MR. ICHIRO MIYAOKA PRESIDENT WESTERN LABO CO., LTD.
นักเขียน : ปฤษณ กัญจา :
สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจที่สนใจเครื่องเสียงของ WESTERN ELECTRIC เชื่อว่าคงจะเคยผ่านหูกับชื่อของ WESTERN LABO ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็น ผู้จำหน่ายเครื่องเสียงวินเทจของ WESTERN ELECTRIC ชื่อดังของวงการ และถ้าขยับเข้ามาใกล้ๆ อีกนิดก็น่าจะคุ้นหูกับ ชื่อเรียก “ซาโจ้ว” ที่นักเล่นเครื่องเสียงวินเทจบ้านเรามักเอ่ยถึง เวลาที่สนทนาเกี่ยวข้องกับเรื่องของ WESTERN LABO ซึ่งอันที่จริง “ซาโจ้ว” นั้น ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้เรียกแทนชื่อของ บุคคลที่เป็นผู้บริหารใหญ่ขององค์กร กรณี “ซาโจ้ว” ของ WESTERN LABO นี้ ชื่อจริงคือ MR. ICHIRO MIYAOKA ซึ่งเป็นประธานของบริษัท WESTERN LABO นั่นเอง
และในโอกาสที่ “ซาโจ้ว” มาเยือน WESTERN LABO BANGKOK ของคุณเจมี่ ศักดาธนิตธนาพัฒน์ จึงเป็นโอกาสอันดี ที่นิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ได้มีโอกาสพูดคุย หลังจากที่ได้ยินชื่อและเห็นรูปถ่ายจากทางเฟซบุ๊กมานาน
ก่อนจะมาเป็น WESTERN LABO
สมัยก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงใหญ่อยู่ 3 บริษัท คือ SANSUI, TRIO และ PIONEER ซึ่ง MR. MIYAOKA เคยเป็นพนักงานของบริษัท SANSUI นอกจากนั้นก็ยังเคยเป็น พนักงานขายเครื่องเสียงที่ย่านอากิฮาบาระ ซึ่งเป็นแหล่งขาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องเสียงของญี่ปุ่นด้วย ที่มาของ การเข้ามาในแวดวงเครื่องเสียงก็เพราะ MR. MIYAOKA ไม่ชอบ เรียนหนังสือ ถึงแม้ว่าในช่วงมัธยมปลายจะเรียนในโรงเรียนเทคนิค เรียนเกี่ยวกับไฟฟ้า ก็ยังไม่ชอบเรียน แต่ชอบแอบเอาหนังสือ เครื่องเสียงมาอ่าน ด้วยเหตุที่ชอบมาทางเรื่องไฟฟ้า เครื่องไฟฟ้า เครื่องเสียง ซึ่งสมัยนั้นเครื่องเสียงได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น พูดง่ายๆ ว่า MR. MIYAOKA บ้าเครื่องเสียงตั้งแต่หนุ่มๆ เพราะฉะนั้นเส้นทางชีวิตจึงมุ่งมาที่เรื่องเครื่องเสียงเป็นหลัก
แผ่นเสียงที่ใช้เปิดในผับ Blue Note ความกลมกลืนของสุนทรียภาพทางเสียงและรสสัมผัส
WESTERN LABO & WESTERN ELECTRIC
โดยส่วนตัว MR. MIYAOKA ชอบสินค้าของ WESTERN ELECTRIC มาก ตอนอายุ 22-23 ปี ก็ได้ซื้อหลอด WESTERN ELECTRIC WE-300B มาทำแอมป์ แล้วก็ซื้อ WESTERN ELECTRIC WE-555 และซื้อแอมป์ WESTERN ELECTRIC WE-86 จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่โลกของ WESTERN ELECTRIC เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ก็คิดว่าอยาก ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักสินค้าของ WESTERN ELECTRIC จะได้รู้ว่าเสียงดีมากๆ ก็เลยลาออกจากบริษัท มาเปิดกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ตอนนั้นอายุ 35 ปี ปัจจุบัน WESTERN LABO เปิดมาได้ 33 ปีแล้ว
สมัยนั้นสินค้าของ WESTERN ELECTRIC ที่อเมริกาขายไม่ค่อยดี แล้วสินค้าก็มีเหลือเฟือ ทิ้งเป็นขยะ MR. MIYAOKA ก็ไปดู และสงสัยว่า ทำไมสินค้าดีมากๆ แต่ทำไมไม่มีคนสนใจ อีกอย่างคนออกแบบให้กับ WESTERN ELECTRIC ก็ล้วนแต่เป็นอัจฉริยะทั้งนั้น ดังนั้นจึงแทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีสินค้าที่ดีมาก แต่ราคาถูกมากๆ เช่นนี้ ก็เลยเอานำมาขายในญี่ปุ่น ปรากฏว่าขายดีมาก แป๊บเดียวก็หมด เพราะมันถูกและดี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น ของการทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องเสียงที่เป็นของ WESTERN ELECTRIC
สินค้าส่วนใหญ่ของ WESTERN ELECTRIC ไม่ว่าจะเป็นดอกลำโพง ตัวโครงสร้างลำโพง หลอดสุญญากาศ หรือแม้แต่วงจร จะได้รับการจด สิทธิบัตร ในความเห็นของ MR. MIYAOKA บอกว่า… สินค้าของ WESTERN ELECTRIC ดีทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ หรือวัสดุที่นำมาผลิต
คอนเซ็ปต์ของ WESTERN LABO
MR. MIYAOKA บอกว่าไม่สนับสนุนเครื่องเสียงที่เป็นระบบดิจิทัล หรือเครื่องเสียงไฮเอ็นด์รุ่นใหม่ๆ จะเน้นเฉพาะที่เป็นเครื่องเสียงวินเทจ โดยส่วนตัวชอบเครื่องเสียงของอเมริกากับอังกฤษ แต่ที่ WESTERN LABO ก็มีเครื่องเสียงของญี่ปุ่นจำหน่ายด้วย เพราะยังมีความต้องการจากคนซื้อ
สำหรับนโยบายอีกอย่างหนึ่งของ WESTERN LABO ก็คือ ในกรณีที่ ลูกค้าซื้อไปอาทิตย์หนึ่งหรือครึ่งปี แล้วไม่พอใจสินค้า ก็จะคืนเงินให้ลูกค้า ทั้งหมด และนำสินค้ากลับคืนมา
เครื่องเสียงรุ่นที่ชอบ
อะไรที่เป็น WESTERN ELECTRIC ชอบหมด
กรณีที่ถ้าอะไหล่แท้ของเครื่องเสียงวินเทจรุ่นนั้นๆ หมดไป จะทำอย่างไร เพื่อจะให้ได้เสียงที่ใกล้เคียงของเดิม
ณ ตอนนี้ ข้อนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะ MR. MIYAOKA เก็บอะไหล่ไว้ มากพอสมควร แต่ในอนาคตยังไม่รู้ (555)
Concert Hall ของ Wetern Labo สำหรับใช้จัดกิจกรรมทางดนตรี วันเปิด Concert Hall มีแฟนคลับมาร่วมงานมากมาย
Wetern Labo Bangkok ด้านใน Wetern Labo Bangkok
ความเห็นต่อเครื่องเสียงวินเทจญี่ปุ่น
ในความเห็นส่วนตัวของ MR. MIYAOKA ถ้าใช้อุปกรณ์วัด เครื่องเสียง ญี่ปุ่นดีที่สุด แต่เวลาที่ฟังจะสู้ของอเมริกากับอังกฤษไม่ได้ ซึ่งเครื่องเสียง วินเทจอเมริกาจะมีลักษณะเสียงที่เปิดเผย ส่วนอังกฤษจะออกมาทาง นุ่มนวล แต่ตัวเลขเวลาวัดออกมาสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ คือถ้าฟังดนตรี เครื่องเสียง ของสองประเทศนั้นถ่ายทอดจิตวิญญาณได้ดีกว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะ มาจากเหล็กที่นำมาใช้ ญี่ปุ่นจะใช้เหล็กที่มีการผสมเพื่อไม่ให้เกิดสนิม ส่วนอเมริกากับอังกฤษจะใช้เหล็กที่บริสุทธิ์กว่า แต่ก็มีข้อเสียคือเกิดสนิม แต่ก็เป็นเฉพาะข้างนอก ข้างในไม่เป็น
คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่สนใจสินค้าของ
WESTERN ELECTRIC
ถ้ามีทุนน้อยให้เริ่มต้นจากการเก็บอะไหล่ แต่ถ้าให้ง่ายที่สุดให้เริ่มเล่น จากการเปลี่ยนหลอดให้เป็นของ WESTERN ELECTRIC ก่อน สำหรับลูกค้า ที่มีทุนมากให้เริ่มขึ้นไปอีกระดับ ไม่ว่าจะเป็น INPUT TRANSFORMER, OUTPUT TRANSFORMER, AMPLIFIER และลำโพง หรือเริ่มจากแอมป์ ของ WESTERN ELECTRIC ก่อน คู่ไปกับ PREAMPLIFIER อื่นๆ แล้ว ค่อยขยับไปทีละสเตป แต่ถ้ามีทุนพร้อมมากๆ ก็เล่นครบเซ็ตไปเลย. ADP
ขอขอบคุณ: คุณเจมี่ ศักดา ธนิตธนาพัฒน์, คุณฮิเดกิ โมริ, WESTERN LABO BANGKOK ที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลและภาพประกอบบทความ
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 2ุ69
No Comments