EAR: Phonobox phono stage
นักเขียน : นพ.ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์
Esoteric Audio Research หรือ EAR คือบริษัทเครื่องเสียงชั้นนำของอังกฤษที่ก่อตั้งโดยพ่อมดแห่งวงการเครื่องเสียงหลอด Tim De Paravicini ประวัติผลงานของ Tim นั้นยาวเหยียด มีทั้งทางฝั่งเครื่องเสียง และทางฝั่งการบันทึกเสียงในสตูดิโอ ดังนั้นเครื่องเสียงของเขาจะมีทั้งที่เป็นอุปกรณ์ระดับ studio และระดับ home use ตัว Phono stage ก็เป็นอะไรที่เขาเชี่ยวชาญอย่างมาก มีทำออกมาหลายรุ่นหลายระดับราคา ทั้งรุ่นที่เป็น solid state และรุ่นหลอด มีทั้งเป็น standalone phono stage และที่อยู่ในปรีแอมป์ (รุ่น top สำหรับ home use คือ 912 ตัวสั้นๆ และมี VU meter เหมือนเครื่องระดับโปร) ส่วนรุ่นหลอดซึ่งเป็นที่เลื่องลือถึงความคุ้มค่าและคุณภาพเสียง คือรุ่น 834P ที่ปัจจุบันนี้กำลังจะ discontinue และแทนที่ด้วยรุ่น phonobox นี้
Phonobox
Phonobox เป็น phono stage หลอดรุ่นล่าสุดของ EAR ที่มีฟังก์ชั่นและองค์ประกอบใกล้เคียงกับ 834P มากที่สุด
1. พื้นฐานวงจร ทั้งสองรุ่นเป็นวงจรหลอด ใช้หลอดในการขยายภาค mm และใช้ step up transformer ขยายสำหรับสัญญาณจากหัวเข็ม mc ถ้ามองบั้นท้ายให้ดีๆ ผมชอบ Phonobox มากกว่า 834P ตรงจุดต่อ ground ครับ ใน 834P จุด ground อยู่ใกล้กับช่องต่อไฟ AC มากเกินไป ขณะที่ Phonobox มีการแยกจุดกราวด์ให้ห่างขั้ว AC ได้ดีกว่า
2. หลอดที่ใช้ ในรุ่น 834Pใช้หลอด ECC83s และใน phonobox ใช้หลอด 13D16 ซึ่งสามารถนำหลอด ECC83s เสียบแทนได้ จากประสบการณ์ตอนรีวิว 834P เมื่อครั้งก่อน ผมพบว่าหลอดที่ทางโรงงานจัดมาให้นั้นได้จูนให้เข้ากับวงจรและการทำงานของเครื่องอย่างดีแล้ว ผมแนะนำว่าไม่จำเป็นอย่าเอาหลอดยี่ห้ออื่นใส่แทน เพราะมีแนวโน้มที่น้ำเสียงจะออกอาการ “ได้อย่างเสียอย่าง” หรือบางทีอาจจะเสียหลายอย่าง แนะนำให้ใช้หลอดเดิมไปก่อนจนกว่ามันจะเริ่มเสื่อมค่อยว่ากันอีกที
3. Layout ตัวถังและวงจรเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ถ้าดูๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่ต่างกันมากมายนัก ตั้งแต่ power transformer, วงจร, หลอด, step up transformer ผมไม่ได้เปิดเครื่องตัวที่ทดสอบเพื่อถ่ายภาพหรือลองเปลี่ยนหลอดแต่อย่างใด เนื่องจากเหตุผลหลักๆ ในข้อ 2 และไม่ต้องการให้ตัวน็อตของเครื่องมีรอยไขควง
834P
4. Version ที่ออกจำหน่าย ทั้ง 834P และ Phonobox จะมีรุ่นที่ออกมาให้เลือก 6 รุ่นเหมือนกัน แบ่งคร่าวๆ เป็นสองรุ่นใหญ่ก่อน คือรุ่นตัวถังสีดำ กับรุ่น Deluxe เป็น chrome เงางาม จากนั้นแต่ละรูปแบบตัวถัง จะมีสามรุ่นย่อยๆ คือ MM อย่างเดียว (ไม่มีปุ่ม volume) MM + MC ที่ไม่มีปุ่มปรับ volume และ MM + MC ที่มีปุ่มปรับ volume มาด้วย ตัวเครื่อง 834P ที่ผมซื้อไว้ใช้งานเอง เป็นรุ่นสีดำ MM + MC ที่มี volume ซึ่งทางทีมงานได้จัดส่ง Phonobox ที่รุ่นใกล้เคียงกันมาให้ทดสอบพอดี คือ Phonobox สีดำ MM + MC with volume และ MM + MC Deluxe chrome finish with volume เลยเป็นการดีที่จะได้ทดสอบเปรียบเทียบเสียงกัน
5. Gain ขยายสัญญาณหัวเข็ม ทั้ง MM และ MC เท่ากันทั้งสองรุ่น คือ MM 53dB และ MC 73dB ตรงนี้เป็นประเด็นหน่อยที่เกี่ยวพันไปกับข้อ 6
6. รุ่นไหนน่าเล่น ในหกรุ่นนี้? หรือรุ่นไหนเหมาะกับใครบ้าง เอาเป็นข้อๆ นะครับ
6.1 MM อย่างเดียว เหมาะกับคนที่เล่นแต่หัวเข็ม MM ในระบบ หรือท่านที่เล่นหัว MC Low และมี step up transformer ดีๆ อยู่ในมืออยู่แล้ว เลยไม่ต้องเปลืองงบไปเล่นรุ่นแพงกว่า
6.2 MM + MC ไม่มี volume เหมาะกับคนที่มีหัวเข็มเล่นทั้ง MM และ MC และมีปรีแอมป์ที่ปรับระดับเสียงได้ละเอียดแม่นยำ และหัว MM และ MC ที่มีอยู่มีค่า output ที่พอเหมาะพอดีกับ gain ขยาย 53 / 73dB
6.3 MM + MC ที่มี volume เหมาะกับผมนี่แหละครับ คือพวกที่ชอบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีหัวเข็มหลากหลายตัว ที่มี output หลากหลาย เช่น MC Low ก็มีตั้งแต่ 0.27 mV (phase tech P3G) ไปจนถึงเกือบๆ 1 mV (EMT TSD15) และฝั่ง MM ก็มีตั้งแต่ 5 mV (London super gold), 4 V (Shure V15 type3) ไปจนถึง 2.5 mV (อย่างหัวเข็ม MC High output Dynavector 10X4 mk2) ถ้าผมใช้ EAR รุ่นที่ปรับ volume ไม่ได้จะมีปัญหาเยอะ เช่น MM 53dB กับหัวเข็ม 5 mV นี่ overload มากไป หรือ MC 73dB กับหัวเข็ม EMT TSD15 ก็จะแรงเกินไป บางทีแรงกว่าสัญญาณจาก CD เสียอีก แล้วพอไปเล่นกับลำโพงความไวสูงมันจะทำให้ผม matching gain รวมทั้งระบบได้ยากมาก การที่มี phono stage ที่ปรับ volume ได้แบบ continuous นั้นจะทำให้ผมใช้งานได้สะดวกมาก รวมถึงการใช้ step up ภายนอกบางตัวที่เสียงดีๆ อย่าง Western Electric 618B ที่มี gain เพิ่มมาอีก 26dB แรงกว่า SUT ในตัวของ EAR (20dB) ถ้าปรีโฟโนปรับ volume ไม่ได้นี่ จะทำให้ gain แรงมากๆ บางคนอาจแย้งว่า การที่โฟโนมีการเพิ่มปุ่ม volume ขึ้นมาอาจจะไปลดทอนคุณภาพเสียงลง ตรงนี้ผมยอมรับว่ามีผล แต่เมื่อชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผมขอเลือกแบบที่มี volume เพราะจะทำให้ผมใช้งานได้สะดวกสบายมากกว่าครับ
6.4 รุ่นหน้าดำ กับรุ่น deluxe เล่นรุ่นไหนดี ถ้าไปดูราคาจำหน่ายแล้ว จะเห็นว่าสองรุ่นของ Phonobox นี้มีราคาต่างกันถึงเกือบสองหมื่นบาท แสดงว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันไม่ใช่แค่เพียง faceplate ที่สวยๆ เท่านั้น แต่น่าจะมีการ upgrade อุปกรณ์ข้างในด้วย ตรงนี้ผมไม่ได้เปิดเครื่องเพื่อถ่ายรูปเทียบกันเนื่องจากเหตุผลข้างบนว่า เกรงว่าหัวน็อตเครื่องจะเป็นรอย เลยขอตัดสินที่คุณภาพเสียงตอนฟังแล้วกันครับ ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา ก็แนะนำให้เล่นรุ่น deluxe ไปเลย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคาใจ แต่ถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อยแบบผม ก็เล่นรุ่นหน้าดำไป เสียงก็ไม่ได้ด้อยกว่ามากมายนัก (จริงๆ ดีกว่าเครื่องยี่ห้ออื่นในระดับราคาเดียวกันด้วย)
Test equipment
EMT 930st ติดตั้งหัวเข็ม Benz micro SL wood (0.4 mV) บนอาร์ม EMT 929
Dr.Feickert analogue รุ่น Firebird อาร์ม Denon 308 หัวเข็ม EMT TSD15N
EAR 834P with volume knob สำหรับเปรียบเทียบ
Western Electric 618B step-up transformer
Tascam DV RA1000HD สำหรับการริปสัญญาณโฟโน เป็น digital file
แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ
1. Art Davis: A time remembered (Classic records/ Jazz Planet JP4001)
2. Nina Simone: Little girl blue (Analogue Production APJ-083)
3. Six Brandenburg concerto: Trevor Pinnock (Archiv Production 2742003)
4. Patricia Barber: Nightclub (Premonition 90749 : original pressing)
เพลงตัวอย่างทั้งสี่เพลง สามารถ download เพื่อฟังได้ที่ https://drive.google.com/open?id=1ATTiNJneMDOBYaw4W6eDP8Z6cVFyv6mC
ผมได้เครื่อง Phonobox มาค่อนข้างไล่เลี่ยกันทั้งตัว black และ deluxe มาถึงผมก็จัดการเล่นตัว chrome deluxe ก่อนเนื่องจากเป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง ยังไม่เคยเบิร์นมาก่อน รีบจัดการหาสัญญาณแผ่นเสียงป้อนให้มันเข้าที่ไวๆ ก่อนทดสอบ ตัวเครื่องทำงานเงียบสนิทไม่มีอาการ noise หรือ hum ให้ได้ยินเลย หยิบแผ่นหมายเลข 1 แผ่นแจ๊สที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง Art Davis มือเบส ที่มีเพื่อนๆ มาช่วยเช่น Herbie Hancock, Ravi Coltrane เล่นแนว bebop เพราะๆ (ควบคุมการผลิตโดย Mike Hopson และ Bernie Grundman บันทึกลง analog tape ด้วยเครื่อง Ampex ATR102) EAR Phonobox ให้แนวเสียงเครื่องหลอดที่มีความอิ่ม มีน้ำหนักเสียงที่ดี การแยกแยะมิติ ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นทำได้อย่างเด็ดขาด เฉพาะฝีมือของมือกลองจากแทร็กนี้อยากให้ฟังจากที่ได้ริปไว้ว่า Phonobox สามารถเก็บรายละเอียดทุกอย่างที่มือกลอง Marvin Smith ได้สำแดงฝีมืออย่างยอดเยี่ยม (ต้องให้เครดิตทั้งผู้เล่นและผู้บันทึกเสียงแผ่นนี้ว่าดีมากๆ) ระดับ volume ของ Phonobox ที่ผมใช้กับหัว Benz micro 0.4 mV ก็บิดที่เกือบๆ สุด สังเกตว่าระดับเสียงตรงจุดที่ใกล้ๆ จะสุด volume จะมีความดังเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว แนวเสียงของ Phonobox มีความใกล้เคียงในแนวเดียวกับ 834P แต่สิ่งที่เหนือกว่า คือการแยกแยะรายละเอียดของชิ้นดนตรีต่างๆ ทำได้ดีกว่า โดยที่ยังคงมีเนื้อเสียง ฐานเสียงกลาง และย่านต่ำที่อยู่ครบ
ต่อกันด้วยแผ่นเสียงของค่าย Analogue Productions ที่เอางานเก่าของ Nina Simone กับสังกัด Bethlehem เป็นอัลบั้มเปิดตัวชุดแรกของ Nina Simone แนวเสียงอะนาล็อกเข้มข้นตามยุค 1959 ที่บันทึกเสียงไว้ แผ่นทำใหม่โดย Chad Kassem ค่าย APO ได้จิตวิญญาณของยุคนั้นไม่มีตกหล่น เนื้อเสียงหนาเข้มข้น ยิ่งผนวกกับเครื่องหลอดอย่าง EAR ก็จะได้บรรยากาศของเสียงที่ดีขึ้นไปอีก เสียงร้องของ Nina Simone ถูกฉีกออกไปทางซ้ายสุดของเวทีเสียง ขณะที่กลองและเบสอยู่ทางขวา และตรงกลางเป็นแนวคีย์เปียโนที่บรรเลงโดยตัว Nina เอง Phonobox deluxe เกลี่ยเนื้อเสียงรวมทั้งเวทีเสียงได้อย่างดี
ทีนี้ผมก็มาลอง Phonobox ตัวหน้าดำบ้าง กับแท่น Dr.Feickert Firebird ติดตั้งหัวเข็ม EMT TSD15 ซึ่งมีเกนสัญญาณที่แรงกว่าหัว benz micro การที่มี volume knob ช่วยให้ปรับระดับเสียงที่จะป้อนเข้าปรีแอมป์ได้พอดีๆ อย่างง่ายดาย ผมลด volume ที่ปรีโฟโนลงมาประมาณเล็กน้อยก็ฟังได้สบายๆ ทดสอบด้วยแผ่นเพลงคลาสสิกค่าย Archiv Production เพลงที่เพราะที่สุดใน 6 เพลง Brandenburg concerto ของ JS. Bach คือหมายเลข 3 แนวประสานของเครื่องสายแต่และแนวที่สอดประสานและเล่นไล่กันฟังเพลินมาก เวทีเสียงของวงกว้างจากซ้ายจรดขวา สามารถแยกหมู่เครื่องสายที่ผลัดกันขึ้น solo ได้ไม่ยาก แผ่นนี้ถึงแม้ว่าเป็นการบันทึกระบบดิจิทัล แต่ก็บันทึกได้มีบรรยากาศโอบล้อมของเสียงที่ดี เนื้อเสียงที่ฟังผ่าน Phonobox ไม่มีอาการสากเสี้ยนหรือขึ้นขอบแบบเสียงดิจิทัลแต่อย่างใด ถ้าอยากทราบว่าเขาจัดรูปวงอย่างไรและมีการผลัดกัน solo อย่างไร ผมแนะนำให้หาเพลง Brandenburg concerto หมายเลข 3 ของวง voices of music ชมกันนะครับ จะทำให้การฟังเพลงในยุคบาโร้กมีอรรถรสมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขั้นตอนสุดท้าย ผมทำการทดสอบเอา step-up transformer ในตำนานอย่าง Western Electric 618B มาใช้งานพ่วงกับ Phonobox ใน MM mode และเทียบกับการใช้ SUT ในตัวของ Phonobox เอง ว่าจะมีความแตกต่างของน้ำเสียงอย่างไรบ้าง เลือกแทร็กทดสอบจากแผ่นของ Patricia Barber ชุด Nightclub เพลง Summer Samba ผม rip เพลงนี้สองรอบ โดยรอบแรกใช้ SUT ในตัว Phonobox ส่วนรอบที่สองใช้ 618B + MM mode เพื่อที่ท่านเมื่อ download แล้วจะได้ฟังกลับไปกลับมาได้อย่างสะดวก
สิ่งที่แตกต่างกันที่จับได้คือ เสียงจากการใช้ 618B จะได้เนื้อเสียงกลาง เสียงร้องที่หนาเข้มข้นกว่า ขณะที่ย่านปลายเสียงแหลม เสียงร้องตัว S ของ Patricia จาก SUT ในตัวของ Phonobox ฟังดูมีมากกว่า เนื้อเสียงที่เปลี่ยนไปอาจเป็นได้จาก หนึ่ง การใช้ SUT ข้างนอกจะต้องต่อสายสัญญาณที่มีทางเดินยาวกว่าการใช้ SUT ภายใน สอง SUT ทั้งสองตัวมีค่า turn ratio ไม่เท่ากัน ทำให้ reflect impedance ที่หัวเข็มมองมายังหม้อแปลงแตกต่างกัน ก็จะมีผลต่อการตอบสนองความถี่ด้วยเช่นกัน แต่ความแตกต่างของเสียงระหว่าง SUT ใน กับ SUT นอก 618B จะมีความต่างถึงสองแสนบาท (ค่าตัวของ 618B เมื่อสักสิบปีก่อน) หรือไม่ ผมว่าไม่ถึงขนาดนั้นแน่นอน แล้วท่านผู้อ่านได้ลองฟังคลิปแล้วมีความเห็นว่าอย่างไรครับ ?
บทสรุป
Phonobox เป็นโฟโนหลอดที่ให้แนวเสียงเช่นเดียวกับรุ่นก่อนหน้านี้ 834P และยังคงเอกลักษณ์แนวเสียงของ EAR คืออบอุ่น เนื้อเสียงมีน้ำหนัก แต่เสียงไม่เอื่อยอืดอาดแบบเครื่องหลอดยุคเก่า และมีรุ่นย่อยหลากหลายให้เลือกใช้งานตามความต้องการและเครื่องที่จะใช้งานร่วมกับมัน ในระดับราคาต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท คงหา phono หลอดที่จะเป็นคู่ต่อกรกับ EAR ได้ยากล่ะครับ ถ้าท่านโชคดีสามารถหา 834P มาเล่นได้ก็แจ๋วครับ แต่ตอนนี้ของใหม่ไม่น่าจะหากันได้แล้ว ส่วนมือสองก็มีแต่คนกอดกันไว้แน่น Phonobox ก็เป็นเสื้อสูทที่ตัดจากนายช่างคนเดียวกัน (Tim De Paravicini) และยังคงความเนี้ยบ ความหล่อของเสียงเหมือนรุ่นอื่นๆ ของ EAR ทุกกระเบียดนิ้ว ถ้ามีงบอยู่ในระดับราคานี้และชอบเครื่องหลอด ผมแนะนำให้ทดลองครับ ไม่น่าจะผิดหวัง. ADP
Phonobox MM/MC, Chrom Panel ราคา 79,000 บาท
Phonobox MM/MC, Black Panel ราคา 59,000 บาท
นำเข้าและจัดหน่ายโดย livingsound
โทร. 089-517-2222
No Comments