If music really matters ENJOY MUSIC WIRELESSLY ELECTROCOMPANIET RENA S-1 Wireless Streamer
นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :
…เพลานี้ เล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ มิดเอ็นด์ รวมถึงพกพาตัวกระจ้อยร่อย หายใจเข้าออกก็ต้อง Streaming Service ก็เพราะมีเพลงให้เลือกฟังแบบไม่สะดุด เสียงดี เล่นง่าย ได้ความสะดวก เพียงสั่งงานด้วยปลายนิ้วสัมผัส “ออเจ้าอย่าได้แชเชือน” ว่าใครเขาเล่นกัน ..อ่านหนังสือออก ใช้สมาร์ทโฟนเป็น เล่นโซเชียลอย่าง Facebook หรือ Line อยู่ทุกวัน Chat กับกิ๊กได้ ต้องเล่นเป็นสิ ใครว่ายาก ไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสดา แค่กูรู้ก็พอ… คิดดูสิ ถ้ายากนักใครจะเล่น ก็เพราะมันง่าย เสียงดี คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงเป็นที่นิยมกันทั่วโลกไปแล้ว ฟะรังคีเขาเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะในเครื่องเสียงบ้าน มีอยู่อึดตะปือนังตั้งแต่หลักพันยันหลักล้าน บ้านเราเองก็มีบริการทั่วทั้งพระนครเชียวนา…
ถ้าไม่ดีจริง ผู้ผลิตกี่สิบแบรนด์ รวมถึงผู้นำเข้า ฤาจะสั่งเข้ามาขาย ไหนลองหาดูหน่อยว่าแบรนด์ใดมีเครื่องเสียงแนว Streaming อยู่ในสายการผลิตบ้าง บอกเลยว่ามีอยู่โข ก็ในเมื่อ Streaming Service เป็นสื่อกระแสหลักของสื่อดนตรีไปแล้ว กินตัวไปเกิน 80% และคงยึดพื้นที่ไปเรื่อยๆ ไม่เล่นวันนี้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ นะขอรับ
การเชื่อมต่อแบบใช้สาย หรือ ไร้สาย (LAN/WLAN หรือ Wi-Fi) ได้เนียนไร้รอยต่อ เล่นตัวเดียว หรือหลายๆ ห้องในบ้านยุคนี้่ก็ทำได้หมด เล่นไฟล์ไฮเรสจาก NAS ได้ ฟังเพลงนับล้านอัลบั้มจากคลังแสงสุดขอบฟ้าจาก Cloud Service/Streaming Service มีอยู่โขให้เล่นอย่างจริงจัง มิใช่ของเล่น เล่นแล้วจะฟิน จนลืมสื่ออื่นไปเสียหมด
ความจริงออดิโอไฟล์ฉบับมกราคมก็ว่าด้วยเครื่องเล่นประเภทตัวเดียวกินรวบจากฝั่งอังกฤษไปแล้ว ฉบับที่ท่านกำลังถืออยู่นี้กำลังจะว่าด้วย Streamerคุณภาพสูงที่มากด้วยฟีเจอร์ ผลิตด้วยมาตรฐานเครื่องเสียงยุโรป ในราคาย่อมลงมาจากค่ายเครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากฝั่งสแกนดิเนเวียกันบ้างนะ ออเจ้า
ELECTROCOMPANIET
กำลังฟินไปกับ Decade มีเพลง NEMO จาก Nightwish วงร็อกแนวซิมโฟนิกเมทัล ชาวฟินแลนด์สแกนดิเนเวีย อยู่เชียว เพลงร็อกนี้ลุ่มลึกยิ่งนักนะ นึกขึ้นได้ว่า Electrocompaniet NEMO คือแอมป์รุ่นเรือธง โมโนบล็อก เสียด้วย ผมเองเคยเล่นแอมป์รุ่น AW120 ดูอัลโมโนจากค่ายเครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากนอร์เวย์ ดินแดนสแกนดิเนเวีย ถิ่นกำเนิดเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ เป็นแอมป์ที่มีสไตล์เสียงนุ่ม ให้รายละเอียดดีมาก
Electrocompaniet ก่อตั้งมาตั้งแต่ต้นยุค ’70s ในปี 73 ใน AES Conference งานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของ Transient Intermodulation (TIM) ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียความสะอาดบริสุทธิ์ของเสียงดนตรีในภาคขยาย เกิดงานวิจัยต่อยอดเป็นแอมป์ตัวแรกที่ป้องกันปัญหาของ TIM ได้ เป็นแอมป์ขนาดกำลังขับ 2 x 25 watts ต่อข้าง สร้างชื่ออย่างมาก แอมป์ตัวนี้ได้เปิดตำนานเครื่องเสียงสแกนดิเนเวียน มีเอกลักษณ์ที่ให้ความสงัด เสียงสะอาด เป็นธรรมชาติ โปร่งใส เกิดช่องว่างระหว่างตัวโน้ตชัด จนถึงปัจจุบันบริษัทมีอายุเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว มีดิสทริบิวเตอร์มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก แบ่งผลิตภัณฑ์เป็นสอง Product Line คือ… Classic Line และ EC Living Line แยกกลุ่มลูกค้ากันชัดเจน
EC LIVING. MAKES MUSIC LIVE. NO STRINGS ATTACHED…
เป็นที่ทราบดีว่า โลกของ Hi-Fi เข้าสู่ยุคของ Network Audio บริษัทเครื่องเสียงไฮเอ็นด์เก่าแก่ชั้นนำอย่าง Electrocompaniet ก็หาได้มองข้ามเทรนด์ของโลก ได้พัฒนา Hi-Fi PlayBack บนระบบเน็ตเวิร์กสู่ตลาด รองรับความต้องการของ Network Audio เทรนด์เครื่องเสียงใหม่ที่มาแรงฉุดไม่อยู่ โดยแยกเซ็กเมนต์ของสินค้ากลุ่มนี้ออกมาตั้งชื่อว่า “EC Living”ซึ่งยังคงรักษา DNA ของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากสแกนฯ ก็คือ Electrocompanietในแบบไลฟ์สไตล์อันเป็นที่นิยมนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบัน EC Living มีผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์กออดิโออยู่ 4 รุ่น คือ… RENA S-1, RENA SA-1, TANA L-1 และ TANA SL-1 โดยที่ทั้ง 4 รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่วิจัยพัฒนา ออกแบบ และผลิตในนอร์เวย์ทุกตัว ลุคหรูมีสไตล์ มีคุณค่า ดูได้นาน ออกแบบมาให้ใช้งานบนระบบไร้สาย WLAN เชื่อมต่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งรองรับและส่งข้อมูลครบวงจร สามารถใช้งานได้ทั้งแบบแยกเดี่ยวแต่ละชิ้น หรือนำมาพ่วงกับระบบเน็ตเวิร์กวงเดียวกันเพื่อใช้งานในฟังก์ชั่น multi-zone/multi-room ฟังเพลงได้นับล้านอัลบั้ม โดยไม่จำเป็นต้องตามล่าหาแผ่นเก็บให้รกบ้านเลยนะ… ขอรับ
EC Living Product Line ถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบไร้สาย จึงให้ความหลากหลายในการใช้งาน อัพเกรดเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบตามความต้องการของออเจ้า บังเอิญว่าพี่หมื่นได้เลื่อนไปเป็นออกญาก็จะยกระดับให้ EC Living เป็นชุดใหญ่ขึ้นได้โดยง่าย ต้องการการปรับแต่งนิดหน่อยเท่านั้น
มาดูสิว่ามีอะไรบ้าง
RENA SA-1 (Wireless Audio Streamer & Amplifier)เป็นสตรีมเมอร์ + แอมปลิฟายเออร์ในตัว กำลังขับ 75 วัตต์/แชนเนล คลาส Dแค่เพิ่มลำโพงเข้าไป 1 คู่ ก็สามารถกลายเป็นชุดเครื่องเสียงชั้นดีได้อย่างง่ายดาย
TANA SL-1 (Wireless Audio Speaker & Streamer) เป็น All-in-Oneคือเป็นลำโพงวางขาตั้งขนาดย่อมที่มีทั้งสตรีมเมอร์ที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลง + แอมปลิฟายเออร์ในตัว กำลังขับถึง 150 วัตต์ คลาส A/B และสามารถเพิ่มลำโพง (Add-On) ได้ด้วยนะ ออเจ้า
TANA L-1 (Wireless Audio Add-On Speaker) เป็นลำโพงแอ็กทีฟกำลังขับถึง 150 วัตต์ คลาส A/B แบบไร้สาย ที่นำมาเพิ่มเติมเข้ากับรุ่น TANA SL-1 เพื่อเล่นเป็นระบบเสียงสเตริโอ หรือเพิ่มโซนได้อีก เหมาะกับพี่หมื่นที่ชอบหมัดหนักมากๆ เชื่อมต่อกับอีกข้างไร้สายด้วย
RENA S-1 (Wireless Audio Streamer) ตัวสุดท้ายเป็นสตรีมเมอร์ หรือเพลย์เยอร์ ติดตั้ง DAC ในตัว 24-bit/192kHz DAC ทำงานที่ 32-bit floating-point DSP ที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงบนเน็ตเวิร์ก LAN/WLAN ตัวนี้จะไม่มีเพาเวอร์แอมป์ในตัว ซึ่งจะขอนำเสนอรายละเอียดต่อจากนี้
CHECK IN
RENA S-1 รูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าขอบโค้งมน ไม่มีปุ่มใดๆ เลย ไม่มีรีโมตไร้สายด้วย ก็เพราะแอพ หรือ Web Browser สั่งงานได้แหล่มกว่าเยอะ โครงสร้างอะลูมินั่มอะโนไดซ์เป็นสตริพสองชั้น ซึ่งถ้าเป็น SA-1 มีสามชั้น งานเนี้ยบมีให้เลือก 3 สี คือ… เงิน ดำและตัวที่ส่งมาทดสอบเป็นสีทองแดง ละม้ายคล้าย Mac Mini สัณฐาน กว้าง x ยาว x หนา (18 x 18 x 5 ซม.) ด้านบนตัวเครื่องเป็นวัสดุ Composite ผิวแบบ high-gloss black ที่ดูดี ส่วนด้านล่างเป็นวัสดุคล้ายยาง ด้านบนใช้วัสดุที่มิใช่โลหะเพื่อการเชื่อมต่อไร้สายนั่นเอง เมื่อแตะสัมผัสด้านบนจะปรากฏจอทัชสกรีนให้เห็นปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มปิด-เปิดเครื่อง ท้ายเครื่องถูกเจาะเป็นช่องเว้าเข้าไปเพื่อซ่อนสายจากการเชื่อมต่อจากภายนอก เช่น ภาคจ่ายไฟ รวมถึงขั้วต่อต่างๆ คือ…
- 1 x USB for external storage
- 1x S/PDIF TOSLINK input 1x S/PDIF COAX input
- 1 x Gigabit Ethernet (1000Mbps)
- 1 x Coaxial S/PDIF out
- 1 x Stereo analog output (3 mm jack) ถ้าลำโพง Active ของคุณ ช่องต่อเป็นแจ็คขนาด 3 mm ก็เสียบเข้าตรงๆ ได้เลย ส่วนถ้าจะต่อเข้ากับปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์ เห็นทีต้องใช้สายแบบ 3 mm jack to RCA ที่ปลายอีกข้างเป็น RCA ต้องเข้าใจว่า RENA S-1 ติดตั้งไว้ด้วยทั้ง Digital Input / Digital Output แต่ไม่มีAnalog Input มีเพียง Analog Output
WIRELESS CONNECTIVITY
จะเน้นที่คำว่า “Wireless” ที่ใช้กับ RENA S-1 ทำได้ ทั้งในส่วน “รองรับ” ไฟล์เสียงดิจิทัลเข้ามาในตัว และ “ส่งออก” ไฟล์เสียงดิจิทัลไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นผ่านทางระบบ Wi-Fi ไร้สาย ความสามารถในการรองรับไฟล์เสียงดิจิทัลเข้ามาในตัวนั้น เนื่องจากแหล่งเก็บไฟล์เพลง (music server)อาจมีหลายแหล่งที่สามารถดึงผ่านระบบเน็ตเวิร์กมาเล่นบนตัว Stremer ได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บน Local Network อย่างเช่น อยู่ใน NAS(Network-Attached Storage) ที่เชื่อมต่ออยู่ในวง LAN เดียวกัน หรือเป็นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ใน external USB storage ที่เสียบอยู่กับช่อง USB ของ S-1 หรือ แม้แต่ไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสก์ของคอมฯ ที่ต่ออยู่ในวงเน็ตเวิร์กเดียวกันกับ S-1 ด้วย นอกจากนั้นยังมีเซิร์ฟเวอร์หรือที่เก็บไฟล์เพลงอีกจำนวนหนึ่งอยู่บนCloud storage ของผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง เซอร์วิส เช่น TIDAL,Spotify, Qobuz, WimPรวมถึง Internet Radio นับพันสถานีจากทั่วโลก ซึ่งก็ถือว่าทั้งหมดนั้นเป็นแหล่ง iputs (หรือ source)ของ S-1 ทั้งสิ้น ที่สามารถดึงมาเล่นบนตัว RENA S-1 แล้วส่งผ่านไปที่ชุดเครื่องเสียงของคุณได้
AirPlay connecting ยังมีอีกแหล่งที่มาของสัญญาณอินพุต ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งอินพุตของ RENA S-1 นั่นคือ สัญญาณเสียงที่เพลย์แบ็กจากอุปกรณ์ไร้สาย iOS (iPhone, iPad, Mac) ซึ่งส่งมาที่ภาครับของ RENA S-1 ผ่านทางระบบ AirPlay นั่นเอง แตะลงไปที่สัญลักษณ์ AirPlay ซึ่งหากมีอุปกรณ์ของ EC Living ตัวอื่นอยู่ในวงเน็ตเวิร์กเดียวกัน จะปรากฏชื่อของอุปกรณ์ตัวนั้นเข้ามาอยู่ในรายชื่อที่ปรากฏให้เลือกเพิ่มขึ้น และคุณก็สามารถเลือกโซนฟังได้ตามใจชอบ
ความสามารถในการ “ส่งออก” (หรือจะใช้คำว่า “แชร์” ก็ได้) ไฟล์เสียงดิจิทัลไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นผ่านทางระบบ Wi-Fi ไร้สายนั้น อธิบายว่า RENA S-1 ทำตัวเยี่ยง Server สามารถส่งสัญญาณเสียงไปที่อุปกรณ์ของ EC Livingตัวอื่นๆ (RENA SA-1หรือ TANA SL-1) ได้ด้วยวิธีไร้สายเช่นกัน วิธีนี้จะทำให้ใช้ HDD ตัวเดียวเสียบไว้หลังเครื่อง แล้วแชร์ออกไปในวง LAN เป็นความสามารถในเชิง multi-zone นั่นเอง ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง NAS ซึ่งลงทุนสูงกว่า ดีไม่ดี ถ้าไม่ได้ซื้อไฟล์ Hi-Res เก็บไว้ ก็ใช้บริการสมาชิกเหมาจ่ายรายเดือนของ Cloud service อย่าง Tidal ก็เหลือๆ โดยไม่จำเป็นต้องมี NAS เลยด้วย
HOOK UP& SET UP
คิดจะเล่น Network Audio อย่ากลัวคำว่า เน็ตเวิร์ก ในเมื่อ Internet ของใกล้ตัวมีใช้อยู่ทุกบ้านอยู่แล้ว สำหรับ RENA S-1 แปลว่า… คุณต้องมีลำโพงแอ็กทีฟ, อินทิเกรตแอมป์ หรือเพาเวอร์แอมป์ พร้อมลำโพงอยู่แล้ว คิดเสียว่าเจ้า RENA S-1 ก็คือเครื่องเล่นซีดีตัวหนึ่งเท่านั้น ที่บังเอิญแหล่งข้อมูลมิได้อยู่ในแผ่น แต่มากับระบบเน็ตเวิร์ก แม้ว่าอยากตั้งค่าเป็น Wireless แต่ขอแนะนำว่า สิ่งแรกเสียบสาย LAN cable เข้าตรงขั้ว RJ45 หลังเครื่องเสียก่อน เมื่อตั้งค่าต่างๆ เสร็จแล้ว ค่อยปรับเปลี่ยนเป็น Wireless ภายหลัง เมื่อปรับแล้วมันจะแสดงสถานะเป็น WirelessConnected ทีนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสียบสาย LAN อีกต่อไปแล้วครับ วางตรงไหนในบ้านก็ได้ ขออย่างเดียวอยู่ในวง LAN เดียวกันเท่านั้นเป็นพอ
เมื่อเสียบขั้วต่อภาคจ่ายไฟ 34V เข้าเครื่อง หมายถึงว่ามันพร้อมใช้งานแล้ว แต่ก่อนที่จะทำอะไร แนะนำให้โหลดแอพที่ชื่อ EC Remote ติดตั้งบน Smart Devices (จาก iTunes, Play Store) เสียก่อน ในที่นี้ผมใช้ iPhone หรือถ้าอยากดูจอใหญ่ๆ ก็ใช้ iPad หรือคอมพิวเตอร์ไปเลย คอมพิวเตอร์ใช้ Web Browser จัดการง่ายโดย IP หลังจ่ายไฟเข้าเครื่อง รอให้เครื่องพร้อมทำงานประมาณสิบนาที จากนั้นก็เปิดเครื่องเข้ามาที่ iCon ของเครื่อง ก็จะวิ่งมาที่ Main Menu จะเห็น iCon ของฟีเจอร์ที่เล่นได้ ตั้งแต่ Streaming Service (Tidal, Qobuz, Spotify, WimP), Internet Radio, Music Library, Inputs รวมถึง Set Up menu มี iCon ที่เรียกว่า Settings อยู่ด้านล่างของจอ ต้องเลื่อนลงมา
- Settings–> Output Setting
- –>Preferences–>Streaming services
- (Tidal, Qobuz, Spotify, WimP)
- –>Firmware
- –>Library–> Add source
- –>NetWork–>Wire/Wireless Connections
ที่ต้องเซ็ต Output Setting ด้วย เพราะว่า DAC ของตัว RENA S-1 ถูกออกแบบให้มี DSP 32-bitทำงานอยู่ร่วมกัน ด้วยพลังของตัว DSP 32-bit ที่ว่านี้ ทำให้ทีมออกแบบของ Electrocompaniet สามารถเสริมฟังก์ชั่นพิเศษลงไปได้หลายอย่าง ที่มีเข้ามาให้เราปรับใช้งานในเวอร์ชั่นนี้มีให้เลือกตามความเหมาะสมของลำโพงลักษณะต่างๆ ที่เราใช้อยู่ อาทิ Small Speaker, Bookshelf, Standing Speaker, Subwoofer ถ้าไม่ต้องการใช้ฟังก์ชั่นนี้ก็มีอ็อปชั่น “Disabled”รวมถึง Volume Offset เพื่อปรับลดเกนขยายของดิจิทัลวอลลุ่มให้ Signal เหมาะกับกับอินทิเกรตแอมป์ของคุณด้วย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ Custom สามารถปรับ Subsonic filter, Lowpass filter และ Crossover ได้อีก ถ้าคุณจะฟัง TIDAL ไม่ลืมที่ต้องลงทะเบียนกับบริการเหมาจ่ายรายเดือนที่เราเป็นสมาชิก โดยลงทะเบียนไว้แล้วจากหน้าเว็บ แค่นี้ก็จบ
SHOWTIME
แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของ S1 ก็เพื่อเป็น Front End หรือตัวเล่นกลับฉลาดๆ ใช้ต่อพ่วงกับลำโพงแอ็กทีฟ TANA-L1 โดยวิธีไร้สายก็ได้ ในที่นี้ เราใช้สัญญาณจาก Analog Output ไปยังแอมป์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์ หรือแม้แต่เพาเวอร์แอมป์ ก็จะใช้ดิจิทัลวอลลุ่มในตัวของ S1 ควบคุมมันได้ ในที่นี้ ผมใช้ทางเลือกสองทางคือ วางไว้หลังเปียโนในห้องนั่งเล่น ใช้สายสัญญาณเป็นหัว 3 mm เสียบเข้ากับ B&W: Zeppelin Air ตัวเก่ง ฟังเพลงชิลๆ ส่วนฟังแบบจริงๆ จังๆ ก็ใช้แจ็คแปลงเข้าหัว RCA อีกด้านไปเข้าอินทิเกรตแอมป์ Vitus RI100 พี่ใหญ่ในห้องฟังหลัก Home Studio ทั้งนี้เพื่อลองฟัง DAC ในตัวของมันว่าคุณภาพสักแค่ไหนกัน
เท่านั้นยังไม่พอ จับสาย Coax มาแปลงหัว ใช้อะแดปเตอร์ BNC->RCA ใช้ S1 เป็นทรานสปอร์ตส่งสัญญาณไปยัง DAC ภายนอก ซึ่งก็คือ CHORD QUTEST ซึ่งกำลังอยู่ในคอร์สนวดพอดี
อีกอย่างที่ลองเล่นดู ก็พบว่าสัญญาณอะนาล็อกมีกำลังแรงมากพอที่จะขับหูฟังแบบครอบ Focal Clear อย่างสบายๆ ความจริงมิได้ recommended ให้เล่นหรอกนะ ครั้งแรกก็รู้สึกว่าแรงไม่พอ แต่เมื่อเข้าไปปรับตรง Off Set เพิ่มเกน Output ทำให้กำลังเหลือเฟือ ปรับเมน Volumeแค่ 55% ก็ฟังสบายๆ เบสมา เรี่ยวแรงมาตรึมสำหรับกับหูฟัง ที่คุณอาจลองใช้ดู จริงๆ แล้วไม่มีคำแนะนำในคู่มือเสียด้วยซ้ำยอมอ้อมสายไปเสียบด้านหลังเครื่อง วางไว้บนโต๊ะทำงานก็เท่ดี ควบคุมปิด-เปิด ดัง-ค่อย โดยสัมผัสบนตัวเครื่องได้เลย
ส่วน Source ว่ากันตามตรง เมื่อลงทุนกับเจ้า RENA S1 แล้ว ยอมจ่ายค่าสมาชิกเหมาจ่ายรายเดือนให้กับ Tidal หรือจะรวม Spotify ไว้ด้วย เดือนละไม่กี่ร้อย ปีละหลักพัน จ่ายน้อยกว่าแผ่นดำหนึ่งแผ่นด้วยมั้ง ออเจ้าจะมีเพลงเป็นล้านอัลบั้มฟังกันไม่หวาดไหวแล้ว ใครก็ตามที่มิได้มีคลังแสงใหญ่โตก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไขว่คว้า ดิ้นรนใดๆ อีกเลย ให้ตายสิ
เอาล่ะ ไหนๆ ก็ต้องทดลองฟังอัลบั้มไฟล์ Hi-Res กันแล้ว ผมเลือกอัลบั้มที่ซื้อเก็บไว้ของศิลปินโปรด Rush, America, JackSon Browne, CSN เป็นไฟล์ PCM24/96 และ 192 อย่างละสองสามอัลบั้ม ส่วนที่เหลือและฟังเป็นหลัก นาทีนี้บอกตรงๆ ผมฟังแต่จาก Tidal แทบทั้งสิ้น ประมาณว่า NAS ของผมแทบจะจอดสนิท แน่นอนว่าอัลบั้มอ้างอิงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแผ่นโอ้ฟาย เพราะเชื่อว่าเครื่องเสียงดี ต้องฟังเพลงอัลบั้มที่ชอบเพราะขึ้น… ใช่ไหม
คุณภาพเสียงที่ได้จาก RENA S1 ดีมาก อาจจะคุ้นกับเสียงยุโรปที่ไม่เน้นตูมตาม เนียนๆ เบสมีอิมแพ็คลึกๆ จะเรียกนุ่มลึกก็คงไม่ผิด กลิ่นอายชวนให้นึกถึงแอมป์ AW120 ตัวเดิมที่เคยเล่น แนวเสียงแบบนี้ แม้เป็นเครื่องเสียงดิจิทัลใน พ.ศ. นี้ ก็ถือว่าเจือ DNA ของ Electrocompaniet จากยุคกระโน้นได้ดีเยี่ยม ของแบบนี้ต้องมือเก๋าถึงจะทำได้ดี ฟังได้เพลิน ฟังนานๆ ไม่เบื่อ แนวนี้คอ Music Lover ต้องชอบแน่ มันดีเกินคาด ประมาณว่าแม้ฟังจาก Tidal ด้วย
อัลบั้ม 16/44.1 นี่ล่ะ ได้ 32-bit Floating point DSP ทำให้กินเสียงจากเครื่องเล่นซีดีไปไกล ยิ่งราคาสามหมื่นเท่ากัน คงไม่มีทางสู้มันได้เลย ต่อให้ราคาเป็นสองเท่าก็คงปาดเหงื่อกันเลย ถ้าจะกินมันได้ต้องเหยียบแสน ค่อยมาพูดกัน แต่เอ้อ ไม่รวมแผ่นที่ต้องจ่ายต่างหากนะ ยังไม่รวมกับฟังก์ชั่น AirPlay ที่หลานแม่ยายฟังเพลง JPop จาก Apple Music ผ่าน RENA S1 สนุกมือไป
ห้ามติว่า ตัวแค่เนี่ยะ ทำไมเพลงเยอะจังนะ เครื่องเสียงต้องฟังเสียง ไม่เกี่ยวกับขนาด ยิ่งอนาคต MQA กำลังมาในไม่ช้า เพราะประกาศแล้ว คงเร็วๆ นี้ล่ะ EC Living RENA S1 ก็จะติดปีกบินสูงขึ้นไปอีก เมื่อมันเล่น Tidal Master ก็ Hi-Res นั่นเอง ที่ให้เสียงดีเหนือขึ้นไปจากเดิม
VALUE FOR MONEY
ค่าสินสอดของ EC Living RENA S1 เครื่องเสียงชาติตระกูลดีเช่นนี้ หาไม่ได้ง่ายนะ เล่นง่ายด้วยสิ ออเจ้าเพียงแต่ถามใจตัวเองสักนิดว่า อยากเล่นไหม จากนั้นหาร้านเครื่องเสียงรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง Prestige HiFi ที่เข้าใจเครื่องเล่นแนว Streamer นี้ เขาพร้อมที่จะสนองตอบความต้องการของออเจ้าอยู่แล้ว ยิ่งพี่หมื่นอาจเคยฟังเพลงจากคอมแล้วล่ะก็ ต้องใช่เลย ลองบวกลบคูณหารดู โน้ตบุคตัวละกี่หมื่น แล้ว DAC ที่เสียงใกล้ RENA S1 ล่ะ ไม่ถูกนะ ไหนจะโปรแกรมเสียเงิน สาย USB ดีๆ ก็หลายอัฐนะ ไม่รวมกับเสียงบ่นว่าสายรุงรังจากแม่นางการะเกด แล้วสนุกนักเหรอที่ต้องมึนกับมัน เทียบกับความสะดวกสบายที่ได้รับ เซ็ตอัพครั้งเดียวเล่นกันยาวๆ หรูอีกด้วย Streamingเขาเล่นกันอึดตะปือนังทั้งพระนคร ไม่มีเหงา จ่ายแค่นี้ได้เครื่องเสียงฟะรังคี สายเลือดยุโรปที่หล่อฉลาด ลุคก็ได้ ไม่ใช่เจ๊กแปะที่ไหน หาใช่ไก่กา มี DNAของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์สแกนฯ เต็มตัว ให้เสียงที่เรียกว่าดูแคลนกันไม่ได้เชียว แนะนำอย่างยิ่งให้ลองมาฟัง ลองเล่นดู ก่อนตัดสินใจ ลองถามคนข้างกายว่า …ออเจ้าจะว่ายังไง เชื่อใจว่า… แม่นางคงเห็นชอบ. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 254
No Comments