นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :

สวัสดีครับคุณผู้อ่าน…

งานแสดงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ระดับโลกที่ “ปัง” สุดใน พ.ศ. นี้ ก็คือ… High End Munich 2018 อยู่ในเครือข่ายของ High End Societyที่มิวนิก โดยจัดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูร้อน ณ สถานที่จัดงาน คือ M.O.C. Messegelande Munchen Convention Center มิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปีนี้ใช้สโลแกนงานว่า‘LISTEN TO the MUSIC’ มีนักร้องสาวใหญ่Kari Bremnes ขวัญใจชมรมหลงเสียงนางเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับมีมินิคอนเสิร์ต ขายแผ่นแจกลายเซ็นด้วย มีรูปประชาสัมพันธ์ทั่วเมืองกันเลยทีเดียว

งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านมา โดยวันที่ 10งานวันแรกเป็นวัน Trade Day สงวนไว้สำหรับคุยธุรกิจระหว่างผู้ผลิต ผู้นำเข้า รวมถึงสื่อมวลชน (Press) จากทั่วโลก ส่วนที่เหลืออีก 3 วันเป็นรอบบุคคลทั่วไป งานเริ่มเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น. วันสุดท้ายเลิกเร็วกว่าปกติ คือปิดงาน 15.00 น. เท่านั้น ซึ่งต่างจากบ้านเรา นักเล่นมีเวลาเดินในงานนานกว่าบ้านเขานะครับ

อย่างที่ทราบว่างานระดับนี้ ผู้นำเข้า, ตัวแทนจำหน่าย รวมถึงนักเล่นชาวไทย พากันบินไปชมงานอย่างคึกคัก บก.บห. และทีมงานออดิโอไฟล์/วิดีโอไฟล์ ได้บินไปร่วมสังเกตการณ์งานโชว์เครื่องเสียงระดับโลกในฐานะสื่อเช่นกัน

Infrastructure & Environment

งานโชว์เครื่องเสียงระดับโลกอย่าง High End Munich 2018 นี้ จัดใน Convention Center ตั้งอยู่นอกเมือง ใช้เวลาเดินทางจากที่พักราว 45 นาที ขึ้นรถไฟสาย U6 มาลงรถไฟที่สถานี Kiefergarten แล้วเดินไปหน่อยก็ถึง อากาศเย็นสบายชิลๆ ลงทะเบียนครั้งเดียวเข้างานได้หลายวัน มีสูจิบัตร แต่เป็นภาษาเยอรมัน โชคดีที่มี app ภาษาอังกฤษเป็นลายแทงให้ทำการบ้านก่อนล่วงหน้าบ้าง ทุ่นแรงไปเล็กน้อย

งานโชว์มีขนาดใหญ่ บนพื้นที่ราว 30,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนแสดงใน HALL 1 – 4 ซึ่งอยู่ชั้นล่าง ผู้ออกงานจะอยู่ในโถงที่ต้องกั้นให้เป็นเป็นสัดส่วนเอง โดยใช้ทีมมืออาชีพมาติดตั้งเตรียมงานก่อนวันงาน มีทั้งที่เป็นห้องฟัง, ดิสเพลย์, บูธ หรือ Outlet ด้วย ในแต่ละฮอลล์มีร้านค้าและผู้ผลิตมาออกงานร่วมร้อยแห่งทั้งสิ้น ผมชอบตรงที่ตั้งชื่อทางเดินเป็นชื่อศิลปินดังๆ อย่างเช่น Joe Cocker Street, Keith Jarrett Street หรือ Miles Davis Avenueเป็นต้น อีกส่วนเป็นการแสดงที่อยู่ในห้อง ซึ่งศูนย์ประชุมกั้นห้องเป็นสัดส่วนอย่างถาวรไว้แล้วอีก 3 โซน แต่ละโซนมีห้องประมาณมากกว่าครึ่งร้อย ในส่วนที่เรียก Atrium 3.1, Atrium 4.1 และAtrium4.2 สามารถเดินทะลุถึงกันได้หมด ตั้งอยู่บนอาคารชั้นบนถัดขึ้นไป มีความสะดวกสบาย เพราะมีบริการเครื่องดื่ม อาหารการกิน ห้องน้ำสะดวก ทุกอย่างดีไปหมด ที่ขัดใจนิดหนึ่งก็ตรงส่วนบนของอาคาร ซึ่งโครงสร้างเป็นกระจกรับแสงธรรมชาติ ด้วยความที่เป็นเมืองหนาว ดูเหมือนระบบปรับอากาศไม่ได้เตรียมไว้สำหรับวันที่อากาศร้อน โดยเฉพาะ Atrium 4.2 ยิ่งผู้ชมงานเข้ามาในห้องฟังจำนวนมากด้วยแล้ว อึดอัดมาก ทำให้อยู่ในห้องได้ไม่นาน ต้องออกไปสูดอากาศภายนอกเสียทุกครั้ง หรือว่าจะเป็นทริกให้ไม่ต้องนั่งยาว ให้โอกาสคนอื่นฟังบ้าง!!!

โดยรวมแล้วมีร้านค้า ผู้ผลิตสินค้า เจ้าของแบรนด์โดยตรงจากทั่วโลก ผู้นำเข้า มีทั้ง Hardware, Software, Accessories ที่มาออกงานน่าจะราวๆ 4 – 5 ร้อยรายน่าจะได้ แบรนด์คงเป็นพันแน่ๆ เดินกันจริงๆ ต้องมีไม่น้อยกว่าสามถึงสี่วันถึงจะทั่ว ผู้ชมที่มาชมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย นักเล่นวัยเก๋าก็เยอะ ผู้หญิงมีพอประมาณ วัยรุ่นก็มีไม่น้อย หลายคนถามว่าพอมีพริตตี้ให้เห็นบ้างไหม ก็พอมีนะ โชว์ในบ้านเราสวยน่ารักกว่าแฮะ

Trendy

มีพรรคพวกในแวดวงแซวว่า งานไฮเอ็นด์ที่มิวนิกนั้นไม่เหมาะกับผมหรอก ไปก็คงไม่สนุก เพราะเขาไม่นิยม Digital Audio เขาเล่นกันแต่เทิร์นฯ ก็ได้แต่นึกค้านในใจว่า… ใช่หรา จริงอยู่ที่เราจะเห็นเทิร์นเทเบิ้ลในหลายๆ ส่วนของงาน เนื่องจากกระแสแผ่นดำกลับมา มีบูธขายแผ่นประปรายปนอยู่ในบูธไม่แยกโซน เทปรีลก็มี ส่วนแผ่น CD ดูจะเงียบงันไปนิดแต่ก็ยังมีค่ายโอ้ฟายมาตั้งเองอย่าง Chesky, STS, Reference Recordings เป็นต้น แต่ที่ไม่ได้โชว์อวดโฉมโฉ่งฉ่างไม่ใช่ไม่มี แรงแซงโค้งในทุกฟอร์แมตก็คือ ดิจิทัล ออดิโอ นี่แหละ ถ้าจะให้เล่าละเอียดสงสัยหน้ากระดาษจะไม่พอล่ะมั้ง

เย่… คำว่า DAC, Hi-Res, DSD/DXD เป็นเรื่องปกติที่คุยกัน CAS (Computer As Source), Music Server, Streamer, Streaming service (Spotify, Tidal, Qobuz), Roon, MQA, เครื่องเสียงแนว All In One หรือลำโพง Active แบบ Smart Speaker รวมถึงกลุ่ม Headphile เป็นเทรนด์ที่มาแรงฉุดไม่อยู่ ก็เพราะไฮเอนด์มิได้สงวนไว้สำหรับคนรวยหรือเหล่า สว. นี่ครับ สมกับสโลแกน ‘LISTEN TO the MUSIC’ จะเห็นเทรนด์ คำพูด หรือโลโก้ เหล่านี้แทรกไปทุกที่กับสินค้าเครื่องเสียงแนวนี้แทบจะทุกแบรนด์ในยุคนี้ไปเสียแล้ว …สิน่า

Mixed and Matched

ทีเห็นสะดุดตาก็คือว่า อุปกรณ์ในห้องโชว์ไม่เฉพาะเจาะจงต้องเป็นค่ายเดียว ซึ่งบ้านเราเองระยะหลังมานี้ก็เริ่มมีระบบพันธมิตรบ้างเหมือนกัน ที่มิวนิกนี่เห็นกันเกลื่อนตาที่เจ้าของห้องจับฟรอนต์เอ็นด์กับลำโพง หรือแอมป์ยอดนิยมที่เห็นประจำการในห้องโชว์หลายๆ ห้อง อาทิ เครื่องเล่นฟรอนต์เอ็นด์อย่าง Aurender, dCS หรือลำโพง B&W D3 ซีรี่ส์หลายๆ รุ่น ที่เป็นหนึ่งในลำโพงยอดฮิตไม่น้อยกว่า WilsonAudio รุ่นกลางๆ ที่ใช้ร่วมกับซิสเต็มอื่น แอมป์ไฮเอ็นด์ อย่าง Moon, Dan D’Agostino Momentum ก็เห็นหลายตัว หรือแอมป์สัญชาติเดนมาร์ก Vitus Audio นี่เรียกว่าฮอตเลย เห็นประจำการในห้องหลักอยู่ถึงสี่ห้องเลยทีเดียว

Products Hi-Light

High End Munich คือเวทีใหญ่ของแบรนด์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่จะมาเปิดตัวสินค้าประชันกันในงานโชว์ระดับนี้ทั้งสิ้น ทุกปีเป็นที่จับตาของนักเล่น สื่อทั่วโลก ว่าจะมีสินค้าอะไรเปิดตัวใหม่กันบ้าง ในฐานะ Insider ต้องทราบอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องวางแผนดีๆ เพื่อที่จะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในอีเวนต์นั้นให้ได้มากที่สุด ท่านที่เป็นสมาชิกแฟนเพจของ Audiophile/Video­phile คงได้ชมกันบ้างแล้ว ผมจะสรุปให้ทราบแบบย่อๆ ดังนี้…

เริ่มจากวันแรกของงานที่เรียกว่า Trade Day

เราไปถึงงานตั้งแต่เช้าเพื่อร่วมงานการนำเสนอลำโพง Dynaudio Confidence เจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะรีลีสสู่ตลาดในปลายปี 2018 กว่าจะเข้ามาถึงเมืองไทยอย่างช้าก็คงราวต้นปีหน้านี้ Dynaudio Directivity Control (DDC) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อใช้ในรุ่นEvidence ที่ได้ติดตั้งลงในรุ่นรองในตัวตู้ Confidenceมาพร้อม Tweeter และ Driver แผงหน้าชนิดใหม่ด้วย รีลีสออกมา 4 รุ่น Confidence 60, 50, 30 และวางขาตั้ง คือ Confidence 20 คู่ที่เปิดโชว์คือ รุ่น Confidence 60 ลำโพงที่มีตัวตู้แบบ Down Firing จัดวางง่าย โดยใช้แอมป์ Moon กับ NAD M 50.2 เป็นเครื่องเล่น ให้เสียงเบสลึก น่าทึ่งมาก

ห้องใกล้ๆ กัน… Dan D’Agostino ป๋าแห่งวงการเผยโฉม Dan D’Agostino “Relentless” เพาเวอร์แอมป์ Mono­block ตัวเบิ้ม ขนาด 22.5 x 11.5 x 32.5 นิ้ว (WxHxD) หนักอึ้งร่วม 500 ปอนด์ ให้กำลังขับ 1500 วัตต์/แชนเนล Class AB และ 100 วัตต์ Class A แอมป์ใหญ่ด้วยโครงสร้างอะลูมิเนียมและทองแดง ออกแบบอย่างสุดหรูในสนนราคา250,000 เหรียญ รีลีสออกมาโดยมีเป้าหมายสำหรับผู้เป็นเจ้าของลำโพงบิ๊กเบิ้มอย่าง Wilson Audio WAMM เป็นต้น คาดว่าจะมีปรีแอมป์ในคลาสเดียวกันถูกรีลีสตามออกมา คงต้องรอดูว่าจะอลังสักเพียงไร

ถึงเวลาที่ Mr. Peter Thomasบอสใหญ่แห่ง PMC ได้เปิดตัวลำโพง Passive รุ่นเรือธงสุดหรู ล่าสุดที่ชื่อ FENESTRIA ซึ่งอยู่ในเรนจ์ PMC FACTที่ทำเพื่อฟังเพลงโดยเฉพาะ ตัวตู้เล็กสลิม สูงเกือบสองเมตร ออกแบบใหม่หมด อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี Advanced Transmission Line (ATL™) bass-load­ing technology สินค้าจะวางขายราวไตรมาสที่ 4 ของปีน

ในฮอลล์ด้านล่าง Mr. Laurence Dickie ได้เปิดตัวล?ำโพง Vivid Audio ‘KAYA’ ลำโพงซีรี่ส์ใหม่ KAYA อยู่ในเรนจ์เดียวกับ OVAL โดยออกแบบให้มีท่อExponential Absorber เหมือนใน GIYA แต่หลบอยู่ด้านในตัวตู้ ซึ่งทำให้ดูเล็กกะทัดรัดลง รูปทรงเรียบง่ายขึ้น ขณะนี้รีลีสออกมาสามรุ่นคือ KAYA90, KAYA 45 และ KAYA25 ซึ่งเป็นลำโพงวางพื้นทั้งสิ้น ตัวโชว์ก็ใช้อินทิเกรตแอมป์ Jeff Roland: Daemon ที่มาพร้อมกับ WiFi plug-in streaming moduleที่เพิ่งรีลีสในมิวนิกนี้ ตามความต้องการของตลาด

ห้องของ Chord Electronics Mr. John Franks กับคู่หู Mr. Rob Watts เปิดตัว Hugo TT (Table Top)มีความสามารถสูงกว่า Hugo ตัวเดิมถึง 5 เท่า และสูงกว่า Hugo 2 สองเท่า รองรับ 768kHz PCM และ DSD 512 playback เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่จะเป็นทั้ง DAC, Preamplifier & Head­phone amp ในตัวเดียวกัน

นอกจากนั้นยังได้เปิดตัวเพาเวอร์แอมป์สเตริโอไซส์เล็ก Chord: Étude ขนาดเท่ากับ DAVE อยู่ในเร้นจ์ของ Coral มีกำลังขับ 150 วัตต์ต่อข้างที่ 4 โอห์ม และบริดจ์โมโนได้ก?ำลังขับ 300 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม วงจรใช้ทรานซิสเตอร์ MOSFET เอกสิทธิ์เฉพาะของ Chord

ณ Focal/Naim Pavilion ที่ใหญ่โตกว้างขวาง เนืองแน่นไปด้วยสื่อมวลชนและตัวแทนจากทั่วโลก มีดิสเพลย์สินค้าในค่าย Focal ลำโพงรุ่นเรือธงในเรนจ์ Utopia ถูกรีลีสเมื่อ 10 ปีมาแล้ว จนถึงปีนี้ได้เปิดตัว Focal Utopia Evo สองรุ่น คือ… Grande Utopia เปิดตัวในวันนี้ ให้เสียงดีกว่ารุ่นเดิมชนิดน่าตกใจมาก และ Stella Utopia ที่เปิดตัวในวันก่อนหน้านี้ เดินออกมานอกห้องมีหูฟัง Focal Utopia เป็นทองทั้งตัวลายใหม่ แต่ไม่ได้ประดับเพชร ซึ่งดูดีและหรูมากเช่นเดิม

ในโซนเดียวกัน Naim ในร่มชายคาเดียวกันกับ Focal ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับผลิตภัณฑ์ในตระกูล UNITI ก็ทำเอาเซอร์ไพรส์ เผยตัว Network Player รุ่นใหม่ถึงสามรุ่น คือ ND5 XS 2 ,NDX 2 และ ND 555 เป็น Network Player รุ่นแรกใน Naim 500 Series ที่เป็นรุ่นใหญ่ใน Product Line ของ Naim ที่ซุ่มวิจัยพัฒนามาถึงสามปี กับดิจิทัลออดิโอที่เคลมว่าได้ผสมผสาน DSP ระดับ State-of-the-Art ที่ยังเต็มไปด้วยจิตวิญญาณอะนาล็อก อันเป็นอัตลักษณ์จาก Naim ในรูปแบบคลาสสิก ซึ่งนักเล่นหูทองออดิโอไฟล์จะต้องรักมัน นี่ก็ต้องรอกำหนดรีลีสในตลาดเป็นทางการต่อไป

สินค้าอื่นๆ ที่สะดุดตาขณะที่เราเดินชมจะพบว่ามีลำโพงตู้ยักษ์ ลำโพงฮอร์นก็หลากหลาย หน้าตาแปลกๆ บางคู่แปลกจนคิดว่าให้มาตั้งในห้องฟังจะเอาไหม เครื่องราคาระดับนับสิบล้านมีหลายชุดเชียวครับ ทั้งจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น อย่างของ G.I.P Labs ที่ขนข้ามน้ำข้ามทะเลมา หรือจากไต้หวัน และเกาหลีอย่าง Aurender และอื่นๆ อาทิ SotM, Fidata, Auralic รุ่นAries G1, Vega G2 และ LEO GX – รุ่นรองจากเรือธงอย่าง G2 ที่ง่ายหน่อย

ส่วนที่ขนกันมาเพียบเท่าที่สังเกตจะเป็น Local Brand บิ๊กเนมอย่าง AVM, Accustic Arts, AudioNet, T+A ที่แปะ Roon ready หรา, Canton, Transroter หรือ Clearaudio ค่ายเทิร์นล้วน จัดเต็ม ขนสรรพกำลังมาเพียบ หรืออย่างเช่น Burmester ที่ตรงบริเวณ ATRIUM 3.1 นำเสนอแอมป์ตัวเป้งกับลำโพงรุ่นใหญ่ เป็นห้องที่คนฟังแน่นตลอด อีกห้องข้างๆ กันของ Hegel ที่นำเสนอ H590 อินทิเกรตแอมป์รุ่นเรือธงตัวเบ้งราคาสูง ที่มาพร้อมกับ DAC ชั้นดี และรองรับ DLNA ด้วย ขับกับลำโพง KEF Blade ตัวล่า ซึ่งห้องเดียวกันนี้ KEF L50 Wireless ก็ทำให้ผู้ชมได้อึ้งกับเสียงของมัน

ส่วนแบรนด์กลางๆ หลายห้อง ก็เป็นห้องที่คราคร่ำไปด้วยฝูงชนที่มาเดินงานเช่นกัน อย่าง Octave กับลำโพง B&W หรือ Zellatonขน Statement ลำโพงรุ่นเรือธงที่มีสี่ตู้ น่าเกรงขาม ราคาคงดุตาม, Manger Audio นำเสนอ P2 ลำโพงตั้งพื้นรุ่นสูงสุด มาพร้อม Passive Radiator สองดอก ทำให้เบสแน่นกระชับขึ้น Manger คงเป็นตำนานบทหนึ่งในลำโพงไฮเอ็นด์จากนวัตกรรมของการสร้างไดรเวอร์พิเศษที่ให้เสียงแบบฟูลเรนจ์ ซึ่งมีสปีดเสียงที่ฉับไวสมจริง P2 ได้รับการปรับปรุงจาก P1 โดยปรับเปลี่ยนวูฟเฟอร์ใหม่ที่เกิดการเบรกอัพน้อยลง และมีความเพี้ยนต่ำลงในขณะที่รับกำลังได้สูงขึ้น, เจ้าถิ่นอย่าง Gauder Akustik นำเสนอ DARC Series ลำโพงตู้อะลูมินัมคู่ใหม่ ขนาดใกล้เคียงกับ RC7 ค่าตัวน่าจะสูงพอควร แน่นอนว่าเครื่องเสียงค่ายยุโรปก็มากันพร้อมหน้า แม้แต่จากยุโรปตะวันออกที่มีสินค้าดีไซน์แปลกตาให้เห็น

นอกจากสินค้าจากเจ้าบ้าน รวมถึงผู้ผลิตในยุโรปแล้ว ค่ายเอเชียก็ผงาด พี่ยุ่น พญามังกร กิมจิ ตี๋เล็ก เรียงหน้าท้าชน ส่วนเครื่องเสียงอเมริกันก็คงไม่ยอมเช่นกัน เรียกว่าคึกคักทั้ง McIntosh, Audio Research, Pass Labs, Dan D’Agostino ขนมาเพียบ จากสวิสก็มี CH Precistion, Soulution, Nagra เป็นห้องที่น่าตื่นตาตื่นใจนำเสนอ HD Preamp, Reel2Reel .. Nagra HD DAC, Nagra TA CDP R2R tape deck คือทั้งตัวเล็กตัวโต DAC แอมป์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ อีกเพียบ น้ำหนักรวมน่าจะเป็นตัน ชุดหลักใช้ลำโพง Wilson Audio เสียด้วย, Merging NADAC เป็นเครื่องเสียงแนวดิจิทัลสัญชาติสวิส จัดโชว์แบ่งเป็นสองบูธ คือ 2 แชนเนล และ 5.1 แชนเนล

Pioneer, Esoteric, TAD มีห้องโชว์ที่ทำเป็นสัดส่วน มีพื้นที่กว้างขวาง เน้นตั้งแต่ DAP เครื่องเล่นพกพาที่รองรับ Hi-Res, MQA อินทิเกรตแอมป์ หรือโซน Hi-End ก็มีชุดใหญ่ของ Esotericมาทั้งชุด จัดวางให้ฟังกัน

ห้องของ dCS ที่บัดนี้ dCS เล่น MQA ได้แล้ว นำเสนอ dCS Rossini, Dan D’Agostino และลำโพง Wilson Alexia2 พูดถึง WilsonAudio ได้รีลีสลำโพงตู้เล็กที่เรียกว่า Wilson ToneTOTเป็นลำโพงวางหิ้งเล็กๆ, Request Audio ผู้ผลิต The BEAST Music Server เปิดตัวรุ่นน้อง The Raptor ส่วน MSB ผ่า Select DAC ให้ดู ในโอกาสฉลอง 50th Anniversary, Cambridge นำเสนอEDGE ที่จัดเต็มมาสามรุ่น คือ EDGE A ,EDGE NQ Preamp/Network Player, EDGE W Power Amp ทั้งสามดูขึงขัง ดุดันเชียว

และด้วยเพราะความต้องการของยุคนี้ Moon จากแคนาดาก็เลยนำเสนอ Moon 390 Streaming DAC/Preamp ที่จัดเต็มมาพร้อมกับฟังก์ชั่นของ MiND 2 (Moon intelligent Network Device) ที่รองรับ MQA และ Streaming services ระดับแถวหน้าอย่าง (Tidal, Deezer, Qobuz), Bluetooth aptX, สุดท้ายก็ต้องเป็นเครื่องเล่น Roon Ready ด้วยสิ

Ayre Acoustics ค่ายไฮเอ็นด์อเมริกันเสนอ Series 8นำเสนอ EX-8 Integrated Amplifier อินทิเกรตแอมป์เป็นอะไรที่ทุกคนต้องเล่น จึงเป็นโพรดักต์ตัวแรกที่ถูกรีลีสออกมาในขณะนี้ มีกำลังขับ 100 วัตต์ พร้อมด้วย Analog Volume มาพร้อมกับ Digital Board ที่มาพร้อมฟังก์ชั่น DAC/Streaming นั่นเอง, ส่วน QX-8 Digital Hub ใช้ Digital Board ชุดเดียวกันกับ EX-8 และปรีแอมป์ KX-8 ซึ่ง QX-8 ติดตั้ง Digital Volume Control สามารถต่อตรงๆ กับเพาเวอร์แอมป์ได้เลย, KX-8 Pre Amplifier ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่น Digital Board ด้วย

แบรนด์จากสแกนดิเนเวียก็มากันเยอะ อย่างเช่น Vitus Audioที่นอกจากถูกเลือกประจำการในหลายห้องแล้ว ก็ได้นำเสนอรุ่นRI-101 อินทิเกรตแอมป์ตัวใหม่ที่อยู่ในเร้นจ์ Reference ปรับปรุงจาก RI-100 ที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย มาในรูปลักษณ์และขนาดตัวถังเท่าเดิม ภาคปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้คุณภาพเสียงดีขึ้นในทุกๆ ด้าน จึงมั่นใจได้ว่า RI-101 จะสืบทอดตำนานของแอมป์ระดับไฮเอ็นด์จาก Vitus Audio ไปอีกนาน

Dali เป็นแบรนด์ที่ทำห้องได้เก๋มีสไตล์ กับฟังก์ชั่นไร้สายครบวงจร นำเสนอ Callisto 6C Wireless Floor Stand เป็นลำโพง Smart Speaker แบบวางพื้นที่อัดด้วยเทคโนโลยีของ BluOS เช่นเดียวกับ BluSound/NAD นั่นแหละ, และได้พบกับบอสใหญ่ของ Amphion กับล?ำโพงรุ่นใหญ่ Krypton 3 รวมถึงลำโพงรุ่นรองหลากหลาย, EMM Labs มาพร้อมกับโพรดักต์ตัวใหม่คือ EMM DV2 (DAC with volume) โดย DV2 ได้รวมฟังก์ชั่นของ DA2 และ PRE 2 อยู่ในตัวเดียวกัน น่าสนใจมาก, Mytek มีบูธใหญ่ในฮอลล์ ขนมาหลายรุ่น จัดเต็มไปด้วย MQA ที่กำลังฮอต, Roon Labs มีบูธเล็กๆ นำเสนอรุ่น Nucleus และให้รายละเอียดโดย Steve Silberman เจ้าเก่าสต๊าฟของ Roon เอง

ลำโพงสวิส Goldmund Satya ดูผิวเผินหน้าตาก็แทบไม่ต่างรุ่นที่เคยเห็น ราคาดุตามค่าเงินฟรังก์สวิส, ลำโพงฮอร์นต้องกับห้องที่สวยเสียงดีอย่าง Living Voice ที่มีถึงสองห้อง, อีกห้องของแบรนด์เจ้าบ้าน Avantgarde Acoustics ที่เดโม่ชุด Limited-Edition version ของ Long-Standing Trio Loudspeaker ลำโพงฮอร์นที่ราคาไม่ดุนัก ตกแต่งห้องได้บรรยากาศ จัดที่นั่งให้นั่งฟังสบายๆ ผู้ชมเพลิดเพลินนั่งกันยาวๆ, Cessaro Horn Acousticsที่มาพร้อมกับลำโพงฮอร์น 5 ทาง ที่ชื่อ “Zeta” ที่หล่อและเสียงดี

ในฮอลล์ด้านล่างจะพบกับบูธหูฟังหลากหลายแบรนด์ แบรนด์ใหญ่อย่าง Sennheiser, Stax กับอีกหลายๆ แบรนด์นั้น จัดเต็ม ขนมาเพียบ ส่วนที่น่าแปลกใจคือ Viva Audio ไม่ยักเห็นลำโพง Master Horn เหมือนที่มาโชว์ใน BAV Hi-End Show 2018 แต่กลับเห็นชุดแอมป์หลอดในห้องฟัง รวมถึง Headphone amp, ดีไซน์สีสันสด ใช้หลอด 300B Triode คุยกับเขาบอกว่าไม่ได้ห้อง ก็เลยต้องจัดชุดเล็ก, ใครจะเชื่อว่าได้เจอ Tim de Paraviciniที่เก๋ากับเทปรีลและโฟโนสเตจ แต่กลับได้พบกับ Headphone ตัวแรกของเขา ต้องยอมรับว่าหูฟังแรงจริง คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า DAP/Hi-Res Player หรืออุปกรณ์อื่นที่สนับสนุนแนวทางนี้มากมายเหลือเกิน

เส้นสายและระบบไฟเพื่อเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ก็เป็นเรื่องสำคัญ แบรนด์อย่าง Isotek, Shunyata หรือ StormTank มาอย่างใหญ่หลายรุ่น, เส้นสาย Nordost นี่ขนมาทุกรุ่น, AudioQuest ทำเท่ หันหลังเครื่องเสียงทั้งซิสเต็ม โชว์สายที่ต่อพ่วงกันไว้ด้วยสาย AudioQuest เป็นการนำเสนอที่เห็นภาพดี

สุดยอดลำโพงสัญชาติสวิส Stenheim รุ่น Reference Infinite ล?ำโพงในระดับเรือธงพร้อมซับวูฟเฟอร์ ซึ่งวางจำหน่ายแล้ว ตัวตู้ขนาดใหญ่ถึง 4 ตู้ของรุ่น Reference Statement โดย Stenheim ได้ลดจำนวนตู้ลงเหลือเพียง Reference Ultime Passive เพียง 1 คู่ แต่เพิ่ม Active Subwoofer อีก 2 ตู้ เพื่อให้เสียงต่ำลึกเทียบเท่ารุ่น Reference Statement แต่มาในขนาดที่กะทัดรัดขึ้น แน่นอนว่า Reference Infinite นั้นคือหนึ่งในลำโพงระดับสุดยอดของโลกอีกรุ่นหนึ่ง ไม่ยอมน้อยหน้าขาเก่าอย่าง Marten Coltrane Memento 2 ลำโพงตู้เบ้ง ขับโดย Vitus Audio MP-S201 Stereo Amplifiers ที่บริดจ์เป็นโมโน จริงๆ ในงานก็ยังมีลำโพงตู้สูงๆ อยู่หลายคู่เหมือนกัน

นักเล่นแนวโต๊ะหมุนต้องถูกใจ EMT, SME ที่เพิ่งควบรวม Garrard ไว้แล้ว นอกจากนั้น TechDAS, Kronos, Clearaudio จัดใหญ่มีกิจกรรมมากมาย, Rega บูธกว้างใหญ่ไม่เบา รีลีสรุ่นพิเศษ Yellow Submarineสีเหลืองสวยเชียว นักเล่นต้องชอบแน่ๆ

ไม่ลืมที่จะไปแวะทักทาย Daniel Weiss เจ้าสำนัก Weiss Engineeringที่มี LIVE BOX ลำโพง Smart Speaker ที่แอบสุ่มพัฒนา ซึ่งยังไม่รีลีส แต่นำเสนอ Weiss รุ่น DSP 501/502 DSP รุ่นแรกจาก Weiss คาดว่าจะวางจำหน่ายปลายปี 2018 สามารถนำไปใช้ได้กับ DAC ทั่วไป อาทิ MEDIA, MEDUS หรือตัวอื่นๆ และในที่สุดเสียงเรียกร้องก็ได้รับการตอบรับ DSP 501/502 มาในตัวถังเท่ากับ DAC 501/502 อย่างไม่ผิดเพี้ยน ฟังก์ชั่นDSP ได้แก่ Vinyl Emulation, Creative EQ, Room EQ, XTC 3D และแน่นอนว่ารองรับอนาคตสบายๆ

วันสุดท้ายแวะไปคุยทักทายกับหนุ่มผมยาว Holger Adler เจ้าของห้อง Voxativ ซึ่งนำเสนอ Arpeggio X Loudspeakers ที่ใช้ไดรเวอร์ Voxativ Fullrange ขนาด 8” รุ่น AC-XP Field-coil drivers เซอร์ราวด์ของไดรเวอร์เป็นหนัง กรวยเป็นไม้ ขับด้วยอินทิเกรตแอมป์หลอดไตรโอด 211 ของ Voxitiv รุ่น T-211 ห้องโชว์นี้อยู่ในฮอลล์ATRIUM 4.2 เป็นหนึ่งในห้องที่เสียงดี แต่นั่งนานไม่ไหว อากาศร้อนและอึดอัดมาก ต้องขอตัวก่อนล่ะ

สุดท้ายที่ไม่ลืมแวะ Sugden อยู่ในฮอลล์ชั้นล่าง และเรายังพบกับบูธของ Mr. Todd Garfinkle แห่ง MA Recordings ที่ออกบูธร่วมกับ Fideliz­er เครื่องเสียงแบรนด์ไทย ผลงานของ น้องนนท์ ผู้ผลิตเครื่องเสียงคนไทยคนแรกในงาน Munich ที่นำNimitra Music Server ไปร่วมโชว์ด้วย

Wrap Up

งานที่มิวนิกเป็นงานเครื่องเสียงที่ “ปัง” ขนาดนี้ ต้องบอกเลยว่าเป็นงานโชว์ที่ดีมากจริงๆ มีสินค้าหลากหลายทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้องโชว์จะเสียงดีกว่างานโชว์ที่อื่นหรอกนะ เช่นเดียวกับงานไฮไฟโชว์อื่นๆ แบรนด์ใหญ่ๆ จะเจอปัญหาเดียวกันคือ ฝูงชนที่เข้าไปอัดในห้องแน่น จนมองไม่เห็นตัวเครื่องที่อยากเห็น ยิ่งฝรังตัวโตๆ ยืนบังเราจนมิด โดยเฉพาะวันศุกร์ถือว่าพีคสุด สาหัสมาก วันเสาร์ค่อยยังชั่วหน่อย คนน้อยลงแต่ก็ไม่ถึงกับบางตาหรอกนะ ห้องฟังในงานโชว์ก็คงไม่ต่างจากบ้านเรานัก เสียงห้องในศูนย์นิทรรศการอาจไม่ใช่ที่จะมานั่งฟังเพื่อจับผิดหรือฟังเอาเรื่องด้วยซ้ำการเซ็ตอัพที่ไม่ลง บางห้องเสียงก็งั้นๆ คนก็ยังแน่น อย่าหงุดหงิดที่มีคนเดินเข้าออกห้อง เสียงพูดคุยเสียงดังรบกวนก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ดีกว่าฮ่องกงที่หนักกว่านี้ หลายๆ แบรนด์โชว์แห้งซะก็เยอะ ก็ไม่แปลกเพราะเป็นงานโชว์นวัตกรรมล่าสุด บางห้องเห็นว่าไม่มีสินค้าตัวใหม่ ยังไงก็ต้องมาออกงาน มิฉะนั้นจะโดนคนอื่นเสียบ ประมาณว่าพื้นที่มีจำกัด “ลุกเสียม้า” กันเลยนัยว่าบูธหรือห้องนี่หายากยิ่งกว่าทองเสียอีก จองข้ามปีกันเลยทีเดียว

เล่นเครื่องเสียงก็ต้องเดินงานเครื่องเสียง อย่างน้อยเพื่อพบปะคนคอเดียวกัน ผมงี้เจอเป็นสิบ เฉพาะคนไทยก็แทบเกินแล้ว คนระดับ Hi-Fi Iconic ไหนจะเจ้าของแบรนด์ที่เคยมาเมืองไทย รวมถึงที่เพิ่งพบในมิวนิก นี่ก็คุ้มค่าเครื่องบินแล้วครับ แค่นี้ก็สนุกแล้วครับ จัดงานที่ทำให้คนมาเดินในงานจากทั่วโลก ในแง่ของเจ้าของห้อง โดยเฉพาะเจ้าของงาน Hi-End Society ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ต้องชมว่าการบริหารจัดการดีเยี่ยม โอกาสหน้าหวังว่าจะได้มาเยือนอีกครั้ง หิวแล้วไปหาขาหมูย่าง จิบเบียร์แก้กระหายหน่อยดีกว่า. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 257