PSB Imagine T3
วิศัลย์ เอกธรรมกุล
ขอต้อนรับสู่ WJWJ 94 ครับ
ก่อนจะเข้าเนื้อหา ผมขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยให้กับ ท่านเซอร์ โรเจอร์ มัวร์ ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีในบทบาท James Bond 007 ที่โลดแล่นผาดโผนบนแผ่นฟิล์มถึง 7 ตอนด้วยกัน ท่านเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในวัยแปดสิบเก้าปี ส่วนอีกท่านคือ นิกกี้ เฮเด้น วงการเครื่องเสียงไม่รู้จักแน่นอน เพราะแกเป็นนักบิดสัญชาติอเมริกัน แชมป์โลกมอเตอร์จีพีในปี 2006 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ชน ขณะกำลังขี่รถจักรยานเสือหมอบของ Specialize ซึ่งรุนแรงมาก ขนาดที่ทำให้เฟรมขาดสองท่อนเลยทีเดียว อายุก็เพียง 35 ปีเท่านั้นเอง เอ่อ! ซิ่งมอเตอร์ไบค์เป็นพันเป็นหมื่นโค้งในสนามแข่งความเร็วระดับ 200 – 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่เป็นไร ดันมาหมดบุญตรงขี่จักรยานที่ความเร็วไม่เกิน 40 ไม่อยากจะเชื่อเลย ที่ผมเขียนถึงก็เพราะแกแจ๋วขนาดที่หมวกกันน็อก Arai ทำหมวกลาย graphic ให้เป็นเกียรติกันเลยทีเดียว และผมก็ถือว่าเป็นสังคมเดียวกัน (บิ๊กไบค์) ก็ขอให้ Rest in Peace ทั้งสองท่านครับ
อีกเรื่องหนึ่ง ในปี 2017 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนงานแสดงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นงานโชว์ที่ดีที่สุดในโลกแล้วนะครับ คือ งาน HI-END SHOW ที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี ขอ รวบยอดสรุปเป็นข้อๆ ให้ฟังว่า เทรนด์ของเครื่องเสียงที่กำลังจะเป็นไปในวงการในอนาคตอันใกล้มีอะไรกันบ้าง
1. บริษัทที่ทำเครื่องเสียงหลักจะกระทำตัวให้เป็น one-stop-shopping มากที่สุด ใช้แบรนด์ต่างกันก็ได้ แต่เป็นเจ้าของเดียวกัน (งงไหม) คือ ทำฟร้อนต์เอ็นด์ ดิจิทัล, ฟร้อนต์เอ็นด์อะนาล็อก, ปรีแอมป์ DAC, Streamer, Application เพาเวอร์แอมป์, ลำโพง, สายไฟ, สายสัญญาณ, สายลำโพง เบ็ดเสร็จไปเลย นี่ถ้าทำชั้นวาง หรือหัวเข็มเองได้ ก็คงจะทำเหมือนกัน
2. ธุรกิจที่เดิมทีเคยเป็น “อีแอบ” ตอนนี้ก็ “แสบ ทรวง” ล่ะครับท่าน คือ เปลี่ยนตัวเองจากอุปกรณ์เสริม มาเป็นอุปกรณ์หลักที่ทำรายได้กันเป็นกอบเป็นกำโดยที่ หัวใจของธุรกิจคือ ไม่ต้องมีภาระผูกพันในเรื่องบริการหลัง การขาย อาทิ สารพัดสายสัญญาณ สายลำโพง สายไฟฟ้า อุปกรณ์อะคูสติกทรีตเมนต์ ชั้นวาง หูฟัง
3. เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีความไฮเทค บ่งบอกว่า ยังสามารถพัฒนาได้อีกโดยเทคโนโลยี หนึ่งในนั้น คือ การหมุนจานแพลตเตอร์ (ขับเคลื่อน) โดยใช้สนาม แม่เหล็กครับ คือแพลตเตอร์ที่ว่านี้ทั้งลอยและหมุนได้ กลางอากาศ โดยไม่มี “กลไก” ที่สัมผัส หรือถ่ายทอด แรงสะเทือนทางกลและความฝืดไปยังแผ่นเสียงและ หัวเข็ม คือถ้าจะสั่นก็คงมีแต่ความถี่จากหัวเข็มที่กระดิก และครูดไปตามร่องแผ่นเท่านั้นเอง ท่านใดสนใจมีวิดีโอ คลิปพร้อมๆ กับการสัมภาษณ์ผู้ออกแบบ โดยนาย WJ อัพโหลดทางเฟซบุ๊ก Audiophile/Videophile ครับ, เครื่องล้างแผ่นนานาชนิดทำกันเป็น washing/cleaning station ก็ดูจะเอาจริงเอาจังมาก เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ไวนิลคงจะอยู่ไปอีกนานเป็นคู่กัดกับ Digital Streaming แน่นอน ในขณะที่ CD หรือ SACD คงจะต้องถูกบีบไปเล่น กับ Blu-ray Universal Player ซะแล้ว
4. เทคโนโลยี Wireless จะมีการเจริญเติบโตไป พร้อมๆ กับลำโพงแอ็กทีฟที่สามารถสตรีมมิ่งดิจิทัลไฟล์ได้โดยตรง เรียกว่า ฟร้อนต์เอ็นด์ ปรีแอมป์ และ เพาเวอร์ แอมป์ จะเป็นส่วนเกินของการเพลย์แบ็กของระบบสตรีมมิ่งนั่นเอง ในแง่นี้ให้ดูผลิตภัณฑ์ลำโพงดิจิทัลของ Meridian ครับ นั่นเขาทำเป็นสิบปีแล้ว ประเภทแยกชิ้นแบบไฮเอ็นด์แท้ๆ คงจะค่อยๆ ถูกกลืนหายไป หากพันธุกรรมของนักเล่นเครื่องเสียงตัวจริงไม่ได้ถูกสืบทอด (น่าเศร้านะ แบบว่า พ่อตายขายของทิ้งน่ะ)
5. สุดท้าย ของแพงขึ้นครับท่าน สัณนิษฐานว่า ขายของได้ยากกว่าเดิม เลยต้องมาร์คอัพราคาให้สูงไว้ก่อน ไม่ว่าจะมองในแง่ของมาร์เก็ตโพซิชั่น แบรนด์อิมเมจ หรือเผื่อการต่อรองราคา รองรับโปรโมชั่นซูเปอร์เซลส์ คนขายเขาว่า ดีงามพระรามแปด จบข่าว ผมว่าการผลิต เครื่องเสียงสมัยนี้ร้อยละ 90 มาจากเมืองจีน สูตรก็คือ ค่าคิดเจ็ดสิบ ค่าทำ(ผลิต) ยี่สิบ อีกสิบค่าการตลาดและการจัดจำหน่าย เจ้าของสินค้า (แบรนด์) ก็เก็บ 70 ไป ก่อนเลย ผิดถูกอย่างไรเช็คกันครับท่าน ท่านคิดว่า เซมิคอนดักเตอร์ ไอซี แผงวงจร เครื่องขึ้นรูปตัวถังด้วย CNC ยังผลิตกันที่ประเทศเจ้าของแบนรด์ในยุโรปหรืออเมริกา? ผมก็คงจะเว้นเอาไว้ 10% แหละครับ ถ้ายังจะมีอยู่อีกอย่างของไฮเอ็นด์ที่ว่า Made in USA นั่นอ่ะนะ ส่วนใหญ่คนที่ประกอบเครื่องก็เป็นชาวต่างด้าวนะครับ ชิ้นส่วนหรืออวัยวะหลักก็มาจากเอเชียทั้งนั้น ส่วนความสวยงาม เช่น หน้าปัด และการประกอบ ก็อาจจะทำที่ประเทศผู้ผลิตก็ ตราบที่ โลกทุนนิยมยังหมุนไปแล้วเรา ท่านยังอยู่ในวงโคจรนี้ก็อย่าไปสนใจกับมันมาก แต่ถ้าคุณซีเรียสและมีเหลือเยอะ ก็ดีไอวายเมดบายตัวเองก็น่าสนุกดี ทำไปทำมาราคาอาจจะแพงกว่าไฮเอ็นด์ก็ได้ใครจะรู้
ฉบับนี้ ผมค่อนข้างแปลกใจสำหรับเครื่องที่ส่งมาทดสอบ เนื่องจากโดยส่วนตัว ผมเคยใช้สินค้าของ “บ้าน ทวาทศิน” แต่ไม่เคยได้สินค้ามาทดสอบสักที หรือไม่ก็นานมากจนจำไม่ได้ คราวนี้ทางบ้านทวาทศินส่งลำโพง PSB รุ่น Imagine T3 มาให้ทดสอบ ซึ่งต้องขออภัยด้วย ที่ส่งผลทดสอบล่าช้าไปมาก เพราะคิวเต็มทั้งงานประจำและงานเขียน ผมรู้สึกถึง “ความไม่ธรรมดา” ของลำโพงคู่นี้ ราวกับทางผู้นำเข้าจะ “เน้น” ลำโพงคู่นี้เป็นพิเศษ ก็ยินดีรับใช้ครับท่าน
PSB Imagine T3
อันว่าลำโพง PSB นั้น เป็นชื่อย่อของเจ้าของและผู้ออกแบบ นาย Paul Barton ส่วนตัว S คือชื่อภรรยา พะยี่ห้อตามมาคุมเลย ลำโพงนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศแคนาดา รุ่นสร้างชื่อที่พีคสุดของลำโพงเป็นตระกูล Stratus Gold และ Stratus Silver อายุอานามก็สิบหรือ ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมพอจะจับเลาได้ว่า เขาต้องการทำลำโพงที่มีคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้หลากหลาย ระดับตามกำลังซื้อของลูกค้า โดยเจ้า PSB Imagine T3 ที่กำลังจะทดสอบ จัดเป็นรุ่นเรือธงตัวล่าสุดของค่าย ซึ่งอย่าไปสับสนกับรุ่น Image เชียวนะ
นาย Paul เป็นผู้ผลิตลำโพงเจ้าแรกที่ร่วมมือกับสถาบัน NRC (National Research Council) ของแคนาดา ในการใช้ห้องไร้เสียงสะท้อนเพื่อการออกแบบ และทดสอบลำโพงของเขา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกุญแจที่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องทำห้องไร้เสียงสะท้อนพร้อมๆ กับการลงทุนกับเครื่องมือวัดและผู้เชี่ยวชาญ ลำโพงจากแคนาดาอย่าง Paradigm ก็เห็น ว่าใช้บริการที่นี่เหมือนกัน
ลำโพงในอนุกรม Imagine นี้มีด้วยกันสามรุ่น คือ T3, T2 เป็นลำโพง Tower ส่วนที่เป็นำโพงวางหิ้งใช้รหัส B ได้แก่ Imagine B, Imagine Mini และ Imagine XB สำหรับลำโพงเซ็นเตอร์ใช้รหัส C ได้แก่ Imagine C3, Imagine C center, Imagine mini C และ Imagine XC คือสามารถใช้งานกับโฮมเธียเตอร์ด้วย บทความนี้ ผมขอโฟกัสไปที่ Imagine T3 แบบสเตริโอครับ
ลำโพง T3 เป็นลำโพง 3 ทาง 5 ไดรเวอร์ ประกอบด้วย… ไดรเวอร์วูฟเฟอร์ขนาด 7” สามตัว, มิดเรนจ์ขนาด 5.25” 1 ตัว และทวีตเตอร์โดมไททาเนียมใส่เฟอร์โรฟลูอิดขนาด 1” มันถูกออกแบบให้เป็นลำโพงตู้เปิด โดยมีลักษณะเด่นตรงที่ว่า วูฟเฟอร์ขนาด 7” ที่เรียงจากด้านล่างขึ้นมาด้านบนนั้นจะจัดวางอยู่ในตู้ใครตู้มันที่กั้นห้องชัดเจน และมีช่องเปิดที่จูนเป็นอิสระจากกันทั้ง 3 ห้อง โดยคุณสามารถใช้ปลั๊กโฟมอุดเพื่อช่วยการปรับเสียงเบสในการลดอาการบูมมิ่งในห้องฟังในแต่ละช่วงความถี่ของเบสไดรเวอร์เพื่อลดปัญหาเบสบูมได้ (เจ๋ง) สำหรับไดรเวอร์เสียงกลางก็ถูกกั้นออกเช่นกัน แต่อยู่ในตู้ปิดปลอดการรบกวนจากแรงอัดอากาศของตู้เบส วัสดุของวูฟเฟอร์และมิดเรนจ์เป็นไฟเบอร์กลาสเคลือบโพลีเมอร์ ขอบเป็นยางโดย Paul ได้ออกแบบระบบคอยล์ใหม่เพื่อให้การเคลื่อนที่ของกรวยมีความราบเรียบเป็นเชิงเส้นมากขึ้น ลดความเพี้ยนในออร์เดอร์ที่สองและสามได้มากมาย (คือจะบอกว่า ความเพี้ยนจากการสั่นค้างลดลงมาก เพราะเส้นแรงแม่เหล็กเกิดขึ้นสม่ำเสมอมากกว่าการออกแบบคอยล์ตัวเก่า)
ผมให้ข้อสังเกตว่า PSB ไม่ได้คัดสรร หรือกำหนดความ “พิเศษ” ของวัสดุที่ทำไดรเวอร์มากนัก คือไม่ได้เอามาเป็นจุดขาย หากแต่การนำมาอินทิเกรชั่น หรือภาษาไทยเรียกเข้าใจได้ยากว่า “บูรณาการ” ด้วยการผสมผสานการทำงานระหว่างไดรเวอร์, ครอสโอเวอร์แบบ Linkwitz-Riley ออร์เดอร์ที่สี่, ตัวตู้ลำโพงทรงสูง ผนังรอบด้านทำจากไม้ MDF หนา 3 มม. อัดขึ้นรูปทั้งหมด 7 ชั้น รวม 21 มิลลิเมตร ส่วนแบฟเฟิลที่ยึดไดรเวอร์เป็น MDF เช่นกัน ความหนา 50 มม. บวกกับการซอยตู้เบสถึงสามใบ กลายมาเป็นโครง “กระดูก” ให้กับตู้หอคอย คงจะเรียกได้ว่า งานตู้ของ T3 นี้จัดว่าแกร่งไม่เบา ดูรูปประกอบสิครับ แกร่งกว่านี้ต้องตู้โลหะแล้วล่ะ ผมว่าเขาเน้นงานออกแบบที่พิถีพิถันมากกว่าลำโพงทุกรุ่นที่เคยทำมาเลยด้วยซ้ำแถมมิติของตัวตู้ลำโพงยังมีความโค้งมนเล็กน้อยเพื่อขจัดแสตนดิ้งเวฟในตัวตู้ที่ขนานกัน โดยวิธีเรียบง่ายแบบเรขาคณิต
ลำโพง T3 สามารถเล่นซิงเกิลไวร์, ไบไวร์ และไตรไวร์ได้ ด้วยการใช้จั๊มเปอร์ (ซึ่งมันห่วยมาก เมื่อยังไม่พ้นการรันอิน) ฐานลำโพงเป็นอะลูมินั่มแข็งแกร่ง มาพร้อมกับสไปก์ที่ปรับได้สะดวกมาก อันนี้ต้องขอชม งานตู้ลำโพงและงานประกอบก็เข้าขั้นมาตรฐานครับ ความไวของลำโพงอยู่ที่ 91dB อิมพิแดนซ์ 8 โอห์ม ต่ำสุด 4 โอห์ม จัดว่าเป็นลำโพงความไวสูง ขับไม่ยากเท่าไหร่นัก แนะนำแอมป์ที่มีกำลังขับ 20 – 300 วัตต์
SET UP
ผมใช้แอมป์ของ Hovland: Radia เชื่อมต่อบาลานซ์จากปรี Audiovalve: Conductor ซึ่งผมคิดว่า แอมป์ตัวนี้น่าจะแม็ตช์กับเจ้า T3 มากกว่าเพาเวอร์แอมป์ Constellation (Radia ให้กำลังขับ 125 w/200w ที่ 8/4 โอห์ม), ฟร้อนต์เอ็นด์ใช้ Ayre: C5Xe MP, Meridian: 818 Reference Audio Core, Oracle: Delphi Turntable, Rega: P3 และ โฟโนสเตจ ASR: Basis Exclusive/Rega: Phono
เนื่องจากผมถอดระบบจูนอะคูสติกพิเศษออกไปทั้งหมด เลยต้องปรับหูเล็กน้อย (หลอน) แล้วก็เซ็ตอัพระบบสายสัญญาณและระบบไฟฟ้ากันแบบเริ่มกันใหม่ โดยเน้นไปที่อุปกรณ์เสริมทางไฟฟ้าที่จ่ายเพาเวอร์แอมป์ที่เรียบง่ายและน้อยที่สุด โดยผ่าน DC filter Vibex ตัวเดียวเท่านั้น ปลั๊กผนังเป็นของ Hubbel สีส้มธรรมดา ไม่ผ่านกระบวนการแช่แข็งแมมมอธ ผ่านสายไฟ Cardas: Golden Reference + Hovland: Mainline Reference แล้วก็จัดระดับความแน่นหนาของอุปกรณ์ประเภทควบคุมการสั่นสะเทือน ได้แก่… ชั้นวางเครื่องเสียง TAOC และ ชั้น Symposium ใช้แท่งไม้รอง สายสัญญาณและสายลำโพง Myrtle ของ Ayre และ Cardas ก้อนเล็กๆอะไรแบบนั้น เซ็ตแบบเบสิกสุดๆ
การรันอินครั้งนี้ ผมเปิดทิ้งไว้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ Ayre: C5Xe MP และ Meridian: 818 Reference Audio Core โดยการใช้เพลย์ลิสต์ เซ็ตโน่นเซ็ตนี่ ฟังมั่งไม่ฟังมั่งไปตามเรื่อง สายลำโพงใช้ Tellurium Q รุ่น Silver Diamond ส่วนสาย บาลานซ์จากปรี Audiovalve ที่เข้า Hovland: Radia ใช้ Nordost: Tyr2 ครับ
OVERTURE
ลำโพง T3 ให้คาแรกเตอร์ในการฟังที่ “ไม่ติดหู” ครับ ซบเซาเซ็งๆ ชอบกล แรกๆ เราก็คิดว่าเป็นเพราะเราเอา อะคูสติกถ้วยจูนออกไปจากห้องกระมัง ซึ่งพอจะทราบมาว่า ราคาถ้วยและแท่งไม้ก้อน รวมกันก็คงซื้อรถเก๋งได้หนึ่งคันครึ่ง ผมใช้เวลาเซ็ตอัพ T3 อยู่ค่อนข้างนานทีเดียว ในการกำหนด ระยะการจัดวางและการโทอิน มันก็อาการเดิม คือ ฟังไม่ติดหู เอาเป็นว่าเหนื่อยนักก็พักก่อน รันอินไปเรื่อยๆ หลังจากผ่าน 200 ชั่วโมงไปแล้ว ผลก็คือ ในที่สุด T3 ก็ให้เสียงที่เล็ดลอด ออกมาจากห้องฟังแบบที่ “ไม่ธรรมดา” ราวกับลำโพงคนละตัว จุดนี้แหละ มันดึงดูดให้ผมเข้าไปนั่งฟัง และเริ่มทดสอบเป็น เรื่องเป็นราวได้สักทีละ
สิ่งที่ WJ สัมผัสได้ก็คือ ความสะอาด อิ่มเอิบ สบาย กลมกล่อม น่าฟังมาก และเป็นน้ำเสียงของลำโพงแบบกลาง เก่ากลางใหม่ในการนำเสนอ อันนี้น่าจะเป็นคาแรกเตอร์ลำโพงที่น่าสนใจ และหาฟังได้ยากในสมัยนี้
Meridian 818 Reference กับอัลบั้มทดสอบสุดโหด Florida Grand Opera: Bizet Carmen ผมมักใช้อัลบั้มนี้ใน การทดสอบความ “สด” หรือเรียกตามความหมายว่า Live Performance กล่าวคือ ความเสมือนหรือการจำลองบรรยากาศราวกับการเข้าไปนั่งฟังในฮอลล์จริง ผมพบว่า T3 สามารถแจกแจงบรรยากาศออกมาได้ดีทีเดียว สังเกตได้จากรายละเอียดของความถี่ต่ำที่บ่งบอกระยะใกล้ไกล (การก้าว เดิน) ย้ำนะครับ ความถี่ต่ำที่ให้มิติในแง่นี้ทำได้ยากครับ สำหรับลำโพงในราคาระดับนี้ เสียงกลางของเด็กชายมีความสดใส รื่นเริงและฉายรอยยิ้มของนักแสดงพอให้รู้สึกได้ การวิ่งเต้นของ เด็กรอบๆ เวทีกินอาณาเขตกว้างขวาง เสียงก้องสะท้อนต่างๆ รวมทั้งเสียงปะทัดที่ดังเปรี๊ยะดุดันจนนั่งสะดุ้ง บ่งบอกว่า T3 ให้ความ “เงียบ” ของตัวลำโพงและไดนามิกส์ ทรานเชี้ยนต์ ได้เป็นอย่างดี เสียงนักร้องขายโทนเทเนอร์มีความใหญ่และ กังวานพอเหมาะ ไม่โอเวอร์สเกล ที่สำคัญ… สามารถสัมผัสได้ ถึงความอิ่มของเส้นเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงมนุษย์ เข้าทำนอง ขนาดของมิดเรนจ์โตพอๆ กับหน้าคน และแพนไปทางซ้ายขวา หรือตื้นลึก ตามแต่นักร้องจะเดินไปที่จุดใดของเวที ในแง่ของ Live Performance นี่ PSB T3 จัดว่า สอบผ่านและดีกว่าที่ผมคาดหวังไว้มากทีเดียว
Rega: P3 + Rega Phono สำหรับฟังเพลงไทยนิยม ฟังสบายๆ เพลง อย่าหยุดยั้งของ The Olarn Project สามารถ ค้นพบความแหบและคั่งเครียดของเส้นเสียงของนักร้องนำได้ ชัดเจนผ่าน T3 การให้จังหวะของไฮแฮทที่มักจะปกปิดเหนียมอาย สามารถจะปลดปล่อยเสียงซิบๆ ออกมาชัดเจนและน่าฟัง ควบคุมเรโซแนนซ์ส่วนเกินได้เนียนและราบลื่น แม้ว่า T3 กำลัง บอกผมว่า การบันทึกเสียงของแผ่ นนี้อาจจะไม่ดีมากนัก แต่ เรายังสามารถซึมซับอรรถรสในแง่ของการถ่ายทอดดนตรีดิบๆ เถื่อนๆ ที่เจือความหวานของเครื่องเป่าและกีตาร์โปร่งได้ดีครับ ผมสามารถฟังอัลบั้มนี้ได้ทั้งหน้า แทนที่จะนั่งฟังแค่แทร็กแรก เพลินและสนุกครับท่าน เป็นความคึกคักที่ฟังสบายหูดี
Oracle: Delphi VI + ASR: Basis Exclusive สำหรับการทดสอบขั้นสุดท้าย Timbre คุณภาพของเสียงกลางแบบ เน้นๆ ไดนามิกส์และ Live performance จะใช้แผ่นเสียงอัลบั้ม Sheffield Labs 2 นี้ในการทดสอบ แทร็กเร็กเก้ในแทร็กที่สอง T3 ให้รายละเอียดพรั่งพรู และกว้างขวางหลุดตู้ จัดวางลำดับไม่ทับซ้อน และมีชีวิตชีวาพอให้กระดิกเท้าตามได้เป็นจังหวะ แทร็กที่สามปราบเซียน T3 ให้เสียงร้องของ Thelma ที่บอกอาการตั้งใจร้อง รับกับเบสและกลองที่ให้จังหวะที่แม่น จริงจัง เครื่องเป่าให้ความฉับไว ให้โทนสว่างมากพอ และถูกควบคุมไม่ให้แผดจ้าและกราดเกรี้ยว การวางช่องไฟ และการโชว์ออฟสีสันของดนตรีตามที่คน arrange ดนตรีออกแบบไว้ ก็ดูเหมือนกับลำโพง T3 จะสาธยายออกมาได้เห็นภาพครับ เสียงออร์แกนที่เป็นอีแอบ สามารถหยิบยกออกมาจับผิดและติดตามได้เลย หรือจังหวะกีตาร์โซโล่ที่ผลุบๆโผล่ๆ ก็จัดระนาบได้ไม่มีอาการมั่วหรือตีรวน แสดงว่า Phase Coherent ของ T3 เซ็ตออกมาได้ดี
ขอจบกับ Pink Floyd: The Wall ตอนนี้ผมเปิดค่อนข้างดังครับ ราวบ่ายโมง ก็อยากจะประเมินคุณภาพของเบสและริธึ่มของกลองอีกสักหน่อย T3 ให้เสียงที่ซอฟต์เสียงกลางผ่านฟิลเตอร์เล็กน้อย ในขณะที่ยังรักษาเนื้อหารายละเอียดได้ครบครัน ส่วนกลองและเบสนั้น ถูกใจมาก มันตีแผ่โน้ตสะอาด หยุ่น ลึก และหนักไม่เก็บตัวห้วน ฟังสนุกครับ ให้ความกลมกลืนและสปีดที่ “ทัน” กับมิดเรนจ์และเสียงสูง สำหรับรสนิยมส่วนตัว ผมอยากจะได้ความซาดิสม์ หรือความดิบเถื่อนที่มากกว่านี้อีกหน่อย ผมคิดว่ากรณีนี้ การแม็ตชิ่งสายในระบบน่าจะช่วยเติมรสนิยมให้กับเจ้าของได้ไม่ยาก เพราะพื้นฐานของลำโพงจัดว่าดีมากแล้ว
สรุปความ
ลำโพง PSB Imagine T3 เป็นลำโพงที่ WJ ต้องขอกล่าวชมเชย Paul Barton ที่ปรับแต่งเสียงออกมาได้ดี ในยุคที่เครื่องเสียงแต่ละชิ้นถูกผลักดันไปที่ความหรูเลิศของการเลือกวัสดุที่ทำไดรเวอร์ และวัสดุที่ใช้ผลิตตู้ลำโพงในเชิงการวัดผลทางวิศวกรรม ความหายาก เลอค่า สวยงาม ความใหญ่โตมโหรทึก และ แพง ชนิดที่ WJ ต้องใช้คำว่า INSANE ครับ1 PSB T3 กลับเลือกใช้วัสดุเบสและมิด-ไดรเวอร์ที่เป็นแค่กรวยโพลีเมอร์เคลือบแบบโอลด์สคูล การทำตู้ลำโพงจากวัสดุ MDF ที่เรียบง่ายตามมาตรฐานทั่วไป ทวีตเตอร์ก็โดมไททาเนียมเติมเฟอร์โรฟลูอิด ใช้แม่เหล็กนีโอไดเมี่ยมที่แสนจะธรรมดาที่ใช้กันมาเกิน 20 ปีแล้ว แต่การให้ความสำคัญในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่… การออกแบบการควบคุมสนามแม่เหล็กของการขับเคลื่อนไดรเวอร์(คอยล์) เพื่อให้การทำงานแม่นยำและลดความเพี้ยนได้มาก, การจัดวางไดรเวอร์ในระยะช่องไฟที่เหมาะสมทำงานร่วมกับครอสโอเวอร์ที่ออกแบบมาอย่างถูกต้อง, การเพิ่มความแข็งแรงของตู้โดยที่ผนวกการแยกตู้ไดรเวอร์ให้ทำงานอิสระจากกัน ซึ่งรวมกันภายในตู้เดียว, ความสามารถในการเลือกใช้พอร์ตเพื่อปรับจูนความถี่ต่ำของตู้เบสแต่ละตัวอย่างอิสระให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของห้องฟัง หรือการออกแบบฐานรองลำโพงที่แข็งแกร่งและการปรับสไปก์อย่างง่ายดาย, การออกแบบหน้าตู้ลำโพงให้แคบเพื่อลดความเพี้ยนจากการแพร่กระจายความถี่ของหน้าตู้จากการเปล่งเสียงของไดรเวอร์
ต่างๆ เหล่านี้ กลับทำให้ Imagine T3 เป็นลำโพงที่ให้คุณภาพเสียงที่สวนทางกับราคา เอาเป็นว่าสักสองเท่าเป็นยังไงครับ นี่เป็นลำโพงที่ทำให้ WJ สนุกกับการใช้เวลาเซ็ตอัพในแนวทางเบสิก (เพราะไม่หนักมากเกินกว่าจะขยับลำโพง) และอยากที่จะฟังเพลงจากซอร์สหลายๆ ซอร์ส ไม่ว่าจะเป็น Meridian 818 ซึ่งฟังสบายและเพลิน ต่างไปจากจาก Q3 ที่ดูจะ “เปรี๊ยะและออกแนวเอาจริงเอาจัง” มากกว่ากัน ฟังแผ่นเสียงจาก Rega: P3/Oracle: Delphi VI หรือจากเครื่องเล่นซีดี Ayre ก็ดูจะอิ่มเอมและเพลิดเพลินกับการเสพดนตรี
T3 เป็นลำโพงที่ให้ “ความน่าฟัง” และดูจะเป็นลำโพงที่เซ็ตอัพมาอย่าง “ลงตัว” ไม่ว่าคุณจะใช้ซอร์สเก่าหรือซอร์สใหม่ จะเรียกว่า นีโอคลาสสิก ก็ไม่ผิด มันไม่ใช่ลำโพงในสไตล์ออดิโอไฟล์จัดๆ แบบผีหลอกวิญญาณหลอน แต่มันเป็นลำโพงที่ทำให้ออดิโอไฟล์อย่างผมหลงรักเสียงที่มีเสน่ห์ที่มันนำเสนอ เป็นอีกครั้งที่ผมเอ็นจอยมากกับการทดสอบของดีราคาถูก ลำโพง T3 เข้าคำจำกัดความว่า “Best Budget Performance” สำหรับ WJ ณ ชั่วโมงนี้ แนะนำเป็นอย่างยิ่ง!!!
จุดเด่น
• ให้อารมณ์ในการฟังดนตรีแบบกลางเก่ากลางใหม่ โทนัล บาลานซ์สมดุลมาก ฟังแล้ว มัน “ใช่” ตอบโจทย์ความน่าฟัง
• ในแง่ของไดนามิกส์และโทนัลบาลานซ์ นี่เป็นเสียงที่ดีที่สุดของลำโพง PSB เท่าที่เผมคยฟังมา และอยู่ในระดับคุณภาพที่น่าประทับใจ และโดดเด่นกว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน
• เซ็ตอัพลำโพงสะดวกมาก โดยเฉพาะการปรับระดับด้วยสไปก์ อุปกรณ์เสริมประกอบและการขับลำโพง ไม่ต้องหรูเลิศก็สามารถ ดึงศักยภาพของลำโพงออกมาได้
• คุณภาพเบสเป็นสิ่งที่ผมชอบลำโพง T3 มาก เป็นจุดลงตัว ระหว่างความอิ่ม มีน้ำหนัก ทิ้งตัวพอสวยงาม และกระชับ ผมนึกไม่ออกว่า การจัดวางไดรเวอร์แบบใหม่กับครอสโอเวอร์ทำให้ ไดรเวอร์และตู้ลำโพงที่เป็นวัสดุธรรมดาเช่นนี้ให้คุณภาพเบสในระดับนี้ได้ยังไง แม้ว่าโทนัลบาลานซ์ในแง่เสียงกลางและ เสียงแหลมจะน่าพึงพอใจ แต่คุณภาพของเบสแบบนี้ มันทำให้ผมต้องให้เครดิตอย่างออกหน้าออกตาเป็นพิเศษ
ข้อสังเกต
• ออกจะผิดธีมเรียบง่ายไปหน่อย ถ้าเป็นผมนะ ผมจะให้เชื่อมต่อลำโพงตัวนี้ด้วยซิงเกิ้ลไวร์เท่านั้น คือ อัพเกรดด้วยการเปลี่ยนสายลำโพงเท่านั้น ซึ่งผมว่า เหลือเฟือครับ แล้วให้ขนาดความโตของแผ่นอุดฟองน้ำที่อุดพอร์ตมาสักสองขนาด (คือจะได้ฟองน้ำ 6 ชิ้นต่อตู้ สำหรับการเซ็ตในห้องฟัง) การใช้ไตรไวร์หรือไบไวร์ กลับจะทำให้มีตัวแปรในเรื่องการอัพเกรดด้วยจั๊มเปอร์เทพๆ ออกแนวซิ่งๆ แว้นๆ มากไปปะ? ที่จูนอัพมาดีๆ จะเสียคาแรกเตอร์ไปตามจั๊มเปอร์ที่ใช้ซะเปล่า อีกอย่างหนึ่ง การเข้าสายลำโพงค่อนข้างจะยากด้วยซ้ำเพราะขั้วต่อ วางติดๆ กัน
• ผมว่าการเคลือบผิวตู้ด้วยแล็กเกอร์ ด้านน่าจะทำให้ T3 เลอค่ามากกว่าฟินิชเงาครับ
• ราคาขายที่ แหม! เกรงใจกันมากไปไหม คือแพงกว่านี้ก็น่าจะไปได้นะ
• ยังคงต้องใช้แอมป์คุณภาพดี กำลังขับไม่ต่ำกว่า 100 วัตต์ขึ้นไปครับ การรันอินเป็นสิ่งสำคัญมาก และใช้เวลาค่อนข้างนาน สำหรับลำโพงโครงสร้างแบบนี้. ADP
ราคา 179,800 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 244
No Comments