นักเขียน : สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ :

นักฟังที่ใช้คอมพิวเตอร์ระบบ Windows เล่นไฟล์ เพลง ถ้าต้องการให้ได้เสียงที่ดี ส่วนใหญ่ใช้โปรแกรม Foobar2000 ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือไม่ก็ซื้อโปรแกรม JRiver ในราคา US$50 มาใช้ในการจัดการและเล่น ไฟล์เพลง หรือถ้าใช้คอมพิวเตอร์ Mac ก็มักใช้โปรแกรม Amarra หรือ Audirvana เพราะทุกโปรแกรมที่กล่าวมา นี้ถูกออกแบบสำหรับนักฟังเพลงที่เน้นคุณภาพ สามารถ กำหนดให้เล่นเพลงแบบ bit perfect ที่ส่งข้อมูลจากไฟล์ เพลงไปยัง DAC ได้โดยไม่มีการดัดแปลงข้อมูล สามารถ เล่นไฟล์เพลงได้ทุกแบบ โดยเฉพาะไฟล์เพลงรายละเอียด สูงที่ในแง่คุณภาพเสียงแล้ว ถ้าใช้ในรูปแบบ bit perfect จะได้เสียงที่ดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ทำให้แต่ละ โปรแกรมแตกต่างกันคือ ความคล่องตัว และรูปแบบใน การใช้งาน สำหรับค่าย Windows แล้ว JRiver ดูจะ ได้เปรียบ เพราะมีวิธีใช้งานให้เลือกได้หลายแบบ ทำให้ ผู้ใช้หลายรายยอมจ่ายเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ในขณะที่หลายท่านก็พอใจใน Foobar2000 เพราะเป็น โปรแกรมที่เรียบง่าย เสียงดี และที่สำคัญเป็น freeware ที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

ผมเองก็เคยใช้โปรแกรมทั้งสองในการเล่นไฟล์เพลง แต่สุดท้ายก็ยอมจ่าย US$50 และใช้ JRiver เป็นประจำเพราะราคาไม่แพงมาก อีกทั้งชอบที่สวยงามและใช้งาน ได้หลายแบบ จนกระทั่งทราบถึงการเปิดตัวของโปรแกรม น้องใหม่อย่าง Roon ที่นอกจากจะเน้นคุณภาพเสียงแล้ว ยังเพิ่มเติมประสบการณ์ใช้งานที่แตกต่างจากโปรแกรมอื่น ก็เลยเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ Roon Labs ที่เป็นผู้พัฒนา ทำให้พอทราบถึงความสามารถพิเศษของ Roon แต่ก็สะดุดที่ราคาค่อนข้างสูง เพราะต้องจ่ายปีละ US$119 หรือถ้าเลือกจ่ายครั้งเดียวตลอดชีพก็ต้องจ่าย ถึง US$499 เมื่อรวมกับการต้องเสียเวลาเรียนรู้การใช้งาน โปรแกรมใหม่ก็เลยเลิกสนใจ เพราะคิดว่าโปรแกรม JRiver ที่ใช้ก็ดีพอแล้ว ไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม

จนเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนต่างชาติที่ใช้โปรแกรม Roon เล่า ให้ฟังว่าใช้แล้วชอบมาก พร้อมยืนยันว่าคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป เพราะได้ประโยชน์หลายเรื่อง แนะนำให้ใช้ ผมก็เลยทดลอง โหลดมาใช้ดู สุดท้ายก็ชอบ และยอมจ่ายเงินซื้อ กลายเป็น ลูกค้าของ Roon ไปในที่สุด จึงขอถือโอกาสนี้เล่าให้ฟังถึง ประสบการณ์ที่ได้จาก Roon ว่า แตกต่างไปจากโปรแกรม อื่นอย่างไร

ข้อความที่เจอเมื่อเช้าไปในเว็บไซต์ของ Roon Labs ที่ระบุว่า Roon เป็นโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงสำหรับ
คนที่รักเสียงเพลง และให้ลืมโปรแกรมอื่นๆ ไปได้ เพราะดนตรีคือประสบการณ์ที่ Roon เท่านั้นสามารถมอบให้ได้

ที่มาของ Roon

ขอเริ่มจากผู้พัฒนาโปรแกรมนี้ก่อน เพราะมีที่มาที่น่าสนใจ โดยทีมงานที่พัฒนา Roon เป็นทีมงานที่เคยพัฒนา Sooloos Music Server มาก่อน สำหรับท่านที่ติดตามเครื่องเล่นไฟล์เพลง จะทราบว่า Sooloos เป็นหนึ่งในเครื่องเล่นไฟล์เพลงแนวหน้าจาก ประเทศอังกฤษ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 และถือว่า เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่โดดเด่นที่สุดในขณะนั้น โดยจำหน่ายทั้ง ระบบในราคาสูงกว่า US$15,000 และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น ผู้คิดค้นวิธีการใช้งานแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนผ่านจอภาพแบบ สัมผัสขนาด 17 นิ้วที่ทำให้ผู้ใช้เพลิดเพลินกับการฟังเพลงมากขึ้น

Music Server รุ่นแรกของ Sooloos ที่วางตลาดในปี 2006 และถือเป็นระบบที่ล้ำหน้าสุดในขณะนั้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 2008 ทาง Meridian ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้น พัฒนาระบบ digital audio ครบวงจรจากประเทศอังกฤษได้ เข้าซื้อกิจการของ Sooloos โดยทีมงานของ Sooloos ก็ย้ายไป ทำงานต่อที่ Meridian เพื่อนำโปรแกรมของ Sooloos มาผนวก กับฮาร์ดแวร์ของ Meridian ที่ทำให้ Meridian เป็นระบบที่มี ความสมบูรณ์และใช้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการควบคุม การใช้งาน ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะทำให้ Meridian เป็นบริษัทแนวหน้า ด้านระบบเครื่องเสียงคุณภาพสูงแบบดิจิทัลครบวงจร ที่เรียกว่า ทำงานในรูปแบบดิจิทัลตั้งแต่แหล่งกำเนิดเสียงไปจนถึงลำโพงที่มี ระบบแยกเสียงแบบดิจิทัลในตัว สามารถกระจายเสียงแต่ละย่าน ความถี่ให้กับลำโพงแต่ละตัวแยกกันได้ และที่สำคัญคือ เป็นระบบ ที่ใช้งานง่าย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากความสามารถของ Sooloos

Music Server ของ Meridian ที่ส่วนควบคุมการใช้งานมีพื้นฐานมาจากโปรแกรม Sooloos

ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 ด้วยแนวคิดที่ต่างกัน โดย Meridian ต้องการพัฒนาระบบ เล่นไฟล์เพลงที่ประกอบด้วยทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ครบวงจรเพื่อให้เป็นระบบ ที่ใช้ง่าย ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Sooloos ต้องการเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นหลักเพื่อให้ สามารถนำไปใช้กับระบบอื่นๆ ได้ด้วย จากแนวทางที่แตกต่างกันนี้ทำให้ทีมงานเดิมของ Sooloos ตัดสินใจแยกออกมาจาก Meridian และตั้งบริษัท Roon Labs ขึ้นเพื่อพัฒนา โปรแกรมการจัดการไฟล์เพลงแนวใหม่ที่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ทั่วไปและอุปกรณ์อื่นๆ ได้ ซึ่งผลที่ได้ก็คือ Roon

หลังจากที่ผมใช้ Roon มาระยะหนึ่งแล้ว พอจะสรุปได้ว่า ส่วนที่ทำให้ Roon แตกต่างจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงอื่นคือ การให้ประสบการณ์แบบใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้ เพลิดเพลินกับการฟังเพลงมากขึ้น ซึ่งถ้าท่านเป็นนักฟังเพลงที่สนใจในเรื่องเสียงดี เป็นหลัก ผมยังยืนยันว่า โปรแกรม Foobar2000, JRiver หรือ Roon เป็นโปรแกรมที่เสียง ดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ Roon มาใช้ แต่ถ้าต้องการเรื่องอื่นเพิ่มเติมมากกว่า เสียงที่ดี โดยเฉพาะด้านภาพและข้อมูลประกอบการฟังเพลง หรือต้องการเพิ่มโอกาส การได้ฟังเพลงที่ชอบใหม่ๆ Roon จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

การฟังแบบ Radio

ในแง่ของการเปิดโอกาสให้ได้ฟังเพลงอื่นๆ เพิ่มขึ้น ผมเริ่มสนใจเรื่องนี้หลังจากใช้ play list ในการฟังเพลงเป็นเวลานาน เพราะโดยปกติแล้วจะเก็บเพลงที่ชอบฟังทั้งหมด ไว้ใน play list เมื่อถึงเวลาฟังเพลงก็จะดึง play list ขึ้นมาใช้งานเพื่อให้ได้ฟังเพลงโปรด ที่เลือกไว้ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ถึงแม้ผมมีเพลงเกือบ 3,000 อัลบั้ม ประกอบไปด้วยเพลง มากกว่า 30,000 เพลง แต่ส่วนใหญ่ก็ฟังอยู่แค่ 400 เพลงใน play list เท่านั้น ซึ่งเมื่อฟังไป นานๆ ก็อยากฟังเพลงใหม่ๆ ในแนวที่ชอบเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งเดิมก็ใช้วิธีเปิดเพลงในอัลบั้มต่างๆ ที่มีอยู่ไปทีละเพลงเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอเพลงที่ชอบ แล้วนำมาเก็บใน play list เพิ่ม ซึ่งก็ใช้เวลานาน กว่าจะเจอเพลงชอบสักเพลง

Roon มีวิธีที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานมีโอกาสเจอเพลงโปรดใหม่ๆ ง่ายขึ้นด้วยการให้เลือก ฟังแบบ Radio ที่คล้ายกับการฟังเพลงจากวิทยุที่ผู้จัดรายการจะเลือกเพลงที่น่าสนใจให้ฟัง ทำให้ได้มีโอกาสฟังเพลงดีๆ ที่ไม่เคยฟังมาก่อน โดยทุกครั้งเมื่อจะเริ่มเล่นเพลง Roon จะให้เลือกว่าต้องการเปิดฟังเฉพาะเพลงที่เลือกไว้ ด้วยการกดปุ่ม Play Now หรือจะ เลือกฟังแบบ Radio ด้วยการกดปุ่ม Start Radio ที่ Roon จะเริ่มเปิดเพลงที่เลือกไว้แล้ว หลังจากนั้นจะนำเพลงอื่นในแนวเดียวกันกับเพลงที่เลือกไว้มาเปิดให้ฟังไปเรื่อยๆ โดยถ้าชอบก็สามารถเข้าไปโหวตว่าชอบ หรือถ้าไม่ชอบ ก็สามารถโหวตไม่ชอบได้เช่นกัน คล้ายกับการกดปุ่ม like ใน facebook เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับ Roon ในการหา เพลงให้ตรงกับที่ชอบได้มากขึ้น ซึ่งแนวทางการเลือกเพลงอื่นมาให้ฟังนั้นเข้าใจว่า Roon ยังคงทดลองปรับเปลี่ยนวิธี เพราะเจอใน Roon Labs Community ที่ Roon ใช้เป็นช่อง ทางในการสื่อสารกับผู้ใช้ว่า Roon พยายามรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ว่าต้องการให้ นำเสนอเพลงอย่างไรใน Radio

ทันทีที่เลือกเพลง Roon จะให้เลือกว่าต้องการเล่นเพลงนั้นทันที หรือจะเล่นแบบ Radio ที่เมื่อจบ
จะนำเพลงอื่นมาให้ทดลองฟังต่อไปเรื่อยๆ

แนวคิดหลักในการพัฒนา Roon

มาถึงตอนนี้ ขอย้อนกลับไปพูดถึงแนวคิดหลักในการพัฒนา Roon ที่จะช่วยทำให้เข้าใจว่า Roon ต่างจากโปรแกรมอื่นๆ อย่างไร และเหมาะกับ ท่านหรือไม่ ซึ่งจากการเข้าไปดูในเว็บไซต์ Roon Labs และอ่านบท สัมภาษณ์ของผู้บริหารทำให้ทราบว่า เป้าหมายหลักของ Roon คือการ ใช้หลายๆ เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แบบจอสัมผัส ที่มีพลังมากขึ้น การเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการฐาน ข้อมูลของเพลงและศิลปินต่างๆ ผนวกกับ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยทำให้การฟังเพลงมีความสมบูรณ์ขึ้น โดย Roon กล่าวถึงปัญหา ของการฟังเพลงจากไฟล์เพลงในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับการฟังเพลงจาก แผ่นเสียงในอดีตว่า ขณะฟังเพลงอยู่นั้น ในอดีตผู้ฟังสามารถดูข้อมูลต่างๆ จากซองแผ่นเสียงได้ ซึ่งมีทั้งภาพปกที่อาจมีความหมายแอบแฝงอยู่ และภาพหรือข้อมูลด้านในซองที่ศิลปินตั้งใจทำขึ้นเพื่อสื่อสารกับผู้ฟัง หรือข้อมูลอื่นๆ ของศิลปิน ทำให้ผู้ฟังสามารถดูภาพหรือข้อมูลพร้อมกับ การฟังเพลงได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของศิลปิน ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปิน ฯลฯ ที่ทำให้การฟังเพลงมีความสมบูรณ์ขึ้น จนเมื่อซีดีเข้ามาแทนแผ่นเสียง ซึ่งถึงแม้ยังมีข้อมูลในกล่องใส่ซีดี แต่ด้วยขนาดที่เล็กลง ข้อมูลต่างๆ ก็เริ่มหดหายไปบ้าง เช่น ภาพปกก็เล็กลงตามขนาดของกล่องใส่ซีดี ฯลฯ การดึงเอกสารแนบในกล่องซีดีมาอ่านก็ยุ่งยากขึ้น ตัวหนังสือก็เล็กๆ ไม่ เหมาะกั บคนอายุ มากอย่างผม จนถึงปั จจุ บั นที่ การฟั งเพลงเปลี่ยนเป็ นไฟล์เพลง ข้อมูลต่างๆ ที่เคยอยู่บนปกแผ่นเสียง หรือกล่องซีดี ก็หายไป ทั้งหมด แทบไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมให้กับผู้ฟัง เทียบไม่ได้เลยกับข้อมูล จากซองใส่แผ่นเสียงที่สามารถแสดงภาพขนาดใหญ่ได้

ภาพจากเว็บไซต์ของ Roon Labs ที่เปรียบเทียบการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงในอดีตที่ผู้ฟังสามารถดูข้อมูล
จากซองแผ่นเสียงกับการฟังเพลงจากไฟล์เพลงในปัจจุบันที่แทบไม่มีข้อมูลประกอบเลย

ผู้ออกแบบ Roon ตระหนักถึ งสิ่ งที่ ขาดหายไปนี้ จึงออกแบบให้ Roon สามารถ ดึงภาพปกและภาพศิลปินมาแสดงบนจอภาพคอมพิวเตอร์ได้อย่างสวยงาม พร้อม ข้อมูลอื่นๆ ของเพลงที่กำลังฟังอยู่ หรือถ้าควบคุม Roon ผ่านแท็บเล็ตก็มีภาพต่างๆ ให้ดูบนจอภาพแท็บเล็ต พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็นในรูปแบบเหมือนการ ดูผ่านบราวเซอร์ที่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ง่ายๆ ด้วยการสัมผัสหรือใช้ mouse คลิ กไปยังเรื่องอื่นๆ ได้ทันที่พร้อม rating ของอัลบั้มนี้ ว่าได้กี่ ดาว การกล่าวถึงอัลบัมนี้ จากนักวิจารณ์ ฯลฯ ทำให้ผู้ฟังได้ข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน และสามารถดึงเนื้อร้อง ของเพลงนั้นๆ ขึ้นมาดูได้ด้วย (ถ้าเป็นเพลงร้อง) ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับท่านที่จำเนื้อไม่ได้ แต่อยากจะร้องตาม

ภาพแสดงโปรแกรม Roon ที่สร้างประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีขึ้นด้วยการดึงภาพและข้อมูลต่างๆ
ของศิลปินมาให้ดูประกอบการฟัง พร้อมภาพปกของอัลบั้มอื่นของศิลปินเดียวกันที่มีอยู่

สามารถให้ Roon แสดงเนื้อร้องของเพลงที่เล่นอยู่ได้ทันที

การที่สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาแสดงให้ผู้ใช้ได้นั้น เพราะ Roon มีฐานข้อมูล ของเพลงต่างๆ ของตนเอง และเพิ่มเติมด้วยการซื้อข้อมูลจากผู้ให้บริการอื่นๆ ตั้งแต่ การใช้ Rovi เพื่อให้มีภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับศิลปิน rating ของอัลบั้ม ฯลฯ และ ใช้ LyricFind ในการให้ข้อมูลเนื้อเพลง ซึ่งทำให้ Roon สามารถนำเสนอข้อมูลให้กับ ผู้ใช้ได้หลากหลายและครบถ้วนขึ้น

บริการข้อมูลจาก Rovi ที่ Roon ใช้ในการแสดงข้อมูลและภาพของศิลปินในขณะที่กำลังฟังเพลงนั้นๆ

การจัดหมวดหมู่ และการฟังแบบ Discover

Roon สามารถจัดกลุ่ มเพลงได้ หลายแบบ ตั้งแต่ ตามประเภท ของเพลง ตามชื่อศิลปิน ตามชื่ออัลบั้ม ชื่อเพลง ชื่อผู้แต่งเพลง ชื่อ composer ซึ่งนอกจากวิธีมาตรฐานเหล่านี้แล้ว Roon ยังมี การจัดอีกแบบที่เรียกว่า Discover โดยจะค้นหาเพลงที่น่าสนใจ จากไฟล์เพลงต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และไม่ค่อยได้เปิดฟัง แล้วนำเสนอ ให้กับผู้ฟังแต่ละคนได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้วิธีที่ Roon เรียกว่า Discover ซึ่งในการนำเสนอนี้แตกต่างกันไปทุกครั้งที่กดปุ่ม Discover ซึ่งผมพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้ได้เจอกับเพลงชอบใหม่ๆ ได้ อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งก็แปลกใจที่เจอเพลงที่ชอบแต่ไม่เคยฟัง ทั้งที่มีอยู่แล้วเมื่อเลือกการแสดงข้อมูลแบบ Discover โปรแกรม Roon จะเรียบเรียงและนำเพลงมาแสดงในรูปแบบใหม่ โดยเลือก เพลงดังจากศิลปินต่างๆ มาแสดงบนจอให้สามารถทดลองฟัง ได้ง่ายๆ ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถทดลองฟังเพลงต่างๆ ตามที่ Roon แนะนำมาได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อเลือกการแสดงข้อมูลแบบ Discover โปรแกรม Roon จะเรียบเรียง และนำเพลงมาแสดงในรูปแบบใหม่ โดยเลือกเพลงดังจากศิลปินต่างๆ มาแสดงบนจอให้สามารถทดลองฟังได้ง่ายๆ ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถทดลอง
ฟังเพลงต่างๆ ตามที่ Roon แนะนำมาได้อย่างรวดเร็ว

เชื่อมต่อกับ Tidal

นอกเหนือจากการจัดการกับไฟล์เพลงที่มีอยู่แล้ว ถ้าท่าน สมัคร Tidal ซึ่งเป็นบริการเพลงรายละเอียดสูงแบบจ่ายรายเดือน ที่มีเพลงให้เลือกฟังได้มากกว่า 30 ล้านเพลงแล้ว Roon สามารถ เชื่อมต่อกับ Tidal และสามารถจัดการเพลงที่ท่านมีอยู่แล้วพร้อมๆ กับเพลงจาก Tidal ได้อย่างกลมกลืน ทำให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น อีกมาก ซึ่งถึงแม้ Tidal มีหน้าจอที่ถือว่าใช้งานง่ายอยู่แล้ว แต่ Roon ก็ทำได้ดีกว่าหลายด้าน ช่วยให้การฟังเพลงสนุกขึ้น เช่น การเล่นเพลงแบบ Radio ที่ Roon เลือกเพลงให้ฟังได้ตรงกับ แนวเพลงที่อยากฟัง และการฟังแบบ Discover ที่สามารถดึงเพลง ที่น่าสนใจ แต่ไม่เคยฟัง มาแสดงเป็นหมวดหมู่ให้เลือกฟังเพื่อเพิ่ม โอกาสให้เจอเพลงชอบใหม่ๆ มากขึ้น

การสั่งงาน Roon

ผมติดตั้ง Roon บนคอมพิวเตอร์แบบ All-in-One ที่มีจอเป็นแบบสัมผัสทำให้ใช้งานได้ สะดวก เพราะสามารถสั่งงานด้วยการสัมผัสที่จอภาพได้โดยตรง และรู้สึกเป็นธรรมชาติ เพราะ เข้าใจว่าผู้พัฒนาโปรแกรมออกแบบโปรแกรมให้ใช้กับจอสัมผัสตั้งแต่รุ่นแรกที่เป็น Sooloos ที่มีจอสัมผัสขนาด 17 นิ้วมาด้วย แต่นอกเหนือจากการสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง Roon แล้ว ผู้ใช้สามารถสั่งงาน Roon ผ่านสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต (ทั้ง iOS และ Android) หรือจะผ่านคอมพิวเตอร์อีกเครื่องก็ได้ ซึ่งทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

นอกจากการสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง Roon แล้ว สามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน
แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้ด้วย

การเชื่อมต่อกับ DAC

สำหรับการส่งข้อมูลไปยัง DAC กรณีของผมค่อนข้างง่าย เพราะต่อตรงเข้าเครื่อง All-in-One ผ่านช่องเชื่อมต่อแบบ USB แต่ Roon 1.3 สามารถส่งเพลงไปที่อุปกรณ์อื่นที่ อยู่ในเครือข่ายได้ด้วย ซึ่ง Roon เรียกอุปกรณ์พวกนี้ว่า Roon Bridge โดยสามารถส่งไปยัง คอมพิวเตอร์ทั้ง Windows และ Mac ที่อยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน หรือส่งไปยัง DAC บางรุ่น ที่ต่อเชื่อมกับเน็ตเวิร์กได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลจาก Roon ได้ว่ามีรุ่นอะไรบ้างที่ใช้ได้แล้ว เพราะมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น Auralic (Aries, Aries LE, Altair, Polaris), Ayre (QX-5 twenty), Bluesound, Bryston, CocktailAudio X50, dCS, NAD, PS Audio ซึ่งหมายความว่า ถ้าท่านใช้อุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้ว สามารถเชื่อมต่อกับ Roon ที่อยู่ห่างกัน ผ่านเน็ตเวิร์กได้ โดยอุปกรณ์เหล่านี้ควรเชื่อมต่อเข้าเน็ตเวิร์กด้วยสาย แต่ถ้าจะเชื่อมต่อ ด้วยระบบไร้สายก็ควรปรับการเชื่อมต่อให้แน่ใจว่าเป็นการเชื่อมต่อแบบความเร็วสูง เช่น เชื่อมต่อด้วยมาตรฐานใหม่ 802.11ac

ตัวอย่างอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกับ Roon ได้ถ้าติดตั้งในเครือข่ายเดียวกัน (Multi-Zone)

โดยรวมแล้ว ถือว่า Roon Labs เป็นอีกบริษัทที่ช่วยให้ผู้ฟังได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งจากการฟังและการดู ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่ก็ขึ้นกับผู้ฟังแต่ละท่านว่าต้องการฟังเป็นหลัก หรือต้องการทั้งฟังและดูเพื่อเชื่อมต่อกับศิลปินไปพร้อมๆ กัน และ Roon Labs ทำให้ ทางเลือกของนักฟังที่ใช้ Windows ในการเลือกใช้โปรแกรมจัดการไฟล์เพลงสมบูรณ์แบบ เพราะมีทั้งแบบ 1) ดีและฟรี (Foobar2000), 2) ดีขึ้นและจ่ายบ้าง (JRiver – 50US$), 3) ดีมากและแพง (Roon – 500US$) โดยทั้งสามโปรแกรมตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ในแง่เสียงดีที่เหมือนกัน ต่างกันที่การให้ประสบการณ์การใช้งาน. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 242