REGA PLANAR 6 + ANIA MC + FONO MC
ท่านที่เป็นนักเล่นแผ่นเสียงมาได้สักระยะหนึ่ง ผมว่าต้องมีไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งที่เคยฟัง หรือเคยเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Rega แน่นอน รุ่นยอดนิยมที่เราฟังกันประจำคือ Planar 3 ที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1976 แต่จริงๆ เครื่องเล่นแผ่นเสียง รุ่นแรกที่ Rega สร้าง (เมื่อปี 1973) คือรุ่น Planet (รูปร่างแหวกแนวล้ำสมัยดีมาก ผมชอบ) สมัยนั้น Roy Gandy ยังไม่ได้ทำอาร์มออกมา เลยใช้อาร์มยี่ห้อ Acos Lustre แทน ตัวอาร์ม RB300 ที่มีชื่อเสียงมากนั้น เริ่มทำมาเมื่อปี 1983
จากนั้น Rega ก็เริ่มเป็นที่ติดตลาด และเริ่มผลิตเทิร์นฯ อาร์ม และหัวเข็มรุ่นต่างๆ ออกมา (รวมไปถึงเครื่องเล่นซีดี แอมป์ ลำโพง) เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นเรือธงในสมัยก่อนคือ รุ่น Planar 9 และรุ่นระดับกลางที่นิยมเล่นกันของยี่ห้อนี้คือรุ่นครบรอบ 25 ปี คือ Planar 25 มาจนถึงปัจจุบันนี้รุ่นระดับกลางที่อยู่ในเกณฑ์ให้เสียงที่ดีและคุ้มเงินแบบรุ่น Planar 25 ในสมัยก่อน ก็จะเป็นรุ่นที่ผมได้มารีวิวนี่แหละครับ Planar 6
Rega concept
การออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Rega มีความแตกต่างจากยี่ห้ออื่นๆ มากพอสมควร ขอยกตัวอย่างเป็นข้อๆ นะครับ
- สิ่งที่ Rega เน้นคือ ตัวแท่นต้องมีลักษณะ stiff, rigid มากๆ ขณะที่ต้องน้ำหนักเบา คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่า แท่นของเครื่องเล่นแผ่นเสียงควรมีน้ำหนักมาก มีความหนัก มั่นคง เพื่อทนต่อแรงสั่นสะเทือน แต่ Rega เชื่อว่ามวลหนักไม่ได้ช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือน แต่กลับส่งต่อแรงมากกว่า ขณะที่วัตถุที่มีมวลเบาย่อมส่งต่อแรงสั่นสะเทือนได้น้อยกว่าแท่นที่มีมวลหนัก จากสูตรที่ว่า Force = Mass X Acceleration เขายกตัวอย่างเช่น รถบรรทุก ถึงแม้ว่าเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำ แต่ถ้าชนกับสิ่งใดย่อมเกิดความเสียหายจากแรง มากกว่ารถที่มีมวลเบากว่า ขณะเดียวกันแท่นต้องมีความแข็งแรง เป็นที่รองรับการทำงานส่วนของ Platter bearing และ Arm base ถ้าจะมีการสั่นสะเทือนหรือขยับในระดับ Micro (ต้องไม่ลืมว่าปลายเข็มอ่านแรงสั่นสะเทือนของร่องแผ่นเสียงที่ความแตกต่างระดับ 1 ไมครอน) ส่วนของอาร์มและ Platter bearing ควรมีการขยับไปตามกัน ดังนั้น Rega จึงเน้นเรื่องความแข็งแรงของแท่น ขณะที่ต้องมีมวลเบาด้วย แล้วยังเสริมความแข็งแรงด้วยแผ่นอะลูมิเนียม (ที่เห็นเป็นแผ่นเหล็กสีเงินเจาะรูกลม) ประกบบน-ล่าง ระหว่าง Main bearing กับ Arm base อีก
- ขณะที่ตัวแท่นเขาต้องการให้มวลเบาสุด แกร่งสุด แต่ตัว Platter นั้น เขาแนะนำให้เป็นส่วนประกอบมีน้ำหนักมากที่สุดของตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง และเช่นกันกับแท่น ตัว Platter จะต้องแกร่ง stiff มากๆ มวลที่หนักจะช่วยให้การหมุนรอบได้คงที่ ทาง Rega เลือกใช้แก้วในการทำ Platter (ในรุ่น Planar 6 เป็นกระจกสองชั้นประกบกัน ถ้ารุ่น RP8 จะเป็นสามชั้น) ถ้าเป็นรุ่นสูงสุดจะใช้ Ceramic ในการทำ Platter (มีความแกร่งพอๆ กับทับทิม)
- Motor สำหรับรุ่น Planar 6 เลือกใช้แบบ 12 poles AC synchronous motor ที่แยกภาคจ่ายไฟไว้ข้างนอกเพื่อลดการรบกวน ชิ้นส่วนทุกอย่างไม่ใช่ว่าจะมีแต่ stiff rigid อย่างเดียว จุดที่จำเป็นต้อง damp ทาง Rega ก็ทำครับ เช่น การยึดตัว motor เข้ากับแท่น ก็จะมี rubber o ring ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ต้องการจากมอเตอร์ออก
- Arm เป็นจุดแข็งของ Rega เลยทีเดียว ในการสร้างอาร์ม เขาเน้นเรื่องของความแข็งแรงเช่นกัน ตัวแกน bearing และตัว housing ที่หุ้มถูกสร้างขึ้นมาพร้อมใน phase เดียวกัน เพื่อให้ contact surface ทุกจุดมีความเป๊ะมากที่สุด ถ้าเป็นอาร์มยี่ห้ออื่นจะมีการแยกหล่อสองขั้นตอน จึงทำให้การประกอบมีความคลาดเคลื่อนไปได้ อาร์มไม่ได้มีกลไกในการปรับ VTA แบบอาร์มยี่ห้ออื่นที่ใช้สกรูยึดฐานอาร์มสำหรับเลื่อนขึ้นลง เพราะเหตุผลเดียวกันเรื่องความ rigid ของระบบอาร์มจะเสียไป ถ้ามีกลไกแบบนี้ ถ้าจะปรับความสูงต่ำอาร์มให้ใช้เป็นแผ่น spacer รองฐานอาร์มแทน
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในส่วน Concept ของ Rega Turntable อีก สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ ในหนังสือของ Rega เล่มนี้ครับ
And now Planar 6
Planar 6 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับกลางของ Rega ที่ในความเห็นของผมน่าจะเป็นตัวที่มีความคุ้มค่า เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างเงินที่จ่ายกับคุณภาพเสียงที่ได้ มันมีการออกแบบและวัสดุที่ดีกว่ารุ่น Planar 3 และบางส่วนก็นำมาจากรุ่น Planar 10 ตัวเครื่องมีน้ำหนักทั้งหมด 5.2 กิโลกรัม โดยน้ำหนักของส่วนแท่น (plinth) นั้นแค่เพียง 0.9 กิโลกรัมเท่านั้น, feet ประกอบด้วยขายางทรงโคนสามขา, ตัวแท่นใช้วัสดุที่เรียกว่า Tancast 8 เป็น polyurethane foam core ที่น้ำหนักเบาและแกร่ง ใช้ในงานทางอากาศยาน ประกบบนล่างด้วยแผ่น high pressure laminate, ตัว subplatter (Rega ใช้คำว่า drive hub) และ bearing เป็นอะลูมิเนียมหล่อชิ้นเดียว งานเนียนมาก, มอเตอร์อยู่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา, ตัวสายพานเป็นยางซิลิโคนสีขาว, มี aluminium bracing ยึดบนล่างระหว่าง main bearing กับฐานของอาร์มเพื่อความแข็งแรง Platter เป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุดของ Planar 6 ทำจากกระจกสองชั้นประกบกัน กระจกชั้นนอกเป็นคล้ายวงแหวนเพื่อให้การหมุนของ platter มีความนิ่งและน้ำหนักที่ถ่วงด้านนอกเป็นวงแหวนทำหน้าที่เป็น flywheel effect หรือ moment of inertia, ตัว mat ทาง Rega ใช้แบบสักหลาด เขาไม่แนะนำให้ใช้แมตแบบยาง เพราะจะเกิดภาวะ spring effect กับหัวเข็มแผ่นเสียงได้ Tonearm สำหรับ Planar 6 เป็นรุ่นใหม่ คือ RB330 ที่ปรับปรุงระบบ bearing และใช้สายสัญญาณที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม RB303, ตัว counterweight เป็นโลหะ และมียาง O ring สองจุดระหว่างตัว counterweight กับตัวอาร์ม เพื่อป้องกันการเกิด resonance ของอาร์ม ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงมีตัวคุมรอบแยกจากแท่น เป็นรุ่น Neo PSU ควบคุมรอบด้วยระบบ DSP เช่นเดียวกับที่ใช้ในรุ่นใหญ่อย่าง Planar 10 สามารถปรับรอบ 33 / 45 rpm ได้ที่ปุ่มด้านหน้า และสามารถ fine tune รอบได้โดยการปรับด้านหลัง หัวเข็มที่มาใน package เป็นหัวเข็ม MC Low output รุ่นใหม่ของ Rega คือรุ่น Ania (ปัจจุบัน Rega ทำหัว MC Low รวมทั้งหมดสามรุ่นคือ Ania, Apheta และ Aphelion) หัวเข็มทั้งสามรุ่นมีค่าสเปกใกล้เคียงกัน ต่างกันที่วัสดุที่ใช้ทำก้านเข็ม ปลายเข็ม และ body ของหัวเข็ม โดยมีค่า output ค่อนข้างต่ำที่ 0.35 mV มี mounting screw หกเหลี่ยมแบบสามจุดมาให้ สำหรับติดตั้งบนอาร์มของ Rega เอง ทำให้การตั้งระยะ overhang และ offset angle สะดวกรวดเร็วมาก ค่า tracking force ที่แนะนำอยู่ในช่วง 1.75 – 2 กรัม ในการทดสอบ ผมเริ่มต้น burn in ที่ 1.75 ก่อน เมื่อพ้นระยะเบิร์นแล้วก็ปรับน้ำหนักเพิ่มเป็น 1.8 กรัมตลอดการรีวิว
ค่าระยะ pivot to spindle distance ของอาร์มเท่ากันกับเทิร์นฯ ทุกรุ่นของ Rega คือ 222 mm เมื่อนำค่าอาร์ม parameter ต่างๆ ไปเช็คกับสูตร alignment arc จะตรงกับสูตรของ Stevenson เลยได้ลองเอา alignment template ของ Stevenson มาลองเช็คดู ก็ได้ตำแหน่งตรงกันเป๊ะ เมื่อยึดหัวเข็มสามจุดตามมาตรฐานของ Rega เกือบลืม ชิ้นสุดท้ายที่มาใน package คือ โฟโนสเตจรุ่นกลางของ Rega ที่มาด้วยกัน คือ Fono MC ทาง Rega จะทำแยกกันสำหรับรุ่น MM และ MC ในตระกูล Fonoนี้ จะมีโฟโนสเตจรุ่นสูงกว่ารุ่น Fono MC อยู่อีกสองรุ่น คือ… รุ่น Aria และรุ่น Aura Reference MC ภาคโฟโนสามารถปรับเกนขยายได้สองค่าคือ 63.5 และ 69.5dB โดยการปรับ dip switch ตัวที่สี่ ส่วน dip switch ตัวที่ 1 กับ 2 เป็นการปรับ load impedance, dip#3 เป็นการปรับ capacitance สำหรับหัวเข็ม MC ทุกรุ่นของ Rega เขาแนะนำให้ปรับ dip switch ตามนี้ครับ คือ load impedance ที่ 100 ohm , Gain ขยาย 69.5dB และ capacitance ที่ 1000pF (จริงๆ การปรับ capacitance ไม่มีผลต่อหัวเข็ม MC Low ไม่ทราบว่าทาง Rega ทำมาเพื่ออะไร)
On Test
การ setup สำหรับเครื่องของ Rega นั้นไม่ได้ยุ่งยากเลยครับ ใช้เวลาในการติดตั้งเซ็ตไม่เกินสิบห้านาที เริ่มจากการหาที่วางที่เหมาะสม ควรหาระดับลูกน้ำจับระดับให้ได้เป๊ะทุกระนาบ ตั้งแต่ตัวแท่น และไล่มาเช็คบน platter โดยเฉพาะในแนวที่หัวเข็มจะกวาดไปผ่าน ผมใช้ Soundeck DF Feet ในการรองใต้ขายางสามจุดของแท่น Planar 6 เพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือนจากด้านล่างที่จะขึ้นมาบนแท่น (https://www.soundeckthailand.com/product/27089/soundeck-df) อุปกรณ์พวกนี้ทดสอบง่ายๆ คือลองเอาหลังมือโขกกับแท่นวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงขณะเล่นแผ่นอยู่ แล้วฟังว่าเสียงออกลำโพงลดลงมากน้อยแค่ไหน เมื่อไล่ระดับแท่นเสร็จก็วาง platter วาง mat สำหรับหัวเข็มทางตัวแทนจำหน่ายได้ติดตั้งยึดสกรูสามจุดมาให้แล้ว เราก็ทำการเช็ค tracking force
ผมเริ่มต้นไว้ที่ค่า 1.75 กรัมก่อน (หลังจากพ้น burn in ก็ลองเพิ่มเป็น 1.8 กรัม) ผมตั้งค่า antiskating force ไว้ที่ 1.2 กว่าๆ ลองฟังตลอดทั้งแผ่นจากร่องนอกถึงในสุดในหลายๆ แผ่น ไม่พบอาการ distortion จึงคงไว้ค่าตรงนี้ตลอดการรีวิว ส่วนสาย power supply ต่อเข้ากับ Neo PSU เมื่อกด switch on ตัว platter จะเริ่มหมุนทันที การเข้ารอบ 33.3 rpm ทำได้ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป ส่วนสาย tonearm ต่อเข้ากับ Fono MC ถ้าเราใช้อาร์มของ Rega จะสะดวกขึ้นไปอีกนิด เพราะไม่ต้องต่อสาย ground ทาง Rega ฝากกราวด์มากับสายสัญญาณเรียบร้อยแล้ว ผมเซ็ตค่าต่างๆ ของ Rega Fono MC ในตอนแรกผมเลือก gain ไว้ที่ 63.5dB เพราะว่าปกติมันน่าจะเพียงพอที่จะขยายหัวเข็มที่มีความแรงสัญญาณ 0.35 mV ได้สบายๆ แต่หลังจากลองฟังไปได้สักระยะหนึ่ง ก็ลองปรับเกนขยายตามที่ผู้ผลิต recommend คือ 69.5dB เพราะพบว่าเกน 63.5dB เราสามารถเร่ง volume ได้ดังเพียงพอก็จริง แต่พวก dynamic ต่างๆ มันเหมือนไม่ค่อยพอ คืออาการมันเหมือนกับว่าหัวเข็มนั้นจริงๆ output น่าจะต่ำกว่า 0.35 mV พอผมปรับเกนไปที่เขาแนะนำคือ 69.5dB ความแรงสัญญาณ จะเกือบๆ เท่ากับ line level แต่ได้ความสด ไดนามิกดีขึ้นมาอย่างชัดเจน อุปกรณ์ทั้งหมดทำการเบิร์นเปิดเล่นต่อเนื่องกันไปสามวัน ก่อนที่จะเริ่มฟังอย่างจริงจัง
เสียงเป็นอย่างไร หลังจากพ้น burn in? ผมว่าเสียงมันฉีกไปจาก Rega Planar 3 + หัวเข็ม MM พวก Exact ที่ผมเคยฟังมาแต่เก่าก่อนไปมากทีเดียว แนวเสียงมีชีวิตชีวา สดแต่ไม่จัด บรรดาเพลงที่ผมใช้ทดสอบทั้งหมดได้ริปเป็นไฟล์เก็บไว้ที่ google drive ตามลิงก์ QR code ข้างล่างนี้ครับ บางเพลงที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ก็จะเอาไปไว้ใน soundcloud (https://soundcloud.com/emt930/sets/Rega-p6) ทั้งใน google drive หรือ soundcloud สามารถฟังแบบ streaming ได้ แต่ถ้าจะฟังเสียงที่ได้คุณภาพจริงๆ ควรจะ download ไฟล์ลงมาไว้ใน desktop หรือ notebook แล้วเล่นผ่านโปรแกรมง่ายๆ อย่าง foobar2000 ออก usb dac จะได้คุณภาพเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงจริงๆ มากที่สุด แผ่นแรกที่ผมใช้ทดสอบคือ แผ่น The Best Woong San ศิลปินนักร้องแจ๊สชาวเกาหลีที่มีผลงานและ concert ทั้งในฟากเกาหลีและญี่ปุ่น อัลบั้มนี้เป็นแผ่นเสียงแผ่นคู่ สังกัด Universal Music (ไฟล์เสียงเพลงนี้ต้องโหลดจาก google drive ลิงก์ข้างบนนะครับ เนื่องจาก soundcloud ไม่ให้ upload) บันทึกเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผมเลือกเพลง The days of wine and roses เล่นในแนว bossa สนุกๆ แนวเสียงที่ได้จะแตกต่างจาก Rega เดิมๆ ที่ผมเคยฟังมา (เช่นรุ่น Planar 3 ที่ปกติให้เสียงอวบๆ mid bass นำ แต่ย่านเสียงแหลมไม่เด่นนัก) Planar 6 จะมีความฉับไวของเสียง รายละเอียดของเสียงต่างๆ เช่น สายกีตาร์ สแนร์ที่เคาะบนกลองทอม hi hat ต่างๆ ทำได้ดี แต่เสียงไม่ได้บาง หรือขึ้นขอบแบบสไตล์ดิจิทัลอย่างซีดีนะครับ เสียงร้องของ Woong San ในช่วงต้นเพลงมี ambient นิดๆ อิ่มหนา รายละเอียดต่างๆ กระทั่งเสียงหายใจก็รายงานออกมาได้หมดจด เสียง upright bass เดินอยู่ลึกๆ เยื้องมาทางซ้ายเล็กน้อยของเสียงร้องสามารถ follow ตัวโน้ตได้ดี ปริมาณเบสอาจไม่ได้มากมายแบบแท่นที่แพงกว่าอย่าง EMT 930 กับหัวเข็ม Benz Micro SL Wood แต่ bass definition ของทุก beat ทำได้ดีมาก และทิ้งขาด Rega รุ่นเด็กๆ ที่ผมเคยฟังผ่านมา เวทีเสียงออกจะเดินหน้าสักเล็กน้อย สนามเสียง soundstage ทำได้ไม่แพ้แท่นตัวหลักที่ผมใช้งานทุกวัน ลองฟังอีกแผ่นหนึ่งเป็นชุด Live concert ของ Sara K กับ Chris Jones แผ่นเสียงแผ่นคู่สังกัด Stockfish เยอรมนี https://soundcloud.com/emt930/stop-those-bell เพลง Stop those bell เสียง slide guitar ของ Chris Jones ได้อารมณ์มากครับ มันให้ความฉับพลันของเสียง ปลายเสียงแหลมของกีตาร์สายเหล็กกับแท่ง slide ที่ Chris Jones ขยี้ลงไปบน fingerboard ขณะที่เสียงร้องของ Sara K ก็ไม่ได้เรียวเล็กตามสายกีตาร์นะครับ ยังอิ่มใหญ่และ dead center เป๊ะอยู่ อีกแผ่นที่ผมชอบเอามาฟังเพื่อเช็คพวก soundstage และ ambient คือชุด Sound of Audio Connoisseurs แผ่นเสียงออดิโอไฟล์ของค่าย Onkyo ที่คัดนักดนตรีแจ๊สญี่ปุ่นหลายๆ คนมาสลับเล่นแต่ละเพลงแบบ jazz trio https://soundcloud.com/emt930/sing เป็นการนำเพลง Sing ของ Carpenters มาเล่นแบบแจ๊สสนุกๆ Planar 6 สามารถรายงานการบรรเลงของวง และ interaction ลูกรับลูกส่งของนักดนตรีทั้งสามได้อย่างไหลลื่น เวทีเสียงเช่นเดียวกับแผ่นอื่นคือ ออกจะค่อนข้างเดินหน้าจากแนวระนาบลำโพงสักเล็กน้อย อันนี้ผมคิดว่าเป็นลักษณะที่มาจากหัวเข็มกับโฟโนสเตจ มากกว่าที่จะมาจากตัวแท่น (ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวต่อไปครับ)
ชุดสุดท้ายที่ใช้ทดสอบคือชุด box set ของค่าย Stereo Sound Japan เป็นชุดสามแผ่นที่เป็นแผ่นทดสอบการ setup หัวเข็มและเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในแผ่นที่สามเป็นเพลงตัวอย่าง ผมเลือกเอาเพลงคลาสสิกวงใหญ่มาทดสอบด้วย movement แรกของเพลง Scheherazade เพื่อฟังว่าเครื่องสามารถรองรับสัญญาณการบันทึกเสียงที่มีไดนามิกและความดังสูงๆ อย่างเพลงคลาสสิกโหดๆ เช่นนี้ได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าผ่านฉลุยครับ Planar 6 พร้อมกับภาคโฟโนสามารถให้รูปวงคลาสสิกจำลองมาอยู่ตรงหน้าลำโพงเราได้อย่างน่าทึ่ง สามารถลองฟังคลิปเสียงเพลงนี้จากแท่น Planar 6 ได้ตามลิงค์นี้ https://drive.google.com/open?id=1R2Uw4xvH4ZLMAWkwO2ROgqQKkObAru2i หรือเข้าไปใน QR code ข้างบนก็จะได้ทุกเพลงที่ใช้ทดสอบครับ
การทดสอบขั้นสุดท้าย ผมได้ลองสลับเอาภาคโฟโนตัวหลักที่ผมใช้อยู่ อันประกอบด้วย step up transformer ของ Western Electric 618B กับภาคโฟโน MM ของซือแป๋สาทร ลองเปลี่ยนแทน Rega Fono MC ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมฟังนั้น ผมว่ามันมีได้มีเสีย เหมือนกับว่าไม่ค่อย matching กันนักระหว่างหัวเข็ม Ania กับโฟโนสเตจหลักที่ผมใช้อยู่ โอเคว่าผมได้ deep bass เพิ่มมากขึ้น เวทีเสียงที่ผ่อนไปด้านหลัง แต่ย่านกลางและแหลมของเดิมจาก Ania + Fono MC นั้น ผมกลับชอบมากกว่า มันมีชีวิตชีวาและสดใสกว่า แผ่นที่ผมใช้ทดสอบคือ แผ่นโชกุน ของ John Kaizan Neptune แทร็กที่สองหน้า A ชื่อเพลง Day Beginning ผมทำคลิปเสียงให้ฟังเปรียบเทียบในสองนาทีแรกของเพลง ระหว่างโฟโนสเตจของ Rega เองในท่อนแรก และของผมเองในท่อนหลัง https://soundcloud.com/emt930/ania-Rega-fono-vs-618b ลองฟังกันเองดูนะครับ ผมว่าโฟโนของผมเสียงมันขุ่นกว่า ขณะที่ผมใช้โฟโนของผมกับหัวเข็ม Benz Micro ก็ฟังได้ดีไม่ขุ่นแบบนี้ แสดงว่ามันน่าจะมีอะไรไม่แม็ตช์กันกับหัวเข็ม Ania เป็นแน่แท้ (อาจจะเป็นพวก reflect impedance ของฝั่ง step up)
Final words
Rega เรียกเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เขาผลิตว่าเป็น vibration measuring machine รูปทรงที่แลดูเหมือนว่าเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แฝงด้วยงานพัฒนาและวิจัยทางวิศวกรรมเพื่อให้ได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สามารถรายงานข้อมูลจากร่องแผ่นเสียงที่มีค่าระดับความแตกต่างที่ 1 ไมครอนได้ เป็น Rega ที่ให้คุณภาพเสียงที่ฉีกจากรุ่น entry level อย่างมีนัยสำคัญ ข้อดีอีกอย่างคือ setup ได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และเสียงดี คิดว่าถ้าเรา upgrade ภาคโฟโน หรือหัวเข็มรุ่นสูงขึ้นของ Rega น่าจะให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปอีก และสามารถรองรับการฟังเพลงจากแผ่นเสียงไปได้อีกนาน ลองหาฟังของจริงกันอีกทีนะครับ. ADP
ราคา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
นําเข้าและจัดจําหน่ายโดย Komfortsound โทร 0-2321-0384-5, 08-3758-7771
No Comments