ: มันจะมีโครงบางอย่างที่กำหนดไว้ว่า ตรงนี้ต้องแบบนี้ ก็จะคงความสวยงามของความเป็นตัวเพลงนี้อยู่ แต่ว่าส่วนข้างในคือการคุยกันอย่างเดียว
จะคุยกันก่อนเล่นนิดหนึ่ง และที่เหลือก็ที่เขาเรียกว่า อิมโพรไวส์ คือตรงนี้เลยใช่ไหมครับ
อาจารย์โจ: ใช่ อิมโพรไวส์ไม่ใช่แค่โซโล่เดียว ทุกวินาทีตั้งแต่อินโทรยันจบ มันคืออิมโพรไวส์หมด
อาจารย์จิ๊บ: ยิ่งเป็นคนที่เล่นด้วยกันมานานๆ เขาจะเรียกว่าเข้าขากัน เหมือน 3 คนนี้คุยด้วยกันมานานแล้ว คุยยังไงก็น่าสนใจ
ตอนบันทึกเสียง เล่นพร้อมกันหมด การคอนโทรลระดับเบาดังของแต่ละคน ตรงนี้ซาวด์เอ็นจิเนียร์จะเป็นคนบอก หรือเราจะเป็นคนบอกซาวด์เอ็นจิเนียร์เอง
อาจารย์จิ๊บ: เราทำตั้งแต่ในห้องซ้อมครับ เพราะว่าเราได้ซ้อมกันมาก่อนช่วงระยะหนึ่งเลยกว่าที่จะมาอัดเสียง
อาจารย์โจ: เราก็ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน คือ 3 คนนี้เล่นสด สมมติเล่นในร้านกาแฟร้านนี้ ไม่ต้องมีไมค์ ไม่ต้องมีเครื่องเสียง เล่นเสียงสดๆ มาได้เลยกลมกล่อมครับ
อาจารย์จิ๊บ: เราเล่นมีไดนามิกกันอยู่แล้ว ไดนามิกที่แตกต่าง
บาลานซ์จะขึ้นอยู่กับนักดนตรี ซาวด์-เอ็นจิเนียร์ไม่ต้องมาคอยปรับอะไร
อาจารย์เจมส์: ไม่ต้องครับ อย่างโจเป็นมือกลองที่ตีเบา เบามากๆ ได้ดีมาก ซึ่งหายากตีเบามากๆ ห้องแค่นี้ยังตีให้ฟังเพราะได้
อัลบั้มนี้ใช้ชื่ออะไรครับ
อาจารย์โจ: Too Hard To Forget ครับ
คุณโจ้ นรินทร์พันธุ์: เอาชื่อมาจากเพลงไทย ชื่อเพลง “ยากเย็นสิ้นดี” ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม Even of Love 2
อาจารย์จิ๊บ: แล้วก็เล่นกันยากเย็นสิ้นดี
คุณโจ้ นรินทร์พันธุ์: แต่พอเพลงนี้จบแล้ว โอ้โห ลุกขึ้นแบบแสตนดิ้ง โอเวชั่น เลย
มีอะไรจะฝากถึงอัลบั้มนี้ไหมครับ
อาจารย์จิ๊บ: อย่างแรกคือเป็นอะไรที่อยากทำ อยู่แล้ว ด้วยความอยากทำก็จะเต็มที่กับมันมากๆ แล้วก็อย่างที่เราพูดกันถึงเมื่อกี้ เรามองในแง่ของคนฟังด้วย เพราะฉะนั้น มันจะไม่ได้ฟังยากจนเกินไป ไม่ได้ฟังง่ายจนเกินไป ยิ่งถ้าเป็นคนที่เคยติดตามเพลงของ Classy ก็จะได้ยินถึงความแตกต่าง สีสันที่ค่อนข้างชัดเจนของวงเรา. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 2ุ58
No Comments