THEATER HOUSE
นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :
ปัจจุบันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของระบบเสียงและระบบภาพสำหรับโฮมเธียเตอร์ที่ให้ความแตกต่างอย่างผิดหูผิดตา อีกทั้งผู้ใช้งานก็ให้ความสำคัญกับการทำห้องโฮมเธียเตอร์อย่างจริงจังมากขึ้น สำหรับ คุณพีรพล เกษมสุทธิ์ หรือ “คุณหนุ่ม” ได้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์อย่างเต็มตัว ในฐานะ CEO ของ Theater Houseบริษัทผู้เชี่ยวชาญระบบเสียงและระบบภาพชั้นนำของเมืองไทย ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจอย่างสูง จนต้องขยายพื้นที่โชว์รูมออกไปอีกหลายพันตารางเมตร
วันนี้ เราจะมาพบกับ คุณพีรพล เพื่อฟังแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และพาชมห้องโชว์ใหม่ที่สวยงามที่เพิ่งตกแต่งเสร็จ สดๆ ร้อนๆ ครับ
Theater House Co., Ltd เรียกว่าเป็นบริษัทรับเหมาครบวงจรก็ไม่ผิด มีเป้าหมายเพื่อรังสรรค์ Home Entertainment หรือห้องดูหนังฟังเพลงสำหรับบ้าน “แนวใหม่” ด้วยการวางคอนเซ็ปต์ใหม่สด ให้ความ “แตกต่างของงานในธุรกิจแนวเดียวกัน” ถือว่ากำลัง “ร้อนแรง” ทีเดียว และนับเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำเอาวิธีการออกแบบโดยใช้โปรแกรม3D มาเขียนภาพเสมือนจริงนำเสนอ ด้วยรูปแบบการจัดห้องให้มี “ความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย” โดยคำนึงความถูกต้องทางด้านอะคูสติกส์ ระบบแสง สีสันของห้อง เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่มาของไอเดียต่างๆ เหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ในวงการเครื่องเสียงของ คุณพีรพล ล้วนๆ นอกจากนั้นยังใส่ใจในรายละเอียด ให้บริการครบวงจร ทำงานประณีต ตรงเวลา จึงได้รับการตอบรับดีมากจากลูกค้า ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว มีงานล้นมือจนต้องขยายห้องโชว์จนครอบครองอาณาบริเวณเกินสิบห้องไปแล้ว
ตัวตน
ผมก็มีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับคนอื่นทั่วๆ ไป ที่เป็นนักเล่นเครื่องเสียงมาก่อน พอเริ่ม “ติดใจ” เลยซื้อเครื่องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อบ้าง เปลี่ยนบ้าง แถมแต่ละชิ้นก็เริ่มราคาสูงขึ้น โดยที่ระยะหลังๆ อุปกรณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ เราเองทำธุรกิจตกแต่งภายในอยู่แล้ว บ้านยี่สิบล้านขึ้น สังเกตว่าทุกบ้านมีแปลนห้องโฮมเธียเตอร์หมด แต่เขาอาจจะเรียกห้องโฮมเอ็นเตอร์เทน หรือจะเป็นห้องคาราโอเกะก็ได้ เขาจะมีไอเดียอยู่แล้วตั้งแต่แรก ปัญหามีอยู่ว่า เขาไม่รู้จะให้ใครทำเอาทีมอินทีเรียร์เดิมๆ มาทำก็จะได้ผลไม่ดี มองแต่ฟังก์ชั่นเท่านั้น แต่ไม่ถูกหลักอะคูสติกส์เอาเสียเลย มันผิดหมด จากประสบการณ์ที่เราเล่นมา 20 – 30 ปี มันไม่ใช่เลย จากการที่เราทำอินทีเรียร์อยู่ก็เห็นว่าตลาดตรงนี้มีช่องว่างอยู่ เราจึงมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้
ย้อนกลับไปราวสิบปี โฮมเธียเตอร์เองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ DTS-HD MASTER AUDIO 5.1, 7.1 จนล่าสุดกลายมาเป็น Dolby ATMOS 7.1.4, DTS:X ตัวห้องเองก็ต้องพัฒนาตาม จากสิบปีที่ผ่านมาระบบมันง่ายขึ้น ถูกลง ใช้งานได้หลากหลาย คาราโอเกะก็ได้ ดูดาวเทียมได้ ฟังเพลงแบบ Streaming ได้อีก ทำอะได้หลากหลาย โฮมเธียเตอร์เป็นโรงหนังส่วนตัวที่เราดูแล้วอยากหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ความต้องการมีค่อนข้างสูงเหมือนกัน ผู้รับเหมางานอินทีเรียร์ทั่วไปทำก็มักมีปัญหา เราจึงมาอุดช่องว่างตรงนั้น เรามั่นใจว่า เราเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่า เอาสูตรการคำนวณจาก Text Bookจากประสบการณ์การเล่นจริง พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ
THEATER 3D —>THEATER HOUSE
ระยะแรกๆ ก็ทำแต่ห้อง เขาซื้อเครื่องมาติดตั้งเอง ไม่ว่าเขาซื้ออะไรมา สุดท้ายเราก็เป็นคนเซ็ตอัพให้อยู่ดี เมื่อก่อนใช้ชื่อ Theater 3D เพราะยุคนั้น 3D กำลังมา แต่เพราะเราทำบ้านทั้งหลังด้วยก็เลยใช้ชื่อ THEATER HOUSE แล้วกัน ใช้ชื่อนี้มาหกปีที่แล้ว ได้โชว์รูมที่ CDC ห้องหนึ่ง ขนาดประมาณ 4 x 8 เมตร ก่อนหน้านั้นเรามีออฟฟิศงานอินทีเรียร์อยู่เมืองนนท์ ออกแต่งานบ้านและสวน ไม่เคยออกงานเครื่องเสียงหรอก เพราะเราไม่ได้ขายเครื่องเสียง จู่ๆ ก็มีคนมาเสนอว่า อย่าทำเฉพาะตกแต่งสิ เอาเครื่องมาขายด้วยสิ ก็เริ่มมีแบรนด์เข้ามา พอแบรนด์หนึ่งเข้ามา ขายได้ไปได้ดี มันก็มาเรื่อยๆ เราอาจทำยอดไม่มากในระยะแรกๆ แยกส่วนออกมาจากงานบ้านทั้งหลัง ผมชอบทางนี้ก็เลยมาดูเฉพาะแผนกทำห้องโฮมเธียร์เตอร์ที่นี่เอง ส่วนงานอินทีเรียร์บ้านทั้งหลัง ออฟฟิศที่เมืองนนท์ก็ให้น้องดูแล งานห้องฟังเริ่มเยอะขึ้น เราอาศัยอะคูสติกส์กับงานมัณฑนศิลป์ คือสวยและเสียงดีด้วย อาศัย Lighting Design, Home Automation มาช่วย เราทำเรื่องพวกนี้มานาน แทบจะอยู่ในสายเลือด จึงมีความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ เราปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอด แบบห้องเราจะออกแบบใหม่ เขียนใหม่ทุกครั้ง ทุกห้องไม่ซ้ำกัน ไม่เหมือนกันเลย เราไม่อยากทำซ้ำอย่าลืมว่าระบบพัฒนาขึ้นทุกวัน จะอยู่กับที่ได้อย่างไร
หลังจากนั้นก็ขึ้นมาข้างบน เป็นสองห้อง จริงๆ ก็ตั้งใจอยู่นานแล้ว แต่ waiting list ยาวมาก จนห้องเริ่มว่าง ได้ห้องมาสองห้อง สักพักอีกสองห้องย้ายออกไป ก็ขยายเป็นสี่ห้อง เลยเป็น THEATER HOUSE เต็มตัว ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 11 ห้อง มีห้องฟังทั้งหมด 4 ห้อง 4 ขนาด 4 รูปแบบ 4 บรรยากาศ หลักๆ ก็จะเน้นไปทางโฮมเธียเตอร์เหมือนเดิม จริงๆ แล้วฟังเพลงได้ทุกห้อง แต่ว่าเน้นดูหนังมากกว่า ห้องเดิมลงตัวแล้ว คงไม่ทำอะไรเพิ่ม ห้องใหม่ที่เปิดยังต้องจูนอีกนิดหน่อย อย่างห้องนี้อาจจะ dead ไปนิดสำหรับฟังเพลง แต่เราก็ปรับจูนได้ จริงๆ แล้วสำหรับใช้งาน Home Theater ถือว่าโอเคเลย อย่างห้องฟังห้องนี้ต้องปรับจูนอะคูสติกส์ให้มีแอมเบี้ยนต์ขึ้นอีกนิด ถ้าจะฟังเพลงเต็มรูปแบบ
Business Focus
แนวทางธุรกิจ ยังเน้น Home Theater เป็นหลัก ส่วน Audio สองแชนเนล จริงๆ เป็นรากฝังลึกในตัว ผมเองก็กลับมาทำมากขึ้น กลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มเดิม คือไมใช่นักเล่นแบบฮาร์ดคอร์นัก เน้นโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คนที่ปลูกบ้านใหม่ ตกแต่งทั้งหลัง แล้วได้ห้องนี้ด้วย
Home Automation จริงๆ ก็มีไม่มาก ประเภทกดปุ่มเดียว หรี่ไฟ ม่านลงมา จอเลื่อนลงด้วย เปิดเครื่องฉาย แอมป์เอวี กับเครื่องเล่นพร้อมใช้งาน ดูหนังไป จะเข้าห้องน้ำกดปุ่มเดียว หนังจะ pause ไฟเริ่มเปิดแบบหรี่ๆ พอมีแสงในห้องแล้วค่อยๆ สว่างขึ้น
เราชอบเป็นดีลเลอร์ มีแบรนด์อยู่เยอะ ไม่เคยคิดว่าจะ distribute เองหรอก มีคนมาทาบทามหลายครั้ง ยืนยันว่าเป็นดีลเลอร์แบบนี้ดีแล้ว แบรนด์ที่ทำเลือกเรื่องบริการไว้ก่อน
กลยุทธ์
Tactic น่ะเหรอ เนื่องจากเราอยู่ในวงการนี้มานาน ออกงาน “บ้านและสวน” ก็หลายครั้ง อินทีเรียร์ สถาปนิก ความต้องการของเจ้าของบ้่าน เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร ที่ CDC มันคือ Crystal Design Center ที่นี่มีของแต่งบ้านเยอะเขาจะมาพร้อมสถาปนิก หนีบแบบมาคุย จริงๆ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเราที่นี่ เราไม่เคยเปิดตัว สมัยก่อนแค่รับงานมาทำเมื่อถึงตอนนี้เราทำTurn Key เราก็ใช้สื่อ Social networkส่วนตัวเราทำงาน Turn Key แบบนี้ค่อนข้างเยอะนะ เยอะมากดีกว่า เราต้องบริหารจัดการกับ Supplierหลายๆ เจ้า ของเราค่อนข้างครบ
เรามีคนของเราเองที่ควบคุมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าใช้ Sub Contact ล้วนๆ ก็มักพบปัญหาที่คุมไม่ได้ งานไม่ได้คุณภาพ ส่งงานไม่ทัน สำหรับเรา เราใช้สองอย่างรวมกัน ปกติถ้าช่วงธรรมดางานไม่ชุกก็ใช้พนักงานประจำที่เราฝึกฝีมือไว้ ถ้าเจองานปลายปี หรือช่วงสงกรานต์ งานชุก เราก็จะใช้ Sub Contact แต่ก็เป็นเจ้าประจำที่เราไว้ใจและรู้มือกัน ต้องผสมกัน สิ้นปีเจอส่งงานพร้อมๆ กัน 30 หลัง เป็นไปไม่ได้ที่ช่างเราจะทำได้ทั้งหมด แล้วห้องโฮมเธียเตอร์เป็นห้องสุดท้ายของบ้านที่จะเสร็จ ก่อนปีใหม่ ลูกค้าทุกคนต้องการใช้ห้องนี้ในวันปีใหม่ เป็นแบบนี้แหละ ช่วงปีใหม่ของทุกปี แทบขาดใจกันเลย
Brands
สำหรับ Home Theater เริ่มจาก Projector แบบ Home Cinema ของ Optoma ก็ทำ Sony ก็ 4K แบรนด์แรก ส่วน InFocus ระยะหลัง Vivitek มาแทน แล้วก็ Epson, BenQ ซึ่งหลังจากทีวี 4K กินตลาดมานาน ก็ถึงเวลาของโปรเจ็กเตอร์แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะมี Sony กับ BenQ ซึ่งมีสต๊อกโพรดักต์ให้มากกว่า ส่วน Sony เนื่องจากแบรนด์ดัง ของสั่งได้น้อย บางครั้งต้องรอ เสียโอกาสไปหลายครั้ง
Processor มีอยู่สามสี่แบรนด์ Onkyo, Marantz, Anthem, Steinway Lyngdorf หลักๆ ก็ประมาณนี้ เว้นแต่ระบบที่เป็น Ultra Hi-End เราไม่ได้เป็น Dealer ก็จะไปขอเขามาติดตั้งให้ลูกค้าที่ต้องการจะใช้
ทีนี้อย่างแบรนด์ลำโพงที่ทำโฮมเธียเตอร์ก็มีค่อนข้างเยอะ อย่าง Klipsch, KEF, Pro Audio, Paradigm, Tannoy, Polk Audio พวกนี้มีครบทุกรูปแบบ Built in, InWall, Ceiling หรือลอยตัว อย่าง Martin Logan นี่มีทั้งโฮมเธียเตอร์และสองแชนแนล แล้วยังมี Rockport, Avantgardeก็เพิ่งเพิ่มเข้ามา ส่วน B&W Flagship Store ก็อยู่ข้างๆ ซึ่งถือเป็นห้องโชว์ของเขา มีลำโพงทุกรุ่น จริงๆ ก็ยังมีแบรนด์อีกเยอะ อย่างที่เห็นใกล้ตัวเรานี่ก็ Elac ครบ Line เลยครับ ซึ่งก็มีโพรดักต์เพิ่มขึ้นมาจากที่เดิมทำแต่ลำโพง ก็มี Elac Discovery ที่เป็นระบบ Streaming ซึ่งเข้าทางเลย เพราะมันทำMulti-room ได้ เราทำบ้านทุกห้องต้องมี ได้เจ้า Elac Discovery ตัวเดียวเป็นแม่ข่าย สบายเลย เราเข้างานบ้านที่กำลังก่อปูน ก็เดินสาย Lan อย่างเดียว ดังนั้น เรื่องระบบ Streaming ก็จะเน้นมากขึ้น ส่วนเรื่องเครื่องเล่นหรือแอมป์ก็จะหลากหลาย มีทั้ง Rotel, Burmester, Cary Audio, Jeff Rowland, Karan, Dan D’Agostino น่าจะเกือบหมดแล้วมั้ง ส่วนสายก็มีสามสี่แบรนด์ พยายามไม่ให้ทับบุคลิกกัน เราต้องเอาไว้จูนในแต่ละห้อง ใส่แล้วขาดอะไร Tchernov, AudioQuest หรืออย่าง Wireworld ก็คุณภาพคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย เอามาลองฟังก็ตกใจเหมือนกัน อย่างสาย Lan Cat 8 นี่มันยอดมากเลย
ELAC CONCENTRO
ผมเห็นมาสักพักหนึ่งแล้ว ว่าจะมีรุ่นเรือธงออกมา เมื่อต้นปีก็ได้รับแจ้งข่าวจาก Music+ Cinema ว่า Elac ปล่อยลำโพงรุ่นเรือธงออกมาแล้วนะ เมื่อก่อนมีลำโพงรุ่นท็อป ซีรี่ส์ 500 และ 600 ในที่สุดรุ่น 600 ก็เลิกผลิตไป เหลือแต่ซีรี่ส์ 500 เป็นรุ่นท็อป ซึ่งผมมาทำซีรี่ส์ 500 รุ่นพิเศษ สีตามรถ Super Car ผลิตในเยอรมนี ถือเป็น Flagship แล้ว ทีนี้ก็อยากได้รุ่นที่สูงกว่านี้ เพราะเราทำเครื่องไฮเอ็นด์หลายตัว เราก็อยากให้ Elac สู้เขาได้ จนวันหนึ่งมันก็มา เป็นลำโพงที่ออกแบบโดยไร้ข้อจำกัดใดๆ เพื่อให้ได้ลำโพงที่ดีที่สุดเท่าที่ Elac เคยทำมา เป็นการฉลอง 90th Anniversary จึงอัดไว้ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเท่าที่ Elac จะทำได้ จุดเด่นหลักๆ ก็มีรูปทรงมาจาก Cocoon Tower ในโตเกียว นี่เป็นไอเดียแรกในการออกแบบ ดูดีๆ จะเห็นว่ามีความโค้งมน เมื่อออกมาเป็นลำโพงแล้วเรื่องแอคูสติกส์ต้องได้แน่ๆ ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่บรรจุลงไป เช่น Crystal Clear Membrane, V-Jet Technologyไดรเวอร์ใหม่เรียกว่า VX-Jet Tweeter เป็นลำโพงแบบ Concentric driver ข้อดีตรงมันเป็น Point Source ซึ่งทำขึ้นใหม่หมด โดยมีลูกบิดที่คล้ายกับ Series 500 ลูกบิดตัวนี้สามารถปรับไดรเวอร์เลื่อนเข้าออกได้ ซึ่งจะช่วยจูนให้โฟกัสเสียงได้แม่นยำขึ้น ไม่ว่าจะนั่งฟังคนเดียวหรือหลายคน ตัวตู้สูงราว 1.7 เมตร น้ำหนัก 140 กิโลกรัม ตู้ลำโพงทำด้วยMDF เคลือบผิวด้วยอีพ็อกซี่ และ Aluminum มีความซับซ้อนและทำยากมาก ติดตั้งวูฟเฟอร์สี่ตัว ทำงานแบบ Push Push / Pull Pull ด้วย Linear Magnetic Field ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสั่งวัสดุและ “สีทำได้” ไม่ใช่โฆษณาสีนะครับ คือสั่งทำสีตามที่ชอบได้ ส่วนเสียงบอกได้เลยว่า มหัศจรรย์มาก ตัวที่เห็นนี่เป็นตัว #16, #17 เรียกว่าเป็นล็อตแรกของโลก ที่เห็นอยู่นี้เป็นคู่แรกในเมืองไทย ได้ถูกจับจองไปแล้วด้วยครับ เสียงดีมาก คุ้มค่าของการรอคอย ต้องขอเชิญมาฟัง เราจะเปิดตัววันที่ 27 – 28 พฤษภาคมนี้ ต้องขยันเบิร์นหน่อย และเปิดให้ฟังต่อไปอีกหนึ่งเดือนต่อจากนี้
ห้องโฮมเธียเตอร์เป็นความฝันของผู้ชาย มันเป็นฮ็อบบี้ของเขาแม่บ้านจะชอบห้องนี้ เพราะครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าเช่นเดียวกับห้องทานข้าว
พบอะไรที่นี่
ถ้ามาที่นี่จะพบห้องฟังบรรยากาศสบายๆ เหมือนบ้าน เราทำสวน มีน้ำตกหลายสิบตารางเมตร มีมินิบาร์ เน้นว่าบาร์จริงๆ มีห้องฟังถึง 4 ห้อง 4 บรรยากาศ เราจะโชว์เครื่องเสียงบางรุ่นที่โดดเด่น เราไม่โชว์เต็มผนังเหมือนร้านเครื่องเสียงทั่วไป อยากให้เหมือนมาพบเพื่อน ได้คุยกัน มาเล่าไอเดียว่าอยากได้อะไร ฟังก์ชั่นอะไรบ้างที่ต้องการ เราเอาความต้องการของเขา ค่อยมา “เหลา” กัน เราก็จะช่วยแต่งเติมตกแต่งจนเป็นรูปร่างที่ต้องการ ออกแบบ 3D จำลองภาพเสมือนจริงก่อนทำอย่างมีห้องลูกค้าที่เป็นห้องกระจกมองเห็นสระว่ายน้ำอยากได้ห้องโฮมเธียเตอร์ โดยที่กระจกไม่สั่นก็ทำมาแล้ว จริงๆ แล้วอะไรก็ทำได้ เราจึงทำห้องกระจกไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง คุณจะหนีบสถาปนิก อินทีเรียร์ ช่างไฟ มาด้วยก็ยิ่งดี เพราะเราทำได้ทุกรูปแบบ ยังไงเสียห้องโฮมเธียเตอร์ก็ไม่ใช่ห้องหลักอยู่แล้ว แต่แม้ไม่ใช่ห้องหลัก ทว่าก็ต้องเสร็จให้ทันก่อนที่จะเข้าอยู่ทุกที ถ้ากำลังก่อสร้างอยู่ เราก็อาจแนะนำว่า ผนังต้องทำอย่างไร เพื่อลดการก้อง รวมถึงการ ringing ของห้อง เดินไฟต้องทำอย่างไรถึงดี เรามีข้อเสนอแนะว่าต้องทำอย่างไร จริงๆ แล้ว เรารับเป็นที่ปรึกษาเลยก็ยังได้ หรือจะซื้อเครื่องเสียงจากเราด้วยก็ได้ เราทำได้ทุกรูปแบบ ขอให้บอกเราเถอะ
ทำไมต้องมาให้ได้
ห้องโฮมเธียเตอร์เป็นความฝันของผู้ชาย มันเป็นฮ็อบบี้ของเขา แม่บ้านจะชอบห้องนี้ เพราะครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าเช่นเดียวกับห้องทานข้าว ห้องโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์จะสามารถรองรับกิจกรรมของครอบครัวได้ครบทุกฟังก์ชั่น ไร้ข้อจำกัด ตั้งแต่ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง เล่นเกมเอารถมาขับในห้องนี้จะเป็นยังไง
เราเป็นบริษัทที่รับทำงานอินทีเรียร์ ห้องโฮมเอ็นเตอร์-เทนเมนต์ ประสบการณ์อันยาวนานของเราสามารถตอบสนองความต้องการของท่านได้ทุกรูปแบบ สามารถแก้ปัญหาที่คนอื่นแก้ไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราทำได้ เรียนเชิญมาพูดคุยกัน มาที่นี่จบครับ ขอให้มีความสุขกับการดูหนังฟังเพลง ขอบคุณครับ. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 244
No Comments