นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :

ตัวต้นทางฟากดิจิทัลออดิโอ เติบโตแตกแขนงออกไปจาก เครื่องเล่นแผ่นซีดีในยุคแรก ข้ามมา CAS (Computer As Source) เล่นไฟล์ Hi-Res จนถึง Streamer แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ ทว่าทั้งหมด ที่เปลี่ยนไปก็เป็นเพียงส่วนที่ทำหน้าที่ทรานสปอร์ต สิ่งที่ยังคงอยู่และ พัฒนาดีขึ้นทุกวันก็คือ Digital to Analog Converter หรือเรียกสั้นๆ ว่า DAC เคยมีคนพูดว่า ไม่ว่าดิจิทัลฟอร์แมตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ต้องตื่นเต้นตามเขา เพราะยังไงก็หนีไม่พ้น DAC แล้วก็แอมป์ จากนั้น สุดท้ายก็ลำโพงที่ให้เราได้ยิน ดังนั้น ลงทุนกับ DAC ดีๆ ไว้ก่อน เทคโนโลยี ล้ำๆ ใช้งานได้ยาวๆ ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม DAC สมัยแรกๆ เมื่อเทียบกับสมัยนี้ย่อมแตกต่างกัน จัดเป็นสินค้าเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่มีการพัฒนาสู่จุดที่ดีกว่าเดิมได้อย่าง ต่อเนื่อง DAC ดีๆ ราคาลดต่ำลง ในขณะที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น ค่ายเครื่องเสียง ทุกค่ายกระโดดลงมาเล่นในสนาม DAC กันทั้งนั้น

CHORD คือหนึ่งในตำนานของผู้ผลิต DAC แถวหน้าของวงการดิจิทัล ออดิโอ มีเทคโนโลยีของตัวเองที่เยี่ยมยอดที่เรียกว่า Chord

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ผมเองได้พบกับ Mr. John Frank และ Mr. Colin Pratt จาก CHORD Electronics เราพูดคุยกันถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คุณผู้อ่านได้ทราบ ไปบ้างแล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่เขาพยายามดึงนักเล่น กลุ่มใหม่เข้ามา โดยทำDAC ตัวเล็กๆ ให้คนรุ่นใหม่ใช้ แล้ววันหนึ่งพวกเขาจะขยับขึ้นไปเล่นเครื่องเสียงบ้าน ไปเอง เพราะต้องเกิดจากการเรียนรู้ ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น

เมื่อต้นปีก็ได้ข่าว CHORD เปิดตัว DAC ตัวใหม่ ครึกโครมใน CES 2018 ก็เฝ้ารอว่าจะมาถึงเมืองไทย เมื่อไหร่ จู่ๆ บ่ายวันหนึ่งที่ CDC เลียบทางด่วน บก. บห. นัดเลี้ยงกาแฟ แล้วส่งกล่องให้หนึ่งใบ มีคนฝากมาให้ เห็นว่าอยากฟัง งั้นช่วยเอาเจ้าตัวนี้ไป เล่นหน่อย ผมมีรึจะปฏิเสธ ยังอุ่นๆ อยู่เลย ถึงบ้าน รีบเปิดกล่องออกมา พบเจ้า CHORD QUTEST DAC ตัวน้อยที่น่ารักสุดๆ พูดเช่นนั้นได้ ก็เพราะเรา กำลังคุยถึงดาวเด่นของงาน CES 2018 ที่เพิ่งผ่านไป ก็คือ CHORD QUTEST เป็น stand alone DAC (Digital to Analog Converter) ที่อยู่ในสัณฐานเล็ก แหม… เห็นตัวเล็กกะทัดรัดเช่นนี้ แต่น้ำหนักดี เหลือเกิน อย่าเพิ่งมองข้าม ของดีไม่จำเป็นต้องมากับ ความใหญ่ หนา หนัก ก็ได้นี่นา ที่แน่ๆ พกพาความ ทันสมัยมาครบ ใช้งานได้จริง

ก่อนอื่นขอย้อนรอยถึงแนวคิดของ CHORD กันสักนิด

The benefit of design concept

John Frank ในฐานะเจ้าของ CHORD กับวงจร ของ Robert Watts ดีไซเนอร์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ พ่อมดดิจิทัลของ CHORD ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้น จนจบ เพื่อให้ได้เสียงบริสุทธิ์ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง

“แม้ว่า DAC ของ CHORD ต้องสั่งซื้อชิพมาจาก บริษัท Chip Maker แต่ก็เฉพาะเพียงฮาร์ดแวร์เท่านั้น และก็ไม่ได้ใช้ DAC Chip จาก Chip Maker หรอกนะ เราเลือกใช้ชิพประเภท field-programmable gate array (FPGA) แปลว่าส่วนสำคัญมันอยู่ที่การเขียน ซอฟต์แวร์ต่างหาก หมายถึงโปรแกรมมิ่งที่เป็นข้อมูล เฉพาะตั้งแต่ต้น ซึ่งพูดได้ว่า เทคโนโลยีล้ำกว่าใคร จึงการันตีได้ว่า DAC ของ CHORD ไปไกลกว่าใครๆ ในตลาด ไม่มีตัวเทียบได้เลยในเรื่อง Details ให้ความ เป็นธรรมชาติของเสียงดนตรีมากกว่า DAC ทั่วไปมาก”

DAVE DAC

คือสุดยอดของ DAC อยู่ในเรนจ์ Reference ถือว่าอยู่ในกลุ่มสูงสุด ออกแบบโดยไร้ซึ่งข้อจำกัด ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะกับงบประมาณ คัดสรรอุปกรณ์ ที่ดีที่สุด ซึ่งต้องแลกกับค่าตัวสูงตามไปด้วย โดยเรนจ์ Reference ประกอบด้วยเครื่องเสียงรุ่นต่างๆ อีก แปดตัว ตั้งแต่… ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์สเตริโอ, เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก, สตรีมเมอร์, DAC รวมถึง CD Player ซึ่งหาตัวเทียบยาก ถ้าต้องการความเป็น ที่สุดระดับอ้างอิงก็ต้อง Reference นี่ล่ะ อาจจะพูดได้ ว่า DAVE DAC เป็น DAC / Preamp / Headphone Amplifier ที่ดีที่สุดของเทคโนโลยี วันนี้ ใช้เทคนิค ที่คิดขึ้นมาเองโดยเฉพาะ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน Spartan 6 Field Programmable Gate Array (FPGA) ซึ่งมีความสามารถในการคำนวนเท่ากับ 1,000x processing power ของ DAC chip ในท้องตลาด ที่คนอื่นใช้ ก็แปลว่าวงจร FPGA ของ DAVE สามารถ โหลดข้อมูลที่ซับซ้อนได้มากกว่าล้าน ทำงานได้อย่าง รวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย บนตัวเครื่องมี Display เพื่อบอกสถานะการทำงานของเครื่อง ซึ่ง John Frank มั่นใจมาก ประมาณว่ากล้าชนกับ DAC ทุกตัว กันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นการท้าทายมาก

เทคโนโลยีสุดล้ำของ DAVE DAC ก็ได้ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ DAC ตัวรองลงมา รวมถึง QUTEST DAC ตัวน้อยนี้ด้วยเช่นกัน โดยลดทอนส่วนที่เกินความจำเป็นในผลิตภัณฑ์ในเรนจ์นี้ออกไป อย่างเช่น ขั้วต่อบาลานซ์ XLR ทั้ง Digital In และ Analog Out, แอมป์หูฟัง รวมถึงลูกเล่นบางอย่าง คงไว้เฉพาะที่จำเป็นต่อการใช้งาน และใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปร่างหน้าตาที่ QUTEST DAC แสนจะธรรมดา เมื่อเทียบค่าตัวกับ DAVE หรือ HUGO 2 นั้น ราคาไปไกล แต่สำหรับเพอร์ฟอร์มานซ์นั้น มิได้ห่างสักเท่าใด จึงเป็นประเด็นที่น่าลิ้มลองอย่างยิ่ง

CHORD QUTEST Standalone Digital to Analog Converter

จาก CHORD DAVE DAC รุ่นเรือธง จุดเด่นที่ใช้เทคโนโลยี Chord Electronics custom coded FPGA ที่ไม่เหมือนใคร ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ DAC รุ่นรองๆ ลงมา จริงอยู่ QUTEST มิใช่ DAC สำหรับพกพา แต่เป็น DAC ตั้งโต๊ะตัวย่อมตัวใหม่ล่าสุด ถูกพัฒนาขึ้นมาแทน 2Qute ตัวดังในอดีต ตัวโครงสร้างเป็นอะลูมินัมเกรดอากาศยาน CNC Die Cut ที่เนี้ยบ ถูกออกแบบใหม่หมด โดยเป็นการประยุกต์ใช้ custom coded Xilinx Artix 7 (XC7A15T) FPGA เทคโนโลยีเดียวกันกับของ HUGO 2 DAC/Headphone amp ตัวดังที่กวาดรางวัลมามากมาย ซึ่งราคาค่าตัวเหยียบแสน เนื่องจากทีมงานต้องการนำเสนอให้เป็นตัวช่วยของชุดเครื่องเสียงบ้าน โดยได้ย่อฟังก์ชั่นบางอย่างลงให้ เหมาะสมกับการใช้งานจริง ไม่ต้องคิดเยอะ เช่น ตัดฟังก์ชั่นแอมป์หูฟัง รวมทั้งแบตเตอรี rechargeable Li-on batteries ที่ทำให้ Hugo2เป็น portable DAC จึงทำให้ราคาย่อมเยาลงด้วย ที่ยังคงไว้ก็เช่น เทคโนโลยีที่มีผลกับคุณภาพเสียงโดยตรง หรือ Gavalnically isolated USB-B, Optical และ BNC coaxial digital input ที่รองรับการใช้งานได้หลากหลาย สำหรับ output voltage มีให้เลือกตั้งแต่ 1V, 2V และ 3V RMS พร้อมกับติดตั้งFilter ให้เลือกอีก 4 ประเภท 4 อารมณ์เพลง … เฟี้ยวมะ ส่วน outputที่ออกทาง RCA สำหรับต่อตรงเข้ากับอินทิเกรตแอมป์, ปรีแอมป์ หรือแอมป์หูฟังตัวโปรด เล่นแบบไหนก็เล่นได้หมด ทีนี้ ถ้าออเจ้าต้องการที่จะอัพเกรดการฟังเพลงแนว CAS (Computer As Source) หรือ ซีดีทรานปอร์ต, เกมคอนโซล แม้กระทั่ง Streamer ที่กำลัง “ปัง” ในขณะนี้ ก็เข้าทางเลย… ขอรับ

New QUTE..EST in Town

ภายใต้กรอบกระดาษสีดำออกแบบเป็นกราฟิก พร้อมอักษรระบุว่า QUTEST Digital to Analog Converter ‘THE PURE AUDIO’กล่องในดูหรูด้วยลายผ้าไหม เด่นในการออกแบบที่ทำเป็นลิ้นชักสองชั้น แยกตัวเครื่องใส่อยู่ในช่องโฟมด้านบน ส่วนลิ้นชักล่างบรรจุไว้ด้วยคู่มือการใช้งานอย่างย่อ เป็นกระดาษแข็งพับ พร้อมกับอะแด็ปเตอร์ตัวน้อยขนาดกำลังไฟ 5V พร้อมกับสาย USB อยู่ในถุงผ้าสีดำ

QUTEST เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม powered DAC ของ CHORD Electronics ในราคาที่จับต้องได้

Underneath the case

ตัวเครื่องออกแบบจากฐานปฏิบัติการในอังกฤษ ให้ลดต้นทุนความฟุ่มเฟือยหรูหราลง คงไว้แต่สิ่งจำเป็นซึ่งส่งผลโดยตรงกับคุณภาพเสียง ต่างจาก DAVE และ HUGO 2 ที่หรูกว่าเยอะ ด้วยฝีมือ Mr. John Frankที่ถนัดทำของเล็กเสียงใหญ่ ใช้อะลูมินัมเกรดอากาศยานทั้งแท่ง ทำเป็นสองแท่งประกบกัน งานประณีตเพราะใช้ Precision CNC มาเจาะ ใส ขัด และอะโนไดซ์ด้วยสีดำด้าน ได้งานที่หล่อเนี้ยบ มีสีเดียวนะ พร้อมโลโก้ CHORD เป็นนิกเกิลเงาวาวเด่นเชียว เอกลักษณ์ของ CHORD ก็คือแท่งอะลูมินัมนี้ที่กลายเป็นตัวถังเครื่องไปซะเลย ด้านบนเจาะเป็นช่องใส่เลนส์ให้เห็นวงจรภายใน พร้อมไฟ LED เปลี่ยนสี บอกสถานะการทำงานว่าอยู่ที่ Sampling Rate เท่าใด ซึ่งแจงถี่ยิบ สงสัยต้องเปิดคู่มือดู เพราะเยอะเหลือเกิน ด้านหน้าติดตั้งไว้ด้วยปุ่มควบคุมวงรีเป็นไฟ LED เปลี่ยนสีได้ ทั้งสองปุ่มจะใช้เลือก Filter (ซ้าย) Input (ขวา) โลหะท่อนล่างด้านใต้เครื่องกัดเป็นร่องเพื่อติดตั้งแผงวงจร PCB คือ Engine จริงๆ ซึ่งออกแบบโดยพ่อมดดิจิทัล

Robert Watts ที่ล้ำสุดๆ ผลของการใช้อะลูมินัมทั้ง แท่งมากัดอยู่ตรงป้องกันการรบกวนจากภายนอก รวมถึงเป็นฮีตซิงก์ไปด้วยในตัว แถมยังป้องกันแรงสั่น สะเทือนจากภายนอกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

QUTEST ติดตั้งฟิลเตอร์ให้เลือกเปรียบเทียบ กัน 4 ตัว สี่อารมณ์ ‘Incisive neutral’ (White), ‘Incisive neutral HF roll-off’ (Green), ‘Warm’ (Orange) และ ‘Warm HF roll-off’ (Red) ถือเป็น ประสบการณ์ใหม่ที่ได้ลอง

Take to the Limit

นำสุดสวยเข้าห้อง ประกบกับเจ้าถิ่น VITUS, MANGER/REL ให้สมศักดิ์ศรีหน่อย เพราะแม่สุดสวย เป็น External DAC ที่ไม่สามารถเล่นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ต้องให้ผู้ช่วยป้อนของดีให้กินหน่อย เราจะ ได้ยินเสียงที่ให้ความแตกต่างจาก DAC ตัวอื่นๆ ผมมีทางเลือกให้คุณได้หลายทาง การต่อพ่วงนำข้อมูลดิจิทัลป้อนให้กับ DAC อาทิ ถ้าใช้ Network Transport ซึ่งไม่มี DAC ติดมา ก็จะอาศัย QUTEST เป็นตัวส่งเสียงแทน เจ้าฟรอนต์เอ็นด์แบบไม่มี DAC ที่มีในตลาดมีเยอะนะ หรือ Streamer ที่บังเอิญอยู่ ในคิวรีวิวส์ รวมถึง Set Top Box เช่น Apple TV รวมถึง Universal Player Oppo103D หรือ CD Player ตัวเดิมของคุณนั่นแหละ กรณีที่ Output เป็นหัว BNC ก็หาหัวแปลง BNC to RCA มาเสียบให้มันนำสัญญาณดิจิทัลจาก Digital Out มาเข้าทาง Digital In ของ QUTEST หรือถ้าอยากเล่นให้เปรี้ยวขึ้นมาอีกนิดก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ถ้าเป็น Windowsก็คงต้องไปโหลด driver ที่มีทั้ง Win7 และ Win10จากหน้าเพจของ CHORD QUTEST มาติดตั้ง ส่วน Player ผมแนะนำให้คุณใช้ JRiver หรือRoon ไปเลย ส่วนผมก็คงใช้ Mac Air ตัวเก่งกับแอพเล่นเพลงสุดแหล่ม Amarra4 Luxe 4.2 กับAudirvana Plus 3.2.6 บน High Sierra10.13.3ที่มิต้องลง driver ใดๆ เลย เล่นได้ครบทั้งไฟล์ Hi-Res จาก NAS รวมถึง TIDAL Master ที่ให้เสียงดี เป็นเสียงที่ผมชอบมากกว่า ได้ความสงัดไร้เสียงรบกวน ต้องขอบคุณ Galvanically Isolatedที่จัดการกับสัญญาณรบกวนที่อาจเกิดขึ้นกับช่องเสียบ USB ที่ร่ายมาทั้งหลายทั้งปวงป้อนเป็นInput กับแม่สาวน้อยสุดสวย แค่นี้ก็เหลือๆ แล้วครับ

อัลบั้มเพลงที่เลือกมาฟังจาก NAS ส่วนตัว เริ่มตั้งแต่ CD standard 16/44.1 ไล่ขึ้นไป 24/48, 24/88.2, 24/96, 24/176.4, 24/192 ทะลุถึง DXD 24/352.8 ไฟดิสเพลย์ในช่องแสงก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆส่วน DSD64, DSD128, DSD256 มีสีเดียว ผมไม่ได้เล่นจนถึง DSD516 หรอกนะ ปกติไฟล์ DSD256 ก็มีน้อยอยู่แล้ว ที่พอมีก็จะเป็น DSD128 ของ Opus Showcase นั่นแหละ ส่วน DSD256 ก็มีของ 2L Records ส่วนไปไกลกว่านั้นยังเป็นอนาคต ว่ากันไปแล้ว อัลบั้มที่ฟังในขณะนี้แทบไม่ได้เปิดจาก NAS หรือซื้อแผ่นเลยด้วยซ้ำซื้อบริการเหมาจ่ายรายเดือน TIDAL ก็ได้ฟังเพลงที่เลือกได้จุใจ อัลบั้มใหม่มีให้ฟังทุกสัปดาห์ เร็วกว่าสั่งซื้อเสียอีก แถม TIDAL Master ก็ฟังได้ทะลุถึง 24/96อยู่แล้ว จะอัพให้สูงขึ้นก็ใช้ Software เล่นเอา เพราะ DAC ของเรารองรับอยู่แล้ว แม้มิได้เป็น MQA certify แต่อย่างที่เคยบอกหลายครั้งว่า DAC ดี จะไปกลัวอะไร MQA มิได้บอกว่าเสียงจะดีกว่านะ ถ้าไฟล์ต้นฉบับบันทึกมาดีมันก็ดี จะแคร์ทำไม

ทีนี้ มาลองเล่นกับฟิลเตอร์ที่มีให้เลือกเปรียบเทียบฟังถึงสี่ตัว ซึ่งความจริงเสียงก็ใกล้เคียงกัน ฟังไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาเปิดเทียบสลับ ยิ่งฟังเพลงหลากหลาย ต้องค่อยๆ สลับฟิลเตอร์ดู สรุป… ผมชอบ ‘Incisive neutral’ (White) มากที่สุด เพราะให้เสียงตรงไปตรงมา ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งก็ควรจะดีมิใช่รึ

เปิดอัลบั้มของ Natalie Merchant กับ Regina Spektor เพลงแนวหลงเสียงนางสองสามอัลบั้ม มิเพียงเสียงนุ่ม แต่ก็มีไดนามิกส์ให้โชว์ศักยภาพเครื่องเสียง ความจริงแว้บแรกที่ได้ยิน คุณภาพเสียงของสุดสวยฉอเลาะ มีมิติ ให้รายละเอียดดีเลย ปลายแหลมพลิ้ว แต่ไม่ถึงกับกรุ๊งกริ๊ง เวทีเสียงกว้างโอบล้อม เบสหนึบๆ แน่นๆ ไม่พุ่งตูมๆ แนวผู้ดีๆใครที่ชอบเสียงข้นต้องชอบ เด่นมากเรื่อง Timing และบรรยากาศ เพราะอานิสงส์ของอะนาล็อกสเตจ Class A จึงให้เสียงละเอียดมีชีวิต น่าฟังจริงๆ รู้สึกได้ถึงชิ้นดนตรีในอากาศ จะเป็นเพราะมีไดนามิกส์เรนจ์กว้าง จึงได้ไดนามิกส์เฮดรูมดี เสียงจึงโปร่งเปิดกว้าง เสียงเป็นสามมิติโอบล้อม ยิ่งต้นทางดีเท่าไหร่ก็ยิ่งชัดมากขึ้นอีก

ทีนี้ฟังเพลงร็อกบ้าง อัลบั้ม Eagles Hotel California 40TH Anniversary มีสองแผ่น ฟังชุดสอง เป็นบันทึกการแสดงสดจาก LA Forum เมื่อปี 1976 แทร็กแรก Take it Easy ว้าว… ขนลุกเลย หัวไม้กลองโป๊ะๆ ให้เสียงสด ได้บรรยากาศแสดงสด เหมือนเล่นเมื่อวานนี้เลยครับ จากนั้นก็ไล่ฟังเรื่อยมาหลายอัลบั้ม ทั้งจากแผ่นซีดีเก่าที่เก็บไว้ก็หยิบมาฟัง รวมถึงดูคอนเสิร์ตจากQello หรือดูหนังด้วย Netflix ผ่าน Apple TV แหม่… ออเจ้าสุดสวยทำให้ทุกอย่างดีขึ้นในบัดดล ไม่น่าเชื่อว่าน้องสุดสวยทำได้ดีขนาดนี้ สมคำเล่าลือจริง

Take it Easy… เปลี่ยน DAC ตัวเดียว ชีวิตเปลี่ยน”

เคยพูดไว้หลายครั้งว่า เล่นเครื่องเสียงแนวดิจิทัล ออดิโอ นั้นง่าย ไม่มีอะไรยุ่งยาก และไม่ต้องการ ศาสดา กูรู หรือปรมาจารย์ที่ไหน เช่นที่เคยได้ยิน ได้สดับกันมา สนใจมันนิดหน่อยก็ทำได้ ถ้ายากนัก ก็พึ่งร้านค้าที่เขาขายสิ แค่ปรับทัศนคติกันนิดว่า โลกไม่ได้มีแค่ “แผ่น” สิ่งที่คุ้นเคยเล่นมานาน บัดนี้ มันหายากขึ้น ลองเปลี่ยนรสชาติดูบ้าง หรือจาก ชุดเครื่องเสียงเล่นซีดีตัวเก๋า เครื่องแอมป์กับลำโพง ชุดเดิม ทราบหรือไม่ว่า โลกวันนี้มุ่งไปที่ Download/ Streaming Music กันหมดแล้ว แต่ในเมื่อ “ออกญา” ยังมี แผ่นซีดีอยู่ ก็ รีบริปเก็ บเสียก่ อนที่มั นจะเสีย ถ้าพี่หมื่ นอยากจะกระโดดข้ามมาเล่น Streamer ที่กำลัง “ปัง” ก็ไม่ยาก จัด… ออเจ้า QUTEST สาวสวยน่ารักสุดๆ ด้วยชื่อชั้นของ CHORD แม้จะเป็นสุดสวยตัวน้อย แต่ก็มาด้วย Engine จาก HUGO 2 จึงมิได้ทำให้ เพอร์ฟอร์มานซ์นั้นเล็กตามตัวที่เห็น ก็คล้ายๆ กับ Mini Cooper S ที่ใส่เครื่องเทอร์โบนั่นแหละ

QUTEST กำหนดนิยามของ DAC เสียงดี ฟีเจอร์สุดคุ้ม เทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกล เล่นกันนานๆ โดยกำหนดมาตรฐานใหม่ของ DAC ในอุดมคติ โดยแท้ เป็นการยกมาตรฐานของดิจิทัล ออดิโอ ให้ขยับ ขึ้นไปอีกขั้น

CHORD QUTEST ด้วยค่าตัวเท่านี้ ให้เสียงได้ เลิศถึงขนาด ทำไมจะต้องจ่ายเป็นแสนด้วยเล่า ฟีเจอร์ ที่ใช้ได้จริงสำหรับเครื่องเสียงบ้าน เหมือนเช่นอย่างที่… ออกญา John Frank คุยไว้ว่า ของแกดีจริง ไม่ได้ด้อย ไปกว่าพี่หมื่น DAVE สักเท่าใด ก็สายพันธุ์เดียวกัน… งั้นเชียว เออนี่ น้องสุดสวยของพี่หมื่น DAVE เชียวนะ มี DNA เดียวกัน จะน้อยได้อย่างไร ไม่ได้โม้…

CHORD QUTEST มาแทรกตรงกลางจาก ตัวพกพา Mojo ที่สาวกรุ่นใหม่จะกระโดดตะครุบ พี่หมื่น DAVE ก็ไกลไปจนสุดเอื้อม พี่หมื่น DAVE หรือย่อลงมาที่ HUGO 2 ก็ยังไม่ได้ต้องการถึงตรงนั้น เพื่อให้ QUTEST จับต้องได้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด ตามที่ John Frank เคยให้ทัศนะว่า ทำอย่างไร? คนรุ่นใหม่ถึงจะเข้ามาในแวดวงไฮเอ็นด์มากขึ้น และนี่คือทิศทาง ซึ่งคิดว่ามาถูกทางแล้ว มันยังหมาย รวมถึงคนมือเก่าอย่าง ออเจ้า พี่หมื่น รวมถึงออกญา หลายท่าน เมื่อสดับสำเนียงจาก QUTEST ติดหู เสียแล้ว ทำไงล่ะ อืมม… คิดว่างานเข้าก็ตรงนี้แหละ เอ่อ… ขอเก็บไว้สดับนานๆ ดีไหม. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่  254