ELAC DS-S101-G Discovery Music Server
ธรรมนูญ ประทีปจินดา
แปลกแต่จริง เก็บสะสมมาทั้งชีวิต มีอัลบั้มนับพัน บางครั้งเป็นหมื่นชุด หมดเงินไปกับมันเกินราคาค่าตัวชุดเครื่องเสียงหลายสิบเท่า ฟังบ่อยก็มี ไม่เคยฟังเลยก็มี เยอะนักกว่าจะหาเจอก็เสียเวลาหาเลยไม่ต้องฟังกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า สมัยนี้ผู้ผลิตเขามีวิธีที่ทำให้เข้าถึงง่ายกว่าที่คิด แถมได้ในสิ่งที่คุณคิดไม่ถึงว่ามันจะทำได้เสียด้วย ยังกะมี DJ ประจำตัวไงงั้นเชียว
จะดีแค่ไหน ถ้ามีเครื่องเสียงสักตัวที่สามารถต่อเข้ากับชุดเครื่องเสียงเดิมได้ง่ายๆ ด้วยขั้วต่ออะนาล็อกไปยังแอมป์ ลำโพงตัวเดิม หรือจะจัดใหม่ทั้งชุดก็ไม่ว่ากัน อาจต่างจากเดิมตรงที่ต้องต่อพ่วงอินเทอร์เน็ตให้กับมันเสียหน่อย ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางให้ติดต่อกับโลกภายนอก ที่จะทำให้มันเล่นเพลงจากคลังแสงส่วนตัว หรือแม้เปิดโลกทัศน์ฟังเพลงนับล้านอัลบั้มจากขุมทรัพย์สุดขอบจักรวาล TIDAL คลังเพลงขนาดยักษ์ ลองตามอ่านสักนิด จะทราบว่า Digital Streaming หาใช่เรื่องไกลตัว จะเล่นยากตรงไหน… แค่เปิดใจนิดเดียวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้พูดถึง Music Server จะรู้สึกว่าราคาแพง ยุ่งยากซับซ้อน กวนใจ จึงกลายของแสลงที่นักเลงรุ่นเก่าจะมึนตึ๊บไปกับมัน “ติดกับ” คำว่า Computer Audio จึงมโนไปว่าคงต้องเซียนคอมฯ เท่านั้นละมั้งถึงจะเล่นได้ อย่ากระนั้นเลย เล่นแผ่นตามเดิมเถอะ
ถึงวันนี้ไม่ใช่แล้ว เครื่องเล่น Digital Stream Player สมัยใหม่เข้าปักหมุด มีค่าตัวตั้งแต่หลักหมื่นยันหลักล้านกันเลยทีเดียว แถมเสียงดีขนาด และไม่ต้องใช้คอมฯ เสียด้วย ข้อสำคัญใช้งานง่าย ใครก็เล่นได้ เรียกว่าเชื่อง ไม่ดีดดิ้น เพราะให้ความเสถียร ที่พูดเช่นนี้ก็ตรงที่เครื่องเล่นสมัยใหม่ติดตั้งง่าย ไม่ได้ต้องการศาสดา กูรู หรือ เซียนคอมพิวเตอร์ คนใดมาช่วยเซ็ตอัพให้ ทำเองได้ง่ายๆ อีกด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า… ยากนักใครจะเล่นฟะ
จากที่ได้คุยกับ Mr. Gunter Kurten, CEO – ELAC GmbH เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2016 เป็นปีที่ 90 ของการก่อตั้ง ELAC ซึ่งหวนกลับมาทวงคืนเจ้าสังเวียนแห่งเครื่องเสียงอิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง โดยได้นำเสนอ ELAC DS-S101-G Discovery Music Server ค่าตัวราคาระดับพันกว่าเหรียญ เป็นเครื่องเสียงในนิยามใหม่จากค่าย ELAC และล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Product of the Year จากนิตยสาร StereoPlay
รวมถึงได้รับรางวัล Golden Ears Award ถือว่าค่อนข้างแฮปปี้ที่เครื่องเสียงจากค่ายผู้ผลิตลำโพงได้รับรางวัลจากเครื่องเล่น
บัดนี้ ELAC Discovery Music Server มาถึงมือผมแล้ว
Discovery Series
Product line ใหม่ล่าสุดจาก ELAC ที่เป็นเครื่องเสียงอิเล็กทรอนิกสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสนับสนุน Streaming และ Multi-room เทรนด์ของเครื่องเสียงยุคนี้ โดยส่งหัวหมู่ทะลวงฟันตัวแรกคือ DS-S101-G Discovery Music Server นั่นเอง น่าสนใจว่าจะต้องมีผองเพื่อนตามออกมาอีกในไม่ช้า เตรียมหยอดกระปุกรอได้เลย
One Component
คำตอบอยู่ที่ Digital Music Streamer มิติใหม่ที่ชื่อ ELAC DS-S101-G Discovery Music Server เครื่องเล่นดิจิทัลอยู่ในสัณฐาน Half Size พิมพ์นิยมเช่นเครื่องเสียงยุโรปชั้นดี ตัวถังเป็นอะลูมินัมอะโนไดซ์ลายเสี้ยนไหมที่ดูดีมีสกุล หน้าปัดเงาเป็นกระจก ไม่มีปุ่มใดๆ เลย เออ… ทำไมต้องมีด้วยล่ะ สงสัยล่ะสิ ไม่มีปุ่ม จะควบคุมอย่างไร?
ELAC DS-S101-G Discovery Music Server ทำตัวเป็น playback ดิจิทัลไฟล์ ทั้งจากคลังแสงในบ้าน (NAS) หรือจาก HDD ซึ่งเสียบด้วย USB ด้านหลัง รวมทั้งเป็นเครื่องเล่นไฟล์ไฮเรสก็ได้ และมันยังเป็น Music Server หรือตัวจ่ายให้กับเครื่องเล่นตัวอื่นในบ้านด้วยระบบ AirPlay โดยจะเล่นเพลงจากคลังแสงไฟล์ที่คุณมีอยู่แล้ว แต่เออ… หรือว่าไม่มีอยู่เลย เพราะไม่ถนัดที่จะซื้อจากออนไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทีเด็ดอยู่ตรงที่มาพร้อมกับชุดปฏิบัติการทันสมัยของ Roon Essentials แถมยังเล่น TIDAL Streaming Service ระบบบอกรับสมาชิกได้เนียนกริ๊บ จ่ายค่าบริการอีกนิด ทำให้คุณฟังเพลงได้จากคลังเพลงมากถึงสี่ล้านอัลบั้ม ยังไม่รวม Internet Radio Streaming ที่คุณสามารถฟังวิทยุได้จากทั่วโลก และสามารถทำตัวเป็นแม่ข่ายให้กับลูกข่ายตัวอื่น เชื่อมต่อด้วย Roon Ready Network Player/Smart Speaker อีกด้วย โดยใช้ Roon Essentials app ควบคุมการใช้งาน จะแยกกันเป็นอิสระ หรือพร้อมๆ กันหลายๆ ตัวก็ยังได้ …พอเห็นภาพมั้ย
Connectivity
นอกจากขั้วต่อ power supply ซึ่งเป็นไฟ 12V DC 2A สำหรับจ่ายไฟเข้าเครื่องแล้ว ก็อย่าแปลกใจว่า ทำไมเครื่องเสียงสมัยนี้มักต้องมีขั้วต่อ Ethernet port: 1 Gigabit Ethernet ที่มีไว้เสียบสาย LAN เพื่อให้สามารถติดต่อโลกภายนอกในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็คือ Home Network และควรเชื่อมต่อด้วย Internet ความเร็วสูง สปีดสัก 30/3 MB เป็นอย่างต่ำก็โอเคเลย อีกอย่างคือ USB 2.0 port สำหรับต่อพ่วงกับฮาร์ดไดรฟว์ จะใช้หรือไม่ ก็ไม่มีปัญหา แต่มันก็คือแหล่งข้อมูลที่เราต้องใช้ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งล่ะ
ส่วนสัญญาณขาออก คุณเพียงแต่ต่อสายจาก Analog Output สองชุด หรือจะเป็น Digital Output ไปยัง DAC ตัวเก่งในเครื่องเสียงชุดเก่งของคุณ หรือแม้แต่เชื่อมแบบไร้สายด้วยระบบ AirPlay รวมถึง “Roon Ready” devices ที่ถือเป็นทีเด็ด ด้วยขั้วต่อที่ติดตั้งมากับเครื่อง โดยจะมีสัญญาณออกในทุกช่องทางเพื่อให้เชื่อมต่อแบบ Multi room ซึ่งสามารถทำงานแยกกันอิสระในเวลาเดียวกัน
การเชื่อมต่อโดยใช้สาย (Wired): Digital Optical, Digital Coaxial และ Analog RCA 2 ชุด
การเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless): Airplay, Discovery Wireless, Roon Ready (End Point)
Engines
Discovery Server ติดตั้งไว้ด้วย Quad Core ARM9 Processor ทำงานเต็มประสิทธิภาพถึงระดับ 1.2GHz โดยมีหน่วยความจำ512MB สำหรับ Operating System และ 8GB Flash Memory สำหรับ Meta Data Storage ที่เป็นหน่วยความจำ cache ของอัลบั้ม หรือเพลย์ลิสต์โปรดของคุณ
ส่วนภาค D/A Converter ใช้ Cirrus Logic CS4398 DAC (192kHz/24-Bit) และ Burr-Brown OPA2134 Ultra Low Distortion Op amp ในภาค Analog Output ในส่วนของ DAC นั้นจ่ายไฟโดย Active Power Supply ซึ่งถูกฟิลเตอร์โดยภาคจ่ายไฟแบบ Linear Regulator อุปกรณ์ทุกอย่างติดตั้งในตัวถังอะลูมินั่มทั้งตัวเพื่อป้องกันการรบกวน ซึ่งจะให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุด
Roon Essential
ด้วยความที่ ELAC เป็น partner กับ Roon Labs ที่เป็นผู้ออกแบบระบบสั่งการ หรือ User Interface ที่เรียกว่า Roon Essential ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นพิเศษเฉพาะ Discovery เท่านั้น อ้าวแล้ว Roon คืออะไร? ก็เป็นซอฟต์แวร์เล่นเพลงที่บ้านเรากำลังโหมกระหน่ำดังซะขนาด จะไม่รู้จักได้ไง เอาเป็นว่า Roon ไม่เพียงเป็นแค่ดิจิทัลไฟล์เพลเยอร์ธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นอะไรที่ทำได้มากกว่าคู่แข่ง อาทิ ข้อมูลของอัลบั้มที่สมบูรณ์ดียิ่งกว่าข้อมูลบนปกแผ่นเสียงที่คอแผ่นดำภูมิใจนัก ว่าพวก Digital ไม่มีวันทำได้เหมือน ซึ่งวันนี้ไม่ใช่แล้วล่ะ วันที่หนังสืออยู่บน Smart Devices หรือบนคอมฯ มันสามารถลิงก์ข้อมูลไปสุดขอบจักรวาลกันแร้ว… ง่ายเพียงปลายนิ้ว ชีวิตง่ายกว่าที่เห็นในรูปเปิดเยอะ ไม่ลองไม่รู้นะ
อธิบายสั้นๆ Roon เปิดโอกาสให้ดึงข้อมูลจาก Libraries ทุกแหล่งในวงเน็ตเวิร์กเดียวกัน ไม่ว่าจะ NAS หรือ USB HDD รวมถึง Tidal Streaming Service, Internet Radio รวบรวมทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อ้างอิงจากฐานข้อมูลดิจิทัลใหญ่บนโลกไซเบอร์มาอยู่ในหน้าต่างเดียวกัน แล้วเล่นกลับด้วย Roon Ready devices ซึ่งจะครบวงจรก็ตรงนี้
Roon ประกอบด้วยการทำงานสองส่วน ในส่วนแรกทำหน้าที่จัดการเพลงในคอลเล็กชั่นของคุณ ซึ่งจะจัดการกับเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งอาจจะเป็น Mac หรือ Windows PC หรือ server เช่น Discovery Music Server DS-S101-G ตัวนี้ไง
Roon Essentials app
ส่วนที่สองคือ การควบคุมด้วย Roon Essentials control app ซึ่งจะทำงานบน Windows, OS X หรือ Smart Devices เช่น Android และ iOS devices โหลดได้ฟรี ถามว่าระหว่าง app บน Computer, Tablet หรือ Phone versions แน่ล่ะ ย่อมมีความแตกต่างกันบ้าง ในเมื่อหน้าจอไม่เท่ากัน แต่ที่แน่ๆ Computer กับ Tablet เหมือนกันทุกอย่าง ส่วนบนสมาร์ทโฟนนั้นจะต่างกันกับบน Tablet แต่ก็ดีกว่าตรงมีความเป็นรีโมตมากกว่า ใช้ได้ถนัดมือดีครับ ที่ต้องใช้แอพก็เพื่อจะทำให้ควบคุมระยะไกลได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าเครื่องที่ต้องการจะสั่งงาน โดยผ่าน Roon Ready devices สบายๆ มีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์มากกว่ารีโมตตัวใดๆ ในโลกจะทำได้ เริดซะขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องปกติ ของฟรีดีๆ น่ะไม่มีหรอก
Roon เวอร์ชั่นเต็ม คุณต้องจ่ายปีละ $119 หรือจะเลือก $499 Lifetime คือตลอดชีพ แต่อย่าเพิ่งตกใจ DS-S101-G มาพร้อมกับ Roon Essentials แบบ Lifetime (ตลอดชีพ) ถือว่าเป็น Roon เวอร์ชั่น Custom made ที่ทำให้กับ ELAC โดยคุณไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีกเลย แน่นอนว่าไม่ใช่ฉบับเต็ม แต่ก็ดีพอเลยล่ะ และแน่นอนว่า Roon Essentials ไม่สามารถย้ายไปติดตั้งในเครื่องตัวอื่นๆ ได้นะครับ
High Resolution Audio Support
Discovery Music Server DS-S101-G รองรับไฟล์ PCM ฟอร์แมตมาตรฐานอย่างเช่น AIFF, WAV, FLAC และ ALAC ที่ bit depths up to 24-Bit และ Sampling rates up to 192kHz ไฟล์พวกนี้ซื้อได้บนตลาดออนไลน์สโตร์ ที่หาซื้อง่ายกว่าแผ่น Physical เสียอีก อ้อๆ แต่ไฟล์ DSD ไม่รองรับนะครับ อันที่จริงถ้าไม่อยากซื้อไฟล์ หรือไม่มีไฟล์อยู่เลย ก็ไม่มีปัญหา ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีกว่าอย่าง Tidal ซึ่งถ้าเฟิร์มแวร์ตัวใหม่อัพมา ก็แปลว่าจะเล่น MQA ได้ด้วย ซึ่งจะมาพร้อมกับ Tidal Master ซึ่งก็คือ Stream ไฟล์เพลงไฮเรส ถึงตรงนั้น Discovery Music Server DS-S101-G ก็ติดปีกล่ะครับ อ่านรายละเอียด Tidal ด้านล่างนะครับ
คำพูดสุดฮิต… ฟังอัลบั้มใหม่บน Tidal ก่อนใคร อีกแล้ว?
Tidal Music Streaming หมายถึง ระบบฟังเพลงเหมาจ่ายรายเดือน ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด นาทีนี้ไม่มีใครกังขาในคุณภาพเสียง รวดเร็วกับอัลบั้มใหม่ที่มีให้ฟังกันแทบไม่ทัน ปัจจุบันมีสองแพ็กเกจ คือ Premium และ Hi-Fi ซึ่งมาพร้อมกับ Tidal Master สตรีมโดยใช้ไฟล์ MQA เป็นหนทางที่จะส่งผ่านไฟล์ Hi-Res ระดับ Studio Master จากสตูดิโอมาให้ฟังถึงบ้านได้อย่างเนียนกริ๊บ ถึงตรงนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บแผ่น Physical ใดๆ แล้ว …ย้ำว่าของดีต้องจ่ายตังค์ค่าบริการบ้าง จ่ายน้อยกว่าที่คุณจ่ายกับแผ่นหลายเท่าตัว ถ้าอยากรู้ลึกว่าตามติดดาวยังไง ต้องเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่ม Tidal Thailand บน Facebook เสียหน่อย อยากทราบอะไรถามไถ่เพื่อนๆ ได้ ถึงตรงนี้ถามก่อนว่าเล่นเครื่องเสียงมาระดับนี้มีปืนแล้วต้องกล้าลงทุนซื้อลูกหน่อยสิ ถ้าอยากฟัง Tidal สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สมัครเป็นสมาชิกบนหน้าเว็บ www.tidal.com ด้วยข้อมูลของเรา คือ Email/Password ซึ่งต้องจำให้ดี จากนั้นค่อยนำไปลงทะเบียนเพื่อใช้งานกับ Discovery ในหน้า Setting โดยผ่าน Roon Essentials app ที่จะทำให้เราเข้าถึงคลังเพลงมหึมา เสียงดีเยี่ยม แยกหมวดหมู่ไว้อย่างดี เลือกฟังได้ง่ายๆ สนุกกับการทำPlaylist จากแอพของ Tidal บนสมาร์ทโฟน แล้วมันจะ Sync มาที่ Discovery โดยอัตโนมัติ ทำไมถึงจะไม่เล่นแล้วล่ะครับ
Multi room/Multiple playback
ลูกเล่นอื่นๆ ที่ต้องบอกว่าคุ้มจริงๆ เพราะ ELAC server รองรับการใช้งานในระบบมัลติรูม แบบไม่จำกัดจำนวนเครื่อง แล้วยังเล่นแบบ multiple playback modes ทำให้คุณเล่นได้พร้อมกันหลายๆ เครื่อง โดยทำงานอิสระจากกัน รวมถึงการใช้งานฟังก์ชั่น gapless, crossfade, random, shuffle หรือ repeat ได้ไม่จำกัดอีกด้วย
Check In
เมื่อต่อสายอะนาล็อกเอาต์พุตไปเข้าแอมป์ เสียบ HDD ซึ่งบรรจุไฟล์เพลงไว้พอควรเข้าไปที่ช่อง USB ต้องไม่ลืมเสียบสาย LAN ด้วย อย่าแปลกใจที่ไม่มีปุ่มใดๆ บนหน้าปัด ที่ตัวเครื่องก็ไม่มีซ่อนไว้ แม้กระทั่งสวิตช์ปิด-เปิด เพราะพอเสียบสายอะแด็ปเตอร์ เครื่องก็ติดเลย คงสงสัยว่า แล้วจะควบคุม สั่งการ มันยังไง ย้ำอีกที คุณต้องใช้ Roon Essentials Control App เท่านั้น ซึ่งโหลดได้ฟรี โดยจะทำงานกับ Android (4.4 หรือเวอร์ชั่นสูงกว่า), iOS (iPhone 5s และรุ่นต่อๆ มา) หรือบนคอมฯ ที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ OSX (10.8 หรือสูงกว่า) หรือ Windows (7, 8 หรือ 10) ก่อนเล่นก็ต้องลงทะเบียนเปิดการใช้งาน ครั้งเดียวเท่านั้น
Showtime
ทันทีทีเสียบไฟเข้าเครื่อง ไฟ LED บนขอบหน้าปัดด้านล่างจะกระพริบ รอจนหยุดนิ่ง แล้วจึงเปิด Roon Essentials app ปล่อยให้มันทำงานสักพักหนึ่ง จากนั้นก็เปิด Roon Essentials Control App ขึ้นมา หลักการพื้นฐานต้องเข้าใจว่า ขณะนี้เครื่องยังสมองว่าง ต้องบรรจุข้อมูลให้มันเสียก่อน ความหมายก็คือ ต้องตั้งค่า (Setting) เสียก่อน โดยไปที่ Setting –> Storage, Service จำไว้ว่า เจ้าสองตัวนี้คือการใส่ข้อมูลให้ Roon สิ่งแรกเลย ผมจัดการลงทะเบียนในแถบของ Service ซึ่งจะให้กรอกข้อมูลของ Tidal subscription (บอกรับสมาชิกเหมาจ่าย) ก็คือ Email/Password ของเราที่ให้ไว้กับ Tidal นั่นเอง ต้องทำเป็นสิ่งแรกเลยครับ
เมื่อเรียบร้อยแล้ว ค่อยย้อนมาตรง Storage ด้วยการ browse ไปยัง Folder ที่เราฝากเก็บไฟล์เพลงไว้ ซึ่งตรงนี้ มันจะเห็น NAS หรือ Library อื่นๆ ด้วย เมื่อถึง Folder ที่ต้องการก็ให้สั่งสแกน ใช้เวลาสแกนพอสมควร เพราะมันจะสแกน Album ของเราทั้งหมด ทั้งใน HDD + TIDAL favorite albums (อัลบั้มที่เราติดดาวไว้นั่นแหละ) โดย Roon Essential ยอมให้รวมกันต้องไม่เกิน 30,000 Tracks ก็ราวๆ ร่วมสามพันอัลบั้ม ก็นับว่ามากพอ ระหว่างนี้อย่าเพิ่งฟัง เพราะเสียงจะไม่สมูธ มีสะดุดบ้าง ก็ไม่ต้องแปลกใจ เดี๋ยวดีเอง เพราะเหตุผลนี้ ผมจึงไม่เลือกใช้จาก QNAP NAS เพราะเก็บไฟล์ไว้เยอะเกิ้น เมื่อสแกนเสร็จแล้วจึงเล่นได้เนียน ดูใน Overview ปรากฏว่าผมมีไฟล์อยู่ในกระเป๋า 24,354 Tracks หรือ 1,532 Albums ในฐานข้อมูลของมัน เพราะแสดงว่ามีอัลบั้มซ้ำมากอยู่นั่นเอง ผมเลือกไว้ก่อนที่จะนำมันมาเล่นบ่อยๆ ถึงแม้ไม่ติดดาวก็ยังเล่นได้นะ ดังนั้นอย่าซีเรียสกับคำว่า 30,000 Tracks เลยนะ หาใช่ข้อจำกัดใดๆ เพราะถ้าเราเพิ่มจนเต็มแล้ว ก็ไม่สามารถเพิ่มได้ก็แค่นั้น ยังไงลบจากฐานข้อมูลทิ้งบ้างก็ได้ เพราะฟังไม่หมดอยู่แล้ว เลือกอัลบั้มที่ซ้ำหรือไม่ค่อยได้ฟัง ลบออกไปบ้าง เชื่อว่ามีอยู่เยอะแน่ๆ โดยเข้าไปที่ Settings > Storage > Clean up your Database โดยเลือกไปที่ Tidal แล้วเข้าไปที่ Focus > Inspector (ด้านล่างขวามือ) เช็คอัลบั้มซ้ำแล้ว Remove ออกไป จะช่วยให้ง่ายขึ้น
บนหน้า Overview คือข้อมูลที่ผมจัดทำไว้เพื่อตัวเอง ตามแนวเพลงที่ชอบ ศิลปินคนโปรด แนวเพลงใกล้กัน เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ Tidal ใช้เป็นฐานข้อมูลให้เรา เพลงหลายหมื่นแทร็ก อัลบั้มเป็นพัน ศิลปินอีกครึ่งพัน จะเลือกฟังยังไง Roon มีตัวช่วย บนตำแหน่ง Tool bar ด้านบน ชอบมากตรง Focus ทำให้เราสามารถเลือกอัลบั้มเพลงที่มีอยู่มากมาย เจาะได้แคบลงกว่า จะเจาะตามแนวดนตรี เช่น Pop, Rock, Jazz, Classic, Cross Over หรือศิลปินคนอื่นที่ร้องแนวเดียวกันก็ยังได้ หรือจะฟังจากยุคสมัย เช่นยุค ‘70 – ‘80 ก็ยังได้ มีประวัติ รีวิวส์ รวมถึงเนื้อเพลงบนฐานข้อมูล เผื่อไว้ให้ซ้อมโก่งคอแข่งกันกับเพื่อน ปกแผ่นดำทำได้ยังไง เราก็ทำได้แบบนั้นแหละ เพียงแต่คนละวิธี รู้สึกว่าชีวิตดี๊ดี ใช้ง่าย ใครๆ ก็ชอบ ลองฟังจากPlaylist “โอ้ฟาย” เพลย์ลิสต์สุดโหดที่มีเพลงอยู่เพียง 762 แทร็กเอง ฟังกันยาวๆ สามวันสามคืน Discovery DS-S101-G ก็ยังนิ่ง ขนาดเปิดทิ้งไว้ ปิดลำโพงแอ็กทีฟ ไปทำงาน ตจว. สองสามวันกลับมา Discovery ยังเล่นอยู่ เหลือเชื่อเลย เล่นแบบมัลติรูม ลูกสาวแม่ยายก็แอบเนียนเล่นผ่านแอพบน A8 Android Phone ไปสั่งให้ Zeppelin Air ซึ่งตั้งอยู่บนเปียโนในห้องนั่งเล่น เปิดอัลบั้มของศิลปินคนเก่ง Adele ฟังยกชุดซะงั้น อย่างน้อยถือเป็นการยอมรับของคนใกล้ตัว ใครจะนำวิธีนี้ไปใช้ไม่ผิดกติกานะ
Infinite Sound
ความสุขจากเสียงเพลงนั้นเป็นความชอบส่วนบุคคล ยุคสมัยเปลี่ยน วิถีชีวิตคนก็เปลี่ยน ไม่เห็นต้องเล่นตามใคร อยู่ในยุคที่ทุกคนมีแนวของตัวเอง ทุกคนมีอิสระที่จะเล่นจะฟังอะไรก็ได้ เพื่อสนองตอบไลฟ์สไตล์ของตนเอง
โชคดีแค่ไหนแล้วที่มีชีวิตอยู่ได้ทันที่ระบบ Streaming Service ให้เสียงดี ดีพอที่จะเล่นได้ไม่อายใคร มีพัฒนาการที่ไปไกลอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยค่าใช้จ่ายน้อยนิด สำหรับนักเล่นเครื่องเสียง ค่าใช้จ่ายปีละสามพันกว่า ถูกกว่าสายไฟเส้นหนึ่งเสียอีก เมื่อเล่นด้วย ELAC Discovery ที่ซื้อขาดมาพร้อม Roon Essentials แบบตลอดชีพ ทำให้เครื่องเล่นฉลาด เล่นได้สนุกกว่าเครื่องเสียงตัวใดที่เคยเล่น ได้กลับมาย้อนอ่านเรื่องราวของอัลบั้มเพลง ข้อมูลเพลงจากศิลปิน หาแนวเพลงจากสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นอวัยวะที่ 33 คือ Smart Devices ทำให้ชีวิตง่าย ฟังเพลงได้เพลิน นำเราเข้าไปอยู่ในห้วงความคิดตามจินตนาการของศิลปินที่สร้างไว้ จนลืมไปเลยว่า เครื่องเสียงจากตัวไหน ไม่แคร์ที่จะต้องเล่นจากสื่ออะไรกันอีก
ถ้าถามถึงคุณภาพเสียงของ ELAC Discovery DS-S101-G แล้วล่ะก็ ฟังจากช่องอะนาล็อกด้วย DAC ในตัวก็ถือว่าดีพอตัวเลยครับ ดีมากพอโดยไม่จำเป็นต้องนำสาย Coax มาเสียบไปยัง DAC ตัวอื่นที่ตัวโตกว่านี้แบบไม่ขัดเขิน ถ้าคุณมีชุดเครื่องเสียงระดับกลางๆ ในชุดฟังเพลงหลัก หรือเสียบตรงๆ กับลำโพงแอ็คทีฟดีๆ สักคู่ก็ยังได้ จะให้เนียนก็ใช้อุปกรณ์ Roon Ready devices จะใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องนอน หรือห้องอื่นๆ อีกหลายๆ จุดได้สบายๆ ความคุ้มค่าอยู่ตรงนี้ เราจะไม่พูดถึงแอพตัวอื่น หรือฟังเพลงจาก Youtube บนคอมฯ เสียงกระหลั่วๆ นะ ลองนึกภาพแล้วคำนวณตามนะ ถ้าจะซื้อคอมฯ หนึ่งตัวราคาสามหมื่น กับ DAC อีกตัว ราคาสองหมื่นกว่า รวมเป็นห้าหมื่น ไหนจะต้องมีแอพจาก Roon แบบ Lifetime อีก 499$ กับสาย USB พะรุงพะรังอีกหลายเส้น ได้เครื่องเล่นหน้าตาก็ไม่หล่อ เคาะดูพบว่าจ่ายรวมๆ กันก็เกินค่าตัวของ ELAC Discovery DS-S101-G ไปไกลแล้ว ซึ่งถ้าเป็น Discovery ตัวเดียวจบ หล่อกว่า ไม่เยอะ ไม่ต้องใช้คอมฯ เลย จุดเด่นอีกอย่าง… ยังเป็นแม่ข่ายเล่นแบบ Multi room ชนิดไร้ขีดจำกัด ไม่รู้จะคุ้มไปไหน นี่ยังไม่พูดถึงแฟ็คเตอร์สำคัญ เมื่อใช้คอมฯ ก็ต้องทนทนกับเสียงบ่นจากคนข้างตัวว่า มันใช้ยาก Wife Factor นี่มีพลังเกินครึ่งของการตัดสินใจซื้อเครื่องเสียงเข้าบ้านของผู้ชาย หรือใครเถียง เมื่อเธอชอบจะได้ความสงัดคืนมา สงัดจากน้อยส์ (เสียงบ่น เป็นมลภาวะต่อหู) …ฮา มันช่วยให้เพลงเพราะขึ้นเยอะ เชื่อผมสิ. ADP
ราคา 52,900 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนิควิชั่น จำกัด
โทร. 0-2681-7500
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 242
No Comments